SERPENTINE SUMMER HOUSES 2016
4 สถาปัตยกรรมในคราบงานศิลปะกลางสวนป่า
ของ 4 สถาปนิกที่ปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ได้อย่างน่าประหลาด
Text: FATT
Photo: สุพรรณา จันทร์เพ็ญศรี, วัทธิกร โกศลกิตย์
เข้าเมืองหลวงทั้งทีการที่จะเยี่ยมชมเพียงแค่ Serpentine Pavilion ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงหลักก็กระไรอยู่ ในวันที่กลับมานั่งอ่านบทความเกี่ยวกับตอนที่แล้วนั้นก็พบว่า ปีนี้ผู้จัดได้เพิ่มนิทรรศการควบคู่กับ Pavilion หลักของ BIG ในชื่อ Summer houses ดังนั้นการเดินทางเข้าเมืองหลวงครั้งที่สอง นอกจากจะเป็นการไปเยี่ยมชมงานของ Bjarke Ingels อีกครั้ง แต่เจตนาหลักคือการไปดู Summer houses อีกด้วย โดยเลือกวันที่แดดดีที่สุดของสัปดาห์ซึ่งสำหรับประเทศนี้แล้ว แสงแดดเป็นสิ่งที่หาดูได้ยาก แม้จะเข้าสู่ฤดูร้อนแล้วก็ตาม
Summer houses ที่เพิ่มเข้ามา มีทั้งหมด 4 งาน โดย 4 สถาปนิกทั้งสี่งานจะได้โจทย์จากการอ้างอิง Queen Caroline’s temple บ้านหลังเล็กๆ ที่ถูกสร้างเมื่อปี 1734 ออกแบบโดย William Kent มอบให้ราชินี Caroline ตั้งอยู่บนเนินท่ามกลางสวนป่า ตั้งอยู่ไม่ห่างกับ Serpentine Gallery มากนัก หากไม่สังเกตอาจจะผ่านเดินผ่านไปได้ง่ายๆ
Summer House ของ Yona Friedman
สถาปนิกทั้ง 4 คนได้แก่ Kunlé Adeyemi, Yona Friedman, Asif Khan และ Barkow Leibinger จริงๆ ทุกงานน่าสนใจหมด เพราะที่มาหรือประเด็นในการยกขึ้นมาทำงานนั้นแตกต่างกัน ในตอนที่สองนี้ขอพูดถึงงานของ Barkow Leibinger เป็นหลัก แต่ก่อนอื่น จะขอยกตัวอย่างงานของ Kunle’ ที่ได้ทำการจำลององค์ประกอบภายใน แต่เป็นการทำ inverse space ของ Queen Caroline’s temple บางส่วนขององค์ประกอบถอดออกมาได้ และส่วนเหล่านั้น ก็ทำหน้าที่เป็นอย่างอื่น เช่นที่นั่ง นอน พิง เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถตามอ่านของคนอื่นๆ ได้ตามเว็บสถาปัตยกรรมชั้นนำทั่วไป อาจจะหายากสักนิดหนึ่งเพราะในโลก social ไม่ค่อยมีคนนิยมกดไลค์และกดแชร์สักเท่าไหร่
Barkow Leibinger สถาปนิกชาวเยอรมันและอเมริกัน คือ Frank Barko และ Regine Leibinger มีผลงานมากมาย รวมถึงงานทางวิชาการรวมถึงเดินสายบรรยายตามสถาบันและมหาลัยชั้นนำในยุโรป งานของเขามีความน่าสนใจทั้งในส่วนวิชาการและการสะท้อนย้อนกลับไปในงานจริงของเขารวมถึง การบรรยายของเขาด้วยเช่นกัน ผลงานที่น่าสนใจของ BL (Barkow Leibinger) ตอนนี้คือ เขาเพิ่งจะชนะการประกวดแบบตึกสูงที่กำลังจะกลายเป็นตึกที่สูงที่สุดในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน
Summer House ของ Kunlé Adeyemi
ต้องขอออกตัวก่อนเลยว่าก่อนที่จะมาดูงานนี้นั้น ได้เห็น presentation ที่น่ารักกุ๊กกิ๊กของ Summer House ของ BL จึงเกิดความสนใจ และได้อ่านบทความอธิบายงานนี้ก่อนที่จะมาสัมผัสงานจริงอันนี้ เนื่องจากถ้าไม่แอบอ่านมาก่อนนั้น ต้องตามความคิดของผู้ออกแบบงานนี้ไม่ทันแน่ๆ
หากเดินจาก Serpentine pavilion ทางทิศเหนือสักสามร้อยเมตร งานแรกที่จะเห็นคือ pavilion ทำจากไม้ ที่มีหลังคาเป็นไม้อัดบางๆ โค้งไปมาโดดเด่นกว่างานอื่นๆ ในครั้งแรกที่พบเห็น พอเดินเข้าไปอีกนิด นอกจากจะเห็นส่วนหลังคาที่โดดเด่นแล้ว ยังมีที่นั่งไม้ที่ไม่ได้เป็นที่นั่งปกติ แต่เป็นที่นั่งที่โค้งไปมา ไม่ได้เป็นไปตามแนวโค้งของหลังคาอีกเช่นกัน ในส่วนของเส้นโค้งเหล่านี้เปรียบเสมือนการเขียนโดยไม่ยกมือ รวมถึงการเขียนแบบฟรีแฮนด์ที่ในสมัยเด็กๆ ที่เราๆ คงเคยได้ทำกันในชั่วโมงศิลปะ
