WILL YOU MARRY ME?… YES, I DO
ศิลปะแวดล้อมในโฮมออฟฟิศอบอวลไอรัก
นอกจากจะเป็นสถานที่พักอาศัยที่เอื้อสำหรับการทำงานของพวกเขาทั้งคู่ มุมหนึ่งในบ้านหลังนี้ยังเคยถูกใช้เป็นสถานที่ซึ่งฝ่ายชายแอบทำเซอร์ไพรส์ขอฝ่ายหญิงแต่งงานมาแล้ว Daybeds มาเยือนทาวน์โฮมขนาด 3 ชั้นครึ่ง ของคุณกิฟต์-รักกิจ ควรหาเวช ศิลปินสตรีทอาร์ตเจ้าของลายเส้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และคุณเบียร์-พิชญา ศรีระพงษ์ จิวเวลรีดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ PITCH สองสามีภรรยาที่ตกลงปลงใจจะใช้ชีวิตคู่และเพิ่งเข้าประตูวิวาห์กันไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้
พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านทั้งหมด 286 ตารางเมตร ได้รับการจัดสรรปันส่วนออกเป็น 2 ฟังก์ชันหลัก ตามความตั้งใจก่อนที่จะมาเจอกับบ้านหลังนี้ ฟังก์ชันแรกคือการเพิ่มพื้นที่สำหรับทำงานศิลปะ เนื่องจากบ้านเก่าที่คุณกิฟต์อาศัยอยู่กับคุณแม่ย่านบางนามีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด บ้านหลังนี้จึงตอบโจทย์ในการทำงานที่ต้องใช้พื้นที่กว้างมากขึ้น เริ่มจากพื้นที่บางส่วนของลานจอดรถด้านล่างที่ใช้สำหรับการพ่นสีสเปรย์ของคุณกิฟต์ เรื่อยมาสู่ชั้นที่ 1 ซึ่งออกแบบเป็นพื้นที่จัดเก็บข้าวของเครื่องใช้ในการทำงาน ผลงานศิลปะ ของสะสม และหนังสือที่จัดเรียงอยู่บนชั้นวางของสีดำ บริเวณกลางห้องจัดวางโต๊ะทำงานขนาดใหญ่ 1 ตัว พร้อมด้วยเก้าอี้ 4 ตัว สำหรับรองรับลูกค้าที่เข้ามาคุยงานและการประชุม และสุดท้ายคือบนชั้นลอย พื้นที่ดังกล่าวถูกใช้สำหรับการทำงานศิลปะที่เบาลงมาอย่างการเพนท์รูป ตลอดจนจัดเก็บอุปกรณ์อย่างกระป๋องสีและแคนวาส
“ตอนอยู่บ้านแม่ เวลาทำงานทีของจะเยอะเต็มบ้านจนรู้สึกสงสารแม่ พยายามไปดูทาวน์เฮาส์ที่อื่นๆ แต่รู้สึกว่ามันดูมีความเป็นบ้านมากเกินไป” คุณกิฟต์ให้เหตุผล “พอมาเจอที่นี่ มีห้องนอนห้องเดียว ที่เหลือเปิดโล่งหมด เราก็คิดว่าน่าจะใช่ที่นี่ เลยตัดสินใจรีบจองเพราะเหลือสองหลังสุดท้ายพอดี”

ระแนงเหล็กบริเวณบันไดทางขึ้นประดับด้วยผลงาน Typography ของคุณเบียร์ในชื่อ ‘HAPPINESS’ ที่เธอลองเปลี่ยนอารมณ์มาทำงานศิลปะสเกลใหญ่กว่าจิลเวลรีดูบ้าง โดยยังคงอาศัยความถนัดในงานสามมิติเป็นแกนนำ ผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งจากนิทรรศการของกลุ่ม MITR ที่ Bridge art space BKK เมื่อเดือนกุมพาพันธ์ที่ผ่านมา

ช่องว่างขนาดเล็กระหว่างห้องน้ำกับช่องบันไดบนชั้น 1 คุณกิฟต์ให้ช่างสร้างบานเลื่อนตระแกรงเหล็กขึ้นมาใหม่ สำหรับจัดเก็บและแขวนผลงานของตัวเองรวมถึงของเพื่อนๆ อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเพียงแค่เลื่อนปิดก็เท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่ให้กว้างตามเดิม นับเป็นหนึ่งไอเดียดีๆ ที่สามารถนำไปใช้โดยไม่มีใครว่า

บริเวณโถงอาคารแบบ Double Volume เพิ่มการบิลท์อินชั้นวางของทำจากเหล็กทาสีดำ ความสูงจากพื้นชั้นล่างจรดเพดานชั้นลอย เพื่อเป็นที่จัดเก็บของสะสม และหนังสือเล่มโปรดของทั้งสองคน

