UNIVERSAL DESIGN

คณบดีและนักวิชาการด้าน Universal Design กับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี

Text : ณิชา เตชะนิรัติศัย
Photo : ฉัตรชัย เจริญพุฒ

สาวเเกร่งที่มีดีกรีเป็นถึงด็อกเตอร์และผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการออกแบบเพื่อคนพิการ ผู้สูงอายุ และชุมชน ที่ได้รับรางวัลจากงานวิจัยหลายชิ้นที่ไม่ใช่แค่ตีพิมพ์ แต่ยังได้รับการนำมาพัฒนากับสังคมไทย

ในครั้งนี้ daybeds ได้มีโอกาสพูดคุยเชิงวิชาการ ถึงงานออกแบบเพื่อสังคมและการเรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรมในศตวรรษที่ 21 กับอาจารย์วิว-ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีหญิงคนแรกและอายุน้อยที่สุดของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล.

Daybeds : ประวัติการศึกษาและการทำงาน
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี : จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในด้านออกแบบภายใน และเข้าทำงานกับบริษัทออกแบบประมาณ 2 ปีกว่า จนถึงในช่วงนั้นเศรษฐกิจแย่ในช่วงปี 40 ออฟฟิศสุดท้ายคือ P49 Deesign ส่วนตัวรู้สึกว่าสายอาชีพเริ่มไม่มั่นคงบวกกับเริ่มรู้ความรู้ที่ได้เรียนมายังไม่พอ เลยตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทที่ คณะสถาปัตย์ พระจอมเกล้าลาดกระบัง ในตอนนั้นเป็นเวลาที่ทางมหาลัยเปิดรับทุนพัฒนาอาจารย์ ซึ่งเป็นทุนพัฒนาสาขาขาดแคลน จากนั้นชิงทุนรัฐบาลไทย ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก University of Newcastle upon Tyne, UK  ซึ่งตอนนั้นก็เป็นอาจารย์ จึงต้องลาเรียนประมาณ 5 ปี กว่า

หลังจากจบมาก็กลับมาเป็นอาจารย์เต็มตัว ทำวิจัยเกี่ยวกับคนพิการตั้งแต่สมัยเรียน แต่ด้วยความรู้สึกส่วนตัวไม่อยากให้เสียดายความรู้ที่เรียนมา จึงหาทุนทำวิจัยและเปิดศูนย์วิจัยทางด้านนี้โดยเฉพาะ ตั้งแต่นั้นมาจึงเป็นอาจารย์และทำวิจัย และบริการวิชาการไปพร้อมๆ กัน

Daybeds : ความสนุกของวิชาชีพนี้
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี : การที่เราได้ออกไปสำรวจสิ่งต่างๆ และนำมาปรับปรุงพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นป้ายรถเมล์คนขึ้นได้มากน้อยเพียงใด คนพิการหรือผู้สูงอายุสามารถใช้งานได้สะดวกไหม โปรเจ็กคอนโดเอกชน รณรงค์ให้อาคารมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ ความสนุกมันคือผลที่ได้ออกมาสามารถพัฒนาสังคมเพื่อสร้างความเท่าเทียมได้

Daybeds : ทำไมถึงสนใจเรื่องคนพิการ และอยากพัฒนาในด้านนี้
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี : ตอนสมัยปริญญาโทต้องพัฒนาหัวข้อทีสิส ต้องหาสิ่งที่ตนเองสนใจ โดยเริ่มจากเรามีความสนใจในเรื่องโรงเรียนทางเลือกแบบวอลดอร์ฟ ที่เน้นการให้เด็กทำกิจกรรมนอกห้องเรียน อยู่กับธรรมชาติ ศึกษาแนวคิดนี้และปรึกษางานวิจัยจากอาจารย์อีกหลายท่าน และได้ไอเดียจาก อาจารย์ท่านหนึ่งที่จบจากญี่ปุ่น ในด้านยูนิเวอร์เเซล ดีไซน์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากในยุคนั้น ในช่วงนั้นเป็นปี 2544 คือเมื่อ16 ปีที่แล้วเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับวงการ จึงเกิดความสนใจในเรื่องนี้มากกว่าเรื่องแรกที่ได้คิดไว้

