ONION
งานออกแบบฉบับหัวหอม
ศิริยศ ชัยอำนวย – อริศรา จักรธรานนท์
Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ, วิสันต์ ตั้งธัญญา / W Workspace
จากเพื่อนร่วมรุ่นคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ เรียนจบปริญญาตรีพ่วงดีกรีบัณฑิตเกียรตินิยมต่อท้าย ก่อนที่ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปทำงานและเรียนต่อตามใฝ่ตามฝัน ฝ่ายชายบินไปอังกฤษเพื่อศึกษาที่ Architectural Association School of Architecture และครั้งหนึ่งเคยผ่านการทำงานให้กับ Zaha Hadid Architects มาแล้ว ด้านฝ่ายหญิงหลังจากทำงานที่ RDG Planning & Design ได้สองปีก็บินไปเรียนต่อด้าน Identity Design ที่ Design Academy Eindhoven ในเนเธอร์แลนด์ ก่อนจะกลับมาทำงานที่ Orbit Design Studio อยู่ประมาณสองปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2550 คุณป้อ-ศิริยศ ชัยอำนวย และ คุณออ-อริศรา จักรธรานนท์ ตัดสินใจมาร่วมกันปลูกหัวหอมแห่งวงการสถาปัตยกรรมจนค่อยๆ เติบโตและเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน
Onion เป็นเจ้าของผลงานที่หลายคนคงรู้จักกันดี เช่น โรงแรมในเครือศาลา อาทิ ศาลาเขาใหญ่, ศาลารัตนโกสินทร์ และล่าสุด ศาลาอยุธยา นอกจากนี้ยังมีงานออกแบบบ้าน ห้องอาหาร และโปรเจ็กต์พิเศษอื่นๆ ที่ชวนให้พูดถึงอีกมากมาย คุณป้อบอกกับ Daybeds ว่า “เราชอบอะไรเหมือนๆ กัน เลือกของคล้ายๆ กัน” ส่วนคุณออกล่าวเสริมว่า “มีสีให้เลือก 20-30 สี เรายังเลือกสีเดียวกันเลย”
จุดเริ่มต้นจากความเป็นเพื่อน จากความชอบที่คล้ายกัน สู่การมาเปิดบริษัทร่วมกัน อะไรคือเหตุผลที่ตั้งชื่อบริษัทว่า Onion อะไรคือปรัชญาการทำงานของ Onion, Daybeds ชวนพวกเขามาตั้งวงสนทนาเรื่องงานออกแบบฉบับหัวหอม พร้อมทำความรู้จักกับตัวตนของพวกเขาให้มากขึ้นกันเสียก่อน
Dbs: เล่าที่มาของชื่อ Onion ให้เราฟังหน่อยได้ไหม
อริศรา: จริงๆ เราชอบ Object (ลักษณะเฉพาะตัว) ของมัน หัวหอม ชื่อไทยก็น่ารักดี ภายนอกมันเป็นฟอร์มเรียบๆ แต่ข้างในมันประกอบไปด้วยเลเยอร์หลายๆ ชั้น
ศิริยศ: หัวหอมใครๆ ก็รู้จัก มันเป็นอะไรที่จำง่าย อยู่ในครัวเรือน เวลาเขียนมันก็ดูสวยดี
“เราออกแบบใส่ใจรายละเอียดตั้งแต่จุดที่เล็กที่สุดไปจนถึงจุดที่ใหญ่ที่สุด โดยที่แต่ละโปรเจ็กต์เราพยายามหาคอนเซ็ปต์ ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าต้องการอะไร หาจุดเด่นจุดนั้นออกมาแล้วพยายามทำแต่ละโปรเจ็กต์ให้ไม่เหมือนกัน”
Dbs: ปรัชญาการทำงานของ Onion เป็นแบบไหน