สถาปนิกเน้นการเปิดพื้นที่ใช้สอยให้แสงสว่างส่องถึงและอากาศหมุนเวียนผ่านได้ทุกชั้น หน้าต่างกระจกทั้งด้านหน้าและด้านหลังบ้านทำให้ภายในอาคารมีความโปร่งโล่ง นอกจากนี้พื้นที่ Double Volume ยังช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นล่างและชั้นลอยได้ดี แตกต่างจากตึกแถวโดยทั่วไปที่มักมีข้อเสียคล้ายกันคือปิดทึบและขาดการถ่ายเทอากาศที่ดี

สถาปนิกเน้นการเปิดพื้นที่ใช้สอยให้แสงสว่างส่องถึงและอากาศหมุนเวียนผ่านได้ทุกชั้น หน้าต่างกระจกทั้งด้านหน้าและด้านหลังบ้านทำให้ภายในอาคารมีความโปร่งโล่ง นอกจากนี้พื้นที่ Double Volume ยังช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นล่างและชั้นลอยได้ดี แตกต่างจากตึกแถวโดยทั่วไปที่มักมีข้อเสียคล้ายกันคือปิดทึบและขาดการถ่ายเทอากาศที่ดี
ฟังก์ชันที่สองคือพื้นที่สำหรับการพักผ่อน ด้วยการออกแบบที่ถูกคิดมาแล้วเป็นอย่างดีจากทีมสถาปนิก IF (Integrated Field) ซึ่งเป็นการพัฒนารูปแบบที่อยู่อาศัยที่เรียกกันว่าห้องแถวให้แตกต่างไปจากอดีต จากพื้นที่ทำงานและพบปะลูกค้าที่เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะในฟังก์ชันการทำงาน ค่อยๆ ลดระดับความความเข้มข้นจากการเอาจริงเอาจัง เข้ามาสู่โหมดผ่อนคลายในพื้นที่ใช้สอยบนชั้นที่อยู่สูงขึ้นไปของบ้านอย่างชั้น 2 และ 3
ห้องครัวซึ่งโดยปกติแล้วเรามักจะเห็นว่าบ้านส่วนใหญ่ออกแบบครัวไว้บริเวณพื้นที่ชั้นล่างของอาคาร ทว่าพื้นที่ชั้นล่างดังกล่าวถูกได้ยกระดับขึ้นมาไว้บนชั้น 2 สำหรับโครงการนี้ร่วมกับส่วนรับประทานอาหาร ส่วนนั่งเล่น และคอร์ดกลางแจ้ง ในขณะที่ห้องนอนเดี่ยวของบ้านถูกกำหนดเอาไว้บนชั้น 3 นั่นก็เพื่อที่จะรองรับการใช้ชีวิตที่แยกส่วนพื้นที่อยู่อาศัยกับพื้นที่ทำงานออกจากกัน แต่ทั้งสองฟังก์ชันยังคงมีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันเพียงแค่เดินขึ้นลงบันไดเท่านั้นเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นทีมสถาปนิกออกแบบพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดในบ้านแบบ Free Plan เพื่อมอบอิสระให้กับผู้เป็นเจ้าของสามารถจัดการพื้นที่ทั้งหมดให้เหมาะสมและยืดหยุ่นกับความต้องการสำหรับการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป

เคาน์เตอร์ครัวที่บิลท์อินขึ้นใหม่ตามสไตล์ที่ทั้งสองคนชอบ พื้นที่ตรงนี้ถูกใช้สำหรับการตระเตรียมอาหารในแบบครัวไทย ซึ่งผู้ที่เป็นแม่ศรีเรือนก็ไม่ใช่ใครอื่นไปได้

ผนังห้องรับประทานอาหารประดับผลงานศิลปะ Eden Deer ที่ผลิตจากหลอดไฟนีออนหลากสี เติมความโดดเด่นให้พื้นที่ดูน่าสนใจไม่น้อย

ภาพถ่ายพรีเวดดิ้งของทั้งคู่จากการลั่นชัตเตอร์ของช่างภาพมากฝีมือ คุณตาล-ธนพล แก้วพริ้ง ประดับอยู่ตามมุมต่างๆ ภายในบ้าน เช่น บริเวณบันไดหน้าห้องนอน และบริเวณหัวเตียงภายในห้องนอนบนชั้น 3 เป็นต้น

