WHAT IF BANGKOK IS (PART 3)
สมมุติว่ากรุงเทพเป็น…ในความคิดเห็นของ
กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล, ยศพล บุญสม และวรพงศ์ ช้างฉัตร
Text: พีรยา เชื้อสุนทรโสภณ
Photo: วีรภัทร์ สุขนิ่ม, PIA
เนื้อหาทั้งหมดจากคอลัมน์ SPECIAL INTERVIEW, Daybeds 160 เดือนมกราคม 2559
ท่ามกลางความจอแจแออัดของอาคารสูงและชุมชนน้อยใหญ่ในมหานครแห่งสยาม บริบทของเมืองย่อมหลีกไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดสถาปัตยกรรมหรือสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง อีกบทบาทของนักออกแบบอาคารและพื้นที่จึงกลายเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนกำหนดภาพลักษณ์ของเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Daybeds ต้อนรับศักราช 2016 ว่าด้วยธีม ‘Bangkokian’ กำลังพูดถึงพื้นที่และอาคารสาธารณะ กับความรับผิดชอบของสถาปนิก ภูมิสถาปนิก และมัณฑนากร ต่อบริบทของเมืองที่จะเปลี่ยนแปลงไป เราไม่เชื่อว่าเทรนด์ในแต่ละยุคจะมีส่วนกำหนดทิศทางการออกแบบที่เปลี่ยนไปทั้งหมด ก็อาจจะมีบ้างสำหรับบางคน ส่วนจะมากหรือน้อยแค่ไหนอาจขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน ณ ช่วงเวลาหนึ่ง แต่สิ่งที่ Daybeds เชื่อมั่นเสมอมาก็คือสถาปนิก ภูมิสถาปนิก และมัณฑนากร ทุกคนให้ค่าความสำคัญเรื่องฟังก์ชันการใช้งานที่สามารถเอื้อประโยชน์แก่ผู้ใช้ไม่น้อยไปกว่ารูปลักษณ์ที่สวยงาม สิ่งนี้ต่างหากคือนิรันดร์
‘งานดีไซน์เพื่อคนกรุงเทพฯนั้นสำคัญไฉน คนกรุงเทพฯได้อะไรที่มากกว่าคำว่างานดีไซน์ และถ้าเลือกได้อยากออกแบบสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้คนกรุงเทพฯ’ คำถามเหล่านี้คงไม่มีคำตอบใดเหมาะสมไปกว่าสิ่งที่ คุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก Spacetime, คุณยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกพลังงานสูงแห่ง Shma และ คุณวรพงศ์ ช้างฉัตร มัณฑนากรและหนึ่งในผู้บริหารจาก PIA Interior แขกรับเชิญ 3 ท่าน จาก 3 บริษัทออกแบบชั้นนำของวงการออกแบบบ้านเรา เพราะพวกเขาทั้งหมดคือแนวหน้าของผู้ออกแบบอาคารและสถานที่สาธารณะ ที่ตั้งอยู่รายล้อมรอบตัวคนกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร สวนสาธารณะ หรือแม้แต่คอนโดมิเนียม บริบทของเมืองที่คนกรุงเทพฯ ได้ใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น
THE COLOUR OF BANGKOK DESIGN
มิติเมืองที่หลากหลาย วิถีความสนุกของคนกรุง
วรพงศ์ ช้างฉัตร
‘PIA Interior’ บริษัทออกแบบชั้นนำที่มีผลงานเป็นที่รู้จักมากมาย อาทิ Sofitel So Bangkok, Hotel Muse, เซ็นทรัลลาดพร้าว, โรงภาพยนต์ Emprive Cineclub, พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย MOCA, สำนักงานใหญ่ ปตท., ธนาคารกสิกรไทย, The Street, Hilton Sukhumvit และอีกหลากหลายโครงการ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่ง ‘คุณวรพงศ์ ช้างฉัตร’ Senior Executive Partner หนึ่งในทีมผู้บริหารที่พยายามสร้างสรรค์งานออกแบบงานที่ดีให้กับสังคมเมืองอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่มีความแตกต่าง ทั้งย่านที่อยู่อาศัย สถาปัตยกรรม ตลอดจนคนหลายเชื้อชาติที่อาศัยอยู่รวมกัน ทำให้เมืองมีความหลากหลายและน่าสนใจ
Daybeds: กรุงเทพในอุดมคติของคุณเป็นอย่างไร
Worapong Changchat: เป็นเมืองของคนเมืองอย่างแท้จริง ในเรื่องของพื้นที่ที่สามารถใช้ร่วมกัน ที่ทำให้รู้สึกว่าคนได้ใช้พื้นที่ของกรุงเทพฯ อย่างเหมาะสม ซึ่งจริงๆแล้วควรจะมีพื้นที่ของคนเมืองมากขึ้นครับ ถ้าพูดในแง่เมืองที่ดีคือมันควรจะมีฟรีสเปซของคน ถ้ามองในมุมคตินิยมเราว่ามันเพิ่มขึ้นได้อีก ปัจจุบันเรามีสวนสาธารณะตรงสวนรถไฟ ตลาดจตุจักร etc. มันเป็นสิ่งที่เราสามารถใช้เวลาเดินเล่น ซื้อของได้ ตรงนี้มันวัดว่าถ้าคนธรรมดาสามารถใช้ชีวิตได้โดยที่มีพื้นให้เขาอย่างเหมาะสม ความเป็นเมืองจะเกิด คนในเมืองก็ต้องพยายามเองที่จะหาวิถีในการใช้ชีวิต ซึ่งมันควรจะเป็นพื้นที่อะไรก็ได้ที่คุณไม่ต้องใช้เงินมากจนเกินสมควร ไม่ว่าจะห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ ที่นั่งเล่น หรือทางคนเดิน ที่มันเสมือนเป็นพื้นที่ให้คนได้เข้าไปทำให้ชีวิตตัวเองสมดุลจากเมืองที่เร่งรีบ และสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมชีวิตของเมืองจริง ๆ
Dbs: คุณคิดว่างานดีไซน์เพื่อคนกรุงสำคัญอย่างไรบ้าง
WC: มันสามารถทำให้วิถีชีวิตของคนกรุงเทพดีขึ้นอย่างยั่งยืน แล้วก็มีปฏิสัมพันธ์ของคนกับเมือง ทำให้เขามีความรู้สึกถึงความหลากหลาย ซึ่งกรุงเทพมันใหญ่พอที่ทุกอย่างจะไม่ได้วิ่งไปที่ใดที่เดียวหรือคล้ายกันไปทั้งหมด อันนี้ผมคิดว่าความเป็นเมืองมันพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ความเป็นชุมชนที่หลากหลายมันชัดเจนขึ้น
Daybeds: สิ่งที่กรุงเทพยังขาดเพื่อการพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น
WC: คนเมืองโหยหาที่ว่าง โหยหาอากาศ และโหยหาคุณภาพชีวิตของเมืองที่เป็นเอาท์ดอร์หรืออินดอร์ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา หลายๆเมืองมันก็เป็นไปในทิศทางนี้ ทั้งนิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว ดั่งเช่น เขามีแม้กระทั่งสะพานที่ไม่ได้ให้รถวิ่ง แต่กรุงเทพยังไม่มี ผมมองว่าหากกรุงเทพมีสะพานหรือถนนของคน คุณจะได้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับชุมชน คนกับเมือง มันไม่ได้เป็นแค่ Space หรือที่ว่างเท่านั้น แต่เป็นที่ที่คนมารวมกัน คนมาพูดคุย พบปะ แลกเปลี่ยน รู้จัก และซึมซับวัฒนธรรมตรงนั้น ซึ่งมันมีมูลค่าที่ประเมินค่าไม่ได้ ผมคิดว่าตรงนั้นมันพูดถึงความเป็นเมือง มันคือจิตวิญญาณของเมือง คือมิติและความหลากหลายของวิถีชีวิตของคนเมืองที่ผสมผสานกัน ไม่ใช่แค่งานออกแบบชิ้นหนึ่ง ที่วางโปรเจ็กต์ไปแล้วทันทีที่ทำเสร็จ มันแปลกแยกตัวเองออกมาจากสังคม
