THE NEW STORY OF THAI ARTISAN

หัตกรรมไทยในเรื่องเล่าใหม่ของ ศรัณย์ เย็นปัญญา

Text: Boonake A.
Photo: ภคนันท์ เถาทอง

 

 

 

ศรัณย์ เย็นปัญญา คือนักออกแบบและผู้ก่อตั้ง “56thStudio”  ที่นิยามตนเองว่าเป็น “นักเล่าเรื่อง(Story Teller)” เขามักจะแนะนำตนเองด้วยสถานะแบบนี้ในยามที่ถูกถามว่าอยากให้นิยามตัวเองว่าอย่างไรเสมอ

 

ซึ่งเรื่องที่เขาเล่ามักจะยึดโยงกับการพูดถึงคนชายขอบในสังคม ที่สามารถตีความสะท้อนออกมาเป็นงานออกแบบได้อย่างน่าทึ่ง หรือบางครั้งก็เกิดจากการนำสิ่งละอันพันละน้อยที่คนมักดูหมิ่น ดูแคลนว่าเป็นของถูก ไร้รสนิยม มาตีความใหม่ ใส่ไอเดีย ผลิตออกมาเป็นงาน“Conceptual” อย่างมีสีสัน ที่ทำหน้าที่ในการจิกกัดสังคมในเรื่องความเหลื่อมล้ำได้แบบร้อนแรง

 

ทั้งหมดที่ว่าไปถูกสะท้อนออกมาเป็น Conceptual Furniture ชื่อว่า “Cheap Ass Elite” ซึ่งศรัณย์จับเอาตระกร้าใส่ผลไม้สีสันสุดลูกกวาดมาหั่นครึ่ง ต่อเข้ากับขาเก้าอี้หลุยส์รูปทรงคลาสสิค ที่ยั่วล้อประเด็นความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมได้อย่างรุ่มรวยรสนิยม และมีมิตินัยยะเชิงความหมายที่เข้มข้น

ซึ่งใครเห็นต่างก็ช๊อคในรูปฟอร์มความสวยงามของเก้าอี้หลุยส์ดีไซน์ประหลาด รวมถึงตื่นตาในความแฟนตาซีของเรื่องเล่าที่เขาได้นำไปบรรจุเอาไว้ จนทำให้ผลงานชิ้นนี้ได้รับการยอมรับในระดับโลก ทั้งยังถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นนำหลายแห่งในยุโรป อันนี้ยังรวมไปถึงงานออกแบบชิ้นอื่นที่ก็ได้รับการยอมรับในระดับเดียวกัน

 

ถึงวันนี้ศรัณย์ เย็นปัญญา ได้สร้างสรรค์เรื่องเล่าใหม่ของเขาขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งเรื่องที่ว่าเกี่ยวข้องกับหัตถกรรมไทยที่เขายอมรับกับเราว่ายังมีความเป็น “หมารองบ่อน” หากเทียบกับงานศิลปะไทยประเภทอื่น โดยการเล่าครั้งนี้เขายอมรับกับเราว่า เขาอยากช๊อคคนด้วยคุณค่าเชิงภูมิปัญญา ซึ่งมีความหมายมากกว่าแค่การนำเอาตะกร้าผลไม้มาหั่นต่อขาหลุยส์ที่ทำได้เพียงแค่สตันความรู้สึกคนดูเท่านั้น

 

ไม่พอเท่านั้นเขายังบอกกับเราอีกในขณะนั่งสนทนาเพื่อนำมาถอดความสร้างเป็นบทสัมภาษณ์ใหญ่ในDaybedsฉบับนี้ว่า เป้าหมายของเขาคือการสร้างสรรพสำเนียงใหม่ให้งานหัตถกรรมไทย โดยมีฝันขนาดใหญ่ที่นำพามรดกทางภูมิปัญญาเหล่านี้ไปปรากฏตัวในหน้าเว๊บ HYPE Beast หรือแม้กระทั่งการทำให้Pharrell Williams และ John Mayer สองศิลปินดนตรีสุดอัจฉริยะที่โดดเด่นทั้งการทำเพลง และเรื่องแฟชั่นในกระแส Pop Culture ต้องมาหันใช้ของที่เขาผลิตขึ้นด้วย

 

ว่าแต่การนำตะกอนที่สร้างขึ้นจากเรื่องเล่าใหม่ที่เขาพูดถึง มาแปรเปลี่ยนเป็นกลวิธีในการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างไร รวมถึงวิธีคิดในการนำพาหัตกรรรมไปสู่ระดับโลกอย่างที่เขาว่าไว้จะทำได้ด้วยวิธีไหน เราไปค้นหาคำตอบแบบคำต่อคำของเขาในบทสัมภาษณ์นี้กันดีกว่า

