WHAT IF BANGKOK IS (PART 1)
สมมุติว่ากรุงเทพเป็น…ในความคิดเห็นของ
กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล, ยศพล บุญสม และวรพงศ์ ช้างฉัตร
Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: วีรภัทร์ สุขนิ่ม
เนื้อหาทั้งหมดจากคอลัมน์ SPECIAL INTERVIEW, Daybeds 160 เดือนมกราคม 2559
ท่ามกลางความจอแจแออัดของอาคารสูงและชุมชนน้อยใหญ่ในมหานครแห่งสยาม บริบทของเมืองย่อมหลีกไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดสถาปัตยกรรมหรือสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง อีกบทบาทของนักออกแบบอาคารและพื้นที่จึงกลายเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนกำหนดภาพลักษณ์ของเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Daybeds ต้อนรับศักราช 2016 ว่าด้วยธีม ‘Bangkokian’ กำลังพูดถึงพื้นที่และอาคารสาธารณะ กับความรับผิดชอบของสถาปนิก ภูมิสถาปนิก และมัณฑนากร ต่อบริบทของเมืองที่จะเปลี่ยนแปลงไป เราไม่เชื่อว่าเทรนด์ในแต่ละยุคจะมีส่วนกำหนดทิศทางการออกแบบที่เปลี่ยนไปทั้งหมด ก็อาจจะมีบ้างสำหรับบางคน ส่วนจะมากหรือน้อยแค่ไหนอาจขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน ณ ช่วงเวลาหนึ่ง แต่สิ่งที่ Daybeds เชื่อมั่นเสมอมาก็คือสถาปนิก ภูมิสถาปนิก และมัณฑนากร ทุกคนให้ค่าความสำคัญเรื่องฟังก์ชันการใช้งานที่สามารถเอื้อประโยชน์แก่ผู้ใช้ไม่น้อยไปกว่ารูปลักษณ์ที่สวยงาม สิ่งนี้ต่างหากคือนิรันดร์
‘งานดีไซน์เพื่อคนกรุงเทพฯนั้นสำคัญไฉน คนกรุงเทพฯได้อะไรที่มากกว่าคำว่างานดีไซน์ และถ้าเลือกได้อยากออกแบบสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้คนกรุงเทพฯ’ คำถามเหล่านี้คงไม่มีคำตอบใดเหมาะสมไปกว่าสิ่งที่ คุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก Spacetime, คุณยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกพลังงานสูงแห่ง Shma และ คุณวรพงศ์ ช้างฉัตร มัณฑนากรและหนึ่งในผู้บริหารจาก PIA Interior แขกรับเชิญ 3 ท่าน จาก 3 บริษัทออกแบบชั้นนำของวงการออกแบบบ้านเรา เพราะพวกเขาทั้งหมดคือแนวหน้าของผู้ออกแบบอาคารและสถานที่สาธารณะ ที่ตั้งอยู่รายล้อมรอบตัวคนกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร สวนสาธารณะ หรือแม้แต่คอนโดมิเนียม บริบทของเมืองที่คนกรุงเทพฯ ได้ใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น
URBAN AGRICULTURE
กรุงเทพฯ เมืองเกษตรกรรม
กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 18/12/2558 ระบุว่าพื้นที่ของเมืองทั้งหมดประมาณ 1,569 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่สีเขียวอยู่ 34,048,713 ตารางเมตร มีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรทั้งหมดเกือบหกล้านคนอยู่ที่ 5.98 ตารางเมตร / คน กรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรนี้ทั้งหมด 34 แห่ง โดยสวนหลวง ร.9 เป็นสวนสาธารณะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ 500 ไร่ ในปัจจุบันการขยายตัวของเมืองทำให้เห็นได้ชัดว่ากรุงเทพฯ กับพื้นที่สีเขียวแทบจะเป็นเหมือนเส้นขนานที่นับวันยิ่งห่างไกลออกไปเรื่อยๆ เว้นเสียแต่ว่าจะมีองค์กรหรือหน่วยงานนั้นๆ เพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในพื้นที่ของตัวเอง เพียงแต่เรามักเห็นป้ายโครงการตึกสูงนับสิบๆ ชั้นมีแนวโน้มผุดขึ้นไม้เว้นแต่ละวัน แต่ในทางกลับกันเราแทบจะไม่เคยเห็นต้นไม้ริมถนนหนทางในเมืองกรุงสูงเกินตึกสองชั้นขึ้นไปแต่อย่างใด แต่สำหรับต้นไม้ในโครงการป่าในกรุงแล้วอาจเป็นข้อยกเว้น
คุณเล็ก-กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก สเปชไทม์ จำกัด หนึ่งใน 9 สถาปนิกโครงการ Design for Disasters ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย และตัวตั้งตัวตีในโครงการจิตอาสาช่วยเหลือชาวนาในชื่อ ‘กลุ่มเพื่อนปลูกเพื่อนกิน’ หย่อนความเห็นถึงโครงการป่าในกรุงของ ปตท.ที่ Spacetime . กา-ละ-เท-ศะ และบริษัท ภูมิสถาปนิกกรุงเทพ จำกัด หรือ LAB – Landscape Architects of Bangkok ร่วมกันออกแบบไว้ว่า “เรามองว่าในอีก 3-5 ปี ต้นไม้มันจะโตขึ้นมา 7-8 เมตร แล้วเราจะมองไม่เห็นภาพรวม เวลาเดินในสกายวอร์คจะเห็นต้นไม้มากกว่าเหมือนเดินอยู่ท่ามกลางต้นไม้ คล้ายกับเวลาที่เราไปเดินตามป่าชายเลน” นั่นอาจเป็นหนึ่งเหตุผลในการออกแบบทางเดินชมเรือนยอดให้มีระดับความสูงจากพื้นดินถึง 10.2 เมตร รวมไปถึงหอชมป่าความสูง 23 เมตร ซึ่งสะท้อนไปถึงความเชื่อที่ว่าต้นไม้จะโตตามวัฏจักรโดยไม่มีใครไปตัดทำลาย และเมื่อไม่มีใครไปตัดมัน ไม่แน่ว่าอีก 10 ปีต่อจากนี้ โครงการป่าในกรุงอาจต้องต่อเติมทางเดินชมเรือนยอดให้สูงขึ้นอีกก็เป็นได้
Daybeds: ช่วยเล่าแนวคิดในการออกแบบป่าในกรุงให้เราฟังหน่อยได้ไหม โดยเฉพาะในส่วนงานสถาปัตยกรรมที่ Spacetime รับผิดชอบ
Kanika R’kul: LAB เป็นตัวตั้งตัวตีโครงการ เพราะเขาเคยทำโครงการให้ ปตท. มาแล้ว แต่ไม่ใช่โครงการในลักษณะนี้ พอ ปตท. มีไอเดีย LAB จึงหาสถาปนิกมาร่วมงาน เลยมาเชิญ Spacetime ที่ไม่เคยร่วมงานกันมาก่อน ซึ่ง ปตท.