SOMEWHERE ONLY WE KNOW
พื้นที่ความสุขในความแตกต่างระหว่างเราสองคน
Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม
จากคอลัมน์ LIVING SPACE, Daybeds 164
การเป็นคู่ชีวิตกันไม่ได้หมายความว่าต้องชอบอะไรเหมือนกันไปเสียหมดทุกสิ่ง นั่นเองจึงต้องมีการร่างกฎของการอยู่ร่วมกันขึ้นมาแม้ในสังคมเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ เสมือนบ้านหลังนี้ที่เป็นทั้งพื้นที่ถกเถียงและประนีประนอมของคู่ชีวิตต่างความชอบ ระหว่าง คุณปูน–ปวัน ฤทธิพงศ์ และคุณดาว-มนานุช ปฐมวิชัยวัฒน์
คุณปูนเป็นสถาปนิก ขณะที่คุณดาวเป็นมัณฑนากร คุณปูนชื่นชอบในสัจจะวัสดุกับสเปซโอ่โถง ส่วนคุณดาวชอบความกระจุกกระจิกกับพื้นที่แบ่งย่อย โจทย์หลักของบ้านหลังนี้นอกจากการเก็บรักษาโครงสร้างเดิมและการต่อเติมพื้นที่บางส่วนขึ้นใหม่ การหาจุดกึ่งกลางในความแตกต่างดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่น
“บ้านนี้ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี ค่อยๆ เถียงๆ กันจนเสร็จ” คุณดาวเริ่มเปิดศึก “พี่ปูนเขาชอบที่โล่ง สเปซเก๋ๆ ดูโอ่โถง แต่เราอินทีเรียจะชอบอะไรจุกจิก สเปซเล็กๆ แบ่งนู่นแบ่งนี่ ก็เลยจะเถียงกันบ่อยหน่อย”
การถกเถียงในบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งบ้านที่เราเห็นนี้ก็เป็นคำตอบของความต่างในความชอบที่อยู่ในกรอบของความพอดีสำหรับทั้งสองฝ่าย จากหน้าบ้านที่ดูขรึมเท่ผ่านเข้ามาภายในค่อยๆ ลดดีกรีความเข้มลงทีละนิดจนอยู่ในระดับละมุนสายตา ในภาพรวมเรายังคงเห็นสเปซที่โปร่งโล่งโอ่โถงในแบบที่ชายหนุ่มชื่นชอบ แต่ในขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยความกระจุกกระจิกในแบบหญิงสาวพอประมาณ “เรื่องสีเราเหมือนกันเนาะ” คุณปูนถามความเห็นภรรยาเรื่องโทนสีของบ้าน “ใช่ เรื่องสีเราชอบเหมืนกัน” คุณดาวตอบกลับสามี ซึ่งความเห็นของทั้งคู่ลงเอยด้วยดี คือปล่อยให้บ้านมีสีเทาอ่อนๆ เหมือนแคนวาส ดูอบอุ่นสบายตา เพื่อง่ายต่อการมิกซ์แอนด์แมตช์เฟอร์นิเจอร์ใหม่ในอนาคตในกรณีที่เบื่อความจำเจ จนเป็นที่มาของบ้านที่เรียกว่า ‘Grey House’
อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น โจทย์หลักของบ้านหลังนี้คือการเก็บรักษาโครงสร้างเดิมไว้ พร้อมกับต่อเติมพื้นที่บางส่วนขึ้นใหม่ในที่ดินติดกับบ้านของคุณพ่อของคุณปูน โดยในการรีโนเวทบ้านเก่าครั้งนี้ โจทย์ข้อแรกที่คุณปูนและคุณดาวได้รับจากคุณพ่อของคุณปูนผู้เป็นวิศวกร ซึ่งได้ทำการตรวจเช็คสภาพโครงสร้างเดิมของบ้านแล้วพบว่ายังคงมีความมั่นคงแข็งแรง จึงขอให้เพียงแค่ทุบผนังที่ไม่ต้องการทิ้งออกทั้งหมด แล้วออกแบบพื้นที่ใหม่โดยยึดโครงสร้างเดิมเป็นหลัก
