THE VERGAN MATERIAL
สนทนาจากปล้องถึงปลายใบกับธนพัฒน์ บุญสนาน
Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ
เนื้อหาทั้งหมดจากคอลัมน์ Interview, Daybeds 163 เดือนเมษายน 2559
หากดูจากเพียงชื่อของสำนักงานประกอบกับโลโก้รูปไก่กางปีกเกาะไม้ไผ่ คงยากที่จะคาดเดาได้ว่าเจ้าของชื่อสำนักงานแปลกหูกับโลโก้ที่ดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวกับอะไรเลย แท้จริงแล้วประกอบกิจการอะไรกันแน่ แต่ในแวดวงสถาปัตยกรรมเอง ‘บริษัท ธ.ไก่ชน จำกัด’ คือบริษัทรับผลิต ออกแบบ จนถึงก่อสร้างอาคารไม้ไผ่สมัยใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนโดยสถาปนิกหนุ่มจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรผู้บุกเบิกหนทางของตัวเองด้วยพลังใจเหลือเฟือ ‘ตั้บ – ธนพัฒน์ บุญสนาน’
ในวาระที่ Daybeds ฉบับนี้ตั้งใจที่จะชวนมาทำความรู้จักกับวัสดุรักษ์โลกที่ถูกใช้ในงานสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจในประเทศไทย จึงพลาดไม่ได้ที่จะต้องเชิญสถาปนิกหนุ่มไอเดียสดมาร่วมพูดคุยกันในฐานะผู้จุดประกายวัสดุที่ถูกลืมอย่างไม้ไผ่ ให้กลับมาโลดแล่นในเวทีสถาปัตยกรรมไทยในมิติใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นที่พบได้ในแทบทุกชิ้นงานของเขา จำเป็นที่จะต้องขอยืมประโยคจากหนึ่งในชื่อคลิปโชว์พลังในโลกอินเตอร์เน็ตของสถาปนิกหนุ่มเพื่อเบิกทางสู่บทสนทนามาหนึ่งประโยค ‘ไม้ไผ่ยังคงสวยงาม’
Daybeds: เชื่อว่าคงมีหลายคนสงสัยถึงที่มาของชื่อสำนักงานที่ถ้าไม่บอกก็ยากที่จะเดาได้ว่าเป็นชื่อสำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรม
Thanapat Boonsana: ชื่อบริษัทมันเกิดมาจากที่ผมอยากตั้งชื่อเป็นชื่อไทยก่อน ผมไม่อยากได้คำว่า ‘Design’ หรือคำว่า ‘Architects’ หรือคำว่า ‘Studio’ คือผมชอบชื่อร้านขายของ ชื่อนักมวย ชอบอะไรที่เป็นแนวนี้ เหมือนกับชื่อนักเลงก็มี ‘ป.ประตูน้ำ’ มี ‘ช.การช่าง’ ‘ธ.ค้าไม้’ แต่ผมไม่อยากได้ ‘ธ.ค้าไผ่’ (หัวเราะ) ธ.ธงนี่ชื่อเรา ‘ธนพัฒน์’ แต่ว่า ‘ธ.ไก่ชน’ เนี่ยมันก็ไม่สื่ออะไรอีก เอาเป็นว่า ผมไม่ได้ตั้งกะว่าจะสื่ออะไร จริงๆ แล้วผมว่าคนไทยชอบแบรนด์อะไรที่มันเป็นสัตว์ แล้วมันจำง่าย เหมือนเมื่อก่อนมันมีถ่านไฟฉายตรากบ ซึ่งมันอยู่ในความทรงจำ มันถึงได้มีเบียร์ช้าง เบียร์สิงห์ เบียร์ลีโอ ใช่ไหม มันเป็นสัตว์แล้วคนไทยจะชอบมาก คือไก่ชนเนี่ย ผมชอบ ผมเลี้ยงมาตอนเด็กๆ ตอนอยู่โรงเรียนมัธยมก็อยู่ชมรมอนุรักษ์ไก่ชน ก็เลยชอบ แค่นี้เอง ชื่อเราแล้วก็ไก่ชน ต่อมาก็เป็นโลโก้ ที่เป็นมาสคอตอันหนึ่งที่คนต้องจำได้
Dbs: มีคนงงไหมในช่วงแรก
TB: โห! งงทุกคน งงอยู่แล้ว ขำทุกคนน่ะ แต่ถามแล้วมันจำได้ อย่างเช่น ถ้าต้องไปซื้อของตามร้านค้า แล้วต้องเขียนบิล เขาก็จะ “น้องทำอะไรเนี่ย” เขาก็จะถาม คือทุกคนจะยิ้ม จะหัวเราะ “ทำอะไรของน้องเนี่ย” “แล้วมันจะขายได้เหรอ” แต่จำได้เลยทีเดียว ไปสรรพากรยื่นภาษี “เฮ้ยน้อง ทำบริษัทตีไก่เหรอ” “อ๋อไม่ใช่ครับ เป็นบริษัทสถาปนิกออกแบบ” “อ๋อเหรอ!” เนี่ยเขาก็จำได้ไปเลย
