ROOM LAB


ห้องทดลองเล็กๆ ของ
ธนพล เสรีดีเลิศ และ อแมนดา โทณะวนิก 

TEXT: ณิชา เตชะนิรัติศัย
PHOTO: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม

ความเรียบง่ายที่แฝงฟังก์ชั่นการใช้งาน การลดทอนวัสดุเพื่อตอบโจทย์ขบวนการผลิต งานออกแบบที่คำนึงถึงประโยชน์การใช้งานและกล้าที่จะให้ดีไซน์เนอร์คิดไอเดียใหม่ๆ ถูกรวมอยู่ใน room lab ห้องทดลองของดีไซน์เนอร์ที่ คุณแม็กซ์-ธนพล เสรีดีเลิศ- และ คุณแมนดี้-อแมนดา โทณะวนิก รังสรรค์ขึ้นมาตอบโจทย์ออฟฟิศในฝันของดีไซน์เนอร์หลายคน ทั้งคู่จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเข้าทำงานกับบริษัทสถาปัตยกรรมชื่อดัง ก่อนจะผันตัวมาเปิด concept store ที่รวบรวมงานดีไซน์ทั้งในและนอก นอกจากนี้ล่าสุดได้เปิดตัวแบรนด์น้องใหม่ที่เต็มเปี่ยมด้วยไอเดียที่ตอบสนองการใช้งาน โดยสร้างสรรค์พัฒนาแบบกับดีไซน์เนอร์ทั้งหมด 7 คน ภายใต้ชื่อ room lab

“การเจาะอะไรต้องเกิดประโยชน์ เกิดฟังก์ชั่น หรือถ้าของเดิมดีอยู่แล้ว ทำไมเราไม่นำมาใช้”

“ตัวแบรนด์ของ room เองถูกแยกออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่ room concept ก่อตั้งเมื่อปี 2001 เป็น concept store ที่เน้นดีไซน์ มีทั้งแบรนด์ของไทยและเมืองนอก มีทีมช่วยกัน select ของมาเป็นดีไซน์ใหม่ๆ ที่เราชอบและอยากได้, room factory เปิดมาประมาณ 3 ปี เน้นเฟอร์นิเจอร์มากกว่าของชิ้นเล็ก ราคาจับต้องได้ไม่ถึงกับ high end และ room lab คือห้องทดลองให้ดีไซน์เนอร์มาทดลองอะไรใหม่ๆ ลองอะไรแปลกใหม่ ที่สามารถแก้ปัญหาในปัจจุบัน เหมือนสนามเด็กเล่นของดีไซน์เนอร์” คุณแม็กซ์ กล่าว

thread chair คือ อาร์มแชร์ที่ถูกจับเอามาออกแบบใหม่ เพื่อความสะดวกมากขึ้น ไม่เกะกะตอนใช้งาน ตัวแขนสั้นไม่ยาวมาก ใช้วางแขน ใช้ท้าวแขนตอนลุก ลุกง่ายขึ้น ฟังก์ชั่นการแก้ปัญหามีแนวคิดจากทางเดินในงานออกแบบอินทีเรีย ที่ต้องการเฟอร์นิเจอร์ที่ประหยัดพื้นที่

skele dining เดิมทีโครงสร้างของเฟอร์นิเจอร์ถูกออกแบบมาสวยและมีฟังก์ชั่น จึงเกิดคำถามทำไมถึงไม่เอาโครงสร้างมาใช้ในงานออกแบบในเมื่อมันสวยอยู่แล้ว เหมือนกับงานสถาปัตยกรรมไทยที่มีการโชว์โครงสร้างของคานที่รองรับ นอกจากนี้สัดส่วนความสูงของโต๊ะยังสอดรับกับสรีระความสูงของคน

baan chair นำคาเเรกเตอร์ของบ้านทรงไทย จำพวก ข้อต่อ การเข้าเดือย มาใช้ในงานและคำนึงถึงการนั่งที่ง่ายและสบาย ถูกออกแบบให้มี 3 ขา ทำให้ใช้งานง่ายและไม่เกะกะ โดยคำนึงถึงการใช้งานเพื่อประหยัดพื้นที่และคุ้มค่าในขบวนการผลิต มีการพัฒนาแบบหลายครั้งเพื่อให้ได้จุดสมดุลในการนั่ง

room lab เป็นเหมือนห้องทดลองให้ดีไซน์เนอร์ได้ทดลองและผลิตสินค้าออกมาวางขาย โดยผลงานที่ room lab ทำออกมาตอบสนองการแก้ปัญหาผ่านงานดีไซน์ โดยผ่านรูปแบบที่เรียบง่ายและลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่าย

“ตัว room lab เองเปิดมาประมาณ 1 ปี แต่กว่าจะได้ผลงานออกมาให้ชื่นชมอาจจะช้า เพราะเราให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ถือเป็นคาเรกเตอร์หลักของแบรนด์ การคิดคอลเลกชั่นของที่นี่จะไม่ตายตัว มีแรงบันดาลใจหลากหลาย เราเปิดโอกาสให้ดีไซน์เนอร์สามารถใส่ไอเดียได้เต็มที่ คนไม่ได้ซื้อทีละหลายชิ้น คนซื้อทีละชิ้นเดียวอยู่ดี เราเลยมองว่างานต้องเน้นความมินิมอล เรียบง่าย แต่ต้องแก้ปัญหา และมีลักษณะเฉพาะที่ไม่ต้องหน้าตาประหลาดกว่าคนอื่น ใช้ได้จริงมีคุณค่าในงานดีไซน์”

“การคิดคอลเลกชั่นของที่นี่จะไม่ตายตัว มีแรงบันดาลใจหลากหลาย เราเปิดโอกาสให้ดีไซน์เนอร์สามารถใส่ไอเดียได้เต็มที่”

trim working โต๊ะทำงานที่ถูกออกแบบให้เรียบง่ายและสามารถซ่อนความไม่สวยของสายไฟได้ด้วย และมีการเพิ่มบางส่วนขึ้นมาเพื่อทำให้เกิดฟังก์ชั่นที่แปะกระดาษ ที่วางไอแพด แต่ยังคงความเรียบง่ายตามภาพลักษณ์แบรนด์

pebble table เฟอร์นิเจอร์ outdoor รองรับการใช้งานนอกสถานที่100% ถูกคิดค้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำขังตอนฝนตก ลายแพทเทิร์นโต๊ะรองรับให้น้ำผ่านได้แรงบันดาลใจจากลวดลายของหิน และใช้เทคนิกเลเซอร์คัทตามร่อง มีการซ่อนดีไซน์ใส่ร่มได้และสามารถถอดได้เมื่อไม่ใช้งาน

swing bench รวมฟังก์ชั่นที่วางรองเท้าและที่นั่งเข้าด้วยกัน โดยคำนึงถึงพื้นที่จำกัดเหมาะกับพื้นที่ปัจจุบันที่มีจำกัด ปรับเปลี่ยนหน้าตาให้น่ารักขึ้นโดยมีการสอดแทรกเชือกมาสร้างเป็นลายกราฟิก โดยได้ไอเดียมาจากชิงช้า และ trim dressing unit คือ work-in-closet ขนาดย่อมเยา เป็นทั้งที่แต่งหน้าแต่งตัว แขวนเสื้อ เก็บของ วางของ รวมความสามารถในตัวเดียว โดยตัวดีไซเนอร์คำนึงถึงประโยชน์ใช้งานเป็นสำคัญ

 

Leave A Comment