ความเกี่ยวข้องกับคนพิการ
ในสมัยก่อนจะเน้นเรื่องนี้ยังไม่มีเรื่องผู้สูงอายุเข้ามา หลังจากที่ได้ศึกษาและเห็นความน่าสนใจของเรื่องนี้ จึงได้เปลี่ยนหัวข้อวิจัยเป็นเรื่อง ยูนิเวอร์เเซล ดีไซน์ กับบ้านของคนไทย และงานวิจัยนี้ยังได้รับรางวัลในด้าน Universal Design and Visitability ที่ The Ohio State University อเมริกา เนื่องจากเป็นขบวนการที่ใหม่ทำในบริบทไทย ซึ่งในตอนนั้นยังไม่ค่อยมีคนทำ เรื่องนี้เลยกลายเป็นความเชี่ยวชาญของตัวเองไปในที่สุด และด้วยความสนใจจึงนำเรื่องนี้ไปวิจัยต่อในระดับปริญญาเอก แต่ปรับเปลี่ยนเป็นความสนใจในงานเชิงผังเมือง ตั้งคำถามถึงนโยบายและกลไกการนำกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่สาธารณะมาบังคับใช้

Daybeds : การทำศูนย์วิจัยทำให้เกิดอะไรบ้าง และมีส่วนในการพัฒนาในจุดไหนบ้าง
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี : พอทำศูนย์วิจัยจะตอบทุกโจทย์ในทุกกระบวนการ ขั้นตอนแรกคือต้องหาทุนวิจัย เพื่อได้ทีมมาช่วยทำวิจัย ในตอนนั้นมีสำนักงานกองทุนส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ทุนเครือข่ายที่สนใจในเรื่องการพัฒนาคนพิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก คนไร้บ้านเพื่อสังคม เราก็ยื่นไปขอทุน ได้ทุนมา 3 ปี จำนวน 7ล้านบาท เป็นเงินตั้งต้น การยื่นขอทุนคือต้องบอกว่าจะทำอะไรบ้าง คล้ายการยื่นรายละเอียดเสนอทีสิส  สิ่งที่เสนอไปคือ รับออกแบบบริการวิชาการ ออกแบบบ้าน ป้ายรถเมล์ ปรับปรุงพื้นที่สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุในชุมชน และออกแบบหลักสูตรเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับยูนิเวอร์เเซล ดีไซน์ ซึ่งนี่คือการเตรียมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ความรู้ไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้สอนอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ อยู่ในทุกๆที่ เช่น ในคนพิการที่มีประสบการณ์ตรงในการใช้สภาพแวดล้อม ในแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่ต้องอาศัยการกลั่นกรอง หรือ ที่เรียกว่า information literacy ที่คนรับข้อมูลข่าวสารจะต้องเรียนรู้ทีจะเอาไปใช้อย่างชาญฉลาด ดังนั้น การเรียนการสอน จึงมักใช้โจทย์จากสภาวการณ์จริง

ในทุกรายละเอียดที่เกิดจากกระบวนการวิจัยหรือบริการวิชาการ ได้เอาไปลงกับการสอนในหลักสูตรวิชาเลือกในปริญญาต่างๆ และนำเอามาลงในโปรเจ็กต์ที่ได้ทุนมาด้วย ผลที่ได้คือไม่ใช่แค่ทำวิจัยแล้วเก็บไว้ในห้องสมุด แต่เป็นผลออกมาที่เป็นรูปเป็นร่างและเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

Daybeds : การผันเปลี่ยนมาทำงานในสายบริหาร ในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี : เริ่มมาจากความชอบในการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ได้รู้จักผู้คนมากขึ้น กว้างขึ้น หลายๆคนก็ต่างวงการ จึงได้มีโอกาสรับผิดชอบด้านงานบริหารบุคลากรของสถาบัน ในตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดี และได้มีโอกาสทำงานในด้านพัฒนาอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของ สจล. ประมาณ 2 ปี บวกกับคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หมดวาระ เลยได้รับการสนับสนุนให้ลงสมัครเป็นคณบดี ซึ่งต้องนำเสนอวิสัยทัศน์และคำมั่นสัญญาว่าจะพัฒนาคณะไปในทิศทางใดให้คณะประสบความสำเร็จเป็นหนึ่งในสิบของประชาคมอาเซียน ผลคือได้มาดำรงตำแหน่งมีวาระเวลา 4 ปีต่อจากนี้