คือผมมองว่าหลักการการทำโลโก้ หรือหลักการการทำธุรกิจมันก็มีล่ะที่เป็นสเต็ปๆ ที่มันอยู่ในการตลาดหรืออยู่ในหนังสือที่ขายกันอยู่ มันก็แนะนำให้โลโก้มันจำง่ายใช่ไหม ผมก็เรียนมาโลโก้ สัญลักษณ์ ตอนเด็กๆ มันต้องสื่อสารแบบเห็นแล้วรู้เลย แต่ผมคิดว่าเห็นแล้วไม่รู้ก็ได้นี่ เห็นแล้วไม่รู้ก็ถาม ถามแล้วจำได้ พอรู้เลยแล้วมันไม่จำน่ะสิ ก็เลยสเก็ตช์โลโก้มา มีไก่ตัวหนึ่ง เป็นภาพวาดไก่ของญี่ปุ่น ส่งให้รุ่นน้องไปดราฟท์มาให้แล้วไม่แก้แบบเลย ยิ่งช่วงหลังๆ นี้ไปบรรยายบ่อยใช่ไหม ก็จะไปเจอเจ้าของแบรนด์ต่างๆ เยอะ พวกทำแบรนดิ้งอะไรต่างๆ ก็มาเต็มไปหมด แต่ผมมองว่าตั้งเองนี่ล่ะดีที่สุด ยิ่งนึกแปปเดียวแล้วได้เลยนะ แสดงว่าใช่ อันนี้มันเป็นลักษณะการทำงานของตัวเราเองด้วย ว่าจะไม่ค่อยมีแบบร่าง ทุกอย่างมันมีอันเดียว แสดงว่าขี้เกียจด้วยล่ะหนึ่ง (หัวเราะ) เวลาออกแบบลูกค้าไม่ได้เลือก มีแบบเดียว ห้ามเลือก (หัวเราะ)
Dbs: ลูกค้าก็เข้าใจในเอกลักษณ์การทำงานของคุณ
TB: เขาก็โอเค ก็เราไม่ทำแบบอื่นน่ะ อันนี้อาจจะเป็นนิสัยที่ไม่ค่อยดีนะ คือทำไปแล้วให้เลือก เดี๋ยวก็เอ้ย “เอาอันนี้มาใส่ตรงนี้ได้ไหม เดี๋ยวเอาอันนี้มาผสมกันสองอันแล้วกัน” คือผมไม่ต้อง อันนี้ผมคิดมาดีแล้ว แบบนี้ดีกว่า
Dbs: อย่างนี้เรียกว่าเป็นปรัชญาการทำงานของ ธ.ไก่ชน ได้เลยเหรือเปล่าครับ
TB: ได้ ใช่ ตั้งแต่แรกจนถึงทุกวันนี้เลย จริงๆ ไม่ใช่คนอีโก้เยอะนะ ถ้าจะขอให้แก้ก็แก้ แต่แค่เราจะเสนอสิ่งที่คิดว่ามันใช่ไปก่อน ส่วนใหญ่ไม่มีใครแก้มากมาย มีบ้างขยับนิดขยับหน่อย มีเหมือนกันที่ล้มแบบไปเลย ผมก็ส่งจดหมายกลับไปว่า อันนี้ไม่สะดวกทำแล้วกัน (หัวเราะ) เพราะรู้สึกว่า ที่เขาคอมเม้นท์กลับมา มันไม่ใช่เราแล้ว อย่างนั้นก็ให้คนอื่นทำดีกว่า เพราะมันไม่ใช่แล้ว
Dbs: แสดงว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้าหามองเห็นอยู่แล้วว่าออฟฟิศเป็นลักษณะแบบไหนก่อนที่จะติดต่อคุณ
TB: ใช่ๆ มันเป็นอย่างนั้น ส่วนใหญ่เขาไปเสิร์จยูทูปนะ แล้วเขาก็จะไปเจอคลิปตลกผม (หัวเราะ) โห! เยอะมาก ผมก็คิดทำยังไงให้เรื่องพวกนี้มันลบไปจากโลกอินเตอร์เน็ตนะ คือเวลาจะเสิร์จชื่อว่าทำอะไรเนี่ย คลิปพวกนี้มันก็จะขึ้นมาก่อนเลย เดี๋ยวนี้กูเกิ้ลก็ทันสมัย คือคุณไม่ต้องไปกดหาวิดีโอก็ได้ มันก็โผล่ขึ้นมาเลย! โห คือแล้วคนก็ชอบดูวิดีโอมากกว่าการอ่านหนังสืออยู่แล้วไง แต่คนพวกนี้กลับกลายเป็นไม่หนีไปไหนนะ กลับเป็นชอบมากเลย ชอบได้ไงมีแต่คำหยาบคาย (หัวเราะ) คือมันก็เกี่ยวกับไม่ไผ่เหมือนกันแต่มันเกี่ยวน้อย ล่าสุดไปบรรยายที่เพาะช่าง อาจารย์เขาก็เอาแล้ว “นักเรียนคะเดี๋ยวอาจารย์เปิดคลิปให้ดู” ผมก็ อาจารย์ทำอะไรเนี่ย! คืออายมาก (หัวเราะ) นี่ล่ะเพราะฉะนั้นในการทำงานคือผมจะไม่ซีเรียส ไม่ซีเรียสในที่นี้คือผมจะไม่เก๊กมาก รีดเสื้อเรียบ ใส่ขาวๆ ดำๆ อะไรกัน ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น ผมค่อนข้างจะเป็นทีมออกแบบแล้วก็ก่อสร้างด้วย มันก็เลยลุยกว่า แล้วก็ พูดจาตรงๆ กัน
