MC MICHAEL

00

จุดกำเนิดเฟอร์นิเจอร์ไม้เหนือกาลเวลา

ไม่น่าแปลกหากใครที่ได้เห็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ทรงคลาสสิกร่วมสมัยแบรนด์นี้แล้วจะทึกทักเอาว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหรูจากต่างประเทศ เพราะทั้งหน้าตา คุณภาพ และชื่อแบรนดิอย่าง ‘Mc Michael’ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นแบบฝรั่งอย่างเต็มตัว แต่สำหรับคนรักเฟอร์นิเจอร์ตัวจริง ก็จะรู้ว่าทั้งคุณภาพและความประณีตที่เห็นได้ชัดในชิ้นงานไม้ทรงคุณค่าเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ถูกผลิตในเมืองไทย และด้วยตัวคนไทยเอง

คุณพงษ์พิทักษ์ วงษ์ดีไทย เจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้สไตล์อเมริกันร่วมสมัย ‘Mc Michael’ ใช้องค์ความรู้เรื่องไม้ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานจากครอบครัว ผนวกกับวิธีการผลิตที่ถูกส่งผ่านมาจากมืออาชีพในระดับสากล เกิดเป็นโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์มาตรฐานโลก ที่คุณพงษ์พิทักษ์นับเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ประจำโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่มีประวัติยาวนาน

“เราได้จากบริษัท ฮุนได ของเกาหลี ที่ผลิตรถเนี่ยล่ะ ความจริงแล้วเขาทำหลายอย่างมาก เขามีเซกชั่นที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่อเมริกา เขามาเจอเราได้ยังไงผมก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าเขามาเมืองไทยเขาก็มาหาเรา เขาสนใจในฝีมือเรา เขาก็มาสอน อยากให้เราผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้ คลุกคลีอยู่กับเราเกือบปีครับ สอนจนเราเป็น”

โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ดำเนินการมามากกว่า 20 ปี เริ่มต้นจากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออกให้แบรนด์ชั้นนำต่างๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น Bernhardt, Century หรือ Lexington  สำหรับผู้ที่ชื่นชอบและต้องการซื้อหาเฟอร์นิเจอร์ทั้งหลายเหล่านี้ ก็ต้องยอมรับในระดับของราคานำเข้าที่สูงลิบลิ่ว ทั้งๆ ที่ถูกผลิตในเมืองไทยเอง จึงเป็นโอกาสที่โรงงานที่มีมาตรฐานการผลิตสูงของคุณพงษ์พิทักษ์ จะก้าวเข้ามาสร้างแบรนด์ของตัวเองเพื่อตอบรับกับความต้องการของคนไทยที่รักในงานไม้สไตล์คลาสสิกร่วมสมัยแบบอเมริกัน ที่จะหาชิ้นงานที่มีคุณภาพโดยไม่ต้องนำเข้าได้ไม่ง่ายนักสำหรับเมืองไทยในขณะนั้น

“มันเกิดมาจากแนวคิดที่ว่า เราคงไม่อยากเป็น OEM (Original Equipment Manufactuere-คือการรับจ้างผลิตสินค้าให้แบรนด์อื่น) ไปตลอดชีวิตนะครับ เพราะว่าการที่ผลิตให้คนอื่นมันมีความเสี่ยง เขาจะย้ายไปโรงงานอื่นเมื่อไรเราก็ไม่รู้ ส่งออกค่าเงินเปลี่ยนเมื่อไรเราก็ไม่รู้ เราเลยต้องทำแบรนด์ของตัวเอง พูดง่ายๆ คือเป็นอีกขาหนึ่งของโรงงาน และเนื่องจากเราส่งออกอเมริกาเป็นหลัก เรามีความรู้เรื่องดีไซน์ เรื่องสินค้าที่เป็นเฟอร์นิเจอร์อเมริกัน ก็เลยให้ Mc Michael เนี่ยเป็นสินค้าที่มีกลิ่นอายของความเป็นอเมริกันให้มากที่สุด”

ไม้ยาง ไม้บีชเยอรมัน ไม้สนนิวซีแลนด์ และไม้ป็อปล่าอเมริกา เมื่อผ่านการออกแบบจากทีมสำหรับเฟอร์นิเจอร์คอลเลกชั่นใหม่ๆ ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต การคิดคำนวณให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปอย่างลงตัว คุ้มค่า และได้ตามแบบที่ต้องการ ต้องอาศัยทั้งความชำนาญและประสบการณ์การทำงานไม้ที่มากพอ จึงเป็นสิ่งที่ Mc Michael ได้เปรียบจากระยะเวลาของการคลุกคลีอยู่กับงานไม้มาอย่างยาวนาน ทำให้แบรนด์สามารถสร้างสรรค์งานเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ประณีตจากชนิดพันธุ์ของไม้ที่หลากหลายได้อย่างชำนิชำนาญ

