RESEARCH & INNOVATION FOR SUSTAINABILITY CENTER
ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
Text: วราภรณ์ พวงไทย
Photo:ฉัตรชัย เจริญพุฒ
ชื่อของ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต โด่งดังเป็นที่รู้จักทั้งในฐานะอาจารย์ หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมธีส่งเสริมนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาปนิก นักประดิษฐ์ ยังไม่นับรวมบทบาทของการเป็นที่ปรึกษาให้กับทั้งภาครัฐและเอกชนอีกหลายแห่ง ซึ่งบทบาทต่างๆ ล้วนทำเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อความยั่งยืน นับตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว หลังพกปริญญาเอกจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) กลับสู่เมืองไทย
“สภาวะของโลกใบนี้มันแย่มาก ผมอยากให้โลกนี้ดีขึ้น ใครจะทำหรือไม่ ผมไม่รู้ แต่ผมมีความสุขที่ได้ทำ และอยากให้ทุกคนช่วยกันลงมือทำด้วย โลกมันคงไม่ดีขึ้นหรอก แต่อย่างน้อยมันก็จะไม่แย่ไปกว่าที่เป็นอยู่นี้”
เราพบกับดร.สิงห์อีกครั้ง ในอีกหนึ่งบทบาท โดย Daybeds ได้รับเกียรติให้เข้าชมสถานที่ ที่เราเรียกว่าจะกลายเป็นอีกหนึ่ง “ปรากฏการณ์” ที่น่าจับตามองที่สุด ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นของขวัญในวันคริสต์มาสให้กับคนไทยทั้งประเทศ
ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center) หรือ RISC คือสถานที่ดังกล่าว และแน่นอนว่าดร.สิงห์ คือหัวเรือสำคัญ ในฐานะหัวหน้าคณะที่ปรึกษา
ภายในพื้นที่ขนาด 1,000 ตารางเมตร บนชั้น 4 ของอาคารแมกโนเลีย ราชดำริ เมื่อเปิดประตูบานใหญ่เข้าไป ภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้า ทำให้เรานึกถึงฉากในภาพยนตร์ SCI-FI อันน่าตื่นตาตื่นใจ ต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ปลูกอยู่ตลอดสองทางเดิน บางส่วนใส่กระถางกลับหัวแขวนติดอยู่บนฝ้าเพดาน และขณะที่อีกบางส่วนกำลังถูกทดลองอยู่ในตู้ทำความเย็น
ดร.สิงห์พาเราเดินเข้าไปด้านใน ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ ที่กำลังขะมักเขม้นตกแต่งพื้นที่ให้สมบูรณ์แบบ ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการ พื้นที่ขนาดใหญ่ ให้ความรู้สึกโปร่ง โล่ง สบาย สามารถมองเห็นวิวเมืองได้เต็มตาจากกระจกบานใหญ่ที่กรุอยู่โดยรอบ พื้นที่ใช้สอยถูกแบ่งตามฟังก์ชันการใช้งานโดยไม่ต้องปิดกั้น เว้นแต่เฉพาะห้องสำหรับงานวิจัย
บทสนทนาเริ่มต้นขึ้นในห้องประชุมใหญ่ ที่ผ่านการวิจัยมาอย่างละเอียดยิบ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิห้อง คน แรงลม อาคาร ฯลฯ โดยใช้นวัตกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
-ถ้าให้แบ่งบทบาทหลักๆตอนนี้ ดร.สิงห์ มีกี่บทบาท
ตอนนี้ผมมี 3 บทบาทที่แตกต่างกัน หนึ่งเป็นอาจารย์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บทบาทนี้ต้องสอนนักศึกษา ผมคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรให้นักศึกษาเก่งขึ้น คิดนอกกรอบเป็น ผมจึงเปิด Scrap Lab เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และปฏิบัติได้จริง สองเป็นนักประดิษฐ์ ที่ทำสิ่งประดิษฐ์เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องคุณภาพชีวิตต่างๆ สามเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับความยั่งยืน ทั้งภาครัฐและเอกชนหลายๆ แห่ง ในบทบาทของการเป็นที่ปรึกษา เมื่อให้คำปรึกษาไปสักระยะหนึ่ง ผมเริ่มรู้สึกว่าต้องระมัดระวังให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะใช้เวลาในการคิดเยอะ แต่กลับไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เช่น อากาศก็ยังมีมลพิษ บริษัทวัสดุก่อสร้างทำของจากรีไซเคิลก็ไม่นำไปใช้ เป็นต้น
