NY HOUSE


ความสมดุลต่างระดับที่เชื่อมต่อกันภายในบ้านกล่อง

TEXT: Mr.Daybeds
PHOTO: Ketsiree Wongwan

อีกครั้งที่สำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรมชั้นนำของไทย ‘IDIN Architects’ สร้างสรรค์อาคารหน้าตาทันสมัยขึ้นใหม่ใจกลางมหานครกรุงเทพฯ ‘NY House’ คือชื่อเฉพาะของบ้านพักอาศัยหลังล่าสุดภายใต้ลายเซ็นของสถาปนิก คุณจีรเวช หงสกุล และทีมออกแบบจากไอดิน ซึ่งเนรมิตความปรารถนาของ คุณเขมวิรุฬห์ ลักษณากร และ คุณศุภณัฐ กิจเจริญศักดิ์กุล ออกมาในรูปแบบอาคารทรงกล่องสีขาว ดึงดูดสายตาผู้คนที่สัญจรผ่านเข้าออกภายในซอยรัชดาภิเษก 36 ได้ชะงัด

มุมมองจากภายนอกเราจะเห็นเป็นกล่องอาคารสีขาวโพลนลอยเด่น และวางตัวเหลื่อมซ้อนกันเป็นกลุ่มก้อนรูปตัว L ซึ่งภายในบรรจุความปรารถนาของผู้อาศัยเอาไว้ครบถ้วน สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้บ้านขนาด 3 ห้องนอน บนพื้นที่ 470 ตารางเมตรหลังนี้ มีพื้นที่ส่วนกลางสามารถมองเห็นและเชื่อมต่อถึงกันในหลายระดับ ตามความประสงค์แรกของคุณเขมวิรุฬห์ และคุณศุภณัฐ ผู้ซึ่งชื่นชอบบ้านพักอาศัยที่มีลักษณะเล่นระดับเชื่อมต่อกัน (Step Circulation)

ข้อดีด้านปัจจัยของสภาพแวดล้อมด้านหลังอาคารทางทิศเหนือคือที่ดินของพี่ชายเจ้าของบ้าน สถาปนิกจึงสามารถออกแบบช่องเปิดให้กับบ้านเพื่อเปิดรับลมและแสงสว่างได้โดยไม่ทำให้ผู้อาศัยสูญเสียความเป็นส่วนตัวลงไปแต่อย่างใด

ด้านหน้าอาคารหันออกสู่ทางทิศใต้ จากมุมมองนี้จะเห็นกล่องอาคารสีขาวโพลนลอยเด่น วางตัวเหลื่อมซ้อนกันเป็นกลุ่มก้อนรูปตัว L โดยเฉพาะปีกอาคารยื่นยาวออกไปเพื่อบังแดดที่อ้อมมาจากทิศตะวันตก

ผนังอาคารทางฝั่งทิศตะวันตกออกแบบโดยเน้นการปิดทึบเพื่อลดการรับแดดโดยตรง อีกทั้งกล่องอาคารส่วนห้องนอนบนชั้น 3 ยังทำหน้าที่ยื่นมาช่วยบังแดดให้กับระเบียงห้อง Family room ได้อีกเช่นกัน

เริ่มต้นจากแนวบันไดเป็นสิ่งแรก สถาปนิกจัดวางและออกแบบขึ้นโดยที่ยังไม่รู้ถึงภาพจบของพื้นที่ว่าง (Space) และรูปทรงอาคาร (Form) ที่จะเกิดขึ้น เพื่อต้องการให้จุดแรกหลังจากผ่านประตูเข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศภายในบ้าน สามารถมองเห็นบันไดหลักซึ่งจะเป็นตัวนำสายตาและเชื่อมต่อพื้นที่ส่วนต่างๆ ของบ้านเข้าด้วยกัน ตั้งแต่พื้นที่ต้อนรับแขกหรือพื้นที่ส่วนกลาง (Public Space) บริเวณชั้น 1 ซึ่งมีส่วนรับประทานอาหารเชื่อมต่อกับครัวแบบเปิดที่สามารถนั่งรับประทานอาหารกับแขกได้ นำไปสู่พื้นที่ส่วนตัว (Private) บริเวณชั้น 2 และชั้น 3 ตามลำดับซึ่งเป็นห้องสำหรับครอบครัว (Family room) ต่อเนื่องสู่ส่วนพักอาศัยของพ่อแม่ และส่วนพักอาศัยของลูกเป็นลำดับสุดท้าย

