STU/D/O ARCHITECTS
อภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ และชนาสิต ชลศึกษ์
สองสถาปนิกรุ่นใหม่ผู้สร้างคุณค่าให้สถาปัตยกรรม
ที่กลมกลืนไปกับบริบท
ไม่บ่อยครั้งนักที่จะเห็นสถาปัตยกรรมกับต้นไม้กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันได้อย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครฯ การจะลงทุนก่อสร้างอาคารประเภทพาณิชยกรรมขึ้นมาสักหลังหนึ่งย่อมมีปัจจัยเรื่องความคุ้มค่าเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ทว่าบนพื้นฐานของความเป็นไปได้ในการประกอบธุรกิจที่ก่อเกิดทั้งในแง่ประโยชน์และภาพลักษณ์ของอาคารพาณิชย์แล้วก็นับว่า ‘Naiipa Art Complex’ คือหนึ่งในต้นแบบของงานสถาปัตยกรรมที่ผู้ประกอบการเล็งเห็นถึงคุณค่าของต้นไม้ และกล้าที่จะให้สถาปนิกออกแบบตัวอาคารโอบกอดต้นไม้เอาไว้อย่างแนบแน่น
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้นได้จุดชนวนให้ Daybeds นำความประทับใจมุ่งตรงมาหาคำตอบกับทีมสร้างสรรค์โครงการ ‘Naiipa Art Complex’ นำโดยคุณโอ๋ ชนาสิต ชลศึกษ์ อภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ และคุณดิว สองสถาปนิกเพื่อนร่วมรุ่นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมที่ใช้อักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของชื่อเล่น คือ (D) และ (O) มาตั้งชื่อบริษัทในนาม ‘Stu/D/O Architects’ เพื่อคุยถึงแนวคิดในการออกแบบโครงการดังกล่าว และถือโอกาสนี้สนทนากับพวกเขาถึงผลงานการออกแบบล่าสุดอื่นๆ ที่น่าสนใจ ตลอดจนเรื่องราวในองค์กรขนาดเล็กที่มีออฟฟิศสเปซเท่ๆ ให้ทีมสถาปนิกได้ออกไอเดียสร้างสรรค์ผลงานกันตั้งแต่วันก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน
DAYBEDS: อยากให้เล่าย้อนไปถึงเรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Stu/D/O Architects มีความเป็นมาอย่างไร
APICHART: จริงๆ แล้วเราก็เป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกันที่จุฬาฯ นี่ล่ะครับ พอไปทำงานที่ A49 ก็อยู่คนละสตูดิโอ A49 เขาจะแบ่งออกเป็นสตูดิโอที่ออกแบบอาคารสาธารณะ อาคารขนาดใหญ่ กับสตูดิโอที่ออกแบบบ้านซึ่งก็จะเน้นกันคนละทาง คุณดิวเขาก็จะอยู่สตูดิโอบ้านจะเน้นที่ดีเทลความละเอียด ส่วนของผมก็จะเน้นอะไรที่มันดูเป็นสเกลใหญ่หน่อยต่างกันออกไป เคยได้ทำงานร่วมกันอยู่บ้างก็รู้สึกว่าเข้าขากันได้ดี เลยคุยกันไว้ว่าในอนาคตถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะลองทำออฟฟิศร่วมกัน หลังจากนั้นผมก็ออกไปเรียนต่อ คุณดิวก็ออกไปเรียนต่อพอดีแล้วเราก็กลับมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ก็เลยได้มีโอกาสมาทำออฟฟิศด้วยกันจริงๆ
DBS: แบ่งหน้าที่การทำงานอย่างไร ปัญหาที่พบในการเปิดบริษัทเป็นของตัวเองในช่วงแรกๆ คืออะไร
APICHART: จริงๆ แล้วต้องเรียกว่าผมกับคุณดิวเป็นเหมือนคนที่มองอะไรคนละทางกัน แต่ก็มีหลายอย่างที่เป็นเหมือนจุดสมดุลซึ่งกันและกัน อย่างเช่นคุณ ดิวจะเป็นคนที่ลงรายละเอียดมากกว่า มีความสนใจในเรื่องของดีไซน์ที่ลึกกว่า ของผมก็อาจจะแบ่งเวลามาดูเรื่องของการบริหารจัดการเยอะหน่อย ส่วนเรื่องของปัญหามันก็มีอยู่แล้วแต่ก็เป็นเรื่องปกติไม่มีเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องใหญ่ครับ
DBS: มีการถกเถียง (เพื่องานที่ดีที่สุด) กันบ้างไหม
CHANASIT: ถ้าถามว่าเถียงกันเรื่องไหนก็น่าจะเป็นเรื่องของดีไซน์นี่แหละครับ เราพยายามมองปัญหาให้ขาด มองให้เห็นปัญหาก่อนว่าดีไซน์มันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เหมือนเป็นการถกเถียงกันเพื่อให้ได้ Solution ที่ดีที่สุดจะเป็นลักษณะนั้นมากกว่า
APICHART: บางครั้งการที่ผมเคยอยู่สตูดิโอออกแบบอาคารสูงและอาคารสาธารณะขนาดใหญ่มา ผมมักจะมองอะไรที่ค่อนข้าง Realistic มากๆ ส่วนคุณดิวเขาก็จะมีความรู้สึกว่าดีไซน์มันยังไม่ลึก ยังไม่ครอบคลุมพอ สำหรับเขารายละเอียดมันต้องเยอะกว่านี้ มันต้องลงลึกกว่านี้ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่ดีนะ มันทำให้เราขยายขอบเขตที่เราตั้งเอาไว้จนได้งานที่มีคุณภาพมากกว่าที่เราคาดคิด มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันตัวผมเองก็จะบอกว่าอะไรที่มันเป็นไปไม่ได้จริงๆ ก็จะบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ ส่วนอะไรที่คุณดิวรู้สึกว่ามันยังไปได้อีก เขาก็จะบอกว่ามันควรจะต้องไปได้อีก
DBS: การมีพาร์ทเนอร์ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นใช่หรือไม่
CHANASIT: ใช่ครับ
APICHART: ออฟฟิศเรานอกจากความคิดของเราสองคน เราก็จะรับฟังความคิดเห็นของน้องๆ ในทีมทุกคนเหมือนกัน
DBS: คุณมองว่าการเปิดบริษัทของตัวเองจำเป็นต้องมีประสบการณ์มากน้อยแค่ไหน การไปเรียนต่อก่อนมีความสำคัญและให้ประสบการณ์กับคุณอย่างไร
CHANASIT: ผมว่าประสบการณ์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากพอสมควร คืออย่างน้อยมันน่าจะได้เรียนรู้ทุก Process ของการออกแบบตั้งแต่เริ่มต้น Conceptual Design หรือการก่อสร้างจริงค่อนข้างสำคัญมากเลย ไม่อย่างนั้นมันไม่รู่ว่าสิ่งที่เราคิดที่เราเขียนมาในกระดาษกับตอนสร้างจริงมันเกิดปัญหาอะไรบ้าง ผมเลยคิดว่าอย่างน้อยมันต้องผ่าน Process ทุกอย่างให้ครบถ้วนก่อนแล้วการที่มาเปิดออฟฟิศมันจะลดปัญหาจากการที่เราขาดประสบการณ์ในจุดนั้นๆ ได้มากพอสมควรครับ
APICHART: การเรียนต่ออาจไม่ได้สำคัญขนาดนั้น ประสบการณ์สำคัญกว่า อาชีพสถาปนิกเป็นอาชีพที่ต้องเจอคนทุกกลุ่มทุกประเภทตั้งแต่ผู้รับเหมา คนงานก่อสร้าง มาจนถึงคนที่อยู่ในระดับการจัดการเท่าๆ กัน เช่น วิศวกร หรือระดับดีไซเนอร์เหมือนกัน หรือเจ้าของก็มีตั้งแต่เป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของโครงการขนาดใหญ่ คือเราจะต้องปรับตัวและก็จะต้องมีทักษะด้านการสื่อสารสูงมากๆ แต่การเรียนต่อก็ช่วยให้เราออกไปเจอโลกที่กว้างกว่าเดิม
DBS: การสื่อสารที่ว่าหมายถึงการพูดโน้มน้าวด้วยใช่ไหม
APICHART: การโน้มน้าวเป็นการสมดุลทุกอย่างครับ เจ้าของจะเอาแบบหนึ่ง ผู้รับเหมาจะเอาแบบหนึ่ง สถาปนิกจริงๆ แล้วทำเกือบทุกอย่าง ก็อย่างที่รู้กันว่าสถาปัตยกรรมเป็นศาสตร์ที่ต้องสวยด้วย ต้องดีและเหมาะสมกับการใช้งานด้วย ในขณะที่คนทำงานศิลปะโดยทั่วไปก็จะสวยอย่างเดียว ในทางวิศวกรรมก็อาจจะดีอย่างเดียว แต่สถาปนิกจะมีความซับซ้อนในอีกระดับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากแต่ก็ดูท้าทายและน่าสนใจครับ
DBS: วัฒนธรรมองค์กรของ Stu/D/O Architects
CHANASIT: มีวัฒนธรรมองค์กรอย่างไรลองหันไปดูด้านหลังครับ (ทำงานกับพื้นแล้วยิ้มชนาสิตชี้ไปที่บรรดาลูกทีมบางส่วนที่กำลังนั่ง) ก็ค่อนข้างสบายๆ นะครับ แต่ว่าเราอยากให้มันเป็นความสบายที่อยู่ในกฎระเบียบ คือเราตั้งกฎระเบียบของออฟฟิศไว้ค่อนข้างชัดเจน แล้วเราก็ให้น้องๆ เขารับผิดชอบในงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ผมคิดว่างานที่มันเกี่ยวกับการดีไซน์หรือ Creativity บางทีมันไปบังคับมากไม่ได้ เช่น ต้องนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะตลอดเวลาบางทีมันก็ตัน บางทีเขาต้องการที่จะเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงาน รีเฟรชไอเดียของเขา ผมว่าอันนี้สำคัญมาก เพราะฉะนั้นก็เลยคุยกับคุณโอ๋ว่าอยากให้ออฟฟิศเรามันสบายๆ เน้นไปที่ Creativity มีกฎระเบียบที่จะไม่ทำให้ระบบของการทำงานเสีย
