BAAN Y / ANONYM


อาคารสีขาวที่พรางตัวอยู่ในบริบทบ้านเรือนหลากรูปแบบหลายสีสัน

จากความปรารถนาของ ‘ครอบครัวเอกตระกูล’ ในการสร้างบ้านพักอาศัยหลังใหม่ขึ้นบนผืนดินขนาด 100 ตารางวา ที่มีลักษณะคล้ายรูปตัว Y (สังเกตภาพถ่ายจากโดรน) ติดกับรั้วเดิมของบ้านหลังเก่าย่านใจกลางตัวเมืองนนทบุรี เพื่อรองรับการเพิ่มจำนวนของสมาชิกตัวน้อย นำมาซึ่งรูปแบบของบ้านสีขาวหน้าตาทันสมัย ที่ผู้ออกแบบคำนึงถึงการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้สอยอันเหมาะสม รวมถึงความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ ถึงแม้อาคารจะต้องแทรกตัวอยู่ท่ามกลางบริบทอันหนาแน่น และปิดล้อมไปด้วยบ้านเรือนหลากรูปแบบหลายสีสัน รวมถึงข้อจำกัดทางลักษณะพื้นที่ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดรูปแบบอาคารโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ก็ตาม

มุมมองจากหน้าบ้านจะสังเกตเห็นว่าระแนงเหล็กสีขาวที่วางพาดเป็นแนวนอนตัดกับประตูรั้วเหล็กสีดำที่เลือกวางเป็นเส้นแนวตั้ง เพราะสถาปนิกตั้งใจล้อไปในทิศทางเดียวกับผนังอาคารของบ้านไม้ที่อยู่ติดกัน นอกจากช่วยสร้างความกลมกลืนไปกับบริบท ยังให้ความรู้สึกว่ากล่องอาคารดูบางเบาแต่มีความเด่นชัดเป็นเอกลักษณ์ในตัวเอง

Baan Y คือชื่อเฉพาะของโครงการบ้านพักอาศัยขนาด 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 500 ตารางเมตร ซึ่งผู้ออกแบบตั้งขึ้นตามลักษณะของผืนดินเปล่ารูปทรงคล้ายตัว Y ที่แปลกแตกต่างไปจากที่ดินปกติทั่วไป ถึงกระนั้นข้อจำกัดทางที่ดินก็ไม่ใช่สิ่งที่สถาปนิกจะหยิบยกมาเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธการรับงานออกแบบในคราวนี้ ตรงกันข้ามภายหลังจากมีโอกาสได้สนทนาอย่างใกล้ชิดกับ คุณอาทิตย์ และคุณแอนเจลีน่า เอกตระกูล สองผู้บริหารใหญ่โรงเรียนสาธิตคริสเตียนวิทยา (Global English School) จนเกิดเป็นความประทับใจเล็กๆ ผนวกกับความท้ายทายเป็นทุนเดิม สถาปนิกทั้งสองจาก Anonym นำโดย คุณพงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ และ คุณปานดวงใจ รุจจนเวท จึงตอบตกลงรับหน้าที่เนรมิตความต้องการของผู้ว่าจ้างด้วยความยินดีบนเหตุผลที่ว่า “เจ้าของบ้านมีความเคารพในวิชาชีพสถาปนิก และที่สำคัญคือเชียร์แมนฯยูฯ เหมือนกัน” สถาปนิกเฉลยกับเราเคล้าเสียงหัวเราะในประโยคจบท้าย

ปณิธานหนึ่งที่สถาปนิกจาก Anonym ยึดมั่นหาใช่เพียงการออกแบบรูปลักษณ์อาคารที่สวยงามแค่ด้านเดียว สิ่งสำคัญกว่านั้นสำหรับพวกเขาครอบคลุมไปถึงกระบวนการทำงานในระหว่างทาง มิตรภาพที่มีให้กันหลังกระบวนการทุกอย่างจบสิ้นลง และแน่นอนความสุขของผู้อาศัยหลังการเข้าอยู่ที่นับว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่งของผู้ออกแบบเช่นกัน สถาปนิกกล่าวว่า “เรา (คาดหวัง) ให้คนเข้าไปอยู่แล้วมีความสุข เราไม่ได้ออกแบบมาเพื่อบอกว่านี่แหละคือดีไซน์ฉัน เราจะออกแบบเพื่อโยนคำถามไปสู่ผู้อาศัยว่าเขาชอบแบบนี้เพราะว่าอะไร แล้วเราจึงจะใส่ดีไซน์ตามเข้าไป”

