RATCHADAMNOEN CONTEMPORARY ART CENTER
“อาร์ตสเปซร่วมสมัยในกลิ่นอายของประวัติศาสตร์”
Text: Boonake A.
Photo: ภคนันท์ เถาทอง
ในประเทศไทยผมเชื่อว่าเรามีอาร์ตสเปซ อาร์ตแกลอรี่ กระจายอยู่มากมายหลายแห่งทั่วประเทศ ทั้งในรูปแบบที่เปิดกันเป็นสาธารณะอย่างโออ่า หรือรูปแบบอินดี้อาร์ตขนาดเล็กที่ซุกซ่อนอยู่ตามซอกหลืบเหมือนเป็น Hidden Gem ท้าทายให้เราค้นหาหนทางในการเสพศิลป์อย่างลึกลับ
แต่ลองคิดดูว่าจะมีอาร์ตแกลอรี่ซักกี่แห่งที่ถูกนำมาตั้งเอาไว้กลางเมือง ในจุดที่เป็นชัยภูมิที่ดีที่สุดอย่างถนนราชดำเนิน แถมอาคารที่ถูกใช้เป็นพื้นแกลอรี่ยังเคยเป็นอาคารระดับสมบัติชาติที่อยู่เคียงคู่กับประวัติศาสตร์ไทยในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงมาอย่างยาวนานนับเป็นเวลาเกือบหนึ่งศตรวรรษ
อาร์ตแกลอรี่ที่ว่านี้ก็คือ “หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน” ที่ถูกสร้างขึ้นโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมนั่นเอง ด้วยเหตุผลข้างต้นก็คงมีน้ำหนักมากพอที่เราจะนำอาร์ตสเปซแห่งนี้มานำเสนอในคอลัมน์ Creative Space และเราเชื่อว่าคุณค่าในมวลรวมภายในสถานที่จะทำให้คุณได้ตื่นตาตื่นใจไปกับทุกสิ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในหอศิลป์แห่งนี้
ก่อนที่จะไปพูดถึงรายละเอียดเชิงลึกของหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ความน่าสนใจอย่างแรกที่เข้ามาปะทะกับความรู้สึกของเราอย่างจังเป็นอันดับแรกก็คือตัวอาคารอันเป็นที่ตั้งของศิลปะสถานแห่งนี้
ต้องบอกเลยว่าอาคารอันเป็นที่ตั้งคือร่องรอยและหลักฐานที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ในยุค Modernization ที่สำคัญมากชิ้นหนึ่งของสยามประเทศที่วิวัฒน์ต่อมาเป็นประเทศไทยในปัจจุบันในความตั้งใจไม่อยากเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของอาคารให้ดูจริงจังจนออกแนววิชาการมากนัก เอาเป็นว่าเราขอเล่าสรุปคร่าวๆ ให้คุณผู้อ่านฟังก็แล้วกัน
อย่างแรกที่ต้องรู้ก็คืออาคารหลังนี้คือหนึ่งหมู่อาคาร 15 หลังที่ตั้งอยู่ระหว่างทางบนถนนราชดำเนิน ซึ่งหมู่อาคารดังกล่าวถูกสร้างขึ้นช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2480-2491ซึ่ง ณ ตอนนั้น จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม คือนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยอาคารทั้งหมดนี้ได้รับการออกแบบจากสุดยอดสถาปนิกในยุคนั้น แต่เท่าที่สืบสาวราวเรื่องได้ก็มีอาทิ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล และนายหมิว อภัยวงศ์
ในตัวรูปแบบอาคารนั้นก็เป็นไปตามเทรนด์การออกแบบในหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็คือสไตล์ “โมเดิร์น” ที่มีการตัดทอนองค์ประกอบที่ฟุ่มเฟือยออกไป จนได้ออกมาเป็นอาคารเรียบง่ายรูปทรงเลขาคณิตที่มีแกนด้านเท่าเราอาจจะเรียกการออกแบบลักษณะนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า “นีโอคลาสสิค” นั่นเอง ซึ่งไวยกรณ์ทางสถาปัตยกรรมนี้เป็นที่นิยมในยุโรป โดยมีจุดประสงค์ในการใช้เพื่อสร้างกระแสชาตินิยม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2แต่ถ้ามองกันถึงประเทศไทยนั้นในช่วงเวลานั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวมีนัยยะสำคัญเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองประชาธิปไตย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
