สถาปัตยกรรมเพื่อเมืองกรุงเก่า
ในปัจจุบัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเมืองสำคัญในเขตเศรษฐกิจ อันเป็นส่วนผสมระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ในฐานะผู้เขียนที่เติบโตมาในเมืองรวยรุ่มประวัติศาสตร์ชาติไทยแห่งนี้ จึงมีภาพจำที่ยังคงชัดอยู่โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่แม้ว่ากาลจะผ่านไปวันแล้ววันเล่า แต่เป้าหมายของผู้มาเยือนราชธานีเก่าส่วนใหญ่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต หากไม่เป็นการมาไหว้พระทำบุญตามวัดวาอารามแห่งสำคัญ แวะกินกุ้งแม่น้ำเผาตัวใหญ่ในร้านอาหารขึ้นชื่อ ก็หนีไม่พ้นการไปชมซากโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองมรดกโลก
ในขณะที่สถาปัตยกรรมยุคโบราณยังคงสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกันสถาปัตยกรรมยุคใหม่กลายเป็นสิ่งที่ตกสำรวจ เพราะนอกจากจะไม่ใช่เป้าหมายหลักที่นักท่องเที่ยวยอมสละเวลาเดินทางมาเพื่อชื่นชมโดยเฉพาะแล้ว ในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่า อยุธยายังมีสถาปัตยกรรมยุคใหม่ที่ดึงดูดใจไม่มากพอ ซึ่งมันก็ย้อนกลับไปสู่คำถามโลกแตกโดยปริยายว่า เจ้าของเงินทุน (ที่หนา) พร้อมจ่ายค่าออกแบบให้สถาปนิกชั้นนำ หรือให้ค่ากับรูปแบบและหน้าตาของสถาปัตยกรรม (ที่ดี) มากพอแล้วหรือยัง
หากแต่บางกรณีก็อาจมีข้อยกเว้น เช่นในกรณีของ The Wine Ayutthaya ซึ่งก่อกำเนิดมาจากความสำนึกรักบ้านเกิดของ คุณเอส-สรวีย์ วิศิษฏ์โสพา ในเมื่อธุรกิจร้านอาหาร แกรนด์เจ้าพระญา ของเธอสามารถสร้างรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว ดังนั้นวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างอาคารหลังนี้จึงมีเพื่อสาธารณะประโยชน์เป็นที่ตั้ง ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน โดยเปิดพื้นที่บางส่วนให้พ่อค้าแม่ขายนำขนมโบราณอย่าง ข้าวเกรียบปากหม้อ ถั่วแปบ หรือของฝากขึ้นชื่อเมืองกรุงเก่าอย่าง โรตีสายไหม มาวางจำหน่ายเพื่อกระจายรายได้ ตลอดจนเป็นการเปิดที่หมายใหม่ของการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านรูปแบบการชมสถาปัตยกรรม พร้อมดื่มด่ำรสชาติไวน์คู่กับอาหารตำรับท้องถิ่น อันเป็นวิถีการกินดื่มดั้งเดิมของชาวอยุธยาตั้งแต่สมัยเป็นราชธานี ซึ่งถูกบันทึกไว้โดย ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เมื่อครั้งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรสยาม ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
นอกจากนี้แล้วในการค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา ว่าด้วยเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอยุธยาที่พบใน ‘จดหมายเหตุลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม’ ยังเป็นแรงบันดาลใจที่นำมาสู่การสร้างสรรค์รูปแบบสถาปัตยกรรมโครงสร้างน็อกดาวน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ ครั้นจะสร้างเพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวแก่อยุธยาทั้งที