จาก 3 บทบาท ผมเริ่มผนวกกันว่าถ้าเราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งกับค่ายเอกชน หนึ่งคือต้องทำให้การศึกษาดีขึ้น สองสิ่งประดิษฐ์หรือการวิจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมดีขึ้น และสามต้องนำไปใช้จริง ถ้าไม่ใช้จริงก็เป็นเพียงแค่การปรึกษา หันไปนอกหน้าต่าง มลพิษก็ยังเหมือนเดิม แล้วที่ปรึกษาไปอยู่ตรงไหน ไม่เห็นก่อให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
-จุดเริ่มต้นของศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เกิดขึ้นได้อย่างไร
ในปี 2016 บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวลล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ติดต่อให้ผมไปเป็นที่ปรึกษาทางด้านการวิจัย ผมก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้แตกต่างจากงานวิจัยปกติในมหาวิทยาลัย และอาจารย์ที่เป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์สามารถนำงานไปใช้กับงานที่มีผลกระทบจริงต่อโลกได้ ซึ่งบริษัทแมกโนเลียมีดีพาร์ทเมนท์หนึ่งที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้าง ระบบอาคารที่เน้นความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ทีนี้ถ้าเราจะก้าวต่อไปคืออะไร ในเมื่อเขามี For All Well Being เพื่อความสุข เพื่อสุขภาวะของการก่อสร้างและสรรพสิ่ง ในขณะเดียวกันแมกโนเลียมีตึกมากมายที่กำลังจะก่อสร้าง ผมจึงคิดว่าถ้าเราทำศูนย์วิจัยขึ้นมา แล้วมีพื้นที่ที่ให้เราได้นำสิ่งที่วิจัยไปใช้ได้จริงจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศ แต่ด้วยความที่ผมเป็นทั้งอาจารย์และนักวิจัยอยู่แล้วด้วย ฉะนั้นถ้าจะเอาตัวเรามาสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง มันดูไม่เป็นประโยชน์กับประเทศ ผมจึงคุยกับทางเจ้าของแมกโนเลียซึ่งมีความคิดเห็นที่ตรงกันคือ บริษัทนี้มีความตั้งมั่นที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมอยู่แล้ว โดยนำเงินสองเปอร์เซ็นต์จากยอดขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งยังไม่หักต้นทุนมาทำประโยชน์เพื่อสังคม จากนั้นผมก็เริ่มคุยกับอาจารย์นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศอย่างจริงจัง โดยมีสโลแกน For All Well Being ของบริษัทแมกโนเลีย เป็นจุดเริ่มต้นทำวิจัยเพื่อให้ความรู้กับสังคม โดยไม่ปิดกั้น ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้ามาใช้ได้ เพราะมาจากความตั้งมั่นว่าถ้าเราทำแล้วไม่ให้คนอื่นใช้โลกเราก็ไม่ดีขึ้น แต่ถ้าเราทำแล้วทุกๆ คนมาใช้ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นิสิต นักศึกษา อาจารย์ วิศวกร สถาปนิก นักออกแบบ หรือแม้แต่อสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ มาใช้ ก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้ตึก คอนโดดีขึ้นทั้งระบบ
–ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนแห่งนี้ แบ่งพาร์ทการวิจัยเป็นอะไรบ้าง