โจทย์ข้อที่สองคือเรื่อง Privacy ที่คุณปูนมองว่าด้วยสภาพแวดล้อมในชุมชนนั้นบ้านแต่ละหลังตั้งอยู่ติดกันในระยะประชิดริมรั้ว เขาจึงเลือกออกแบบกำแพงรั้วสีดำขนาดใหญ่และผนังอาคารปิดทึบ เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับบ้าน
และโจทย์ข้อที่สาม คือ Orientation หรือการวางทิศทางของอาคารที่เหมาะสมกับทิศทางของลมและแสงแดด ซึ่งเป็นโจทย์ที่คุณปูนให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เขาเล่าว่า “เราจะทำอย่างไรให้อาคารที่มันตันมาก ไม่อยากให้ใครเห็นจากข้างนอก มันได้ลมได้ ได้แสงธรรมชาติได้ ก็เลยมาตามเทคนิคต่างๆ เช่น ติดตั้งสกายไลท์สองชั้น มีหลังคาจริงที่เป็นสกายไลท์ แล้วก็หลังคาหลอกที่อยู่ด้านในเพื่อเอาแสงธรรมชาติเข้า แล้วก็เปิดสกายไลท์จริง เช่น ตรงห้องนั่งเล่นในทิศที่ไม่ร้อนก็คือทิศเหนือ แดดมันก็จะเข้ามาได้ประมาณหนึ่ง เรื่องลมมันก็เป็นที่มาของแผงดักลมด้านหน้า เราเรียนด้าน Advanced Architecture มาก็เอาความรู้ตรงนี้มาใช้ ซึ่งแผงดักลมถูกดีไซน์โดยคอมพิวเตอร์ว่า มันได้ถูกปรับในองศาที่ถูกต้อง เพื่อที่จะดักลมจากข้างนอกเข้ามาสู่ตัวอาคาร เพราฉะนั้นฝั่งห้องกินข้าวที่มีรูเปิดจากด้านนอก มันจะเป็นช่องดักลมเข้าถึงบ้าน ห้องกินข้าว รวมถึงห้องนั่งเล่น”
ในส่วนการตกแต่งภายในนั้น คุณปูนและคุณดาวมองว่า การเป็นดีไซเนอร์ต้องผ่านกระบวนการทำงานออกแบบ ผ่านขั้นตอนการตกแต่งที่ถูกวางระบบเอาไว้สำหรับทำงานกับลูกค้า ตลอดจนได้พบเห็นสไตล์ที่แตกต่างหลากหลาย ดูเหมือนว่าการกลับสู่โหมดเรียบง่ายจะเป็นทางเลือกที่ทั้งคู่ต่างก็เห็นพ้องต้องกัน โดยมาจบลงที่สไตล์คอนเทมโพรารี ที่มีการซ่อนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในแบบที่พวกเขาเป็น
“พอเราทำเยอะ เห็นหลายแนวเยอะ แล้วเราก็คิดว่ามันน่าจะเป็นอะไรที่ง่ายหน่อยที่จะเป็นของเรา” คุณปูนพูดถึงบ้านในอุดมคติ “ใช่” คุณดาวกล่าวเสริม “พอเป็นบ้านตัวเองกลับรู้สึกว่าอยากได้อะไรที่ไม่ต้องเยอะ อยู่สบายๆ อยู่ได้นานๆ ดีกว่า แต่ถ้าวันหนึ่งรู้สึกเบื่อ อยากจะได้อะไรเยอะขึ้น เราก็เชื่อว่าเฟอร์นิเจอร์ที่เราจะเอามาแมตช์เข้ากับบ้านได้อยู่”
เมื่อการถกเถียงตามประสาสถาปนิกและมัณฑนากรต่างความชอบจบลงด้วยความประนีประนอมของทั้งสองฝ่าย ‘208 Grey House’ จึงกลายเป็นโฮมออฟฟิศสีเทาที่มีส่วนผสมของคู่ชีวิตแห่ง Rad Studios เจือปนลงไปในทุกอณูของบ้านที่ไม่ดิบหรือหวานจนเกินพอดี
“พอเป็นบ้านตัวเองกลับรู้สึกว่าอยากได้อะไรที่ไม่ต้องเยอะ อยู่สบายๆ อยู่ได้นานๆ ดีกว่า”
มนานุช ปฐมวิชัยวัฒน์
คุณปูน–ปวัน ฤทธิพงศ์ สถาปนิก และคุณดาว-มนานุช ปฐมวิชัยวัฒน์ มัณฑนากรแห่ง Rad Studios
