WT INTERIOR
ชีวิตที่ออกแบบได้
Text: พีรยา เชื้อสุนทรโสภณ
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ, วิริทธิพล ธนาโรจน์ปิยทัช
เนื้อหาทั้งหมดจากคอลัมน์ Take a Seat, Daybeds 163 เดือนเมษายน 2559
เพราะว่าการทำงานภายใต้กรอบความคิดของตนเองไม่อาจทำให้ผลงานออกมาสมบูรณ์ได้ดีเท่ากับความคิดจากผู้อื่นร่วมด้วย การทำงานออกแบบบ้านจึงสมควรยึดเอาความคิด ความต้องการของผู้อยู่อาศัยไว้เป็นหลัก ส่วนสถาปนิก อินทีเรียดีไซเนอร์ มีหน้าที่วาดภาพจินตนาการเหล่านั้นให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เพราะการออกแบบบ้านที่ดี บ้านหลังนั้นต้องมาจากผู้อยู่ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ออกแบบ
“ผมมองตัวเองเป็นเหมือนที่ปรึกษาด้านการออกแบบมากกว่า” คุณวอ–วิริทธิพล ธนาโรจน์ปิยทัช อินทีเรียดีไซเนอร์ ผู้มีนามปากกาว่า WT ตัดสินใจเลือกผันตัวเองมาเป็นฟรีแลนซ์ หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานมากว่า 5 ปี จากบริษัท ISM Interior Architecture Workshop ซึ่งสไตล์การทำงานของคุณวอมักจะยึดเอาตามความต้องการของเจ้าของบ้านไว้ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงนำมาจัดความเหมาะสมตามฟังก์ชั่นของพื้นที่ โดยยังคงให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมเดิม รวมถึงการดึงเอาไลฟ์สไตล์ของเจ้าของมาออกแบบ เพื่อทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
คุณวอเล่าว่า “การทำงานของผมส่วนใหญ่อิงจากเจ้าของเป็นหลัก แล้วเรามองว่าสิ่งที่สวยสำหรับเจ้าของและคนทั่วไปด้วยมันคืออะไร หาจุดกึ่งกลางความต้องการกับความสวยงาม ซึ่งผมมองว่าความสวยงามก็คือความสวยงาม การหาความสวยงามและความต้องการของเจ้าของ มาตกแต่งกับฟังก์ชั่นให้มันได้มากกว่าไปมองว่าเทรนด์มันคืออะไร ซึ่งส่วนใหญ่เรามักจะทำอะไรตามที่เจ้าของอยากได้มากกว่า“
ดังตัวอย่างโครงการรีโนเวตบ้านพักอาศัยย่านพระราม 2 คือหนึ่งในผลงานออกแบบที่ความต้องการทางเจ้าของบ้านสวนทางกับผู้ออกแบบ “ผมไม่ได้ถนัดงานหลุยส์ แต่เก้าอี้ตัวนี้ทางเจ้าของเขาชอบมาก ผมเลยเอางานคอนเทมโพรารีที่ผมถนัดมาเบลนกับที่เจ้าของต้องการ มากกว่าที่จะเอาสิ่งที่เป็นตัวเราอย่างเดียวใส่เข้าไป ซึ่งผมพบว่าพอเอามาตั้งในห้อง มันกลับมีเสน่ห์มากกว่าที่เราคิดไว้ แล้วมันกลับทำให้ห้องกลายเป็นอีกฟิลลิ่งหนึ่งที่ดูดียิ่งขึ้น“
นั่นเพราะอินทีเรียดีไซเนอร์เป็นเสมือนอาชีพบริการที่ต้องคอยให้บริการผู้อื่น การรับฟังให้มาก จะสามารถวิเคราะห์สิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับลูกค้า ซึ่งคุณวอเน้นย้ำไว้ว่า “เราต้องฟังความต้องการให้เยอะๆเหมือนเราเป็นคนคอมโพรไมส์ ทำตัวให้เหมือนน้ำที่อยู่ที่ไหนก็ได้ เมื่ออยู่บนดินเราก็สร้างความชุ่มชื้นให้กับเขา ทำตัวให้มีประโยชน์กับคนที่เราไปอยู่ด้วย และเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากการทำงาน เพื่อทำให้มันดีขึ้นในครั้งต่อๆ ไป“
“ผมมองว่าการแก้ปัญหาและฟังก์ชั่นเป็นสิ่งสำคัญกับการทำงานออกแบบ มันเหมือนตอบโจทย์ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เจ้าของต้องการ แล้วเราจะทำอย่างไรให้มันน่าอยู่ ซึ่งการออกแบบจะเข้ามาช่วยในการทำให้ชีวิตมันดีขึ้นได้มากกว่าการออกแบบให้สวยอย่างเดียว“
วิริทธิพล ธนาโรจน์ปิยทัช