UNILEVER HOUSE
อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่
กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ในประเทศไทย
Text: นวภัทร ดัสดุลย์ เรียบเรียง
Photo: Unilever
Architect: A49
Engineering/Construction: QTC GROUP LTD.
ถนนพระรามเก้าในปัจจุบัน นับว่าเป็นหนึ่งในทำเลที่ดีในฐานะศูนย์กลางธุรกิจใหม่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะได้สะดวก อาทิ รถไฟฟ้าใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงก์ อยู่ใกล้ถนนมอเตอร์เวย์ สนามบินสุวรรณภูมิ และใกล้กับโรงงานของยูนิลีเวอร์ ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ในประเทศไทย จึงทุ่มงบประมาณกว่า 2,600 ล้านบาท เนรมิตอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ ‘ยูนิลีเวอร์ เฮ้าส์’ ด้วยรูปแบบของการลงทุนในอาคารแบบการเช่าระยะยาว เป็นอาคาร 12 ชั้น พื้นที่อาคารรวม 48,000 ตร.ม. และพื้นที่ใช้เป็นสำนักงาน 18,000 ตร.ม. ภายใต้แนวคิดในการออกแบบ 3 ประการ คือ ความยั่งยืน (Sustainability), การทำงานแบบคล่องตัว (Agile Working) และ การเชื่อมต่อ (Connectivity in the Building)
ยูนิลีเวอร์มีความต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สำนักงานที่แตกต่างจากโดยทั่วๆ ไป คือต้องการพื้นที่ทำงานที่มีขนาดใหญ่ เปิดโล่งทั้งชั้น มีบันไดเชื่อมต่อกันทุกชั้นเพื่อติดต่อกันได้สะดวก ทำให้พนักงานจากต่างแผนกได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและทำให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งออฟฟิศที่ให้เช่าทั่วไปไม่สามารถรองรับความต้องการนี้ได้ จึงต้องลงทุนในอาคารใหม่เพื่อความเหมาะสม อีกทั้งยังสามารถรองรับการขยายตัวในอนาคต เพราะยูนิลีเวอร์ได้จัดเตรียมและออกแบบพื้นที่ให้สามารถรองรับการเติบโตได้อีก 20% โดยไม่กระทบต่อโครงสร้างของอาคาร
จุดเด่นของการออกแบบภายนอกอาคาร คือเน้นเส้นโค้งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบบรรจุภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์ และสะท้อนลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์ของแบรนด์ เพื่อสร้างพลังและความมีชีวิตชีวาให้แก่สำนักงาน ในส่วนผังอาคาร ชั้น 9 เป็นโถงล็อบบี้ที่เปิดโล่ง สามารถใช้ประชุมพนักงานได้ทั้งบริษัท ชั้น 8 เป็นห้องประชุมทั้งหมด ชั้น 7 เป็นพื้นที่ทำงานรวมสำหรับลูกค้า ส่วนชั้น 3-6 เป็นลานจอดรถ และชั้น B1 – 2 เป็นส่วนร้านค้า ในส่วนพื้นที่สำนักงานเชื่อมต่อกันด้วยบันได และเป็นพื้นที่เปิด เพื่อให้พนักงานได้พบปะกันได้สะดวกมากขึ้น
แนวคิดของอาคาร ประกอบไปด้วย หนึ่ง Agile Working เน้นการออกแบบพื้นที่ภายในอาคารที่สร้างความสะดวก คล่องตัว ในการทำงาน ทั้งต่อพนักงานประจำสำนักงาน และพนักงานที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ สองคือ Connectivity in the Building ให้พนักงานสามารถทำงาน และเชื่อมต่อการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพื่อสนับสนุนให้พนักงานสามารถทำงานได้จากทุกสถานที่ ทุกเวลา ทั้งนี้การออกแบบยังคำนึงถึงการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรมสินค้า และสามคือ Sustainability การออกแบบและก่อสร้างภายใต้แผน ‘การดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืนของยูนิลีเวอร์’ ที่เน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน โดยบริษัทฯ ได้ยื่นขอรับการรับรอง Leadership in Energy and Environmental Design หรือ (LEED) certification ซึ่งวัดประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งกระบวนการ นับตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง การจัดการ และบำรุงรักษาอาคาร