ในเนื้องานของคุณตั้งแต่ตอนเริ่มต้น จนมาถึงตอนนี้ มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

จริงๆ มันมีทั้งสิ่งที่เปลี่ยนและสิ่งที่ไม่เปลี่ยน สิ่งที่ไม่เปลี่ยนเลย ก็คือความเป็นนักเล่าเรื่อง แล้วเรื่องที่เล่าก็มีหัวใจเดิม คือเรื่องของสิ่งที่คนมองข้าม สิ่งที่คนดูถูก สิ่งที่คนดูแคลน สิ่งที่คนบอกว่าเชย เห่ย ไม่มีค่าเพียงแต่เปลี่ยนตัวละครไป จากเป็นของที่ผลิตขึ้นมาแล้วก็มีราคาถูก ก็เปลี่ยนมาเป็นงานหัตถกรรมที่มีองค์ความรู้ มีภูมิปัญญามากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่างานหัตถกรรม มันยังไม่ถูกเชิดชูในแบบที่ควรจะเป็น ยังเป็นสิ่งที่คนมองว่าเป็นหมารองบ่อน ดังนั้นถ้าให้สรุปก็คือวิธีการทำงานเปลี่ยนไป แต่ว่าเส้นเรื่องเนื้อหาเรื่องราวที่เราเล่าก็ยังว่าด้วยเนื้อหาคนชายขอบเหมือนเดิม

 

ทำไมคุณถึงสนใจที่จะเล่าเรื่องของคนชายขอบ

เพราะเราเองก็เป็นคนชายขอบ เกิดที่นนทบุรีซึ่งเป็นขอบกรุงเทพฯ  หรืออย่างความเป็นเกย์ นี่ก็เป็นคนชายขอบแบบหนึ่ง รวมถึงในตัวตนก็มีหลายมิติในตัวตนที่มีความเป็นคนชนชั้นกลางค่อนไปทางล่าง แต่ว่าต้องเรียนรู้เชิงงานออกแบบในรสนิยมของชนชั้นสูง ทั้งที่ตัวเองชอบบริโภคสิ่งที่คนมองว่ามันไม่ค่อยประเทืองปัญญาเช่น ละครหลังข่าว อะไรแบบนี้ เราก็จะมีเซนส์ของความขัดแย้งแบบนี้อยู่ในตัว

 

เสน่ห์ในเรื่องเล่าของคนชายขอบในความคิดคุณคือเรื่องใด

ผมก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเสน่ห์หรือไม่นะ แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของการเป็นคนชายขอบคือ เราจะมีเซนส์ของความไม่ Fit In กับอะไรทั้งนั้น สิ่งนี้ทำให้เรามีความเป็นอิสระ เพราะเราไม่ต้องเองตัวเองไปผูกโยงกับสิ่งใด ไม่ต้องเป็นกังวลว่าทำแบบนี้แล้วคนจะ รับรอง(Approve) หรือไม่ เพราะเราไม่ได้แสวงหาการรับรองตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เราเลยมีอิสระในการสื่อสาร อยากเล่าอะไรก็ได้ตามที่เราคันอยากจะเล่า

 

แล้วเรื่องของงานหัตกรรมแบบชายขอบที่คุณอยากเล่า เนื้อหามันเป็นแบบไหน

งานหัตถกรรมแบบ Artisan ที่ผมไปแตะ มันไม่ใช่งานลงรักปิดทองแบบที่คนส่วนใหญ่มองว่ามันสูงส่ง แตะไม่ได้ แต่มันเป็นตะกร้า กระจูด เสื่อผืนละไม่กี่ร้อยบาท ซึ่งมีความเป็น Everyday อยู่ในชีวิตเรา และมีมูลค่าไม่มาก เพียงแต่ Mood & Tone เรื่องราวหรือวิธีการเล่า มันจะไม่ใช่เหมือนกับที่เคยเห็นในงาน OTOPแบบขอให้ซื้อเพื่อสนับสนุนชุมชน ใช้แล้วชีวิตของคนในหมู่บ้านนี้จะดีขึ้น ซึ่งมันเป็นเรื่องเล่าที่ Cliché(ซ้ำซาก) มาก

 

ความ Cliché ที่ว่าคือเหมือนกับว่าขายของด้วยความสงสาร

ใช่ แต่เราไม่ได้อยากขายความสงสารไง เราอยากขายความเฟี้ยว ขายความเท่ แบบกูถือเสื่ออันนี้ขึ้นรถไฟฟ้า มันโคตรเท่เลย ซึ่งคิดว่ายังไม่มีใครทำ ก็เลยอยากลองทำดู

 