ชิ้นส่วนของเฟอร์นิเจอร์ไม่ว่าจะเป็นขาโต๊ะ ขาเตียง พนักเก้าอี้ ที่อ่อนช้อยและประณีต ถูกประดิษฐ์ขึ้นจากการวางแผน และความเข้าใจในรายละเอียดของการเกิดขึ้นของทุกชิ้นส่วน ขั้นตอนของการผลิตทั้งหมดบรรจุอยู่ในอาคารทั้งสิ้น 4 หลังแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนหลัก คือการตัดหยาบ, ห้องการผลิต (การขึ้นรูปและประกอบ), การทำสี และการแพ็คกิ้ง

“รูปทรงที่มันโค้งมนต่างๆ เนี่ย มันคือการกินเนื้อไม้ เพราะแรกเลยมันต้องเริ่มมาจากท่อนสี่เหลี่ยม ยิ่งโค้งเยอะ ท่อนสี่เหลี่ยมก็ยิ่งก้อนใหญ่”

แผ่นไม้ทั้งหมดเมื่อมาถึงโรงงาน จะผ่านขั้นตอนการ ‘ตัดหยาบ’ คือตัดให้ได้ชิ้นส่วนของเฟอร์นิเจอร์ในรูปของท่อนไม้สี่เหลี่ยมตามขนาด กว้าง ยาว หนา ตามแบบที่ได้ดีไซน์ไว้ก่อนหน้า โดยมีการควบคุมขนาด ชนิดของไม้ และจำนวนการผลิต อย่างเป็นระบบเพื่อการติดตามชิ้นส่วนได้ง่าย ก่อนจะถูกส่งต่อไปยังห้อง ‘การผลิต’ คือการตัดละเอียด ขึ้นรูปงานไม้จากชิ้นส่วนของท่อนไม้สี่เหลี่ยม โดยมีเครื่องมือสำหรับตัด ไส กลึง แกะ มากมาย เพื่อให้ได้รูปทรงโค้งของชิ้นส่วนที่ไม่ใช่เพียงลายโค้งบนผิวหน้า แต่โค้งมนถึง 3 มิติ ตามที่ต้องการ ในขั้นตอนเหล่านี้เองที่เป็นหัวใจของโรงงานเฟอร์นิเจอร์ โดย Mc Michael นั้นยังมีส่วนของงานไม้แกะมือ ในส่วนของลวดลายประดับหรือรูปทรงที่ละเอียดประณีตอย่างสูง จะใช้ฝีมือคนในส่วนที่เครื่องจักรยังไม่มีความละเอียดลออมากพอ

01ท่อนไม้ที่ผ่านการตัดหยาบ ให้ได้ขนาดโดยรวมคร่าวๆ
ก่อนนำไปขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนที่มีรายละเอียดต่อไป

02เครื่องจักรที่ใช้ในขั้นตอนตัดหยาบ จากแผ่นไม้ขนาดใหญ่ให้เหลือท่อนไม้ในขนาดที่ต้องการ
โดยแต่ละเครื่องจักรจะมีระบบดูดเศษผงได้เกือบทั้งหมด ทำให้พื้นที่รอบๆ
จะมีฝุ่นละอองในอากาศน้อยมาก

ผ่านการขั้นรูป การประกอบชิ้นส่วนก็จะถูกทำขึ้นในโรงงานหลังเดียวกัน โดยเกือบทั้งหมดของชิ้นเฟอร์นิเจอร์  Mc Michael จะใช้เดือยไม้และกาวไม้เป็นชิ้นส่วนเชื่อมสำหรับรับน้ำหนัก ในแต่ละชิ้นเฟอร์นิเจอร์จึงจะพบรอยต่อที่เป็นโลหะในเฉพาะส่วนที่จำเป็นเท่านั้น เช่น แผงเตียง หรือตะขอเกี่ยวเสาเตียง เป็นต้น

“งานขัดจะมีอยู่ตลอดทาง เป็นชิ้นส่วนปุ๊บก็ขัดและ ประกอบเสร็จขัดอีก พอลงสีขัดอีก มันเลยจะเรียบตลอดทั้งตัว”

แม้จะใช้เวลานานกว่าการผลิตเฟอร์นิเจอร์โดยทั่วไป แต่การผลิตที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ก็เป็นสิ่งที่ Mc Michael พยายามบอกกล่าวอยู่เสมอ การวัดขนาด ตรวจผิวงานตลอดเวลา ควบคุมคุณภาพของชิ้นส่วน และการเพิ่มพูนทักษะของช่าง ทำให้เฟอร์นิเจอร์ของ Mc Michael สามารถรักษามาตรฐานการผลิตในระดับสากล ในขณะที่ยังแฝงเสน่ห์ของความละเอียดอ่อนจากงานฝีมือไว้อย่างเต็มเปี่ยม