“คนเมืองโหยหาที่ว่าง โหยหาอากาศ และโหยหาคุณภาพชีวิตของเมืองที่เป็นเอาท์ดอร์หรืออินดอร์ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา หลายๆ เมืองมันก็เป็นไปในทิศทางนี้ ทั้งนิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว ดั่งเช่น เขามีแม้กระทั่งสะพานที่ไม่ได้ให้รถวิ่ง แต่กรุงเทพยังไม่มี ผมมองว่าหากกรุงเทพมีสะพานหรือถนนของคน คุณจะได้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับชุมชน คนกับเมือง มันไม่ได้เป็นแค่สเปซหรือที่ว่างเท่านั้น แต่เป็นที่ที่คนมารวมกัน คนมาพูดคุย พบปะ แลกเปลี่ยน รู้จัก และซึมซับวัฒนธรรมตรงนั้น ซึ่งมันมีมูลค่าที่ประเมินค่าไม่ได้ ผมคิดว่าตรงนั้นมันพูดถึงความเป็นเมือง มันคือจิตวิญญาณของเมือง คือมิติและความหลากหลายของวิถีชีวิตของคนเมืองที่ผสมผสานกัน ไม่ใช่แค่งานออกแบบชิ้นหนึ่งที่วางโปรเจ็กต์ไปแล้วทันทีที่ทำเสร็จ มันแปลกแยกตัวเองออกมาจากสังคม”
Dbs: มิติการออกแบบของ PIA
WC: PIA Interior เราพยายามนำเสนอความหลากหลายของงานออกแบบให้เหมาะสมกับทิศทางชีวิตของคนและเมืองที่หลากหลายกลุ่ม และการใช้ชีวิต Human Oriented คืองานออกแบบที่มีมนุษย์และบริบทของสถานที่เป็นศูนย์กลาง เพราะทุกคนต้องเข้าไปใช้พื้นที่ในแต่ละโปรเจ็กต์ที่เราทำ ซึ่งถ้าไม่พูดถึง Human Oriented แล้วจะพูดถึงอะไร ในเมื่อมันไม่ใช่การเปิดหนังสือแล้วก็เอามาใช้อ้างอิง เราพูดถึงการอ่านทัศนคติ พฤติกรรมชีวิตของคนด้วย ถ้ามองในโจทย์คนกรุงเทพ เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอยู่แล้ว เรารู้อยู่แล้วว่าอะไรเป็นส่วนที่หายไป เรารู้ว่าอะไรเป็นส่วนที่เราเข้าไปแล้วจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่หลักของบริษัทที่จะนำเรื่องกระบวนการคิด (Process of Thought) และความคิดสร้างสรรค์ในเชิงใช้ประโยชน์นั้นกับมนุษย์จริง ๆ แล้วทุกอย่างจะวิ่งเข้ามาในทิศทางของงานออกแบบเองเสมือนเข็มทิศ เราไม่ใช่สตูดิโอที่เป็นโซโลอาร์ทติส ที่ทำไปแล้วเอาแต่ใจตัวเอง มันต้องตอบโจทย์ในเรื่องพฤติกรรมและบริบทมนุษย์และอื่นๆ ที่รายล้อมอยู่ แน่นอนหลักการคือมนุษย์/ทัศนคติ โดยตรรกะของงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นโปรเจ็กต์ใดก็แล้วแต่ ถ้าคุณให้มนุษย์อยู่ไม่ได้ ทุกโปรเจ็กต์จะล้มเหลวหมด
Dbs: ในฐานะนักออกแบบและคนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพ คุณอยากออกแบบหรือเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับคนเมืองบ้าง
WC: ในความเป็นดีไซเนอร์หรือสถาปนิกเรามีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในมือ เราสามารถสร้างงานออกแบบที่สัมพันธ์กับมนุษย์ได้ ถามว่าต้องการอะไรที่ทำให้เมืองมันพัฒนาขึ้น เราเป็นแค่ส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งที่ถ้าลูกค้าเห็นพ้องกับเราในเรื่องของงานออกแบบ ซึ่งหลายๆโครงการเราเป็นอย่างนั้น เราจะได้ความหลากหลายที่สัมพันธ์กับเมือง หนึ่งในนั้นคือการมีพื้นที่สำหรับคนที่เข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับโปรเจ็กต์นั้น เราเรียกว่างานออกแบบเพื่อมนุษย์ที่ยั่งยืน ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าสำคัญและน่าสนใจ
