WOLF D. PRIX


สถาปนิกผู้สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่ไม่ยึดติดกับอดีต

TEXT นิภาภัทร ดัสดลย์ แปล
นวภัทร ดัสดุลย์ เรียบเรียง
PHOTO เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม, Courtesy ofCOOP Himmelb(l)au

 

นับเป็นโอกาสอันดีเมื่อ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย คุณอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้จัดการบรรยายพิเศษ โดยเชิญสถาปนิกที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง Wolf D. Prix มาเป็นวิทยากรบรรยายเพื่อให้ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา

Wolf D. Prix เกิดในเวียนนา เมื่อปี ค.ศ. 1942 เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ผู้อำนวยการการออกแบบ และพาร์ทเนอร์ของ COOP Himmelb(l)au และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสถาปนิกผู้บุกเบิกงานสถาปัตยกรรมแนว Deconstructivist ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรม โดยดึงเอกลักษณ์การแตกกระจาย การเปลี่ยนแปลงพื้นผิวของโครงสร้างหรือเปลือกมาเป็นแนวคิดการออกแบบ สะท้อนสู่ผลงานทางสถาปัตยกรรมที่แปลกตา เช่น อาคารสูงมีรูปร่างที่ไม่ใช่เส้นตรง แต่มีการใช้เส้นตัด รอยแยกมาสร้างความโดดเด่น

ในการบรรยายครั้งนี้ Wolf D. Prix ดูอารมณ์ขันกว่าที่เราคิด แม้กระทั่งการให้สัมภาษณ์กับสื่อที่ดูเป็นกันเองกว่าที่เราคาดเอาไว้ไม่น้อย และนี่คือคำตอบของหลายประเด็นคำถามจากสื่อมวลชนที่เข้าร่วมตั้งวงสนทนาอย่างใกล้ชิดกับสถาปนิก Wolf D. Prix หลังจบการบรรยายในหัวข้อ ‘Wolf D. Prix – Coop Himmelb(l)au Lecture’ ในช่วงเย็นของวันนั้น

 

“พวกเรา (ผู้ก่อตั้ง) เชื่อว่า เราสามารถสร้างอนาคตได้ เราไม่จำเป็นต้องมองย้อนอดีตมากเกินไป บางครั้งเราก็ต้องอยู่ในโลกที่เพ้อฝันบ้าง”

Wolf D. Prix
ก่อตั้ง ผู้อำนวยการการออกแบบ
และพาร์ทเนอร์ของ COOP Himmelb(l)au

 

พูดถึง COOP Himmelb(l)au ที่ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1968

พวกเรา(ผู้ก่อตั้ง)เชื่อว่า เราสามารถสร้างอนาคตได้ เราไม่จำเป็นต้องมองย้อนอดีตมากเกินไป บางครั้งเราก็ต้องอยู่ในโลกที่เพ้อฝันบ้าง

ชีวิตหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การปกครองในเยอรมันได้เปลี่ยนไปทั้งเบอร์ลินตะวันตกและตะวันออก โลกทั้งใบก็ได้เปลี่ยนไปด้วยครับ ผมมาจากออสเตรีย ทัศนคติเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของคนออสเตรียบ้านของผมกับคนเยอรมันนั้นแตกต่างกัน (คนออสเตรียเป็นคริสต์คาธอลิค สถาปัตยกรรมรากเหง้าเลยคือสถาปัตยกรรมแบบบาร็อก) ชาวดัตช์ซึ่งเป็นพวกนิกายคาลวิน (คริสต์โปรเตสแตนท์) พวกเขาจะคิดทำสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้และเปิดโลกทัศน์ (ซึ่งความคิดเหล่านี้จะไม่มีในคนออสเตรีย) ไม่เช่นนั้นแล้ว (Frederick) Kiesler ก็อาจไม่เคยสร้าง Endless House ใน Rotterdam

เพื่อนผมหลายๆ คนก็นับถือนิกายคาลวิน พวกเขาอาจมีทัศนคติที่คล้ายๆ กัน แต่ผลงานที่เขาสร้างสรรค์ออกมาก็อาจแตกต่างกันครับ ชาวออสเตรียหลายคนมีความสำคัญ คุณอาจรู้จัก Egon Schiele ชาวออสเตรียที่โด่งดังจากการวาดภาพผู้หญิงเปลือยในยุคหนึ่ง ขณะเดียวกันหรืออาจจะก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ สิ่งปลูกสร้างทรงลูกบาศก์ก็ได้ถูกเนรมิตขึ้นที่ปารีส พวกเราทุกคนไม่ใช่ผู้คิดค้น แต่เราเป็นสถาปนิกที่นำรูปทรงเหล่านั้นมาสร้างสรรค์  สำหรับผมแล้ว ผมรักเวียนนาครับ เวียนนาเป็นเมืองที่น่าอยู่แต่อาจไม่เหมาะกับการทำงานสถาปนิกเท่าไร