ในการวางทิศทางให้กับตัวบ้าน สถาปนิกตั้งใจหันอาคารด้านหน้าไปทางทิศใต้ ส่วนด้านหลังอาคารทางทิศเหนือนั้นเป็นที่ดินว่างของพี่ชายเจ้าของบ้าน จึงเลือกออกแบบให้มีช่องเปิดของบ้านอยู่บริเวณส่วนหน้าและหลังบ้านเท่านั้นเพื่อเปิดรับลมและแสงสว่าง ส่วนด้านทิศใต้ยังมีการทำปีกอาคารยื่นยาวออกไปเพื่อบังแดดที่อ้อมมาทางทิศนี้ ในขณะที่ด้านข้างอาคารทางฝั่งทิศตะวันตก สถาปนิกออกแบบโดยเน้นการปิดทึบเพื่อลดการรับแดดโดยตรง อีกทั้งบริเวณห้องนอนชั้น 3 ยังยื่นมาช่วยบังแดดที่ระเบียงด้านนี้ได้อีกเช่นกัน

ในภาพรวมทั้งหมดแล้ว NY House ไม่ได้เป็นเพียงกล่องสีขาวที่วางตัวซ้อนทับกันไปมาโดยสามัญทั่วไป บ้านพักอาศัยหน้าตาทันสมัยหลังนี้ยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตต่างระดับให้เกิดความสมดุลและเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างน่าสนใจ

พื้นที่หลักของบ้านนี้ คือเป็นส่วนโต๊ะรับประทานอาหาร ที่สามารถปรับฟังก์ชันเป็นโต๊ะทำงานได้ บริเวณนี้สถาปนิกเลือกออกแบบให้มีฝ้าสูง เพื่อเปิดให้พื้นที่ต่อเนื่องไปยังห้องนั่งเล่นหลักของบ้าน ซึ่งมีระเบียงต่อเนื่องไปถึงภายนอก ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ภายในบ้านจึงสามารถมองเห็นกันได้ตลอดเวลา

โถงกลางของบ้านได้รับการออกแบบให้เป็นหลังคากระจกใส เพื่อนำแสงสว่างเข้ามาสู่ส่วนโถงกลางบันไดที่เป็นส่วนเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ ภายในบ้านเข้าด้วยกัน

ห้อง Family room เน้นเปิดโปร่งด้วยผนังกระจกที่สามารถเปิดออกสู่ระเบียงรูปตัว L ทำให้ห้องนี้สามารถเปลี่ยนพื้นที่ในร่มเป็นกึ่งกลางแจ้งได้ในวันที่อากาศดี

บันไดหลักของบ้านเป็นพระเอกทำหน้าที่เชื่อมต่อพื้นที่ส่วนต่างๆ ของบ้านเข้าด้วยกัน เช่นมุมนี้ช่องทางเดินหลักจะนำไปสู่ชั้น 2 ซึ่งเป็นส่วนห้องนอนใหญ่ (Master Bedroom) และเดินต่อไปยังชั้น 3 ที่เป็นส่วนห้องพระและนอนของลูกเป็นอันดับสุดท้าย

กล่องอาคารส่วนห้องนอนใหญ่มีการเล่นระดับเป็นแบบดูเพล็กซ์ ที่เอาส่วนนอนไว้ด้านบนและเอาส่วนทำงานไว้ด้านล่าง

ภายในห้องแต่งตัวซึ่งต่อเนื่องไปกับส่วนของห้องน้ำภายในกล่องอาคารของห้องนอนใหญ่ ตกแต่งด้วยการบิลท์อินตู้เสื้อผ้าที่สามารถเลื่อนปิดเพื่ออำพรางสายตา และสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้กับมุมดังกล่าว ทั้งนี้ยังเน้นโทนสีอบอุ่นจากแสงไฟสีเหลืองที่เข้ากันดีกับโทนสีของงานไม้ ซึ่งช่วยสร้างความสบายตาให้กับผู้อาศัยได้เป็นอย่างดี

NY House ในบรรยากาศพลบค่ำ

Architect: IDIN ARCHITECTS / จีรเวช หงสกุล และ เอกลักษณ์ ศิริจริยวัตร
Interior Architect: IDIN ARCHITECTS / ศรินทร์ รังสิกรรพุม
Structural engineer: ภคณัช ศิริประสพโสธร

 

Leave A Comment