ให้เกียรติทีมออกแบบมาก รับฟังดีมาก เช่น เรื่องผนังดินบดอัด (Rammed Earth) มันเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยง เพราะคนอื่นยังไม่ค่อยใช้ในสเกลแบบนี้ จริงๆ การทำไม่ง่าย การดูแลไม่ยาก แทบจะไม่ต้องดูแลอะไรเลย เราเลือกวัสดุนี้เพราะได้ไปรู้จักกับบริษัท ลาแตร์ {la terre S.A. (Société Anonyme) ผู้เชี่ยวชาญวัสดุดินเพื่องานก่อสร้าง} เป็นรุ่นน้องสถาปนิก (คุณปัจจ์ บุญกาญจน์วนิชา) ที่ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกาบางรัฐก็ทำผนัง Rammed Earth เป็นคอนเทมโพรารีแมตช์ทีเรียล แต่บ้านเรามันไม่ใช่เนเจอร์ที่จะมาทำอะไรแบบนี้ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเดี๋ยวนี้วัสดุมันก็เชื่อมโยงข้ามประเทศกันหมดแล้ว การที่เราใช้ทรัพยากรเยอะมาก เราจะหาทรัพยากรทางเลือกของวัสดุก่อนสร้าง มันก็น่าจะเป็นการกระจายการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไปได้ดีกว่าการไปจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตอนแรกเราติดใจมันด้วยความสวยงาม แต่คุณสมบัติมันยังอีโคมากๆ เพราะมันแทบจะไม่ต้องแปรรูป ทางลาแตร์จะเป็นเหมือนซัพพลายเออร์บวกผู้รับเหมา ทางเราในฐานะผู้ออกแบบก็ไปทำความเข้าใจเพื่อที่จะดูว่าจะเอามาทำงานก่อสร้างออกแบบอย่างไร
สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้ในฐานะสถาปนิกด้วยก็คือ ปกติเราจะเอาตัวดัชนีความคิดเราเป็นตัวตั้ง เอาดีมานด์ในเชิงดีไซน์เป็นตัวตั้ง แล้วเราก็ไปสรรหาซัพพลายมาให้ได้ อย่างหนึ่งที่ตัวพี่เองเริ่มคิดมาสิบกว่าปีแล้ว คือเราจะอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติที่มีให้ได้ เราต้องหัดเอาซัพพลายเป็นตัวตั้ง เราควรจะปรับเปลี่ยนสิ่งที่คิดว่ามันจะสวย หรือสิ่งที่เราคิดว่ามันจะดีไปทำซัพพลายในบริเวณที่มันไม่ไกลเกินไป เพื่อที่เราจะได้ลดพลังงานในการไปเอาสิ่งนั้นมาให้ได้ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดของเราใหม่ในฐานะนักออกแบบ อย่างกำแพงเมืองจีน เนื่องจากมันใหญ่มาก บางเซ็กชั่นก็จะเอาวัสดุที่หาได้ง่ายที่สุดบริเวณนั้น แถวไหนมีหินเยอะก็ใช้หิน แถวไหนมีดินเยอะก็ใช้ดิน บางเซ็กชั่นก็ใช้เป็นลักษณะ Rammed Earth ในประเทศไทย เขื่อนขุนด่านฯ ที่นครนายก ก็ใช้เทคนิคคล้ายๆ กันกับ Rammed Earth แต่ด้วยความที่มันใหญ่ มันก็จะมีส่วนผสมของหินปูนในสัดส่วนที่ต่างกันใช้เชิงวิศวกรรม
Dbs: งานออกแบบของคุณโดยส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญต่อประโยชน์สาธารณะมากน้อยเพียงใด
