SOFT AND SMOOTH
บ้านเรียบละมุนของครอบครัวพิมพ์วิริยะกุล
Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม
ปลายฤดูฝนราวเดือนตุลาคมที่กลุ่มก้อนเมฆเปลี่ยนท้องฟ้าเมืองกรุงเป็นสีดำ Daybeds ฝ่าสายฝนที่โปรยลงมาอย่างไม่ขาดสายมุ่งตรงไปยังบ้านหลังใหม่ของครอบครัวพิมพ์วิริยะกุล ย่านงามวงศ์วาน แม้ในวันที่สภาพอากาศไม่เป็นดังหวัง แต่ถึงกระนั้นความละมุนของแสงไฟที่ส่องสว่างภายในบ้านหลังนี้ก็ไม่ได้มัวหม่นดั่งท้องฟ้าในวันนั้นแม้แต่น้อย จะไม่ให้บ้านแสงละมุนได้อย่างไร เมื่อผศ.ดร.วรรณภา พิมพ์วิริยะกุล หรือ อาจารย์อ้อ เจ้าของบ้านโมเดิร์นหลังนี้เป็นถึงหัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไลท์ติ้งดีไซเนอร์แห่ง With Light ที่มีผลงานระดับประเทศมากมาย
“บ้านหลังนี้ (กว่าจะสร้างเสร็จ) ยาวนานมาก พี่ตู่จะมีไอเดียว่าอยากได้แบบไหนแล้วเราก็มาคุยกัน” อาจารย์อ้อ เริ่มต้นบทบทสนทนาขึ้นในห้องรับประทานอาหาร โดยมีคุณตู่-อธิโชค พิมพ์วิริยะกุล นักออกแบบกราฟิก-นักเขียน แห่งสำนักพิมพ์ช่องเปิด อีกหนึ่งผู้นำครอบครัวคนสำคัญซึ่งนั่งอยู่เคียงข้างพร้อมกล่าวเสริมว่า “พี่ไม่ชอบบ้านที่มีหลังคา”
โจทย์ความต้องการที่ทั้งคู่มีความคิดเห็นตรงกัน คืออยากได้บ้านโมเดิร์น เน้นความโปร่งโล่ง และแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้สอยอย่างชัดเจน อาจารย์อ้อเล่าว่า “ด้วยความที่เป็นคนมีของเยอะจึงต้องทำที่เก็บของที่ไม่มีใครมองเห็น ตู้เก็บของจึงทำบิลท์อิน บ้านเราคงไม่มีตู้โชว์อะไรเยอะแยะเพราะเราไม่ค่อยโชว์ของ ของจุกจิกไม่ค่อยมี ไอเดียที่เราคุยกันตั้งแต่แรกคือเราอยากทำเป็นแกลเลอรีเล็กๆ หน้าบ้าน เดิมไม่ได้คิดว่าจะเป็นผลงานของลูก เพราะเราอยากได้เป็นภาพถ่าย แต่ตอนหลังลูกทำงานศิลปะเยอะมาก ตอนนี้เลยเป็นของเขาไปก่อนแล้วกัน”
บ้านโมเดิร์นความสูง 2 ชั้นครึ่ง เน้นความเรียบง่ายเป็นแกนหลัก มีของสะสมชิ้นใหญ่น้อยชิ้น ชิ้นเล็กชิ้นน้อยยิ่งหาไม่เจอเมื่อสอดส่ายสายตาไปรอบๆ ส่วนหนึ่งเพราะครอบครัวครัวพิมพ์วิริยะกุลใช้ชีวิตกันแบบเรียบๆ ชอบความเงียบสงบ อีกส่วนหนึ่งเพราะบ้านหลังนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเก็บซ่อนของจำเป็นที่ทุกบ้านย่อมมีอย่างเป็นระเบียบ เริ่มจากทางเข้าบ้าน เมื่อเปิดประตูบานใหญ่เข้ามา ด่านแรกที่พบคือผนังเรียบโล่ง