งานภูมิสถาปัตยกรรมที่แทรกตัวอยู่ระหว่างอาคาร สถาปนิกใช้บ่อน้ำและสะพานเป็นทางเชื่อมต่อพื้นที่ส่วนหักเลี้ยวของที่ดิน อีกทั้งบ่อน้ำยังช่วยสร้างเงาสะท้อนทำให้บ้านดูกว้างขึ้นในหลักการเดียวกับการใช้กระจกเงานั่นเอง

โครงการบ้านพักอาศัยหลังนี้ Anonym รับผิดชอบดูแลทั้งในส่วนการออกแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน รวมถึงงานภูมิสถาปัตยกรรมทั้งหมดด้วยตัวเอง โดยมุ่งเน้นไปยังการออกแบบตัวอาคารเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของพื้นที่ใช้สอย จัดแจงจำแนกพื้นที่ชั้นหนึ่งให้ประกอบด้วย โรงจอดรถ ห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหารในพื้นที่เชื่อมต่อกับครัว และห้องพักผ่อนภายในครอบครัว ไล่เรียงเลาะเลี้ยวจากด้านหน้าไปจรดด้านหลังตามแนวบังคับของที่ดิน ตลอดจนวางตำแหน่งของบันไดไว้ติดกับที่ดินด้านหลังบ้านไม้ซึ่งเป็นผนังปิดทึบทั้งหมด และเก็บซ่อนงานระบบของบ้านไว้ในบริเวณส่วนที่แคบที่สุดของที่ดินรูปตัว Y

สถาปนิกอาศัยพื้นที่ว่างระหว่างรั้วกับตัวอาคารสร้างงานภูมิสถาปัตยกรรมขึ้นมาเป็นส่วนนั่งเล่นและพักสายตา อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมพื้นใช้สอยกลางแจ้งและในร่มให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดด้านความแคบของที่ดินและบริบทที่ปิดล้อมไปด้วยอาคารบ้านเรือนในระยะประชิด

ส่วนห้องรับแขกสถาปนิกเพิ่มความสูงของเพดานเป็นสองเท่าแบบ Double volume เพื่อสร้างบรรยากาศให้เกิดความโปร่งโล่งยิ่งขึ้น

ภายในบ้านสถาปนิกออกแบบโดยเน้นวัสดุเรียบง่ายอย่างผนังก่ออิฐฉาบปูนสีขาว กระจก และไม้สีธรรมชาติ อย่างในภาพนี้คือส่วนห้องพักผ่อนภายในครอบครัว (Family Room) ที่สามารถมองผ่านผนังกระจกเห็นความเคลื่อนไหวของสมาชิกในบ้านได้ทั่วถึง

ภายในบ้านสถาปนิกออกแบบโดยเน้นวัสดุเรียบง่ายอย่างผนังก่ออิฐฉาบปูนสีขาว กระจก และไม้สีธรรมชาติ อย่างในภาพนี้คือส่วนห้องรับประทานอาหารที่เชื่อมต่อกับครัว และบันไดทางขึ้นชั้นสอง