KR: ลักษณะของงานที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นบ้านเดี่ยวเสียเยอะ ไม่ค่อยเป็นงานสาธารณะเท่าไร แต่โดยความสนใจหรือวิธีคิดจะเป็นไปในแนวทางนั้นค่อนข้างมาก ซึ่งมันอาจจะดูเหมือนค้านๆ กันนิดหน่อย (หัวเราะ) แต่โดยส่วนตัวเราก็มีทัศนคติของประโยชน์สาธารณะอยู่แล้ว เช่นเราจะอาบน้ำวันละกี่ครั้ง มันก็เป็นทัศนคติต่อประโยชน์สาธารณะ เราจะเลือกกินอะไร มันก็เป็นทัศนคติต่อประโยชน์สาธารณะ เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลทั้งนั้นเลย ล้วนแล้วแต่หนีไม่พ้นเป็นทัศนคติต่อประโยชน์สาธารณะ สิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำคือใช้ทรัพยากรน้อย ถ้าเราประหยัดทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่แรก มันไม่มีอะไรดีไปกว่านี้แล้วในการสร้างอะไรบางอย่าง
“การพูดเรื่องพื้นที่สีเขียว คิดว่ายากที่จะมีคนบอกว่าฉันไม่อยากได้ แต่ว่ามันต้องแลกมาด้วยอะไร อันนั้นมันจะเริ่มเป็นปัญหา เช่น มันต้องแลกมาด้วยคุณต้องเอาเวลา เอาเงินของคุณมาดูแล คุณต้องศูนย์เสียพื้นที่ตรงนี้ไป คือถ้าไม่ใช่บ้านฉัน ฉันก็ไม่แคร์ ก็ดีฉันจะได้มีสวนอยู่ข้างๆ บ้าน แต่ถ้าเป็นบ้านฉันเมื่อไหร่ก็จะเดือดร้อน เพระฉะนั้นเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ว่าจะสร้างความเข้าใจว่า ในการที่จะเสียสละเพื่อสาธารณะ คนที่เสียสละกับคนที่ได้รับประโยชน์ คุณจะทำอะไรให้คนที่เสียสละรู้สึกว่าฉันยินดี คุณต้องไม่ปล่อยให้เขาเสียอยู่คนเดียว แล้วคุณก็นั่งเฉยๆ รอผลประโยชน์จากการสูญเสียของเขา คิดว่าต้องมีเวทีให้คนได้แสดงออก ได้คิดการบาลานซ์ตรงนี้เป็นมาได้พูด ได้แสดงออกเยอะๆ เพื่อว่าคนที่ไม่ได้คิดเองเป็นอยู่แล้วได้รับฟังเข้าไปเยอะๆ จะเข้าไปอยู่ในวิธีคิดของเขา”
DBs: งานที่เป็นประโยชน์สาธารณะอย่างป่าในกรุงสามารถให้อะไรกับคนเมืองได้บ้างต่อไปในอนาคต
KR: จริงๆ จะว่าไปแล้ว คนก็มีจิตสาธารณะมากขึ้น แล้วก็ต้องการพื้นที่สีเขียวมากขึ้น หรือต่อให้คนมีจิตสาธารณะน้อยก็ยังรักพื้นที่สีเขียวด้วยกันทั้งนั้น การพูดเรื่องพื้นที่สีเขียว คิดว่ายากที่จะมีคนบอกว่าฉันไม่อยากได้ แต่ว่ามันต้องแลกมาด้วยอะไร อันนั้นมันจะเริ่มเป็นปัญหา เช่น มันต้องแลกมาด้วยคุณต้องเอาเวลา เอาเงินของคุณมาดูแล คุณต้องศูนย์เสียพื้นที่ตรงนี้ไป คือถ้าไม่ใช่บ้านฉัน ฉันก็ไม่แคร์ ก็ดีฉันจะได้มีสวนอยู่ข้างๆ บ้าน แต่ถ้าเป็นบ้านฉันเมื่อไหร่ก็จะเดือดร้อน เพระฉะนั้นเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ว่าจะสร้างความเข้าใจว่า ในการที่จะเสียสละเพื่อสาธารณะ คนที่เสียสละกับคนที่ได้รับประโยชน์ คุณจะทำอะไรให้คนที่เสียสละรู้สึกว่าฉันยินดี คุณต้องไม่ปล่อยให้เขาเสียอยู่คนเดียว แล้วคุณก็นั่งเฉยๆ รอผลประโยชน์จากการสูญเสียของเขา คิดว่าต้องมีเวทีให้คนได้แสดงออก ได้คิดการบาลานซ์ตรงนี้เป็นมาได้พูด ได้แสดงออกเยอะๆ เพื่อว่าคนที่ไม่ได้คิดเองเป็นอยู่แล้วได้รับฟังเข้าไปเยอะๆ จะเข้าไปอยู่ในวิธีคิดของเขา
