TECTONIC AND TECHNOLOGY


สัมผัสประสบการณ์แบบ ‘บ้าน บ้าน’ ที่ล้ำหน้าด้วยนวัตกรรมทันสมัย
ในนิทรรศการศิลปะการก่อสร้าง และเทคโนโลยี งานสถาปนิก’60

เพราะ ‘บ้าน’ เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพของมนุษย์ เป็นสถาปัตยกรรมหน่วยย่อยของชุมชนเมือง และเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ในครอบครัว ก่อนขยายไปสู่มิติต่างๆ ในระดับชุมชนเมืองที่เป็นสังคมส่วนรวมขนาดใหญ่ ด้วยเหตุนี้ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่อาศัย ที่สามารถช่วยยกคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้นได้ จึงเกิดเป็นแนวคิดหลักในการจัดงาน ‘สถาปนิก’60’ นิทรรศการแสดงผลงานทางวิชาชีพสถาปัตยกรรม นวัตกรรม และวัสดุก่อสร้าง ครั้งที่ 31 ภายใต้หัวข้อ ‘บ้าน บ้าน : BAAN BAAN Reconsidering Dwelling’ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และแนวคิดใหม่ๆ ให้กับสถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมา เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจด้านสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน และการก่อสร้าง ซึ่งงานในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันอังคารที่ 2 ถึงวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2560 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ภายในพื้นที่นิทรรศการในปีนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ บ้าน, องค์ประกอบบ้าน และพื้นที่นอกบ้าน ทั้งยังแยกย่อยออกเป็น ประเภทลักษณะของกลุ่มต่างๆ (Typology) เทคนิคการก่อสร้าง (Tectonic) และแนวความคิดต่างๆ (Thought) ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมแยกย่อยที่เราอยากจะเน้นย้ำเป็นพิเศษในฉบับนี้อยู่ในส่วนของ ‘บ้าน’ ได้แก่ ‘นิทรรศการศิลปะการก่อสร้าง และเทคโนโลยี (Tectonic and Technology)’ ภายใต้การกำกับดูแลของ คุณเบล-สมรรถพล ตาณพันธุ์ และคุณเจน-กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ อาจารย์และอดีตอาจารย์ ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามลำดับ สองผู้ร่วมก่อตั้ง FabCafe Bangkok ผู้เชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีการผลิตแบบดิจิตอล (Digital Fabrication) เข้ามาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบ สร้างนวัตกรรมหรือแอพลิเคชั่นใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคหรือว่าธุรกิจต่างๆ โดยไม่จำกัดอยู่แค่งานสถาปัตยกรรม แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มอาหารการแพทย์ และเกษตรกรรม เป็นต้น

คุณเบล-สมรรถพล ตาณพันธุ์ และ คุณเจน-กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ สองผู้ร่วมก่อตั้ง FabCafe Bangkok

นิทรรศการศิลปะการก่อสร้าง และเทคโนโลยี (Tectonic and Technology) จะแบ่งย่อยการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 ซ่อม + สร้าง นำเสนอเทคนิควิธีการซ่อมแซมบ้านในรูปแบบ Open Source ที่เพียงแค่ดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ตแล้วนำมาผลิตโดยใช้การพิมพ์แบบสามมิติ (3D Printing) ซึ่งในปัจจุบันเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) สามารถพิมพ์วัตถุได้อย่างหลากหลาย หรือประดิษฐ์เพียงชิ้นส่วนหนึ่งเพื่อนำมาประกอบเข้ากับชิ้นส่วนเดิมก็ย่อมได้ ภายในส่วนนี้นอกจากการสาธิตการพิมพ์วัตถุจาก 3D Printer แล้ว ยังมีการนำวัตถุที่พิมพ์ขึ้นจาก 3D Printer มาจัดแสดงให้ชมกันอีกมากมาย รวมไปถึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาร่วมเรียนรู้กระบวนการผลิตวัตถุหรือชิ้นส่วน ด้วยเทคโนโลยีการผลิตแบบดิจิตอลจาก 3D Scanner และ 3D Printer ได้อีกด้วย

ภาพประกอบนิทรรศการส่วน ซ่อม+สร้าง ตัวอย่างงาน 3D PRINTED BYPASS โดย Maya Ben David (ภาพจาก www.3ders.org)

ภาพประกอบนิทรรศการส่วน ซ่อม+สร้าง ผลงาน 3D PRINTED PLANTER BRICK โดย Emerging Object (ภาพจาก www.urbangardensweb.com)