หากเป็นงานที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปก็คงป่วยการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Bangkok Project Studio และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ออกแบบซึ่งมีเจตนารมณ์เดียวกับคุณเอสผู้เป็นเจ้าของ จึงนำความท้าทายและเป้าหมายที่แน่แน่ว มุ่งค้นหาวิธีการก้าวข้ามข้อจำกัดทั้งในเรื่องงบประมาณและวัสดุ โดยใช้สภาพแวดล้อมเป็นตัวกำหนดรูปแบบของสถาปัตยกรรม
ด้วยทำเลที่ตั้งรายล้อมไปด้วยชุมชนเรือนไทย ประกอบกับที่ดินผืนเก่ามีการปลูกต้นไม้ใหญ่เป็นแนวป้องกันแสงแดดและแรงลมไว้แล้วก่อนหน้า สถาปนิกจึงออกแบบอาคารให้สอดรับกับธรรมชาติในพื้นที่ โดยไม่ไปทำลายสภาพแวดล้อมที่มีอยู่เดิม ตัวอาคารที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อบริบทจึงสามารถเปิดช่องให้อากาศและแสงสว่างผ่านเข้าสู่ภายในได้ทั่วถึงในวันที่ท้องฟ้าสดใส แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคิดวิธีการป้องกันความรุนแรงของสภาพอากาศในกรณีมีพายุฝนกระหน่ำลงมาไปด้วย เพราะในการเลือกใช้วัสดุ สถาปนิกนำไม้อัดยาง (Plywood) ที่นิยมใช้ในงานโครงสร้างเฟอร์นิเจอร์มาเผยผิวให้เห็นความงามที่ถูกมองข้ามในงานโครงสร้างสถาปัตยกรรมอย่างที่ไม่มีใครเคยคิดจะทำมาก่อน ทว่าไม้อัดยางนั้นเป็นวัสดุที่จัดอยู่ในข่ายต้องห้ามสัมผัสกับความชื้นโดยตรง เพราะอาจเกิดการบวมน้ำได้โดยง่าย
ทั้งนี้ในการก่อสร้างอาคารไม้อัดยางให้ยืนหยัดท้าทายต่อทุกสภาพอากาศ สถาปนิกจึงใช้หลักการเดียวกับเวลาที่เราต้องยืนอยู่ในที่โล่งแจ้ง สิ่งเดียวที่พอจะช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายเปียกปอนเมื่ออยู่ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปราย คือต้องกางร่มหรือหยิบเสื้อกันฝนขึ้นมาห่มคลุมชั้นผิวหนัง ดังนั้นอาคารหลังนี้จึงถูกออกแบบให้มีแผ่นพลาสติกใส หรือพีวีซีชีท (PVC Sheet) ความหนา 1 มิลลิเมตร ห่มคลุมรอบอาคารเป็นผิวชั้นที่ 1 เพื่อป้องกันน้ำฝนเป็นด่านแรก และใช้วิธีก้าวข้ามข้อจำกัดของวัสดุไม้อัดยางด้วยการเคลือบผิวหน้าด้วยเรซิ่นเพื่อป้องกันน้ำฝนเป็นชั้นที่ 2 ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามซึ่งนำมาสู่การค้นคว้าและทดลองความเป็นไปได้จนเกิดผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจในที่สุด
ชุดภาพถ่ายอาคารภายนอกหลังจากฝนหยุดตกในช่วงสายของวัน ท้องฟ้าสีขาวขุ่นเปลี่ยนภาพสะท้อนบนแผ่นพีวีซีใสให้เกิดเป็นคลื่นของแสงสีขาวและเงาสีดำของต้นไม้ที่เป็นบริบทรอบอาคารที่สวยงามอีกแบบ
ชุดภาพถ่ายอาคารภายนอกหลังจากฝนหยุดตกในช่วงสายของวัน ท้องฟ้าสีขาวขุ่นเปลี่ยนภาพสะท้อนบนแผ่นพีวีซีใสให้เกิดเป็นคลื่นของแสงสีขาวและเงาสีดำของต้นไม้ที่เป็นบริบทรอบอาคารที่สวยงามอีกแบบ
โครงสร้างอาคารไม้อัดยางแบบน็อกดาวน์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบ้านเรือนไทยที่ชาวอยุธยาสมัยอดีตกาล (รวมถึงปัจจุบันในบางหลัง) ใช้อยู่อาศัย เพราะสามารถปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนตามความยืดหยุ่น ดังนั้นกรอบอาคาร (ช่องตาราง) ไม้อัดยางขนาด 50 x 50 ซม.ซึ่งเป็นทั้งผิวอาคารและโครงสร้างในตัวเอง จึงสามารถถอดเปลี่ยนและประกอบใหม่ได้ทุกแผ่นหากเกิดการชำรุดเสียหาย
