SAFE HOUSE

PK79 (PRIVATE HOUSE) 01

บ้านกล่องนิรภัย

Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ, นวภัทร ดัสดุลย์
Architect: Ayutt and Associates design (AAd)
จากคอลัมน์ LIVING SPACE 2 – DAYBEDS 161 ฉบับกุมภาพันธ์ 2559 

ท่ามกลางบริบทแวดล้อมอันเงียบสงบจนได้ยินเสียงนกเจื้อยแจ้วแว่วดัง บนที่ดินขนาด 169 วา ติดลำคลองเล็กๆ ในซอยเพชรเกษม 79 ซึ่งภูมิสถาปัตยกรรมร่มรื่นโอบกอดเอาสถาปัตยกรรมทันสมัยมาไว้แนบชิด คล้ายกับว่าสองสิ่งนี้ถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันโดยสมบูรณ์อย่างไรอย่างนั้น จากความตั้งใจของ คุณณุ-พิษณุ กุศลวงศ์ และ คุณหน่อย-วาณี ชาติเศรษฐกานต์ คู่ชีวิตอัธยาศัยดี ที่ตัดสินใจซื้อที่ดินเปล่าผืนนี้เอาไว้หลังปีน้ำท่วมใหญ่ 2553 สำหรับปลูกบ้านเพื่อใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณด้วยกันสองคน ด้วยความชอบบ้านกล่อง อยากให้ทุกอย่างเรียบง่ายที่สุด ไม่ต้องมีเฟอร์นิเจอร์มากชิ้น สำคัญคือเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ โจทย์ความต้องการนี้ถูกถ่ายทอดไปยังสถาปนิกหนุ่มช่างเอาใจใส่ คุณอาร์ต-อยุทธ์ มหาโสม แห่ง Ayutt and Associates design (AAd) จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นบ้านกล่องสไตล์โมเดิร์นที่ถูกอกถูกใจทั้งสถาปนิกและผู้อาศัยในท้ายที่สุด

“ตอนแรกเขาปฏิเสธเรานะ เพราะงานเขาเยอะ แต่เราบอกว่านานแน่ไหนก็จะรอ” คุณณุ อาจารย์สอนวิชาพละศึกษาโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย และอดีตประธานเทคนิคสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย ย้อนเรื่องราวจากจุดเริ่มต้นให้เราฟัง ที่สุดแล้วด้วยลักษณะนิสัยและการพูดคุยกันอย่างถูกคอระหว่างเจ้าของบ้านกับสถาปนิก กลายมาเป็นเหตุและผลให้คุณอาร์ตตัดสินใจรับออกแบบบ้านให้กับคุณณุด้วยความยินดี ผู้ทรงคุณวุฒิแห่งวงการเทควันโดไทยเล่าต่อไปว่า “เราชอบบ้านฝรั่งที่เวลามองเข้ามาข้างหน้าแล้วไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่พอเข้ามาแล้วเป็นโลกส่วนตัว นี่เป็นเรื่องที่ชอบมาก ตอนสร้างใหม่ๆ คนแถวนี้นึกว่าสร้างโรงงาน (หัวเราะ) จนตอนนี้ก็ยังคิดว่าเป็นโรงงานอยู่เลยนะ เขาก็แปลกใจว่าทำไม่มีรถขนของเข้าออก แต่พอเราเปิดไฟก็นึกว่าบ้านรีสอร์ท เพราะกลางคืนก็ดูสวยไปอีกแบบ”

 3คุณณุ และ คุณหน่อย กับอิริยาบถสบายๆ ในห้องนั่งเล่นที่อากาศถ่ายเท เย็นสบายตลอดทั้งวัน

