THE EYE OF THE STORM


 ความสงบนิ่งท่ามกลางท้องฟ้า

ถึงแม้ว่า NEO Bankside โครงการ Luxury คอนโดมิเนี่ยมที่ออกแบบโดย Rogers Stirk Harbour Architects  ใกล้ๆ Tate Modern จะเสร็จสมบูรณ์ไปสักพักแล้ว ไม่บ่อยครั้งนักที่จะมีมัณฑนากรมือดีที่ไหนที่จะสามารถเปลี่ยนพื้นที่จากสถาปัตยกรรมในสไตล์ Deconstructionist Minimalism ของสถาปนิกชั้นครูอย่าง Richard Rogers ให้เป็นบ้านสวนแสนอบอุ่นแต่ยังคงความเป็น Minimal อย่างลงตัวได้เท่า Jonathan Reed เจ้าของ Studio Reed ที่เน้นการนำของเก่ามาดัดแปลงโดยใช้เทคนิกงานฝีมือพื้นบ้านของอังกฤษเป็นหลัก

Penthouse โดดเด่นด้วยผนังทำจากทองแดงขึ้นสนิม และ สกรีนเซรามิก

Penthouse แห่งนี้แบ่งเป็น 2 ชั้น มีเนื้อที่ประมาณ 657 ตารางเมตร ชั้นล่างประกอบด้วย ห้องนั่งเล่นติดกับระเบียง ห้องทานข้าวและมุมพักผ่อนของครอบครัวติดสวนฤดูหนาว ห้องนอนแขก ห้องน้ำ และ ห้องทำงานติดสวนฤดูหนาว ชั้นบนมีห้องนอนอีก 3 ห้องนอน และ ห้องน้ำอีก 3 ห้องเช่นกัน

ฉากแสดงงานศิลปะนอกจากช่วยบดบังสายตาของผู้คนจากอาคารข้างเคียงยังทำหน้าที่กันแสงที่เข้ามาได้เป็นอย่างดี

ห้องชุดคอนโดและ Penthouse ในโครงการ NEO Bankside นั้นได้ชื่อว่ายากในการออกแบบภายในมาก เพราะแปลนของแต่ละห้องเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนและแทบจะไม่มีมุมฉาก ซึ่งยากมากที่จะจัดวางเฟอร์นิเจอร์ชิดผนังเพราะจะทำให้ห้องดูเบี้ยวขึ้นมาทันที นอกจากนี้แล้วตัวสถาปัตยกรรมของ Richard Rogers ยังแข็งและ dominant มาก ทั้งโครงเหล็กที่ปล่อยเปลือยตามสไตล์ Deconstructionist และกระจกแก้วรอบตัวอาคารจากพื้นถึงเพดาน และหลังคา อีกทั้งความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยที่หายไปจากที่ตั้งที่ต่ำกว่าของอาคารพิพิธภัณฑ์ Tate Modern ที่อยู่ใกล้เคียง การแก้ปัญหาด้วยการติดผ่าม่านจึงอาจสร้างความอึดอัดให้ผู้อยู่อาศัย และทำลายบรรยากาศอันเป็นจุดเด่นของตัวโครงการอย่างวิวพาโนรามาของแม่น้ำ Thames และ London Skyline อีกด้วย

มุมพักผ่อนครอบครัวโดดเด่นแต่ผ่อนคลายด้วยหินทาสีฟ้า และสงบนิ่งเสมือนนั่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติจากเฟอร์นิเจอร์จักสานที่ห้องกินข้าว

