THE MODERN NATURAL EDGE
Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: ฉัตรชัย เจิญพุฒ
“เรามีความสนใจร่วม กันอย่างหนึ่งในงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ชิ้นเดียวที่เราเรียกว่า Live Edge Design ครับ คือเราทำงานร่วมกับธรรมชาติ ธรรมชาติเขาออกแบบมาครึ่งหนึ่งแล้ว เราเพียงนำมันมาประยุกต์ และใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป”
ความรักใน งานไม้ของสองเพื่อน คุณไกด์–คุณณัฐภูมิ เติมสินวาณิช และ คุณธันย์ เมธาเจริญวิทย์ เป็นที่มาของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้ชิ้นเดียว ในชื่อของแบรนด์ที่แฝงไว้ความอุดมสมบูรณ์ ความชุ่มฉ่ำ และความรู้ความเข้าใจในงานไม้อย่างลึกซึ้ง ไม่ต่างจากนักอนุรักษ์ ‘อุด–ทะ–ยาน (ut-tha-yan)’
ศาสตร์ของงานไม้ที่ศึกษามาไม่น้อยกว่า 10 ปี ความรู้เชิงฝีมือจากทั้งช่างท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน รวมถึงกระบวนการวิทยาศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญในรั้วมหาวิทยาลัย เติมเต็มให้ทั้งสองพร้อมสำหรับการก้าวเข้ามาเป็นนักผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ราย ใหม่ ในคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างจากเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั่วไปที่มีอยู่ในตลาด ตอบโจทย์ความต้องการเรื่องงานไม้ที่ลึกซึ้งด้วยรูปแบบงานเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเดียวแบบที่เรียกกันว่า ‘Live Edge Design’
ตู้คอนเทนเนอร์ทำหน้าที่เป็นโชว์รูมในโรงงาน ภายในยังจัดแสดงไม้แผ่นใหญ่ที่มี รวมถึงโต๊ะประชุมเองที่ก็ใช้ไม้แผ่นใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ด้วย
“ต้อง ยอมรับว่าสินค้าประเภทนี้ สมัยก่อนถ้าคุณอยากได้คุณต้องไปต่างจังหวัด ไปถึงแหล่งของเขา แล้วสิ่งที่ได้มาคือการซื้อวัตถุดิบ เพื่อแค่มาต่อขาเข้าไปให้สามารถวางเป็นโต๊ะได้ แต่มันยังขาดเรื่องของงานดีไซน์ เพราะฉะนั้น ‘อุด–ทะ–ยาน’ จึงเหมือนเราเข้ามาเติมเต็มดีมานด์ที่มันไม่เคยถูกสนอง”
ดังเช่นที่ คุณไกด์ ผู้บริหารหนุ่มเผย เฟอร์นิเจอร์สไตล์เก่าที่ใช้ไม้ขนาดใหญ่มาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ทั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ หรือเก้าอี้แบบโบราณ งานเฟอร์นิเจอร์ไม้ชิ้นเดียวจึงแม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการเฟอร์นิเจอร์ ไม้ไทย แต่สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่ตั้งใจสร้างคุณค่าจากเนื้อไม้ทั้งต้น ผ่านนวัตกรรมและกระบวนการที่พิสูจน์ได้ ผสานกับการออกแบบอย่างเป็นกระบวนการ ยังไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถพบเห็นได้ตามโชว์รูมโดยทั่วไป
ชั้นแสดงไม้แผ่นใหญ่หลากหลายพันธุ์ให้ผู้ซื้อได้มาค้นหา ‘เนื้อคู่’ ของพวกเขาเองถึงในโรงงาน
