PABAJA
“สะท้อนความดั้งเดิมสู่งานดีไซน์อันทันสมัยกับ ภา ภาวิษา มีศรีนนท์”
Text:เต็มภัทร์ เกตุสมบูรณ์
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ
เส้นสายของลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ ผสมผสานความเป็นตัวตนลงไปทุกชิ้นงาน นั่นคือลายเซ็นของ “PABAJA” ภา ภาวิษา มีศรีนนท์ Textile Designer, Product Designer ซึ่งเธอได้นำเสนอศิลปะและศาสตร์หลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นงานวาด งานถัก งานปัก หรืองานทอ หลอมรวมความหลงใหลในงานคราฟต์ทุกชนิด สร้างสรรค์มาเป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนคุณค่า หรือผลิตภัณฑ์ที่ตอบรับกับการใช้งาน
นอกจากความสามารถในการสร้างผลงานดีไซน์ของเธอแล้ว กระบวนการทางความคิดที่เธอมีให้ต่อชิ้นงานแต่ละชิ้นงาน ทุกอย่างได้ล่อหลอมจากความชื่นชอบ ความรัก และความผูกพัน หลายๆสิ่งประกอบรวมกัน หรือการที่เธอมองเห็นถึงความงดงามแบบวิถีพื้นถิ่น ทั้งความเป็นอยู่ของชุมชน แวดล้อมของธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม หรือลึกลงไปเข้าใจในรายละเอียดของผู้คนถิ่นฐานนั้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นแรงบันดาลใจในการทำผลงาน และยังนำเอามาประยุกต์สร้างเป็นผลงานด้านต่างๆ
ผลงานของภาวิษามีงานออกแบบดีไซน์ที่หลากหลาย มีผลงานที่อยู่ในโครงการ OTOP โกอินเตอร์ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้เธอก็กำลังทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อเตรียมขยายกลุ่มลูกค้าต่างประเทศให้กว้างขวางและหลากหลายขึ้น หรือแม้กระทั่งผลงานที่ทำภายใต้แบรนด์ดีไซน์แฟชั่นชั้นนำ เริ่มกันที่ผลงาน Thai Embroidery Tribal, Arkha (2015) ผลงานนี้เธอได้เข้าไปศึกษาวิถีชีวิตของชนเผ่าอาข่า เธอได้เล่าให้เราฟังว่า
“ผู้หญิงของชนเผ่าอาข่าหลังจากพวกเขาทำงาน จะมีกิจวัตรคือการปักผ้า ซึ่งงานปักของชนเผ่าอาข่าใช้สีสันสดใส ลวดลายปักบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตมนุษย์และธรรมชาติ อาทิ ดอกไม้ ภูเขา หรือสัตว์ต่างๆ แล้วลดทอนรูปทรงของธรรมชาติ มาปักเป็นลายเรขาคณิตต่อกัน เกิดเป็นลวดลายผ้าที่สวยงาม” เธอได้นำเอกลักษณ์ของลวดลายของชนเผ่าอาข่านี้ มาปรับให้ชุมชนสามารถปักได้ง่ายขึ้น ประหยัดเวลามากขึ้น รวมถึงออกแบบให้ผลิตภัณฑ์มีความสวยงามทันสมัย เติมสีสันที่แตกต่าง แต่ยังมีความเป็นตัวตนของชนเผ่าอาข่าอยู่ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมและสามารถสร้างรายได้ให้กับชนเผ่าอาข่าอีกด้วย หรือผลงาน Wat Pho Scarf (2017) เป็นผ้าพันคอลายกราฟฟิกของวัดโพธิ์ หากกล่าวถึงลวดลายที่ก่อนหน้านี้เราจะคุ้นตากับผลงานของเธอเป็นผลงานออกแบบลวดลายธรรมชาติ แต่เส้นสายตีฟ ที่ดูแข็ง มีมิติ แบบลวดลายสถาปัตยกรรมก็ไม่ได้ห่างไกลความเป็นตัวตนของภาวิษา เพราะทักษะด้านการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม ก็เป็นพื้นฐานที่สะท้อนความเป็นตัวเธอด้วย ทำให้ผลงานผ้าพันคอแรงบันดาลใจจากวัดโพธิ์ ถือเป็นผลงานที่ผสมผสานมุมมองของเธอ กลายเป็นผ้าพันคอลวดลายวิจิตรงดงาม ยังมีผลงานอีกมากมายที่เราน่าจะคุ้นตากับความเป็นเอกลักษณ์นี้ของ PABAJA
อีกทั้ง PABAJA ยังได้เปิดเป็นสตูดิโอ ที่นอกจากจะได้เห็นการสร้างสรรค์ผลงานของ PABAJA แล้ว ที่แห่งนี้ยังเปิดเป็นคอร์สสอนเวิร์คชอปไว้สำหรับผู้ที่สนใจในงานศิลปะ และงานคราฟต์ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการส่งเสริมและต่อยอดเพื่อประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้อีกด้วย