PAL’S / POAR
Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: พัชระ วงศ์บุญสิน
Architect, Interior Architect, Landscape Architect, Construction Manager : POAR
Structural Engineer: Basic Design, Lighting Designer: Gooodlux
ผ่านประสบการณ์การทำงานกับสถาปัตยกรรมมายาวนาน เริ่มจากบ้านหลังเล็กๆ ในขนาดราว 50 ตารางเมตรที่ออกแบบร่วมกันในนามของ ‘POAR’ บ้านหลังล่าสุดหลังนี้เป็นหลังที่ 4 ในบรรดาผลงานบ้านพักอาศัยที่สร้างเสร็จแล้วทั้งหมดของพวกเขา สำคัญยิ่งกว่านั้นเพราะบ้านหลังนี้พวกเขาไม่เพียงทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นเจ้าของบ้านเองอีกด้วย
ในระยะเวลาพัฒนาที่ยาวนานถึง 4 ปี คุณโจ้ – พัชระ วงศ์บุญสิน และคุณนิ้ม – อรณิชา ดุริยะประพันธ์ สองสถาปนิกแห่งบริษัท ‘พอ สถาปัตย์ (POAR)’ เพิ่งจะสร้างบ้านหลังใหม่แล้วเสร็จบนที่ดินที่ติดกันกับบ้านเดิมของครอบครัวฝ่ายหญิงที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยเด็ก เบื้องหลังถนนประเสริฐมนูกิจ (เกษตร-นวมินทร์) ที่พลุกพล่าน บ้านหลังใหม่หลังนี้กลับมีละแวกบ้านที่เงียบสงบจนยากที่จะเชื่อว่ายังมีสถานที่แห่งนี้ซุกซ่อนอยู่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร หรืออาจเป็นเพราะพื้นที่ครึ่งหนึ่งของบ้านนั้น นักออกแบบทั้งสองยอมมอบให้กับ ‘ต้นไม้’ ร่วมอาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกันกับพวกเขาก็เป็นได้
ในบริเวณบ้าน แหงนมองขึ้นไปบ้านหลังใหญ่ ใต้ชายคาและร่มไม้ เบื้องหลังผืนกระจกบานยาว คือห้องนอน 2 ห้อง ที่วางตัวตลอดด้านยาวของบ้านรวม 13 เมตรสถาปนิกวางห้องนอนทั้งสองให้ชิดติดริมขนานไปกับความยาวของสวนเขียว เพื่อให้สัมผัสกับทิวทัศน์สีเขียวของต้นไม้และบรรยากาศยามเช้าที่จะเข้ามาทักทาย ผ่านม่านสีขาวที่ติดอยู่เบื้องหลังกระจกบังมุมมองสร้างความเป็นส่วนตัวภายใน
พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านร่วม 250 ตารางเมตร ยังไม่รวมพื้นที่ของลานกว้างและสวนขนาดใหญ่ในอาณาบริเวณอีกราว 100 ตารางเมตร ไม่บ่อยนักที่จะได้เห็นสิ่งปลูกสร้างแบบบ้านพักอาศัยที่จะยอมแบ่งพื้นที่ให้ต้นไม้สูงใหญ่อยู่ร่วมชายคาใกล้ชิดกับพื้นที่ใช้สอยในบ้านจนแทบจะหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พื้นที่สีเขียวประกอบด้วยต้นไม้สูงใหญ่จนคล้ายเป็นสวนป่าขนาดย่อม วางตัวขนานตลอดแนวยาวของบ้านกั้นระหว่าง 2 ส่วนใช้สอยหลัก หนึ่งคือบ้านสองชั้นที่ประกอบด้วยห้องนั่งเล่น ครัว ห้องนอน 3 ห้อง