Daybeds : สิ่งที่อยากปรับเปลี่ยนใหม่ให้กับวงการสถาปัตยกรรม
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี : แน่นอนสิ่งที่ต้องปรับอย่างแรกคือ ความเข้มแข็งทางวิชาการ มีความตั้งใจ พัฒนาหลักสูตร ให้มีหลักสูตรใหม่ๆให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของคนในศตวรรษที่ 21 อาทิ Digital-Aided Design หรือ Media Arts ตั้งใจจะเปิดหลักสูตรปริญญาโทและเอกเพิ่มขึ้น เนื่องจากเด็กเกิดใหม่น้อย และเน้นการทำหลักสูตรให้เป็นสากล พัฒนาให้ดีขึ้น ต้องทำให้เป็นคณะสถาปัตย์ ติดอันดับต้นๆของไทย เน้นวิชาการทำยังไงให้เด็กออกไปและสามารถทำงานกับคนอื่นที่แตกต่างหลากหลายได้

แต่เดิมอาจารย์ถูกมองว่าเป็นแหล่งรวมความรู้ แต่ในยุคสมัยนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท การหาข้อมูลถูกเปลี่ยน อาจารย์อาจเป็นคนแนะนำและอาจารย์ต้องทำวิจัยมากขึ้น เพื่อให้ได้ความรู้ใหม่ๆมาสอน อาจารย์ต้องทำงานบวกทำวิจัยควบคู่มากกว่าการสอนอย่างเดียว จริงๆเรื่องนี้เป็นวิสัยทัศน์ของประเทศอยู่แล้ว

ในทางด้านกายภาพ คณะสถาปัตย์ลาดกระบัง ถ้าเป็นคน ก็อยู่ในช่วงกลางคน คือ ประมาณ 50 ปี เรามีโรงฝึกปฏิบัติการ (เวิร์คชอป) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พื้นที่ใหญ่ที่สุด แต่ขาดการบำรุงรักษามานาน เราต้องพัฒนาระบบอินเตอร์เนตซึ่งมีความสำคัญในสมัยนี้ ความรู้ไม่ได้อยู่แค่บนกระดาน แต่อยู่ในโลกออนไลน์ด้วย ทั้งหมดก็จะมีการปรับให้ทั่วถึงทั้งคณะ

นอกจากนี้ยังมีการปรับให้มีพื้นที่ให้นักศึกษามากขึ้น เช่น common space , creative space  ซึ่งในปัจจุบัน นศ.ใช้พื้นที่เพื่อพบปะ พูดคุย หรือ ทำงาน ในห้องสมุดและโรงอาหารแทน นี่เป็นสื่งแรกๆที่ต้องทำ

Daybeds : การปรับมีเดียและอินเตอร์เน็ตมีบทบาทไหม และจะส่งผลยังไง
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี : ความรู้ทักษะอยู่ในตัวของอาจารย์ผู้สอน แต่สื่อการเรียนการสอนด้วยสื่อที่ทันต่อสมัยก็จะเป็นสิ่งที่สำคัญ การสอนออกแบบต้องมีตัวอย่างให้ดูว่าสถาปนิกชื่อดังระดับโลกมีกระบวนการออกแบบอะไร ใช้ภาพในการเล่าเรื่อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ การปรับให้เอื้ออำนวยและมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษา

Daybeds : ในอนาคตคิดว่าจะมีแผนอย่างไรต่อไป จะมุ่งเน้นในด้านใด
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี :
  ในส่วนงานวิจัยจะส่งเสริมการทำวิจัยร่วมกันกับอาจารย์สาขาอื่นๆ และตอนนี้ยังเป็นอาจารย์สอนในวิชา ยูนิเวอร์เเซล ดีไซน์ ในปริญญาโทและเอก ในส่วนตัวคิดว่าในส่วนงานบริหาร ตอนนี้จะเริ่มพัฒนาในเรื่องกายภาพก่อนในปีแรก เพราะปรับปรุงได้ง่ายที่สุด ทั้งห้องน้ำ อินเตอร์เน็ต ปรับปรุงอาคารกว่าสามมสิบปี ไม่ใช่ว่าออกไปพัฒนาด้านนอกให้ดีขึ้น แต่สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวยังไม่เอื้ออำนวยก็ไม่ใช่ แผนนอกจากนี้ยังอยากทำให้เป็นกรีนแคมปัส ทั้งเป็นมหาลัยที่มีธรรมชาติ มีพื้นที่สีเขียว ลดขยะ และใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ สำหรับอนาคตสถาปนิก นักออกแบบ และศิลปินอีกด้วย

 

Leave A Comment