ส่วนที่ 2 มนุษย์ + หุ่นยนต์ นิทรรศการที่มนุษย์ขอท้าดวลการวางเรียงก้อนอิฐกับหุ่นยนต์แขนกล (Robotic Arm) ที่ส่วนใหญ่มักจะถูกกำหนดบทบาทให้จำกัดอยู่แค่ในงานอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เท่านั้น ทว่าในครั้งนี้หุ่นยนต์แขนกลจะถูกท้าทายและตั้งคำถามขึ้นโดยทีมผู้ดูแลนิทรรศการว่า ถ้านำหุ่นยนต์มาใช้แทนหรือทำงานร่วมกับแรงงานมนุษย์ในงานสถาปัตยกรรมจะเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันในต่างประเทศเริ่มมีการนำหุ่นยนต์ (Robotic) เข้ามามีบทบาทในการทำงานออกแบบ เสมือนช่างคนหนึ่งที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ หรือทำงานในส่วนที่เกินความสามารถของมนุษย์จะทำได้ รวมถึงกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่อยู่ในหลักสูตรบังคับของคณะสถาปัตยกรรม ในบางประเทศไปแล้วด้วยซ้ำ

GRAFFITI BOT ตัวอย่างโครงการที่ FabCafe Bangkok ร่วมกับ ABB และ Delcam ทดลองให้หุ่นยนต์แขนกล (Robotic Arm) ซึ่งโดยปกติจะมีกลไกการทำงานที่ถูกกำหนดขึ้นให้ทำงานซ้ำๆ ในระบบเพื่อทุ่นเวลาหรือข้ามข้อจำกัดต่างๆ ให้หันมาปรับตัวทำงานตามมนุษย์บ้าง โดยมี คุณรักกิจ ควรหาเวช ศิลปินสตรีตอาร์ตชื่อดังท้าทายความสามารถของหุ่นยนต์ในการพ่นงานกราฟฟิตี้ลงบนผนัง ด้วยสีสเปรย์สูตรพิเศษที่คิดค้นขึ้นใหม่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือหุ่นยนต์สามารถพ่นลวดลายได้ต่อเนื่อง ครั้งเดียวจนกว่าสีจะหมดกระป๋อง นับเป็นหนึ่งในโครงการที่แสดงศักยภาพของทีม Research and Development (R&D) ในเมืองไทยว่าสามารถทำได้ โดยที่ในต่างประเทศยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน

ตัวอย่างวีดีโอ GRAFFITI BOT

และส่วนที่ 3 โลก + เสมือน นำเสนอการชมผลงานของสถาปนิกที่มากกว่าการดูโมเดลหรือดูจากภาพพิมพ์แต่จะนำพาเข้าไปอยู่ในมิติของบรรยากาศเสมือนจริงที่เทคโนโลยีเป็นผู้สร้างขึ้นผ่าน Virtual Reality (VR) นอกจากนี้ยังมีเกมสนุกสนานแบบบ้านๆ อย่างบ้านผีสิง ที่นำเสนอด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์เดียวกัน

ภาพประกอบนิทรรศการ โลก + เสมือน ในส่วน VR (Virtual Reality) ที่ได้รับความร่วมมือจากบริษัท YGGDRAZIL GROUP Co., LTD. โดยจะมีส่วนบ้านผีสิง จากเกม Home Sweet Home เป็นตัวชูโรง ตามด้วยแอพลิเคชั่น VR อื่นๆ ในงานสถาปัตยกรรม (ภาพจาก www.homesweethomegame.com)

นอกจากนี้สำหรับนิสิตหรือนักศึกษาที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมด้านเทคโนโลยีการผลิตแบบดิจิตอล ยังสามารถเข้าร่วมฟังบรรยายในนิทรรศการนี้ได้ โดยในวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2560 จะมีรุ่นพี่สถาปนิกที่มีประสบการณ์มาให้คำแนะนำสำหรับใครที่อยากรู้ว่าจะต้องเรียนต่อด้านไหน แล้วแต่ละที่แตกต่างกันอย่างไร เพราะในแต่ละประเทศต่างมีมุมมองในการนำไปใช้แตกต่างกัน ไม่ว่าจะในญี่ปุ่น อังกฤษ ยุโรป และอเมริกา และในวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2560 จะเป็นการบรรยายด้านเทคโนโลยีการผลิตแบบดิจิตอล โดยมีการหยิบยกตัวอย่างผลงานที่ผลิตขึ้นมาแล้วนำไปใช้ได้จริงมาให้ชม ตลอดจนวิธีการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีต่างๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตแบบดิจิตอล

เพราะเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสถาปัตยกรรม และนวัตกรรม กลายเป็นสองสิ่งที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันโดยสมบูรณ์ ใน ‘นิทรรศการศิลปะการก่อสร้าง และเทคโนโลยี (Tectonic and Technology)’ นี้จะย้ำคำตอบที่ว่านั้นผ่านเทคโนโลยีการผลิตแบบดิจิตอล ที่แม้จะยังกระจุกตัวอยู่ในวงแคบๆ แต่ก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในงานสถาปัตยกรรมยุคปัจจุบัน ให้ผู้ที่ได้เข้ามาชมงานได้เข้าใจและรู้จักกันมากขึ้น

Facebook : งานสถาปนิก : ASA EXPO
Instagram : asa_expo
Website : www.asaexpo.org

Leave A Comment