วิธีเล่าที่บอกว่าทำให้มันเฟี้ยว คุณค้นหามันจากไหน

มันอยู่ในกมลสันดานของผม เพราะด้วยความเป็นคนชายขอบ เราก็จะพยายามหามุมมองที่คนอื่นเขาไม่มองกัน ยกตัวอย่างเสื่อจากจันทบูรที่มันต้องอยู่บนพื้น คนทั่วไปอาจบอกว่ามันเอามาหุ้มเก้าอี้ไม่ได้ แต่เราคิดว่าเฮ้ย!ทำได้นะ แล้วผมก็จะตั้งคำถามเสมอว่า ปลายทางแล้วเราอยากเห็นงานพวกนี้มันอยู่บนคอนโดฯ ของคนทั่วไปไม่ใช่เหรอ เราอยากให้คนทั่วไปใช้แล้วเขาภูมิใจ

 

เพราะฉะนั้นในสิ่งที่เราถาม เราสงสัย ก็จะเป็นโจทย์สำหรับการสร้างงาน มันเลยไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกว่าผมโดนบังคับให้ทำอะไร หรือถูกกำหนดด้วยกรอบประเพณีสังคมอะไรเลย ดังนั้นงานของเราจึงเป็น Progressive Craft  เป็นงาน Craft หัวก้าวหน้า

 

คุณกำลังจะบอกว่ามันไม่มีทางได้ผลลัพธ์ใหม่ หากคุณยังทำอะไรด้วยวิธีเดิมๆ

ใช่ครับ แต่ถึงแม้ผมจะทำวิธีใหม่ แต่การเข้าไปแสวงหาโนว์ฮาว หรือว่าการเข้าถึงงานภูมิปัญญาเหล่านี้ ผมก็ทำด้วยความเคารพ ไม่ได้ไปปู้ยี่ปู้ยำนะครับ หรือทำอะไรที่มันผิดขนบมากเกินกว่จะรับได้ของคนทั่วไป

 

คุณใช้วิธีไหนในการแสวงหา หรือกาเข้าถึงภูมิปัญญาเหล่านี้

ก็ใช้วิธีลงพื้นที่นี่แหละครับ ลงไปหาชาวบ้านผู้ผลิตด้วยตัวเอง ผมยอมขับรถไป 800 กิโลเมตร เพื่อจะได้เสื่อกลับมาแค่ 3 ผืน แล้วต้องขับกลับไปอีกทุก 2 เดือน

 

ยอมเหนื่อยขนาดนี้เพื่ออะไร

การทำแบบนี้มันคือการสร้างสัมพันธ์กับผู้ผลิตครับ ซึ่งใช้เราเอาเงินไปฟาดเขาไม่ได้ มันต้องเกิดจากความเชื่อใจ มันต้องเกิดจากการทำให้เขารู้ว่าเราจะได้ประโยชน์ร่วมกันอะไรบ้าง สุดท้ายสิ่งที่เราสั่งไปเหล่านี้ มันจะหล่อเลี้ยงครอบครัวเขา ชุมชนเขาได้อย่างไร ถ้าไม่มีสิ่งนี้เกิดขึ้น มันจะไม่ยั่งยืน อย่างมามันก็จะเกิดแค่ Prototype เก๋ๆ แล้วก็ไม่ได้ไปต่อ

ในกระบวนการเข้าหาชาวบ้าน การลงพื้นที่ คุณใช้เวลานานแค่ไหน

ในขั้นตอนการเริ่มต้น เอาแบบที่คลำทางกันเลยนะ ผมใช้เวลาประมาณเกือบปีครึ่งในการดเการขั้นตอนนี้ คือต้องเข้าใจก่อนว่าผมเป็นดีไซเนอร์ในสตูดิโอมา 7 ปี เป็นดีไซเนอร์ห้องแอร์มา 5 ปีครึ่ง มีช่วงปีครึ่งที่ผ่านมานี่แหละที่เริ่มมีองค์กร หน่วยงานต่างๆ ชวนไปลงพื้นที่ ซึ่งก็ไม่ค่อยชอบเพราะว่าต้องนั่งรถตู้นาน ร้อนก็ร้อน แล้วไปถึงปุ๊บ ชาวบ้านที่มาร่วมงานก็เหมือนโดนจัดฉาก ศูนย์ OTOP บางทีมีของจริงๆ อยู่นิดเดียว เสร็จงานถ่ายรูปคู่กับป้ายอันใหญ่ๆ แล้วก็ลงข่าว จบ  เรารู้สึกไม่ชอบกระบวนการเหล่านั้น

 

อะไรคือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณทำมันได้ต่อ ทั้งที่ไม่ชอบ