“รับซาลาเปาเพิ่มไหม” เปล่า นี่ไม่ใช่เสียงของพนักงานร้านสะดวกซื้อ แต่เป็นน้ำเสียงอ่อนนุ่มของคุณหน่อย ภรรยาใจดีของคุณณุต่างหาก เธอเชื้อเชิญพวกเรา Daybeds นั่งจิบกาแฟคู่กับซาลาเปารองท้อง ก่อนพาเดิมชมบ้านกล่องนิรภัยพร้อมพูดคุยอย่างเป็นกันเอง “จริงๆ เราชอบอะไรแบบเดียวกันค่ะ ชอบสีขาวดำ” คุณหน่อยเล่าโดยที่คุณณุพยักหน้าเห็นด้วย เธอเล่าต่อไปว่า “ส่วนห้องครัวกับโต๊ะอาหาร อยากได้พิเศษ จึงขอให้คุณอาร์ตออกแบบให้ทำครัวแล้วมองเห็นสามีด้วย (หัวเราะ) เพราะเราอยู่กันแค่สองคน เราให้อาร์ตออกแบบเต็มที่ เฟอร์นิเจอร์อาร์ตก็จัดการหมด บ้านก็จะเรียบร้อยหน่อย” ส่วนคุณณุกล่าวเสริมว่า “เรามีงบไม่เยอะ โชคดีที่ได้สถาปนิกที่ใส่ใจ แล้วก็โชคดีที่ได้ผู้รับเหมาที่ดีมาก ก็ถือเป็นบุญนะ ของแบบนี้มันวัดดวง (หัวเราะ)”

ทว่าบ้านโมเดิร์นส่วนใหญ่มักมาพร้อมผนังกระจกบานใหญ่ ซึ่งขัดแย้งกับความปลอดภัยที่เจ้าของบ้านคำนึงถึงเป็นสำคัญ ประกอบกับบ้านหลังนี้สร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงในการสอนเทควันโดมาตลอดชีวิตของคุณณุ สถาปนิกอย่างคุณอาร์ตจึงต้องควบคุมงบประมาณ การดีไซน์ และการเลือกใช้วัสดุให้อยู่ในกรอบของความดีพอ และพอดีกับโจทย์ความต้องการของผู้เป็นเจ้าของมากที่สุด

“ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ต้องการให้เป็นบ้านกล่องที่กันขโมยได้ บ้านจึงมี 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ หนึ่ง สีขาว เป็นผนังทึบ สอง คือ กล่องที่เป็นระแนงสีขาวที่เริ่มโปร่งขึ้น สาม คือ ส่วนที่มีความเป็นส่วนตัวมากที่สุดคือกล่องสีดำ เราสร้างเป็นวัสดุอะลูมิเนียมที่เจาะรูเพื่อให้แสงเข้าได้ แล้วกันขโมย ต่อให้โจรขึ้นไปอยู่ชั้นสองก็เข้าไม่ได้ คนที่อยู่ข้างในก็เหมือนอยู่ในห้องเซฟ”

อยุทธ์ มหาโสม

คุณอาร์ตอธิบายแนวความคิดในการออกแบบบ้านหลังนี้ให้เราฟังว่า “เนื่องจากบ้านไม่ได้อยู่ในโครงการจัดสรร เขาต้องการให้บ้านกันขโมยได้ การที่จะทำบ้านโมเดิร์นกระจกต้องใหญ่ ต้องโปร่งโล่ง แต่ถ้ามันโปร่งโล่งโจรมันก็ทุบกระจกเข้ามาง่าย ด้วยสเกลบ้านขนาดนี้คงจ้างยามไม่ไหว ก็เลยมาคิดกันว่าเรามีวิธีแบบไหนที่จะทำเหล็กดัดให้ไม่เหมือนเหล็กดัด แต่ด้วยฟังก์ชันแล้วมันยังสามารถกันขโมยได้ เราทำแผงเป็นสีขาวเลื่อนเปิดปิดได้เสมือนเป็นเหล็กดัด ปกติจะไว้ในบ้านแต่เราทำเป็นกึ่งเทอร์เรซที่ดึงเหล็กดัดมาไว้ข้างนอกให้เป็น façade เพื่อที่ให้ดูไม่ได้เหมือนโดนขังอยู่ในกรง ออกแบบให้มีคอร์ตปลูกต้นจิกน้ำ เวลากลางคืนเจ้าของบ้านอยู่ในบ้าน สามารถเลื่อนปิดจะรู้สึกปลอดภัยและไม่อึดอัดเพราะว่ามีระเบียงกับสวนแทรกอยู่”

