PHTAA LIVING DESIGN


‘ความขม’ ของสถาปัตยกรรมในความรู้สึก ของ
พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล, หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ และธนวรรธน์ ปัจฉิมะศิริ
แห่ง พี เอช ที เอ เอ

TEXT: นวภัทร ดัสดุลย์
PHOTO: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม

ก่อนหน้าการนัดพบกันในครั้งนี้ ความสนใจที่เรามีต่อกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ ‘PHTAA living design’ เกิดขึ้นจากหลากหลายเหตุผลประกอบเข้าด้วยกัน

หนึ่ง เพราะความสามารถพิเศษของสมาชิกในกลุ่ม พี เอช ที เอ เอ  มีเสน่ห์น่าดึงดูดใจอย่างเป็นปัจเจกเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามภาพลักษณ์ของแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลอย-หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ หนึ่งในสามผู้ร่วมก่อตั้ง น้อมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเราเองแอบชื่นชมและชอบลายเส้นในงานวาดภาพประกอบด้านสถาปัตยกรรมของเธอมาก่อนหน้านี้อยู่แล้วเป็นทุนเดิม หรือแม้กระทั่งสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานดีไซน์โดยตรงก็ตาม ทว่าสิ่งนั้นก็ทำให้โปรไฟล์ของอีกหนึ่งสมาชิกและผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล ทวีความน่าสนใจยิ่งขึ้น สำหรับใครที่เป็นคอดนตรีค่ายอิสระน่าจะรู้จักมักคุ้นพลวิทย์ ในฐานะมือเบสของวงดนตรีอย่าง PLOT อยู่ไม่มากก็น้อย ส่วน โต๋- ธนวรรธน์ ปัจฉิมะศิริ อาจเป็นสมาชิกและผู้ร่วมก่อตั้งหนึ่งเดียวที่เรายังรู้จักเขาไม่มากนัก โดยทราบเพียงว่าเขาเคยบ่มเพาะวิชาด้านงานออกแบบและตกแต่งภายในอยู่หลายปีกับ P49deesign and Associates และเคยผ่านการทำงานร่วมกับพลอยที่นี่มาก่อน ก่อนที่พลอยจะชิงลาออกไปเรียนต่อ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะฉุดความคิดของเราให้ไม่อยากทำความรู้จักตัวตนในอีกด้านหนึ่งของเขาเลยแม้แต่น้อย

สอง ณ ช่วงเวลานั้น อีกหนึ่งผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมของพวกเขาที่เพิ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จอย่าง Keaton ร้านตัดสูทในลุควินเทจคอนเซ็ปต์เจ๋งที่จงใจกลับด้าน façade อาคารที่หยิบยืมไดอะแกรมของงานทอผ้าโบราณลาย ‘Polka Dot’ มาเป็นเครื่องมือในการสานสัมพันธ์ระหว่างผนังทั้งสองด้านเข้าด้วยกัน โดยให้เปลือกอาคารภายนอกแสดงออกถึงเส้นกริดและไดอะแกรม ซึ่งจะให้ภาพผกผันกับลายผ้าด้านสมบูรณ์ที่กลายมาเป็นผิวผนังลายจุดด้านใน กำลังถูกเผยแพร่ออกไปตามเว็บไซต์ดัง เช่น designboom, DIVISARE, archdaily และ domus ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคลังไอเดียงานดีไซน์ชั้นนำทั่วโลก เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เราอยากเข้ามาทำความรู้จักแก่นแท้ในงานออกแบบสถาปัตยกรรมของพวกเขามากขึ้น (อ่านนิยามขมๆ ของงานโมเดิร์นวินเทจนี้ย้อนหลังแบบเต็มๆ ได้ใน http://www.daybedsmag.com/keaton/)

และสาม ข้อสุดท้ายนี้เป็นเหตุผลส่วนตัวของเราเองล้วนๆ เนื่องจากในปัจจุบันเป็นสังคมยุคดิจิตอลที่เราสามารถเข้าถึงกลุ่มบริษัทออกแบบรุ่นใหม่ๆ ผ่านทางหน้าจอสมาร์ทโฟนได้อย่างสะดวกรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส ซึ่ง PHTAA Living Design เองนับเป็นหนึ่งในกลุ่มคนหนุ่มสาววัยยังไม่แตะเลขสาม ที่เราเฝ้าติดตามผลงานและมองว่ามีศักยภาพพอที่จะก้าวขึ้นมาเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งวงการสถาปัตยกรรมไทยในอนาคตได้ไม่ยาก ฉะนั้นการนัดพบกันครั้งนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงโอกาสที่เราจะได้ทำความรู้จักกับวิท, พลอย และโต๋ จากแค่ผิวเผินให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้เราได้แลกเปลี่ยนความคิด ได้เปิดรับมุมมองใหม่ๆ ตลอดจนได้รู้จักวัฒนธรรมและวิธีการทำงานร่วมกันของพวกเขาเสมือนเป็นผลพลอยได้ไปโดยปริยาย

เนื้อหาถัดจากนี้เป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มคนรุ่นราวคราวเดียวกันที่ไม่ได้มีการประดิษฐ์คำพูดหรูหรา หรือสรรหาภาษาสละสลวยมาผสมให้ความสนุกอันกลมกล่อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติเจือจางลงไปแม้แต่น้อย เราไม่เพียงได้ค้นพบว่าในบางครั้งบทสนทนาดีๆ ก็ไม่จำเป็นว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องจดจ้องแต่จะขุดคุ้ยสาระทั้งก้อนขึ้นมาถกประเด็นจนดูเป็นการจงใจเกินเหตุ หากแต่การเกิดหลงประเด็นจนขาดตกสาระไปบ้างในระหว่างการสนทนา การหลุดสบถคำหยาบคายออกมาคลุกเคล้าตามห้วงเวลาและอารมณ์ที่มันพาไปให้พอหอมปากหอมคอก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร ที่สำคัญคือแม้ว่าในครั้งนี้เราจะเป็นฝ่ายรุกมาเยือนพร้อมประเด็นคำถามที่ตระเตรียมมาพอประมาณ ทว่ากลับเป็นพวกเขาเองที่เป็นฝ่ายรุกพาเรารื่นรมย์ไปกับสารพันคำตอบนอกเหนือจากประเด็นที่เตรียมไว้ ซึ่งสะท้อนกรอบแนวความคิดและตัวตนของพวกเขาในนาม PHTAA living design อย่างชัดเจน เสมือนว่าเรากำลังนั่งฟังดนตรี (แล้วมีแอลกอฮอล์เข้มๆ ให้จิบไปด้วยภายในสำนักงานออกแบบขนาดกะทัดรัดที่สามารถบรรจุกลุ่มคนสร้างสรรค์จำนวน 5 ชีวิต พร้อมข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบอย่างไม่อึดอัดเสียมากกว่า

จากเดิมที่เคยคาดว่ากลุ่มคนสร้างสรรค์กลุ่มนี้จะขนเอาสาระเข้มข้น (อย่างเอาจริงเอาจัง) มาวางกองบนโต๊ะให้เราโกยเก็บเข้ากระเป๋ากลับมาเขียนให้ใครอ่าน แต่เปล่าเลย อาจเพราะคำว่า เซ็กซี่ เอย ขม เอย วับๆ แวมๆ เอย หรือแม้กระทั้งเร้าๆ อารมณ์เอย อะไรทำนองนี้ เอาเข้าจริงๆ เราเองยังแอบยิ้มกับบทสนทนา (บางตอน) ที่ได้กลับมาเปิดฟังซ้ำจากเสียงบันทึก หรืออ่านทวนอีกครั้งในหน้านิตยสารอยู่เลยจนถึงขณะนี้

“ถ้าเราทำ Research บางอย่างไว้แล้ว และถ้าเจอลูกค้าที่มันคลิกพอดี เราก็เอาอันนั้นไปสวมได้เลย เหมือนเราซ้อมมุกไว้ก่อนแบบตลก เราก็เหมือนตลกที่เก็บมุกไว้แล้วพร้อมที่ปล่อยตลอดเวลา รอจังหวะเจอคนที่เหมาะ”

พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล

จากซ้ายไปขวา ธนวรรธน์ พลวิทย์ และหฤษฎี 3 ผู้ก่อร่วมตั้ง PHTAA living design

Daybeds: อยากให้ทุกคนเล่าประสบการณ์การทำงานของตัวเองเป็นลำดับแรก จากนั้นให้ใครสักคนก็ได้เป็นตัวแทนเล่าที่มาของการรวมกลุ่มทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมกันในนาม PHTAA Living Design 

