THE TRIANGLE HOUSE / ANONYM


บ้านสามเหลี่ยม

Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: Chaovarith Poonphol
Architect: พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ / Anonym (phongphat_u@hotmail.com)
Interior Design: ปานดวงใจ รุจจนเวท / Anonym 

ว่ากันตามหลักความเชื่อเรื่องศาสตร์ฮวงจุ้ยในงานสถาปัตยกรรม ซึ่งมักถือกันว่าการปลูกบ้านบนที่ดินสามเหลี่ยมชายธงนั้นไม่เป็นมงคล ตลอดจนความเชื่อที่ว่าโครงสร้างอาคารในลักษณะตัว H, L, U, V, W ก็ไม่เป็นมงคลเช่นกันนั้น เพราะจะส่งผลให้สุขภาพของผู้อาศัยอ่อนแอหรืออาจทำให้การเงินไม่มั่นคง เป็นต้นว่า หากแต่บ้านสามเหลี่ยมหลังนี้อยู่เหนือกฎเกณฑ์และความเชื่อทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้นอย่างสิ้นเชิง

บ้านลักษณะตัว L และ I 2 หลัง ตั้งขนานกันบนที่ดินสามเหลี่ยมชายธงขนาด 1.5 ไร่ ย่านอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้รับการออกแบบมาสำหรับครอบครัวใหญ่ ประกอบไปด้วย 5 ห้องนอน 3 ห้องน้ำส่วนตัว 2 ห้องน้ำสำหรับแขก 2 ห้องครัว และ 2 ห้องนั่งเล่น มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันกว่า 400 ตารางเมตร โดยมุ่งเน้นไปถึงเรื่องฟังก์ชัน, การเชื่อมโยง และทิศทางที่ตั้งของอาคารเป็นสำคัญ

ลักษณะรูปทรงของบ้าน สะท้อนสิ่งที่สถาปนิกต้องการ คือให้บ้านหลังนี้มีทั้งความเรียบง่ายและมีเอกลักษณ์ในตัวของมันเอง สังเกตได้ว่าหลังคาทรงสามเหลี่ยมสูงจากพื้นกว่า 6 เมตร ลาดเอียงทำมุม 45 องศา ทั้งโดดเด่นและเหมาะกับสภาพแวดล้อมหรือบริบท ซึ่งเมื่อบ้านสร้างเสร็จชาวบ้านละแวกนั้นต่างรู้จักและนิยมเรียกกันว่า บ้านสามเหลี่ยม

ภายในบ้านรูปตัว L เน้นสเปซที่โปร่งโล่ง ออกแบบชานยื่นจากห้องนั่งเล่นออกไปจรดกับบึงทางด้านหลัง ให้สามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวสำหรับกิจกรรมสังสรรค์ได้ตลอดเวลาตามต้องการ

ภายในบ้านรูปตัว L เน้นสเปซที่โปร่งโล่ง ออกแบบชานยื่นจากห้องนั่งเล่นออกไปจรดกับบึงทางด้านหลัง ให้สามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวสำหรับกิจกรรมสังสรรค์ได้ตลอดเวลาตามต้องการ

ด้วยความที่คุณไชยยันต์และครอบครัวชื่นชอบการเข้าครัวทำกับข้าว และใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันพักผ่อนอยู่ในห้องนั่งเล่น คุณพงศ์ภัทรจึงออกแบบห้องครัวใหญ่เชื่อมต่อกับห้องนั่งเล่นหลักและห้องประทานอาหารเสมือนเป็นส่วนหนึ่งเดียวกัน

ส่วนของห้องนอนนั้น ได้รับการออกแบบให้มีขนาดที่ไม่ใหญ่จนเกินไปนัก เพราะมีไว้สำหรับพักผ่อนยามค่ำคืนเท่านั้น

ถัดจากบ้านรูปตัว L ไปเป็นบ้านรูปตัว I ที่เชื่อมต่อด้วยชานและโรงจอดรถ มีอินเนอร์คอร์ตหรือสนามหญ้าขั้นอยู่บริเวณตรงกลาง ทำหน้าที่ทั้งพักและเชื่อมสายตาด้วยธรรมชาติโดยไร้สิ่งบดบังไปพร้อมกัน โดยฟังก์ชันของบ้านหลังนี้ก็ยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับบ้านรูปตัว L คือ อิงความเรียบง่าย และการเชื่อมโยงเป็นหลัก

ถัดจากบ้านรูปตัว L ไปเป็นบ้านรูปตัว I ที่เชื่อมต่อด้วยชานและโรงจอดรถ มีอินเนอร์คอร์ตหรือสนามหญ้าขั้นอยู่บริเวณตรงกลาง ทำหน้าที่ทั้งพักและเชื่อมสายตาด้วยธรรมชาติโดยไร้สิ่งบดบังไปพร้อมกัน โดยฟังก์ชันของบ้านหลังนี้ก็ยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับบ้านรูปตัว L คือ อิงความเรียบง่าย และการเชื่อมโยงเป็นหลัก