สิ่งที่มันสะกิดใจผมมากที่สุดคือมูลค่าของของที่มันถูกกองๆ ไว้ไม่ได้ทำสต๊อก แล้วไม่มีคนซื้อ ทั้งที่มันสามารถเอาไปทำอะไรได้อีกมากมาย มันน่าเสียดาย ทั้งที่ชาวบ้านเขาตั้งใจทำมันขึ้นมา นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเวลาไปเดินงาน OTOP เราก็ยังไม่เห็นของที่เราอยากซื้อเลย เพราะมันเชย ไม่คูล เราเองด้วยความเป็นคนทำงานออกแบบ เลยพยายามตั้งคำถามว่าจะทำยังไงให้กลุ่มตลาดของการซื้องานหัตถกรรมมันดีขึ้นได้บ้าง หรือกลุ่มที่ซื้อไม่ต้องเป็นคุณป้าตีกระบังถือตะกร้าย่านลิเภาเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเราไปดูต่างประเทศคำว่า Artisan  มันกว้างมากเลย แจ็คเก็ตเท่ๆ หนึ่งตัวที่วงร็อคใส่ขึ้นคอนเสิร์ตในโคเชลล่า หรือกลาสตันบิวรี่มันก็เป็นงานคราฟท์นะ ทำไมเราถึงไม่สามารถสร้าง หรือขยายตลาดในส่วนได้บ้างนี้ล่ะ ก็เลยเริ่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งก็พบเจอปัญหามากมาย ให้เข้าใจว่าทำไมชาวบ้านถึงไม่สต๊อกของที่เขาทำ

 

ปัญหาหลักของเขาคือเรื่องใด

เหตุผลที่เขาทำไม่ได้เพราะไม่มีทุนที่นำมาใช้ในการทำสต๊อก ดังนั้นต้องเข้าใจก่อนว่าถ้าจะกำเงินไปช็อปสินค้าหัตกรรมในหมู่บ้านใดซักแห่ง ต้องทำใจไว้เลยว่า มันจะไม่มีของให้คุณได้เลือกซื้อมากนัก และของที่มีนั้นมันอาจมีความป้าอยู่ แต่ถึงกระนั้นผมสัมผัสได้ว่ามีคนอยากจะได้มันอยู่ แต่แน่นอนว่าระบบการผลิตงานหัตถกรรมเนี่ยยังเป็นหมารองบ่อนอยู่เช่นเดิม เนื่องจากระบบการผลต การออกแบบ การสต๊อกของ หรือระบบการจัดจำหน่าย มันยังไม่ได้ถูกพัฒนาให้พอดีกับความต้องการในโลกยุคปัจจุบัน

 

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร

เพราะว่างานหลักของชาวบ้าน คือการทำเกษตรกรรม หรืออย่างอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าในช่วงประกอบพิธีทางศาสนาเนี่ยเขาหายไปเลย 2 อาทิตย์ ดังนั้นเราก็ต้องเข้าใจวิถีเขา แล้วหาวิธีว่า หนึ่งจะทำอย่างไรให้วิถีของเขา กับวิธีการทำงานของเราอยู่ร่วมกันได้ สองเราต้องแฮกระบบ แฮกวิธีการทำงานว่า เราจะสต๊อก หรือจะทำงานร่วมกับเขาให้มันดำเนินเข้าไปในระบบอุตสาหกรรม Industrial Craft ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร แบบที่ว่าลูกค้าสั่งกระเป๋าหรือสั่งเก้าอี้มา เราต้องเมคชัวร์ว่าเรามีสต๊อกพอนะ ในขณะเดียวกันวิถีชีวิตของชาวบ้านก็ต้องไม่สะดุดด้วย เราต้องค้นหาสูตรสำเร็จตรงนี้ ซึ่งก็โชคดีว่าในระยะเวลาปีกว่าๆ นี้เราพอจะเจอแนวทางที่ว่าแล้ว

 

แนวทางที่คุณค้นพบเป็นแบบไหน

สเตปแรกผมจะใช้วิธีการสร้างสัมพันธ์โดยการซื้อ เขามีอะไรผมซื้อหมด จะหยิบมาให้มากที่สุด หลังจากนั้นผมก็เอาของเหล่านี้มาศึกษาว่ามันพอจะบิดตรงไหนเพื่อให้ออกมาเป็นงานที่เหมาะสมกับเราได้บ้างอย่างเช่นเปลี่ยนสี หรือเปลี่ยนลายให้ถี่ขึ้น ผมก็จะส่งสิ่งที่ผมซื้อกลับไปให้ชาวบ้าน แล้วบอกให้เขาลองทอมาให้ดู ผมให้เวลานานเท่าที่เขาพอใจจะทำ ถ้าทอมาแล้วโอเค ผมก็จะคอลออเดอร์กลับไปในจำนวนที่ทำซ้ำ แถมเพิ่มจำนวนยอดสั่งด้วย

 