ห้องน้ำ 5 ห้อง และสองคือห้องแม่บ้านวางติดกับห้องเอนกประสงค์เล็กๆ แยกตัวออกมาจากบ้านหลังหลักอีกที พื้นที่สวนที่คั่นกลางนี้ นอกจากจะให้ธรรมชาติอันร่มรื่นแก่ตัวบ้านที่หาไม่ได้จากสิ่งปลูกสร้างใดๆ แล้ว ยังมีคุณสมบัติเป็นทางผ่านของลมที่ได้มอบกระแสลมพัดเอื่อยผ่านอาณาบริเวณบ้านตลอดทั้งวัน พื้นที่สีเขียวที่สองสถาปนิกตั้งใจสร้างให้มีขนาดและความสำคัญไม่แพ้พื้นที่ใช้สอยอื่น เป็นคอนเซ็ปต์ที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อครั้งที่พวกเขาเริ่มครุ่นคิดถึงรูปแบบการอยู่อาศัยที่จะลงตัวกับครอบครัวเล็กๆ ของเขาทั้งสอง
“เราสองคนไม่ค่อยได้อยู่บ้านครับ เวลาส่วนใหญ่จะใช้อยู่ที่ออฟฟิศ กลับบ้านทีก็ค่ำมาก ชีวิตส่วนใหญ่ในการใช้บ้านหลังนี้ 90 เปอร์เซ็นต์ของเราคือนอนกับตื่นเลย เพราะฉะนั้นในบ้านจึงเหมือนแทบจะใช้ชีวิตอยู่ในห้องนอนเป็นหลัก จึงเป็นจุดที่ทำให้การออกแบบเริ่มคิดจากห้องนอน คือเริ่มคิดจากว่ากลับบ้านมาก่อนนอนเราเห็นอะไร ตื่นมาเราเห็นอะไร เราอยากได้ประสบการณ์อะไรบ้าง ในการนอนและการตื่น” คุณโจ้ เป็นผู้เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปรวมถึงแนวความคิดหลักทั้งหมดอันได้ก่อให้เกิดที่อยู่อาศัย ที่เขาต้องการให้เป็นหลักพักพิงที่มั่นคงของครอบครัวของเขาเอง
“ถ้าดูฟุตพริ้นท์ของบ้าน จริงๆ ขนาดของบ้านเรามันก็ไม่ต่างจากบ้านอื่นทั่วไปเลย แต่เรามาคอมแพ็คตัวบ้าน มายัดกันอยู่ข้างหลัง เรายอมโดยการติดผนังกระจกสูงแทน เพื่อให้เห็นสวนเยอะๆ มันจึงไม่รู้สึกแคบ”
มุมมองภายในสวนป่าขนาดย่อม หันไปสู่ส่วนใช้งานหลักของบ้าน นอกจากกล่องห้องนอนด้านบนที่กรุด้วยกระจกโดยตลอด ด้านล่างก็กรุด้วยประตูกระจกบานเลื่อนเปิดรับบรรยากาศของสวนเขียวได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน
ตะคร้ำ เสลา ปีบ และพันธุ์ไม้สูงใหญ่อื่นๆ คือพระเอกที่ทำให้พื้นที่สวนเขียวของบ้านไม่เป็นเพียงลานปลูกต้นไม้ประดับอาคารที่อาจให้ประโยชน์ได้เฉพาะความสวยงาม ในความหมายของนักออกแบบทั้งสอง ต้นไม้ในบ้านนั้นจำเป็นที่จะต้องให้ประโยชน์ได้อย่างรอบด้าน ทั้งในเรื่องความสวยงาม ความร่มรื่น และคุณภาพของความเป็นธรรมชาติ ที่ขณะเดียวกันก็จำเป็นจะต้องทำงานอย่างเข้าขาไปกับคุณภาพของการออกแบบสถาปัตยกรรม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอาจดูได้จากเส้นสายของคานเหล็กที่ยื่นล้ำเหนือสวนเขียวของบ้านหลังนี้ ต้นไม้สูงใหญ่ที่ทั้งสองเป็นผู้คัดเลือกพันธุ์สอดประสานไปกับโครงสร้างที่รัดรอบเอาธรรมชาติสีเขียวไว้ในอ้อมกอดอย่างเป็นเนื้อเรื่องเดียวกันจนคล้ายเป็นเอกลักษณ์ หากไม่นับเหตุผลเรื่องความชื่นชอบในธรรมชาติ การออกแบบสถาปัตยกรรมและสวนเขียวที่โอบล้อมกันและกันนั้นยังสร้างให้เกิดความสัมพันธ์กันในแง่ทิวทัศน์ การสร้างความเป็นส่วนตัว และการสร้างประสบการณ์ที่จะได้จากการนอนและการตื่นตามที่นักออกแบบตั้งใจไว้นั่นเอง