เราวิจัยทุกสรรพสิ่ง ที่ทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีต่อโลกอย่างยั่งยืน สรรพสิ่งไม่ใช่คนอย่างเดียว ที่แน่ๆ ก็ไม่ใช่ Human Centric แกนสำคัญ คือเรื่อง Well-Being และ Sustainability ฉะนั้นเราจึงเชิญนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากทุกองค์กรที่มีองค์ความรู้ทั้งในและต่างประเทศมาร่วมงานด้วย เช่น ถ้าจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น เราก็ต้องทำวิจัยเรื่องสมอง โดยจับมือกับเบเคส ที่โทรอนโต ซึ่งเชี่ยวชาญด้านนี้ ถ้าทำวิจัยเรื่องป่าว่ามีผลกระทบอย่างไรต่อสุขภาพ ต่อระบบการไหลเวียนเลือด ต่อภาวะความเครียดของคน เราก็จับมือฮาร์วาร์ด สคูล ออฟ พับลิค เฮลท์ ถ้าทำวิจัยเกี่ยวกับโลว์คาร์บอน พลังงานทางเลือก เราก็จับมือกับ MIT เป็นต้น
-งานวิจัยที่ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนอยากทำในอันดับต้นๆ คืออะไร
หนึ่ง ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ฉะนั้นเราอยากทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับความเข้าใจสรีระของคนสูงอายุให้มากขึ้น เพราะครั้งสุดท้ายที่มีการวิจัยสรีระของคนสูงอายุ คือเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว และทุกคนยังใช้ผลการวิจัยนั้นอยู่จนถึงปัจจุบัน ไม่มีการอัพเดท ทางศูนย์วิจัยของเราจึงลงทุนเยอะมาก กับการศึกษาสรีระร่วมกับอาจารย์นักวิจัยจากจุฬา การศึกษาสรีระไม่ใช่วัดตัวคนอย่างเดียว แต่ต้องขยับร่างกายด้วย ฉะนั้นเฟอร์นิเจอร์ ประตู ฯลฯ ต้องเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของสรีระด้วย
สอง ที่นี่จะเป็นศูนย์รวมอีโค่แมททีเรียลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เพราะไม่มีใครรวบรวมไว้ สถาปนิก อินทีเรีย สามารถเข้ามาเลือกใช้ได้เลย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สาม การวิจัยเรื่องอาคารที่ถูกสุขภาวะ ซึ่งพื้นที่ 1000 ตารางเมตรของศูนย์วิจัยนี้ ถูกควบคุมระดับแสง ความเร็วของลม คุณภาพอากาศ หรือแม้กระทั่งแพตเทิร์นการเดิน ก็ถูกเก็บประมวลไว้หมด ฉะนั้นทุกอย่างจะถูกปรับเปลี่ยนได้ เมื่อเราพบว่ามันไม่มีประสิทธิภาพแล้ว หรือไม่มีประสิทธิภาพเพราะอะไร
สี่ เรื่องต้นไม้ภายในอาคาร กรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีต้นไม้แล้ว ทุกคนก็อยากมีต้นไม้ใกล้ๆ ตัว เราจึงทำวิจัยเรื่องต้นไม้ในอาคารด้วย
-ภายในศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน แบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็นกี่โซน มีอะไรบ้าง
มีทั้งหมด 7 โซน เริ่มจากโซนล็อบบี้ลงทะเบียน โซนทดลองต้นไม้ โซนอีโค่แมททีเรียล โซนเดมอนสเตชั่นฮอลล์ ซึ่งโซนนี้จะนำข้อมูลต่างๆ เช่นคุณภาพอากาศ งานวิจัยใหม่ๆ จากทั่วโลก ยิงขึ้นจอขนาดใหญ่เพื่อให้นักวิจัยรับรู้ว่าตอนนี้มีงานวิจัยอะไรเกิดขึ้นบ้าง เราต้องไม่ตกข่าว ต่อมาเป็นคาเฟ่โซน ซึ่งคาเฟ่โซนนี่สำคัญมาก เพราะปัจจุบันคนชอบทำงานตามร้านกาแฟ เราจึงต้องการศึกษาการใช้งานร้านกาแฟว่า จริงๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่ มันช่วยในเรื่องการลดภาวะความเครียดได้จริงมั๊ย โซนต่อมาคือโซนที่จะทำงานร่วมกัน ซึ่งเราไม่อยากใช้ห้องประชุมที่เป็นทางการ เพราะอยากให้คนรู้สึกออกจากกรอบ ปลดปล่อยมากขึ้นและคุยกันแบบสบายๆ มากขึ้นโดยไม่ต้องกลัว เพราะเราไม่มีแผงกั้น แต่เราใช้นวัตกรรมที่เวลาพูดคุยกัน กลุ่มอื่นๆ ที่นั่งอยู่ใกล้ๆ จะไม่ได้ยินว่าคุยเรื่องอะไรกัน ทำให้มีความเป็นส่วนตัวมาก โซนสุดท้ายสำคัญที่สุดคือ ห้องสำหรับทำการวิจัย พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด
-สิ่งที่คาดหวัง
เราหวังว่า ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนนี้ จะเป็นสถานที่รวมตัวกันของคนที่มีความคิดและอยากทำเรื่องสุขภาวะอย่างยั่งยืนมารวมตัวกัน มาคิด มาทดลอง มาคัดสรรวัสดุที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม มาวางแผนการวิจัย ไม่ใช่เพื่อตัว