Dbs: มีคนช่วยไหมครับ
TB: จะมีรุ่นน้องช่วย 1 คน ก็รับงานไปทำเรื่อยๆ ไม่ได้อยากให้มานั่งอะไรอย่างนี้กัน มันเบื่อ อยากไปไหนไปทำอะไร เออก็ไป
Dbs: บริหารปริมาณงานกันไหว
TB: เราจะเน้นทำแบบให้น้อยที่สุด เน้นทำแบบจำลอง ทำโมเดลให้ชัดเจน แล้วก็ลุยงานเลย แต่ว่าปัจจุบันนี้ก็พยายามที่จะรับก่อสร้างให้น้อย เพราะว่าเราไม่อยากเป็นบริษัทรับเหมา ทุกวันนี้คนจะมองเราเป็นบริษัทรับเหมาซะเยอะแล้ว เพราะเราไม่มีทางเลือกว่า เออ ถ้าเราออกแบบแล้วเราก็ต้องสร้างเอง เพราะมันหาคนทำให้ยาก เลยพยายามจะเคลียร์ที่แบบ อย่างงานล่าสุดที่ทำที่ทองหล่อ (Early Learning Centre Family of International Schools) ก็พยายามจะใช้งานเหล็กเข้ามาช่วย เพื่อให้มันทำงานกันง่าย ง่ายในที่นี้หมายถึงช่างไม่ต้องใช้ทักษะเรื่องไม้ไผ่มากนัก พอทำเสร็จ ก็มีเสียงวิจารณ์มาว่า เฮ้ย มันไม่ใช่ไม้ไผ่จริงนี่ ซึ่งผมมองว่า มันก็ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะไม้ไผ่มันใช้คู่กับอะไรก็ได้ มันไม่จำเป็นต้องเป็นอาคารไม้ไผ่ล้วนๆ คือเขาไม่ได้บอกว่าไม่ดี แต่บอกว่าเมื่อก่อนดีกว่า ที่เป็นไม้ไผ่ล้วนๆ
Dbs: แล้วในความเป็นจริง ไม้ไผ่ล้วนๆ ดีกว่าไม้ไผ่ที่ผสมกับวัสดุอื่นไหม
TB: คำว่าดีกว่าของเขาคือ มันสะใจกว่า มันมันเขาไง มันดูเพียว มันเป็นไม้ไผ่ล้วนๆ แต่ในการทำงานในอนาคตคิดว่าจะไม่นะ
Dbs: สำหรับตัวคุณเองไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นอาคารไม้ไผ่ล้วนเท่านั้น
TB: ไม่ๆ บอกไว้ตั้งแต่แรกแล้ว ตั้งแต่ปรัชญาแรกที่เริ่มเขียนไว้ตั้งแต่เปิดบริษัทเลย ว่าเราจะใช้ไม้ไผ่ร่วมกับวัสดุสมัยใหม่ชนิดอื่น เพื่อให้มันก้าวไปกับอนาคตได้ คือไม้ไผ่อย่างเดียวเนี่ย ยกตัวอย่างตอนที่ทำในโรงเรียนอนุบาล (Early Learning Centre Family of International Schools) โรงเรียนอนุบาลเทอมละแสนกว่า เขาไม่ให้ลูกเขาไปเดินลอดใต้โครงสร้างไม้ไผ่ที่เขาไม่มั่นใจ แต่ผมมั่นใจนะ ตัวคนเมืองจริงๆ น่ะ จะมีความกังวล มีทัศนคติ ว่าไม้ไผ่มันไม่ทนอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นพอเราขึ้นเหล็กมาก่อน แล้วเขาเห็นมาตั้งแต่แรก พอเขาเดินผ่านมาเห็นเหล็กอยู่ ไม่มีใครเป็นกังวลอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว คือเมืองไทยเนี่ยมันต้องค่อยๆ เปลี่ยน อะไรก็ตามที่มันปัจจุบันทันด่วนเกินไป สังคมไทยรับไม่ไหว ผมก็ค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยแทรกเข้าไป ให้มันอยู่ในโรงเรียน อยู่ในทองหล่อ ให้มันได้ก่อน แล้วโครงสร้างที่มันเพียวจริงๆ ถึงค่อยๆ เพิ่ม ก็เป็นนโยบายกันช่วงนี้นะ
Dbs: เมื่อเทียบกับในสมัยก่อน คนไทยในอดีตก็อาศัยกันอยู่ในอาคารไม้ไผ่รวมถึงก็มีการก่อสร้างอาคารไม้ไผ่กันอยู่อย่างมากมาย แปลกไหมที่เรามักจะไม่คุ้นชิน
TB: เมื่อก่อนมันอันเล็กไง พอมันเล็กเขาก็ไม่ได้ซีเรียสไม่ได้กังวลอะไร เดี๋ยวนี้มันเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มันเริ่มมีงานวิศวกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการทรีทเม้นท์ ซึ่งอันนี้คือคีย์เลย เรื่องการทรีตเมนท์ไม้ไผ่ที่โรงงาน คือเมื่อก่อนเขาไม่สร้างอาคารไม้ไผ่เป็นอาคารถาวร เพราะเขารู้ว่าแป๊บเดียวมอดก็กิน แล้วมันก็จะผุพังลงมา เขาก็สร้างเป็นอาคารเล็กๆ พอ ทีนี้เมื่อไม้ไผ่มันถาวรแล้ว เรื่องวิศวกรรมไม้ไผ่ก็ต้องตามมา เพราะว่าเมื่อมันไม่ผุแล้ว มันก็จะมีเรื่องที่ว่า โอเค มันจะสามารถรับแรงได้แค่ไหน ซึ่งมันจะกลายเป็นอาคารที่ขออนุญาตได้ในอีกสักสิบกว่าปีในอนาคต
Dbs: เป็นโจทย์ที่ตั้งไว้ว่าอยากให้อาคารไม้ไผ่เป็นอาคารที่ถาวร
TB: ถ้าถามว่าโจทย์คืออาคารไม้ไผ่เป็นอาคารถาวรได้ไหม คือมันเป็นได้อยู่แล้ว แต่คำว่าถาวรในที่นี้คือ ขออนุญาตได้ ซึ่งทุกวันนี้มันยังขอไม่ได้ ตอนนี้ก็กำลังทำเรื่องกับสภาวิศวกรรมอยู่ กับสถาบันอาศรมศิลป์ วิจัยกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อที่จะให้มันมีค่ากลาง มีตัวเลขที่ชัดเจน เพื่อแจกให้วิศวกรสามารถไปคำนวณได้
Dbs: สร้างความเชื่อมั่นจากหลักฐานว่าไม้ไผ่สามารถสร้างเป็นอาคารได้จริง
TB: ใช่ ซึ่งประเทศอื่นเขาทำได้กันหมดแล้วนะในอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย อาคารไม้ไผ่เขาเลยไปไกลมาก ไม่ว่าจะในเอ็กซ์โปอะไรต่างๆ ก็ใช้หมดแล้ว เพื่อนเพิ่งส่งรูปให้ดูล่าสุด สถานทูตไม่แน่ใจว่าของสก็อตแลนด์หรือสวีเดนนะ ก็ใช้ไม้ไผ่ เพราะฉะนั้น อนาคตมันมาอยู่แล้วล่ะ ขึ้นอยู่กับประเทศไทยว่าจะออกกฎหมายได้เมื่อไร
Dbs: น้อยใจไหมที่เรื่องไม้ไผ่ในไทยยังอาจช้ากว่าชาติอื่นในบางแง่มุม
TB: ไม่เลยๆ จะมีช่วงแรกที่เปิดบริษัท ว่าเออ มันไม่มีลูกค้า แต่ตอนนี้พอมีคนเริ่มรู้จักเราแล้ว เขาก็วิ่งกันเข้ามาเยอะจนเราต้องสกรีน เพราะฉะนั้นไม่น้อยใจหรอก มีคนจ้องจะใช้ไม่ไผ่เยอะมากพอแล้วในประเทศไทย บริษัทที่ผลิตไม้ไผ่แบบนี้เองผลิตไม่ทันหรอก
Dbs: แต่ทางรัฐ ทางส่วนกลางก็ยังไม่ให้การสนับสนุนมากพอ ไม่ว่าจะในเรื่องของกฎหมายหรือแม้แต่ความเชื่อของผู้คน
TB: ก็มีคนผลักดัน ในอนาคตก็คงจะสำเร็จสักวันล่ะ บางเรื่องเราก็ไม่ต้องไปเป็นทุกข์ เฮ้ย อันนี้มันไม่ถึงเวลาสักทีๆ เดี๋ยวมันก็ถึง ถ้าทำปัจจุบันให้ดี ทำตัวเองให้มันดี รอวันที่กฎหมายมันออกเพื่อเราจะได้ทำงานที่ใหญ่โตขึ้น
Dbs: ต้องทำตัวเองให้คนอื่นเห็นจริงๆ ก่อน