เพดานสูงโปร่งสีขาวนวล แขวนงานศิลปะของลูกสาวคนเก่ง น้องปาย พิมพ์วิริยะกุล คล้ายกับแกลเลอรีขนาดย่อมๆ เดินถัดเข้ามาด้านในผ่านห้องรับแขกที่เชื่อมต่อกับคอร์ด ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของบ้านและมีบ่อเลี้ยงปลากับสะพานคอนกรีตเปลือยขัดมันสำหรับเดินข้ามไปยังห้องรับประทานอาหารและแพนทรี นอกจากนี้ยังออกแบบให้มีชานไม้ที่สามารถเดินอ้อมไปรอบๆ บ้านได้อย่างสะดวก
นอกจากนี้พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างยังออกแบบมาเพื่อรองรับการเข้ามาอยู่ของคุณย่าและคุณยายในอนาคต โดยแบ่งห้องนอนของคุณย่าตั้งอยู่บนชั้น 1 ก้าวขึ้นบันไดที่มีราวกันตกที่ได้รับการดีไซน์ให้เป็นชั้นวางหนังสือสีน้ำเงินอย่างโดดเด่นมาบนชั้น 2 แบ่งเป็น 3 ห้องนอนหลัก คือ ห้องนอนของคุณยาย ห้องนอนของน้องปาย และห้องนอนใหญ่ของคุณตู่และอาจารย์อ้ออยู่ ในชั้นเดียวกันนี้ยังมีห้องทำงานเพดานสูงโปร่งที่ติดตั้งหน้าต่างบานกระจกเผยให้เห็นวิวจากภายนอกชัดเจนโดยที่นั่งทำงานแล้วไม่รู้สึกอึดอัด ซึ่งมีประตูอเนกประสงค์สามารถเลื่อนปิดห้องทำงานเพื่อไม่ให้แอร์ออกและสามารถเลื่อนเปิดออกในช่วงเวลาที่ไม่ได้เปิดแอร์ โดยบานเลื่อนนี้ยังมีฟังก์ชั่นทำหน้าที่ปิด-เปิดตู้ได้ในตัวอีกด้วย และถัดขึ้นไปยังมีห้องพระและดาดฟ้าอันเป็นอีกมุมที่เจ้าของบ้านโปรดปราน
“บ้านหลังนี้ฟอร์มโมเดิร์นมาก อาจารย์จึงพยายามทำให้มันอยู่ได้ วัสดุเราเลือกของไม่แพง ด้านบนจะใช้ไม้ ด้านล่างจะใช้กระเบื้อง คำนึงว่ากระเบื้องจะลื่นไปไหม ต้องไม่เอากระเบื้องเงานะ (พี่ตู่กระชับ) การเลือกพื้นห้องทานข้าวเป็นไม้แดงเหมือนกับระเบียง เพราะอยากให้ความรู้สึกมันเชื่อมกัน ส่วนบ้านเราคุมโทนสีแบบ Monotone ขาว-เทา-ดำ แต่สีน้ำเงินมาจากความชอบส่วนตัว เพราะมันมีน้ำหนัก เวลากลับบ้านมาเราเห็นผนังนี้แล้วรู้สึกว่ามันสวย งานอินทีเรียบางทีมันจืดมาก ไม่มีน้ำหนัก ไม่รู้จะมองอะไรเพราะทุกอย่างเด่นเท่ากันหมด เรื่องไลท์ติ้งจึงสำคัญมากๆ หลักการให้แสงในบ้านจะต้องมี 2 แบบ คือ Direct กับ Indirect เพื่อให้สเปซดู Soft อาจารย์จึงทำช่องเก็บแสงเพื่อให้แสงสบายตาแบบ Indirect ที่เหลือจะเป็นแสง Direct แบบ Spot แล้วใช้หลอดไฟ LED ที่ช่วยทำให้บ้านประหยัดพลังงานและสวยได้ บ้านอาจารย์จะมีสวิตช์ซึ่งสามารถปรับระดับความสว่างได้ตามใจชอบ ปรับแสงอารมณ์โรแมนติกให้เหลือเพียงอัพไลท์ ส่วนเสานั้นเป็น Feature หลักของบ้าน อาจารย์อ้อติดตั้งหลอดไฟ LED 2 วัตต์ ฝังพื้นเพื่อเปิดไฟส่องไปปะทะเสาช่วยสร้างบรรยากาศภายในบ้านได้ดี” อาจารย์อ้อกล่าวทิ้งท้าย