APICHART: จริงๆ แล้วมี Desktop ที่เป็นคอมพิวเตอร์อยู่แค่สามเครื่อง ส่วนใหญ่จะใช้เป็นคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปกันหมด โต๊ะที่ออฟฟิตเป็น Communal Table ใครอยากจะนั่งตรงไหนก็นั่งได้ ใครอยากจะตัดโมเดลที่พื้นก็มาตัด ถ้าเกิดว่าจำเป็นหรือรู้สึกว่าอยากไปนั่งทำงานข้างนอกบ้างก็ไปได้
CHANASIT: เราทำงานกันแบบพี่ๆน้องๆ อบอุ่นๆ อยากให้น้องๆสนุกกับการทำงานครับ
APICHART: การทำงานทุกโปรเจ็กต์จะเริ่มจากการคุยกันก่อน เซ็ตทีมขึ้นมาเพื่อ Brainstorm กันหลายๆคน เพื่อหาไอเดียที่น่าสนใจและดีที่สุด จนสุดท้ายพอถึงช่วงพัฒนาแบบก็จะเหลือดีไซน์เนอร์สักคนสองคนที่ประจำโปรเจ็กต์นั้นๆ
DBS: สิ่งที่เกิดในปัจจุบัน Stu/D/O Architects เติบโตและเป็นที่รู้จักมากขึ้นนั้นเป็นไปตามปณิธานที่พวกคุณตั้งไว้มากน้อยแค่ไหน
APICHART: รู้สึกดีใจครับสำหรับออฟฟิศที่เปิดมาประมาณ 5 ปี มีได้รางวัลสถาปนิกยอดเยี่ยม พอปีที่ผ่านมาก็พึ่งได้เหรียญทอง เพราะว่าสิ่งที่เราตั้งใจทำไว้ สิ่งที่เราทุ่มเทกับมันมามีผลเป็นที่ยอมรับ กรรมการก็ชอบ ต่างประเทศก็ชอบ ลูกค้าก็ชอบ รู้สึกมีกำลังใจที่จะสร้างผลงานดีๆต่อไป จริงๆ แล้วทุกโปรเจ็กต์ สถาปนิกเป็นอาชีพๆหนึ่งที่สามารถออกแบบอาคารให้ลูกค้าแฮปปี้แล้ว สร้างได้ ใช้งานได้ หรือไม่ก็ออกแบบโปรเจ็กต์ที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่เราภูมิใจด้วยก็ได้ ซึ่งทุกโปรเจ็กต์เราจะดันมาทางลักษณะหลังโดยตลอด กระทั่งบางโปรเจ็กต์ที่มันควรจะ Commercial มากๆ เราก็จะยังพยายามใส่คุณค่าทางสถาปัตยกรรมเข้าไป โดยคนที่ไม่ยอมปล่อยให้ผ่านก็จะเป็นคุณดิวเสียเป็นส่วนใหญ่ เขาจะเป็นคนที่รู้สึกว่าโปรเจ็กต์ออฟฟิศเรามันต้องดีกว่านี้ เขาก็จะดันอยู่ตลอดซึ่งมันก็ทำให้งานของเรามันจะดีขึ้นเรื่อยๆ
CHANASIT: ซึ่งโปรเจ็กต์ที่พึ่งได้รางวัลก็เป็นโปรเจ็กต์แรกๆ ของออฟฟิศที่เริ่มสร้างเสร็จ ถามว่ารู้สึกช้าไหม รู้สึกสร้างเสร็จช้าจังแต่ได้รางวัลไม่ช้า ถือว่าเป็นงานแรกๆ ของออฟฟิศตั้งแต่ Zonic Vision ที่ได้ทั้งรางวัลสถาปัตยกรรมและ Architizer แล้วก็มีในป่าและบ้านคุณเปาที่กำลังจะสร้างเสร็จพึ่งได้รางวัลไป หรือ Kurve7 ที่ปีนี้ก็เพิ่งได้ Architizer อีกหนึ่งรางวัล ก็ค่อนข้างแฮปปี้กับงานที่ออกไป ทีนี้ความยากก็คือก้าวต่อไปจะไปได้ไกลกว่านี้อย่างไร
DBS: เริ่มมองก้าวต่อไปไว้อย่างไร
APICHART: จริงๆ แล้วไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นอย่างไรต่อไป แต่มีความรู้สึกว่าถ้าเกิดมีโอกาสได้ทำงานต่างประเทศ หรือว่าสามารถทำให้ได้เหมือนอย่างคุณอมตะ (อมตะ หลูไพบูลย์ – Department of Architecture) ที่เป็นสถาปนิกคนไทยที่คนต่างชาติก็ยังรู้สึกว่ายังอยากมาจ้างไปออกแบบที่ประเทศเขาบ้าง ไม่เหมือนของเราที่จ้างคนอื่นมาออกแบบตลอด เราก็รู้สึกว่ามันน่าจะสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับวงการดีไซน์ของไทยให้มีชื่อเสียงรู้จักมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เซ็ตเป้าหมายไว้ว่าจะต้องไปถึงไหน คือหลักๆ เราแฮปปี้กับสิ่งที่เราทำอยู่ เรารักในสถาปัตยกรรมสไตล์ที่เราออกแบบแล้วเป็นที่ยอมรับก็ค่อนข้างแฮปปี้แล้ว
DBS: พูดถึงโปรเจ็กต์ Design Competition ล่าสุดที่ Stu/D/O Architects ร่วมกับ ARCHIVE, TROP, และ COOKIES DYNAMO ออกแบบ TCDC ขอนแก่น การมีโอกาสได้ร่วมงานกับดีไซเนอร์ระดับแนวหน้าอย่างคุณป๊อก คบคงสันติ ให้แนวคิดใหม่ๆ หรือพลังงานอะไรกับพวกคุณบ้างเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม
APICHART: สนุกดีครับ ตอนที่ประกวดทาง TCDC อยากได้คนรุ่นใหม่ ไอเดียใหม่ๆ เขาก็โทรมาเชิญเราไป รู้สึกว่าจะมีส่งทั้งหมด 17 ทีม สุดท้ายคนส่งก็น่าจะมีประมาณอย่างน้อยสัก 13-15 ทีม เช่น IF (Intergraded Field), Somdoon Architect, Creative Crews, พอ สถาปัตย์ และก็ออฟฟิศผม คือด้วยความที่เป็นโปรเจ็กต์ที่ต้องประกอบด้วยหลายทีมออกแบบ เลยลองโทรชวนพี่ป๊อกว่ามีโปรเจ็กต์นี้สนใจไหม ซึ่งพี่ป๊อกเขาก็อยากร่วมสนุกด้วย ด้วยสเกลงานหรือการประกวดแบบที่มันไม่ได้มีผลตอบแทน โอกาสที่ไปเชิญพี่ป๊อกมาก็ค่อนข้างเกรงใจเขา แต่เขาก็ยินดีที่จะมาร่วมงานด้วยครับ ซึ่งก็ได้อะไรเยอะเหมือนกัน เช่นวิธีคิดหรือว่าการทำงานของเขามีประโยชน์มาก
DBS: ได้ทราบ comment หรือ feedback เกี่ยวกับงานของเราจากคณะกรรมการบ้างไหมครับ
APICHART: ไม่ทราบเลยครับ จริงๆแล้วพวกเราอยากทราบ comment หรือ feedback จากคณะกรรมการบ้าง อย่างน้อยก็มีประโยชน์ต่อผู้ประกวดท่านอื่นๆ นำมาปรับปรุงแก้ไข และเป็นแนวทางในการพัฒนาผลงานต่อไป หวังว่าน่าจะมีการเผยแพร่ออกมาเร็วๆ นี้ครับ
DBS: ช่วยเล่าคอนเซ็ปต์การประกวดออกแบบ TCDC ขอนแก่น ของคุณให้เราฟังหน่อยได้ไหม
APICHART: คอนเซ็ปต์มาจากคำว่า ‘ล้อมวง’ เราวิเคราะห์ความเป็นอีสานคือความเป็นพื้นถิ่น เรามองว่าการถักสานถักทอ หรือว่าเรือนไทยแบบพื้นถิ่น หรืออาคารแบบยกสูงมีใต้ถุน หรือว่าเอาแพทเทิร์นลายผ้าอีสานมาทำมันดูเหมือนเราเอาคำว่าอีสานมาใช้แบบตรงไปตรงมาเกินไป เรารู้สึกว่าอยากทำอะไรที่มีความเป็นความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ๆ แล้วก็มีความเป็นอีสานจากฟังก์ชัน เราก็เลยมองว่าตอนเขาให้โจทย์มามันจะมีสามฟังก์ชันหลัก แล้วก็ตัวที่ดินมันตั้งอยู่กลางสวนขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีอาคารอีก 7-8 ตึกในอนาคต เขาจะเรียกว่าเป็น Creative Zone ผมก็เลยมองว่าโปรเจ็กต์นี้มันไม่ควรที่จะมีทางเข้าใดทางเข้าหนึ่งเป็นทางเข้าหลัก มันควรจะเป็นตึกที่ทุกคนสามารถเดินผ่านเข้าไปได้ มีทางผ่านทุกทิศทุกทาง เลยกลายเป็นอาคารสามหลังล้อมขอบตรงการซึ่งมันจะเหมือนเปิดมุมมองแล้วทุกคนก็สามารถที่จะเดินเข้าไปเจอฟังก์ชัน จะมานั่งอ่านหนังสือใช้ห้องสมุดก็จะมีพื้นที่ตรงกลางที่เป็น shared space แต่ละส่วนฟังก์ชันหลักสามารถจะ connect ออกมาข้างนอกได้ ก็เลยกลายเป็นคำว่าล้อมวง โดยล้อมวงก็เหมือนเป็นความสนุกสนานของชาวอีสาน ส่วนตัวอาคารหน้าตาก็จะเป็นหลังคาที่มาจากเรือนแฝด เหมือนเราเอาเรือนแฝดมาต่อกันแล้วค่อยๆ บิดจนสุดท้ายเป็นรูปวงกลมแล้วก็เปิดข้างล่างเข้ามา มีความเป็นพื้นถิ่น มีหลังคาในคาแรกเตอร์ของความเป็นไทย มีรายละเอียดการออกแบบหลายๆ อย่างที่ดูเป็นอีสาน แต่จะไม่อีสานในรูปแบบเก่ามาก เป็นอีสานในรูปแบบใหม่ ทันสมัยขึ้นหน่อย ซึ่งตอนที่มีการ brainstorm กับทีมของพี่ป๊อก โจทย์ของเราคือจะทำอย่างไรให้เป็นอีสานสมัยใหม่หน่อย คล้ายๆเพลงอีสานที่เดี๋ยวนี้จะเป็นเพลงอีสานป๊อบ จะไม่รู้สึกว่าอีสานมากๆ เพราะว่าคนอีสานบางคนอาจจะโมเดิร์นกว่าคนกรุงเทพเสียอีก DBS: โดยปกติแล้วชอบทดลองการทำงานกับวัสดุใหม่ๆ บ้างไหม
APICHART: เรียกว่าใช้วัสดุที่ไม่หรูหราฟุ่มเฟือยมากกว่า ส่วนใหญ่จะชอบวัสดุธรรมชาติอยู่แล้ว ก็คือกระจก ไม้ เหล็ก จะเหล็กเจาะรูทำแพทเทิร์นยังไงก็จะใช้เหล็กเลย อะลูมีเนียมนี่ก็ใช้น้อยมาก หรือว่าวัสดุปิดผิวที่แพงๆ ก็ไม่ค่อยได้ใช้ ปกติก็ไม่ได้รู้สึกว่าการใช้วัสดุพวกนั้นมันจำเป็น ก็เลยชอบใช้วัสดุธรรมชาติมากกว่าแต่ถ้าเกิดมีโอกาสได้ทดลองใช้วัสดุใหม่ๆหรือใช้อะไรที่คิดขึ้นมาเองแล้วสามารถสร้างขึ้นมาได้ก็น่าสนุกดีครับ