TB: ใช่ๆ บางทีมันหลายอย่าง ที่ชอบไปแก้ ไปเรียกร้องกัน แต่ไม่ค่อยมาแก้ที่ตัวเองเท่าไร ไม่ต้องกังวลหรอกว่า กฎหมายไม้ไผ่ไทยมันไม่มี คนไม่รักไม้ไผ่ไม่ชอบไม้ไผ่ เราทำธ.ไก่ชนให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ ทำงานเราให้มันแน่นขึ้นเรื่อยๆ พร้อมเสมอ ที่เมื่อวันหน้า โอกาสมันเปิดแล้วเราจะไปได้เร็วกว่า
Dbs: ขอย้อนไปถึงสมัยเรียน คิดว่าจะได้จับงานไม้ไผ่มาตั้งแต่แรกเลยไหม
TB: โห ไม่มีเลย (หัวเราะ) คือที่มหาวิทยาลัยน่ะ ไม่มีเลย สอนเรื่องไม้ไผ่ เลคเชอร์คาบเดียวก็ยังไม่มี ซึ่งทุกวันนี้มันก็มีการทำเวิร์คชอปบ้าง แต่มันก็ยังไม่ตรง มันยังเป็นเรื่องอื่น เป็นเรื่องของสถาปัตยกรรมชุมชน ที่ไม่ใช่เรื่องแมททีเรียลแอนด์คอนสตรัคชัน มันควรจะไปแทรกอยู่ในวิชาคอนสตรัคชัน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นผมนะ เป็นใครก็ได้ คือจริงๆ ไม้ไผ่มันเป็นเทรนด์ในอนาคตอยู่แล้ว เลิกเรียนได้แล้วไม้เนื้อแข็งน่ะ คุณได้ใช้เมื่อไร คือไปเอาของฝรั่งมาเรียน โอเค เรียนได้ เรียนกันไปแคลดดิ้ง (Clading) บอลลูนเฟรม (Balloon Frame) ท่องกันเข้าไป ไม่ได้ใช้เลย ทำไม้ไผ่เนี่ย ทำอย่างไรถึงจะใช้ได้จริง มันเป็นแมททีเรียลที่เราผลิตได้เอง อย่าไปเรียนไม้สน ไม้อะไร ซึ่งเราแทบจะไม่ได้ใช้ คนรวยเท่านั้นที่ได้ใช้ ซึ่งมันไกลตัว มันเปลืองมาก
เพราะฉะนั้นถ้าย้อนไปถึงคำถามว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากไหน เรื่องเรียนน่ะไม่มีแน่ๆ เรียนจบแล้วก็ไม่มี จนมาทำงานอยู่ได้ 2 ปี เริ่มสังเกตว่าตัวเองชอบเอาไม้ไผ่ไปใส่ในงานออกแบบ ชอบระแนง ชอบเสาไม้ไผ่ แต่ไปตรวจกับลูกค้าจริงๆ ใครๆ เขาก็ไม่ค่อยเอาหรอก แล้วเราก็ตอบคำถามไม่ได้ด้วยว่ามันจะอยู่ได้นานเท่าไร หรือทำอย่างไรให้มันแข็งแรงขึ้น จนพอเริ่มรู้สึกผมก็ไปหาที่เรียนปริญญาโท ซึ่งมันก็มีปริญญาโทเรื่องไม้ไผ่ ไปเรียนทั้งเทอมมีสอนไม้ไผ่อยู่คาบเดียว โอเค พอปิดเทอมก็รู้สึกว่าเขาสอนเรื่องอื่นซะเยอะ ผมก็ไปหาลงเวิร์คชอปกับฝรั่ง หลังจากนั้นมันก็เปิดโลก ก็ได้รู้จักคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับไม้ไผ่ แล้วก็ได้เริ่มทำไม้ไผ่จากตรงนั้น
การได้เวิร์คชอปเนี่ย อย่างแรกเลยคือมันได้จับแมททีเรียลจริงๆ ซึ่งในห้องเรียนมันไม่มี ตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 5 ไม่เคยได้ก่ออิฐผสมปูนจริงๆ เลยนะ โอเคเดี๋ยวนี้มีค่ายอาสาอะไรต่างๆ แต่สมัยก่อนมันไม่มี จนมาถึงจุดที่เราได้ทำจริง ได้เลื่อยไม้ ได้ลงมือเจาะสว่าน แล้วก็มีเอาสถาปนิกเก่งๆ มาบรรยายให้เราฟัง อย่างของออฟฟิส ‘24H-architecture’ โอ้โห! งานไม้ไผ่เขาสุดยอด คือไม้ไผ่เขาไปไกลแล้ว ซึ่งประมาณเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา ก็ได้ขึ้นบรรยายเวทีเดียวกับออฟฟิส ‘24H-architecture’ ซึ่งก็รู้สึกดีใจ เพราะเมื่อก่อนเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรา
Dbs: เท่าที่ได้ทำงานไม้ไผ่มา ได้ทดลองอะไรเกี่ยวกับไม้ไผ่ที่ชื่นชอบและสนุกจริงๆ