ถ้าถามว่าโปรเจ็กต์แบบนี้มันจะสามารถสร้างอะไรได้บ้าง จริงๆ เราจะเห็นคนใกล้ตัวบอกตอนโปรเจ็กต์เริ่มใกล้เสร็จ เริ่มเห็นรูป หรือตอนที่ ปตท.เขาโหมโฆษณาตอนช่วงแรกๆ หลายคนก็อยากจะพาลูกไปเรียนรู้ คิดว่าหลายคนมองหาพื้นที่แบบนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเขาจัดกิจกรรมได้ดี เพราะมันต้องอาศัยกิจกรรมด้วย ถ้าคนไม่ได้ชื่นชมในเชิงสถาปัตยกรรมน่าสนใจ บางคนเขาสัมผัสเรื่องอื่น เป็นเรื่องของเรื่องเล่า เป็นเรื่องของความรู้ กิจกรรม มันแล้วแต่จริตของคน เพราะฉะนั้นมันต้องมีอะไรตรงนั้นมากพอที่จะทำให้ได้ผล มันก็ไม่ใช่ทำง่าย แต่ว่าถ้าเขาทำได้มากพอ แล้วมันกลายเป็นที่ที่คนไปเชื่อมสัมพันธ์เยอะๆ จริงๆ ต้นไม้ใครก็รักง่ายจะตาย มันเป็นของรักง่าย คนไปก็ได้รู้จักได้สัมผัสกับมันมากขึ้น ยิ่งถ้าเนื้อหาที่สอดแทรกเข้าไปให้คนได้รับรู้ ผ่านกิจกรรมหรืออื่นๆ เป็นเนื้อหาที่เจ๋ง ปลูกฝังคนแบบก้าวกระโดดได้ มันก็จะทำให้มันกลายเป็นเรื่องฮิปด้วย เหมือนที่ใครหลายคนพยายามจะทำ Root Garden ทองหล่อ คนพยายามจะทำ Green Roof ตรงสยามเซ็นเตอร์ ที่เขาปลูกข้าว ปลูกดอกไม้ ปลูกผักสวนครัว ซึ่งตอนนี้อาจารย์คิดว่ามันเป็นเรื่องฮิปอยู่ เพรานั้นถ้ามันทำให้คนรักสถานที่นี้ แล้วไปใช้มันบ่อยๆ เหมือนสวนสาธารณะ
ผู้ว่า ปตท. จะคอยเตือนพวกเราในฐานะผู้ออกแบบ โดยเฉพาะคนที่ออกแบบภูมิสถาปัตย์ฯ ว่า “ผมไม่ได้ต้องการสวนสาธารณะนะ ผมต้องการป่า” เพราะเขาก็กลัวบางทีเรื่องความห่วงสวย กลัวดูไม่สวยพอ เราก็จะเริ่มดีไซน์เป็นสวนสาธารณะ เขาจะคอยบอกซึ่งเป็นความชัดเจนที่อาจารย์รู้สึกว่าดี แล้วอยากทำให้แตกต่าง เพราะ ปตท.ปลูกป่า ปตท.ไม่ได้สร้างสวนสาธารณะ เพราฉะนั้นแนวทางการประชาสัมพันธ์มันก็ชัดเจน ตรงนี้มันมีสิ่งที่แตกต่างกับสวนสาธารณะ แต่เป็นสิ่งที่อาจารย์หวังว่าคนจะมองเห็น ทำให้เกิดแนวทางในการทำสวนสาธารณะอีกแบบที่ไม่ต้องประดิษฐ์เยอะมาก เป็นแนวธรรมชาติแล้วคุณทำจากต้นกล้าได้ คุณไม่ต้องไปเอาต้นไม้ใหญ่มาลงเสมอไป เพราะมันโตเร็วพอ อันนี้เป็นแนวคิดที่มีอยู่ในการปลูกป่าของป่าในกรุงที่มันน่าจะเป็นองค์ความรู้ที่ดี แล้วเราก็หวังว่าอะไรแบบนี้มันจะมีแนวทางกับวิธีการออกแบบสวนสาธารณะไม่ว่าจะตกไปอยู่ในมือใคร จะตกไปอยู่ในมือของภูมิสถาปนิกที่เยี่ยมยอด หรือภูมิสถาปนิกกลางๆ หรือภูมิสถาปนิกที่ไม่ได้เก่งมาก เพราะมันก็ยากที่จะบอกว่างานเหล่านี้จะตกไปอยู่ในมือใคร เพราะสิ่งเหล่านี้ หนึ่ง มันไม่ได้ใช้เงินเยอะ มันชักชวนให้คนไปช่วยกันปลูกก็ยังได้ คุณไปช่วยกันสร้างสวนสาธารณะ หรือคุณปลูกต้นไม้นี้ในบริเวณบ้านของคุณ ด้วยมือคุณเอง หรือชวนลูกคุณไปปลูก เพราะเดี๋ยวนี้คนก็ชอบกิจกรรมอยู่แล้ว ใช่ไหม มันเป็นยุคแห่งอีเว้นท์ มันไม่ยากที่จะดึงคน