ศิริยศ: เราออกแบบใส่ใจรายละเอียดตั้งแต่จุดที่เล็กที่สุดไปจนถึงจุดที่ใหญ่ที่สุด โดยที่แต่ละโปรเจ็กต์เราพยายามหาคอนเซ็ปต์ ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าต้องการอะไร หาจุดเด่นจุดนั้นออกมาแล้วพยายามทำแต่ละโปรเจ็กต์ให้ไม่เหมือนกัน
Dbs: คุณทั้งสองคนเป็นทั้งสถาปนิกและมัณฑนากร พูดง่ายๆ ว่า Onion จบได้ในงานเดียว
ศิริยศ: งานส่วนใหญ่เราจะเลือกรับทั้งหมด การแยกงานมันทำให้รู้สึกเหมือนงานมันไม่ต่อเนื่องกัน แต่งานของเราจะทำให้รู้สึกถึงความต่อเนื่องกัน มีทำงานร่วมกับบริษัทอื่นบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำพร้อมๆ กัน อย่างเช่นมีสร้างตึกแล้วเราก็ไปสวมทับทีหลังเป็นแบบรีโนเวท แต่เราชอบทำแบบตั้งแต่เริ่มจนจบ งานของเราก็เหมือนหัวหอม ดูเหมือนเรียบ แต่ถ้ามองไปลึกๆ มันก็จะมีดีเทลไปเรื่อยๆ ในแต่ละจุด
Dbs: คาแรกเตอร์ของงานสถาปัตย์ในแบบฉบับ Onion ดูเรียบง่าย แต่ซับซ้อนในตัวเองลึกๆ และไม่สร้างคาแรกเตอร์เป็นของตัวเอง แต่สร้างคาแรกเตอร์ให้กับงานกับบริบทนั้นๆ เราเข้าใจถูกต้องใช่ไหมครับ ช่วยยกตัวอย่างได้ไหมครับ
อริศรา: แต่ละงานก็จะมีความแตกต่าง อย่าง Eat คอนเซ็ปต์คือเขาทำเป็นร้านอาหารไทยที่เน้นความเป็นพิเศษ เช่น ปูพิเศษ กุ้งตัวใหญ่ เนื้ออย่างดี แต่จะเป็นอาหารง่ายๆ จานเดียว เช่น กะเพราเนื้อที่หากินทั่วไปตามข้างถนน เราก็เลยจำลองให้เหมือนกินอยู่ที่ข้างถนนจริงๆ เราเอากันสาดมาเป็นองค์ประกอบหลักให้ได้บรรยากาศ ให้คนกินรู้สึกเหมือนกินอยู่ข้างถนน ทุกอย่างจะเป็นไม้ทั้งหมด สีเดียวกันหมด ด้วยความที่โลโก้เขามีพริก เราก็เลยเอาพริกมาใส่แพทเทิร์นที่อยู่บนโต๊ะกับเฟอร์นิเจอร์ด้วย
อีกร้านคือ Hashme เราตีความว่า คำว่า hash มาจาก hashtag ในอินสตาแกรม เราก็เลยเล่นอะไรเกี่ยวกับการถ่ายรูป ในอินสตาแกรมเวลาเราจะลงรูปมันจะมี Filter ให้เลือก เราก็เลยเอามาใช้ให้ภาพมีหลาย Filter มันน่าสนใจตรงที่จากภาพ 3 มิติ พอเรามาตัดแบ่งปุ๊บมันอาจจะทำให้เห็นเป็น 2 มิติ เหมือนกับภาพถ่าย อย่างเก้าอี้จะมี 2 สี กระจก 2 สี ตรงไหนที่ตัดเราก็จะเปลี่ยนวัสดุ โต๊ะเก้าอี้เราใช้สีพ่น รวมถึงฝ้าด้วย กระจกจะเป็นกระจกลามิเนต มีฟิล์มสี โซนขาวก็จะเป็นสีขาวหมด โทนดำพื้นก็จะดำ กระจกก็จะสีดำๆ โซนไม้ก็จะเป็นไม้ทั้งหมด บางครั้งมันอาจจะไม่รู้สึก แต่มันจะมีอะไรบางอย่างอยู่ในแต่ละโปรเจ็กต์
Dbs: งานออกแบบจากอิฐที่ต้องพูดถึงอีกหนึ่งงานคือผนังอิฐ Brick a Brac : Wall holder (Onion ร่วมออกแบบกับ ม.ล. จิตตวดี จิตรพงศ์) ที่ไปจัดแสดงใน Milan design week 2015