ห้องทำงานเน้นความหนักแน่นแข็งแกร่งด้วยการผสมวัสดุไม้กับเหล็ก

นอกจากนี้มัณฑนากรยังไม่สามารถติดผ้าม่านหรือมู่ลี่ใดๆ ในห้องนั่งเล่นเพื่อกันแสงได้ เพราะหลังคากระจกแก้วเป็นเส้นทแยงมุม Jonathan Reed จึงใช้วิธีสร้างความเป็นส่วนตัวและกันแสงไปในตัว ด้วยการใช้ฉากเซรามิกกั้นทางทิศใต้ของห้อง และตั้งฉากสำหรับโชว์งานศิลปะเป็นช่วงๆ ทางทิศตะวันตกเพื่ออำพรางไม่ให้คนจากตึกข้างเคียงมองเข้ามาในห้องนั่งเล่นของ Penthouse ได้ทั้งหมด

บรรยากาศภายในห้องนอนมาสเตอร์เบด

ถัดจากห้องนอนด้านซ้ายคือ walk-in wardrobe และห้องน้ำ ensuite ด้านขวา

บรรยากาศภายในห้องน้ำ ensuite

นอกจากนี้การใช้วัสดุที่มีความดิบและโทนสีธรรมชาติออกแนว earthy ในห้องนั่งเล่น เช่น พื้นไม้โอ๊คขัดทรายสีซีด ผนังทองแดงขึ้นสนิมที่ให้สีเขียวชุ่มชื่นเหมือนแนวร่มไม้แต่เป็นโลหะ ชุดโซฟารูปทรงฟรีฟอร์มโทนสีฟ้าผสมเทา และกระถางหญ้าเป็นบางจุดในทิศเหนือ สร้างบรรยากาศสวนลอยฟ้าจากระเบียงข้างนอกเป็นส่วนหนึ่งของห้องนั่งเล่น ก็ช่วยเพิ่มความอบอุ่นตัดกับความเยือกเย็นและแข็งกระด้างจากกระจกแก้วและเหล็กสแตนเลสได้อย่างลงตัว เวลาอยู่ในห้องนั่งเล่นแห่งนี้ จึงเสมือนใครหยิบเอา Penthouse ออกจากท้องฟ้าและความวุ่นวายรอบข้าง แล้วเอามาตั้งไว้บนพื้นดิน กลายเป็นบ้านสวนร่มรื่น สงบนิ่ง และยังกระจายไปไปถึงห้องอาหารและมุมพักผ่อนของครอบครัวทางตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย ทั้งที่ความจริง Penthouse แห่งนี้อยู่ในความสูงชั้น 16 ของตัวอาคาร

อ่างล้างหน้าทำจากท่อนไม้อบแห้งและนำไปเผาก่อนที่จะเคลือบเรซินกันน้ำ

การใช้เฟอร์นิเจอร์ Jonathan Reed เลือกใช้โทนสีน้ำตาลอ่อน โต๊ะกาแฟรูปทรงหินทาสีฟ้า และเก้าอี้กินข้าวที่เป็นเครื่องสานให้บรรยากาศสงบนิ่งเหมือนนั่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ส่วนห้องทำงานเน้นความหนักแน่นแข็งแกร่งของพื้นดินด้วยการผสมวัสดุไม้กับเหล็ก และการใช้โทนสีน้ำตาลเป็นหลัก ที่ห้องนอนทั้ง 3 ของชั้นบนนั้นให้ความรู้สึกอบอุ่นแต่ละเอียดอ่อนขึ้น ด้วยการเลือกใช้โทนสีที่สว่าง มีความหวาน และเน้นวัสดุที่มีความนุ่มเช่นพรมไหมเทียม ผ้าแคชเมียร์และฉากกั้นห้องที่ทำจากแก้วด้วยวิธี hand-casted ในโทนสีชมพูอ่อน เพื่อให้เหมาะในการพักผ่อน

ถัดจากห้องนอนขนาดกลางคือสวนฤดูหนาว

เพิ่มพื้นที่ใช้สอยด้วยการวางข้าวของ และเตียงแบบกลับหัว-หาง

Text: กชพร นฤมาณนลินี
Photos: Gianni Franchellucci & Robert Paulo Prall
Architect: Studio Reed http://studioreed.com

Leave A Comment