OPNBX


กล่องเสกฝัน บันดาลสร้าง

เริ่มต้นจากความถนัดของหนึ่ง Architecture คุณหนุ่ย-รติวัฒน์ สุวรรณไตรย์ และ หนึ่ง Landscape  คุณปราง-วรรณพร สุวรรณไตรย์ กลายเป็นส่วนผสมที่เข้ากันของงานสถาปัตยกรรม และภูมิทัศน์ ภายใต้ชื่อ Openbox Architect ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานการสร้างสรรค์ที่แตกต่างอย่างมีดีไซน์

คุณปราง-วรรณพร สุวรรณไตรย์(ซ้าย) และคุณหนุ่ย-รติวัฒน์ สุววรณไตรย์(ขวา) ผู้ก่อตั้ง OPNBX

DB: จุดเริ่มต้นของ OPNBX

NUI:
จุดเริ่มต้นของเราอยู่ที่สิงคโปร์ ผมทำงานบริษัทสถาปนิก ชื่อ William Lim Associates และปรางอยู่กับ Colins K. Okashimo เป็นบริษัทแลนด์สเคปโดยเฉพาะ เราก็ต่างคนต่างทำงานตามสโคปงานของตัวเอง จำได้ว่าเราจะมักจะบ่นเหมือนกันเสมอในเรื่องของการทำงานว่าลำบากยังไงเมื่อต้องต่างคนต่างทำงาน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ลูกค้าเองก็บ่นเช่นกัน
จนกระทั่งมีโปรเจ็กต์หนึ่งที่เราได้ทำร่วมกัน ตั้งแต่วันแรกของการทำงาน  สิ่งที่เราตั้งคำถามจึงถูกเฉลยมาว่าจริงๆ ส่ิงที่เราเชื่ออยู่แล้ว ว่า Architect และ Landscape ไม่ควรจะแยกออกจากกันเพราะเอาเข้าจริง 2 อย่างนี้ก็ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทั้ง Architecture และ Landscape เพราะฉะนั้นวิธีคิดมันจึงควรทำด้วยกัน และเริ่มต้นไปพร้อมๆ กัน

PRANG:
จริงๆ ทั้งสองอย่างนี้ทางยุโรปเขาจะถือว่าเป็น Total Design อยู่แล้ว คืองานดีไซน์และศิลปะเป็นส่ิงเดียวกัน แต่พอมาในธุรกิจของไทย ยังไงมันก็ต้องแยก เราจึงนำเสนอ Openbox ที่รวมทั้ง Architect, Landscape, Graphic และ Arts ไม่ว่าลูกค้าอยากได้อะไร เราก็พร้อมที่จะนำเสนอ
DB: ระยะเวลาสิบกว่าปีที่สร้างงานมา จนกว่าจะมาถึงวันนี้ OPNBX ยังจำงานชิ้นแรกๆ ที่ทำได้อยู่ไหม?

NUI: เป็นงาน Masterplaning ไม่ใช่แค่วางเลย์เอ้าท์พื้นที่ แต่เราออกแบบพื้นที่อย่างลงลึกถึงรายละเอียด สมมติคุณมีไอเดีย หรือมีพื้นที่อยู่หนึ่งแปลงอยากจะทำเป็นอะไรสักอย่าง ข้อดีของมันคือเราได้เห็นสิ่งที่ออกแบบมันค่อยๆ โต