กาลเวลาล่วงเลยมากลุ่มอาคารดังกล่าวก็มีผู้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาใช้จนมาถึงในยุคปัจจุบัน บางอาคารก็ยังผู้เช่าใช้งานอยู่ แต่บางอาคารก็ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ ซึ่งอาคารของหอศิลป์นี้ฯ ก็ถูกปล่อยร้างเอาไว้หลังจากผู้เช่าเดิมหมดสัญญาเช่าจวบจนมาถึงในปี 2553 เมื่อทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งในขณะนั้นมีคุณปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน มีความคิดอยากจะสร้างพื้นที่สำหรับการแสดงงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รวมถึงเป็นพื้นที่เปิดกว้างเพื่อรองรับผลงานและการแสดงงานของศิลปินรุ่นใหม่ทั้งแบบมืออาชีพ และระดับนิสิตนักศึกษาทางสำนักงานฯ จึงเล็งเห็นว่าอาคารหลังนี้มีเหมาะสมอย่างมากสำหรับการสร้างอารต์ซีนที่สำคัญนี้ ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ของสถานที่ การเป็นแลนด์มาร์คกลางเมืองที่มีการคมนาคมที่แสนสะดวก
รวมถึงรูปแบบอาคาร และไวยกรณ์การออกแบบอาคารสไตล์โมเดิร์นอันสอดคล้องกับการแสดงงานศิลปะยุคใหม่ ทั้งยังมีพื้นที่ภายในอย่างโอ่อ่ากว้างขวางสามารถรองรับผู้เข้าร่วมงานได้จำนวนมากจึงได้มีการปรับปรุงอาคารอย่างเป็นทางการ ในปี 2555 ซึ่งได้คุณชาย นครชัย ผู้อำนวยการสำนักงานฯ(ตำแหน่งปัจจุบันคืออธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ในช่วงเวลานั้นมาสานต่องานการสร้าง ด้วยการรีโนเวทพื้นที่ทั้งหมดจนเสร็จสิ้นในปี 2556 ซึ่งในปัจจุบันการบริหารงานหอศิลปะฯ อยู่ในความดูแลของคุณวิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปัฒนธรรมร่วมสมัยคนปัจจุบัน
ความน่าสนใจอีกเรื่องก็คือการรีโนเวทเพื่อให้ชีวิตใหม่กับอาคารประวัติศาสตร์ดัดแปลงให้กลายอาร์ต์สเปซแห่งยุคสมัย โดยแนวทางที่ทีมสถาปนิกและทีมก่อสร้างเลือกใช้ในการปรับปรุงก็คือ การทำทุกอย่างด้วยความเคารพต่อสถาปัตยกรรมและเรื่องราวของอาคารอาคารที่อยู่เดิมซึ่งในเนื้อแท้ของความเป็นออริจินัลนั้น ถูกสะท้อนออกมาให้เห็นในรายละเอียดต่างๆ เช่นเนื้อปูนดิบสีเทาของเสาคานทุก ผนังกำแพงที่เปิดให้เห็นรายละเอียดของรูปทรงการก่ออิฐที่มีความแตกต่างกันออกไปตามโซนของพื้นที่ภายใน
เนื่องด้วยในสมัยก่อนอาคารหลังนี้ถูกแบ่งพื้นที่ให้ผู้เช้าหลายราย ซึ่งแต่ละรายจะก่อกำแพงอิฐในแบบที่ตนเองต้องการ ดังนั้นผนังกำแพงอิฐแต่ละด้าน จึงมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปทั้งหมดถูกรักษาไว้แทบจะเรียกได้ว่า 100% ผู้เข้าชมงานจึงไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมาก ในการซึมซับบรรยากาศและเรื่องราวของตัวอาคารเลยครับ ผมถือว่านี่คือจุดดีของการเลือกแนวทางนี้
แม้จะมีการรักษาของเดิมไว้ แต่ก็ยังมีการเพิ่มเติมรายละเอียดใหม่เข้าไปด้วย เช่นปล่องที่อยู่ระหว่างบันไดห้าแห่งเพื่อรองรับงานระบบ และโครงสร้างพื้นฐานของอาคาร รวมถึง ห้องควบคุมระบบไฟฟ้าและสารสนเทศ ลิฟท์โดยสาร ลิฟท์ขนของ ห้องน้ำ ห้องเก็บของ ห้องเก็บผลงานศิลปะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ชมงานและศิลปินที่มาเช่าใช้พื้นในการจัดโซโลเอ็กซิบิชั่นของตัวเอง