‘อุด–ทะ–ยาน ’ รวบรวมพันธุ์ไม้สวยจากทั่วทั้งโลก ทั้งไม้ในไทยพันธุ์คลาสสิกอย่างสัก มะค่า ประดู่ ตะเคียน กะบก ตะแบก และอีกมากหลาย หรือพันธุ์ไม้จากต่างประเทศอีกหลากหลายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น อะซอร์เบ (Azobe) สนเรดิเอตาร์ สนฮิโนกิ และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ไม้แต่ละชิ้น ก่อนจะผ่านกระบวนการตัดไสและการออกแบบ ‘อุด–ทะ–ยาน’ ให้ความสำคัญกับการดูแลไม้ด้วยกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ ทั้งการอบควบคุมความชื้น ควบคุมแมลง ปลวก มอด เชื้อรา จนถึงที่มาที่ไปของไม้ ที่จะต้องพิสูจน์ได้ด้วยการตรวจสอบถึงชื่อพันธุ์ ชนิดพันธุ์ ชิ้นงานที่จะส่งถึงมือของผู้รับจึงจะได้รับทั้ง Serial Number ข้อมูลชนิดพันธุ์ไม้ที่ถูกต้อง จนถึงงานที่มีคุณภาพทั้งความสวยงาม ความทนทาน และพร้อมที่จะผ่านกาลเวลาไปอีกหลายสิบปี
“ส่วนหนึ่งเพราะ ผมเติบโตในสายวิทยาศาสตร์ ผมจึงเชื่อมั่นในเรื่องนี้มากๆ” ด้วยการศึกษาอย่างหลงใหล คุณธันย์ ผู้บริหารหนุ่มจึงเชื่อมั่นและให้ความสำคัญกับกระบวนการที่ทันสมัย และสามารถพิสูจน์ได้ “คือจริงๆ เมืองนอกเขาจะเชื่อมั่นกันในเรื่องแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่การระบุประเภทไม้ ระบุตัวตนของไม้ การทำผิว การทำอย่างไรให้ไม้อยู่ตัว การทำอย่างไรให้ไม้ที่โก่งงอคืนรูปมาเหมือนเดิม การทำให้ไม้แห้งอย่างไรให้ถูกต้อง จริงๆ แล้วทุกอย่างมันเป็นวิทยาศาสตร์หมดเลย”
แผ่นไม้ต่างขนาดซ้อนทับกันรอการนำไปประยุกต์และออกแบบ
เช่นเดียวกับไม้หลากหลาย พันธุ์ในโรงงาน ‘อุด–ทะ–ยาน’ เมื่อผ่านกระบวนการเพิ่มคุณภาพ ไม้ไม่กลัวปลวก มอด ความชื้นอย่างเท่าเทียมทุกชนิดพันธุ์แล้ว ที่เหลือจึงเป็นเรื่องงานการออกแบบ ที่จะสร้างคุณค่าให้กับไม้ได้ทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่ไม้ใกล้ตัวอย่างมะม่วง มะขาม เพื่อสร้างชิ้นงานให้สวยงามได้ไม่แพ้ไม่พันธุ์ดั้งเดิมอย่างไม้สัก
“จริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์ ไม่มีอะไรที่เรียนรู้ยากครับ เพียงแค่ว่าเรามองตัวเองว่าเป็นพ่อค้า หรือเป็นคนรักไม้ ถ้าเรามองว่าเราเป็นพ่อค้า เราก็แค่ซื้อมา ขายไป ถ้าเราเป็นคนรักไม้ เราก็จะอยากเข้าใจเขา เมื่อเราเข้าใจ เราก็จะรู้ถึงคุณค่าแล้วเราก็อยากจะส่งต่อสิ่งนี้ต่อไป” คุณไกด์เสริม
ในโรงงานกระบวนการโดยทั่วไป เมื่อไม้ผ่านการอบและอัดน้ำยากันแมลงและเพิ่มความทนทาน แผ่นไม้ดิบพันธุ์ต่างๆ ก็จะถูกวางเรียงในแผงแสดงไม้ หรือถูกเก็บไว้ในชั้นรอการนำไปใช้งาน พื้นที่ส่วนหนึ่งในโรงงานจึงถูกแบ่งเป็นโชว์รูมและส่วนแสดงไม้สำหรับลูกค้า ที่ต้องการมาสัมผัสเนื้อไม้ด้วยตัวเองถึงที่ หลายครั้งผู้ที่ยังค้นไม่พบสิ่งที่ตัวเองต้องการ อาจได้มาเจอกับเนื้อคู่ประจำบ้านโดยบังเอิญ ณ ที่แห่งนี้
ส่วนของงานฝุ่น เปิดผิวไม้ ขัดหยาบ เพื่อปรับระดับหน้าไม้ให้มีความเสมอกัน
ส่วนขัดละเอียด และทำสี ในการทำงานกับผิวหน้า ช่างไม้จะไม่ใส่ถุงมือในการทำงาน
เพื่อสัมผัสความรู้สึกจากผิวไม้อยู่ตลอดเวลา
เมื่อมีความต้องการที่ชัดเจน และงานออกแบบที่ต้องการแล้ว แผ่นไม้ที่ถูกเลือกก็จะถูกส่งต่อไปยังส่วนงานเปิดผิวไม้ เพื่อไส และขัดหยาบ ตามด้วยการขัดละเอียด เพื่อปรับระดับหน้าของผิวไม้ให้เสมอกัน ขั้นตอนการผลิตงานไม้จะทำกันแบบชิ้นต่อชิ้น ก่อนนำไปประกอบกับชิ้นส่วนอื่นที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกัน เพื่อเปิดให้โอกาสพันธุ์ไม้แต่ละพันธุ์ได้แสดงเอกลักษณ์ ที่จะผสานกับงานดีไซน์ที่ทั้งผู้บริหารทั้งสอง นักออกแบบ วิศวกร รวมถึงเจ้าของชิ้นงาน จะร่วมพูดคุย และเป็นผู้ร่วมกันรังสรรค์งานเฟอร์นิเจอร์เพื่อให้แสดงทั้งตัวตนของเจ้าของ สไตล์ของบ้าน และตัวตนของไม้ชิ้นนั้นๆ