PRANG:
เป็นพื้นที่บนเกาะเกร็ด ที่มัน Unique มาก แล้วช่วงที่เราทำเป็นช่วงที่มีน้ำท่วม จริงๆ ต้องบอกว่าพื้นที่เกาะเกร็ดเป็นพื้นที่ที่มีน้ำขึ้น-ลงตลอดเวลา แทนที่เราจะถมดินให้กลายเป็นพื้นที่แบบที่อื่น เราขุดลงไปเพิ่ม ให้น้ำเข้าทั่วกัน และนำดินไปไว้ด้านหลังเพื่อถมเป็นพื้นที่สำหรับ Service อื่นๆ ที่ไม่ต้องการ Feature มาก ซึ่งในตอนนั้นเจ้าของที่ให้เราทำก็ชอบมาก และเราก็ชอบโปรเจ็กต์นี้มากเช่นกัน  แต่สุดท้ายพื้นที่ก็ถูกขายไปพร้อมกับโปรเจ็กต์
ส่วนโปรเจ็กต์ตามมา คือ Family Condo ของครอบครัวจิราธิวัฒน์ ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์แรกๆ ที่ได้ทำหลังกลับมาจากสิงคโปร์ ชิ้นนี้เราร่วมกับ Tierra Design ทั้งออกแบบและก่อสร้างเสร็จในปี 2008 ถ้ามองจากออฟฟิศเราออกไป ตอนนี้อาคารกำลังอยู่ในช่วงรีโนเวทพอดิบพอดี

ภาพจากโปรเจ็กต์ Marble House

DB: งานในแบบของ OPNBX

NUI: ต้องให้คนอื่นมองเราแล้วบอก ว่าสไตล์งานของเราเป็นแบบไหน เราเองเราไม่รู้เลย เพราะเราก็แค่ทำอย่างที่เราชอบในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งถ้าผ่านไปอีกหลายปี เราอาจจะชอบอีกแบบไปแล้ว

PRANG: งานออกแบบมันเหมือนบุคลิก เราเปลี่ยนบุคลิกเราไม่ได้มากหรอกค่ะ อย่างบริษัทใหญ่ๆ เขามีจำนวนสมาชิกเยอะ งานก็อาจจะหลากหลายมากกว่า ส่วนของเรา จำนวนสมาชิกเรามีประมาณ 25 คน สไตล์เราก็จะอยู่ที่ประมาณหนึ่ง ซึ่งมันก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย ด้วยแต่ละไซส์ แต่ละโครงการ อย่างที่บอกว่าเรามีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอยู่ งานของเราจึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่อาคารสีขาว หรือวัสดุแบบเดิมๆ แต่ละโปรเจ็กต์เราจะทำออกมาตอบสนองตามความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน

ในหนึ่งโปรเจ็กต์ เราอาศัยคนจำนวนมากในการทำให้สำเร็จ นอกเหนือจากเราก็ยังมีน้องๆ คนอื่นที่คอยซัพพอร์ต แล้วแต่ละคนก็มีหลากไอเดีย เพราะฉะนั้น หากความคิดไหนที่เห็นว่ามันจะเป็นผลดีต่อโปรเจ็กต์ที่เรากำลังจะทำ เราก็ยินดีเปลี่ยน คอนเซ็ปต์มันจะเป็นข้อกำหนดทิศทางอยู่แล้วล่ะ ว่างานจะเป็นไปในแบบไหน รายละเอียดที่เพิ่มเติมมา มันช่วยให้โปรเจ็กต์สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

คุณปลาย-วรรณภัทร เจนพานิชการ Lead Interior Architects โปรเจ็กต์ Marble House และอีกหลากชิ้นงานของ OPNBX

DB: กว่าจะสร้างออกมาเป็นแต่ละชิ้นงาน ผ่านกระบวนการอะไรบ้าง

PRANG: เรารู้สึกว่าเราสร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่า Parts of the Legend เราอยากใช้ความรู้ของเรา สร้างเรื่องราวให้กับคนที่ใช้ เป็นงานท่ีสามารถแสดง Sixnature ของตัวเจ้าของ ของครอบครัว จากแรกที่เคยเป็น Openbox ในแบบที่ทำ Architecture และ landscape ไปด้วยกัน โดยเราใ้ช้คำว่า Marriage of Architecture and landscape ซึ่งก็คือส่วนผสมของเราสองคน จากความถนัด และจากการแต่งงาน ผ่าน 10 ปี ในการทำงาน และจากประสบการณ์ เราทบทวนงานของเรา จนเราใช้ช่วงนี้ว่า เราคือ Parts o f the Legend

เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะออกแบบ เราจะศึกษาพื้นที่ก่อนค่ะ อย่างบ้าน เราจะศึกษาสิ่งแวดล้อมโดยรอบ พื้นเพของเจ้าของ ธุรกิจที่เขาทำ สิ่งที่เขาชอบ จนได้ตัวตนของเขา และนำสิ่งนี้มาสร้างเป็นตำนานให้กับตัวเขาเอง ซึ่งโปรเจ็กต์ Marble House คือสิ่งที่เห็นชัดที่สุด

DB: ถ้าอย่างนั้น ช่วยเล่าถึงโปรเจ็กต์ Marble House ให้เราฟังหน่อย?

PRANG: โจทย์ทื่เราได้จากลูกค้าตอนแรก คือบ้านที่อยู่แล้วสบายกว่าบ้านหลังเก่า เราจึงมาดูที่ตัวเจ้าของบ้าน ซึ่งเขาเป็นเจ้าของบุญถาวร ซึ่งมีข้อได้เปรียบในเรื่องของวัสดุที่เขามีอยู่เยอะมาก และวัสดุที่เขาต้องการจะให้เราทำการตลาดให้

NUI: ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เรากำลังอินในเรื่องของ Idendity Design เราเชื่อว่าคนที่สร้างบ้าน หรือคอนโด เขาจ่ายเงินเพื่อลงทุนไปเยอะนะ เพราะฉะนั้นตัวงานที่สร้างเสร็จมันจะต้องทำหน้าที่เป็นบิลบอร์ดในการบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าของงานชิ้นนั้นๆ ได้ ต้องสร้างมูลค่า สร้างชื่อเสียง และสร้างความภาคภูมิใจที่จะบอกต่อได้

PRANG: ซี่งจะย้อนกลับไปเรื่องเทรนด์ได้อีก เพราะวัสดุที่เราเลือกใช้ในโปรเจ็กต์ Marble House  เรานำมาพัฒนาเป็นโปรเจ็กต์อื่นต่อ อย่างโปรเจ็กต์ Saradang One

ภาพจากโปรเจ็กต์ Saladang One ที่ใกล้จะก่อสร้างแล้วเสร็จในอีกไม่กี่อึดใจ

DB: นอกจากโปรเจ็กต์นี้ ยังมีโปรเจ็กต์ไหนอีกไหม?

NUI: มีอีกโปรเจ็กต์ที่เพิ่งเปิดตัวเลย เป็นอีกโปรเจ็กต์ที่เราภูมิใจมาก เป็นโครงการที่ดีและเป็นสเกลที่ใหญ่ที่สุดที่เราเคยทำมาในตอนนี้ คือ โครงการ Jin Well Being เป็นงานออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ ซึ่งตัวอาคารดีไซน์พิเศษแบบ Passive Ecology ลดการใช้พลังงาน โดยจะเปิดรับแสงอาทิตย์และอากาศบริสุทธิ์ ภายในออกแบบตาม Universal Design ที่ปรับเปลี่ยนได้ตามฟังก์ชั่นการใช้สอย

ซึ่งในหลายประเทศเริ่มตระหนักถึง Aged Society เพิ่มมากขึ้นนะ สำหรับประเทศไทยเองก็เริ่มหันมาใส่ใจแล้วเช่นกัน การได้ร่วมทำงานกับทีมธนบุรี เฮลท์แคร์ ทำให้เราได้ความรู้ในอยากสร้าง Senirity Design เพิ่มขึ้นเยอะมากครับ นอกจากโครงการนี้ก็มีอีกโครงการที่เราภูมิใจมากๆ ที่ได้ร่วมงาน แต่ยังบอกไม่ได้จริงๆ