DBS: สังเกตว่าหลายโปรเจ็กต์ของ Stu/D/O Architects ให้ความสำคัญกับการสร้างสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้ข่มธรรมชาติ แต่เน้นการเก็บรักษาต้นไม้ในพื้นที่เอาไว้ หรือแม้แต่นำต้นไม้แทรกลงไปในอาคารอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น Zonic Vision, Kurve7, บ้านคุณเปา หรือกระทั่งโปรเจ็กต์ล่าสุดอย่าง Naiipa Art Complex สิ่งเหล่านี้เป็นแนวคิดหลักที่ ‘Stu/D/O Architects’ ยึดมั่นเสมอมาใช่ไหม
CHANASIT: ถือว่าเป็นแนวคิดหลักได้เลยครับ เพราะเราเชื่อว่าคนชอบอยู่กับธรรมชาติอยู่แล้ว มันไม่ใช่แค่บ้านที่ต้องใกล้ชิดกับธรรมชาติ ฟังก์ชันอื่นๆ ก็มีประโยชน์ที่คนจะ Access เข้าไปหาธรรมชาติได้ง่ายๆ เผอิญในป่าเป็นโครงการที่ค่อนข้างโชคดีที่เจ้าของเองเขาก็รักต้นไม้มาก แล้วเขาก็มองเห็นคุณค่าของการออกแบบ ไม่ใช่แค่เรื่องของความ Commercial ที่จะให้ขายให้เต็มอย่างเดียว มันก็เลยทำให้เกิดดีไซน์ที่ค่อนข้างมีความเป็นเอกลักษณ์
APICHART: ถ้ามีต้นไม้เดิมอยู่แล้ว เราก็จะพยายามเก็บไว้ แต่ถ้าถามว่าโปรเจ็กต์อื่นๆ ที่มันไม่มีต้นไม้ทำไมเรายังจะเอาต้นไม้ไปใส่ ผมมองว่ามันเกิดจากสองไอเดียหลัก หนึ่งคือคุณดิวไปเรียนต่อที่อังกฤษมาโดยเฉพาะทางเลยซึ่งมันก็จะเป็นเรื่องที่คุณดิวเขาสนใจ มันจะไม่ใช่การติดเครื่องปรับอากาศหรือใช้กระจกหนาๆ กันความร้อน แต่ว่าจะเป็น Passive ซึ่ง Passive การกันของความร้อนของอาคารจะเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ ต้นไม้ก็จะช่วยกันความร้อนได้ดีอย่างหนึ่ง โดยคุณดิวเขาก็จะชอบใช้ต้นไม้มากันความร้อนอยู่แล้ว ผมเองช่วงออกแบบอาคารก็จะทำให้อาคารเข้ากับต้นไม้เพื่อที่จะให้มันกันความร้อน สุดท้ายอาคารหลายๆ หลังหรือส่วนใหญ่ก็จะเป็น Mass ของต้นไม้อยู่ร่วมกับอาคารในลักษณะใดลักษณะหนึ่งอยู่ตลอด
DBS: ในแง่การดูแลรักษาต้นไม้ที่เป็นส่วนหนึ่งกับอาคารมีวิธีการอย่างไร
CHANASIT: หากเป็นการเพิ่มต้นไม้ใหม่เข้าไปในอาคาร จะมีเรื่องของการเตรียมพื้นที่ให้มีระยะที่พอเพียงต่อการเติบโตของต้นไม้ เรื่องแสงสว่าง การออกแบบโครงสร้างไม่ให้รบกวนต้นไม้ แต่ในลักษณะที่มีต้นไม้อยู่แล้ว ก็ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อย่างโครงการในป่าก็มีครูต้อ (ธราดล ทันด่วน) มาช่วยดูในทุกๆ กระบวนการในการออกแบบว่าต้องตัดรากหรือตัดกิ่งอย่างไรเพื่อไม่ให้ต้นไม้ล้ม มันก็มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะครับ
APICHART: เราจะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาช่วยอยู่ตลอด อย่างเช่นถ้าทำแลนด์สเคปบนตึกก็จะมีดีไซเนอร์มาช่วย จริงๆ แล้วมันคอนโทรลไม่ยาก อย่างต้นไม้มันอยู่บนตึกเราไม่อยากให้ต้นไม้มันกว้างไปชนอาคารเราก็สามารถคอนโทรลรากได้ คือเราเตรียมดินเอาไว้ให้มันแผ่ได้เท่าไหร่ตัวใบมันก็จะไปเท่านั้น จะไม่ออกไปมากกว่านั้น มันเป็นธรรมชาติของต้นไม้
DBS: จัดการกับกระบวนการก่อสร้างที่มีความซับซ้อนกว่าการก่อสร้างอาคารทั่วไปอย่างไร
APICHART: ต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้น วางแผนช่วงเวลาให้ดีๆครับ อย่างเช่นถ้าออกแบบให้ต้นไม้อยู่บนอาคาร ต้นไม้ช่วงจะติดตั้งว่าวางแผนเราก็ต้องมาไม่ใช่ จึงจะเหมาะสมไหนสร้างตึกเสร็จแล้วต้นไม้ตายก็ไม่ได้ หรืออย่างโครงการในป่าต้นไม้เป็นสิ่งหลัก ต้นไม้จะไม่ปรับตัวตามเรา ต้นไม้มันอยู่ของมันอยู่แล้ว เราออกแบบเสร็จในกระดาษแล้วก็จริง แต่พอสร้างจริงเราต้องมาปรับแบบตึกเยอะมากอย่างเช่นบันได การออกแบบเป็นรูปตัว L แต่พอสร้างกล่องขึ้นมาเราขึ้นไปดูบนสเปซจริงก่อนที่จะขึ้นโครงบันได เราพบว่าการสร้างบันไดตามแบบมันจะต้องตัดกิ่งทั้งหมด กิ่ง เราก็เลยมาดีไซน์ใหม่ว่าบันไดแบบไหนถึงจะตัดกิ่งน้อยที่สุด เราก็เอาเอ็นมาขึงทำ Workshop กัน ปรากฏว่าทำบันไดตัดเฉียงจากมุมหนึ่งไปอีกมุมหนึ่งตัดกิ่งไม้น้อยที่สุด แล้วก็เกิดสเปซที่น่าสนใจขึ้นมาอีก แถมยังโดนกิ่งเล็กๆ แค่เพียงกิ่ง เดียว