“เราพยายามสอนพนักงานให้ QC (Quality Control-การควบคุมคุณภาพ) เองในตัว เบื้องต้นต้องรู้ว่าคนงานถัดไปต้องการอะไร คนขัดต้องรู้ว่าคนทำสีอยากได้อะไร คนเจาะต้องรู้ว่าคนประกอบอยากได้อะไร มันมีการวัดขนาด มันมีการตรวจผิวงานตลอดเวลา มันทำให้ทุกอย่างเหมือนกัน ทำให้ทุกอย่างมีคุณภาพเท่ากัน”

เมื่อถึงขั้นตอนสุดท้ายก่อนการแพ็คส่ง การลงสีจึงเป็นอีกขั้นตอนที่สร้างเสน่ห์ให้กับเฟอร์นิเจอร์สไตล์อเมริกัน ‘Glazing’ คือเทคนิคการลงสีที่ทำให้สีซึมเข้าสู่เนื้อไม้ ผิวหน้าของไม้จะดูใส มองเห็นเนื้อไม้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยระหว่างการลงสี ยังสามารถเติมรายละเอียดบนผิวได้ด้วยมือ เช่น การทำให้ดูเก่า ทำให้ดูใหม่ ได้ตามคอลเลกชั่นนั้นๆ ของเฟอร์นิเจอร์ โดยต่อการลงสีหนึ่งครั้ง ต้องใช้เวลาราว 8 ชั่วโมงเพื่อให้สีแห้งพร้อมแพ็ค และใช้เวลาราว 2 วันเพื่อให้สีแห้งสนิทจริง จึงเป็นระยะเวลาที่เฟอร์นิเจอร์จะถึงมือลูกค้าโดยพอดี

     03ชิ้นงานตัวอย่างในขั้นตอนการตัดละเอียด โดยใช้เทียบเป็นมาตรฐาน ขนาด ความโค้ง ตำแหน่งของการเจาะ เพื่อความถูกต้องของแต่ละชิ้นงาน

    04
ขั้นตอนการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ของเฟอร์นิเจอร์

  05
การแกะละเอียด เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญของเฟอร์นิเจอร์ Mc Michael โดยจะมีช่างฝีมือทั้งสิ้น 5 คน รับผิดชอบใน
ขั้นตอนเฉพาะในส่วนของตัวเองแตกต่างกันไป เช่น ขั้นตอนวาดเส้น, ขั้นตอนแกะเส้น, ขั้นตอนแกะลาย เป็นต้น
    06 ขั้นตอนลงสี ผนังน้ำตกขนาดใหญ่ทำหน้าที่กรองสีในอากาศไม่ให้ฟุ้งกระจาย ละอองสีส่วนเกินจะตกลงตามสายน้ำตก และจะถูกตักกรองออกไปทำลายทิ้งในภายหลัง

07 สายพานในขั้นตอนลงสี ยาวประมาณ 400 เมตร โดยสามารถลงสีได้ราว 15-16 ขั้น โดยในเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งๆ ที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก จะมีขั้นตอนการลงสีอยู่ราว 12 ขั้น อีกทั้งยังมีขั้นของการขัดแต่งสีต่างๆ อยู่เป็นระยะ ในแต่ละชิ้นงานจึงมีความประณีตและละเอียดอ่อนในการทำผิวอย่างยิ่ง  

08ชิ้นงานที่ลงสีเสร็จเรียบร้อยรอสีแห้งสนิทดีก่อนแพ็คส่งลูกค้า 

“เราต้องการคนที่ใจเย็นอยู่แล้ว ต้องการความละเอียด เพราะงานไม่เหมือนงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หรืองานที่ใช้เครื่องจักร ที่มันต้องรีบ ใช้คนไม่กี่คนนั่งเฝ้าเครื่อง ของเราไม่ใช่ ของเราต้องทำเอง”

นวัตกรรมในยุคปัจจุบันที่หมุนเร็วยิ่งกว่าโลกของเราเอง แม้เครื่องจักรจะก้าวเข้ามามีบทบาทจนสามารถทดแทนแรงงานของมนุษย์ได้แล้วแทบทั้งสิ้น แต่กับกลิ่นอายที่แฝงอยู่ในเนื้อไม้งานละเอียด ที่อาจไม่สามารถสัมผัสได้เพียงแค่ทางตา เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เองคือสิ่งที่จะยังคงเป็นเสน่ห์ ที่จะไม่เลือนหายไปในเร็ววัน

“เราต้องการคนที่ใจเย็นอยู่แล้ว ต้องการความละเอียด เพราะงานไม่เหมือนงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หรืองานที่ใช้เครื่องจักร ที่มันต้องรีบ ใช้คนไม่กี่คนนั่งเฝ้าเครื่อง ของเราไม่ใช่ ของเราต้องทำเอง” 

พงษ์พิทักษ์ วงษ์ดีไทย

Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ

Leave A Comment