พูดง่ายๆ คือต้องซื้อใจเขาก่อน

ใช่ แล้วเราต้องเห็นด้วยว่า สิ่งที่ทำมันไม่ได้ผิดจริตเขามาก คือถ้าบางครั้ง เราส่งลาย โอ้โห อะไรก็ไม่รู้ เขาอาจจะรู้สึกมันยาก หรือทำได้ก็ราคาสูง เราก็ซื้อบ่อยๆ ไม่ได้ แล้วมันก็จะตายไป ความสัมพันธ์นี้ก็จะหยุดลง แต่ถ้าเกิดเราซื้อสิ่งที่เขาทำมาอยู่ แล้วเราบอกว่าป้าครับ อันนี้มันไม่ได้ต่างกับสิ่งที่ป้าทำเลย มันแค่เพิ่มตรงนี้นิดเดียวทำให้ผมได้ไหม คือการทำงานกับเขามันต้องมีเซนส์ในการมา Mixed Curated เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้งานที่ได้มายังเป็นตัวเขาอยู่ ในขณะเดียวกันมัน Fit In ในระบบของเรา เพราะฉะนั้นเราเลยเจอวิธีนี้

 

ง่ายๆ แค่นี้หรอ

ใช่ ง่ายๆ แค่นี้ครับ แต่ในวิธีการเบื้องหลังเนี่ยมันยากนะครับ ทั้งการที่เราต้องขับรถไปค้นหาไปเที่ยวละเกือบ 800 กิโลเมตร ปักหมุดก็ปักไม่ได้ เพราะไม่มี GPS ไปอยู่กลางท้องนาบ้าง เราก็เลยต้องใช้วิธีขับรถแล้วถามคนท้องถิ่นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอ เพื่อเอาเส้นทางมาทำระบบ Mapping ของตัวเอง เขอแล้วก็ต้องพูดคุยเจรจา ขอเบอร์ ขอไลน์ติดต่อ ทำแบบปี้อยู่เป็นปีกว่าจะได้วิธีการใหม่เหล่านี้ทั้งหมด

 

วิธีการใหม่ก็นำไปสู่งานใหม่ๆ ที่เป็นตัวคุณในตอนนี้

ครับ ก็พยายามหาอะไรใหม่ๆ ทำอยู่ตลอด เพราะรู้สึกว่าเราจะหั่นตะกร้าพลาสติกไปตลอดชีวิตไม่ได้ หรือว่าถ้าคนนึกถึงผมอาจจะนึกถึงงานสีสันสดใสอย่างนี้ ผมก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนแบบนั้นสักเท่าไหร่

 

อ้าว! เอาเข้าจริงนี่คุณเป็นดาร์คๆ หรอ

จริงๆ เป็นคนดาร์คพอสมควร แล้วไม่รู้สึกว่าตัวเองมีสไตล์อะไรที่เป็นแบบเอกลักษณ์ เพราะงานของผมก็คือ Flexible ตามโจทย์ เราเป็นพ่อค้า ได้โจทย์อะไรมา เราก็พยายามจะแก้โจทย์ เป็นแบบ Problem Solver มากกว่า

 

แล้วสีสันสดใส หรือการหั่นตระกร้า ที่ทำตอนนั้นมันคืออะไร

อ๋อ ในช่วงที่ทำคอลเลคชั่นแรกๆ เราตั้งใจจะช็อคคนด้วย คือเรามีความกวนส้นตีน มีเซนส์ของความNegative อยู่พอสมควร อยากประชด อยากเสียดสี หรือวิพากษ์อะไรบางอย่าง เช่นการเอาของสูงกับของต่ำมาผสมกัน แต่ตอนนี้คำว่าช็อคมันค่อนข้างฉาบฉวยสำหรับเรา เราอยากสร้างงานที่คุณค่ามากกว่า แล้วยิ่งถ้าคนใช้สามารถเขาอภิเชษฐ์เรื่องราว และคุณค่าของสิ่งเราสร้างขึ้น ก็จะยิ่งมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น มันก็ยังมีความจี๊ดจ๊าดอยู่ เพียงแต่ว่ามันถูกทำด้วยเจตนาที่ต่างไป คือเราอยากช็อคด้วยคุณค่ามากกว่า

โปรเจ็กต์นี้มีความก้าวหน้าไปถึงขั้นไหนแล้ว

ก็ถือว่ามีทิศทางที่ดีนะครับ ซึ่งมิชชั่นของเราตอนนี้ก็คือการทำต่อไปแค่นั่นเอง  ซึ่งก็โชคดีว่านิทรรศการที่ว่าด้วยงานหัตถกรรมไทยที่เราทำเป็นครั้งแรกประสบความสำเร็จค่อนข้างดี ได้กำไร เราก็เลยคิดว่า เออ เอาเงินก้อนนี้ไปบริหารจัดการต่อ เพราะฉะนั้นเนี่ยถ้าไปต่อได้มันก็จะยั่งยืน แต่ถ้าเราทำรวดเดียว เฮือกเดียว แป๊บเดียว มันก็จะไม่ยั่งยืน

