MOK KAM POR
เหล่าผลงานการออกแบบจากแนวคิดของ สร้างสรรค์ ณ สุนทร
เดย์เบดส์ มีโอกาสได้พบ คุณอั๋น-สร้างสรรค์ ณ สุนทร เนื่องจากนักออกแบบจากเชียงใหม่ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และอาจารย์ประจำสถาบันสอนการออกแบบอุตสาหกรรม อองซี – เลส์ อาเทลเลียร์ (ENSCI – Les Ateliers) จากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน 10 นักออกแบบน่าจับตามอง เข้าร่วมแสดงงานใน Design STARS showcase ส่วนหนึ่งของงาน International Furniture Fair Singapore 2017 หรือ IFFS ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเราเองมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมงานครั้งนี้ที่จัดขึ้นไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
คุณอั๋นจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในระดับปริญญาโทด้านการออกแบบอุตสาหกรรม จากสถาบันสอนการออกแบบอุตสาหกรรม อองซี – เลส์ อาเทลเลียร์ ด้านการทำงาน คุณอั๋นก่อตั้งสตูดิโอออกแบบในนาม MOK KAM POR (มอกกำปอ) ซึ่งในภาษาเหนือ หมายถึง ขนาดพอดีกำ เพื่อทำงานออกแบบในความสนใจควบคู่ไปกับการสอนที่ ENSCI – Les Ateliers โดยก่อนหน้านี้เขาเคยผ่านการเป็นผู้ช่วยนักออกแบบให้กับ Gabriele Pezzini ดีไซน์ไดเร็กเตอร์แห่ง Hermès มาแล้ว นอกจากนี้ยังผ่านการทำงานออกแบบให้กับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย อาทิ Prempracha’s collection, DEESAWAT ,United Glass, Natural Unit และ PHYA Philosophy เป็นต้น ตลอดจนเวิร์กช็อปและนิทรรศการที่เขามีส่วนร่วมทั้งไทยและเทศอีกนับไม่ถ้วน
“หลังจากผมเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมไปเรียนต่อด้านการออกแบบอุตสาหกรรมที่ปารีส จบแล้วก็ทำงานเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นั่นเป็นหลัก อีกครึ่งหนึ่งก็ทำงานออกแบบ ผมจึงพยายามติดต่อกับเมืองไทยเอาไว้” เจ้าของสตูดิโอออกแบบ MOK KAM POR เริ่มเล่า
ในการออกแบบ ทุกชิ้นงานของคุณอั๋นล้วนกลั่นออกมาจากแนวคิดและตัวตนที่สะท้อนผ่านการใช้ชีวิตคลุกคลีกับงานหัตถศิลป์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนสิ่งรอบตัวที่เป็นแรงบันดาลใจในการนำสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์เป็นงานออกแบบสร้างสรรค์เหมือนชื่อจริงของเขา ซึ่งภายในงาน IFFS เราได้พบกับงานออกแบบคอลเลกชั่นล่าสุด ที่คุณอั๋นสร้างสรรค์ให้กับแบรนด์ PREM, DEESAWAT, BAMBUNIQUE รวมถึง JAOBAN ซึ่งเป็นแบรนด์ของเขาเอง
PREM
เริ่มจาก PREM แบรนด์ที่เกิดจากการต่อยอดคอลเลกชั่นงานเซรามิกจากแบรนด์ Prempracha’s collection ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและผลิตเซรามิกคุณภาพสูงมีเอกลักษณ์จากเชียงใหม่ ที่ออกแบบงานเซรามิกที่มีเอกลักษณ์ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมาแล้วกว่า 1,000 แบบ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี คุณอั๋นเล่าว่า “ผมได้ไปเจอกับเปรมประชาตอนเขาไปออกงาน MAISON&OBJET ที่ปารีสครั้งแรกเมื่อ 5-6 ปีก่อน เนื่องจากเราเป็นคนเชียงใหม่ด้วยกันเลยคุยกันง่าย พอดีกับทางคุณอัมพร ขันชัยทิศ (ผู้ก่อตั้ง) อยากจะพัฒนาสินค้าเพื่อไปขายในตลาดยุโรป แต่เขาถนัดกับตลาดอเมริกันที่ผลิตจำนวนเยอะๆ มากกว่า แต่ทุกวันนี้การทำเป็น OEM (Original Equipment Manufacturer) มันเหนื่อยที่ต้องคอยคิดงานเยอะๆ เพื่อที่ลูกค้าจะได้มาเลือกเสร็จแล้วก็ปั๊มตราของลูกค้า จึงอยากจะเหนื่อยน้อยลงหน่อย มีแบบที่อยู่ได้นานๆ ผมจึงเข้ามาช่วยเป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์ให้กับแบรนด์ จนถึงตอนนี้ก็ทำมา 4-5 ปี ชื่อแบรนด์ว่า PREM ย่อมาจากชื่อเต็มคือเปรมประชา ตอนนี้เพิ่งจะออกมาเป็นคอลเลกชั่นแรก”