ชิ้นส่วนอื่นๆ ของต้นไม้ เป็นอีกสิ่งที่ ‘อุด–ทะ–ยาน’ ไม่ละทิ้ง ‘Live Edge Design’ ของพวกเขาจึงหมายถึงการใช้งานทุกๆ ส่วนของไม้ให้เกิดประโยชน์
และที่สำคัญให้เกิดคุณภาพ ควบคู่ไปกับการใช้กระบวนการออกแบบกับทุกๆ สิ่ง
ผ่านจากขั้นตอนการขัดเพื่อให้ ได้พื้นผิวที่เรียบ–หยาบตามที่ต้องการ แผ่นไม้ก็จะถูกส่งต่อมายังส่วนงานสีและน้ำยา โดยน้ำยาของ ‘อุด–ทะ–ยาน’ นั้นจะมีด้วยกัน 4 ชนิด คือ Hard Wax Oil สำหรับงานที่ต้องการความดิบ, Wood Stain สำหรับงานไม้ใช้ภายนอก, Lacquer สำหรับงานไม้ทั่วไปภายใน และ PU (Polyurethane) สำหรับงานไม้ที่ต้องการผิวมันเงา น้ำยาที่ ‘อุด–ทะ–ยาน’ เลือกนำเข้าจากต่างประเทศนั้นเป็นแบบ Water Base ที่จะไม่เปลี่ยนสีดั้งเดิมของไม้ และไม่ปกปิดร่องรอยที่อาจเป็นความผิดพลาดในขั้นตอนการผลิต สำคัญกว่านั้น คือในภายหลัง หากผิวหน้าเกิดร่องรอยเสียหาย จะสามารถซ่อมแซมร่องรอยนั้นๆ เฉพาะจุดได้โดยไม่ต้องเปิดผิวหน้าไม้ใหม่ทั้งหมด
“ผมเชื่อว่างานที่ ตอบเรื่อง Customization คน มันเป็นตลาดที่ยั่งยืน เหมือนเขาได้ซื้ออัตลักษณ์เขากลับบ้าน แล้วอัตลักษณ์แบบนี้ ใครก็เลียนแบบเขาไม่ได้ ต่อให้ผม ที่เป็นโรงงานทำชิ้นงานให้เขา ผมก็เลียนแบบไม่ได้” ความเชื่อของทั้งสองผู้บริหารคือต้องการให้ไม้ได้แสดงตัวตนของมันเองอย่าง เป็นธรรมชาติ สิ่งที่ ‘อุด–ทะ–ยาน’ รังสรรค์จึงไม่ใช่งานไม้ที่จะมีผิวสีเดียวกัน ขนาดเดียวกัน หรือรูปร่างที่เหมือนกันได้ทุกกระเบียดนิ้ว เพราะแม้จะเป็นไม้พันธุ์เดียวกัน แต่กระบวนการของเวลาที่กระทำกับไม้แต่ละต้นนั้นย่อมแตกต่าง ระยะเวลาที่ไม้เติบโตมาอย่างยาวนาน จึงเสมือนเป็นร่องรอยจากฤดูกาลที่ฝากฝังสร้างเอกลักษณ์ให้กับไม้แต่ละชิ้น ‘อุด–ทะ–ยาน’ จึงไม่ได้มุ่งไปที่การสร้างงานตามแคตตาล็อกที่มี แต่จะสร้างจากตัวตนของผู้เลือกไม้ หรือกลับกัน ตัวตนของไม้ชิ้นนั้นๆ ก็อาจกลับมาเป็นผู้เลือกตัวเราเอง
ในระยะเวลาอัดน้ำยาและขนส่งถึง โรงงานที่จะใช้เวลาราว 60 วัน ไม้ที่รออยู่แล้ว ก็จะใช้เวลาในกระบวนการออกแบบและการผลิตราว 30 วัน ก่อนที่เฟอร์นิเจอร์ไม้จะถูกส่งตรงถึงมือของผู้เป็นเจ้าของ นอกจากนั้นสำหรับผู้ที่มีไม้ชิ้นใหญ่ของตัวเองอยู่แล้ว ก็สามารถนำมาผ่านกระบวนการของโรงงานคืนสภาพไม้สู่สภาพเดิมที่สวยงาม หรือจะออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ตามที่ต้องการอีกก็ย่อมได้ เพราะไม้แต่ละชิ้น ต่อคนแต่ละคน นั้นอาจมีค่ามากโข ไม่เฉพาะแต่ด้านการลงทุน แต่ทั้งในด้านจิตใจ “เมื่อเราทรีตเขาอย่างถูกต้อง 40-50-60-70 ปี เรายังใช้โต๊ะชิ้นเดียว เราไม่ต้องเปลี่ยนโต๊ะทุกๆ 5 ปีหรือ10 ปี ซึ่งมันคือการใช้ทรัพยากรทั้งนั้น แต่อันนี้มันอยู่ไปชั่วลูกชั่วหลาน เพราะฉะนั้นผมมองว่ามันคือการส่งต่อ มันคือมรดก พอคนรักน่ะครับ เขาก็จะดูแล จะอนุรักษ์มัน” ดังเช่นที่ผู้บริหารหนุ่มปิดท้าย