2

“แผงอลูมิเนียมสีดำ ถ้าอยู่บ้านสามารถเลื่อนเปิด-ปิดเป็นแผงได้ 180 องศา เสมือนไม่มีตัว façade บังวิวอยู่ ตรงนี้คนข้างนอกมองเข้ามาจะมองไม่เห็น เป็นเรื่องของความเป็นส่วนตัว แทนที่เราจะเอาคอนเซ็ปต์ของการกันขโมยอย่างเดียวมาทำ façade คราวนี้เรารวมองค์ประกอบทุกอย่างเลย เสียเงินทำ façade นี้ทีเดียวตอบโจทย์ได้หลายแบบ กันขโมย สร้างความเป็นส่วนตัว บังแดด กันฝนได้ หากพายุเข้า เราปิดประตูอะลูมิเนียมทั้งหมด ฝนสาดเข้ามาน้อย เราเข้าไปอยู่ในประตูกระจกด้านใน เรายังนอนเปิดหน้าต่างได้ ปัญหาของคนไทย บางทีเวลาฝนตกมันเย็น เราอยากนอนกลางวัน หรือนอนกลางคืนโดยไม่เปิดแอร์ แต่เราเปิดหน้าต่างไม่ได้ เพราะพายุมันแรงจะสาดเข้ามาด้านใน การที่ทำชายคายื่นยาวสามารถช่วยได้ นี้เป็นองค์ประกอบ เราทำยื่นยาวออกมา 2.50 เมตร พยายามทอนดีเทลให้เป็นแผ่นบาง ไม่มีคานรองรับ เรียนรู้กับวิศวกรกว่าจะได้ตัวนี้มา จริงๆ โดยทั่วไปวิศวกรอาจไม่ยอมทำ แต่เราศึกษาแล้วมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถยืดได้”

“ชายคามันเป็นการดึงองค์ประกอบเรื่องสภาพแวดล้อมในประเทศไทย บ้านไทยส่วนใหญ่จะเป็นชายคา แต่เราเอาชายคามาทำในลักษณะที่มันทันสมัยยิ่งขึ้น หลายคนจะบอกว่าบ้านกล่องร้อน กันแดดกันฝนไม่ได้ บ้านนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในตอนนี้ที่ AAd ทำมา (ที่สร้างเสร็จแล้วนะ) แต่จะมีหลังอื่นที่กำลังสร้างอยู่ซึ่งตอบโจทย์ได้ดีกว่านี้ สามารถตอบทุกคำถามของความเป็นโมเดิร์นที่ทุกคนเกิดคำถามว่า บ้านกล่องอยู่ไม่สบาย ร้อน ฝนสาด ถามว่าสาดไหม ช่วยได้ เพราะชายคา 2.50 เมตร ถือว่ายาวมาก แต่ยังทำให้เบาอยู่แล้วยังดูเป็นกล่อง แผงอะลูมิเนียมยังช่วยในเรื่องของฝนที่เขามาปะทะ เราก็ยังเปิดหน้าต่างด้านในได้”

กล่าวโดยสรุปแล้วบ้านหลังนี้พื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 350 ตารางเมตร ชั้นล่างจัดวางในลักษณะตัว L แบ่งสัดส่วนออกเป็นห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำ และห้องอเนกประสงค์ด้านในสุดของฝั่งทิศเหนือติดกับลำคลอง อีกหนึ่งอัตลักษณ์ในงานออกแบบของ AAd ที่สังเกตได้ชัด คือ มีการแทรกคอร์ตเข้ามาภายในอาคาร เพื่อทำให้บ้านที่กะทัดรัดรู้สึกกว้างขึ้น เหมือนอย่างที่สถาปนิกว่าไว้ ทุกองศาในบ้านเขาพยายามสร้างมุมมองให้ทั้งหมดของบ้านเอื้อต่อการเห็นต้นไม้ พยายามเลือกใช้กระจกเฉพาะในมุมสำคัญ ใช้งบประมาณในส่วนที่คนมองเห็นและเข้าถึงมากที่สุด เพื่อให้ความรู้สึกที่ว่าบ้านมีราคาแพงขึ้น ทั้งที่จริงแล้วใช้งบประมาณเท่าเดิม