คำว่า Innovation และ Identity ในความหมายของคุณ

อัตลักษณ์ (Identity) สามารถเกิดขึ้นได้จากความชาญฉลาดในการเลือกใช้วัสดุ โครงสร้าง และองค์ประกอบต่างๆ ที่ทันสมัย ไฉนคนยุคสังคมก้มหน้าถึงได้ถามหาอัตลักษณ์ดั้งเดิมหละครับ แล้วเราจะทำอย่างไรไม่ให้สูญเสียอัตลักษณ์เหล่านี้

กฎหมายของแต่ละประเทศ เป็นอุปสรรคในการออกแบบไหม

สถาปนิกท้องถิ่นจะเข้าใจกฎหมายของท้องถิ่นนั้นๆ และช่วยทำให้การออกแบบสอดคล้องกับกฎหมายในแต่ละแห่งครับ

มีที่ไหนหรือเปล่าที่ข้อจำกัดทำให้เกิดช่องทางใหม่ๆ

ทุกที่แหละครับ ตอนนี้เราได้เปิดออฟฟิศใหม่ที่มุมไบ เพราะนักลงทุนมีมโนทัศน์ที่ชาญฉลาด ทำให้ผมสนใจมาก ผมยังจะได้คนท้องถิ่นที่จะช่วยให้กฎหมายมาสนับสนุนการพัฒนาของผมด้วย 

จาก 40 ปีที่แล้วกับปัจจุบัน วิธีการทำงานของคุณมีความแตกต่างกันอย่างไร

ปัจจุบันเครื่องมือต่างๆ ได้ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วมากครับ เรามีโปรเจ็กต์ที่ทีมงานของผมและวิศวกรต้องทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย สมัยที่ไม่มีคอมพิวเตอร์นั้น การออกแบบต้องใช้เวลานานมาก เหมือนการศึกษาอวกาศแหละครับ ถ้าอยากจะเดินทางไปดวงจันทร์ อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ รวมทั้งคอมพิวเตอร์ก็เป็นเทคโนโลยีที่เราปฏิเสธไม่ได้

เมื่อสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ยากหรือเปล่าที่จะตามให้ทันเทคโนโลยี

แน่นอนครับ แต่ก็น่าจะเป็นปัญหาของพวกคุณมากกว่าผมนะ (หัวเราะ)

ความท้าทายใหม่ๆ ด้านสถาปัตยกรรม

ผมคิดว่า ถ้าคุณกำลังขับรถเฟอร์รารี่ด้วยความเร็ว 2 กม./ชม. ก็เหมือนไร้ความหมายที่จะครอบครองรถคันนั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนอาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเราต้องใช้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้มาคิดการปรับปรุงผลงานของเรา ตอนนี้ที่ยุโรปกำลังเผชิญปัญหาเรื่องผู้อพยพที่มาจากซีเรีย อเมริกาและอังกฤษกำลังสร้างปัญหาให้เราต้องแก้ไข ถ้าหากอุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ประเทศต่างๆ จากบังคลาเทศมาถึงที่ไทยก็ต้องจมอยู่ใต้บาดาล และจะมีจำนวนผู้อพยพอีกหลายล้านคนในยุโรป ซึ่งหมายความว่า ในขณะนี้ ณ ตอนนี้ สถาปนิกจะต้องคิดพัฒนากลยุทธ์แล้วว่าจะทำอย่างไรไม่ให้น้ำเข้ามา ถ้าคิดในอีก 20 ปี หรือ 50 ปีข้างหน้าก็อาจจะสายไป

การแข่งขันมีความสำคัญอย่างไรในด้านสถาปัตยกรรม

การแข่งขันเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของสถาปนิกครับ เพราะเราจะกลายเป็นทาสของมัน คนหนุ่มสาวจะคิดว่าถ้าไม่แข่งขันก็จะไม่ได้โปรเจ็กต์ คุณคิดว่าคณะกรรมการจะเลือกผลงานที่ดีที่สุดเหรอ มันไม่จริงหรอกครับ การที่คิดว่าการลงแข่งขันเพื่อที่จะได้ถูกจ้าง นักลงทุนจะเชิญนักออกแบบหน้าใหม่ๆ เข้ามาแข่งขัน จะจ่ายเงินเพื่อซื้อดีไซน์ เหมือนตกหลุมพรางนักลงทุน พวกเขาจะบอกว่าการแข่งขันนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะเขาสามารถเอาไอเดียของเราไปได้ฟรีๆ ไงหละครับ