ทั้งนี้สถาปนิกยังฉีกข้อจำกัดของบริบทที่ถูกปิดลอมด้วยอาคารบ้านเรือนและโรงเรียนซึ่งเป็นอาคารสูง โดยการออกแบบรั้วให้สูงและปิดทึบ รวมถึงปลูกต้นไม้เพื่อสร้างร่มเงาและเป็นแนวป้องกันสายตาจากรอบข้างในด่านแรก ในขณะที่ตัวอาคารที่สร้างเกือบประชิดแนวรั้วออกแบบให้มีช่องว่างระหว่างผนังทึบ เพื่อดึงเรื่องการเล่นแสงธรรมชาติและการถ่ายเทอากาศมาใช้ประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะส่วนห้องรับแขกสถาปนิกเพิ่มความสูงเพดานเป็นสองเท่าแบบ Double volume ช่วยสร้างบรรยากาศให้เกิดความโปร่งโล่ง และเปิดมุมมองด้วยกระจกบานเลื่อนเต็มผืนหันออกไปทางทิศเหนือติดกับบ้านหลังเก่า

Anonym สร้างคีย์เวิร์ดให้บ้านหลังนี้ดูเป็นบ้านที่กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายในบ้านให้ความรู้สึกเสมือนหลุดไปในพื้นที่แคบแต่เมื่อเข้าไปแล้วกลับรู้สึกเป็นพื้นที่ส่วนตัวของผู้อาศัยอย่างแท้จริง

ห้องน้ำและห้องแต่งตัวแบบวอล์กอินในตัวภายในห้องนอนใหญ่ของคุณอาทิตย์และคุณแอนจี้

ในขณะที่บนชั้นสองสถาปนิกพยายามลดการแข่งขันกับบ้านเรือนรอบข้าง ด้วยการออกแบบให้มีลักษณะพลางตัว เพื่อให้อาคารทันสมัยยังคงกลมกลืนและแทรกตัวอยู่ได้กับบ้านเรือนในละแวกเดียวกัน ส่วนภายในบรรจุห้องนอนใหญ่ของคุณอาทิตย์และคุณแอนจี้ไว้บริเวณหน้าอาคาร ที่มาพร้อมห้องน้ำและห้องแต่งตัวแบบวอล์กอินในตัว ส่วนบริเวณด้านหลังอาคารคือห้องนอน 2 ห้องที่ใช้ห้องน้ำร่วมกันของลูกสาวคนกลางและคนโต น้องรูนีย์ และน้องร็อบเบน

ในการทลายทุกข้อจำกัดทั้งบริบทท่ามกลางชุมชนที่มีความแตกต่างกันของรูปแบบและสีสันที่หลายหลาก ลักษณะของผืนดินซึ่งสถาปนิกบอกว่าพวกเขาเองก็ยังไม่เคยพบและออกแบบบ้านหลังใดบนที่ดินในลักษณะนี้มาก่อน ตลอดจนการจัดสรรปันส่วนพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะสมลงตัวกับความต้องการของผู้อยู่อาศัย หากจะว่าไปแล้ว บ้านสีขาวหน้าตาทันสมัยหลังนี้ก็ดูจะสมกับความปรารถนาของ ‘ครอบครัวเอกตระกูล’ อยู่ไม่มากก็น้อย

อ่างจากุซซี่สำหรับแช่ตัวชมตะวันลับขอบฟ้าในยามพักผ่อนบนชั้นสาม

สังเกตได้ว่าสถาปนิกพยายามเว้นช่องเปิดไม่ให้ผนังอาคารเกิดการปิดทึบจนเกินไป เพื่อดึงเรื่องการเล่นแสงธรรมชาติและการถ่ายเทอากาศมาใช้ประโยชน์สูงสุด

เส้นแนวนอนของผิวหน้าอาคารเลื้อยจากด้านหน้าพับเข้ามาสู่ด้านในคลุมพื้นที่ภายนอกถึงสามในสี่ของกล่องอาคารส่วนห้องนอนใหญ่ โดยเปิดโล่งเฉพาะฝั่งระเบียงที่ติดกับบ้านเก่าเท่านั้น

จากภาพแสดงให้เห็นถึงบริบทรอบบ้าน ทางฝั่งทิศตะวันออกเป็นทาวน์โฮมหลากสีสัน ขนาบข้างด้วยบ้านไม้ทางฝั่งทิศใต้ (ไม่เห็นในภาพ)

TEXT: นวภัทร ดัสดุลย์
PHOTO: W Workspace
DESIGN: Anonym

Leave A Comment