O-ART-IM HOUSE / SOOK ARCHITECTS


 บ้านหลังใหม่ในชุมชนที่ยังคงผูกพัน

Text : นวภัทร ดัสดุลย์
Photo : ฉัตรชัย เจริญพุฒ
DESIGN SOOK Architects (sookarch@hotmail.com)

ความสุขใดเล่าจะเท่าความสุขของการมีบ้านพักอาศัยน่าอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยดี ได้ใช้ชีวิตใกล้ชิดบุคคลอันเป็นที่รัก คละเคล้าเรื่องราวของวันวานซึ่งยังคงเวียนวนชวนยิ้มทุกครั้งแค่ได้คิดถึง แม้กาลเวลาจะล่วงเลยผ่านมานานนม เรากำลังพูดถึงบ้านสีขาวโพลนแสนอบอุ่นที่ถูกออกแบบขึ้นบนความเรียบง่ายของสองคนก้นครัวรวยน้ำใจประจำหมู่บ้านศรีนคร คุณโอนันทพร ลีลายนกุล และ คุณอาร์ตธีรยุทธ คงดี ร่วมด้วยอีกหนึ่งบุตรสาววัย 4 ขวบ น้องอิ่มบุญ คงดี ที่กำลังน่ารักสมวัย สร้างขึ้นบนที่ดินผืนเดิมซึ่งเคยผูกพันแน่นแฟ้น ภายในหมู่บ้านจัดสรรอายุไม่น้อยในซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.. 2512 ประกอบไปด้วยบ้านพักอาศัยกว่า 40 หลังคาเรือน

เราอยู่กันมานานค่ะ เด็กๆ ทุกคน (ในหมู่บ้าน) รู้จักกันหมดคุณโอนันทพร อดีตอาจารย์ประจำคณะ วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าย้อนเรื่องราวในวันวานบ้านหลังนี้สร้างขึ้นบนที่ดินที่คุณพ่อซื้อไว้ เดิมเป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น หลังคาจั่ว ลักษณะเดียวกับบ้านใกล้เรือนเคียงในหมู่บ้าน เป็นที่เดิมที่อยู่มาเป็น 10 ปี ถัดจากบ้านคุณพ่อมาสองหลัง บ้านหลังนี้ตอนแต่ก่อนพ่อจะซื้อเนี่ยเป็นบ้านร้าง สมัยเด็กๆ เพื่อนที่เล่นด้วยกันก็จะชอบท้ากันว่าใครกล้าปีนเข้ามาบ้าง เราจะเรียกกันว่าบ้านผีสิง (หัวเราะ) พอพ่อซื้อก็คิดว่า ตายละ ! พ่อซื้อบ้านผีสิงประจำหมู่บ้าน แต่พอรีโนเวท ตัดหญ้าเสียหน่อยมันก็โอเค เคยปล่อยให้เช่ามานาน คนเช่าก็มีหลายรุ่น มีทั้งเลี้ยงหมา เลี้ยงแมว ทำบ้านกระเจิงกระจุยไปหมด มีทั้งญี่ปุ่นที่เรียบร้อยมาก กับญี่ปุ่นที่ทำบ้านสกปรกมาก (ลากเสียง) ผิดวิสัยคนญี่ปุ่น สุดท้ายก็ได้คนญี่ปุ่นที่เป็นครอบครัวมาเช่า (ก่อนหน้าที่จะทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่) ซึ่งเขาก็มีลูกสาวมาขี่จักรยานเป็นเพื่อนเล่นกับลูกสาว (ในปัจจุบัน) พอแต่งงานและมีลูกจึงได้ย้ายเข้ามาสร้างบ้าน แล้วให้ครอบครัวนี้ย้ายไปเช่าบ้านที่ตั้งอยู่ด้านหลังบ้านนี้ซึ่งก็เป็นของพ่อเหมือนกันแทน แล้วจึงทุบอาคารเดิมทิ้ง

แม้การวางตัวซ้อนทับของอาคารที่แอบมีความหวือหวาเล็กน้อย แต่หัวใจหลักของอาคารภายในยังคงเน้นความเรียบง่าย และเน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ ตัวอาคารถูกออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยที่สามารถรองรับการใช้งานเพิ่มขึ้นได้ถึงเท่าตัว โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกวางไว้ทางทิศเหนือเพื่อให้เกิดที่ว่างสำหรับการปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษทางทิศใต้ ชั้นล่างของบ้านเป็นสตูดิโอออกแบบอาหาร ประกอบด้วย ครัวขนาดใหญ่ ห้องทำเบเกอรี ห้องจัดเก็บจานและชามแสนรักที่สะสมไว้ ตลอดจนพื้นที่เอนกประสงค์สำหรับสอนทำอาหาร และการจัดปาร์ตี้สังสรรค์แบบกลุ่ม ทั้งยังเป็นบริเวณที่ใช้นวดขนมปังยามเช้า พื้นที่ดังกล่าวมีอากาศถ่ายเทและเย็นสบายตลอดวันเมื่อเปิดบานเลื่อนกระจกออกทั้งหมด