CHANASIT: เพราะตอนออกแบบจะออกแบบเป็นรังวัดแค่ 2 มิติ แต่พอไปจริงๆ มันเป็น 3 มิติ ทุกอย่างต้องแบบปรับหมดเลย
APICHART: ต้องปรับทิศทางบันได แก้ฐานราก แก้เสาเข็มหลบไปมา เรียกว่าออกแบบไปหรือสิ่งที่ทำไปตอนขออนุญาตกับตอนทำแบบประมูลราคา ต้องปรับแก้อยู่ตลอดมันถึงจะออกมาได้DBS: คอนเซ็ปต์หลักของ Naiipa Art Complex มาจากอะไร
APICHART: จริงๆ ก็เริ่มจากการคุยกับเจ้าของว่าเป็นเรื่องของการเก็บต้นไม้ เป็นเรื่องของการอยู่กับธรรมชาติ ก็คุยกันว่าจะสร้างพื้นที่ สร้างสถาปัตยกรรมอย่างไรให้มันไปอยู่กับต้นไม้ได้กลมกลืนที่สุด ทั้งยังมีเรื่องของศิลปะเพิ่มขึ้นมาด้วยจากการที่เจ้าของเองเขาผูกพันกับศิลปะมากพอสมควร คือมีห้องสอนเต้น มีห้องอัดเสียง มีบริษัทออกแบบกราฟิก มันก็เลยเกิดไอเดียที่ว่าเราอยากสร้างคอมมูนิตี้ของคนที่ทำงานดีไซน์ขึ้นมา เหมือนกับว่าให้เขาใช้ชีวิตอยู่ในนี้ เช่นทำงานแล้วคิดไม่ออกก็ออกไปนั่งทำงานที่ร้านกาแฟ หรือออกไปนั่งทำตรงระเบียงที่อยู่ติดกับต้นไม้ เพราะฉะนั้นจริงๆ จุดเด่นของโครงการนี้อยู่ที่ต้นไม้ เราขายต้นไม้เพราะเราคิดว่ามันไม่มีออฟฟิศหรือว่าบรรยากาศที่ไหนในกรุงเทพที่มันใกล้ชิดกับธรรมชาติเท่านี้
DBS: เรื่องการเล่นแสงและเงาของต้นไม้สะท้อนกับกระจก
CHANASIT: มันเป็นเรื่องของการขยายคอนเซ็ปต์ของความเป็นป่าให้มันกว้างขึ้น ก็เลยคุยกันว่าไดอะแกรมของตัว Façade ที่มันล้อมกลุ่มต้นไม้อยู่ เราก็เลือกใช้ที่มันเป็นกระจกที่มีค่าการสะท้อนมากหน่อย ซึ่งพอเข้าไปข้างในมันก็ขยายความเป็นมิติของตัวในป่าให้มันกว้างขึ้น ดูน่าสนใจขึ้น
APICHART: เราอยากเล่นกับความ Contrast ระหว่างเมืองกับป่า รูปด้านอาคารด้านนอกเราใช้เป็นกระจกฝ้าสีขาวๆ เพื่อสะท้อนความเป็นเมืองซึ่งเป็นบริบทโดยรอบ ส่วนทางเข้าหลักที่เป็นแอ่งเป็นหลุมเข้าไปเราใช้เป็นกระจกที่มีค่าการสะท้อนสูงขึ้น เพื่อสะท้อนภาพของต้นไม้ที่อยู่ภายในโครงการ ขยายมิติของความเป็นป่าออกไป
<img class="alignnone size-large wp-image-13449" src="http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/10/Untitled-1-768×1024.jpg" alt="untitled-1" srcset="http://www.daybedsmag check out this site.com/wp-content/uploads/2016/10/Untitled-1-768×1024.jpg 768w, http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/10/Untitled-1-225×300.jpg 225w, http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/10/Untitled-1-1075×1433.jpg 1075w, http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/10/Untitled-1-300×400.jpg 300w, http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/10/Untitled-1-400×533.jpg 400w, http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/10/Untitled-1-600×800.jpg 600w, http://www.daybedsmag.com/wp-content/uploads/2016/10/Untitled-1.jpg 1200w” sizes=”(max-width: 768px) 100vw, 768px” />
DBS: ปัจจุบันมีคอมมูนิตี้มอลล์ใหม่ๆ หรืออาคารสำนักงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย หลายโครงการออกมาก็ประสบความสำเร็จ หลายโครงการออกมาก็ไม่ คุณคาดหวังอะไรกับงานของคุณบ้าง เช่น Kurve7 หรือกระทั่งโปรเจ็กต์ล่าสุดอย่าง Naiipa Art Complex และสิ่งที่จะทำให้โครงการเหล่านี้ดำเนินไปได้ดีในความคิดของคุณคืออะไร