ด้านความปลอดภัยแล้ว บ้านกล่องหลังนี้มีการสร้างแนว Façade ป้องกันรอบทิศทางด้วยผนังปิดทึบ โดยเฉพาะในฝั่งตะวันตกที่ออกแบบโดยไม่มีหน้าต่างเพื่อป้องกันความร้อนเข้าสู่ภายใน ส่วนฝั่งตะวันออกมีการติดลูกกรงเหล็กที่แข็งแรงแน่นหนา แต่ยังช่วยให้หน้าตาของบ้านสวยแบบโมเดิร์นคงเดิม และไฮไลต์สำคัญของบ้านฝั่งทิศเหนือและตะวันออกบริเวณห้องนอนบนชั้นสอง สถาปนิกเลือกใช้วัสดุอะลูมิเนียมสีดำเจาะรูทั่วแผ่นแบบคละขนาด ซึ่งสามารถเลื่อนเปิด-ปิดในลักษณะบานเฟี้ยมได้ตามช่วงเวลาที่ต้องการ ทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้บ้านหลังนี้มีฟังก์ชันที่สมดุลกับการใช้ชีวิตมากที่สุด ที่สำคัญสิ่งที่พบคือพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 350 ตารางเมตร สามารถมองเห็นและเชื่อมต่อถึงกันทั้งหมดราวกับว่าบ้านหลังนี้มีพื้นที่มากกว่า 350 ตารางเมตรเสียอีก 

1หน้าบ้านหันออกทางทิศใต้ มีผนังของรั้วที่สูงเกินระดับสายตาปกติ จึงมอบความเป็นส่วนตัวให้กับเจ้าของบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปิดทั้งประตูหน้าบ้าน และประตูไม้บริเวณห้องนั่งเล่นทั้งหมด ขณะที่หัวมุมฝั่งตะวันตกสถาปนิกสร้างเหล็กดัดเป็น façade ช่วยกันขโมยได้ทางหนึ่ง และเพื่อให้ลมทิศใต้กับทิศเหนือวิ่งเข้าช่องนี้แล้วไหลเข้าสู่ห้องทำงานบนชั้นสองลงไปสู่ห้องนั่งเล่นชั้นล่างได้

   ประตูทางเข้าสู่ห้องนั่งเล่นซึ่งเป็นทางเข้าหลัก ทำจากไม้เนื้อแข็งทาสีดำเพื่อคุมโทนสีโดยรวมไปในทิศทางเดียวกับบ้าน สามารถปิดทึบเพื่อป้องกันขโมยและสร้างความเป็นส่วนตัว หรือเปิดออกทั้งหมดเพื่อระบายอากาศเวลาอยู่บ้าน โดยที่ลมสามารถไหลผ่านทำให้บ้านเย็นโดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้ผู้อาศัยยังสามารถสัญจรเข้าออกได้ถึง 3 ช่องทาง หนึ่ง คือ ประตูทางเข้าหลัก สอง ประตูด้านที่ติดกับโรงจอดรถ หรือ สาม เดินอ้อมไปเข้าด้านหลังตรงระแนงสีขาวบริเวณทางเชื่อมระหว่างเทอร์เรซกับสนามหญ้าด้านทิศเหนือ

4หนึ่งในความขัดแย้งแต่เชื่อมโยง คือจั่วหลังคาทรงสามเหลี่ยมภายในที่แม้ขัดแย้งกับตัวอาคารภายนอกที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยม แต่องศาของเส้นทแยงมุมของหลังคาล้อฟอร์มไปกับราวกันตก อีกทั้งราวกันตกยังล้อฟอร์มมาจากสายคาดเอวในกีฬาเทควันโด นอกจากนี้สถาปนิกยังตั้งใจให้ราวกันตกเป็นเส้นบางๆ มีความโปร่งเรียบ ล้อฟอร์มไปกับราวกันตกริมระเบียงด้านบน

