SEENSPACE HUAHIN
เกาะเกี่ยวผืนทะเล
Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม
Architect: อัครเดช พันธิสุนทร
จากคอลัมน์ BLUEPRINT, Daybeds 164 ฉบับพฤษภาคม
เสมือนว่าอาคารคอนกรีต ‘สมัยใหม่’ ที่คงเอกลักษณ์ของสัจจะจากยุคทศวรรษที่ 60 ได้เดินทางข้ามกาลเวลามาขึ้นฝั่ง ณ อ่าวไทยในปี 2016 โครงสร้างคอนกรีตหนาหนักที่ตระหง่านง้ำออกสู่ผืนทะเล ชวนให้ตั้งข้อสงสัยถึงความดิบว่าอาคารหลังนี้หลงกาลเวลา หรือเป็นดังที่ผู้คนในละแวกเรียกกันเป็นชื่อเล่นว่า ‘ตึกที่ยังสร้างไม่เสร็จ’ กันแน่
ความต้องการสร้างคอมมูนิตี้มอลล์ในบริบทที่แตกต่างจากที่เคยทำ คุณต๋อง – อัครเดช พันธิสุนทร สถาปนิก และประธานบริหาร บริษัท ซีนสเปซ จำกัด หลังจากประสบความสำเร็จกับคอมมูนิตี้มอลล์ในคอนเซ็ปต์เฉพาะตัวที่เจ้าตัวเป็นผู้ออกแบบเองบนที่ดินที่ล้ำค่าของย่านทองหล่อ ‘Seenspace ทองหล่อ’ ก็ได้พกพาเรื่องราวในแบบของตัวเอง เดินทางข้ามภูมิภาค พาพวกเรามาแนะนำตัวกับน้องชายของคอมมูนิตี้ดัง ในชื่อ ‘Seenspace หัวหิน’ คอมมูนิตีมอลล์ใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวพร้อมความชุ่มฉ่ำของเทศกาลสงกรานต์เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในบริบทที่แตกต่างจากพี่ชายของมันโดยสิ้นเชิง
“มันมาจากความรู้สึกที่ว่า ไม่ได้อยากให้เป็นซิตี้มอลล์อีกแล้ว คือตอนทำทองหล่อเสร็จ เราก็มองอยู่แต่ในเมือง แล้วเราก็มีความรู้สึกว่า มันหนีตัวเองไปไม่ได้ คือบริบทมันเป็นอย่างนี้ กรอบมันจึงคล้ายกันมาก มันแค่เป็นการปรับสเปซหนึ่งเป็นอีกสเปซหนึ่ง ซึ่งผมว่าเรื่องราวมันเหมือนเดิม”
แรงบันดาลใจจากการสร้างคอมมูนิตี้มอลล์เดิม ต่อยอดให้ผู้สร้างสรรค์เริ่มมองหาพื้นที่ใหม่ๆ สำหรับไอเดียที่ใครเลยจะคาดถึง เหนือผืนทะเลบนพื้นที่ขนาด 7,200 ตารางเมตร อาคารปูนเปลือยหลังใหญ่ทอดยาวเรี่ยไล่กับเส้นขอบฟ้า นำนักท่องเที่ยวให้เดินทอดน่องผ่านร้านรวงลงไปสู่ชายหาด ที่ถึงแม้ว่าร้านค้าผู้ให้บริการจะยังยกโปรเจ็คขึ้นฝั่งกันได้ไม่ครบเพราะยังเป็นเพียงช่วง Soft Opening แต่สเปซที่เกาะเกี่ยวอยู่บนทัศนียภาพที่ไกลสุดลูกหูลูกตา ก็ทำหน้าที่ดึงดูดผู้คนให้มาสัมผัสกับสถานที่อยู่ไม่ขาดสาย
“พอมันเป็นมอลล์ปุ้บ สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือไลฟ์สไตล์ที่จะเข้ามา นั่นหมายความว่ามันจะมีความหลากหลายของร้านค้า หรือว่ามูฟเม้นท์ของคน ซึ่งผมมองว่าเนื้อหาตรงนี้มันจะเยอะจัด เพราะฉะนั้นตัวสถาปัตยกรรมที่คิดไว้ตอนแรกเลยมันจะต้องเป็นแบบที่เรียบง่ายที่สุด สิ่งที่คิดเยอะและคิดมากที่สุดมันคือเรื่องของสเปซ กับสัดส่วนที่มันเหมาะสม”
บริบทที่อาจจะหาอีกไม่ได้แล้วสำหรับสถานที่เพื่อการจับจ่าย เพื่อรอคอยการมาของร้านค้าที่ต่างจะต้องพกพาเอกลักษณ์ของตัวเองมาบรรจุอยู่ในพื้นที่เหนือหาดหัวหิน การลดทอนองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นจึงเป็นแนวคิดหลักของการสร้างพื้นที่ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนกล่องคอนกรีตที่เก็บงำเรื่องราว รอให้ร้านรวงต่างๆ ได้เป็นผู้แต่งแต้มเติมเต็ม
พื้นที่สลับซับซ้อน ซ่อนอยู่ในเส้นสายที่ชัดเจนของโครงสร้าง เก็บงำอยู่ในเบื้องหลังทางเข้าด้านหน้าที่ทึบตัน พื้นที่ใช้งานอาคารแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่อาคารต้อนรับด้านหน้า ลานร้านค้าตรงกลาง และลานกิจกรรมริมทะเล จากทางเข้าสถาปัตยกรรมต้อนรับผู้มาเยือนด้วยโถงสูงที่ยาวทะลุตลอด 3 ชั้น และโปร่งโล่งรับแสงธรรมชาติด้วยเพดานสกายไลท์โชว์โครงสร้างรังผึ้งอันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของอาคาร พื้นที่ใช้งานยกตัวขึ้นเหนือพื้นถนนเพื่อให้พื้นที่ด้านล่างเป็นพื้นที่จอดรถ และรีเทลของร้านค้าอาหารที่เกาะกลุ่มกัน ก่อนที่จะลาดมาบรรจบกันที่โซนร้านค้าตรงกลาง และให้ผู้ที่มาเยือนเดินผ่านลานและซอกซอยสู่พื้นที่กิจกรรมริมทะเล สถาปนิกตั้งใจเปิดปล่อยให้พื้นที่ในภาพรวมเป็นแบบโอเพ่นแอร์ และเน้นให้อาคารเกาะกลุ่มกันอยู่อย่างสบายๆ ด้วยการใช้พื้นที่เปิดโล่ง ให้ผู้ที่มาเยือนสัมผัสกับอากาศของทะเลหัวหินตลอดเวลาที่ได้ใช้สอยอาคารอยู่ในท่ามกลางแวดล้อมของกล่องคอนกรีต กล่องอาคารแยกตัวจากกันให้ร้านค้าแต่ละหลังโดดเด่นชัดเจน พร้อมกับเมื่อมองกลับไปยังกลุ่มอาคารหลักหลังจากที่ได้เดินลัดเลาะซอกซอยจนทั่วแล้ว สถาปัตยกรรมทรงสี่เหลี่ยมที่ยื่นตระหง่านตัดกับท้องฟ้าสีฟ้าสดใสและพื้นผิวคอนกรีตดิบหยาบยังให้ภาพจำของคอมมูนิตี้มอลล์ที่ไม่เหมือนใคร นอกจากจะไม่รู้เบื่อ ยังได้ยินเสียงห้วงเวลาที่ซัดสาดขึ้นฝั่ง เคาะจังหวะกับร่วมสถาปัตยกรรม ในบริบทของชายหาดหัวหินที่ไหลเวียน
ท่ามกลางการแข่งขันในบริบทของห้วงเวลาปัจจุบัน เราได้เห็นรีเทลดีไซน์สัญชาติไทยหลากหลายไอเดียเกิดขึ้นมากมายทั้งในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด ปฏิเสธไม่ได้ว่าบีชมอลล์ริมหาดแห่งนี้นับเป็นแห่งแรกที่เปิดให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้พื้นที่ได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าจะไม่ได้ต้องการจับจ่ายใช้สอยสิ่งใดก็ตาม Eat, Lay, Play, Relax จึงเป็นคอนเซ็ปต์ของการเปิดสถานที่ให้เข้าถึงได้ง่าย ที่คุณต๋องผู้สร้างสรรค์กล่าวว่าเป็นสิ่งที่ตกทอดและเรียนรู้จากซีน สเปซแห่งเดิม แม้ว่าจะมีสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร แต่ก็ไม่เฉพาะกลุ่มจนจับต้องได้ยาก การดึงเอาศิลปะ สถาปัตยกรรม ดีไซน์ ความคิดสร้างสรรค์ ผสมผสานกับบริบทที่แปลกใหม่ เสนอเป็นอีกประสบการณ์หนึ่งให้กับผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งที่ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในเฉพาะสถานที่ ที่ยังไม่สามารถเห็นได้จากมอลล์ในเมือง
“คอมมูนิตีมอลล์ชื่อมันบอกอยู่แล้ว ว่ามันเพื่อคอมมูนิตี จากที่คนไปแต่ห้างใหญ่ ผมว่าคอมมูนิตีมอลล์มันเหมาะกับคนเมืองมาก มันทำให้ความคิดสร้างสรรค์มันสามารถเปลี่ยนแปลงเมืองได้ มันทำให้เมืองน่าอยู่ ตราบใดที่เมืองมันหนาแน่น มีการจับจ่ายสูง คอมมูนิตีมอลล์มันก็จะเกิดขึ้น ไอเดียใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ มันจะทำให้มอลล์ใหม่ๆ เกิดได้ คือการแข่งขันมันจะไม่ใช่แค่เรื่องสินค้าอย่างเดียว”
การเกิดขึ้นของร้านค้า แน่นอนว่าจุดประสงค์อันดับแรกนั้นก็เพื่อให้ผู้คนเข้ามาจับจ่ายซื้อของ แต่จะดีกว่าไหมถ้าสิ่งที่ผู้คนจะได้รับ จะสามารถชวนให้ตั้งคำถาม หรือแม้แต่กระตุ้นให้ความสร้างสรรค์ที่เชื่อแน่ว่าต้องมีอยู่ในทุกตัวคน ระเบิดออกให้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ เป็นคุณสมบัติที่เป็นพื้นฐานของทุกๆ คน
“คือตอนนี้ทุกๆ โปรดักส์มันเริ่มจะมีความสำคัญเรื่องดีไซน์เข้ามาเกี่ยวเยอะขึ้น ผมว่าคนอาจจะไม่รู้ตัว คือมีความสนใจในงานดีไซน์ ในการออกแบบ มากขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว อย่างเช่นเวลาลูกค้ามาที่นี้ก็บอกชอบ สวยดี แต่หลายครั้งเขาก็บอกไม่ได้ว่ามันเพราะอะไร โอเคเขาจะเข้าใจอย่างไรก็แล้วแต่ เราก็บอกไม่ได้ มันอาจจะเหมือนสร้างยังไม่เสร็จจริง แต่เข้ามาแล้วเขาก็ชอบ” คุณต๋องปิดท้าย
“มันมาจากความรู้สึกที่ว่า ไม่ได้อยากให้เป็นซิตี้มอลล์อีกแล้ว คือตอนทำทองหล่อเสร็จ เราก็มองอยู่แต่ในเมือง แล้วเราก็มีความรู้สึกว่า มันหนีตัวเองไปไม่ได้ คือบริบทมันเป็นอย่างนี้ กรอบมันจึงคล้ายกันมาก มันแค่เป็นการปรับสเปซหนึ่งเป็นอีกสเปซหนึ่ง ซึ่งผมว่าเรื่องราวมันเหมือนเดิม”
อัครเดช พันธิสุนทร
โถงต้อนรับด้านหน้ายกสูง 3 ชั้น โครงสร้างรูปทรงคล้ายรังผึ้ง สร้างเอกลักษณ์ให้กับทางเข้าอาคาร
พื้นที่ระหว่างใต้อาคารส่วนต้อนรับอันเป็นพื้นที่จอดรถและโซนขายอาหารใต้อาคาร ก่อนจะยกพื้นที่ขึ้นสู่โซนร้านค้า และลาดเข้าสู่ชายหาด
ทางลาดสู่พื้นที่ริมหาด พื้นที่ค่อยๆ เปิดโล่งสู่ทัศนียภาพที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา
เส้นสายของโครงสร้างคอนกรีตสูงโปร่ง คลุมพื้นที่ด้วยบรรยากาศแบบโอเพ่นแอร์ เปิดปล่อยให้อากาศของชายทะเลไหลเวียนอยู่ในสถาปัตยกรรม
ความชัดเจนของสถาปัตยกรรม สะท้อนออกมาในโครงสร้างที่ไม่มีเศษเหลือส่วนเกิน กล่องของร้านค้าในยื่นหันหน้าออกออกสู่ทะเล สร้างเอกลักษณ์ให้กับโครงการอย่างตรงไปตรงมา
เส้นสายที่แข็งกระด้างถูกลดทอนด้วยเส้นสายของธรรมชาติจากต้นไม้ ช่วยสร้างภาพที่น่ามองให้กับสถานที่ การใช้พื้นที่สีเขียวร่วมกับอาคารคอนกรีตจึงเป็นอีกเทคนิคที่นักออกแบบตั้งใจสร้างให้กับที่แห่งนี้
โครงสร้างที่มีรูปลักษณ์คล้ายรังผึ้งเหนือฝ้าของโถงสูงที่ทางเข้าอาคาร