 

ขลุกอยู่กับงานลักษณะนี้มาเกือบปีครึ่ง บอกได้ไหมว่าจุดเด่นของงานหัตถกรรมไทยคือเรื่องใด

ต้องพูดตรงๆ ว่างาน Craftmanship ของไทย ไม่ได้ดีเด่อะไร อย่างงานแลคเกอร์แวร์ เวียดนามเขาก็เก่งกว่าเรา งานสานไม้ไผ่ จีนก็ดีกว่าเรา หรืออย่างงานพอร์ชเลน ญี่ปุ่นก็ทำได้บางเฉียบเนี๊ยบกว่าเรา แต่กับเซนส์ของความเป็นไทย สิ่งที่ผมจับได้คือมีความเป็นลูกผีลูกคน มีความ Flexible  มีเซนส์ของการจัดสรรวัฒนธรรมอันหลากหลายมารวมกัน เลยทำให้มีงานปะติด ปะต่อค่อนข้างเยอะ คืองานแบบหัวมังกุ ท้ายมังกรเนี่ยโคตร Very Thai เลย

 

ครึ่งๆ กลางๆจะบอกอย่างนี้

ยกตัวอย่างคนวาดลายโอ่งมังกร คนวาดเนี่ยเก่งมากเลย  มีการเอานกจีนมาบวกกับนกไทย คือมีเซนส์ของความเมลโล่ มีความ Flexible ช่างฝีมือไทยค่อนข้างเปิดกว้างในความคิด โดยเฉพาะช่างพื้นถิ่นชุมชน เขาเปิดกว้างมาก สมมติเราอยากบอกให้เขาเอาสีนั้นบวกผสมของสีนี้ ซึ่งมันเสี่ยงต่อการผิดผี แต่เขาก็ยอมทำให้ ในขณะที่ถ้าศิลปินของจีน หรือญี่ปุ่น เรื่องงานหัตถกรรมเราไปแตะเขาไม่ได้เลย ผมเลยคิดว่างานการปะติดเนี่ยคือเซนส์ของความเป็นคนไทยโดยแท้ เพราะถ้าเราสืบดูความเป็นไทยจริงๆ คือเราไม่ได้มีรากอะไรเลยด้วยซ้ำ

 

ในความไม่มีราก เลยมีคนบอกว่าประเทศไทยมีลักษณะความเป็น Melting Pot  สูง

ถูกต้อง เพราะฉะนั้นความเป็น Melting Pot นี่แหละ คือสิ่งที่เราคิดว่าเราน่าจะทำให้เป็นประโยชน์ได้ ซึ่งผมก็รู้สึกในฐานะคนชายขอบ เราเลยอยากพูดด้วยด้วยศิลปะที่มีการหลอมรวมกันแบบนี้แหละ.

 

การหลอมรวมกันมันทำให้เกิดสิ่งใดขึ้นมา

จริงๆ รากของเรามันคือ Melting Pot ที่รวมเอาทุกอย่างไว้ด้วยกัน ซึ่งพอมันอยู่รวมกัน ก็จะเกิดสิ่งที่ผมเรียกว่า Beautiful Chaos ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเจอในประเทศอื่น

 

ตัวอย่างความเป็น Beautiful Chaos มันเป็นอย่างไร

การที่ A กับ B เนี่ยมันอยู่ใกล้กันมาก แล้วมันแทบจะเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นคุณอยากซื้อ Hermes ที่ตึก Icon Siam ขึ้นไปบนชั้น 2 แล้วมองลงมาคุณอาจเห็นชุมชมโทรมๆ อยู่ข้างกัน นั่นแหละ Very Thai คือ คุณสามารถมีชอปหรูอยู่ข้างๆ ชุมชนแออัดได้แนบเนียน มันก็จะเป็นความยุ่งเหยิงบางอย่างที่สวยงาม มันสามารถซ้อนทับอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว

 

คุณอยากสะท้อนให้สังคมเห็นสิ่งเหล่านี้

ไม่เลยครับ ผมเพียงอยากนำเอาสิ่งเหล่านี้มาสร้างเป็นงานที่ตอบโจทย์ความเป็นไทยในแบบที่แตกต่าง ผมไม่ได้คิดอยากเรียกตัวเองว่าเป็นแอคติวิสท์ คือไม่ได้พยายามจะต่อสู้เพื่อสิทธิของชนชายขอบ ไม่เคยครับ

 

