POR – WOR INTER BOOKSTORE
หน้าหนังสือที่รอการเปิดอ่าน
หนังสือเปรียบเสมือนประตูที่สามารถพาใครต่อใครเดินทางไปยังสถานที่อันน่าอัศจรรย์ได้นับล้าน ณ ห้วงเวลานี้ในเขตเมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร ‘สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ’ หรือ ‘พว.’ หนึ่งในสถาบันผู้นำผลิตหน้าหนังสือและผลงานวิชาการที่หลายคนอาจเคยผ่านตาตั้งแต่สมัยเด็ก ได้เปิดประตูแห่งจินตนาการบานใหม่ ต้อนรับนักเรียนนักศึกษา ด้วยอาคารรีโนเวทดีไซน์ทันสมัย บนถนนนครไชยศรี เขตดุสิต จากฝีมือการออกแบบของกลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่ Tidtang Studio
เบื้องหลัง Façade สีดำแปลกตา รูปร่างเดิมของร้านหนังสือ พว.อินเตอร์ คืออาคารพาณิชย์ 2 อาคารติดกันที่มีจำนวนชั้นและวัสดุการก่อสร้างที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ความแตกต่างทั้งทางโครงสร้างและทางวัสดุของอาคารทั้งสอง เป็นความท้าทายของการปรับปรุงอาคาร ที่ต้องผสานอาคารโครงสร้างคอนกรีต 4 ชั้น และอาคารโครงสร้างไม้ผสมคอนกรีต 2 ชั้น ให้สอดรับปรับเปลี่ยนมาบอกเล่าเรื่องราวคอนเซ็ปต์ในแบบฉบับของสถาบันพว. ด้วยภาษาและรูปลักษณ์ใหม่ทางสถาปัตยกรรมในทำนองและบริบทเดียวกันทีละน้อย ทีละน้อย
การปรับปรุงอาคารเก่าที่มีความละเอียดอ่อนย่อมต้องอาศัยความพิถีพิถันและความชำนาญในการสะกดหาความผิดพลาด ร่องรอยของน้ำที่รั่วซึม คือสิ่งที่สถาปนิกค้นพบระหว่างการดำเนินการออกแบบไปได้ในระยะหนึ่งภายในอาคารหลังนี้ การออกแบบปรับปรุงอาคารทั้ง 4 ชั้นจึงต้องถูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะ เพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาระหว่างงานออกแบบดังกล่าวในระยะเวลาที่ยังเอื้ออำนวย
การปรับเปลี่ยนการใช้งานอาคารในชั้น 1 คือระยะที่ 1 ของขั้นตอนการออกแบบและก่อสร้างบนพื้นที่ 72 ตารางเมตร พื้นที่การใช้งานหลักของร้านหนังสือถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนต้อนรับ (Reception), ส่วนชั้นวาง (Book Shelves), และส่วนหน้าร้าน (Shop Display) การตกแต่งด้วยไม้ในโทนสีอบอุ่น ทั้งวัสดุตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ ถูกนำมาใช้เพื่อมอบความรู้สึกสบายและเป็นกันเองให้กับพื้นที่เลือกหาหนังสือภายในร้าน ตลอดทั้งพื้น ผนัง และชั้นวาง ถูกคลุมโทนด้วยไม้สีอ่อนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดทั้งห้อง หนังสือมากมายหลากหลายประเภท ทั้งหนังสือแบบเรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ หนังสือเสริมการเรียนรู้ หนังสือแบบฝึกหัด หนังสือเสริมทักษะ ถูกจัดวางใส่ช่องหนังสือที่ออกแบบมาในสัดส่วนแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสล้อไปกับหน้าตา Façade ภายนอกของอาคาร ความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนขององค์ประกอบในงานออกแบบนี้ ได้มอบการรับรู้ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวให้กับทั้งภายนอกและภายในสถาปัตยกรรมอย่างเป็นองค์รวม
ความต่อเนื่องของวัสดุไม้ ถูกออกแบบให้มีการเชื่อมต่อสอดรับออกมาถึงบริเวณด้านนอกของอาคาร ปรากฏเป็นกรอบของทางเข้าที่กรุด้วยกระเบื้องลายไม้เป็นส่วนเชื้อเชิญผู้คนที่ผ่านไปมา ขับเน้นการใช้งานพื้นที่ภายในชั้น 1 ให้สามารถมองเห็นจากภายนอกได้เด่นชัด พื้นที่ภายในบริเวณชิดติดกระจกยังถูกออกแบบให้เป็นที่นั่งยาวต่อเนื่อง ให้นักเรียนหรือคนทั่วไปที่มาเลือกซื้อหนังสือใช้เป็นพื้นที่นั่งเพื่อเลือกอ่าน นั่งคอย หรือจับกลุ่มพูดคุย โดยยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนบนท้องถนน ผ่านผนังกระจกใสที่กั้นพื้นที่ระหว่างภายนอกและภายในไว้อย่างเบาบางได้ในขณะเดียวกัน
การออกแบบส่วนตกแต่งด้านหน้าอาคาร หรือ Façade เป็นขั้นตอนในระยะที่ 2 ของการออกแบบปรับปรุงอาคารหลังนี้ เบื้องหน้าของอาคาร นอกจากวัสดุลายไม้และผนังกระจกโปร่งใสแล้ว ส่วนที่เด่นชัดที่สุดก็เห็นจะเป็นแผ่นอะลูมิเนียมสีดำบางที่ถูกจัดวางเรียงเป็นตารางอย่างมีจังหวะจะโคน ทุกๆ 5 องศาแผ่นอะลูมิเนียมจะถูกบิดตามจังหวะและตำแหน่งที่ได้ออกแบบเอาไว้แล้ว ลดทอนความทึบตันของรูปด้านอาคารสีดำเผยให้เห็นสีของท้องฟ้าเบื้องหลัง พร้อมกันนั้นก็สร้างลูกเล่นใหม่ๆ ให้กับการรับรู้เมื่อมองเข้ามาจากท้องถนน ดึงดูดสายตาด้วยเมื่อเปลี่ยนมุมมองต่ออาคารในมุมที่ต่างไป ก็จะมองเห็นอาคารด้วยรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนเดิมราวกับมีชีวิตทีเดียว
ไล่จากล่างขึ้นบนและจากซ้ายไปขวาแผ่นอะลูมิเนียมค่อยๆ เผยให้เห็นแสงและเงาของท้องฟ้าเบื้องหลังตามการหมุนของแผ่นอะลูมิเนียมอย่างมีนัยสำคัญ จังหวะที่ถูกสร้างด้วยแผ่นอะลูมิเนียมที่เบาบางนี้ ถูกหยิบยกมาจากลักษณะของการพลิกหน้ากระดาษ จากหน้าหนึ่งไปสู่อีกหน้าหนึ่ง จากบทหนึ่งไปสู่อีกบทหนึ่ง จากเล่มหนึ่งไปสู่อีกเล่มหนึ่งของนักอ่านหรือก็คือผู้คนที่ผ่านมาโดยทั่วไป คลี่คลายเป็นรูปลักษณ์ที่ดึงดูดสายตา ด้วยจังหวะของการเคลื่อนไหวราวกับต้องการสร้างให้อาคารมีชีวิต การจับเอาระยะเวลาชั่วขณะของการอ่านหนังสือมาใช้เป็นแนวความคิดและเครื่องมือหลักในการออกแบบผิวหน้าของอาคารเช่นนี้ สร้างการรับรู้และมอบความหมายที่ทำให้อาคารหลังนี้แตกต่างไปจากอาคารแห่งอื่น และในขณะเดียวกัน ความหมายที่แฝงอยู่ในสถาปัตยกรรมที่ต้องการที่จะสร้างสิ่งจุดประกายความคิดเช่นหนังสือให้กับคนในสังคม ก็ได้ถูกสถาปนิกพลิกเผยต่อผู้คนที่ผ่านไปมาให้ได้ตั้งคำถาม ถึงที่มาที่ไปของอาคารที่เป็นเหมือนแหล่งสร้างเครื่องมือความรู้ที่สำคัญต่อผู้คนในวงกว้างแห่งนี้
หากจะเปรียบร้านหนังสือ ‘พว.อินเตอร์’ เป็นหนังสือสักเล่ม นอกจากจะเป็นเล่มที่ปกสวยและอ่านสนุกจนลืมเวลาแล้ว ก็คงจะเป็นอีกเล่มที่จบด้วยตอนจบที่คาดเดาไม่ได้ เหมือนกับหน้ากระดาษบนอาคาร ที่ยังพลิกเปิดอยู่ไม่รู้จบนั่นเอง
Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: เกตน์สิรี วงศ์วาร
Architect & Interior Design: Tidtang Studio