5สถาปนิกเลือกปูพื้นชั้นล่างทั้งหมดเป็นกระเบื้องสีเข้มต่อเนื่องไปจนถึงพื้นบันได ส่วนในจุดหมุนตัวไปจนถึงพื้นที่ชั้นบนทั้งหมดมีการเปลี่ยนอารมณ์มาใช้พื้นไม้สัก ทำให้เกิดความละมุนซึ่งดูเป็นบ้านมากยิ่งขึ้น

6โต๊ะทำงานซึ่งติดกับห้องพระทางทิศตะวันตกเสมือนจุดเชื่อมโยงของห้องเล่นและห้องนอนเข้าด้วยกัน ซึ่งสถาปนิกดึงความเป็นธรรมชาติขึ้นมาบนชั้น 2 คำนึงถึงเรื่องแสงเงาที่ตกกระทบ สามารถมองเห็นต้นไม้ และมีสายลมพัดผ่าน

7 ภายในห้องน้ำเลือกใช้หินจริงในจุดที่ต้องโชว์ความสวย สลับกับเลือกใช้กระเบื้องลายหินอ่อนในจุดที่ไม่เป็นที่สังเกต อีกทั้งมีการขโมยพื้นที่ด้านนอกเข้ามาให้คล้ายกับพื้นที่เชื่อมต่อกัน ห้องน้ำซึ่งมีพื้นทีเล็กจึงดูกว้างขึ้นทันตา

8ส่วนของห้องนอน สถาปนิกตั้งใจสร้างช่องทางเดินแบบมีลำดับขั้น โดยให้ผู้อาศัยเปิดประตูจากบันไดทางขึ้นเข้ามา ผ่านห้องแต่งตัว คอร์ต และเข้าสู่ห้องนอน

9
สถาปนิกอธิบายว่ารูที่เจาะบนแผ่นอะลูมิเนียมนั้นไม่ได้เจาะเพื่อความสวยงามหรือภาษาของงานออกแบบอย่างเดียว แต่มีฟังก์ชันที่ลมสามารถผ่านได้ อะลูมิเนียมกับกระจกเหมือนมี Air Gap เวลาแดดส่องมา ผนังอะลูมิเนียมจะร้อน แต่ลมสามารถผ่านได้ทำให้บ้านเย็นตลอดเวลา อีกทั้งการเจาะรูให้มีขนาดไม่เท่ากันนั้นสอดคล้องไปกับการใช้สอยของคนในบ้าน โดยวัดจากระดับสายตาจะเป็นรูขนาดมาตรฐาน ที่พื้นรูจะเล็กลง เพื่อป้องกันการมองเห็นจากคนที่เดินผ่านไปมาด้านนอก ส่วนรู้ข้างบนใหญ่เนื่องจากบริบทที่ไร้ตึกสูง ดังนั้นจึงไม่มีใครจากข้างบนมองลงมาเห็น แต่ข้อดีคือคนจากในห้องนอนสามารถมองเห็นท้องฟ้า หรือเห็นต้นไม้ได้ทั้งหมด

10บริเวณครัวปลูกต้นจิกน้ำไว้กลางคอร์ต โดยคอนเซ็ปต์ของสถาปนิกคือใช้ปะโยชน์ของต้นไม้ให้คุ้มค่า ต้นไม้ต้นเดียวสามารถแชร์กันได้หลายส่วน ซึ่งคอร์ตตรงนี้สามารถมองเห็นต้นจิกน้ำจากทั้งในห้องครัว ช่องทางเดิน (corridors) ของชั้นล่าง และช่องทางเดินบนห้องนอน

11บริเวณช่องทางเดินที่เชื่อมส่วนห้องครัว คอร์ต ห้องน้ำ และห้องอเนกประสงค์ ขนาบด้วยตู้เก็บของประตูบานกระจก ซึ่งเป็นฟังก์ชันเก็บของใช้จำเป็นไม่ให้รกบ้าน รวมถึงเก็บเซรามิกที่คุณณุชอบสะสมดังที่เขากล่าวว่า “ชอบเซรามิก เราเบื่อเราก็เวียนเอาชิ้นใหม่มาวาง” นอกจากนี้คุณอาร์ตยังอธิบายอีกว่า เวลาที่เจ้าของบ้านทำอาหารอยู่ในครัว แล้วประตูตู้เก็บของเปิดออก องศาในการมองจะสะท้อนเงาของต้นไม้กลางคอร์ตจากเพียงต้นเดียว กลายเป็นเห็นต้นไม้ถึง 4 ต้น