สำหรับผู้รับหน้าที่ออกแบบบ้านพักอาศัยสีขาวโพลนหลังนี้ ได้แก่ บริษัท สถาปนิก สุข จำกัด ซึ่งไม่เพียงแค่สร้างเอกลักษณ์เฉพาะให้กับรูปร่างอาคารหลังใหม่ที่จะเกิดขึ้นในชุมชนเท่านั้น แต่ยังคงคำนึงถึงความกลมกลืนกับบริบทของชุมชนไปด้วยพร้อมกันในคราวเดียว โดยสถาปนิกคงไว้ซึ่งลักษณะเช่นเดียวกับบ้านดั้งเดิมในหมู่บ้าน คือ เน้นความเรียบง่าย ผนังไม้ และหลังคาจั่ว ประกอบกับการก่อสร้างอาคารทั้ง 3 ชั้น ด้วยระบบโครงสร้างเหล็กรูปพรรณให้มีการซ้อนทับแบบเหลื่อมล้ำและถอยร่น เพื่อสร้างประโยชน์ทั้งโดยตรงและทางอ้อมให้กับผู้อยู่อาศัย

ในการซ้อนทับของอาคารแบบเหลื่อมล้ำและถอยร่นซึ่งช่วยก่อประโยชน์โดยตรงที่ว่านั้น คือช่วยลดปัญหาความอึดอัดของที่ว่างที่เหลือน้อยลงไปได้มาก ในขณะเดียวกันประโยชน์ทางอ้อม คือส่วนของอาคารชั้น 2 ที่ยื่นออกมายังทำหน้าเป็นทั้งชายคาช่วยกำบังน้ำฝนให้อาคารชั้น 1 และเป็นระเบียงสำหรับชั้น 3 ไปโดยปริยาย อีกทั้งวัสดุก่อสร้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นระบบแห้ง และเป็นวัสดุทดแทนไม้ เช่น ไม้ฝา และไฟเบอร์ซีเมนต์ ยังง่ายต่อการดัดแปลง หรือสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่โดยไม่เป็นขยะเหลือทิ้งอีกด้วย


ชั้น 2 และ 3 ถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้าย one bedroom unit ของคอนโดมิเนียม ประกอบด้วย ส่วน นั่งเล่น ห้องนอน ห้องน้ำ และห้องแต่งตัวที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นห้องนอนของลูกสาวในอนาคต

ตั๋ง (คุณรุจนัมพร เกษเกษมสุข ผู้ก่อตั้งบริษัท สถาปนิก สุข จำกัด) เป็นเพื่อนของน้องชาย เขาจบสถาปัตย์ฯ ลาดกระบัง รุ่นเดียวกัน ตั๋งเขาก็รู้สไตล์เราอยู่แล้วว่าเราใช้ชีวิตแบบไหน ก็ปล่อยตั๋งเลือก (ออกแบบ) เลยแล้วเราค่อยมาดูจากตัวเลือกว่าแบบไหนที่เราชอบ เราเน้นสเปซนะพ่อเนอะคุณอาร์ตพยักหน้าหลังจากคุณโออธิบายพร้อมหันไปถามความคิดเห็น ซึ่งคุณอาร์ตร่วมฟังบทสนทนาของเราอย่างเงียบๆ และช่วยเสริมความเห็นในบางตอน ณ บริเวณส่วนรับประทานอาหารบนชั้น 1 ของบ้านที่เปิดเป็นพื้นที่ให้เพื่อนบ้านหรือบุคคลทั่วไปเข้ามานั่งพักผ่อน พร้อมชิมอาหารฝีมือของสองคนก้นครัวจากเพจ The Dish Whisperer แบบเป็นกันเอง

วงกบประตูและหน้าต่างซึ่งทิ้งร่องรอยของแปรงทาสีที่ดูไม่เรียบร้อยนัก แต่เกิดจากความตั้งใจให้ช่างทาสีแบบไม่เสร็จสมบูรณ์ คุณโอบอกว่าเอาแบบนี้แหละเพราะแค่นี้บ้านก็เรียบมากแล้ว