สถาปนิกให้ความสำคัญเรื่อง Orientation เป็นพิเศษ เมื่อทั้งบ้าน L และ I ตั้งอยู่ในแนวทิศเหนือ-ใต้ ด้านทิศตะวันตกมีโรงจอดรถกับแนวสวนเป็นเกาะกำบังความร้อนชั้นเยี่ยมให้กับบ้านในตอนเย็น ส่วนทิศตะวันออกลมสามารถพัดผ่านเอาความเย็นจากน้ำในบึงเข้าสู่ภายในเมื่อเปิดหน้าต่างและประตูบ้านออกทั้งหมด ทำให้บ้านมีการถ่ายเทอากาศที่ดีตลอดทุกฤดู

บ้านสามเหลี่ยมกับต้นไม้หลากสายพันธุ์กลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งงานแลนด์สเคปทั้งหมดนั้นแท้จริงแล้วเป็นฝีมือของคุณไชยยันต์ โดยคุณพงศ์ภัทรกระซิบว่านี่คือความสุขของคุณพ่อจึงปล่อยให้มันเป็นไปตามแบบของเขา 

คุณพงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ สถาปนิกจาก Anonym อธิบายถึงโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้าน คุณไชยยันต์ รุจจนเวท คณพ่อของ คุณปานดวงใจ รุจจนเวท อินทีเรียดีไซเนอร์ ซึ่งเป็นว่าที่พ่อตาของเขาไว้ว่า “ที่ดินสามเหลี่ยมชายธงผมว่าบางทีมันคือการใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่นั่นเอง แต่คุณพ่อก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะเขาแค่อยากจะซื้อที่ดินใกล้กับญาติ โจทย์เขาชัดว่าเป็นครอบครัวใหญ่ บ้านแบ่งออกเป็นสองหลังให้ลูกสาวกับลูกชาย และมีที่จอดรถ 4 คัน” โดยคุณพงศ์ภัทรเลือกที่จะออกแบบอาคารภายใต้โจทย์ของความเรียบง่ายและเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ มากกว่าดีไซน์ที่หรูหราเลอค่า โดยวางพื้นฐานจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนในครอบครัวเป็นลำดับแรก ส่วนการตกแต่งภายในนั้น คุณปานดวงใจเลือกอิงความเรียบง่ายเชื่อมโยงจากตัวอาคารภายนอกเข้าสู่ภายในด้วยการเน้นโทนสีขาว เทา และสีไม้โอ๊ค เพื่อให้ความรู้สึกที่สงบ อบอุ่น และสบายตา”

“คุณพ่อเป็นวิศวกร ชอบอะไรที่ตรงไปตรงมา เราไม่อยากทำอะไรซับซ้อน เนื่องด้วยว่าเป็นพ่อตา ถ้าเราทำอะไรที่ยุ่งยากซับซ้อนมาก จับต้องยากมาก เราไม่อยากจะมีปัญหาอะไรกับพ่อเขา”

เพราะบ้านสามเหลี่ยมออกแบบมาเพื่อสอดรับกับทิศทางลม และความอุดมร่มรื่นของธรรมชาติแวดล้อม ยิ่งความชอุ่มของต้นไม้และหย่อมหญ้าทั้งหมด ที่เกิดขึ้นจากความชื่นชอบของคุณไชยยันต์ผู้เป็นเจ้าของบ้านเติบโตปกคลุมรอบบ้านมากเท่าไหร่ ความสุขของครอบครัวผู้อยู่อาศัยก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นเท่านั้น ดังคำกล่าวของสถาปนิกที่ว่า “ปีแรกไปก็รู้สึกว่าหลังคามันใหญ่ไปหรือเปล่า พอผ่านมาสองสามปีบ้านดูอ่อนน้อมขึ้นเพราะต้นไม้มันเริ่มโต จริงๆ ต้องขอบคุณพ่อเพราะมันไม่ได้เป็นต้นไม้แบบเต็ค (อาร์คิเท็ค) ผมไปอาทิตย์เว้นอาทิตย์ ผมก็สังเกตว่าทำไมวันนี้คุณพ่อเขานั่งตรงนี้ อ๋อ นั่งตรงนี้เพราะลมมันเย็น อีกวันหนึ่งทำไมเขานั่งตรงนี้ เพราะตรงนี้มันเงียบ กลายเป็นว่าเราสนุกเพราะไปสังเกตคนที่ใช้งาน”

Leave A Comment