HOY คือคอลเลกชั่นงานเซรามิกที่ MOK KAM POR ออกแบบให้กับแบรนด์ PREM ซึ่งได้รับคัดเลือกจาก Nathan Yong ให้เป็นหนึ่งใน 18 ชิ้นงานเข้าไปจัดแสดงในพาวิลเลี่ยน The White House ที่งาน IFFS ด้วยนั้นคุณอั๋นอธิบายถึงแนวคิดที่มาไว้ว่า “โดยปกติถ้วยหรือจานเซรามิกเราจะเห็นฐานมีลักษณะเป็นกลมๆ ซึ่งพอเราเผาจะเห็นรอยของมันอีกด้านหนึ่งโดยธรรมชาติ ผมก็เลยคิดว่าไหนๆ มันมีลักษณะแบบนี้อยู่แล้วก็คิดลายมันซะเพื่อที่จะได้เล่นกับลายบริเวณฐานซึ่งมีอยู่ 3 แฉก 5 แฉก และ 6 แฉก เริ่มจากการแกะพลาสเตอร์เป็นตัวแบบแล้วก็หล่อออกมาเป็นแฉกๆ และตั้งใจเล่นกับกระบวนการขึ้นรูปด้วย คือผมทำให้มันบางกว่าปกติเพื่อที่ว่าพอนำไปเผาไฟมันจะบิด และฟอร์มมันก็จะออกมาเบี้ยวโดยธรรมชาติ อาจเป็น mass แต่มันก็เป็น unique ไปด้วยในตัว”
TON คืออีกหนึ่งคอลเลกชั่นที่เราอยากพูดถึง ลักษณะของเหยือกดูคล้ายกับฟอร์มของลำต้นของไม้ไผ่ แนวคิดนี้คุณอั๋นอธิบายว่า “ปกติทางเหนือเราเรียกเหยือกน้ำว่า น้ำต้น ฟอร์มมันจะโปร่ง ผมก็เลยดึงคำนี้มาเรียกว่า TON (ต้น) และในขณะเดียวกันทรงก็คล้ายๆ ต้นไม้ ที่เราตัดมาเป็นท่อน กึ่งๆ ไม้ไผ่ ผิวของมันเป็นงานกราฟิกที่มีฟังก์ชั่นช่วยให้จับอยู่มือ”
DEESAWAT
ในส่วนของม้านั่งและชั้นวางของที่ออกแบบให้กับแบรนด์ DEESAWAT ก็เป็นอีกหนึ่งคอลเลกชั่นที่น่าสนใจ เริ่มด้วย ม้านั่งคุณอั๋นนำแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของล้านนาอย่าง หลองข้าว และเรือนหม่อนตุด ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของชาวไทลื้อมาออกแบบม้านั่งให้มีลักษณะคล้ายกับโครงสร้างของพื้นบ้านเรือนไทยลื้อ ซึ่งผลงานนี้เคยนำไปจัดแสดงอยู่ในงาน Chiang Mai Design Week 2016 เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาด้วย ส่วนชั้นวางของคอลเลกชั่น ‘SEE’ คุณอั๋นนำไอเดียจากตู้กับข้าวโบราณและมุ้งมาผสานรวมกันเป็นชั้นวางของที่สามารถปิดคลุมเพื่อป้องกันฝุ่นจับได้ เขาอธิบายว่า “ถ้าชั้นวางของปิดด้วยกระจก ผมรู้สึกว่ามันแข็งเกินไป เลยเอามุ้งมาผสมกับตู้กับข้าวสมัยก่อน ผมชอบลักษณะที่มันเห็นฟอร์มลางๆ ก็เลยกลายเป็นไอเดียในการออกแบบ
BAMBUNIQUE
Bamboobox อีกหนึ่งชิ้นงานที่ออกแบบให้กับแบรนด์ BAMBUNIQUE จัดวางอยู่ในส่วนจัดแสดงของ IFFS ที่ได้ไอเดียมาจากเข่งติ่มซำที่พัฒนาต่อมาเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมที่สามารถซ้อนกันได้ตามต้องการ เป็นกล่องอเนกประสงค์ที่สามารถนำไปใช้งานบนโต๊ะทำงาน โต๊ะเครื่องแป้ง หรือใส่กระดาษ A4 และซองจดหมายได้ตามความสะดวก
JAOBAN
และสุดท้ายคือแบรนด์ที่ก่อตั้งขึ้นโดยคุณอั๋นเองอย่าง JAOBAN (จ่าวบ้าน) ซึ่งเป็นคำในภาษาเหนือหมายถึง ชาวบ้าน คุณอั๋นเล่าว่า “ผมมองว่าเชียงใหม่มีงานคราฟท์หลายๆ อย่าง ผมก็เลยอยากลองทำงานคราฟท์ในหลากหลายรูปแบบ เพราะปกติแต่ละคนจะทำเพียงอย่างเดียวตามความถนัด เซรามิกก็ทำแต่เซรามิก ผมจึงออกแบบกระจกแขวนผนัง คอลเลกชั่น NIAN และราวแขวนผ้า คอลเลกชั่น KONG ขึ้นมา ในการออกแบบกระจก ปกติกระจกจะมีไม้ดามข้างหลังถึงจะแขวนได้ ผมมองหาวิธีแขวนยังไงถ้าหากไม่มีไม้ดามด้านหลัง เลยออกแบบมาเป็นโครงง่ายๆ โน้มหากันแล้วดามกระจกมัดล็อคไว้ ในขณะเดียวกันโครงสร้างมันก็ทำให้นึกถึงยอดกาแลของทางเหนือ ผลิตจากหวายของทางอินโดนีเซียซึ่งคุณภาพของมันจะเหนียวกว่าหวายในบ้านเรา ส่วนราวแขวนเสื้อไม้ ได้ไอเดียมาจากเสาของบ้านไม้หรือเสาของวิหารวัดทางตอนเหนือที่จะเป็นทรงแปดเหลี่ยม มีฟังก์ชันการรับมุมของแง่งไม้แต่ละด้านเวลาเราแขวนเสื้อผ้า เป็นพยายามจะหาความพอดีให้มัน เหมือน MOK KAM POR ขนาดพอดีกำ”