12สถาปนิกออกแบบความสูงของเหล็กดัดให้ไม่สามารถปีนขึ้นไปได้ ซี่ของเหล็กดัดเว้นระยะไม่เท่ากันเพื่อเอ็ฟเฟกต์ที่ตอบโจทย์เรื่องฟังก์ชันที่เป็นเหล็กดัดแต่ดูไม่เป็นเหล็กดัด มีแพทเทิร์นไม่เหมือนลูกกรง และเรื่องของแสงเงาในจังหวะแสงพาดลงบนพื้นจะได้ไม่เห็นเป็นตาราง


บริเวณริมรั้วปลูกต้นแคนาเรียงกัน เพราะแคนาจะโตเร็วและฟู ซึ่งช่วยเป็นกำบังให้กับบ้านแทนการทำรั้วให้สูง

14บริเวณริมรั้วปลูกต้นแคนาเรียงกัน เพราะแคนาจะโตเร็วและฟู ซึ่งช่วยเป็นกำบังให้กับบ้านแทนการทำรั้วให้สูง

PK79 (PRIVATE HOUSE) 02กล่องที่สถาปนิกกล่าว แบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ หนึ่ง กล่องสีขาวส่วนที่เป็นผนังทึบ สอง กล่องที่เป็นระแนงสีขาวซึ่งเริ่มโปร่งขึ้น เสมือนการติดเหล็กดัดให้ไม่เหมือนเหล็กดัด แต่ด้วยฟังก์ชันแล้วยังสามารถกันขโมยได้ และสามารถเลื่อนเปิดหรือปิดได้ตามต้องการ และ สาม กล่องบานเลื่อนอลูมิเนียมสีดำ เจาะรูเพื่อให้แสงผ่านเข้าได้ เป็น façade ครอบทับประตูบานเลื่อนกระจกด้านในอีกหนึ่งชั้น สามารถเลื่อนปิดเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว หรือเปิดออกได้ 180 องศาเพื่อรับวิวภายนอก เสมือนเป็นการรวมองค์ประกอบที่ตอบโจทย์ทั้งป้องกันขโมย สร้างความเป็นส่วนตัว บังแดด และกันฝนได้ไว้ในหนึ่งเดียว

PK79 (PRIVATE HOUSE) 03

อีกนัยหนึ่งสถาปนิกเลือกใช้วัสดุอะลูมิเนียมสีดำเจาะรูทั่วแผ่นแบบคละขนาด ไม่ได้เจาะเพื่อความสวยงามหรือภาษาของงานออกแบบอย่างเดียว แต่มีฟังก์ชันที่ลมสามารถผ่านได้ อะลูมิเนียมกับกระจกเหมือนมีช่องระบายอากาศ หรือ Air Gap เวลาแดดส่องมา ผนังอะลูมิเนียมจะร้อน แต่ลมสามารถผ่านได้ทำให้บ้านเย็นตลอดเวลา อีกทั้งการเจาะรูให้มีขนาดไม่เท่ากันนั้นสอดคล้องไปกับการใช้สอยของคนในบ้าน โดยวัดจากระดับสายตาจะเป็นรูขนาดมาตรฐาน ที่พื้นรูจะเล็กลง เพื่อป้องกันการมองเห็นจากคนที่เดินผ่านไปมาด้านนอก ส่วนรู้ข้างบนใหญ่เนื่องจากบริบทที่ไร้ตึกสูง ดังนั้นจึงไม่มีใครจากข้างบนมองลงมาเห็น แต่ข้อดีคือคนจากในห้องนอนสามารถมองเห็นท้องฟ้า หรือเห็นต้นไม้ได้ทั้งหมด

 

Leave A Comment