แต่งาน Cheap Ass Elite ของคุณมันมีกลิ่น มีอารมณ์แบบนั้นอยู่นะ

ถูก คือเราแค่อยากจะบอกว่า ลองมองมันในอีกมุมไหม ทั้งความดีและความไม่ดี คือสิ่งที่คนเชื่อว่ามันดี๊…ดี เนี่ย ลองมองอีกมุมนึง หรือรสนิยมที่คุณบอกว่าดี อย่างเก้าอี้ขาหลุยส์จริงๆ มันก็เห่ยได้ คุณเคยดูละครช่อง 7 หรือปล่าวล่ะ เพราะฉะนั้น ความดีมันไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ในขณะเดียวกันสิ่งที่คุณมองว่ามันเห่ย มันเลว ตะกร้าพลาสติกอะไรอย่างนี้ ถ้ามันถูกเอามาใช้ในแบบที่มันใช่ มันก็โคตรเก๋ได้ ไม่ต้องซื้อจากศรัณย์ เย็นปัญญา มันก็เก๋ได้ สิ่งที่เราอยากจะพูดก็คือ การลองให้คน เอ๊ะ ได้ฉุกคิดบ้างว่า  เออ เฮ้ย! บางทีมันก็ไม่อย่างที่เขาคิดเสมอไป

วิธีคิดการสร้างงานแบบนี้ฟังดูคล้ายกับวิธีคิดเชิง Deconstruct

ใช่ Deconstruct เป็นคำที่ดีมาก มันคือการออกจากกรอบ ก็พยายามตั้งคำถามว่าไอ้เซนส์ความเป็นไทย ในมิติที่มันยังสัมผัสไม่ได้ แล้วมันยังลอยๆ อยู่ในอากาศ คืออะไร ผมว่าตรงนั้นมันสัมผัสคนได้ มากกว่าการที่อยู่ดีๆ เอาช้าง เอาลายกนก ลายเบญจรงค์มาใส่ คือเราอภิเชษฐ์งานคราฟท์ในแบบที่มันเป็นก็จริง แต่ว่าสิ่งที่พยายามจะทำก็คือการสร้าง Conceptual  Working มากกว่า เพราะแนวทางนี้สามารถ Breakdownหรือรื้อโครงสร้างของมันออกมาได้ถึงแก่น แล้วนำไปประกอบใหม่ได้ในแบบของเรา มันจึงเป็นการ Deconstruct จริงๆ

 

บนแนวคิดการ Deconstruct เป็นแรงบันดาลใจให้คุณอยากสร้างงานใหม่แบบใดในตอนนี้

เป็นคำถามที่ดีครับ คือตอนนี้ผมก็ยังเห็นการแบ่งขั้วความคิดอยู่ คือมันเริ่มขึ้นตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว ซึ่งบรรยากาศของการเมืองตอนนั้นเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้นอยู่ ความเป็นอยู่ ความเท่ากันของคนก็ยังเป็นเหมือนเดิม นั่นคือเรื่องเหลื่อมล้ำ อย่างล่าสุดก็เครดิตสวิส ก็เพิ่งให้เราเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งมันก็ตลกดีนะครับ แต่อย่างที่บอกตอนนี้ผมเริ่มสนใจหัตถกรรมเพราะว่ารู้สึกถึงความเป็นหมารองบ่อน ทั้งที่ถ้าเราดูญี่ปุ่น Maker หรือ Craftsmen  ของเขาเนี่ยแทบจะเป็นเซนเซอยู่แล้ว ย้อนกลับมามองของไทยถึงจะเป็นคุณป้าที่ทอผ้าไหมได้สวยแค่ไหน ก็ยังต้องไปขุดลอกคูคลอง ไปดายหญ้า ไปทำสวน ทำเกษตรเลี้ยงตัวเองอยู่ดี เราเห็นก็น้อยเนื้อต่ำใจแทน เรารู้สึกว่าอันนี้มันอาจจะเป็นเรื่องเดิม ก็คือเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ทำไมสิ่งเหล่านี้มันไม่ถูกชูขึ้นมาแบบที่มันควรจะถูกชู ผมก็เลยไปจับในประเด็นนี้มากกว่า

 

เป้าหมายที่วางเอาไว้ในการทำงานเชิงหัตถกรรมของคุณคือจุดใด

ผมอยากเห็น Pharrell Williams ใช้ของๆ ผม อยากเห็น John Mayer ใช้ของๆ ผม แม้ว่าชาวบ้านอาจจะไม่รู้ด้วยว่า Pharrell Williams หรือ John Mayer นี่คือใครวะ แต่สุดท้ายเราได้เห็นมิติ แบบที่เขาไม่ได้ซื้อเพราะว่าเป็นคุณป้าจุ๊ เขาซื้อเพราะมันคูล คุณภาพดี ดีไซน์ดี Material น่าสนใจ ซื้อที่อื่นไม่ได้  แค่นั้นจบ คือถ้าสำเร็จก็อยากเห็นมันโตในตลาดโกบอล ซึ่งผมก็คิดว่าน่าจะทำได้

 