Summer House ของ Frank Barko และ Regine Leibinger สองสถาปนิกแห่ง Barkow Leibinger
นอกจากนี้ตัวงานสามารถแบ่งได้ง่ายๆ เป็น 3 layers แต่ถ้าอ่านในบทความของ BL นั้นจะมีมากกว่า 3 layers ขอเริ่มจากผนังที่ทำการแบ่งศาลานี้เป็นสามด้าน ผนังเป็นผนังไม้โค้งรูปตัว C โดยแต่ละด้านหันหน้าออกให้ผู้ใช้มองไปคนละมุม มุมแรก มองกลับไปทางที่เราเดินมาจาก serpentine gallery มุมที่สองมองไปที่สวนอีกด้านหนึ่ง มุมที่สามมองกลับไปที่ Queen Caroline’s temple และยังสามารถมองเห็นงานอื่นๆ อีกด้วย ต่อมาคือส่วนของที่นั่งในพื้นที่ทั้งสามด้านที่นั่งในแต่ละส่วนนั้นก็แตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือแนวที่นั่งโค้งนั้นมีเพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมที่ต่างกัน ในส่วนสุดท้ายคือหลังคาก็เช่นกัน หลังคาก็เป็นไม้อัดบิดโค้งยื่นออกเป็นชายคา แต่ที่สังเกตได้ง่ายที่สุดคือ ในทุกส่วนของทั้งหลังคาหรือผนังของจะส่วนมีการทำงานร่วมกันในบางจังหวะ ในตอนแรกก็สับสนอยู่พอสมควร แต่กว่าจะมาถึงบ้างอ้อ ก็เมื่อตอนแสงแดดฉายเงาของหลังคาลงมาที่ผนัง ถึงจะเห็นว่าแนวโค้งไปโค้งมาก็ไม่ได้โค้งกันตามอารมณ์ แต่ทั้งสามส่วนนั้นมีบางอย่างที่ทำงานพร้อมๆ กัน ซึ่งมั่นใจได้ว่าต้องถูกคิดมาดีแล้วอย่างแน่นอน ทำให้ประสบการณ์ในทั้งสามส่วนนั้น นอกจากมุมมองที่แตกต่างกันแล้วนั้น ประสบการณ์ใต้ชายคาหรือแม้แต่การนั่งในตำแหน่งที่แตกต่างกัน ก็สัมผัสประสบการณ์ต่างกันออกไป
Summer House ของ Frank Barko และ Regine Leibinger สองสถาปนิกแห่ง Barkow Leibinger
ระหว่างถ่ายรูปนั้นสิ่งที่เห็นและไม่มีการอธิบายในบทความจากสถาปนิกคือ ‘ผู้ใช้’ ผู้คนมากมายเกือบทุกคนจะต้องมานั่งพักชมวิว หรือเด็กๆ ที่ชอบวิ่งเล่นไปมารอบๆ หรือเล่นซ่อนแอบในพื้นที่ระหว่างผนังตัว C ทั้งสามชิ้น บางคนจูงสุนัขมาทักทายกัน เรียกว่าเป็นความอลหม่านที่สนุกสนานภายใต้หลังคาดัดโค้งไปมาแห่งนี้ บางคนก็นั่งสนทนาคุยกันอย่างออกรส แม้แต่คนดูแลของนิทรรศการก็ยังมานั่งคุยกับแขกผู้มาเยือนอย่างเป็นกันเอง ทำให้นึกย้อนกลับไปว่า ผู้ออกแบบเขาจะคิดมาก่อนไว้รึป่าวนะ? เอ๊ะหรือเขาจะตั้งใจให้เกิดกิจกรรมเหล่านี้ขึ้นแต่แรกแล้ว?
สิ่งที่ได้จาก Summer Houses ทั้ง 4 งานสำหรับชาวคณะที่มาร่วมชม คือรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมความสนุกสนานและความโกลาหลปนเป และถึงแม้ว่างานทั้ง 4 ชิ้นจะเล็กและบางทีดูเหมือนงานศิลปะ แต่การที่งานเหล่านี้มีเนื้อหาไม่ได้เยอะมากมาย แต่กลับมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ได้อย่างประหลาด จนมากกว่าเนื้อหาที่กล่าวมาขนาดนั้น ถึงแม้ว่างานบางชิ้นนั้น บางท่านอาจจะไม่เรียกสถาปัตยกรรมได้ด้วยซ้ำ จนนึกถึงประโยคเด็ดประโยคหนึ่งที่เคยอ่านเจอจากบทสัมภาษณ์สถาปนิกท่านหนึ่งว่า “The difference between art and architecture is that nobody fucks with art” (จากนิตยสาร Mark Magazine) ดังเบาๆ อยู่ในหัวก่อนที่ชาวคณะจะเดินออกจากสวนแห่งนี้ไปโดยพกรอยยิ้มที่มุมปากกันเบาๆ
PS: เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ยอดแชร์บนโลก social ไม่ได้เป็นสิ่งบ่งบอกว่างานนั้นจะดีเสมอไป บางทีงานดีๆเพื่อนๆพี่ๆก็ไม่แชร์ ต้องแอบมาเจอด้วยตัวเองแล้วทำได้แค่อมยิ้มขยิบปากมุบมิ๊บก่อนจะไปที่จุดหมายหลักและงานสุดท้ายของการเดินทางครั้งนี้