ส่วนในเมืองเล็กๆก็จะค่อยๆพัฒนาไปเรื่อยๆ อย่างตอนนี้จะเริ่มเห็นว่าทั้งจังหวัดใหญ่และเล็กเริ่มมีโปรเจ็กต์ที่ดี เราจะเห็นได้ว่าผู้คนเริ่มมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าคุณไปจังหวัดเล็กๆ ไม่พูดถึงกรุงเทพนะ การใช้ชีวิตช่วงบ่ายและเย็น คุณจะไปไหน มันคงมีแค่บ้าน ร้านก๋วยเตี๋ยว หรือร้านอาหาร แต่ตอนนี้เราเริ่มเห็นสวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ ถนนคนเดิน มันเห็นวิวัฒนาการของความเป็นเมือง คุณเห็นปอด ที่มันเป็นพื้นที่เมือง อย่างถ้าเป็นเอกชนเราจะเริ่มเห็นร้านกาแฟ ร้านอาหารเล็กๆที่ดูร่วมสมัย เป็น Space ของคนและเมือง เรามองว่าคนจังหวัดเล็กๆเขาก็ควรจะมีโปรเจ็กต์แบบนี้อยู่ด้วย ผมคิดว่าจะไม่น่าสนใจเลยถ้าเวลาไปประเทศใดประเทศหนึ่งหรือเมืองๆหนึ่ง ที่ทุกอย่างมันเหมือนก๊อปปี้เวอร์ชั่นของกันและกัน ถามว่าของเรามีไหม มันก็มีแต่ว่ามันก็ไม่ขาวหรือดำไปซะทีเดียว มันมีบางอย่างที่คละกันอยู่
ถ้าให้พูดถึงกรุงเทพฯ ผมว่าเราอยู่ในเมืองที่มีชีวิตชีวาเมืองหนึ่งของโลก ในความหมายที่ว่ามันมีการผสมผสานของวิถีชีวิตที่หลากหลาย เขาจัดอันดับว่ากรุงเทพเป็นเมืองที่น่าเที่ยวที่สุดในโลก แต่ไม่ได้เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก คุณจะเห็นสตรีทฟู้ด 24/7 คุณจะเห็นการทำอาหารบนฟุตบาท แล้วฟุตบาทมันคือพื้นที่เมือง ซึ่งเราก็ไม่เก่งพอในการจะเป็นนักวางผังของเมือง แต่ถ้ามีใครสักคนมานั่งคิดตอนนี้เรื่องเมืองใหม่ในอนาคตจริงๆ โดยเฉพาะเมืองหลวง มันควรจะมีฟุตบาทที่มีความกว้าง คุณต้องมีพื้นที่ที่อยู่ข้างถนนให้คนเขาเซ็ทอัพร้านต่างๆหรือพื้นที่เมือง เฟอร์นิเจอร์สาธารณะ มีความปลอดภัยของการให้แสงสว่าง โดยไม่ต้องให้เทศกิจมาคอยจับ ซึ่งคนกรุงเทพเราอยู่กันบนถนน เราอยู่รวมกัน เราไม่ใช่เมืองหนาวที่คนอยู่ที่บ้าน แต่บนถนนเราเจอทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ร้านอาหาร รถมอเตอร์ไซด์ จักรยาน มีคนหลากหลาย เดินผสมปนเปกัน ผมคิดว่ามันเป็น Space Program ที่ดี ถ้าพูดเรื่องวิถีชีวิตของเมืองจริง ๆ
“ความเป็นดีไซเนอร์หรือสถาปนิกเรามีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในมือ เราสามารถสร้างงานออกแบบที่สัมพันธ์กับมนุษย์ได้ ถามว่าต้องการอะไรที่ทำให้เมืองมันพัฒนาขึ้น เราเป็นแค่ส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งที่ถ้าลูกค้าเห็นพ้องกับเราในเรื่องของงานออกแบบ ซึ่งหลายๆโครงการเราเป็นอย่างนั้น เราจะได้ความหลากหลายที่สัมพันธ์กับเมือง”
Dbs: ในอนาคตคุณอยากให้การออกแบบงานเพื่อคนกรุงเทพเป็นไปในทิศทางใด