The Wine Ayutthaya ที่มีขนาดพื้นที่ 215 ตารางเมตร กว้างด้านละ 11 เมตร และสูงประมาณ 9 เมตร ตัวอาคารยกพื้นเหนือชั้นดินราว 0.6 เมตร ในขณะที่ชั้นลอยชั้น 1 ถึงชั้น 4 ถูกออกแบบให้มีการลดหลั่นและเหลื่อมซ้อนต่างกันไปโดยไล่ระดับความสูงจากพื้นขึ้นไป 3.4, 4.1, 5.1 และ 6.2 เมตร ตามลำดับ
The Wine Ayutthaya ที่มีขนาดพื้นที่ 215 ตารางเมตร กว้างด้านละ 11 เมตร และสูงประมาณ 9 เมตร ตัวอาคารยกพื้นเหนือชั้นดินราว 0.6 เมตร ในขณะที่ชั้นลอยชั้น 1 ถึงชั้น 4 ถูกออกแบบให้มีการลดหลั่นและเหลื่อมซ้อนต่างกันไปโดยไล่ระดับความสูงจากพื้นขึ้นไป 3.4, 4.1, 5.1 และ 6.2 เมตร ตามลำดับ
โครงสร้างหลักของอาคารอย่างเสาเหล็กกลมจำนวน 15 ต้น เป็นตัวกำหนดการจัดวางตำแหน่งของชั้นลอยทั้ง 4 ชั้น ในขณะที่เสาซึ่งเป็นแกนของบันไดวนอีกจำนวน 5 ต้น เป็นตัวกำหนดบทบาทของพระเอกทั้ง 5 ที่สถาปนิกให้นิยามว่าเป็น “โลกของบันได” ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมอบประสบการณ์ในการเดินขึ้นไปชมวิวจากชั้นลอยทั้ง 4 ชั้นในมุมมองที่แตกต่างกันไป อีกทั้งบันไดวนแต่ละตัวยังถูกออกแบบให้มีคาแรกเตอร์รวมถึงขนาดแตกต่างกันอีกด้วย ทั้งนี้ขั้นบันไดที่ยื่นออกมาจากเสาที่เป็นแกนกลางมีขนาดตั้งแต่ 0.90, 1.00, 1.20 และ 1.40 เมตร ยังช่วยทำให้เสาเหล็กกลมซึ่งเป็นส่วนของโครสร้างอาคารมีความแข็งยิ่งขึ้น
โครงสร้างหลักของอาคารอย่างเสาเหล็กกลมจำนวน 15 ต้น เป็นตัวกำหนดการจัดวางตำแหน่งของชั้นลอยทั้ง 4 ชั้น ในขณะที่เสาซึ่งเป็นแกนของบันไดวนอีกจำนวน 5 ต้น เป็นตัวกำหนดบทบาทของพระเอกทั้ง 5 ที่สถาปนิกให้นิยามว่าเป็น “โลกของบันได” ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมอบประสบการณ์ในการเดินขึ้นไปชมวิวจากชั้นลอยทั้ง 4 ชั้นในมุมมองที่แตกต่างกันไป อีกทั้งบันไดวนแต่ละตัวยังถูกออกแบบให้มีคาแรกเตอร์รวมถึงขนาดแตกต่างกันอีกด้วย ทั้งนี้ขั้นบันไดที่ยื่นออกมาจากเสาที่เป็นแกนกลางมีขนาดตั้งแต่ 0.90, 1.00, 1.20 และ 1.40 เมตร ยังช่วยทำให้เสาเหล็กกลมซึ่งเป็นส่วนของโครสร้างอาคารมีความแข็งยิ่งขึ้น
ที่มาของการตั้งชื่อ The Wine Ayutthaya เกิดจากคุณเอส-สรวีย์ วิศิษฏ์โสพา ผู้เป็นเจ้าของตั้งใจให้ชื่อของจังหวัดซึ่งเป็นบ้านเกิดติดสอยห้อยท้ายไปด้วย เพราะต้องการสื่อสารให้กับชาวต่างชาติ รวมถึงคนไทยเองได้รู้จัก และกลับมามองอยุธยาเป็นเมืองที่อยู่ในเรดาร์ของความสนใจอีกครั้ง
ภาพถ่ายอาคารที่ถูกโพสต์ลงในหน้าเฟซบุ๊คโดยสถาปนิก ทั้งภาพถ่ายอาคารภายนอกและภายในหลากหลายมุมมอง ซึ่งถ่ายทอดโดย คุณภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน และ คุณอรัญรัตน์ ประถมรัตน์ สองช่างภาพมากฝีมือแห่ง Spaceshift Studio ที่ตามไปเก็บภาพเบื้องหลัง ตั้งแต่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจนกระทั่งแล้วเสร็จ กระตุ้นความสนใจให้เราอยากเดินทางไปชมสถานที่จริงของ The Wine Ayutthaya ว่าจะสวยเหมือนอย่างที่เราเห็นในภาพหรือไม่ ซึ่งเมื่อมาถึงและได้ยลโฉมอาคารหลังนี้ด้วยตาของตัวเองตลอดสามวันในสามช่วงเวลาที่แตกต่างกันแล้ว เราก็ได้พบกับคำตอบช่วยคลี่คลายความสงสัยไปโดยพลัน