TB: ความจริงมันก็มีเรื่องอะไรให้คิดทุกอันน่ะนะ แต่จริงๆ น่าจะเป็นงานแรก โปรเจค ‘Cool Down Resort’ ที่เชียงใหม่ น่าจะเป็นอะไรที่มันสนุก เพราะมันก็ยังไม่รู้อะไรด้วย มันเริ่มทำจากที่ไม่รู้อะไรเลย ตั้งแต่หาคนงานมา ทำโรงงานทรีทเมนท์ไม้ไผ่เองเพื่อส่งขึ้นไป มันมีแต่คำถาม มันไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า แต่ผมก็ตั้งใจทำไปนะ ไม่ได้กลัวอะไร พอเสร็จแล้วเอฟเฟคที่เราได้กลับมาเนี่ย มันมาก มากเกินกว่าการเรียน คิดว่าเรียนปริญญาโทอยู่ 2 ปีก็ไม่ได้นะ เท่ากับการที่เราสร้างอาคารขึ้นมาสำเร็จจริงๆ หนึ่งหลังใหญ่ๆ ด้วยไม้ไผ่ของเราเอง ด้วยช่างที่เพิ่งเคยทำงานด้วยกัน พอทำแล้วประสบการณ์มันเหมือนกราฟมันชันมาก เหมือนมันรู้ทุกอย่างได้แบบรายวัน ความรู้มันได้รับรายวัน ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ได้รู้เพิ่มมานานๆ ที ไม่ได้มีอะไรกระชากเหมือนทุกวันนั้น ก็น่าจะเป็นโปรเจคแรกมากกว่าที่ประทับใจ
Dbs: คุณเคยส่งผลงานออกแบบไม้ไผ่ประกวดแบบตึกสูงในเวทีสากล จนได้รับรางวัลติดมือกลับมาด้วย
TB: คือตั้งแต่เรียนมา เกิดมานี่ยังไม่เคยประกวดแบบอะไรเลย พอเปิดธ.ไก่ชนปุ้บ มีน้องที่เชียงใหม่เขาส่งลิ้งค์มา ประกวดแบบที่สิงคโปร์ Bamboo Skyscraper ผมก็ลองส่งดูดีกว่า ตั้งใจทำมาก ไม่หลับไม่นอน ส่งไปผมได้ที่ 4 พวกที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เป็นสเปน แคนาดา อะไรพวกนี้ ซึ่งได้รางวัลก็มีผมคนเดียวในอาเซียน แสดงว่า เฮ้ย! ถ้าเราพูดเรื่องไม้ไผ่ ฝรั่งฟัง เพราะว่าในนั้นเราไม่ได้เน้นดีไซน์นะ เน้นเป็นเรื่องที่เราเข้าใจ ผมเขียนบรรยายเลย (หัวเราะ) เขียนเลยพารากราฟใหญ่ๆ บอกเลยว่าไม้ไผ่มันคืออะไรในความเชื่อของเรา เออฝรั่งฟัง แต่ดีไซน์แย่มากนะ (หัวเราะ) ก็เป็นคนออกแบบไม่ค่อยดีตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราเริ่มมั่นใจว่าในระดับสากลที่คนมาประกวดเป็นร้อยเป็นพันเนี่ย เราก็ทำได้
Dbs: หลังจากออกแบบไม้ไผ่เป็นตึกสูงได้แล้ว อยากเห็นไม้ไผ่เป็นอะไรได้อีกไหม
TB: คือทุกวันนี้มันก็เป็นอะไรได้หลายอย่างแล้วล่ะ แต่อยากให้มันถึงวันที่ทดแทนไม้อย่างอื่นได้แพร่หลายกว่านี้ ถ้าจะเอาเรื่องที่เป็นจินตนาการหนักกว่านั้นก็คืออยากให้พวกไม้ไผ่ หรือเศษไม้อะไรพวกนี้เนี่ย มันใช้ทดแทนพลังงาน เช่น พวกไฟฟ้าหรืออะไรได้ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้นะ เห็นตามหนังสือต่างๆ ก็เริ่มเขียนแล้ว ก็ถ้าเทคโนโลยีพวกนี้มันชัดเจนขึ้น เป็นพลังงานทดแทนได้ครอบคลุมจริงๆ ซึ่งทุกวันนี้มันก็ครอบคลุมมากแล้ว เป็นอาหาร เป็นเครื่องนุ่งห่ม เป็นที่อยู่อาศัย เพราะฉะนั้นมันจะครบปัจจัย 4 อยู่แล้วก็ขอให้มันครบจริงๆ อยากให้มันเป็นยาด้วย ก็จะดี
Dbs: ยังมีอะไรที่ยังไม่ได้ทดลองกับไม้ไผ่อีกไหมครับ