WC: อยากให้นึกถึงคนที่อยู่ให้เยอะกว่านี้ ซึ่งเมืองเรามันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เราเริ่มมีการเอาพื้นที่ว่างมาเริ่มทำเป็นสวนสาธารณะมากขึ้น เหมือนเราพยายามจะหาอะไรที่เติมเต็มได้ อาจเป็นพื้นที่ที่สามารถเข้าไปพักผ่อน ไปซึมซับ ไปหาความแตกต่างได้ ให้มันเติมเต็มสิ่งที่เมืองมันหายไป ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่กรุงเทพยังพอจะมีให้เห็นอยู่ อย่างบางกระเจ้า มันเป็นปอดของเมืองในการไปสูดอากาศบริสุทธิ์ หรือถ้ารู้สึกจิตใจสั่นไหวไปศาสเจ้าพ่อเสือเลย (หัวเราะ) หรือเบื่อๆก็ไปแถวริมแม่น้ำ ซึ่งแม่น้ำมันเป็นตัวแทนของพื้นที่ว่าง ในเมืองที่แออัด บางทีการมีแม่น้ำผ่านแล้วมีพื้นที่ของคนเมืองอยู่รอบๆแม่น้ำ มันเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจของคนเมืองมันดีขึ้น อย่างน้อยมันไม่เครียด เพียงแต่คุณต้องมีที่ว่าง ถ้าคิดอะไรไม่ออกขอแค่มีที่ว่าง ซึ่งเราไม่ต้องไปบังคับให้คนมา เดี๋ยวเขาก็มาเอง แต่ขอให้มีความปลอดภัย มีการจัดการที่ดี เขาก็อยู่ได้ ถ้าเมื่อไรมีโปรเจ็กต์ที่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเราก็จะทำให้ดีที่สุดให้มีพื้นที่ที่ดีสำหรับการใช้ชีวิต
แล้วมันเหมือนคนกรุงเทพฯ ชอบความหลากหลายด้วยนะ เมื่อไรที่ชีวิตในเมืองต้องทำเป็นกิจวัตรไปเรื่อยๆ มันก็เบื่อ แล้วหลายเมืองในโลกมันก็เป็นแบบนั้น สิ่งที่เขาทำกันคือการหาอะไรใหม่ๆทำ นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่า แม้กรุงเทพมันอาจจะดูไม่เป็นระเบียบ แต่มันเป็นความสนุกของการใช้ชีวิต ถ้าให้นึกถึงกรุงเทพในอนาคต คือเอาความหลากหลายมาทำให้มันเป็นระเบียบนึดนึง เพิ่มพื้นที่ของคนมากขึ้น และทำให้ปลอดภัย อย่างตอนนี้สตาร์ทอัพรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพเอง แต่จะอยู่ตรงไหน เมืองมันก็ต้องมีพื้นที่ให้เข้าไปใช้ได้ ซึ่งมันก็เริ่มมี Flea market เกิดขึ้น มี Food Truck มี Street Food ที่อร่อยที่สุดและหลากหลายที่สุด ซึ่งคุณจะไม่เห็นแบบนี้ในประเทศอื่นๆมากเท่าที่นี่
Dbs: สิ่งที่คนกรุงเทพควรจะได้รับจาก Designer และสถาปนิก
WC: คืองานออกแบบที่ดี แล้วก็เหมาะกับวิถีชีวิตของเขาในทุกๆระดับ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าทำไปแล้วมันไม่อยู่ในโหมดของงานออกแบบที่ตอบโจทย์ของการเป็นงานออกแบบที่ดีและใจกว้างพอที่จะรับความหลากหลาย มันจะค่อนข้างอยู่ได้ไม่นาน ในขณะเดียวกันต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเราไปช่วยให้เมืองที่เราอยู่มีคุณภาพไลฟ์สไตล์ที่ดีขึ้น หลากหลายมากขึ้น ซึ่งบริษัทพยายามที่จะอธิบายในสิ่งที่เราทำตรงนี้ให้กับทั้งลูกค้าของเราเอง และผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละโครงการของเรา เพื่อให้ได้มา ซึ่งงานออกแบบที่สร้างสรรค์ พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตของเมือง ที่วิวัฒน์ตัวเองตลอดเวลาอย่างกรุงเทพฯ ได้อย่างแท้จริง
ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว
พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย MOCA