APICHART: ผมมองว่าคนที่จัดการหารีเทลมาลงนั้นคือสำคัญที่สุดครับ มันจะมีบางโครงการที่ยูนิตนี้ให้ใครก็ได้มาเช่าขอแค่ให้เต็มก็พอ ดังนั้นมันก็จะไปได้ไม่ดี ถ้าเขาไม่บาลานซ์หรือจับกลุ่มเป้าหมายให้ถูกมันก็จะมีคอมมูนิตี้มอลล์ที่ไม่ประสบความสำเร็จเยอะมากๆ ซึ่งก็เห็นๆ กันอยู่ แต่สำหรับที่นี่เราไม่ค่อยห่วงเพราะว่าเจ้าของค่อนข้างที่จะเลือกว่าใครจะเข้ามาอยู่บ้าง เพราะบ้านเขาก็อยู่ข้างหลังด้วย
DBS: ปัจจุบันในเขตกรุงเทพและปริมณฑลยังคงมีบางหน่วยงาน ตลอดจนบางโครงการที่มีการตัดต้นไม้ทิ้งให้เราเห็นกันอยู่เรื่อยๆ ในความคิดของคุณมองว่าสถาปัตยกรรมกับต้นไม้ที่อยู่รวมกันแบบนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะมีการเพิ่มจำนวนขึ้นอีกในอนาคต
CHANASIT: ผมว่าการที่เขาเลือกที่จะตัดต้นไม้มันอาจจะไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้รักต้นไม้ แต่ด้วยความที่มันเป็นธุรกิจมันทำให้เขามีเหตุผลของเขาหรือความจำเป็นที่จะต้องทำให้ต้นไม้หายไป การที่เก็บต้นไม้ไว้ก็อย่างที่เรารู้ๆ กันการก่อสร้างก็จะซับซ้อนขึ้น สำหรับผมก็อยากให้โปรเจ็กต์ในป่าเป็นตัวที่แสดงให้เขาเห็นว่าดีไซน์ที่อยู่กับต้นไม้ที่ดีนั้นมันก็ทดแทนเรื่องของพื้นที่ มันเป็นการช่วยให้อาคารเขาขายง่ายขึ้น อย่างที่ไปคุยกับเจ้าของมาเขาบอกว่าแทบไม่ต้องทำการตลาดเลย ด้วยดีไซน์ของเราการตลาดมันมาเองโดยที่เขาไม่ต้องไปหาไปจ้างมาร์เก็ตติ้งเลย
APICHART: โปรเจ็กต์นี้มันจะมี Office Space มาด้วยประมาณครึ่งหนึ่ง ที่เหลือจะเป็น Commercial สมมติว่าเรารื้อต้นไม้ออกหมดก็จะมีพื้นที่ขยายมากกว่านี้ประมาณสองเท่า Office Space ที่ให้เช่าแถวๆ พระโขนงจริงๆ แล้วต่อตารางเมตรให้ได้ 500 – 600 บาท ถือว่าสามารถหาได้แล้ว 800-900 บาทนี่ต้องเริ่มเข้าไปอยู่แถวใจกลางสุขุมวิทได้แล้ว แต่พอเป็นที่นี่ Office Space ราคาเปิดที่ 1,400 บาทต่อตารางเมตร ก็ยังมีคนสนใจมาเช่าเพราะเป็นพื้นที่ที่มีคาแรกเตอร์มาก ไปๆ มาๆ ก็กลายเป็นว่าไม่จำเป็นต้องทำพื้นที่เยอะๆ เพื่อสร้างรายได้ แต่เขาสร้างพื้นที่ที่มีเสน่ห์ออกมาได้ก็จะมีกลุ่มเป้าหมายกลุ่มหนึ่งที่ต้องการครับ
CHANASIT: ผมคิดว่ามันได้ทุกอย่าง มันได้อะไรที่ให้ไปกับสังคมแถวนั้นด้วย มันได้ความเขียวที่ยังเป็นกรุงเทพฯอยู่ ได้จากตัวเจ้าของเองที่เขายังอยู่กับต้นไม้เยอะๆ บรรยากาศของบ้านเขายังดีอยู่ มันก็ได้จากคนที่มาเช่าคนที่มาใช้พื้นที่ไปด้วย ก็เลยรู้สึกว่าคนที่กล้าที่จะได้ทำแบบนี้มันน้อยเลยรู้สึกโชคดีที่ได้ทำ แล้วก็อยากให้มันเป็นโปรเจ็กต์ที่สื่อถึงคนอื่นๆ ที่คิดในเรื่องของ Commercial อย่างเดียวให้คิดแตกต่างออกไปบ้าง
DBS: ในอนาคตถ้ามีโอกาสอยากออกแบบโปรเจ็กต์แบบนี้อีกไหม
APICHART: อยากทำครับ แต่ถ้าถามถึงตอนนี้ให้คิดว่าอยากทำอะไรมันยังตอบไม่ได้ ปกติมันต้องอยู่ตรงนั้นก่อน ให้เห็นต้นไม้ว่ามันเป็นอย่างไร เพราะว่าก่อนที่จะได้ไซต์นี้ก็คงไม่ได้คิดว่าจะมีอาร์ตแกลเลอรีลอยอยู่ มีกระจกเงาอยู่ในอากาศ พอถึงเวลามันจะเห็นว่าอะไรมันต้องอยู่ตรงไหน หรือว่าพี่ดิวอยากทำอะไรกับต้นไม้ไหม
CHANASIT: อยากทำ Museum เพราะว่าเมืองไทยสถาปนิกหลายๆ คนน่าจะอยากทำเพราะว่ามันสนุก มันยังน้อยอยู่ถ้าเทียบกับเมืองนอกที่จะมีอาร์ตแกลเลอรีเต็มไปหมด
DBS: สิ่งที่จะยังคงความเป็น Stu/D/O Architects ต่อไปคืออะไร
APICHART: การออกแบบสถาปัตยกรรมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสอดคล้องและกลมกลืนไปกับต้นไม้และธรรมชาติ
CHANASIT: ผมมองว่าเเนวทางของเรามันไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัวเสียทีเดียว เรามีแนวทางที่ชัดเจน แต่ความแตกต่างของดีไซน์ในแต่ละโปรเจ็กต์มันขึ้นอยู่กับลูกค้า ขึ้นอยู่กับบริบท ขึ้นอยู่กับโจทย์ในแต่ละโปรเจ็กต์ที่แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดก็ยังมีความเป็น Stu/D/O Architects ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละบริบทของแต่ละโปรเจ็กต์ครับ