“คนกลับมาใช้ไม้ คนชอบใช้ไม้ แต่ไม่เคยมีใครดูแลเลยว่าป่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ไม่มีใครสนใจเลยว่าป่าจะต้องมีการปลูกทดแทนเท่าไรถึงจะยังใช้ไม้นี้ได้ต่อไป”
Dbs: ภาครัฐน่าจะจัดกิจกรรมให้คนรณรงค์ปลูกต้นไม้เหมือนปั่นจักรยานบ้างนะครับ หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่ควรตัดต้นไม้ที่กำลังโตจนไม่เคยสูงเกินตึกสองชั้นเลย
KR: จริงค่ะ (หัวเราะ) แต่ละต้นน่าสงสารมาก บ้านอาจารย์อยู่ถนนเอกมัยก็โดนทุกปี มันเหมือนเป็นอะไรที่ไม่ได้ถูกพัฒนา เราก็มองว่าถ้ามันมีองค์ความรู้ใหม่ วิธีการใหม่ที่อาจจะมาจากกลุ่มอื่น มุมอื่น เพราะบางทีไปเริ่มต้นบอกว่าให้เทศกิจเปลี่ยน ให้อะไรที่เป็นของรัฐเปลี่ยน มันเหมือนกับเป็นการเปลืองพลังเปล่าๆ แต่ถ้าสมมุติว่ามันเป็นแรงกดดันมาจากอย่างอื่น เฮ้ย! ไอ้นี่ก็ทำไม่ยากนี่ ใครๆ เขาก็ทำกัน มันดีนะ บางทีเขาก็เอาไอเดียนี้ไปทำต่อเอง ในเรื่องที่ไม่ได้ทำยากเลย แต่เราก็รู้ว่าทุกอย่างที่ผ่านมาทางภาครัฐมันมีความซับซ้อนในเรื่องผลประโยชน์เสียจนบางทีมันไม่ใช่เรื่องของการที่ว่าจริงๆ มันคืออะไร เป้าหมายจริงๆ ของมันไปอยู่ที่ไหนไม่รู้ แล้วมันก็แค่เป็นผลลัพธ์ที่ออกมาก็แค่นี้
พูดถึงงานแลนด์สเคป ตอนนี้รีสอร์ท โรงแรม ร้านอาหาร อะไรต่อมิอะไรก็อยากมีต้นไม้ทั้งนั้นแหละ ต้นไม้มันขายออก ถ้าคุณมีต้นไม้ใหญ่อยู่ในร้านคุณ คุณอยากไปไหม? คนอยากไป เดี๋ยวนี้มันเป็นแบบนี้ พอมันเป็นคอมมิวนิตี้ขึ้นมาแล้ว ทำให้ตัวมันเองมีโอกาส แต่พอตัวมันเองมีโอกาสแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่ก็คือ ดีมานด์ที่มีต่องานแลนด์สเคป เพราะตอนนี้ก็เหมือนกับทุกอย่าง คนกลับมาใช้ไม้ คนชอบใช้ไม้ แต่ไม่เคยมีใครดูแลเลยว่าป่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ไม่มีใครสนใจเลยว่าป่าจะต้องมีการปลูกทดแทนเท่าไรถึงจะยังใช้ไม้นี้ได้ต่อไป ก็เหมือนกับต้นไม้ พอมีดีมานด์โดยเฉพาะต้นที่มันไม่ได้ปลูกเร็ว ยิ่งต้นใหญ่ๆ แพงๆ ก็เข้าไปตัดกันสะบั้นหั่นแหลก มันเป็นอะไรแบบนี้ที่มันเป็นปัญหาลูกโซ่เกี่ยวข้องตามมา
ตอนที่อาจารย์ชวนน้องๆ เพื่อนๆ ลูกศิษย์ที่เป็นสถาปนิกไปดูป่าในกรุง ก็ยังเคยคุยกับเขาว่า จริงๆ อยากที่จะชวนบริษัทสถาปนิก เรามาทำกันสนุกๆ ว่า ปีหนึ่งเราใช้ไม้ไปกี่ต้นในการออกแบบงานของเรา แล้วเราก็ชวนกันไปปลูกป่า เป็นจำนวนประมาณเท่านี้ต้น ต่อปีนั้นๆ ทำเป็นกิจกรรม พอพูดไปแล้วแต่ละคนทำหน้าตกตะลึงมาก ตายแล้ว ฉันต้องไปปลูกป่าเยอะมากเลย (หัวเราะ) ก็เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งที่อาจารย์รู้สึกว่าบริษัทสถาปนิก ผู้รับเหมา น่าทำ ก็ยังเป็นความคิดอยู่นะ ปีหน้ามีแรงเดี๋ยวจะทำ เดี๋ยวหาวิธีคิดง่ายๆ ก่อน