มุมมองจากภายในห้องนั่งเล่น มองออกไปสู่สวนเขียวภายนอก สถาปนิกออกแบบให้ระดับของพื้นภายในและภายนอกราบเรียบเป็นระดับเดียวกันเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ใช้งานได้เต็มที่พื้นปูนเปลือยให้ความสงบเหมือนกับเฟอร์นิเจอร์หลากชิ้นที่ต่างก็มีหน้าตาทันสมัยไม่ว่าจะเป็นโซฟาหนังสีเทา โต๊ะรับประทานอาหารสีดำ และของตกแต่งอื่นๆ ที่คงโทนสีไว้ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้มีเพียงส่วนบิลท์อินบางชิ้นที่ใช้ไม้อัดสักทองไม่ทำสีตกแต่ง เพิ่มอารมณ์อบอุ่นลดความกระด้างของห้องลง
คานเหล็กขนาดใหญ่เป็นเหมือนเอกลักษณ์ของบ้าน รัดรอบพื้นที่สีเขียวของบ้านไว้สร้างอาณาเขตที่คลุมเครือให้กับที่อยู่อาศัยโครงเหล็กดังกล่าวยังมีหน้าที่ใช้ขึงสลิงป้องกันการโอนเอนของต้นไม้ทั้งหมดและยังใช้เป็นโครงสร้างรองรับการใช้งานอื่นที่อาจตามมาในอนาคต
“กรอบคานเหล็กสีดำทั้งหมดนั้นผมมองว่ามันคือกรอบของห้องนอนเลย มันจึงเป็นเหมือนห้องนอนขนาดใหญ่ ที่มีต้นไม้ มีบรรยากาศพวกนี้ เป็นส่วนหนึ่งของห้องนอนทั้งหมด
“อย่างแรกเลยคือเราทำโครงสร้างไว้ให้มันสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับห้องนอน ตอนแรกเรายังไม่รู้หรอกว่าต้นไม้มันจะสร้างความเป็นส่วนตัวให้เราได้แค่ไหน มันเป็นตัวแปรที่มันควบคุมไม่ได้ ก็เผื่อเอาไว้ ว่าเราอาจจะใส่ระแนงบังบางส่วน หรือหากในอนาคตมันมีบ้านอื่นๆ สร้างขึ้นมารอบๆ เราอาจจะใช้ผ้าใบขึงรอบหรือเป็นหลังคาก็ได้ คือมันจะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ สามารถต่อชั้น 3 ได้ สร้างระเบียงยื่นออกมาก็ได้ หรือถ้าหากลูกต้องการอยู่ในบ้านหลังเดิม ก็สามารถสร้างเป็นสะพานเชื่อมไปถึงบ้านหลังเดิมก็สามารถทำได้”
นอกจากความสำคัญของพื้นที่สีเขียว เพื่อให้การใช้ชีวิตในบ้านทั้งร่มรื่นและเปี่ยมสุข สถาปนิกยังจัดวางทิศทางของตัวบ้านละพื้นที่ใช้สอยอ้างอิงตามแนวแกนของธรรมชาติเป็นหลัก ความสำคัญคือตั้งใจให้ห้องใช้งานหลักทุกห้องในบ้านไม่มีความร้อนสะสม โดยการออกแบบที่ตั้งของห้องน้ำ ห้องครัว และตู้เก็บของเก็บของ ไว้ในบริเวณที่รายล้อมรอบตัวบ้านเพื่อซับความร้อนจากภายนอกในทิศทางที่รับแดดหนักๆ อย่างทิศตะวันออก-ตะวันตก และทิศใต้ไว้ทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็หันห้องที่ต้องการให้อาศัยอยู่อย่างสบายอย่างห้องนอนและห้องนั่งเล่นออกมาทางทิศเหนือ ซึ่งก็เป็นทิศทางเดียวกับตำแหน่งของสวนเขียวที่สัมพันธ์กันอยู่แล้วนั่นเอง