“สถาปนิกก็เป็นอาชีพๆ หนึ่งที่สามารถทำตึกที่โอเคลูกค้าแฮปปี้แล้ว สร้างได้ใช้งานได้ก็ได้ หรือว่าจะทำโปรเจ็กต์ที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม เป็นสิ่งที่เราภูมิใจก็ได้ ซึ่งทุกโปรเจ็กต์เราจะดันมาทางลักษณะหลังตลอด”
Stu/D/O Architects
คุณโอ๋-อภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ (คนขวา) สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะ (ระหว่างปี 1998-2003) รุ่นเดียวกับคุณดิว-ชนาสิต ชลศึกษ์ (คนซ้าย) นอกจากนี้ทั้งคู่ยังเคยผ่านประสบการณ์การทำงานที่Architects 49 มาด้วยกัน (ระหว่างปี 2003 -2007) ก่อนที่คุณโอ๋จะไปศึกษาต่อด้าน Architecture and Urbanism ที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ในรัฐแมสซาชูเซตส์, สหรัฐอเมริกา (ระหว่างปี 2007-2009) ส่วนคุณดิวไปศึกษาต่อด้าน Sustainable Environmental Design ที่ AA (Architectural Association School of Architecture) กรุงลอนดอน, สหราชอาณาจักร (ระหว่างปี 0082-2010) ในปี 2010 ทั้งคู่กลับมาร่วมก่อตั้งบริษัทสถาปนิก Stu/D/O Architects
‘Naiipa Art Complex’ หรือ ‘ในป่า’ อาคารสำนักงานภายใต้การบริหารงานของ บริษัท จีริศ46 จำกัด ที่ยังคงเก็บรักษาไม้ยืนต้นอายุกว่า 30 ปีเอาไว้ โดยให้ Stu/D/O Architects ออกแบบอาคารให้หลบหลีกอยู่ระหว่างต้นไม้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อต้นไม้ให้น้อยที่สุด ซึ่งในป่าเป็นอาคารที่ได้รับรางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่น ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2559 – รางวัลสถาปัตยกรรมที่สมควรเผยแพร่ (Citation Awards)
บ้านคุณเปา (Pao House) หรือ ‘บ้านช่อง’ บ้านกล่องสูง 4 ชั้น ที่มีลักษณะเหมือนอาคารถูกคว้านสเปซเข้าไปด้านในเพื่อดึงธรรมชาติภายนอกเข้าไปสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับพื้นที่ใช้สอยภายใน ภายนอกโดดเด่นด้วย Façade อาคารที่เกิดมิติของแสงและเงาขึ้นในบริเวณช่องเปิดขนาดใหญ่ และช่องแสงขนาดขนาดเล็กแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งถูกคิดมาอย่างละเอียดให้มีขนาด 0.60×0.60 เท่ากันทั้งหมดจากภายนอก แล้วค่อยๆ ลาดเอียงเข้าไปสู่ภายในตามจังหวะจนเล็กลงเหลือ 0.40×0.40 และ 0.20×0.20 ทั้งยังเป็นบ้านที่ได้รับรางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่น ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี2559 – รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น (Gold Medal Awards)
Kurve 7 คอมมูนิตี้มอลล์บนพื้นที่ขนาด 6 ไร่ ใน ภายในซอยกรุงเทพกรีฑา 7 ออกแบบโดยเน้นความกลมกลืนระหว่างอาคารกับสิ่งแวดล้อม ฟอร์มอาคารมีลักษณะโค้งเป็นคลื่นสลับแนวต้นไม้น้อยใหญ่ เรียกว่าเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ที่มีพื้นที่สีเขียวมากถึง 30% ของพื้นที่ทั้งหมดTCDC Khon Kaen Design Competition โดย Stu/D/O x ARCHIVE x TROP ที่ได้รับการออกแบบคอร์ทกลางให้เป็นพื้นที่ซึ่งถูกล้อมวงโดยห้องสมุด ส่วนจัดแสดง และห้องประชุมสัมมนา ในขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนส่วน extension ที่แต่ละพื้นที่สามารถออกมาใช้ได้อย่างอิสระ
INTERVIEW, DAYBEDS 166
text: นวภัทร ดัสดุลย์
photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ, Courtesy of Stu/D/O Architects