Ponwit: ผมเรียนจบสถาปัตย์ ศิลปากร ทำงานกับบริษัทฮ่องกงอยู่ 1 ปี เป็นอินทีเรียดีไซเนอร์ ชื่อบริษัท BCnA (BCnA International co.,ltd.) ผมเรียนสถาปัตย์ แต่เคยทำงานนอกกับเขาตอนสมัยเรียน ก็เลยมาสมัครงานกับเขาโดยที่ไม่รู้ว่าอินทีเรียมันยากขนาดไหน คนที่เป็นสถาปนิกส่วนใหญ่จะคิดว่าตัวเองทำอินทีเรียได้ ผมก็คือหนึ่งในนั้น แต่พอผมเข้าไปทำแล้วทุกอย่างมันพังหมด จนหนึ่งปีผมก็ไม่ไหวละ แต่ผมก็ได้อะไรมาเยอะมาก แม้ตอนนั้นผมยังไม่รู้ตัวว่าผมได้อะไร ผมออกมาจากที่นั้นแล้วก็มาอยู่กับ VasLab ของคุณวสุ (วสุ วิรัชศิลป์) 3 ปี พอทำอยู่ 3 ปี แล้วรู้สึกว่าเราสามารถทำอะไรได้แล้ว ออกมาแล้วผมก็เจอพลอย แล้วได้ทำโปรเจ็กต์แรกด้วยกัน ทีนี้พอทำไปสักพักหนึ่งก็คิดว่า เออ งั้นเราหาออฟฟิศดีกว่า แล้วสักพักก็มีน้องโต๋ รุ่นๆ เดียวกันนี่แหละมาทำด้วย

Thanawat: ผมจบศิลปากรเหมือนกัน แต่ผมจบมัณฑนศิลป์ เข้าไปทำงานที่ P49 รู้จักกับพี่พลอยเพราะอยู่ทีมเดียวกัน ก่อนคนนี้ (มองไปที่พลอย) เขาออกไปเรียน ส่วนผมก็ทำอยู่ที่ P49 ประมาณ 5 ปี ส่วนพี่พลวิทย์ผมก็รู้จักอยู่แล้วเพราะเขาเป็นนักดนตรี (ทุกคนในวงสนทนาหัวเราะ) ก็มีโอกาสได้ร่วมงานกัน เราก็รู้พื้นฐานของแต่ละคนอยู่แล้ว อย่างคนนี้ (มองไปที่พลอย) เขาก็จะเป็นแนวสไตล์สิสต์หน่อย คนนี้ (มองไปที่วิท) เขาจะหัวรุนแรงนิดหน่อย ชอบอะไรแปลกๆ ตอนหลังก็ตัดสินใจร่วมทีมกันแล้วเปิดออฟฟิศ

Harisadhi: พลอยจบสถาปัตยกรรมภายใน บางมด แล้วก็มาทำงานที่ P49 ได้ประมาณ 2 ปี แล้วไปเรียนต่อที่ Domus Academy ที่มิลาน

 

Daybeds: การใช้ชีวิตช่วงหนึ่งที่มิลานให้อะไรกับคุณบ้าง 

Harisadhi: ไปอยู่ที่นั่นแรงบันดาลใจมันเยอะ กลับมาก็เลยได้อาชีพใหม่เป็นนักวาดภาพประกอบกับนักเขียน แต่ก็ยังทำอินทีเรียอยู่

Daybeds: เคยคิดมาก่อนไหมว่าจะได้มาเป็นนักเขียน 

Harisadhi: ไม่เคยเลย มันจับพลัดจับผลู จริงๆ แล้วตอนแรกที่กลับมาคืออยากทำ illustration คืออยู่ดีๆ ก็สนใจขึ้นมาเลยส่งผลงานไปตามนิตยสาร แล้วเป็น wallpaper ที่ตอบกลับมาเร็วมาก ตอนแรกทำคล้ายกับเป็นฟรีแลนซ์ช่วยทำแฟชั่นเซ็ต บังเอิญโชคดีว่าเซ็ตของเดือนนั้นที่ส่งไปเป็น Interior issue พอดีก็เลยทำ Illustrated ที่มันเกี่ยวกับอินทีเรียให้เซ็ตนั้น เลยได้คุยกับกองบรรณาธิการนิตยสาร wallpaper ตอนเอาพล็อตไปเสนอ เราเอาไดอารีคล้ายๆ กับสมุดสเก็ตช์ไปด้วย แล้วคนในกองแอบอ่าน (หัวเราะ) เขาก็เลยชวนมาทำ

 

Daybeds: ในภาพรวมแล้วพวกคุณทั้ง 3 คน มีมุมมองในการทำงานเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และมีวิธีการหาจุดร่วมในการทำงานด้วยกันอย่างไร  

Ponwit: เรื่องมองอะไรเหมือนกันมันเป็นอะไรที่ทุกคนก็พูดกัน ผมว่ามันไม่น่าสนใจ สิ่งที่น่าสนใจคือพอมาทำงานด้วยกันแล้วเรายอมให้อีกคนได้เปอร์เซ็นต์แค่ไหน ทัศนคติไม่มีใครตรงกันหรอกผมว่า แต่ว่ามันจะมีงานชิ้นหนึ่ง ประเด็นของมันคืออะไร คอนเซ็ปต์ของมันคืออะไร คอนเซ็ปต์ใครดีกว่าคนนั้นจะได้งานชิ้นนั้นไป เราจะเป็นแบบนี้ครับ จะรู้กันแค่ 3 คน ส่วนใหญ่ผมคิดว่าทีมเวิร์คทำให้เราทำงานด้วยกันได้ เพราะว่าสมัยนี้มันไม่ค่อยมีคำว่า Great Architect แล้ว สถาปนิกสุดเก่งคนเดียวมันไม่มีแล้ว หมดยุคคนรุ่นนั้นแล้ว ออฟฟิศผมมันมีสัมผัสของความแปลก โต๋มันจะเรียกว่าความขม ความขมของงาน คือถ้างานป๊อปมากมันจะรู้สึกไม่ค่อยดี ต้องมีความขมนิดหนึ่ง มันบอกไม่ได้นะ เหมือนมันจะมีอะไรบางอย่างมาเบรก

Thanawat: ผมคิดว่าสุนทรียะของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่มันจะมีอะไรบางอย่างที่เราเห็นตรงกัน

Ponwit: ผมว่ามันเป็นเพราะเรื่องดนตรีด้วย พอฟังเพลงคล้ายๆ กันแล้วเหมือนกับว่าเรารับทุกอย่างได้ มันไม่ใช่คำว่าอินดี้นะ ผมว่ามันเป็นคำที่ค่อนข้างเชยแล้วเหมือนกัน ผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่ทำแล้วเราตื่นเต้นมากกว่า สมมุติว่าเราทำอะไรแล้วมันตื่นเต้นมันก็อยากทำต่อ เร้ามาก มันเร้ามาก อะไรแบบนั้น อย่างน้อง (ในทีม) ของผม 2 คน บอส กับ เป๊ปซี่ ก็เป็นเด็กที่เก่ง แล้วเขาเสนออะไรที่ทำให้ผมตื่นเต้นได้เสมอ ผมก็คิดว่า เออ เราทำงานด้วยกันได้ ผมรู้สึกว่างานออกแบบที่ดีมันต้องเป็นความรู้สึกแบบนั้น เวลาเราทำแล้วรู้สึกตื่นเต้นกับมัน รู้สึกตะขิดตะขวงใจนิดหนึ่งว่ามันจะออกมาดีหรือเปล่า แต่เราทำครบถ้วนทุกกระบวนการที่งานออกแบบมันจะสามารถเกิดขึ้นมาได้แล้วนะ

ผมว่าการที่มนุษย์สมัยนี้เสพเยอะ หมายถึงว่าเราทุกคนดู Pinterest เป็นตั้งต้นนะครับ เราลืมคิดไปว่าไอ้พวกนี้มันเป็นภาพจำของเราที่มันอยู่ในเซลล์สมองสักส่วนหนึ่ง แล้วอยู่ดีๆ มันออกมาเองโดยที่เราไม่รู้ตัว พอมันเกิดแบบนั้นขึ้นมันจะกลายเป็นงานที่เก่า ผมคิดว่ามันเก่าตั้งแต่เราคิดเสร็จแล้วล่ะ แต่สมมุติว่าถ้าอะไรที่ผมรู้สึกคิดเสร็จแล้วแบบ ตื่นเต้นหวะ ตะขิดตะขวงใจนิดหนึ่งว่ามันจะดีหรือเปล่า ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย อันนั้นแหละเอาเลย เราเชื่อว่าถ้างานมันเกิดขึ้นจริงแล้วก็น่าจะสร้างความตื่นเต้นได้ไม่น้อย

 

Daybeds: งานออกแบบชิ้นแรกที่ร่วมกันทำในนาม PHTAA Living Design คืออะไร มีผลลัพธ์ออกมาน่าพึงพอใจแค่ไหนในความคิดของคุณ 

Ponwit: น่าจะเป็นโรงแรมที่เชียงใหม่ ตอนนี้กำลังสร้างอยู่ครับ โครงสร้างเสร็จแล้วกำลังเข้าอินทีเรีย ผมค่อนข้างที่จะไว้ใจกันมากกว่า อย่างที่ผมบอกว่ามันจะมีคอนเซ็ปต์ คนไหนคอนเซ็ปต์ดีคนนั้นก็ได้ไป อย่างผมก็จะได้ห้องพักมาทำ ส่วนพลอยกับโต๋เขาจะได้ส่วน Public area ไปทำ เพราะคอนเซ็ปต์ที่เขาคิดมาดีกว่าของผม มันจะเป็นแบบนี้ครับ มันจะได้สิ่งที่ดีที่สุดเสมอสำหรับเรา 3 คน

 

Daybeds: ช่วยอธิบายคอนเซ็ตป์ของงานนี้คร่าวๆ ได้ไหม 

Ponwit: จริงๆ คอนเซ็ปต์มันยากมากเลยนะ ออฟฟิศส่วนใหญ่จะบอกกันว่า cozy อยู่แล้วคุณสบาย แต่สุดท้ายแล้วผมว่าโรงแรมมันต้องสวย ไม่ว่าคุณจะคอนเซ็ปต์อะไรก็ตาม ถ้ามันสวยปุ๊ปผมว่าก็จบ ไม่ต้องไปหากระบวนการความคิดอะไรให้มันเลยในเชิงการตกแต่งนะครับ เพราะว่าผมทำในส่วนของอินทีเรีย แต่ถ้าทำในส่วนของอาร์คิเทคเจอร์ อันนั้นอาจะต้องมีคอนเซ็ปต์มากขึ้น ตรงนี้มันทำให้ผมรู้สึกว่าอินทีเรียมันต่างจากอาร์คิเทคเจอร์ สุดท้ายแล้วเราทำอาร์คิเทคเจอร์มาก่อน พอเราย้ายไปทำอินทีเรีย สิ่งที่เราไม่รู้มันเยอะมาก หลายคนอาจจะคิดมันก็แค่เลือกเฟอร์นิเจอร์ เวลาที่ผมทำอินทีเรียมันนานกว่าอาร์คิเทคเสียอีก ผมก็เลยคิดว่าคอนเซ็ปต์ของอินทีเรียคือออกมาสวยเท่านั้น ไม่ต้องมีคอนเซ็ปต์อะไรมาก ถ้าเป็นอาร์คิเทคเจอร์อาจะต้องมีขบวนการคิดอะไรแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นมา นั่นคือความเชื่อของพวกเรา

Harisadhi: แต่ถ้าสมมติว่าถ้าเต็ค (อาร์คิเทคเจอร์) ทำมาดีแล้ว อินทีเรียจะง่ายมากเลย 

Ponwit: ใช่ เราคิดว่าเราทำไปพร้อมกันมันจะดีกว่า วิธีการทำงานของเราคือ เวลาทำงานออกแบบเต็คเสร็จ ช่วงเวลาที่ค่อมกันผมจะไปเคลียร์แบบก่อสร้างของเต็ค อินทีเรียจะสวมเข้ามาเป็นพาสดีไซน์ เราจะทำงานโดยต้นสุดของอินทีเรียไปชนกันในท้ายสุดของเต็ก แล้วมันก็จะไปด้วยกัน ถ้าเต็กเสร็จปุ๊ปแล้วไปหาอินทีเรียทำแบบนั้นมันจะค่อนข้างเละ เพราะว่าบางทีไอเดียของอินทีเรียค่อนข้างแรง ถ้าเจ้าของชอบปั๊ปก็ต้องแก้อีกแล้ว บางทีมันก็ไม่ได้อยากแก้ให้กัน 100% งานที่ออกมามันก็เลยครึ่งๆ ผมคิดว่า

 

Daybeds: แต่โดยส่วนใหญ่แล้ววิธีการทำงานออกแบบในประเทศไทยมักจะเป็นแบบนี้ใช่ไหม 

Ponwit: ใช่ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ มันก็เลยเกิดปัญหา บางทีตึกสวยนะ แต่เข้าไปข้างในแล้ว อะไรวะ!

Harisadhi: หรือบางทีข้างในสวย ข้างนอกน่าเกลียด

Thanawat: ผมรู้สึกว่างานสถาปัตยกรรมที่ดีต้องควรจะดีทั้งข้างในและข้างนอก เราเลยทำงานไปพร้อมๆ กันปรับบิดกันไปมาจนได้ออกมาเป็นงานที่เหมาะสม

Ponwit: ข้างในสำคัญมาก ผมเคยทำงานอยู่ชิ้นหนึ่ง เป็นออฟฟิศชื่อ ปุ๋ย ออแกนิก ผมทำงานอินทีเรียเพราะเป็นงานรีโนเวท ผมก็ทำอินทีเรียอย่างเดียวเลย 4-5 ชั้น เสร็จปั๊ปพอได้ฟังก์ชันอย่างที่เขาต้องการกับคอนเซ็ปต์ของเราแล้ว พอเราถอยออกมาดูข้างนอกมันสวยแล้ว หมายถึงว่าไม่ต้องทำ façade ให้มันมากเลย แค่ทำนิดหน่อยๆ ก็สวยแล้ว เพราะบรรยากาศที่มันอยู่ข้างในมันบอกข้างนอกออกมาได้หมดแล้ว ผมก็เลยคิดว่ามันก็เป็นข้อพิสูจน์หนึ่งนะ ผมไม่ได้อยู่ดีๆ พูดขึ้นมา ไม่ต้องทำแมสให้ดูหวือหวาอะไรมากมาย มันก็เป็นอีกความเชื่อหนึ่งที่ค่อยๆ ซึมกันมาเรื่อยๆ

Harisadhi: คอนเซ็ปต์แรงกับไม่แรงมันขึ้นอยู่กับ factor หลายๆ อย่าง สมมติโรงแรม มันต้องเป็นสถานที่สวยแล้วคนอยากไปก่อน หรือว่าบ้านมันก็จะต้องเรียบแล้วอยู่ได้นาน หรือว่ารีเทลมันก็ต้องตื่นเต้นหน่อย

 

Daybeds: พวกคุณทั้ง 3 คนมองว่าสำคัญไหมที่จะต้องจำกัดบทบาทว่าเราเป็นสถาปนิกต้องทำแต่งานออกแบบสถาปัตยกรรมภายนอก หรือเป็นอินทีเรียต้องทำงานออกแบบและตกแต่งภายในอย่างเดียว 

Thanawat: เราดีไซน์อะไรก็ได้ เราไม่ได้จำกัดว่าสถาปนิกจะต้องทำงานสถาปัตย์อย่างเดียว

Ponwit: เราก็มีงานที่ทำเป็นพาวิลเลียนเล็กๆ งานหนึ่งที่จะไปโชว์ที่ Chiang Mai Design Week 2016 ใช้วัสดุที่เป็นพื้นฐาน ผมพูดถึงเรื่องคัสตอมเมด การคัสตอมเมดที่เกิดขึ้นในงานจะเยอะมาก เช่น ที่เราดูงานสวยๆ ใน Pinterest ทุกอย่างมันคัสตอมหมดเลย เราคิดว่าถ้าเราพยายามหาวัสดุพื้นฐานของเราทำให้มันเกิดอะไรที่มันว๊าวได้ คือมันก็ไม่ได้อยากจะว๊าวนะ แต่บางทีมันสนุก คือไม่ได้อยากจะเป็นนักคิดอะไรนะ แต่รู้สึกว่าถ้ามันเป็นดีไซน์วีคมันควรจะมีการดีไซน์เกิดขึ้นนิดหนึ่ง เราก็เอาบัวที่ใช้ตกแต่งผนังมาตัดเป็นท่อนเล็กๆ เราไม่ได้คัสตอมมันขึ้นมา แต่ใช้จากที่มันมีอยู่แล้ว คนไทยติดกับ Pinterset มาก แล้วทำตาม Pinterest มันสวยชัวร์ แต่ว่ามันต้องเกิดการคัสตอมเมด ต้องผ่านกระบวนอย่างนั้นมาก ซึ่งพอมันผ่านกระบวนการนั้นมันก็คืองบประมาณของเจ้าของงานที่เสียไป เราก็เลย Research ไปพร้อมกับการทำงาน พอมันเกิดขึ้นมาก็กลายมาเป็นโมดูลลาร์ต่อกันขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกอย่างจะต่อกันหมด

Harisadhi: มันอาจจะเป็นเรื่องของยุคสมัยที่พอมันถึงยุคหนึ่งคนบางคนมองว่าบัวมันจะดูหลุยส์ คลาสสิกเกินไป คนรุ่นใหม่จะไม่ชอบ เราก็เลยแปลง Architectural elements อันเก่ามาเป็นอะไรใหม่ๆ ที่ดูน่าสนใจขึ้น

ภาพ perspective และเบื้องหลังการประกอบชิ้นส่วนของ Pavilion ศาลาบัวขาว สำหรับนำไปจัดแสดงที่งาน Chiang Mai Design Week 2016 ระหว่างวันที่ 3-11 ธันวาคม 2559

ภาพ perspective และเบื้องหลังการประกอบชิ้นส่วนของ Pavilion ศาลาบัวขาว สำหรับนำไปจัดแสดงที่งาน Chiang Mai Design Week 2016 ระหว่างวันที่ 3-11 ธันวาคม 2559

ศาลาบัวขาว เกิดจากการนำวัสดุพื้นฐานทางสถาปัตยกรรม เช่น บัวผนัง มาปรับวิธีการใช้ใหม่โดยใช้วิธีการตัดเส้นบัวออกให้เกิดเป็นโมดูลเล็ก ๆ ซึ่งโมดูลเล็กๆเหล่านั้นจะรวมตัวกันเป็น ศาลาขนาด 2.6×2.6×3 m. ทำให้เกิดสเปซกว้างพอที่จะให้ผู้เยี่ยมชมเข้าไปอยู่ภายใต้ร่มเงาของโมดูลเหล่านี้ เพื่อรับรู้สเปซที่เกิดขึ้นใหม่จากบัวเชิงผนังแบบเดิมที่เคยเห็นกันทั่วๆ ไปตามอาคารสาธารณะหรืออาคารอยู่อาศัย

Daybeds: เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าพวกคุณ Research เกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง 

Ponwit: เราพยายามศึกษาเรื่องของบ้านในเมืองไทยว่า ทำไมเหล็กดัดบนดาดฟ้าคนถึงไม่ใช้ ผมอยู่บ้านจีนมาก่อนด้วย เป็นตึกแถว พยายามคิดในเบื้องต้นนะว่าจะทำยังไงให้คนขึ้นมาใช้ข้างบนมากขึ้น แล้วก็เป็นสเปซที่น่าสนใจ ก็เลยคิดอะไรที่มันเชื่อมโยงกับตัวเหล็กดัด ผมให้ดูภาพรวมคร่าวๆ ถ้าอธิบายคงยาวมาก เราพยายาม Research ให้เยอะที่สุด รวมถึงส่วนหน้าต่างคอนโดที่มันเป็นแพทเทิร์นของมัน เป็นบานกระทุ้ง 3 บาน ถ้าเราคิดใหม่ว่าตรงนั้นมันสามารถพับออกมาแล้วใช้งานได้ ไม่ใช่ผลักกระทุ้งออกไปอย่างเดียวมันจะเป็นแบบไหน แล้วมันจะทำให้หน้าตาของคอนโดเปลี่ยนไปไหม เพราะว่าเรื่องนี้มันสำคัญ ถ้าผมทำโปรดักท์มาได้แล้วลองได้ทำสักตึกผมว่ามันจะดูเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ แล้วไม่ใช่เรื่องที่คิดยากขนาดนั้น

 

Daybeds: มีงาน Research ชิ้นไหนที่เคยได้ลองทำจริงมาแล้วบ้าง 

Ponwit: มีงานที่เราลองทำมาก่อนแล้วเราค่อนข้างจะรู้สึกดีกับมัน งานคอนโดนี้ผมใช้เหล็กพับแผ่นเดียวอยู่เลย เหมือนเจ้าของเขาอยากได้ที่นั่งกินน้ำชา ซึ่งมันเป็นคอนโดเก่า ผมก็เลยคิดว่าทำอย่างไรให้ตรงนี้มันสามารถนั่งกินน้ำชาได้โดยที่ไม่ใช่โต๊ะธรรมดา ก็เลยเอาเหล็กแผ่นหนึ่งมาพับ มันค่อนข้างบางมาก สาเหตุหนึ่งที่มันพับขึ้นไปตรงนี้ คือดีไซน์เกิดจากการใช้งานจริง มีขึ้นมาเพื่อกันของตก มันก็เลยเป็น shape ของ silhouette ที่มันเรื้อยแล้วโค้งขึ้นนิดหนึ่ง ห้องนี้เป็นเจ้าของห้องคนเดียวที่ไม่อยากนอนติดหน้าต่าง อยากเข้าไปนอนในรูเล็กๆ นอนในถ้ำของเขาที่มีป้าย เฮง เฮง เฮง อยู่ด้านบน เหมือนเขาอยากนอนในรถไฟก็เอาม่านเลื่อนปิดเสียเลย บางทีลูกค้ามีส่วนเยอะนะกับดีไซน์ที่มันเกิดขึ้นใหม่ๆ เพราะ behavior  ของเขามันแปลก ลูกค้าแปลกๆ นี่ผมจะชอบมาก เขาจะมีพฤติกรรมแปลกๆ มีอะไรแปลกๆ ที่เราไม่เคยเจอ พอเจอคนแปลกๆ สิ่งที่รองรับกิจกรรมของเขามันก็จะแปลกไปด้วย แล้วเราจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไปด้วย มันก็จะรู้สึกดีตอนทำ รู้สึกโคตรมันเลย งานที่มันไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่ฟอร์มหวือหวา อันนั้นมันเป็นความมันในยุคสมัยก่อน ที่งาน Deconstruction เพิ่งมา อันนี้มันคือยุคใหม่แล้ว เราว่าความ ‘มัน’ มันคือการเลือกใช้อะไรมากกว่า เลือกใช้อะไรให้ถูกกับคน แล้วมันจะได้ประสบการณ์ของเขา เราก็ได้ หรือเราอาจจะเอาไปใช้กับคนอื่นได้ด้วย

 

Daybeds: นับว่าเป็นความกล้าไหมที่เราจะคิดงานออกมาในความต้องการแบบนี้จริงๆ คนที่ไม่อยู่แบบคนปกติ 

Ponwit: ใช่ เพราะว่าเขาเป็นฝรั่ง มีความชัดเจนของเขาด้วย อย่างเช่นงานศิลปะที่เขาสะสมภาพหนึ่ง ของ Gilbert&George เหมือนภาพทุกอย่างมันชัด สิ่งของที่เขามีอยู่ หรือว่าสังคมที่เขาอยู่ มันก็ตอบโจทย์ในเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว เขาก็แค่หยิบสิ่งเหล่านั้นมาเล่าให้เราฟัง เราก็แค่หยิบเรื่องนี้มาเล่าต่อจากเขาอีกทีหนึ่ง เขามีเครื่องมือของเขา เราก็มีเครื่องมือของเรา มันเลยทำงานด้วยกันได้ ลูกค้าที่น่ากลัวที่สุดคือลูกค้าที่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ชอบอะไร พวกนั้นจะน่ากลัวมาก คนเหล่านี้จะเปลี่ยนได้ตลอดเวลา อันนี้พูดเผื่อถามว่าลูกค้าแบบไหนที่กลัวที่สุด กับคนไทย การที่เราไม่ได้เป็นสถาปนิกเบอร์ใหญ่ เขาจะไม่เชื่อเรา 100% หมายถึงว่าเราต้องเหนื่อยหน่อย กว่าเราจะได้อะไร หลายๆ อันเราต้องสู้มากๆ ลูกค้าไม่เห็นภาพต้องหาวิธีทำให้ลูกค้าเห็นภาพให้ได้ ซึ่งกระบวนการตรงนั้นมันใช้พลังงานค่อนข้างเยอะ

 

Daybeds: การที่ลูกค้ามีสิ่งที่ต้องการอยู่แล้วหรือการทำ Research ทำให้การทำงานง่ายขึ้นหรือเปล่า 

Ponwit: ใช่ครับ ถ้าเราทำ Research บางอย่างไว้แล้ว และถ้าเจอลูกค้าที่มันคลิกพอดี เราก็เอาอันนั้นไปสวมได้เลย หรือในช่วงเวลาว่างๆ ที่ไม่มีงานหรือมีน้องๆ ฝึกงานมาก็จะให้ทำ Research อย่างเดียว แล้วเราจะเอาสิ่งที่น้องคิด หรืออย่างที่ผมเปิดให้ดูเรื่องการค้นคว้าอะไรพวกนี้ น้องเขาเป็นคนตัดขึ้นมาหมดเลย แล้วเราก็ไปดูว่าถ้าเราเจอเคสแบบนี้ในอนาคต เราจะหยิบมุกนี้มาใช้ เหมือนเราซ้อมมุกไว้ก่อนแบบตลก เราก็เหมือนตลกที่เก็บมุกไว้แล้วพร้อมที่ปล่อยตลอดเวลา รอจังหวะเจอคนที่เหมาะ ต้องขำมุกนี้ชัวร์ ก็สนุกดี

ภาพแสดงถึงฟังก์ชั่นของตึกแถวสมัยเก่า ซึ่งหลายๆ คนเติบโตมาจากพื้นที่แบบนี้จะรับรู้ได้ว่าบริเวณดาดฟ้าจะมีลูกกรงที่ครอบยาวตั้งแต่บริเวณผนังและเลื้อยมาเป็นฝ้าเพดานและสิ่งที่เราสามารถทำได้คือ การตากผ้าเท่านั้นเราเลยลองคิดต่อยอดว่าถ้ามีการปรับวิธีการใช้ของลูกกรงไห้สามารถตากผ้าได้และปรับมาเป็นพื้นที่นั่งพักผ่อนได้ด้วยกลไกบางอย่างน่าจะทำให้ดาดฟ้าตึกแถวที่ค่อนข้างน่ากลัวและไม่มีคนใช้กลับกลายมาสร้างมูลค่าทางการใช้งานให้แก่ตึกแถวเก่าแก่ได้

ภาพที่แสดงถึงแนวคิดเกี่ยวกับหน้าต่าง modular ตามคอนโดที่เราเห็นกันจะเป็นรูปแบบเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นบานกรอบอลูมิเนียมกระทุ้งสองหรือสามบานก็แล้วแต่ ทางผู้ออกแบบเลยนั่งคิดว่าถ้าเราสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของหน้าต่างได้ให้มีการใช้งานแบบ multifunction คือสามารถใช้ได้ขณะเปิดและปิดและทำไห้หน้าตาของคอนโดมิเนียมดูแปลกใหม่มากขึ้นอาจจะเป็นช่องทางในการเกิดโปรแกรมใหม่ๆ ของคอนโดที่ผุดขึ้นกันเป็นดอกเห็ดและหน้าตาคล้ายๆ กันหมด

อีกหนึ่งงาน Research ที่เคยได้ลองทำจริงมาแล้ว คืออิฐหกเหลี่ยมถูกเผาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์โปรแกรมของ guesthouse ย่านสาธร ที่เจ้าของเป็นคนที่รักสัตว์เลื้อยคลานมากและจะมีส่วนของตู้โชว์สัตว์เลื้อยคลานอยู่ในโรงแรม ซึ่ง shape ของอิฐดังกล่าวก็ถูกอุปมาอุปมัยมาจากลายของเกล็ดสัตว์เลื้อยคลานนั่นเอง

จากคำถามที่ว่ามีงาน Research ชิ้นไหนที่เคยได้ลองทำจริง แล้วพลวิทย์ยกตัวอย่างงานออกแบบคอนโดมิเนียมของ Mark มาอธิบายคอนเซ็ปต์ คือส่วน Outdoor living area เนื่องจาก Mark ชอบการอยู่อาศัยแบบเมืองร้อนเขาจึงย้ายมาอยู่ประเทศไทย เป็นเหตุผลให้โซนนี้ค่อนข้างใหญ่กว่าระเบียงทั่วๆไปของคอนโด โต๊ะเหล็กบางขนาด 3 มม. พับขึ้นรูปเพื่อเป็นบาร์เล็ก ๆ สังสรรค์มองวิวในตอนกลางคืน การพับ curve ขึ้นเป็นดีไซน์ด้วยและก็ยังเป็นฟังก์ชั่นกันของตกด้วย

เนื่องจาก Mark เป็นโรค insomnia เขาจึงต้องการพื้นที่การนอนแบบถ้ำ คือมืดหมดทุกด้านและป้ายตัวอักษรจีนแสดงถึงความเป็นมงคลก็ได้ถูกติดเอาไว้ที่หัวเตียงเพราะความเชื่อและความสวยงามที่ค่อนข้างแปลกตาเมื่อมาอยู่กับความโมเดิร์นลอฟท์

ห้องน้ำที่ทำลายความเป็นกริดของการปูกระเบื้องแบบเดิมเพื่อให้ไม่น่าเบื่อจนเกินไป

สเปซส่วน living and dining ซึ่งบริเวณโซฟามีม่านที่สามารถคลุมทึบได้เลยได้แนวคิดมาจากตู้นอนบนรถไฟที่สามารถคลุมปิดเมือต้องการพื้นที่ส่วนตัวได้

งานของศิลปินดูโอ Gilbert&George สร้างแรงบันดาลใจให้กับ Mark พร้อมกับมุมเล่น vinyl ของเขา

Daybeds: เมื่อพูดถึงงานออกแบบของ PHTAA Living Design ที่ผ่านมา อยากให้เล่าย้อนไปถึงงานออกแบบบูธ Hawaii Thai ในงานอาษาเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้ไหม 

Ponwit: งานหวายในงานอาษา โจทย์ที่เราได้มามันคือบูท Hawaii Thai มันเป็นบูทเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งสำหรับเราดูแล้วมันค่อนข้างเชย เหมือนเฟอร์นิเจอร์หวายที่แบบอยู่ตามโรงแรมเก่า ร้านอะไรก็มี เราก็เลยคิดว่า ถ้าเรา re-martial ขึ้นมาใหม่มันจะเป็นอย่างไร คือเขาจะมีหวายพลาสติก หวายเทียม เราก็เอาหวายเทียมเบอร์ที่มันต่างกันมาไล่ Transparent คอนเซ็ปต์มันเป็นบูธที่อยู่ในงานอาษา คือทุกคนจัดเต็ม ทุกคนบิดเลื้อยอะไรกันเต็มไปหมด เราก็เลยคิดว่าเราทำอะไรที่มัน Transparent ที่สุด Humble ที่สุด ถ่อมตนที่สุด น้อยที่สุด เบาที่สุด เราไม่ได้คิดว่าการทำอะไรขาวๆ มันเซฟมากหรือสวยชัวร์ แต่เรามีเหตุผลนะ เราทำเพราะว่าถ้าดูจากบูทใกล้ ทุกคนดูเยอะๆๆ มีไฟๆๆ เราก็เลยคิดว่าเราทำเหมือนให้คนมองผ่านได้ดีกว่า หมายถึงมองผ่านเราไปเลยแต่เขาก็ยังสะดุดตากับของเราอยู่

Harisadhi: มองผ่านแต่เป็น background ด้วย

Ponwit: เราทำทุกอย่างให้เบาที่สุด แล้วใช้วัสดุของเขามากที่สุด หมายถึงบูทนี้ลงทุนค่อนข้างน้อยมาก เพราะใช้ของตัวเองหมดเลย โครงเหล็กก็ใช้ของตัวเอง หวายก็ใช้ของตัวเอง อาจจะมีแค่ผ้าที่หามา ซึ่งมันก็ไม่ใช่ Big deal เท่าไหร่ ผมคิดว่าหลายๆ งานผมก็จะพยายามใช้วัสดุท้องถิ่นโดยที่ไม่ได้คัสตอม อีกอย่างคือผมคิดว่าการคัสตอมมันคือเงินที่แพง แล้วผมคิดว่าลูกค้าที่มาหาผม 30% เป็นลูกค้าที่ไม่ได้มีงบประมาณมาก 70 % คือมีงบพอประมาณ แล้วการที่เราไปคัสตอมให้เขาทุกอย่าง เราไปยัดเยียดให้เขาต้องเอาอันนี้นะ มันเป็นการทำร้ายเขาด้วย ถ้าเราใช้วัสดุที่เขามีอยู่แล้วหรือวัสดุตามท้องถิ่นแล้วมาคิดต่ออีกทีหนึ่งมันก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร พลอยเขาก็ปล่อยให้เรานั่งคิดกัน แบบพวกนี้เราก็คุยกันว่าเอาแบบนี้ไหม ยังมีอีกงานที่คอนเซ็ปต์เปลี่ยนหลายรอบมาก งานรีโนเวท Jim Thompson อันนี้โต๋เป็นคนทำ

 

Daybeds: ถ้าอย่างนั้นโต๋ คุณช่วยเล่าคอนเซ็ปต์ของงานชิ้นนี้ได้ไหม  

Thanawat: โปรเจ็กต์นี้ก่อนหน้านี้เป็นงาน Kickoff ที่ผมดึงพี่วิทกับพี่พลอยมาทำด้วย คือตอนนั้นทำไม่ไหว มันรีบมาก ใช้เวลาน่าจะสองอาทิตย์คิดงานทั้งหมด 5 ชั้น รวม façade ตอนนั้นไม่มีใครก็เลยทำกันอยู่สามคน Jim Thompson เป็นแบรนด์ผ้าไทย แต่ทุกคนจะคิดว่ามันโบราณ ซึ่งจริงๆ มันไม่เลย ดีไซเนอร์ในนั้นก็จะมีแต่คนที่คิดอะไรแปลกๆ หรือครีเอทีฟที่เก่งมากๆ ผมก็ไม่รู้ความเข้าใจของคนทั่วไปที่มองว่าเชย อาจจะเป็นเพราะว่าแบรนด์ดิ้งมันดูว่าอาจจะเก่าไปแล้วหรือปล่า เขาก็เลยพยามจะรีแบรนด์ตัวเอง ปรับจากที่มีแต่ผู้ใหญ่ที่ชอบ แล้วเอานักออกแบบรุ่นใหม่ๆ เข้ามามีความสนใจกับผลิตภัณฑ์ของเขามากขึ้น

ตอนแรกเขาจะเอาตึกแถวประมาณสามห้องทุบติดกันแล้วมาทำ ผมก็เลยนั่งคิดกับเพื่อนในทีมว่าจะทำอย่างไรให้มันรู้สึกว่าดึงความสนใจนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ผมก็พยายามใส่กิจกรรมที่สอดคล้องกับ ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ผนวกกับกลิ่นอายของเมืองร้อน ไม่อยากทิ้งมันไปเลยเพราะว่ามันเป็นผ้าไหม  สีไม้ สีอิฐ มันก็เป็น องค์ประกอบที่มันบ่งบอกถึงความเป็นประเทศเขตร้อน เราก็พยายามทำให้เข้าใจง่าย คือมันยังมีความรู้สึกของ jim Thompson อยู่แต่ไม่ได้ชัดจนเกินไปให้สถาปัตยกรรมภายในเป็น background ของโปรดักเค้าไปด้วยเพราะตัวโปรดักของเขาสีสันจะเยอะมากอยู่แล้ว

ด้วยความที่เป็นอาคารพาณิชย์โครงสร้างปกติไม่โดดเด่นผมเอาไม้มาตีหุ้มเสาและคานของอาคารให้มันได้อารมณ์บ้านไทย มันจะมีส่วนของ façade ที่มีเรื่องราวมาจากกี่ทอผ้า เอาเรื่องราวของเขามาปรับใช้กับ façade ของเราด้วยเป็นโปรเจกต์ conceptual ไม่ได้สร้างจริงแต่เป็นโปรเจคที่ท้าทายมากทั้งเวลาและข้อจำกัดต่างๆ ตอนนี้ได้ย้ายไปอยู่ที่ตึกสุรวงศ์เดิมเป็นงานรีโนเวท 3 ชั้น  เป็นโชว์รูม 2 ชั้นอีก 1 ชั้นเป็นสำนักงาน

รูปแสดงถึงการเลือกใช้วัสดุพื้นฐานของแบรนด์สินค้า Hawaii thai คือเส้นพลาสติกหวายเทียมที่ sizing ต่างกันมาสานเป็น pattern gradient ตามแบบเพื่อให้ตัวผนังของบูทสินค้ามีความโปร่งและเบาสามารถมองทะลุไปได้แต่ในขณะเดียวกันก็จะสะดุดตากับผนังไปพร้อมๆ กัน ส่วนตัวฝ้าเพดานของบูทใช้ผ้าซึ่งเป็นวัสดุพื้นฐานที่ทาง Hawaii thai มีอยู่แล้วเหมือนกันมาทำ ซึ่งข้อดีของมันคือ น้ำหนักเบา ติดตั้งและรื้อถอนง่าย สร้างความโปร่งเบาให้ตัวบูทไปด้วยกัน

Jim Thompson Showroom

Jim Thompson Showroom

Daybeds: สำหรับร้านตัดสูท Keaton งานนี้เป็นคอนเซ็ปต์ของใคร ใครเป็นผู้ชนะ 

Harisadhi: คิดกันหลายรอบมากนะ แต่สุดท้ายเป็นของพลวิทย์

Ponwit: หลังจากงบประมาณแบบแรกมีไม่ถึง เราจึงพยายามเสนอตรงนี้ให้เป็นวินเทจเหมือนกัน เราใช้วัสดุธรรมชาติที่หาง่ายหมดเลย ไม่ต้องคัสตอมอะไรเลย คอนเซ็ปต์มาจากหนังสือที่เราไปได้มาเล่มหนึ่งชื่อ ‘A Handbook of Weaves’ (A Handbook of Weaves by G.H. Oelsner.) มันคือหนังสือแสดงวิธีการทอผ้าแบบโบราณ ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1875 สมมุติถ้าคุณอยากได้ผ้าลายนี้ ไดอะแกรมมันจะบอกเราแบบหนึ่ง แต่ในตอนสุดท้ายเมื่อลายผ้ามันออกมาแล้ว มันจะ Mirror กับไดอะแกรมนะ ซึ่งมันค่อนข้างน่าสนใจมาก ภาพของผ้าที่เราเห็นด้านหน้ากับด้านหลังมันจะเป็น Invert กัน ถ้าเราเอาไดอะแกรมมาเล่นต่อ เราหยิบมาจากไดอะแกรมที่หนังสือมี เราคิดว่ามันเป็นอะไรที่เจ๋งมากเลยนะ เป็นไดอะแกรมที่ทำขึ้นมาให้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าใจได้

ลาย Polka dot ที่เกิดขึ้นมันก็คือสิ่งที่เรามองเห็น ที่เรามองไม่เห็นคือไดอะแกรมเหล่านี้ เราก็คิดว่าวิธีที่ง่ายที่สุดคือเราเอา Polka dot ออกข้างนอก แล้วเอาไดอะแกรมเข้าด้านใน มันก็จะได้ความเป็นจริงที่ข้างนอกมันเป็นลายจุด ข้างในเป็นไดอะแกรม แต่พอลองมาคิดอีกที วิธีการทอผ้ามันเกิดขึ้นจากการ Invert กันนี่นา เวลาที่คนจะทำตามหนังสือเล่มนี้ ภาพของลายผ้าที่ได้มันจะเป็นภาพที่ Mirror กับไดอะแกรม ก็เลยคิดว่าเราเอาไดอะแกรมกลับออกไปดีกว่า พอเรามีผนังและไดอะแกรมนี้เป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมกันแล้ว ต่อไปเราจะคิดง่ายขึ้น แปลว่า มันจะกลายเป็นเครื่องมือของเรา เป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างฉลาด หมายความว่าพอเรามีวิธีการนี้แล้ว ข้างในเราก็ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ เรามีคอนเซ็ปต์ของลายจุดที่จะไปปรากฏข้างใน แปลว่าถ้าจะแค่มีลายจุดไปโผล่ในที่ใดสักที่หนึ่งในอินทีเรียก็เพียงพอแล้ว เพื่อให้มันมีความเชื่อมต่อกัน ตอนนี้มันก็จะตอบโจทย์ทั้งหมด ว่าข้างนอกมันเข้ามาสู่ข้างในได้อย่างไร ที่ไม่ใช่ตัดแปะ หลายคนคิดว่าอินทีเรียคือการตัดแปะ แต่เราพยายามคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้มันตัดแปะขนาดนั้น ให้มันผ่านเข้ามาหากันได้จึงเกิดเป็นภาพนี้ขึ้นมา

ตอนแรกร้านนี้เขาบอกว่าอยากได้กระจกหมดเลย ผมก็ถามเขาว่าถ้าเป็นกระจกหมดเลย คุณจะให้ผมดีไซน์อะไรล่ะ เราเข้าใจนะว่าเป็นร้านขายของ แต่มันควรเป็นอะไรที่ดูเซ็กซี่นิดหนึ่ง เราคิดว่าสูทที่ดูเซ็กซี่ คนที่ใส่เป็นผู้ชายต้องเซ็กซี่นิดหนึ่ง เท่ ให้มันเห็นวับๆ แวมๆ ดีไหม เราว่ามันน่าสนใจกว่าเปิดให้เห็นทั้งหมดตั้งแต่แรก

Keaton ร้านตัดสูทในลุควินเทจคอนเซ็ปต์เจ๋งที่จงใจกลับด้าน façade อาคารที่หยิบยืมไดอะแกรมของงานทอผ้าโบราณลาย ‘Polka Dot’ มาเป็นเครื่องมือในการสานสัมพันธ์ระหว่างผนังทั้งสองด้านเข้าด้วยกัน โดยให้เปลือกอาคารภายนอกแสดงออกถึงเส้นกริดและไดอะแกรม ซึ่งจะให้ภาพผกผันกับลายผ้าด้านสมบูรณ์ที่กลายมาเป็นผิวผนังลายจุดด้านใน

Keaton

Keaton ร้านตัดสูทในลุควินเทจคอนเซ็ปต์เจ๋งที่จงใจกลับด้าน façade อาคารที่หยิบยืมไดอะแกรมของงานทอผ้าโบราณลาย ‘Polka Dot’ มาเป็นเครื่องมือในการสานสัมพันธ์ระหว่างผนังทั้งสองด้านเข้าด้วยกัน โดยให้เปลือกอาคารภายนอกแสดงออกถึงเส้นกริดและไดอะแกรม ซึ่งจะให้ภาพผกผันกับลายผ้าด้านสมบูรณ์ที่กลายมาเป็นผิวผนังลายจุดด้านใน

Daybeds: ในวัยยังไม่ถึง 30 พวกคุณพร้อมแค่ไหนกับการออกมาเปิดออฟฟิศกันเองซึ่งต้องแบกรับปัญหาและภาระที่เพิ่มขึ้น 

Ponwit: ทุกวันนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่เลย (ทั้งสามคนหัวเราะ)

Thanawat: ผมรู้สึกว่าอาชีพเราเป็นอยู่กับการแก้ปัญหาอยู่แล้ว ทุกวันมีปัญหาตลอด วันไหนเกิดปัญหาเครียด ๆ เราก็จะคอยเตือนสติกันตลอดว่ายังไงงานเราก็หนีอะไรแบบนี้ไม่ได้หรอก เหมือนมันคือการแก้ปัญหาไปพร้อมกับการทำงาน ยังไงมันก็ต้องมีขึ้นอยู่กับว่ามันเป็นเรื่องอะไรมากกว่า

Ponwit: ทุกครั้งที่มีปัญหา พอได้ยินคำนี้ ผมก็โอเค เดี๋ยวเรื่องนี้มันก็จะผ่านไปเอง ต่อให้คุณอึอ๊ะอยู่กับเจ้าของเอย กับช่างเอย หรือกับผู้รับเหมาเอย สักพักหนึ่งเดี๋ยวมันก็จะผ่านไปเอง

 

Daybeds: พลอยละครับ ทั้งเขียนหนังสือ วาดภาพประกอบ ทำอินทีเรีย จัดสรรเวลาการทำงานอย่างไร  

Harisadhi: ก็สลับกัน แต่พลอยคิดว่าทุกอย่างมันเอื้อกัน อย่างงานเขียน เรา specific ไปเลยว่ามันเป็นงานเกี่ยวกับดีไซน์เชิงอาร์คิเทคเจอร์โดยเฉพาะ แล้วมันก็จะเป็นโอกาสที่เราจะได้ไปที่ใหม่ๆ หรือได้ไปคุยกับคนอื่นที่อยู่ในฟีลนี้ หรือได้ไปทริป หรือเจอเทรนด์โลกมันเป็นอย่างไร ซึ่งมันก็สามารถมาปรับใช้กับงานได้ ส่วนงาน illustration ก็ค่อนข้าง specific เลยว่า งานอาร์คิเทคเจอร์และงานอินทีเรีย ซึ่งมันก็ลิ้งค์ซึ่งกันและกัน เราสามารถเก็บสิ่งตรงนั้นมาใช้ในงานออกแบบ

 

Daybeds: ให้นิยามการทำงานของ PHTAA Living Design หน่อยว่าคืออะไร

Thanawat: เวลาเราทำงานกันเราจะเถียงกันจะเป็นตาย เหมือนมีความรุนแรงทางความคิดของแต่ละคนค่อนข้างมาก แต่เราเชื่อเสมอว่าถ้ายอมกันงานมันจะออกมาแบบประนีประนอมมันก็จะไม่น่าสนใจ แล้วก็พวกเรามีเซ้นส์ที่ชอบอะไรแปลกๆมากกว่า เหมือนจิ้งจกที่ปรับตัวไปตามสภาพของงานได้ด้วยไม่ได้ยึดติดรูปแบบใดๆ

Harisadhi: มันอยู่ที่โอกาสมากกว่า  หมายถึงอาจจะเป็นลูกค้าที่งบประมาณมาเท่านี้ ซึ่งสมมุติว่าเราเป็นสถาปนิกที่ดังแล้วมันก็จะงบไม่อั้น สเป๊กต์เฟอร์นิเจอร์ของนู่นนั่นนี่อะไรก็ได้ แต่ว่างบประมาณในแต่ละโปรเจ็กต์ที่ได้มันแตกต่างกัน ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละข้อจำกัดที่ทำให้เกิดอะไรขึ้นมาสักอย่าง เราว่ามันอาจจะเป็นยุคก็ได้นะ ในช่วง 10 ปีนี้งานเราอาจจะเป็นแบบนี้ อีก 10 ปีข้างหน้ามันอาจจะมีแนวความคิดที่เปลี่ยนไป หรือว่าบริบทข้างนอกที่มันเปลี่ยนไปเอฟเฟกต์มาถึงงาน อย่างเปรียบเทียบก็เหมือนปิกัสโซ่ที่วาดภาพแต่ละภาพมันก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์

 

Daybeds: เป้าหมายในการทำงานต่อจากนี้ หรือการเพิ่มจำนวนสมาชิกในอนาคต 

Thanawat: ออฟฟิศคงไม่ใหญ่ไปกว่านี้แล้ว ผมไม่ชอบออฟฟิศที่ใหญ่มาก ชอบคนน้อยๆ ทำงานสบายๆ

Ponwit: พอสเกลเล็กๆ แล้วมันได้ทำอะไรครบถ้วนดี พอสเกลใหญ่ปุ๊ป สมมุติคุณทำ Research เรื่องหนึ่งอยู่ คนทำ Research ก็ทำ Research ไปเลย คนทำชิ้นงานนี้อยู่ก็ทำงานชิ้นนี้ไปเลย แล้วไอ้สิ่งที่เขา Research มาให้คุณ บางที 100% มันได้ใช้แค่ 20% หรือเปล่า หรือแทบไม่ได้ใช้เลยด้วยซ้ำ ผมเลยคิดว่าคนเดียวทำไปด้วย Research ไปด้วย แล้วมาเล่าให้เพื่อนฟัง แล้วให้คนอื่นช่วยต่อยอด ผมว่าวิธีนี้ดีกว่า มันก็เลยเป็นการตอบโจทย์ว่าคนน้อยมันดีกว่า

 

Daybeds: ถ้าเกิดวันหนึ่งงานเยอะขึ้นหละ เกิดรับงานมาชนกัน 2-3 งานจะทำกันไหวไหม

Ponwit: ทุกวันนี้ก็ประมาณนั้นครับ หนึ่งปีที่ผ่านมาค่อนข้างเหนื่อยมาก เพราะเรายังไม่รู้ลิมิตตัวเอง เรารับทุกงานที่น่าสนใจ พอรับมาปุ๊ปเราเหนื่อยมาก ทีนี้พอปีต่อไปเราก็คิดว่าเราจะเลือกมากขึ้น คือไม่ได้บอกว่าเราเลือกได้นะ แต่เราจะเลือกมากขึ้น เลือกที่เหมาะกับเราจริงๆ ที่เราถนัด เพราะเราเคยรับที่เราไม่ถนัดแล้ว พอทำมันก็เป็นความทุกข์ทรมานของเราด้วย ของน้องด้วย

 

Daybeds: อยากทำอะไรเป็นพิเศษ

Ponwit: ผมคิดกับพลอยและโต๋ว่าเรากำลังจะผลิตประตูหน้าต่างของตัวเองขึ้นมาซึ่ง ปกติเวลาพวกเรานักออกแบบทำอาคารขึ้นมาสักหลังก็ต้องหา supplier ที่ผลิตประตูหน้าต่างหน้าตาก็จะออกมาคล้ายๆ กัน ถ้าคุณใช้เจ้าเดียวกัน อย่างเช่นคอนโดทำไมต้องใช้บานกระทุ้งหน้าตาแบบนี้ บานเปิดขนาดนี้ เหมือนกันไปหมดจนน่าเบื่อ ตอนนี้เราก็มี mock up เก็บไว้บ้างแล้วรอการพัฒนาต่อไปครับ

Daybeds: เกิดปัญหาในกระบวนการทำงานกับผู้รับเหมาบ้างไหม

Ponwit: ไม่ค่อยมีนะ ผมจะมีผู้รับเหมาเจ้าประจำอย่าง ผู้รับเหมาคนที่เขาทำศาลาอยุธยา แล้วก็ทำบ้าน overlapping ให้ด้วย เขาก็ค่อนข้างผ่านงานที่มีโครงสร้างที่แปลกมา เขาก็จะมีคนที่เข้าใจว่า งานแบบนี้นะ คานมันจะใหญ่แบบนี้ไม่ได้หรอก

ภาพของห้องนอนในบ้าน Overlapping House (ออกแบบสถาปัตยกรรมโดย VasLab) ที่มีการแก้ปัญหาของเสปซที่หักมุม ด้วยการเพิ่มฟังก์ชั่นลงในพื้นที่อีก 1 ฟังกชัน คือส่วนนั่งกินน้ำชาด้านหลัง back ของหัวเตียงที่ออกแบบมาเป็นระแนงซ้อนกันสองชั้น

บานประตูซึ่งแสดงเป็นตัวชื่อต้นของ เจ้าของบ้าน Overlapping House คือคุณยุวลีย์

ภาพผลงานการออกแบบบ้าน Overlapping House ที่แสดงถึง void ในบริเวณโถงพักผ่อนกลางของแม่บ้าน ซึ่งแต่เดิมจะเป็นผนังทึบและอยู่ชั้นค่อนจะใต้ดินทางผู้ออกแบบภายในจึงแก้ปัญหาโดยการดีไซน์ช่องแสง แนวตั้งและลายหมากรุกซ้อนกัน จึงให้เอฟเฟ็กต์แสงที่ไม่ได้เข้ามามากนักแต่ก็สร้างชีวิตชีวาให้กับโซนนี้ได้มากขึ้น

Daybeds: โต๋ล่ะคุณอยากทำอะไรเป็นพิเศษ

Thanawat: ผมไม่จำกัดงานนะ อะไรก็ได้ ถ้าเกิดมันน่าสนใจก็ทำได้หมด หรือบางอย่างมันไม่น่าสนใจก็ทำให้มันน่าสนใจก็ได้ บางทีได้งานที่น่าเบื่อๆ มาอาจจะทำให้ดีขึ้นด้วยวิธีการของเราได้ จริงๆ เหตุผลที่เรามาร่วมทีมกัน เพราะเราอยากทำงานที่เราอยากจะทำจริงๆ เพราะเวลาทำงานในองค์กรอื่นมันก็จะมีทิศทางของเขาอยู่ เป็นไดเร็กชั่นของเขาอยู่ซึ่งมันก็สอนอะไรเราเยอะ แต่ถึงเวลาพอเราทำงานไปสักพัก 4-5 ปี เราก็จะรู้แล้วว่า จริงๆ เราอยากทำแบบนี้ บางทีเราเปิดแมกกาซีน อันนี้แม่งมันมากเลยว่ะ ทำไมไม่ได้ทำสักทีวะ

Harisadhi:  จริงๆ มันเป็นเรื่องที่ดีที่เราทำออฟฟิศอื่นมาก่อน เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะทำอย่างไร แต่ว่าตอนนี้งงมากเลยที่เด็กจบใหม่แล้วออกมาทำเองได้

Ponwit: ใช่ๆ อย่างเรามันต้องทำมาอย่างน้อย 5 ปี โดยประมาณ แล้วพวกเด็กที่เพิ่งจบออกมาแล้วทำเลย เราคิดว่ามันน่ากลัวมากเลยนะ เพราะว่าคุณก็จะได้ทำร้านกาแฟไปเรื่อยๆ แล้วคุณก็จะเป็นดีไซน์แบบไม่ลึกซึ้ง แล้วพอปล่อยไปนานๆ มันจะเป็นอันตรายนะในวงการออกแบบต่อไป เพราะเขาจะรู้ไปอย่างนั้นเรื่อยๆ แล้วพอยิ่งมี StartUp เข้ามา มันยิ่งทำให้คนเรารู้สึกว่าอยากทำเอง เราต้องออกมาสู้นะเว้ย คือมันทำได้ แต่อาชีพนี้มันไม่ใช่อาชีพที่จะทำอย่างนั้นได้ มันเป็นอาชีพที่ต้องเก็บประสบการณ์ อย่างน้อยคือคุณต้องทำงาน 5 ปี ซึ่ง 5 ปี ผมว่ามันยังไม่มากพอเลย แต่ว่ามันก็มากพอที่เราจะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างได้แล้ว แต่ถ้า 1-20 ปีแล้วออกมาทำเองเลยเราว่าไม่ค่อยเวิร์ก

 

Daybeds:  พลอย คุณเริ่มทำงานก่อนแล้วจึงไปเรียนต่อ คุณมองว่าการเรียนต่อมีส่วนช่วยให้การทำงานดีขึ้นบ้างไหม 

Harisadhi:  กับการทำงานจริง เราว่าในเชิง technical ออฟฟิศให้อะไรเรามากกว่าการไปเรียนต่อ แต่การไปเรียนต่อเหมือนกับการไปดูโลกว่ามีอะไรบ้าง เหมือนสร้างแรงบันดาลใจ ได้รู้อะไรที่ไม่รู้ แต่ถามว่าวิธีคิดเปลี่ยนไปไหม ก็เปลี่ยน

 

Daybeds: ที่ Domus Academy มีวิธีการสอนต่างจากในไทยไหมในเรื่องวิธีคิด

Harisadhi:  คล้ายๆ แต่เขาเหมือนสอนคนที่โตแล้ว จริงๆ มันก็เหมือนคนทำงานในออฟฟิศนะ เหมือนเราจะได้ทำกับคนที่แตกต่างกัน เป็นคนละชาติ วัฒนธรรมมันก็ต่างกัน เป็นประสบการณ์มากกว่า บางทีมันไม่ใช่ได้ความรู้ว่าจะเขียน cad อย่างไร หรือว่าจะก่อสร้างอย่างไร แต่ว่าเรารู้วัฒนธรรมของคนอื่น ชาติอื่น ที่มันคล้ายเกล็ดเล็กเกร็ดน้อยรวมๆ กัน เหมือนกับไปเรียนรู้ในที่ที่ไม่ใช่บริบทที่เราเคยอยู่ตั้งแต่เด็กแล้วโตขึ้นมา กลับมาแล้วโลกเปลี่ยนนะ ตอนอยู่ที่นั่นว่างมากด้วย เหมือนกับเราไม่ได้อยู่บ้านที่ต้องมีพ่อ แม่ คนในครอบครัวบอกว่า วันเสาร์ตอนเย็นต้องไปกินข้าวด้วยกัน ไม่มีกิจกรรมที่เราไม่จำเป็นต้องทำ หมายถึงกิจกรรมทางด้านจิตใจนะ วาดรูปมันก็เกิดมาจากเราไปอยู่ที่นู่น เพราะก่อนหน้านั้นก็ไม่เคยวาดเลย แล้วก็ไม่คิดว่าตัวเองจะวาดรูปได้ด้วย มันเริ่มมาจากไปเที่ยวแล้วมันให้แรงบันดาลใจ เราไปคนละสถานที่มันก็เหมือนกับว่าบรรยากาศมันต่าง เหมือนเป็นการบันทึกอย่างหนึ่ง มันมีช่วงหนึ่งที่ไปเที่ยวเยอะมาก ไปหลายประเทศ

 

Daybeds: ในความเห็นของคุณ พื้นที่สาธารณะหรืออาคารสาธารณในต่างประเทศที่คุณเดินทางไปท่องเที่ยวหรือได้พบเจอ กับอาคารสาธารณะในบ้านเราปัจจุบันแตกต่างกันมากน้อยอย่างไร 

Harisadhi:  ในความคิดเห็นส่วนตัว เราว่าเมืองไทยเริ่มดีขึ้นแล้วนะ มันก็อาจจะเป็นช่วงแค่ไม่กี่ปีที่ได้ยินชื่อสถาปนิกระดับโลกมาออกแบบทำงานในเมืองไทย ซึ่งก่อนหน้านี้มันไม่มีเลย ก็แสดงว่าคนเริ่มเข้าใจความสำคัญของงานดีไซน์ของงานสถาปัตยกรรมมากขึ้น ดีเวลล็อปเปอร์เขายอมจ่าย ถ้าเป็นแต่ก่อนเขาใช้ใครก็ได้ แต่ว่าตอนนี้มันกลายเป็นเทรนด์ใหม่ อย่างแสนสิริจ้าง Philippe Starck เข้ามา ทุกคนก็ตื่นเต้น แสดงว่ามันก็ตื่นเต้นตั้งแต่ดีเวลล็อปเปอร์ที่มีเงิน มาจนถึงผู้ซื้อที่เป็นคนทั่วไป

Ponwit: ในประเทศไทย นักออกแบบต่างชาติเข้ามาทำงานออกแบบได้แค่ Conceptual design แล้วมี Local Architect ทำต่อ อย่างหลายๆ อาคารที่เกิดขึ้น แต่ผมว่าดีนะ คนไทยจะได้เห็นได้รู้อะไรมากขึ้นว่าความ luxury ของอาคารอาจจะไม่ได้จำเป็นเสมอไปที่จะต้องใช้วัสดุราคาแสนแพง หรือดูแพงแต่อาจจะเกิดจากการให้มูลค่าทางความคิดของผู้ออกแบบมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายคนไทยก็จะสามารถรับรู้ได้เองว่าความจริงสถาปนิกไทยก็มีความสามารถในการทำงานเทียบเท่ากับสถาปนิกจากต่างประเทศนั่นเอง

Leave A Comment