อะไรทำให้คุณมั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จได้

เราก็ศึกษาในหลายๆ มิติ อย่างช่องทางการพีอาร์  ช่องทางการจำหน่าย วิธีการแฮกระบบ การนำเสนอภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งเราก็มีวิธีการขายของเราที่ไม่เหมือนใคร มันก็ทำให้เกิดการ Personalize  แล้วเขาก็ได้ของที่ไม่เหมือนใครกลับบ้านไป มันก็ทำให้คนต้องเข้ามาสู่ Offline Experience เพราะว่าในออนไลน์จะมานั่งเลือกอะไรอย่างนี้เองก็คงจะยาก เพราะฉะนั้นมันก็มีวิธีของมัน ในลักษณะของการขาย เราก็เลยคิดว่าเราทำได้ แล้วก็ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

 

ในเชิงปฏิบัติคุณใช้วิธีการใด

จริงๆ มันก็มีเส้นทางของมันอยู่นะครับ เดี๋ยวนี้แฟชั่นแบรนด์สามารถซื้อพีอาร์ เอเจนซีต่างประเทศ แล้วส่งของไปให้เซเลบฯใช้ เอาเงินฟาด แต่เราไม่มีเงินไงครับ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราก็คือทำของให้ดี ซึ่งเรารู้แล้วว่า Pharrell Williams เนี่ยเขาและนำเสนออะไรแบบไหน เขาใช้หรือบริโภคอะไร เราก็ใช้อิมเมจแบบนั้นมาสร้างสินค้าได้ แม้ว่าสุดท้ายเราก็อาจจะไปไม่ถึง Pharrell Williams แต่เราอยากได้คนที่เขามีวิธีมองแบบ Pharrell ที่ติดตาม Hype Beast เพราะฉะนั้นถ้าผมนำไปลงใน Hype Beast ได้ มันก็อาจจะมีโอกาสไปข้างหน้าได้ในจุดนั้น

 

สำหรับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ที่อยากประสบความสำเร็จ คุณมีอะไรอยากแนะนำพวกเขาบ้าง

ผมมักจะบอกน้องๆ เวลาไปเลคเช่อร์ในมหาลัยตลอด ว่าจริงๆ ตอนนี้สนามของเรามันเป็นสนามเดียวกันก็คือ สนามระดับโกลบอล ดังนั้นจะอย่าคิดว่างานทีสิสของคุณจะจบที่บูธ 2 x 2  ที่ใต้ถุนมหาลัย เพราะหากงานคุณดีจริง มันอาจมีโอกาสลงเว๊บ Dezeen วันรุ่งขึ้นเลยก็ได้ มันง่ายในการเข้าถึง ใครก็เข้าไปดูได้ แพลตฟอร์มนี้จะช่วยสนับสนุนงานคุณ แต่ความยากขึ้นก็คือเมื่อทุกอย่างมันอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน เพราะฉะนั้นคุณก็กำลังแข่งอยู่กับนักศึกษาจบใหม่จากทั่วโลก ที่เขามีภูมิปัญญาการออกแบบที่แข็งแกร่ง ทั้งอิตาเลียนดีไซน์ ดัตช์ดีไซน์ แจแปนนิสดีไซน์ หรือแม้แต่เพื่อบ้านในอาเซียนด้วยกันเอง นี่คือความยากที่ทำให้โอกาสถูกบีบแคบลง แต่ถ้าคุณเจ๋งจริง คุณก็แย่งซีนเขาได้

 

กลวิธีในการสร้างความเจ๋งต้องทำอย่างไร

ความเจ๋งจริงมันเริ่มยากขึ้น เพราะตอนนี้งาน มันมีให้เลือกเสพเยอะมาก ซึ่งคุณก็ต้องเลือก และลงลึกกับสิ่งที่ชอบให้มากที่สุดในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามค้นหาตัวตนของตัวเองด้วย และเคารพกับสิ่งที่เราเป็น ไม่ว่ามุมมองเราจะเป็นแบบไหนก็ตาม มันอาจต้องใช้เวลา แต่ถ้ามันดี วันหนึ่งโลกจะหันมาหาคุณแน่นอน เฝ้ารอโอกาสให้ดี

 

Quote:

“ผมอยากเห็น Pharrell Williams ใช้ของๆ ผม อยากเห็น John Mayer ใช้ของๆ ผม แม้ว่าชาวบ้านอาจจะไม่รู้ด้วยว่า Pharrell Williams หรือ John Mayer นี่คือใครวะ แต่สุดท้ายเราได้เห็นมิติ แบบที่เขาไม่ได้ซื้อเพราะว่าเป็นคุณป้าจุ๊ เขาซื้อเพราะมันคูล คุณภาพดี ดีไซน์ดี Material น่าสนใจ ซื้อที่อื่นไม่ได้ แค่นั้นจบ”

Leave A Comment