ZONIC VISION


คลื่นเสียงที่มองเห็น

หากแบ่งเวลา 24 ชั่วโมงออกเป็น 3 ช่วงเวลา 8 ชั่วโมงแรกคงหมายถึงเวลาที่ใช้อยู่กับบ้าน ส่วน 8 ชั่วโมงต่อมาเป็นเวลาที่ใช้อยู่ที่ทำงาน และ 8 ชั่วโมงที่เหลือคือการใช้ชีวิตอยู่ข้างนอก สิ่งที่น่าอึดอัดและน่าเบื่อสำหรับชีวิตมนุษย์ทำงาน น่าจะอยู่ช่วง 8 ชั่วโมงแห่งการทำงาน เพราะเราต้องนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ในสภาพที่มีพาทิชันกั้นฉากระหว่างเราและเพื่อนทำงาน กับบรรยากาศชวนหดหู่ ต่างคนต่างรอคอยเวลาเลิกงานกันทั้งสิ้น

ลองนึกถึงบรรยากาศการทำงานที่น่าหลงใหล มีช่องว่างเปิดวิวภายนอก มีพื้นที่สำหรับออกไปสูดอากาศ มองต้นไม้สูงเพื่อผ่อนคลายสายตา มีสวนขนาดย่อมและบ่อปลาคราฟ เพื่อความรื่นรยม์ มีฟังก์ชันการใช้งานที่ดี พร้อมกับอารมณ์ของอาคารที่แตกต่างในแต่ละช่วงเวลา ทั้งหมดนี้อยู่ในสำนักงานออฟฟิศที่ชื่อว่า Zonic Vision

Zonic Vision บริษัทตัวแทนจำหน่ายเครื่องเสียงบ้านและรถยนต์ ภายใต้แบรนด์ Boston และอุปกรณ์นำทางระบบ GPS ยี่ห้อ Kamaz หลังจากย้ายจากบ้านหลังเก่าแถวอ่อนนุชสู่บ้านหลังใหม่แถวพระราม 3 โจทย์ของอาคารสำนักงานหลังใหม่จึงต้องการคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนเพื่อสื่อสารไปยังผู้พบเห็น และลูกค้าว่าที่นี่ทำอะไร พร้อมกับสร้างแบรนด์ให้ชัดเจนเป็นที่จดจำ ความจริงข้อนี้เป็นหน้าที่ของ Stu/D/O Architects สร้างสรรค์สถาปัตยกรรรมเพื่อแสดงเอกลักษณ์ดังกล่าว

แนวคิดหลักในการออกแบบคือสถาปัตยกรรมสามารถถ่ายทอดหน้าที่ และลักษณะการทำงานของฟังก์ชันที่มีอยู่ ผ่านการรับรู้ของผู้ใช้งานภายในออฟฟิศ เมื่อ Zonic ผันจากคำว่า Sonic ซึ่งหมายถึงคลื่นเสียง ในขณะที่คำว่า Vision สื่อถึงการมองเห็น การแปลความจากคลื่นเสียงออกมาเป็นภาพ (ตัวอาคาร) ให้คนมองเห็น จึงนึกถึงไดอะแกรมของ Equalizer อุปกรณ์แสดงผลของระดับเสียงเป็นภาพ

ลักษณะอาคารสูง 6 ชั้น ถ้ามองจากภายนอกอาจนึกว่าเหมือนอาคารสำนักงานทั่วไป ทว่าภายในกลับโดดเด่นและเต็มไปด้วยรายละเอียด สิ่งที่เห็นชัดที่สุดคงเป็นด้านหน้าริมถนนด้านทิศตะวันตก ด้วยตัวผิวกระจกเล่นระดับ ทำเป็นสองชั้นซ้อนกัน โครงการด้านในสุดเป็นผนังทึบ เปิดช่องให้อากาศไหลเวียนได้ ก่อนจะปิดทับด้วยกระจกที่มีความแตกต่างกันใน 3 ระดับได้แก่ความทึบแสง ความโปร่งแสง และความโปรงใส นอกจากกันความร้อนได้แล้ว ยังทำให้เกิดมิติของอาคารได้ถึง 6 ระดับ ตั้งแต่เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ส่งผลให้อารมณ์ของอาคารมีความแตกต่างกันในแต่ละเวลา

จากด้านนอกเมื่อเดินเข้ามามีพื้นที่ชานไม้ วางแลนสเคปต์ด้วยโครงการเหล็กและสลิง ใช้ไม้เลื้อยพาดไปตามสลิง เพื่อบังวิวด้านทิศเหนือซึ่งเป็นอพาร์ทเมนต์คอยให้ความเป็นส่วนตัว พร้อมกับบันไดเดินขึ้นไปยังชั้น 2 เป็นมุมกาแฟ และโชว์รูมแสดงสินค้า ซึ่งแยกออกจากกันแต่เชื่อมต่อกันด้วยคอร์ทตรงกลาง แต่หากผู้ที่ต้องการเข้าออฟฟิศต้องใช้ทางเข้าประตูไม้บานยักษ์ชั้นล่าง เพื่อขึ้นลิฟท์สู่ชั้นต่างๆ โดย ชั้น 3 และ 4 เป็นส่วนของสต็อกสินค้า และงานบริการ ส่วนชั้น 5 และ 6 เป็นฝ่ายบัญชี ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ห้องครัว ห้องประชุม VIP และห้องผู้บริหาร ลักษณะเด่นของชั้นนี้อยู่ที่การทำเป็นดับเบิ้ลสเปช ตรงส่วนที่เรียกว่า Library คล้ายเป็นมุมนั่งเล่น หรือพูดคุยกับแบบไม่ทางการ  เปิดมุมมองสู่คอร์ทรูปตัวยูด้านนอก มีต้นไม้สูงโดดเด่นหนึ่งต้น และบ่อปลาคาฟ หากมองมุมนี้ในช่วงเย็นจะให้ความสวยงามแบบสุดบรรยาย

เมื่อการทำสำนักงานออฟฟิศคล้ายกับการทำบ้านที่ต้องใส่ใจในทุกรายละเอียด เจ้าของได้สมดั่งใจ ส่วนพนักงานพอใจกับสถานที่ทำงาน เมื่อนั่นบรรยากาศการทำงานก็คงมีความสุขไม่น้อย Zonic Vision จึงมาครบทั้งดีไซน์ ฟังก์ชันการใช้งาน วัสดุที่เลือกใช้ การสร้างความรู้สึกดีของทำงาน ที่สำคัญสร้างคาแรกเตอร์ของอาคารได้เด่นชัด ทั้งหมดนี้การันตีรางวัล สถาปัตยกรรมที่สมควรเผยแพร่ (Citation Awards) จากงานสถาปนิก ปี 2557 ได้ไม่ยาก

Designer’s Tips

การออกแบบอาคารสำนักงาน สิ่งสำคัญคือแสงที่เข้าไปสู่ภายในได้ทั่วถึง มีฟังก์ชันที่ตรงกับการใช้งานจริงๆ ดึงเรื่องดีไซน์ ฟังก์ชัน เสียง ภาพ แสง และเรื่องอารมณ์ของอาคารที่เปลี่ยนไปแต่ละช่วงเวลา ให้มีความสำคัญเท่ากันหมด

Text : อริญชัย วีรดุษฎีนนท์
Photo : ฉัตรชัย เจริญพุฒ, อนุพงค์ บุญนาค
Design : Stu/D/O Architects

 

Leave A Comment