กล่าวได้ว่าอาคารหลังนี้สวยงามไม่แพ้อย่างที่เห็นในภาพถ่ายจริงๆ แต่ที่ต่างออกไปจากการดูผ่านภาพถ่าย คือประสบการณ์ รูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัส ที่ในภาพไม่ได้บอกเล่าเอาไว้ ประสบการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราได้มาเปิดมุมมองที่มีต่อบรรยากาศจริงของอาคารที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาของแสง ได้มาลิ้มรสชาติของไวน์ชั้นดีคู่กับอาหารตำรับท้องถิ่น พร้อมสูดกลิ่นหอมของไม้อัดเคล้าเสียงกระพือของแผ่นพลาสติกรอบอาคาร หรือได้มาปีนป่ายขึ้นลงบันไดวนทั้ง 5 ตัวที่เป็นพระเอกของอาคารทีละก้าว ทีละขั้นจนครบ ซึ่งเป็นกุศโลบายที่สถาปนิกสอดแทรกลงไปในสถาปัตยกรรมที่มีกลิ่นอายของงานศิลปะแฝงอยู่แห่งนี้
สถาปนิกอธิบายเหตุผลสั้นๆ ต่อใครหลายคนที่ได้เห็นอาคารหลังนี้จากภาพถ่าย และมักจะเกิดคำถามปลายเปิดคล้ายกันขึ้นมาว่า “ทำไมต้องทำบันไดวนถึง 5 ตัว?” สถาปนิกตอบเพียงว่า “ผมอยากให้คนเกิดคำถามว่าทำไมถึงต้องทำบันไดวน 5 ตัว เพราะคุณต้องมาดูเอง ต้องลองเข้าไปเดิน เข้าไปใช้ชีวิตในสถาปัตยกรรมของผม”
ในขณะที่คุณเอสเจ้าของร้านอาหารริมน้ำก็บอกกับเราในทำนองคล้ายกันว่า “มีคนท้วงเยอะมากว่าทำไมต้องสร้างบันไดวนถึง 5 ตัว ทำไมไม่สร้างแค่ 2 ตัว จะได้เหลือพื้นที่สำหรับตั้งโต๊ะเพิ่มได้อีก ถ้าคุณมองมันเป็นอาคารทั่วไปบันได 5 ตัวถือว่าเยอะ แต่เราไม่ได้มองว่าเป็นอาคารทั่วไป เรามองเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง คุณต้องกลับมาดูเป้าหมายว่าเราสร้างอาคารหลังนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร ถ้าเราทำบันไดแค่ 2 ตัวก็เหมือนทำมาเพื่อตัวเอง ทำเพื่อที่จะให้ลูกค้าเข้ามานั่งได้เยอะๆ แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของเรา เราอยากสร้างอาคารหลังนี้ให้อยุธยา เราจึงสร้างบันไดขึ้นมา 5 ตัวให้เป็นเสมือนงานศิลปะที่ต่างจากสถาปัตยกรรมทั่วไป”
The Wine Ayutthaya นับเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่ก่อร่างสร้างตัวสำเร็จเป็นรูปธรรมตามปณิธานของสถาปนิก ในการสร้างสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นในตัวเองและสร้างแรงดึงดูดผู้คนขึ้นมาในถิ่นฐานที่ตั้งซึ่งยังไม่มีใครสนใจ เมื่อผนวกเข้ากับความโชคดีที่ได้ผู้ลงทุนที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันด้วยแล้ว อาคารวาฟเฟิลที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อคนในชุมชน เพื่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจในวันหยุดสุดสัปดาห์ จึงเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่สะท้อนถึงก้นบึ้งของความคิด ตลอดจนบทบาทของสถาปนิกและเจ้าของเงินทุน ในฐานะที่เป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ซึ่งมิได้มองแต่ผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งเพียงอย่างเดียวเสมอไป เรื่องแบบนี้ลำพังมีเงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีหัวใจเป็นแรงผลักดันด้วย เพราะถ้าหากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป คงยากที่จะเรียกสถาปัตยกรรมเพื่อเมืองกรุงเก่าได้เต็มปาก
