SINGHA D’LUCK CINEMATIC THEATRE / JARKEN
เจาะแนวคิดในการออกแบบและตกแต่งสถาปัตยกรรมภายใน SINGHA D’LUCK Cinematic Theatre โรงละครแห่งใหม่ริมถนนเทพประสิทธิ์ โดยทีมออกแบบจากจาร์เค็น
หลังจากทราบคอนเซ็ปต์การออกแบบสถาปัตยกรรมภายนอกของ SINGHA D’LUCK Cinematic Theatre กันมาแล้วจากบทความก่อนหน้านี้ (THE UNIQUENESS ‘Cinematic Theatre’ วิจิตรจินตทัศน์ เสน่ห์ไทยลุ่มลักษณ์สละสลวย) ก็มาถึงคอนเซ็ปต์การออกแบบภายในของโรงละครแห่งใหม่ของพัทยาที่ใช้เวลาดำเนินการยาวนานกว่า 3 ปีกันบ้าง
จากโจทย์ที่ได้รับคือการออกแบบตกแต่งสถาปัตยกรรมภายในโรงละครให้มีความสัมพันธ์กับตัวอาคารภายนอก และมีความเชื่อมโยงกับเนื้อหาของการแสดง ซึ่งดึงเรื่องราวของความเป็นไทยมานำเสนอในรูปแบบสากล โดยคอนเซ็ปต์จากการแสดงที่นำมาจากตัวละครใน KAAN คือ การพูดถึงการกำเนิดใหม่ของทุกๆสิ่ง หรือ อุบัติ หมายถึงการก่อกำเนิดชีวิตทุกชีวิตที่เกิดขึ้นจากน้ำ จากการเคลื่อนไหว พัฒนาไปสู่การออกแบบดีไซน์ในส่วนรูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกของโรงละคร ที่สื่อสารในคอนเซ็ปต์ MAGIC ILLUTION หรือ ภาพลวงตา ซึ่งอาคารที่ดูเหมือนยกตัวลอยได้ และในส่วนของงานภูมิสถาปัตยกรรมที่ได้นำคอนเซ็ปต์ FLOW มาเป็นลูกเล่นกับพื้นที่ด้านหน้าของอาคาร
สำหรับการออกแบบภายในของ SINGHA D’LUCK Cinematic Theatre รับหน้าที่โดยทีมออกแบบจากจาร์เค็น (JARKEN) ซึ่งได้หยิบยกเอา ‘รำประเลง’ ซึ่งเป็นนาฎกรรมโบราณมาใช้เป็นคอนเซ็ปต์ในการออกแบบ (การรำประเลง ใช้เป็นการรำเบิกโรงในละครชาววังในอดีตเพื่อสิริมงคล และปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกที่จะเป็นอุปสรรคออกไปจากการแสดง)
ทีมออกแบบเผยว่า จากนัยยะที่ได้ของการร่ายรำ แบ่งรายละเอียดที่น่าสนใจออกมาได้ 2 ประเด็น คือ การใช้ผู้ร่ายรำ 2 คน แต่งกายด้วยชุดสีเขียวมรกต สวมหน้ากากสีเหลืองทอง และเขียว เพื่อปกปิดใบหน้าในการแสดง นำไปสู่การสร้างคอนเซ็ปต์การออกแบบ ‘การซ่อน ปกปิด อำพราง’ และ ผู้รำซึ่งกำหางนกยูงสะบัดตวัดไปมาเป็นท่าร่ายรำ นำไปสู่คอนเซ็ปต์ของการออกแบบที่ใช้เส้นโค้งตวัดในการเชื่อมต่อดีไซน์จากภายนอกสู่ภายใน
ทีมออกแบบจากจาร์เค็น ได้หยิบยกเอา ‘รำประเลง’ ซึ่งเป็นนาฎกรรมโบราณมาใช้เป็นคอนเซ็ปต์ในการออกแบบภายในของ SINGHA D’LUCK Cinematic Theatre
ในขณะที่ส่วนของงานตกแต่งห้องน้ำภายในโรงละคร ออกแบบโดยเชื่อมโยงกับคอนเซ็ปต์ FLOW จากตัวสถาปัตยกรรมที่ใช้กระจกเข้ามาในการสร้างภาพลวงตาให้ดูเหมือนอาคารนั้นลอยได้ งานออกแบบในห้องน้ำจะใช้กระจกเข้ามาในงานตกแต่ง ทำให้เมื่อเข้าในบริเวณห้องน้ำ จะเกิดความรู้สึกเหมือนได้หลุดเข้ามาอยู่ในมิติมายากล
นอกจากนี้แต่เดิม ในโรงละครจะไม่มีฝ้า และจะมืดสนิทเมื่อการแสดงเริ่ม ทางทีมออกแบบจึงอยากเพิ่มไฮไลท์บางอย่างก่อนการแสดง โดยใช้ลวดลาย ‘กบิลปักษา’ ซึ่งอ้างอิงกับเนื้อเรื่องการแสดง บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครหนุมาน และปักษา ตัวละครใน KAAN มาเชื่อมโยงกับการตกแต่ง ทีมออกแบบกล่าวว่าในเบื้องต้น ผู้ชมอาจจะเห็นเป็นลายไทยทั่วไป แต่จริงๆ แล้วผนังจะถูกออกแบบโดยการเจาะรูทำเป็นลายต่างๆ โดยเอาสีทองแต้ม และจัดแสงจากด้านบนในการช่วยสร้างบรรยากาศ ให้ผู้ชมได้เตรียมตัวก่อนที่ถึงเวลาที่ละครฉาย เมื่อผนังส่องสว่างจะเป็นการล่อหลอกสายตาคนจากฝ้าและเวทีที่ค่อยๆ มืดลง
จากตัวเมืองพัทยาใต้ จุดมุ่งหมายในการเดินทางของพวกเราต่อไปนับจากนี้ไม่ใช่มีแค่ท้องทะเลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คงต้องเพิ่มสถาปัตยกรรมใหม่ริมถนนเทพประสิทธิ์ SINGHA D’LUCK Cinematic Theatre นวัตกรรมสิ่งก่อสร้างที่ใช้เวลาดำเนินการยาวนานกว่า 3 ปี ระหว่างทีมผู้เชี่ยวชาญจากภาคสถาปัตยกรรม ภาคการแสดง และอีกหลากสาขาวิชาชีพ ผสมผสานไอเดียเกิดเป็นการสร้างสรรค์ใหม่ที่เป็นมากกว่าโรงละคร เข้าไปด้วยเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่มาพัทยาครั้งใดต้องไม่พลาดมาชม
เรื่อง: Mr.Daybeds
ภาพ: ภาพปะชาสัมพันธ์จากจาร์เค็น และ เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม
บทความที่เกี่ยวข้อง: