PARK OF NAI LERT
เรียบง่าย ร่มรื่นท่ามกลางความทรงจำ
Text: อุบลวดี พงษ์ทองวัฒนา
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ
เดิมบ้านนายเลิศ เป็น Private Residence ของพระยาภักดีนรเศรษฐ หรือนายเลิศ เศรษฐบุตร และท่านผู้หญิงสิน เศรษฐบุตร ซึ่งเป็นคุณทวดของ คุณณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร เมื่อท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ถึงแก่กรรม ครอบครัวก็เร่ิมคิดกันว่า จะทำอย่างไรกับ บ้านนายเลิศ
คุณเล็ก ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมบัติเลิศ จำกัด ในเครือนายเลิศกรุ๊ป เล่าว่า ที่นี่เป็นสมบัติล้ำค่า สำหรับครอบครัวเราทุกคน โดยเฉพาะคุณยาย ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ บุตรสาวคนเดียวของคุณทวด(นายเลิศ เศรษฐบุตร) คุณยายอยู่ที่นี่นานที่สุด ตลอดชั่วชีวิตของท่าน ตั้งแต่ท่านเกิดจนถึงวันสุดท้ายของคุณยาย คุณทวดมาสร้างบ้านหลังนี้ เมื่อปี ค.ศ. 1915 ท่านอายุประมาณ 50 ปี แต่คุณยายอยู่ตั้งแต่เกิด ชั่วชีวิตอยู่มา 91 ปี พอคุณยายจากไป ครอบครัวก็หารือกันว่า จะทำอะไร กับบ้านหลังนี้ดี คุณป้ากับคุณแม่ (คุณพิไลพรรณ สมบัติศิริ และคุณสัณหพิศ โพธิรัตนังกูร) ออกความคิดเห็นว่า เราน่าจะทำเหมือนที่คุณทวด คุณยาย ทำไว้ คือต้องการทำเพื่อสังคม ต้องการให้คนทั่วไป ได้รับรู้ว่า บ้านไม้ทรงไทย เป็นอย่างไร คนโบราณเขาอยู่กันอย่างไร เราจึงตัดสินใจเปิด บ้านโบราณของนายเลิศ ให้เป็นเหมือน Living Museum เป็น Heritage Home
ณ วันนี้เราอาจคุ้นตาว่า บ้านนายเลิศ อยู่กลางใจเมือง แต่ในสมัยก่อนช่วงปี พ.ศ 2458 ความเจริญยังอยู่แถบริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถวเจริญกรุง เพราะการค้าขายยังคงเป็นทางเรือ ถนนวิทยุที่ตั้งบ้านนายเลิศ เป็นชานเมืองที่เดินทางออกมาไกลมากพอสมควร และนายเลิศสร้างบ้านหลังนี้เพื่อเป็นที่พักตากอากาศ บนที่ดิน 20 ไร่ จึงเป็นบ้านท่ามกลางสวน ต้นไม้ร่มรื่น มีทั้งต้นไม้ที่อยู่กับที่ดินแต่เดิม และส่วนที่ครอบครัวนายเลิศปลูกขึ้นใหม่ และที่ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ปลูกเพ่ิมเติม เพราะท่านรักต้นไม้มากเช่นกัน
เมื่อเราตัดสินใจเปิดบ้านให้เป็นสาธารณะ ให้คนเข้ามาชมได้ เราก็ต้องมีตัวอาคารที่จะเป็นส่วนต้อนรับ มีร้านอาหาร มีที่นั่งเล่นชมสวน เดินเล่นที่สนามหญ้า การออกแบบอาคารขึ้นใหม่ท่ามกลางสวน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ เดิมเรามีทางเข้าหลักอยู่สองทางคือ ซอยสมคิด และถนนวิทยุ ซึ่งหน้าบ้านจริงๆ ของบ้านนายเลิศอยู่ตรงซอยสมคิด อยู่ติดคลองมีสะพานข้ามคลองเข้าบ้าน เดิมสะพานจะยกเพื่อให้เรือรอดผ่านสัญจรในคลองแสนแสบ แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว แต่ก็ยังคงสภาพเหมือนเดิมทุกอย่าง ความตั้งใจของเราคือ ต้องการเก็บความทรงจำทุกอย่างของครอบครัวไว้ ให้เหมือนเดิม ถึงจะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา แต่เราก็เชื่อมต่อให้เข้ากับความทรงจำของครอบครัว
คุณพิภพ แก้วสถิตพรชัย Managing Director ทีมสถาปนิกและทีมออกแบบจากบริษัท Search Office เล่าให้ฟังถึงแนวความคิดในการออกแบบ ว่า โจทย์ที่ได้รับมาคือ ต้องการอาคารที่เป็นเหมือน Reception Hall สำหรับบ้านนายเลิศหลังจากทางครอบครัวต้องการเปิดบ้านโบราณนายเลิศ ให้เป็น Public เข้าชมได้ เข้ามาพักผ่อนในสวนได้ ต้องการให้มีร้านอาหาร เพื่อรับรองลูกค้า ที่ต้องการมาพักผ่อนสบายๆ ภายในสถานที่นี้ โดยตัวอาคารจะต้องไม่บดบังความสวยงามของบ้านโบราณ และต้องเป็นส่วนหนึ่งของสวนที่ร่มรื่น คือ ต้องไม่ตัดต้นไม้ใหญ่เลย
สำหรับผมๆมองว่า เป็นโจทย์ท้าทาย ครั้งแรกที่เราไปสถานที่จริง ตอนนั้นต้นไม้ยังเยอะกว่านี้มาก มีต้นไม้ใหญ่ เป็นป่ากลางเมืองที่ร่มรื่นมาก เราจึงออกแบบให้สถาปัตยกรรม เป็น Disappear Concept เรียบง่าย ไม่แสดงตัว แต่เป็นส่วนหนึ่งท่ามกลางธรรมชาติมากกว่า ลูกค้าและทีมงานจึงเห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกันว่า จะออกแบบให้เป็นเรือนกระจก ที่สามารถมองทะลุผ่านไปเห็นบ้านโบราณ การออกแบบตัวอาคารจะเป็นลักษณะโค้ง เพื่อหลบเลี่ยงการรบกวนต้นไม้ใหญ่ มีการออกแบบให้ต้นไม้แทรกตัวขึ้นมา ตรงส่วนของทางเดิน ระเบียงนั่งพักผ่อน เพื่อเป็นร่มเงา และสามารถคลอบคลุม บดบังตัวอาคารไม่ให้โดดเด่นจนเกินไป ตามแนวความคิดของ Disappear รูปฟอร์มต้อง Simple มาก ตัวอาคารเป็นกระจกใสเกือบทั้งหมด สิ่งที่จะมองเห็น คือหลังคากับพื้น ที่เป็นคอนกรีตสแลป มีเส้นสายของโครงเหล็กเพียงบางจุด เพราะเราไม่ต้องการสร้างอะไรที่ไปแข่งกับธรรมชาติ
ตัวอาคารของเรือนกระจกยกพื้นสูงไม่แตะกับดินเลย เพื่อไม่ให้ไปรบกวนต้นไม้ ที่แผ่รากฝังลึกที่นี่มานานนับร้อยปี ส่วนของนายเลิศ สโตร์ จะมีกระจกรูปทรงโค้งมนกว่าโซนอื่น เพราะบริเวณนั้นมีต้นไม้ใหญ่หนาแน่น เป็นการหลบซ่อนตัวให้โค้งกลมกลืนไปกับธรรมชาติ แต่ก็ดึงดูดใจชวนค้นหา เพราะต้องเข้าไปใกล้ๆถึงจะมองเห็นว่า ด้านในเป็นร้านดอกไม้และขายของที่ระลึก นายเลิศ สโตร์ เป็นชื่อห้างเก่าของนายเลิศ ที่ทันสมัยมากในสมัยก่อน มีสินค้าจากต่างประเทศมากมาย และนายเลิศ ก็เป็นพ่อค้าคนแรกที่นำนำ้แข็งมาให้คนไทยได้รู้จัก เมื่อสร้างร้านใหม่จึงใช้ชื่อนี้ เพื่อระลึกถึงอดีตของตระกูล
ห้องอาหาร Ma Maison ห้องวีไอพี และระเบียง อยู่ปีกซ้ายที่มีต้นไม้ใหญ่ หนาแน่นน้อยกว่า พื้นที่จึงมีขนาดกว้างขวาง สไตล์การออกแบบเป็นกระจก แต่มีลูกเล่นของงานเหล็กที่เดินเส้นให้มีลวดลาย เพ่ิมความอ่อนโยนในความทันสมัย ให้รับกับความเป็น Heritage ของบ้านโบราณ พื้นและหลังคาออกแบบเป็นคอนกรีตสแลบ คุณพิภพ แก้วสถิตพรชัย ให้เหตุผลว่า เนื่องจากส่วนบนของอาคาร จะปกคลุมด้วยต้นไม้ ก่ิงไม้ใหญ่หล่นตลอดเวลา ถ้าทำหลังคาเบาหรือบาง โอกาสที่ก่ิงไม้ใหญ่จะหล่นลงมาสร้างความเสียหาย เป็นไปได้มาก หลังคาจึงต้องสามารถรองรับ ลมพัดแรง ถ้ากิ่งไม้หักลงมา ต้องไม่ทำให้ตัวสถาปัตยกรรมเสียหาย
ส่วนการออกแบบอินทีเรียก็เป็นความตั้งใจของลูกค้า ที่ต้องการให้ตกแต่งสบายๆ ดูอบอุ่น รสนิยมที่ดีและความเข้าใจในเรื่องของการออกแบบ ของทางครอบครัวตระกูลนายเลิศทุกท่าน ช่วยให้เราทำงานได้สะดวก และง่ายขึ้นมาก เพราะทุกท่านจะมีไอเดีย มาเสริมเติมแต่งให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ ภายในห้องอาหาร Ma Maison ของประดับตกแต่งส่วนใหญ่เป็นของเก่า ของสะสมของตระกูล ซึ่งนำมาประดับได้อย่างลงตัว โต๊ะขนาดใหญ่กว่าสี่เมตรตรงกลางของร้าน ก็เป็นโต๊ะเก่า ที่หายากมากแล้วในสมัยนี้ ซึ่งเข้ากันได้ดีกับความทันสมัย เมื่องานเสร็จทีมงานทุกคนภูมิใจมาก ที่ทุกอย่างแทรกตัวไปกับธรรมชาติได้อย่างสวยงาม เป็นป่ากลางเมืองขนาดใหญ่ ที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ไว้
คุณเล็ก ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร กล่าวว่า ต้องการให้ที่นี่เป็นสถานที่พักผ่อนของคนที่มีที่พักในบริเวณใกล้เคียง และคนทั่วๆไป ที่ต้องการดื่มด่ำกับธรรมชาติ เล็กคิดว่า ต้นไม้ใหญ่ๆ ที่นี่หลายต้น มีเรื่องราว มีความร่มรื่น ความสงบ เป็น Digital Detox ถ้าเล็กมาเดินแถวนี้ จะพยายามไม่ยุ่งกับมือถือเลย เดินพักผ่อนสบายๆ คนเราเดี๋ยวนี้ ต้องอยู่กับธรรมชาติบ้าง เห็นสีเขียว สบายตา สบายใจ คือ ถ้าทำงานคิดอะไร ไม่ออก ออกมาเดิน มันจะผ่อนคลาย แขกหลายท่านที่มาที่นี่ไม่ได้มาแค่ดูบ้าน มาทานอาหาร หรือมาพักผ่อนในสวน แต่มาศึกษาประวัติต้นไม้มาดูต้นไม้จริงๆ เพราะต้นไม้ของเรามีประวัติ มีเรื่องราว ต้นมั่งมี ต้นอินจัน ต้นสมพง ที่สูงเป็นอันดับสองในกรุงเทพ เป็นต้นไม้ป่าอายุมากกว่า 100 ปี ตั้งแต่สมัยคุณทวดยังมีชีวิตอยู่ คุณทวดรักธรรมชาติมาก ต้นไม้ที่บ้านนายเลิศ เยอะที่สุดคือ ต้นไทร คุณทวดบอกว่า ปลูกต้นไทรไว้ นกจะได้มากินลูกไทร แล้วไปช่วยแพร่พันธุ์ต่อ เติบโตขึ้นมาให้ร่มเงาแก่ผู้คน ต้นไม้ทุกต้น คุณทวดจะบันทึกชื่อว่า ชื่ออะไร อยู่มากี่ปีแล้ว รากยาวขนาดไหน และความหมายของต้นไม้ต้นนั้นคืออะไร เราก็จะอนุรักษ์ ในสิ่งที่คุณทวดสร้าง ตั้งแต่แรก เรากำลังสำรวจกันอย่างจริงจังว่า ต้นไม้ที่นี่ มีต้นอะไรบ้าง เป็นต้นเก่าแก่จากอดีตสมัยคุณทวด และก็มีต้นที่คุณยายปลูกใหม่อีกด้วย ก็จะบันทึกเก็บไว้ เช่นเดียวกับที่คุณทวดเคยทำไว้”
ธรรมชาติช่วยชะล้างจิตใจ ให้รู้สึกสบาย ผ่อนคลาย อดีตและความทรงจำ ทำให้หัวใจอ่อนโยน และนุ่มนวล ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รายล้อม บนที่ดินผืนใหญ่กลางเมือง ยังมีความร่มรื่นของป่า ให้ละสายตาจากจอมือถือ มาอ่านอดีต มาเป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่มีความหลากหลาย ความสงบเพียงไม่กี่นาที จะทำให้คุณหันไปมองต้นไม้ ใกล้ตัวมากขึ้น แทนที่จะก้มหน้ามองแต่ความสมัยใหม่ เพราะแท้จริงเราต้องการความเงียบของธรรมชาติ เพื่อเพาะความสงบสุขให้กับใจของเรา