‘ยูนิลีเวอร์ เฮ้าส์’ คืออาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ในประเทศไทย ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะหลังคาและกระจกรอบอาคารมีประสิทธิภาพสูงในการสะท้อนแสงและกันความร้อนจากภายนอกอาคาร และมี Louvre รอบอาคารเพื่อกันแดด เพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศในอาคาร มีการติดตั้งระบบแสงสว่างของอาคารใช้พลังงานต่ำ แสงสว่างจะไม่รบกวนภายนอกในยามค่ำคืน นอกจากนี้สถานที่ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถใต้ดิน มีที่เก็บจักรยาน ห้องอาบน้ำ และล็อคเกอร์ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานใช้จักรยานในการเดินทางมาทำงาน
ในส่วนของการประหยัดน้ำสามารถนำน้ำฝนและน้ำที่ใช้แล้ว กลับมาบำบัดและใช้ใหม่ในระบบแอร์และรดน้ำต้นไม้รอบอาคาร รวมถึงห้องน้ำใช้อุปกรณ์และสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ ในส่วนของการประหยัดพลังงาน ตัวอาคารทั้งหมดมีค่า OTTV หรือค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของผนังด้านนอกอาคารเฉลี่ย 30 วัตต์ต่อตารางเมตร (โดยเฉลี่ยอาคารสีเขียวทั่วไปจะมีค่าการถ่ายเทความร้อนประมาณ 50 วัตต์ ต่อตารางเมตร) นอกจากนี้ยังมีการลดการใช้ไฟฟ้าลง 20% ด้วยการใช้ระบบต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง ประกอบด้วย กระจกบุผนังอาคารที่การถ่ายเทความร้อนต่ำ ระบบแสงสว่างที่ใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟ ระบบควบคุมแสงในตอนกลางวันโดยใช้เซ็นเซอร์วัดแสงแดด ถ้าแสงแดดแรงจ้าไฟจะหรี่อัตโนมัติ ระบบ HVAC (ความร้อน การระบายอากาศ และแอร์) และมีการใช้บันไดเชื่อมแต่ละชั้นแทนการใช้ลิฟต์
ด้านวัสดุที่ใช้ภายในอาคาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ฯ มีเป้าหมายที่จะลดของเสียจากการก่อสร้างลงให้ได้ 75% โดยการแยกขยะและนำไปรีไซเคิล และมีเป้าหมายที่จะใช้วัสดุรีไซเคิลให้ได้ 20% ของทั้งตึก ยกตัวอย่างเช่น กระจก จะใช้กระจกที่หลอมและนำมาใช้ใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะใช้วัสดุที่ผลิตได้ในประเทศและในภูมิภาคอย่างน้อย 20% ของตัวตึก เช่น ไม้ จะเป็นไม้ที่ผลิตภายในประเทศไทย หรือการใช้ไม้ไผ่เป็นผิวของพื้น เนื่องจากไผ่ถือว่าเป็นไม้ที่สามารถปลูกทดแทนได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีการจัดบริเวณถังรับขยะรีไซเคิลในทุกชั้น
ในส่วนของระบบปรับอากาศภายในอาคาร ใช้ระบบ Variable Air Volume จะช่วยปรับอุณหภูมิเฉพาะพื้นที่ได้ มีเซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นระบบควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคาร (Indoor Air Quality Control System) ที่ช่วยลดมลภาวะทางอากาศภายในอาคารได้ดี รวมถึงมีเซ็นเซอร์ปรับสมดุลแสงธรรมชาติ โดยระบบหรี่ไฟอัตโนมัติสามารถปรับระดับแสงตามแสงสว่างจากภายนอกได้ สุดท้ายคือระบบอัตโนมัติภายในอาคาร (Building Automatic System) ที่เรียกว่าระบบ BAS ช่วยควบคุมและจัดการระบบวิศวกรรมต่างๆ ภายในอาคาร รวมทั้งติดตามและควบคุมการใช้พลังงานด้วย
จะเห็นได้ว่าจากแผนการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืนของยูนิลีเวอร์ ซึ่งได้ดำเนินการต่างๆ ตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง การจัดการอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการยื่นขอใบรับรอง Leadership in Energy and Environmental Design (LEED) ที่จะเป็นการช่วยวัดประสิทธิภาพของการประหยัดพลังงานและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม และไม่เฉพาะแต่การขอการรับรอง LEED Certification เท่านั้น สำนักงานของยูนิลีเวอร์ในประเทศอื่นๆ ก็มีการขอรับรองมาตรฐานจากสำนักอื่น เช่น ในสำนักงานใหญ่ในตุรกีและอินเดีย ได้รับการรับรองจาก LEED ส่วนในลอนดอน ได้รับการรับรองจาก BREEAM และ สิงคโปร์ได้รับการรับรองจาก Green Mark
อย่างที่คุณสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ในประเทศไทย กล่าวไว้ “ยูนิลีเวอร์ เฮ้าส์ บ้านหลังที่ 5 ของยูนิลีเวอร์ในประเทศไทย คือบ้านหลังใหม่ที่สร้างขึ้นตามแนวคิดแผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของยูนิลีเวอร์ ที่มีต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจระยะยาวในประเทศไทย”