สมดุลของบ้านโมเดิร์นกับวิถีชีวิตร่วมสมัย

Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม
Owner: ครอบครัวกุสุมวิจิตร
Architect: เชิงชาย เรียวเรืองแสงกุล จาก Archimontage Design Fields Sophisticated01บ้านของครอบครัวกุสุมวิจิตรหลังนี้ สร้างขึ้นบนที่ดินเปล่าภายในชุมชนขนาดใหญ่ย่านสนามบินน้ำ ที่คุณพ่อบุก อดีตข้าราชการครูและหัวหน้าครอบครัวซื้อเก็บเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน โดยตั้งใจจะมาปลูกบ้านใหม่เพื่อใช้ชีวิตสงบเงียบแถบชานเมืองหลังเกษียณอายุราชการ ปัจจุบันสมาชิกในครอบครัว ประกอบด้วย คุณพ่อบุกและภรรยา พร้อมด้วยลูกชายสองคน ตัดสินใจหลีกความวุ่นวายย้ายถิ่นฐานจากบ้านเก่ากลางกรุงอายุหลายสิบปี มาตั้งรกรากยังบ้านหลังใหม่ที่เพิ่งแล้วเสร็จไปเมื่อปีก่อนได้สักพักใหญ่ตามที่ตั้งใจไว้ ที่นี่เองเราพบความสมดุลของชีวิตร่วมสมัยภายในบ้านสไตล์โมเดิร์นของครอบครัวที่อบอุ่น รวยรุ่มอัธยาศัย และมีเครือญาติแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนไม่เคยขาดสาย แม้กระทั่งในวันที่เรามาเยือนก็ยังเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะจากผู้คนที่คลาคล่ำ

คุณไก่-เชิงชาย เรียวเรืองแสงกุล สถาปนิกจาก Archimontage Design Fields Sophisticated คือผู้รับหน้าที่ออกแบบบ้านขนาดพื้นที่ใช้สอย 330 ตร.ม.ให้ออกมามีรูปทรงที่สวยงาม โปร่งโล่ง เป็นบ้านโมเดิร์นที่แปลกตาแต่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนในการใช้ชีวิตตามวิถีของเจ้าบ้าน คุณไก่เล่าว่า เขาค่อนข้างกังวลเรื่องขนาดและดีไซน์ของบ้านสมัยใหม่ที่แตกต่างไปจากบ้านใกล้เรือนเคียงอยู่ไม่น้อย แต่ในทุกวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านโมเดิร์นหลังเดียวในชุมชนกับเพื่อนบ้านยังคงดำเนินไปอย่างปกติสุข ตามครรลองของชุมชนเรียบง่าย

ทว่าด้วยบริบทแวดล้อมที่ค่อนข้างแออัด การสร้างแนวรั้วจรดปลายที่ดินทั้ง 4 ด้านให้สูงและมิดชิดจึงเป็นหนทางที่จะช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับบ้านหลังนี้ได้มากที่สุด แนวรั้วด้านหน้าตั้งอยู่ชิดกับขอบถนนสำหรับใช้ในการสัญจรเข้าออกในซอย โดยมีโรงจอดรถ แนวต้นไม้ และสนามหญ้าหน้าบ้านเชื่อมต่อกับเฉลียงทางเดินเข้าหลักของบ้านซึ่งจะแยกออกซ้ายและขวา โดยมีโถงทางเดินเชื่อมบ้านทั้งสองฝั่งเข้าหากัน ชั้นล่างฝั่งซ้ายคือห้องนอนใหญ่ของคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ติดกับโรงจอดรถ ส่วนฝั่งขวาคือโถงทางเข้าที่เดินเข้าสู่ภายในบ้านจะพบห้องรับแขกทางด้านขวา บันไดทางขึ้นชั้น 2 ทางด้านซ้าย โต๊ะรับประทานอาหาร ไอร์แลนส์ และแพนทรีบริเวณหัวมุมของบ้าน ส่วนหลังบ้านคือครัวไทยติดแนวรั้วด้านหลัง ซึ่งสามารถเดินเชื่อมกลับมาสู่บริเวณชานเพดานสูงโปร่งที่ปลูกต้นจิกน้ำเป็นศูนย์กลาง เพื่อเสริมศิริมงคลให้บ้านตามความเชื่อแต่โบราณ ส่วนบนชั้นสองฝั่งซ้ายเป็นห้องนอนใหญ่ของ คุณชนินทร์ กุสุมวิจิตร พี่ชายคนโต และด้านขวาเป็นห้องนอนเล็กของน้องชาย คุณชินพิชญ์ กุสุมวิจิตร โดยมีห้องพระขั้นกลางตั้งอยู่ตรงข้ามกับบันไดทางขึ้นเยื้องกับทางเดินออกไปสู่ระเบียงด้านนอก

“ผมชอบบ้านโปร่งโล่ง มองทะลุถึงกัน จึงคุยกับคุณไก่ว่าเรามีกัน 4 คน อยากได้ห้องนอนสัก 3 ห้อง มีห้องนั่งเล่นที่โปร่ง” คุณชนินทร์บอกกับเรา “เดิมแบบบ้านจะเป็นรูปตัว Hเป็นบ้านกล่องไม่มีหลังคา แต่ผมกลัวปัญหาเรื่องความร้อนเลยให้คุณไก่ช่วยปรับเป็นหลังคาทรงจั่ว แชร์กับคนในครอบครัวแล้วทุกคนโอเค เป็นบ้านกึ่งตัว H เหมือนเป็นบ้านสองหลังเล็กๆ ที่มีทางเดินเชื่อม มีห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องเก็บของ และห้องพระ”

10
แม้ภายในที่เน้นความโปร่งโล่ง ดูเรียบง่าย แต่ภาพลักษณ์ภายนอกกลับดูเท่ สะดุดตากว่าบ้านหลังอื่น ๆ ในละแวกเดียวกันอย่างชัดเจน บ้านหลังคาทรงจั่วสีขาวหลังนี้ดึงความสนใจของเราให้มุ่งตรงไปที่แนวผนังสีเอิร์ธโทนซึ่งผ่าตรงกลางตัวบ้านอย่างแปลกตา ทำหน้าที่แบ่งสเปซของบ้านออกเป็นสองส่วนด้วยกัน ทั้งยังเป็นช่องลมผ่านช่วยถ่ายเทอากาศให้บ้านเย็นโดยธรรมชาติ แนวผนังที่เจาะช่องเปิดเป็นทางเดินเชื่อมจากสเปซหนึ่งสู่อีกสเปซหนึ่งนี้ สถาปนิกเลือกใช้วัสดุทนแทนไม้จริงอย่างแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ทาสีเลียนแบบไม้กรุผิวทับผนังอิฐมวลเบาที่ก่อสองชั้นเพื่อให้มีขนาดที่หนาเท่าๆ กันทั้งหมด นอกจากช่วยลดทอนงบประมาณลงมา สีและวัสดุที่เลือกใช้ยังช่วยลดความแข็งกระด้าง เพิ่มจุดเด่นให้งานโมเดิร์นที่เรียบโล่งได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

“เราไม่ได้ต้องการอะไรพิเศษมาก อยู่กันตามที่เราชอบ สบายๆ” ลูกชายคนโตของบ้านอธิบายกับเราบนโต๊ะกลางชานที่ลมหมุนเวียนตลอดวัน “ผมชอบบ้านที่ไม่ต้องทำความสะอาดมากๆ มีเนื้อที่ภายนอกเยอะ เช่นพื้นที่ตรงนี้ เวลามีเพื่อนพี่น้องมาก็นั่งตรงนี้ ห้องรับแขกไม่ค่อยมีใครไปนั่ง เพราะตรงนี้ลมมันจะเย็น”

ในบางครั้งเรามักค้นพบมุมโปรดภายในบ้านโดยบังเอิญ ทั้งที่ก่อนสร้างบ้านตั้งใจจะทำมุมนั่งเล่นไว้อีกมุมหนึ่ง แต่เมื่อเข้ามาอยู่จริงกลับใช้เวลาอยู่ในอีกมุมหนึ่งมากกว่า ดูเหมือนเจ้าของบ้านหลังนี้ก็เข้าทำนองเดียวกัน ไม่ผิดนักหากจะบอกว่าที่นี่คือบ้านสงบเงียบเป็นส่วนตัวที่ได้รับการออกแบบภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณที่ไม่สูงจนเกินไป ซึ่งลงตัวกับความต้องการของผู้อยู่อย่างแท้จริง

Leave A Comment