ศิริยศ: ปีนี้ COTTO อยากให้มีสถาปนิกไปร่วมแสดงผลงานด้วย ที่ได้ร่วมงานกับ COTTO เป็นเพราะคุณพลอย (พลอยพรรณ ธีรชัย แห่ง Thinkk Studio) มาถามว่าสนใจไหม เขาบอกว่าเคยเห็นในงานเรามีโปรดักท์อยู่ด้วย เขาเลยคิดว่าเราน่าจะทำได้ จากศาลาอยุธยาที่เราใช้อิฐ ถ้ากลับไปดูจะเห็นว่ามีการใช้อิฐหลากหลาย จะมีอิฐที่เราสั่งทำมาพิเศษ อิฐมันเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเป็นอะไรก็ได้ เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราอยากจะพัฒนาแต่ก็ยังไม่มีโอกาส เราก็เลยตอบตกลง จริงๆ แล้วอิฐธรรมดาจะทำลึกเข้าไป แต่อิฐที่เราทำ (Brick a Brac) จะยากกว่าคือเราจะทำยื่นออกมา แต่ในคอนเซ็ปต์ของเราจะพยายามโยงให้เข้ากับห้องน้ำ เวลาเราไปแสดงเราก็ต้องการแสดงวิถีชีวิตของไทยขึ้นมาว่า ห้องน้ำไทยในความหมายคริสต์ของเราเป็นอย่างไร เรามองว่าห้องน้ำไทยเป็นอะไรที่ Flexible แต่ก่อนจะเป็นกึ่ง Outdoor ไม่ได้อยู่ในบ้าน เพราะฉะนั้นอิฐก็เป็นวัสดุกึ่ง Outdoor ที่จะอยู่ข้างนอกก็ได้ข้างในก็ได้ เป็นวัสดุที่ก่อสร้างได้เลย ไม่ต้องฉาบ จบได้ในตัว แต่ก่อนคนไทยก็ใช้ตุ่มเวลาอาบน้ำ เวลาวางของเขาก็จะวางอะไรง่าย เราก็เลยคิดยูนิตอะไรที่อยู่บนผนังให้สามารถแขวนอะไรก็ได้ สมมุติมีแปรงสีฟันอยู่ก็สามารถแขวนได้ มีขันอาบน้ำ ผ้าขาวม้าหรืออะไรก็แขวนได้ เราก็เลยคิดอิฐที่มีการแขวนได้แบบนี้ขึ้นมา ซึ่งเราคิดว่าอันนี้แหละมันน่าจะสะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนไทยได้มาก เพราะมันมีความ Flexible สูง เราก็มองตัวอิฐน่าสนใจตรงที่ว่ายังไงเราก็ต้องก่อผนังด้วยอิฐ แต่ถ้าเราฉาบปูนติดกระเบื้อง มันก็ต้องมีค่าฉาบปูนกับติดกระเบื้องเพิ่มอีก แต่ถ้าเราเอาอิฐมาก่ออย่างเดียว เราก็จะลดค่าฉาบปูน แล้วมันก็สวยด้วย ทำชั้นเดียวจบเลย เราก็เลยคิดว่าอันนี้แหละมันน่าจะเป็นตัวแทนในความคิดเห็นของเราในการทำห้อง น้ำสำหรับคนไทย
Dbs: เสน่ห์ของอิฐในมุมมอง Onion
ศิริยศ: เราชอบตรงที่มันเป็นคราฟท์ ใช้มือทำ เหมือนมันมีชีวิต อิฐแต่ละก้อนมันไม่เหมือนกัน อิฐมันมีหลายแบบ ส่วนใหญ่ที่เราเลือกอิฐเราจะเลือกอิฐทำมือที่มุมมันมีความไม่เท่ากัน มันมีความคราฟท์ตั้งแต่ตัวอิฐเอง ช่างที่ก่อขึ้นมาเอง ความไม่เท่ากัน และจริงๆ มันเป็นเทคนิคแบบที่ไม่ยาก ชาวบ้านก็ก่อได้ มันเป็น Local (ท้องถิ่น) มากๆ จนถึงว่าแล้วแต่ว่าเราจะใส่เทคนิคอะไรเข้าไป ทำ Shape ยังไง เพราะว่าโมดูลมันไม่ใหญ่ สามารถทำได้เยอะ
Dbs: แล้วคุณชอบงานชิ้นไหนของตัวเองมากที่สุด เพราะอะไร
ศิริยศ: งานที่ชอบที่สุดไม่ค่อยมี เพราะว่าแต่ละอันไม่เหมือนกัน แต่ละอันเราก็ตั้งใจทำออกมา มันก็ไม่ค่อยมีว่าจะชอบอันนี้มากกว่า อันนั้นมากกว่า จริงๆ ที่เราประทับใจที่สุดคือช่าง (ที่ศาลาอยุธยา) ประทับใจความตั้งใจของเขาที่พยายามทำให้เหมือนที่เราต้องการ บางอย่างอาจจะไม่ได้แต่เขาก็พยายามให้เหมือนที่สุด เขามีเทคนิคของเขา ช่างทุกคนร่วมมือกันทำ เราก็ภูมิใจที่ทุกคนเป็นส่วนร่วม