“นั่งบนโซฟานี้ มองออกไปข้างนอก เราจะเห็นยอดไม้ได้พอดี” นั่งลงในโถงนั่งเล่นตามคำบอกของสถาปนิก บรรยากาศของสวนเขียวเบื้องหน้านั้นก็มอบความสดชื่นให้กับเราได้มากกว่าสิ่งใดทั้งหมด หากจะยกสถานที่แห่งนี้ ให้เป็นสถานที่ตัวอย่างของทั้งความ ‘พอ’ และ ‘ดี’ ระหว่างสถาปัตยกรรมและธรรมชาติ ก็คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงเกินไปนัก
บันไดหลักของบ้านกรุด้วยไม้สีธรรมชาติ ใต้บันไดชุดนี้สถาปนิกยังได้ซ่อนตู้เก็บของและห้องน้ำไว้ในตู้ไม้ ส่วนช่องแสงด้านข้างนั้นก็สามารถเปิดออกเพื่อรับลมเข้าสู่ตัวบ้านได้ด้วยและห้องน้ำไว้ในตู้ไม้ ส่วนช่องแสงด้านข้างนั้นก็สามารถเปิดออกเพื่อรับลมเข้าสู่ตัวบ้านได้ด้วย
ห้องนอนหลัก เป็นเหมือนห้องสำคัญอันดับหนึ่งที่สถาปนิกคำนึงถึงในการออกแบบ กระจกใสที่กรุโดยรอบให้บรรยากาศของพื้นที่สีเขียวทั้งจากในบริเวณบ้านเองและจากบริบทโดยรอบ สถาปนิกใช้ผ้าม่านสีขาวที่สามารถรูดปิดได้หมดเป็นสิ่งบังสายตาเมื่อถึงเวลาค่ำ และเปิดออกเพื่อรับแสงแรกอีกครั้งในเวลาเช้า
ห้องนอนขนาดเล็กที่ติดกับห้องนอนใหญ่ ขนาดของห้องที่เล็กเพียง 3 คูณ 3 เมตรถือว่าเล็กมากสำหรับบ้านโดยทั่วไป แต่สถาปนิกยอมทำพื้นที่ให้กะทัดรัดแล้วใช้กระจกบานใหญ่ที่เปิดรับบรรยากาศภายนอกมาทดแทน ห้องนอนในแต่ละห้องจึงเหมือนมีระเบียงสีเขียวขนาดใหญ่ส่วนตัวทดแทนสัดส่วนที่เสียไป
ห้องน้ำภายในห้องนอนใหญ่ตกแต่งด้วยหินสเลทสีดำ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ซ่อนอยู่หลังผนังขนาดใหญ่ที่เปิดออกได้เพื่อรับแสงเข้าสู่ห้อง ระเบียงภายในสถาปนิกใช้ตั้งต้นไม้และยังใช้เป็นพื้นที่ตากผ้าด้วยในขณะเดียวกัน
มุมมองแรกเมื่อมาถึงขอบเขตของรั้วบ้าน ในด้านนี้ซึ่งเป็นด้านทิศใต้จะพบกับผนังที่เปิดออกได้ 90 องศาของห้องน้ำ ภายในห้องนอนใหญ่ที่จะเปิดออกในเวลากลางวันเพื่อรับแสงธรรมชาติ และปิดเมื่อเวลากลางคืน แม้จะอยู่หน้าบ้าน แต่ด้วยความทึบตัน และองค์ประกอบรวมถึงสัดส่วนโดยรวมของบ้าน ทำให้แทบไม่รับรู้ว่าส่วนใช้งานที่ตั้งอยู่หน้าบ้านนั้นคือห้องน้ำเพราะการใช้งานหลักและสัดส่วนของอาคารนั้นเทไปทางสวนเขียวขนาดใหญ่ที่อยู่ลึกไปในบริเวณบ้านนั่นเอง