PRANG: เราโชคดีมากที่ได้รับโอกาสจากหลายๆ คนทั้งงานที่ผ่านมา และงานที่กำลังจะเกิดขึ้นข้างหน้า ซึ่งเป็นการร่วมกับทีมงานที่ดีและใหญ่มากๆ ด้วย เอาเป็นว่าอีก 2 ปีเราค่อยมาคุยกันใหม่ถึงโครงการนี้นะ (หัวเราะ)

DB: ก่อนจะจากกัน เราอยากทราบว่างานออกแบบที่ดีสำหรับ OPNBX คืออะไร?

PRANG: พี่หนุ่ยเคยคุยกับเพื่อนสถาปนิกชาวออสเตรเลีย ซึ่งเขาให้ข้อคิดที่น่าสนใจกับเรามาก เขาบอกเราว่าลูกค้าจริงๆ ไม่ใช่แค่คนที่จ่ายตังค์เท่านั้น แต่ลูกค้าเรามี 3 กลุ่มที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ไซส์ ที่ดินที่เราจะลงไปก่อสร้าง คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คนที่อยู่ละแวกใกล้เคียงมากที่สุด ทุกอย่างที่อยู่รอบๆ ซึ่งถ้าเราสร้างสิ่งก่อสร้างในป่าจะยิ่งหนักกว่านี้ เพราะนั่นคือ ธรรมชาติ ต้นไม้ กระแสคลื่น กลุ่มที่สอง คือคนที่เดินผ่านไปมา หน้าตัวอาคาร ที่ได้รับผลกระทบทางสายตา และกลุ่มสุดท้ายคือ คนที่จ่ายเงินเพื่อจะได้อาคารนั้นไปเป็นเจ้าของ ในการออกแบบงาน 3 สิ่งนี้คือส่ิงที่ควรคำนึงถึงที่สุดค่ะ

NUI: ผมว่าสิ่งปลูกสร้างที่ดี ต้องให้ความสุขกับคน สำหรับคนที่ไม่ใช่เจ้าของแค่เขามองเห็น ก็ต้องสามารถให้ความสุข ผู้อยู่อาศัยเมื่อได้ใช้งานก็ต้องมีความสุข เราไม่ใช่นักวิชาการ เราเป็นแค่คนทำงานที่อยากสร้างงานให้ดีที่สุด หมายถึงต้องสร้างมูลค่า สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับเจ้าของ และความสุขกับทุกคนในทุกมิติ หลักการทำงานเราจึงง่ายมาก คือเน้นทำอะไรที่เรามีความสุข  สุขทุกขั้นตอนการทำ และส่งต่อความสุขให้กับคนอื่นๆ

อย่างที่คุณหนุ่ยและคุณปรางบอก ถ้าเมื่อใดก็ตามเราสร้างความสุขให้เกิดขึ้นจากตัวเราได้แล้ว เราจะสามารถสร้างความสุขให้กับใครก็ได้เช่นกัน นอกเหนือจากโปรเจ็กต์ที่ OPNBX ได้บอกเรา อีกสิ่งที่เราได้จากการได้ร่วมพูดคุย คือความสุขที่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังนี่แหล่ะ จนกว่าจะพบกันใหม่ เราหวังว่าไม่น่าเกิน 2 ปีนะ

ภาพจากโปรเจ็กต์ Saladang One ที่ใกล้จะก่อสร้างแล้วเสร็จในอีกไม่กี่อึดใจ

โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ Jin Well Being

แม้จะเป็นโครงการที่ไม่ได้ก่อสร้าง แต่งาน Masterplaning ชิ้นนี้ก็เป็นอีกหนึ่งชิ้นที่ทีม OPNBX ภาคภูมิใจ

TEXT: ทัดจันทร์ เกตุสิงห์สร้อย
PHOTO: ฉัตรชัย เจริญพุฒ, OPNBX

Leave A Comment