แม้ในวันที่เว้นว่างจากการทำเบเกอรี แต่พ่อ แม่ ลูก (ในวันที่หยุดเรียน) 3 คน ก็กำลังง่วนอยู่กับการทำอาหารในครัวเพื่อเสิร์ฟให้กับเพื่อนบ้านตามออเดอร์ในแต่ละวัน สามารถติดตามเสียงกระซิบของจานชามแสนรักที่กลายมาเป็นอาหารอร่อยๆ น่าลิ้มลองได้ที่ https://facebook.com/thedishwhisperer ซึ่งเราได้ชิมเมนูแฮมเบิร์กสไตล์ญี่ปุ่นจากครัวนี้แล้ว ขอบอกเลยว่ารสชาติเยี่ยมมาก แน่นอนว่าคุณโอมีฝีมือไม่ธรรมดา เพราะเธอมีใบการันตีความสามารถจากสถาบันสอนการทำอาหารชั้นนำจากฝั่งเศสอย่าง เลอ กอร์ดอง เบลอ เชียวนะ

เราเป็นพ่อครัวแม่ครัวทั้งคู่ เลยตั้งใจว่าส่วนชั้นล่างเราจะทำเป็นร้านอาหารเล็กๆ ทำอาหารง่ายๆ เป็นอาหารจานเดียวและเบเกอรีนิดหน่อย เครื่องดื่มง่ายๆ แล้วก็เปิดเป็นปาร์ตี้ส่วนตัวแบบกลุ่มด้วย ส่วนชั้น 2 เป็นห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องน้ำ และห้องแต่งตัว ชั้น 3 เป็นโต๊ะทำงานของคุณอาร์ต หิ้งพระ และห้องนอนรับแขก ในอนาคตตั้งใจจะใช้พื้นที่ตรงนี้สอนชงชาญี่ปุ่น พร้อมเจริญสมาธิสไตล์เซนไปด้วย เราอยู่กันเป็นบ้านง่ายๆ ผ่านมาทำงานแถวนี้ก็แวะมานั่งทานข้าวเหมือนเพื่อนบ้านได้ แต่ถ้าเป็นเพื่อนบ้านใกล้ๆ เราก็ทำกับข้าวไปส่งในช่วงเย็นด้วย ง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตอง อยากกินอะไรบอก เหมือนเป็นแม่ครัวรับจ้างมีครัวส่วนตัว (หัวเราะ)

ในความเรียบง่ายของสถาปัตยกรรมสีขาวโพลนที่สถาปนิกใส่ความหวือหวาลงไปแต่พองาม ประกอบกับการเลือกเก็บรักษารูปแบบพื้นที่ใช้สอยหน้าบ้าน ซึ่งสะท้อนไปถึงวิถีชีวิตร่วมสมัยของครอบครัวใหญ่ที่มีญาติสนิทมิตรสหายอาศัยอยู่บ้านใกล้เรือนเคียง ไว้สำหรับการไปมาหาสู่ได้สะดวกดังเดิม สร้างความรับรู้ได้ถึงชีวิตชีวาที่แทรกซึมอยู่ในแทบทุกส่วนพักอาศัยทั้งภายในและภายนอกบ้าน นี่กระมังคงเป็นเหตุผลที่ถึงแม้สถาปนิกจะออกแบบบ้านได้สวยงามเพียงใด แต่ท้ายที่สุดแล้วองค์ประกอบสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้เลย คือ ความสุขของผู้อยู่อาศัยซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากกระบวนการออกแบบและก่อสร้างอันยาวนานสิ้นสุดลง ซึ่งด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่พอดีกับความสุขของผู้อยู่อาศัย ดังคำกล่าวของคุณอาร์ตที่ว่าบ้าน ไม่ว่าจะทรงโมเดิร์นหรือทรงเก่า ถ้าเราใช้ชีวิตในนั้นแล้วรู้สึกเข้ากับวิถีชีวิตของเรา แค่นี้ก็พอแล้ว” ‘อบอุ่นหัวใจ คำๆ นี้พบได้ไม่ยากเลยเมื่อก้าวเข้ามาในบ้านพักอาศัยหลังนี้ที่บริษัท สถาปนิก สุข ตั้งชื่อให้ว่า ‘O-ART-IM HOUSE’

บ้าน ไม่ว่าจะทรงโมเดิร์นหรือทรงเก่า ถ้าเราใช้ชีวิตในนั้นแล้วรู้สึกเข้ากับวิถีชีวิตของเรา แค่นี้ก็พอแล้ว

ธีรยุทธ คงดี เจ้าของบ้าน

Contact : https://facebook.com/thedishwhisperer

Leave A Comment