“งานอินทีเรียบางทีมันจืดมาก ไม่มีน้ำหนัก ไม่รู้จะมองอะไรเพราะทุกอย่างเด่นเท่ากันหมด เรื่องไลท์ติ้งจึงสำคัญมากๆ หลักการให้แสงในบ้านจะต้องมี 2 แบบ คือ Direct กับ Indirect เพื่อให้สเปซดู Soft อาจารย์จึงทำช่องเก็บแสงเพื่อให้แสงสบายตาแบบ Indirect ที่เหลือจะเป็นแสง Direct แบบ Spot แล้วใช้หลอดไฟ LED ที่ช่วยทำให้บ้านประหยัดพลังงานและสวยได้”
ผศ.ดร.วรรณภา พิมพ์วิริยะกุล
อาจารย์อ้อและน้องปายกับอิริยาบถสบายๆ ที่แพนทรี ซึ่งอาจารย์อ้อตั้งใจว่าจะใช้ทำอาหารกับลูกสาว
งานศิลปะของน้องปาย พิมพ์วิริยะกุล ประดับตามมุมต่างๆ ของโถงทางเข้าและห้องรับแขก ช่วยสร้างชีวิตชีวาให้กับผนังที่เรียบโล่งได้เป็นอย่างดี
บริเวณคอร์ดซึ่งเป็นอีกหนึ่งมุมพักผ่อนของบ้านเลือกปูพื้นไม้แดงและสร้างบ่อเลี้ยงปลากับสะพานคอนกรีตเปลือยเพื่อเป็นทางเชื่อมห้องรับแขกกับห้องรับประทานอาหารและแพนทรีน
บริเวณแพนทรีมีการติดตั้งหลอดไฟส่องสว่างทั้งแบบ Direct และ Indirect ช่วยสร้างบรรยากาศภายในมุมทำครัวและส่วนรับประทานอาหารดูละมุนสายตาและอบอุ่น ทั้งยังช่วยเพิ่มสีสันของอาหารให้ดูน่ารับประทานยิ่งขึ้นได้อีกด้วย
ผนังบิลท์อินสีน้ำเงินที่แซมเข้ามาในพื้นที่ขาว-เทา-ดำซึ่งเป็นโทนสีหลักของบ้าน ช่วยเพิ่มน้ำหนักและความน่าสนใจให้บ้านไม่รู้สึกเรียบจนเกินไป
ผนังที่มีการเสริมฟังก์ชั่นโดยใช้ความหนาของเสาสร้างเป็นตู้บิลท์อินสำหรับจัดเก็บหนังสือและเก็บพ็อกเก็ตบุ๊คจำนวนมากได้เป็นอย่างดี
ห้องพระเชื่อมกับส่วนดาดฟ้าของบ้านเน้นความเรียบโล่งและติดตั้งหน้าต่างเพื่อเปิดช่องแสงรอบทิศทาง
ช่องทางเดินที่มุ่งตรงไปสู่ห้องนอนหลักของน้องปายทางฝั่งขวา และห้อง Master Bedroom ของคุณตู่และอาจารย์อ้อที่อยู่ติดกับส่วนโถงอาคารแบบ double high ceiling ทางฝั่งซ้าย
คอร์ดโอ่โถงสูงโปร่งแบบ double high ceiling มุงหลังคาสกายไลท์ เป็นช่องแสงซึ่งในเวลากลางวันจะช่วยเพิ่มความสว่างให้พื้นที่ภายในได้ดีและไม่ทำให้บ้านรู้สึกทึบตัน
ห้องนอน Master Bedroom ของคุณตู่และอาจารย์อ้อบนชั้น 2
ห้องน้ำโทนเข้มขรึม แฝงความอบอุ่น และตกแต่งโดยลงรายละเอียดอย่างน่าสนใจ