Dbs: อัพเดตงานในปัจจุบัน กำลังทำโปรเจ็กต์ที่น่าตื่นเต้นอะไรอยู่
ศิริยศ: งาน Knock Kitchen & Kicks กำลังทำอยู่ที่ทองหล่อ (เพิ่งแล้วเสร็จ) จะเป็นคอนเซ็ปต์แบบอิฐบล็อก ในฟังก์ชันนี้ก็จะมีร้านอาหารกับร้านขายรองเท้าผ้าใบอยู่ด้วยกัน แล้วแก๊งค์เขาจะเป็นพวก Sneaker Head เท่ๆ ชอบรองเท้าผ้าใบมาก เลยอยากทำร้านให้เป็นแบบกึ่งสตรีท โดยเอาวัสดุ Outdoor มาใช้ภายใน เราก็เลยเอาอิฐบล็อกมาวาง โดยการวางจะวางไม่เหมือนกัน เหมือนอิฐบล็อกเป็นสิ่งก่อสร้างที่ต้องฉาบทับ แต่เราเอาสิ่งนี้ออกมาโชว์ แล้วก็สร้างให้มันเป็น Decorative ไปด้วยเลย ทำจากสิ่งที่มันถูกสุดให้มันดูซับซ้อนขึ้น ซึ่งด้วยฟังก์ชันเองเราอยากให้สองส่วนนี้มันเชื่อมกัน ถ้าไปดูสเปซจากโซนกินข้าวแล้วมองขึ้นไปก็จะเห็นร้านรองเท้า คิดว่าสองร้านนี้ที่จริงแล้วไม่ควรอยู่ด้วยกัน แต่พอมันมาอยู่ด้วยกันแล้วมันก็เท่ห์ดี คือถ้ากินข้าวอยู่หรือปาร์ตี้อยู่อาจจะมองขึ้นไปเห็นร้านรองเท้า ในส่วนของบาร์เราก็ออกแบบให้เหมือนกล่องรองเท้า
Dbs: คุณคิดว่าสถาปัตยกรรมมีเทรนด์หรือเปล่า งานแบบไหนที่ตกยุค หรืองานไหนที่ยังคงเท่เหนือกาลเวลา
ศิริยศ: งานสถาปัตยกรรมมีเทรนด์ไหม เราคิดว่าของสวยยังไงมันก็สวย ของตกยุคมันก็คือของตามเทรนด์ คือถามว่ามันมียุคไหม มันก็คงมี แต่ถามว่าสถาปัตยกรรมที่สวยยังไงก็คือสวยตามแบบที่มันเป็น ถ้าเทรนด์หมายถึงช่วงเวลา มันก็คงใช่เพราะว่าด้วยวัสดุที่ไม่เหมือนกัน ด้วยวิธีการก่อสร้างที่ไม่เหมือนกัน ด้วยแรงงานที่ไม่เหมือนกัน ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน ก็ทำให้ช่วงหนึ่งเป็นแบบนั้น แต่คิดว่าสถาปัตยกรรมที่คุณภาพดียังไงมันก็ยังคงสวยอยู่ ถ้าเรามองกลับไปเราก็ยังมองว่ามันสวย ไปดูสถาปัตยกรรมโบราณจนถึงปัจจุบัน อันที่มันสวยมันก็ยังสวยอยู่
“งานสถาปัตยกรรมมีเทรนด์ไหม เราคิดว่าของสวยยังไงมันก็สวย ของตกยุคมันก็คือของตามเทรนด์ คือถามว่ามันมียุคไหม มันก็คงมี แต่ถามว่าสถาปัตยกรรมที่สวยยังไงก็คือสวยตามแบบที่มันเป็น ถ้าเทรนด์หมายถึงช่วงเวลา มันก็คงใช่เพราะว่าด้วยวัสดุที่ไม่เหมือนกัน ด้วยวิธีการก่อสร้างที่ไม่เหมือนกัน ด้วยแรงงานที่ไม่เหมือนกัน ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน ก็ทำให้ช่วงหนึ่งเป็นแบบนั้น แต่คิดว่าสถาปัตยกรรมที่คุณภาพดียังไงมันก็ยังคงสวยอยู่ ถ้าเรามองกลับไปเราก็ยังมองว่ามันสวย ไปดูสถาปัตยกรรมโบราณจนถึงปัจจุบัน อันที่มันสวยมันก็ยังสวยอยู่”