TB: เอาใกล้ตัวที่สุดคืออยากทำให้ไม้ไผ่มันละเอียดขึ้นด้วยการใช้แฮนด์ทูล อุปกรณ์ที่ใช้ด้วยมือต่างๆ อย่างเช่น สิ่ว หรือมีดโค้งบางอย่างที่มันเป็นอุปกรณ์ที่มันละเอียดอ่อน ที่ไม่ใช่สว่าน ไม่ใช่เลื่อย อยากให้มันเป็นแฮนด์คราฟท์จริงๆ เพราะจริงๆ แล้วตัวเองยังทำไม่ได้ เลยอยากไปหัด ตอนนี้คือเร่งด่วนที่สุดเลย คือไปหัดกับพวกช่างเฟอร์นิเจอร์ หรือช่างไม้ที่เขาเป็นงานมีครู เพราะว่าที่สุดของช่าง หรือหัวหน้าของช่างทุกๆ ช่างเลยนะ คือช่างไม้ ในไซต์งานถ้ามีช่างไม้ยืนอยู่ เขาคือครูของช่างอื่นๆ ครูของช่างเนี่ย คือเขามีความละเอียด ต้องรู้จักการวัด การใช้เครื่องมือต่างๆ หลักๆ ผมจึงอยากเป็นช่างให้ได้ก่อน เพราะว่าคนทำไม้ไผ่ทุกวันนี้ ชอบไปมองว่าทำอย่างไรให้งานมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ คือยังไม่ต้องไปรีบทำให้มันใหญ่ กฎหมายมันยังไม่รองรับไง แต่ทำให้เล็ก ในทักษะที่ทำงานได้ดี แล้วก็มีคุณค่า คือคุณค่าของไม้ไผ่จริงๆ คนจะชอบมองให้มันด้อยลงตรงที่ว่ามันเป็นแค่งานชั่วคราว มันชั่วคราวเพราะคุณทำให้มันเป็นชั่วคราว คุณทำกระท่อมอะไรขายริมถนน ทำเสร็จเร็วจริง ก็คุณทำให้มันเป็นอย่างนั้น ราคามันก็เป็นแบบนั้น มันก็เลยได้แค่นั้น ตอนนี้ไม้ไผ่มันถาวรแล้วมันไม่มีมอดแล้วหนึ่ง สองคือเราทำให้มันมีดีเทลครบจริงๆ นี่ล่ะ คืองานที่จะทำให้มันมีคุณค่า ไม่ต้องมองให้มันใหญ่ขึ้น มองให้มันเล็กลงเรื่อยๆ
ยกตัวอย่างผมชอบคนนี้มาก ลุงรี ฟาร์มลุงรีที่ทำไส้เดือน (Uncle Ree Organic Farm) มีวันหนึ่งได้ไปบรรยายกับเขา ได้นั่งคุยกัน ทุกวันนี้ที่เขาดังเพราะเขาทำฟาร์มในบ้านตัวเอง พื้นที่มีนิดเดียวแต่เลี้ยงไก่ เลี้ยงห่าน ปลูกผักกินเองอะไรเต็มไปหมด เขาบอกว่าเขาเรียนปริญญาโทอยู่ที่มัณฑนศิลป์ เรียนอินทีเรีย เขาบอกว่า อยากทำทุกอย่างให้มันเล็กลง แต่ได้ผลตอบแทนเท่าเดิม มันคือโจทย์ของคนเมืองน่ะผมว่า มันไม่ใช่สิ่งที่จะต้องใหญ่แต่ว่ากลวงอีกต่อไปแล้ว เคยมีกะเหรี่ยงเล่าให้ผมฟัง เรื่องไม้ไผ่ คือจริงๆ ไม้ไผ่พอมันโตเนี่ยไม่ได้หมายความว่ามันจะใหญ่ไปเป็นคานเป็นอะไรนะ มันคือชนิดพันธุ์มันโตสุดได้แค่นั้น เราถึงต้องเปลี่ยนชนิดพันธุ์ บางชนิดพันธุ์มันก็เท่านิ้วก้อย มันแค่นั้นมันไม่ใหญ่ไปกว่านั้นอีกแล้ว เพราะฉะนั้นถามว่า ไม้ชนิดอื่นมันโตขึ้น มันใหญ่ขึ้นๆ แต่ไม้ไผ่มันไม่ใหญ่ขึ้น มันเกิดอะไร คำตอบคือเส้นผ่านศูนย์กลางมันเท่าเดิม แต่มันไปเต็มข้างใน เหมือนกับกะเหรี่ยงเขาบอกว่า คนเราเนี่ย โตขึ้นรวยขึ้น คุณไม่ต้องไปมีของเยอะกว่าเดิม แต่ไปทำให้ข้างในหัวใจมันเต็ม ให้กลายเป็นคนที่เต็มคน
Dbs: ในแง่การก่อสร้าง ถ้าเทียบกันแล้ว ไม้ไผ่มีราคาถูกกว่าวัสดุอื่นไหม
TB: ถ้าเทียบตามปริมาตรถูกกว่า ไม้ทั่วไปเขาจะวัดกันเป็นลูกบาศก์เมตรใช่ไหม ถ้าเอาไม้ไผ่มาทำเป็นลูกบาศก์เมตรเนี่ยถูกกว่า แต่ถ้ามองว่าในการทำโครงสร้างไม้ไผ่คิดว่าจะไม่ถูกกว่านะ เพราะว่าในการทำโครงสร้างไม้ไผ่ โอเคมันต้องยอมรับว่าไม้ไผ่มันอ่อน เพราะฉะนั้นมันจะต้องใช้ปริมาณเยอะกว่า เหล็กก็ใช้เยอะกว่า สรุปแล้วมันไม่ได้ถูกกว่า ถูกกว่าได้แต่ชุ่ยกว่าแน่นอน เหมือนที่พูดตอนแรก คุณจะเอาแพงหรือจะเอาถูก ขึ้นอยู่กับวิธีมองไม้ไผ่