ภาพถ่ายพรีเวดดิ้งของทั้งคู่จากการลั่นชัตเตอร์ของช่างภาพมากฝีมือ คุณตาล-ธนพล แก้วพริ้ง ประดับอยู่ตามมุมต่างๆ ภายในบ้าน เช่น บริเวณบันไดหน้าห้องนอน และบริเวณหัวเตียงภายในห้องนอนบนชั้น 3 เป็นต้น

ส่วนนั่งเล่นจัดวางโซฟาบุผ้าสไตล์มินิมอลเข้ามุม ประดับผนังด้วยผลงานภาพถ่ายผสานงานกราฟิกจากงานพรีเว็ดดิ้งที่เป็นการ Collaborations กันระหว่าง คุณกิฟต์ คุณเบียร์ และคุณตาล
“เราเข้ามาอยู่บ้านเร็วก็จะรู้ปัญหาเร็ว รู้ว่าแสงเข้าตรงไหน ควรจะมีม่านจุดไหนบ้าง”
รักกิจ ควรหาเวช
“เราเข้ามาอยู่บ้านนี้ได้ประมาณปีกว่าๆ ทำไปอยู่ไป เข้ามาอยู่ตั้งแต่ห้องนอนชั้นนี้ยังสร้างไม่เสร็จ” ศิลปินหนุ่มเล่าในขณะพาเราเดินลงบันไดมาจากชั้น 3 “แต่พอเรามาอยู่เร็วเราก็จะรู้ปัญหาเร็ว รู้ว่าแสงเข้าตรงไหน ควรจะมีม่านจุดไหนบ้าง ช่วงแรกอยากอยู่บ้านมาก ปูเสื่อนอนมาแล้วทุกชั้น ตรงคอร์ดเมื่อก่อนตอนยังไม่มีหมีก็เอาสระเป่าลมมาตั้งแล้วเล่นน้ำกัน แล้วเราก็เป็นพวกสายเพนท์ ผนังตรงนี้ (ผนังบริเวณคอร์ท) ที่จริงตั้งใจจะเพนท์เหมือนกัน แต่ว่าได้ไปทำหมีตัวนี้เพื่อไปตั้งโชว์ที่ Siam Center ก่อน ก็เลยให้ช่างทำหมีที่เป็นเวอร์ชั่น 2 คนละตัวกับที่สยามมาตั้งแทน เราก็เลยออกแบบหมีให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถนั่งได้ไปด้วยในตัว”
เมื่อช่างติดตั้งหมีเสร็จได้เพียงวันเดียว เจ้าหมีเหล็กยักษ์ก็ได้เป็นหนึ่งในสักขีพยานของช่วงเวลาอันน่าจดจำสำหรับทั้งคู่ทันที เพราะในมุมนี้เองเป็นมุมที่คุณกิฟต์เซอร์ไพรส์ขอคุณเบียร์แต่งงาน โดยติดตัวอักษรคำว่า ‘Will You Marry Me?’ ไว้ที่ตัวหมี ก่อนปิดไฟมืดพร้อมตั้งกล้องซ่อนไว้ที่ห้องครัวและโต๊ะกินข้าว ระหว่างที่รอให้คุณเบียร์กลับมาถึงบ้าน
“คุณกิฟต์เป็นคนโรแมนติกไหม” เราถามฝ่ายหญิง
“ไม่เท่าไหร่นะ” เธอตอบเคล้าเสียงหัวเราะ
“จะชวนคนอื่นมาช่วยทำมันก็เขิน เลยทำเองเท่าที่ทำได้ หมีเพิ่งมาวันเดียวก็จัดเลยเพราะตรงกับวันเกิดเบียร์พอดี” ชายหนุ่มกล่าวเสริม
ซึ่งท้ายที่สุดแล้วคำขอแต่งงานของคุณกิฟต์ก็ได้คำตอบจากคุณเบียร์ว่า “Yes, I do” สมใจปอง ทว่าสิ่งเดียวที่ทำให้เหตุการณ์นี้มีทั้งความซึ้ง รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างไม่ได้ตั้งใจ
“พอเบียร์กลับมาจากกินข้าวเห็นบ้านปิดไฟเงียบก็แปลกใจ เลยเดินย่องขึ้นมาเงียบๆ เห็นกิฟต์นั่งใส่เสื้อเชิต ใส่ทำไม ใส่ไปไหน เขาก็บอกให้เปิดไฟสิ พอเปิดมา Will You Mary Me? ตัว R หายไปตัวนึง” ฝ่ายหญิงเฉลย
“รีบทำไปหน่อย เพราะกลัวไม่ทัน” ฝ่ายชายสารภาพ
นับเป็นความผิดพลาดเล็กน้อยที่น่าให้อภัย ซึ่งสุดท้าย Daybeds ขอแสดงความยินดีกับคู่รักที่น่ารักทั้งสองคนมา ณ โอกาสนี้
Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