ตอนที่คุณออกแบบคุณคำนึงถึงทฤษฎีด้วยหรือเปล่า

สถาบันที่ดีต้องสอนให้เราค้นหาทำเลเหมาะๆ มีอิสระที่จะออกแบบ และทำให้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวด้วย เราต้องคำนึงถึงความเป็นจริงและไม่คิดแสวงหาผลกำไรมากเกินไป เราต้องเข้าใจถึงวัสดุที่จะใช้ โครงสร้างอาคารและคำนึงว่าจะสร้างออกมาอย่างไร ไม่เช่นนั้นแล้วเจ้าของโครงการจะเข้ามาควบคุมทุกอย่าง และเมื่อเกิดความผิดพลาดก็จะโทษสถาปนิก สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปเพราะคอมพิวเตอร์ นักเรียนต้องใช้เวลาถึง 9 ใน 10 สัปดาห์ในการศึกษาโปรแกรมต่างๆ แทนที่จะได้ออกไปดูของจริง ได้ลงมือทำจริง ถ้าคนรุ่นใหม่สนใจด้านสถาปัตยกรรม พวกเขาก็ควรลงมือปฏิบัติเอง เพราะโรงเรียนสามารถสอนได้แค่ยุทธศาสตร์และทฤษฎีเท่านั้น 

การศึกษาด้านสถาปัตยกรรมแบบโรมันและกอธิค มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตสถาปนิกของคุณอย่างไร

สถาปัตยกรรมแบบโรมันและกอธิค ไม่ใช่สิ่งที่ผมสนใจมากที่สุด สำหรับผมแล้ว การสังเกตว่ารถฟอร์มูล่า 1 ทำงานอย่างไรนั้นน่าสนใจกว่าเยอะ ผมคิดว่าวัฒนธรรมแบบโรมันนั้นเป็นวัฒนธรรมที่โหดร้าย ชาวกรีกและพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช สามารถฆ่าคนมากมายภายในเวลาเพียง 20 นาที จูเลียสซีซาร์ที่คนเรียกว่าวีรบุรุษได้เผาห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียที่อียิปต์ แล้วทำไมผมถึงต้องเรียนรู้จากงานสถาปัตยกรรมแบบนี้ ผมไม่ได้ตระหนักถึงมันจนกระทั่งการศึกษางานสถาปัตยกรรมมีความน่าเชื่อถือ ทุกวันนี้ก็เช่นกัน ผมไม่เชื่อว่าคนที่เวียนนาคิดว่าเมืองนี้มีปราสาทมากมายเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอก 1 ใน 3 ของคนเวียนนาอาศัยอยู่ริมคลอง ดังนั้นสำหรับผมแล้วผมจะนึกถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเสมอ ไม่ยึดติดอะไรเดิมๆ 

คนจีนหลายคนวิพากษ์วิจารณ์สถาปัตยกรรมแนวของคุณ คุณอยากให้พวกเขาเปิดใจมากขึ้นหรือเปล่า

ผมหวังว่าอย่างนั้นครับ บางคนเปรียบเทียบสิ่งก่อสร้างกับหญิงเปลือย แต่คนจีนเป็นคนที่ค่อนข้างจริงจังครับ บางทียังยึดติดกับธรรมเนียมเก่าๆ สร้างกำแพงจากดินแทนที่จะสร้างจากคอนกรีต ดื่มนมจากเต้าวัว ห่มขนสัตว์แทนที่จะทอผ้าฝ้าย จริงๆ แล้วคุณไม่จำเป็นต้องมีอนุปริญญาเพื่อจะเป็นสถาปนิก ความเป็นมืออาชีพนั้นมีหลายระดับ ผมรู้จักสถาปนิกหลายคนที่มีฝีมือ อย่างไรก็ตามทุกวันนี้สถาปนิกต้องอยู่เป็นทีมครับ มีทีมที่ดี มีผู้ร่วมงานที่ดี คุณถึงจะทำงานออกมาได้ดีครับ

 

พิพิธภัณฑ์ Musée des Confluences ในเมืองลียง (Lyon) ประเทศฝรั่งเศส (ภาพ Duccio Malagamba)

พิพิธภัณฑ์ Musée des Confluences ในเมืองลียง (Lyon) ประเทศฝรั่งเศส (ภาพ Duccio Malagamba)

European Central Bank (ECB) ในแฟรงค์เฟิร์ต (ภาพ http://www.coop-himmelblau.at/)

European Central Bank (ECB) ในแฟรงค์เฟิร์ต (ภาพ http://www.coop-himmelblau.at/)

Dalian International Conference Center ในประเทศจีน (ภาพ Duccio Malagamba)

Dalian International Conference Center ในประเทศจีน (ภาพ Duccio Malagamba)

Dalian International Conference Center ในประเทศจีน (ภาพ Duccio Malagamba)

Leave A Comment