Dbs: ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่เป็นสถาปนิก ถ้าหากมีโอกาสออกแบบสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้คนกรุงเทพฯ อาจารย์เล็กอยากออกแบบอะไรครับ
KR: (หัวเราะพร้อมครุ่นคิด) จริงๆ อยากออกแบบพื้นที่ทางการเกษตร เพราะว่าเมื่อสองปีที่ผ่านมา ตอนที่มีวิกฤตเรื่องชาวนา ตอนนั้นเราก็เคยทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ เรื่องข้าว ถึงแม้ความตั้งใจแรกมันจะวิวัฒนาการมาเป็นเรื่องที่แตกต่างจากความตั้งใจนิดหน่อย แต่มันก็ยังเกี่ยวข้องกันกับเรื่องเกษตรอินทรีย์ ก็ยังคิดว่าเมืองใหญ่ควรจะต้องมีพื้นที่การเกษตรอยู่ใกล้ๆ จริงๆ มันควรจะอยู่ในจังหวัดใกล้ๆ เพราะว่าในเมืองอย่างไรมันก็ต้องเป็นเมือง แต่มันก็ควรจะมีบ้างอย่างที่หลายคนพยายามจะทำ เพื่อที่จะทำให้มันยืนหยัดด้วยตัวเองได้มากขึ้น เพราะว่าพื้นที่เกษตรกรรมกับพื้นที่เมืองมันต้องอยู่กันคนละที่มันเป็นความคิดที่โบราณแล้ว มันควรที่จะมามองว่ามันควรจะอยู่ด้วยกัน แม้มันไม่สามารถที่จะทำเป็นพื้นที่ทางการเกษตรเลี้ยงดูคนในเมืองได้ทั้งหมด แต่ควรจะมีอยู่พอสมควร โดยเฉพาะสิ่งที่มันต้องใช้ความสด จากตรงนี้เคลื่อนย้ายไปตรงนั้นได้ง่าย ไม่อย่างนั้นมันจะเหมือนกับการที่เราไปรักษาความสด เพื่อในช่วงของการเดินทางมาจนถึงผู้บริโภค มันเป็นช่วงที่มีสารเคมีมากมาย อะไรแบบนี้มันน่าจะเกิดขึ้นในเมือง เหมือนอย่างหลายๆ เมืองที่เขาก้าวหน้าหน่อย เราก็พยายามที่จะทำ
คนที่มีชีวิตอยู่ในเมือง สนใจพื้นที่สีเขียวอยู่ใกล้ตัว คนที่อยากปลูกนู่นปลูกนี่ มีพื้นที่ที่ไม่ถึงขั้นต้องเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่เป็นพื้นที่คอมมิวนิตี้ส่วนรวมเหมือนที่หลายประเทศเขาจะทำกัน เหมือนกับว่าบริเวณละแวกนี้จัดพื้นที่ขึ้นมาแทนที่จะเป็นแค่สวนสาธารณะที่คุณไปจ็อกกิ้งหรือเดินเล่น แต่เป็นพื้นที่ที่เอาไว้ปลูกพืชผักสวนครัว ก็อาจจะมีวิธีการจัดการคุณจะเข้ามาเป็นเจ้าของจัดการดูแลอย่างไร เชื่อว่ามีคนจำนวนพอสมควร โดยเฉพาะคนที่อายุทำงาน จันทร์-ศุกร์ ทำงานหัวปักหัวปำ ไม่ได้หยุด เสาร์-อาทิตย์ ไปทำกิจกรรมอะไรกับครอบครัวได้บ้าง โดยเฉพาะคนมีลูกจะเริ่มอยากสอนลูกให้ทำอะไร เขาก็มีพื้นที่ไปทำได้ วันธรรมดาอาจจะเป็นช่วงของเด็กนักเรียน คนสูงอายุ ที่เขาอยู่บ้าน เดี๋ยวนี้ก็ยังเล่นไอแพดกันได้ ดูทีวีกันได้ แต่ว่าได้ออกไปทำอะไรแบบนี้ ซึ่งจริงๆ พวกนี้สามารถมารวมตัวอยู่กันในศูนย์รีไซเคิล ในเชิงคอมมิวนิตี้รีไซเคิลได้ อาจารย์เคยไปดูที่ไต้หวัน เขามีศูนย์รีไซเคิล มันเหมือนเป็นกลุ่มศาสนาไปทางด้านเซนหน่อยกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก อาจารย์เห็นวิธีการของเขาทำวิธีการทำเป็นคอมมิวนิตี้รีไซเคิ่ล เห็นแล้วทึ่งมาก เพราะจริงๆ ถือว่าเป็นองค์กรเอกชนที่เข้มแข็งมาก นำโดยผู้นำทางศาสนาแล้วเป็นผู้หญิงด้วยนะ เป็นลัทธิชื่อฉือจี้ จะมีโรงพยาบาลของเขาเอง มีสถานีโทรทัศน์ วิทยุของตัวเอง ทำสื่อคุณภาพ และมีกลุ่มคนที่ไปช่วยเวลาคนมีภัยพิบัติ อย่างตอนสึนามิเขาก็จะมาที่นี่ กลุ่มนี้เขาจะไปทั่วโลก ไต้หวันเป็นประเทศที่เขาไม่ฟู่ฟ่า ดูไม่ฮิปไม่มีอะไร แต่ดูมีพื้นฐานเป็นปึกแผ่น คนไม่ฟุ้งเฟ้อด้วย คอมมิวนิตี้ตรงนี้อาจารย์เห็นคนสูงอายุจำนวนมาก แล้วก็พวกเด็กๆ เขาก็จะไปนั่งล้อมวงที่โต๊ะ มีแผงวงจร มีตะกั่ว เส้นทองแดง มีเหล็ก ในการรีไซเคิลที่จะได้ผลคุณต้องแยกวัสดุทุกอย่างออกมาก แล้วคุณถึงจะนำไปรีไซเคิลได้จริงๆ ใช่แค่ความรู้สึก เหมือนกลุ่มแม่บ้านบ้านเรา มันก็ทำให้ไม่ตัวคนเดียว อะไรแบบนี้อาจารย์คิดว่ามันน่าจะเกิดขึ้นได้
เสาร์-อาทิตย์ ไม่ใช่ว่าฉันไปต้องไปเดินห้างสรรพสินค้าเท่านั้น แต่ฉันก็ไม่พร้อมที่ย้ายออกไปอยู่ชานเมือง อาจจะไม่มีปัจจัยในพื้นที่ทำเกษตรกรรมเป็นชีวิตจิตใจ ฉันทำไม่เป็น ไม่พร้อมจะมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปขนาดนั้น แต่ฉันอยากมีส่วนนี้บ้าง อันนี้มันน่าจะต้องมีสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองมากขึ้น นอกเหนือจากสิ่งที่เราพูดๆ กันมานานแล้วว่า พื้นที่สวนสาธารณะ พื้นที่ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องพาณิชย์อย่างเดียว แต่ว่าสิ่งเหล่านี้มันทำยากมากเพราะว่า มันไม่ใช่พาณิชย์มันไม่มีคนลงทุน พอมันไม่มีคนลงทุน มันก็ต้องเป็นเงินภาษี ทีนี้เงินภาษีมันไม่ถูกจัดการอย่างที่มันควรจะเป็น มันก็เลยเกิดได้เป็นปัจเจกเล็กๆ แต่ก็จำเป็น เหมือนบ้านเราอาจะต้องเกิดแบบนี้แหละ เหมือนการลงทุนเป็นการส่วนตัว แล้วก็เป็นอะไรเล็กๆ แล้วค่อยๆ กลายเป็นอะไรที่ใหญ่ขึ้นพอจะได้ แต่อาจารย์คิดว่ามันยากเหมือนกันนะ ถ้าขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่จะเอาเงินภาษีมาทำเรื่องพวกนี้ อาจารย์คิดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นชีวิตในเมืองที่เกิดขึ้นสำหรับคนที่ใช้ชีวิตในเมืองในอนาคต เอาเรื่องเกษตรกรรมหรืออาหารเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น นอกเหนือจากต้นไม้เชิงสวยงาม คนจะชอบพูดว่ามีไม้ดอก ต้องมีไม้แดกด้วย เพราะคนเรามันอยู่ไม่ได้ถ้าไม่สิ่งเหล่านี้ แล้วเราก็ควรลดกสิกรรมลง เพราะมันบริโภคเกินควร