ทีนี้ก็มาว่ากันถึงในส่วนของพื้นที่กันบ้าง อาคารหลังนี้เป็นอาคารเป็นพื้นที่สีเหลี่ยมผืนผ้าสูง 3 ชั้น จึงทำให้พื้นที่ถูกแผ่ออกตามแนวยาว พื้นที่ในการใช้งานจึงมีจำนวนมากซึ่งถูกแบ่งออกมาเป็น 7 ห้อง ที่สำหรับใช้จัดแสดงงานเช่น ห้องออดิทอเรียม ห้องแสดงละคร ห้องจัดเวิร์คชอป และห้องสมุดเป็นต้น
เราจะมาไล่เรียงพื้นที่ทั้งหมดนี้ เริ่มกันที่ชั้นหนึ่งประกอบด้วยห้องแสดงงาน 1 ขนาดใหญ่กว่า 970 ตารางเมตร ที่มีความพิเศษก็คือการสร้างเป็นพื้นที่เปิดโล่ง(Open Space) ที่เชื่อมต่อกันยาวไปจนสุดอาคาร มีฝ้าเพดานสูงแบบ Double Height Space ห้องนี้จึงเป็นห้องแสดงงานที่สามารถจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ได้แบบอลังการหลายรูปแบบ นอกจากจะมีห้องแสดงงานขนาดใหญ่แล้ว ในชั้นนี้ยังมีห้องออดิทอเรียมขนาด 200 ตารางเมตร ซึ่งห้องนี้สามารถใช้จัดอีเวนท์ได้หลายรูปแบบ ทั้งจัดคอนเสิร์ตเล็ก และใช้แสดงละครเวทีได้ด้วย
ก้าวขึ้นมาบันไดกลางเข้าสู่ชั้นลอย ตรงนี้ทางทีมออกแบบยังได้ต่อเติมพื้นที่เข้าไปอีก 145 ตารางเมตร เพื่อสร้างเป็นห้องจัดนิทรรศการ 2 และ 3 ในสเปซตรงนี้
มาถึงชั้นสอง ส่วนนี้ก็จะเป็นพื้นที่เปิดโล่งขนาด 770 ตารางเมตร แบ่งออกเป็นห้อง U – Gallery ห้องจัดแสดงภาพรูปตัว U ที่สามารถมองทะลุไปถึงชั้นหนึ่งผ่านเวิ้งลอดไปตามสะพานเชื่อมเหล็กซี่ และห้องนิทรรศการ 4 และห้องนิทรรศการ 5 ซึ่งห้องนี้เป็นห้องจัดแสดงงานขนาดใหญ่ที่นักศึกษาชอบใช้เพื่อแสดงงานวิทยานิพนธ์ รวมถึงศิลปินรุ่นใหม่ก็มักจะใช้ห้องนี้ในการจัดแสดงงานโซโลเอ็กซิบิชั่นของตัวเอง
นอกจากนี้ชั้นสองยังมีห้องที่ใช้ในการเวิร์คชอปอีกจำนวน 2 ห้อง ซึ่งในห้องสองมีความพิเศษตรงที่การตกแต่งแบบอินดัสเทรียล และมีเวทียกสูงขนาดใหญ่ ห้องนี้จึงมักถูกใช้งานการแสดงทั้ง ดนตรี ละครเวที รวมการแสดงแบบ Contemporary Dance รูปแบบต่างๆ นั่นเอง
ในส่วนของชั้น 3 ที่ประกอบด้วยห้องนิทรรศการ 6 และ 7 นั้นในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวถูกใช้เพื่อจัดเป็นศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งเป็นนิทรรศการแบบถาวรอยู่ในช่วงเวลานี้
บนพื้นทื่กว่า 600 ตารางเมตรถูกใช้เพื่อจัดแสดงโชว์เรื่องน่ารู้ทางวัฒนธรรมร่วมสมัยของชาวอาเซียนทุกแง่มุม ใครสนใจก็สามารถเข้าชมได้ในวันอังคารถึงวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 10.00- 19.00 น.(ปิดทำการในวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
ที่เล่าให้ฟังทั้งหมดก็คือภาพรวมของของความเป็นมาเป็นไป และเรื่องราวในปัจจุบัน ของหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนินแห่งนี้ ที่น่าจะเป็นอีกหนึ่ง Creative Space สถานที่สำคัญของกรุงเทพฯ ให้คนเมืองได้เข้าใกล้อย่างแนบชิดกับนิเวศวิทยาทางศิลปะเข้าไปให้มากขึ้นกว่าที่เคย
และที่สำคัญหอศิลป์แห่งนี้น่าจะเป็นอีกพื้นที่ที่ช่วยเปิดโอกาสให้กับศิลปินรุ่นใหม่ได้แสดงงานของตัวเอง ซึ่งราคาในการขอใช้พื้นที่ก็ไม่แพงเลย เพียงตารางเมตรละ 5 บาทเท่านั้นเอง ตรงนี้น่าจะเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยพัฒนาให้วงการศิลปะทุกรูปแบบของประเทศไทยเจริญเติบโตไปในอนาคตได้อย่างมั่นคงอีกด้วย
Contact:
84 ถนน ราชดำเนินกลาง แขวง วัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
โทร. 02 224 8030
Website: https://www.rcac84.com/