Dbs: คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่มองเข้ามาที่ธ.ไก่ชน แล้วคิดว่าเป็นสถาปนิกสิ่งแวดล้อม สำหรับตัวคุณเองมองตัวเองเป็นแบบนั้นไหม
TB: เป้าหมายแรกของบริษัท ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเลย คนอื่นเขามองเรามากกว่า ว่าเออเราใช้แมททีเรียลธรรมชาติ (ครุ่นคิด) อืม ถ้าถามว่าเราโฟกัสไหมเรื่องธรรมชาติเนี่ย น้อยมาก จนถึงมีจุดเปลี่ยนอยู่อันหนึ่ง มีโอกาสได้ไปบรรยาย Creative Citizen ที่หอศิลป์ (กิจกรรม Creative Citizen Talk 2015: Sustainable Now (สีเขียว…เดี๋ยวนี้) 9 ส.ค. 2558 @ BACC โดย Creative Move) มีคนกรีนทั้งนั้นเลย ประมาณสัก 8 คนที่เหลือ เขาพูดกันเรื่อยๆ เลย พูดๆๆ เฮ้ย! เอาจริงกันทุกคน จนผมรู้สึกผิดน่ะ อย่างเช่นผมมีนาปลูกข้าวกินเองนะที่ขอนแก่น แต่ว่าให้ญาติปลูก ญาติเขาก็ใช้เคมีใช้อะไรไป มีน้องเขาก็มาถาม “พี่ตั้บมีนาด้วยดีจังเลย ใช้สารเคมีไหมพี่” “อ๋อญาติๆ เขาก็ใช้กันน่ะ” โห! เขาตกใจมาก! ตาเหลือก “พี่! หาหมอเลยนะ แล้วพี่ทนอยู่ได้ยังไง” โห คือเขาเห็นเป็นเรื่องใหญ่มากเหมือนผมฆ่าคน แล้วคือทุกคนเขาพูดจริงจังนะ จนมันถึงเวลาแล้วล่ะ ที่ผมคิดถึงกระบวนการไม้ไผ่ของผมเนี่ย มันยังไม่อีโคร้อยเปอร์เซ็นต์ตรงที่น้ำยามันยังเป็นสารเคมีอยู่ แต่มันไม่เป็นพิษนะ
คือตอนนี้คุยไปหลายคนแล้ว คุยกับคณะวิทยาศาสตร์หรือว่าคนอื่นๆ คือพยายามที่จะทำให้น้ำยามันออแกนิก ซึ่งมีคนทำสำเร็จแล้ว เป็นคนฝรั่งเศสที่เขาใช้พืชทำ เป็นพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองเนี่ยล่ะมาทรีทเมนท์ไม้ไผ่ แล้วขายในฝรั่งเศส อันนี้ผมก็ไม่รู้ไม่อยากไปก๊อปไปอะไรเขา ถามเขาเขาก็ไม่บอกอยู่แล้ว แต่เฮ้ย! ถ้าเกิดเขาทำได้ ผมก็อยากทำเอง ถ้าผมทรีทเม้นท์ไม้ไผ่ด้วยพืชได้เนี่ย ผมจะออแกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วถ้าผมวิจัยได้จริงๆ นะ ผมจะแจก จะแจกสูตรเนี่ย แจกให้ทั่วประเทศเลย แจกให้เขาทำกันได้เองไม่ต้องมาซื้อผม คุณทำเองเลย นั่นก็คือเป้าหมายจริงๆ เพราะฉะนั้นตอนนี้มีสองอย่าง คือเรื่องการก่อสร้างผมอยากเป็นช่างด้วยตัวเองหนึ่ง อย่างที่สองคือ น้ำยาที่ใช้อยากให้มันกรีนเต็มๆ แล้วผมก็จะเป็นออฟฟิสที่กรีน แต่แค่ใช้ไม้ไผ่มาสร้างทุกอย่างเนี่ย มันก็ช่วยโลกได้มากแล้วนะ การปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ มันน้อยกว่าอย่างอื่นมาก ผมไม่รู้ตัวเลขนะ แต่คนที่เขาวิจัยอาคารไม้ไผ่อะไรกันมาคือ มันปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยมาก น้อยจริงๆ ถ้าเทียบการกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ที่โห มันต่างการหลายเปอร์เซ็นต์มากเลย