ภาพถ่ายอาคารฝั่งทิศตะวันตกตอนช่วงบ่ายในวันท้องฟ้าเปิด สะท้อนให้เห็นว่าตัวอาคารที่สร้างโดยหลบหลีกต้นสาละลังกาที่สูงใหญ่ นอกจากจะให้ภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม ยังสามารถอาศัยประโยชน์จากร่มเงาของต้นไม้ช่วยป้องกันไอร้อนจากแสงอาทิตย์ไม่ให้แผ่มาปะทะเข้ากับตัวอาคารโดยตรง
มุมมองจากชั้นลอยชั้นที่ 1 กับแสงช่วงบ่ายที่ตกกระทบใส่กรอบอาคาร ในความเข้าใจแรกของผู้เขียนนั้นคิดว่ากรอบอาคารถูกออกแบบมาเพื่อเว้นช่องไว้สำหรับจัดแสดงขวดไวน์ แต่สถาปนิกเฉลยว่ากรอบดังกล่าวสร้างมาเพื่อเป็นที่อยู่ของลมและแสงต่างหาก
กรอบอาคารถูกออกแบบให้มีขนาดความลึก 30 ซม.โดยสถาปนิกขึ้นรูปโครงสร้างอาคารหลังนี้ด้วยการเชื่อมเหล็กกล่องขนาด 2 X 1 นิ้ว ในลักษณะโครงถัก (Truss) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบาแต่สามารถรับน้ำหนักได้มาก และแบ่งย่อยกรอบอาคารออกเป็นช่องตารางขนาด50×50 ซม.ที่ประกบทับผิวหน้าด้วยแผ่นไม้อัดยางความหนา 20 มม.โดยมีแผ่นเหล็กความหนา 6 มม.ซึ่งถูกเชื่อมติดกับโครงถักเป็นตัวช่วยรับแรงและยึดน็อตทั้ง 4 มุมของแผ่นไม้อัดยางเอาไว้เพื่อป้องกันการการโก่งตัว ซึ่งแต่ละช่องตารางหรือโครงสร้างไม้อัดยางในลักษณะ Waffle slab หนึ่งชั้นสามารถรับน้ำหนักได้ราว 120-150 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
มุมมองต่างๆ ของบันไดวนที่สถาปนิกเปรียบให้เป็นดั่งงานประติมากรรมที่ถูกประติมากรคว้านผิวออกจนเกิดเป็นพื้นที่ว่างภายในอาคารอย่างที่เราเห็น
มุมมองต่างๆ ของบันไดวนที่สถาปนิกเปรียบให้เป็นดั่งงานประติมากรรมที่ถูกประติมากรคว้านผิวออกจนเกิดเป็นพื้นที่ว่างภายในอาคารอย่างที่เราเห็น
เงาที่กระทบลงบนพื้นผิวของแผ่นพีวีซีชีทเกิดเป็นภาพสะท้อนของบริบทรอบอาคาร
เงาที่กระทบลงบนพื้นผิวของแผ่นพีวีซีชีทเกิดเป็นภาพสะท้อนของบริบทรอบอาคาร
ชุดภาพถ่ายอาคารภายในและภายนอกของ The Wine Ayutthaya ในบรรยากาศช่วงพลบค่ำ แสงไฟสีเหลืองทอประกายให้อาคารสว่างไสวและมีความโดดเด่นในตัวเอง ตัดกับท้องฟ้าที่เริ่มเปลี่ยนจากสีฟ้าอมเหลืองเป็นสีน้ำเงินเข้ม
ชุดภาพถ่ายอาคารภายในและภายนอกของ The Wine Ayutthaya ในบรรยากาศช่วงพลบค่ำ แสงไฟสีเหลืองทอประกายให้อาคารสว่างไสวและมีความโดดเด่นในตัวเอง ตัดกับท้องฟ้าที่เริ่มเปลี่ยนจากสีฟ้าอมเหลืองเป็นสีน้ำเงินเข้ม
Contact: ร้านอาหารแกรนด์เจ้าพระญา
42/2 หมู่ 4 ต.บ้านรุน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 13000
เปิดบริการทุกวัน 11.00 – 22.00 น.
ARCHITECT: Bangkok Project Studio / ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา และ Nathan Mehl
text: นวภัทร ดัสดุลย์
photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ, นวภัทร ดัสดุลย์