ช่องดักลมแต่ละช่องทำองศาไม่เท่ากัน สังเกตว่าบ้านแต่ละหลังภายในซอยแห่งนี้ตั้งขนานกันจนเกิดเป็นช่องลมขนาดใหญ่ขึ้น เพราะฉะนั้นลมก้อนใหญ่ที่พัดผ่านเข้ามาจะถูกแผงที่ยืนตัวออกไปหน้าอาคารช่วยดึงลมกลับเข้ามาภายใน สู่ตำแหน่งเดียวกับหน้าต่างภายในอาคาร ซึ่งจะช่วยให้บ้านมีอากาศที่ถ่ายเทตลอดทั้งวัน
ถัดจากลานจอดรถ คือประตูทางเข้าบ้านซึ่งถูกแบ่งแยกออกเป็นสองฝั่ง ระหว่างพื้นที่พักอาศัยชั้นล่างกับพื้นที่พักอาศัยที่ต้องเดินขึ้นบันไดไปบนชั้น 2 เดิมทีนั้นพื้นที่ชั้นล่างของบ้านตั้งใจสร้างเตรียมไว้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของคุณพ่อคุณแม่ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันถูกปรับมาเป็นออฟฟิศชั่วคราวของ Rad Studios
บริเวณคอร์ดกลางบ้านปลูกต้นสั่งทำ หรือ หูหนู ที่แตกกิ่งเป็นพุ่มสวยงาม คอยให้ความร่มรื่นกับห้องทำงานในออฟฟิศ
สังเกตว่าพื้นที่ส่วนขยายกับโครงสร้างเดิมมีความสูงต่ำไม่เท่ากัน การแบ่งชานเรือนที่ต่างระดับคือการแก้ปัญหาเบื้องต้น ส่วนการตกแต่งภายในสไตล์คอนเทมโพรารี ช่วยให้การเลือกมิกซ์แอนด์แมตช์กับเฟอร์นิเจอร์เป็นเรื่องง่ายขึ้น ทั้งยังสะท้อนตัวตนของผู้อาศัยอย่างชัดเจน
ห้องรับประทานอาหารเน้นแสงธรรมชาติมาช่วยเพิ่มความสว่างให้พื้นที่ภายในไม่รู้สึกปิดทึบ ตกแต่งโดยเน้นความอบอุ่นจากโทนสีและเฟอร์นิเจอร์ไม้ ประกอบกับจัดวางจานสะสมของคุณดาวบนโต๊ะรับประทานอาหารช่วยเพิ่มรายละเอียดให้ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น ในขณะที่มุมห้องประดับต้นไทรใบสัก ไม้ตกแต่งฟอร์มสวยช่วยเติมชีวิตชีวาให้สเปซภายในได้ดีทีเดียว
พื้นที่ทั้งหมดภายในบ้านบนชั้น 2 เน้นการตกแต่งด้วยหินอ่อน กระเบื้องลายไม้จากแบรนด์ COTTO Italia เฟอร์นิเจอร์และงานบิลท์อินที่สั่งทำพิเศษด้วยไม้แอช
ตำแหน่งของห้องครัวตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกจะได้รับแสงแดดเต็มๆ ในช่วงเย็น เข้ามาช่วยให้พื้นที่ทำอาหารไม่อับชื้นจนเกินไป
ห้องนอนมาสเตอร์และห้องแต่งตัวแบบ walk in closet ที่อยู่ในส่วนพื้นที่การรีโนเวทอาคารเก่า ดูกะทัดรัด เหมาะสำหรับคนสองคน เน้นฟังก์ชันเรียบง่ายสำหรับการใช้ชีวิตที่ไม่ต้องการอะไรที่หวือหวา
ห้องนั่งเล่นแบบ Multipurpose ที่สามารถปรับฟังก์ชันการใช้งานได้อย่างหลากหลาย รองรับกิจกรรมหลากรูปแบบที่คุณปูนชื่นชอบ โดยคุณดาวเลือกใช้ม่านเป็นฉากกั้นพื้นที่ซึ่งสามารถรูดม่านปิดทึบเพื่อเปลี่ยนห้องสมุดเป็นห้องชมภาพยนตร์ หรือบางเวลาต้องการอ่านหนังสือหรือนั่งทำงาน ก็สามารถเปิดม่านให้แสงธรรมชาติส่องปะทะเข้ามาด้านใน
ภายในห้องสกายไลท์ที่เชื่อมระหว่างส่วนห้องนั่งเล่น และพื้นที่กลางแจ้งในส่วนต่อเติมบนชั้น 2 จัดวางโต๊ะอเนกประสงค์ที่สามารถปรับฟังก์ชันเป็นบาร์เครื่องดื่มต้อนรับการปาร์ตี้เล็กๆ ยามแดดร่มลมตกช่วงเวลาเย็นๆ ได้ด้วย