MAGNIFIQUE INTERIORS GROUP
ย่างก้าวสำคัญของ อาทิตยา ประภานาคพิทักษ์
สถาปนิกและนักออกแบบภายใน บนเส้นทางที่เธอเลือกเอง
จุดเริ่มต้นในอาชีพของ คุณเอ็ม-อาทิตยา ประภานาคพิทักษ์ ซึ่งเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเทศญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงที่หนึ่งเลยก็ว่าได้ แต่อาทิตยาได้เลือกเดินบนเส้นทางออกแบบ ที่ต้องพิสูจน์หลายสิ่งหลายอย่างกว่าคุณพ่อของเธอจะยอมให้ทำออฟฟิศออกแบบของตัวเองได้ คงไม่ใช่เรื่องตลกล้อเล่นสำหรับใครสักคนที่ต้องการลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ตน พึงปรารถนาจากน้ำพักน้ำแรง แต่เธอก็กล้าและบ้าบิ่นพอที่จะก้าวออกไปเผชิญฝัน แปรเปลี่ยนแรงกดดันเป็นแรงผลักดันเพื่อพิสูจน์ให้ใครเห็นว่า สิ่งที่เธอกำลังทำอยู่นั้นเป็นความคิดที่ถูกต้องดีแล้ว และยังเป็นการเริ่ม ต้นย่างก้าวแรกในนามบริษัทของตัวเองได้ดีเสียด้วยในขวบปีที่ผ่านมา
อาทิตยา จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี จาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาสถาปัตยกรรมภายใน (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ซึ่งปริญญานิพนธ์ของเธอมีเนื้อหาเกี่ยวกับการรีโนเวตอาคารผู้โดยสารของสนามบินดอนเมืองเพื่อเป็น Pilot Lounge เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจการบินในอนาคต ซึ่งเกิดจับพลัดจับผลูไปสะดุดตาสถาปนิกชั้นนำอย่าง ดวงฤทธิ์ บุนนาค เข้าอย่างจัง เธอจึงได้รับการชักชวนให้เข้าไปทำงานที่ บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด ในเวลาต่อมา ก่อนตัดสินใจไปศึกษาต่อในด้าน Brand Management & Entrepreneurship ที่ Northumbria University ซึ่งอดีตเจ้านายดวงฤทธิ์ บุนนาค และ ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง หรือ ปอม ชาน นักวาดภาพประกอบชื่อดัง สองผู้ให้คำแนะนำต่างก็เคยใช้ชีวิตอยู่ที่ลอนดอนมาก่อนหน้านี้ โดยก่อนที่จะเข้าเรียนที่นี่ อาทิตยายังได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านออกแบบภายในหลายแห่ง อาทิ Chelsea College of Arts สาขาตกแต่งภายใน เป็นต้น
เราเริ่มต้นบทสนทนาด้วยที่มาที่ไปของการก่อตั้งบริษัท ซึ่งคุณอาทิตยาได้เล่าว่า ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 2 ปีของการไปใช้ชีวิตที่ลอนดอนและท่องเที่ยวตามเมืองต่างๆ ในแถบยุโรป เสมือนการได้ไปเปิดโลกทัศน์ใหม่ อีกทั้งยังเป็นการค้นพบตัวตนและอาจจะเรียกได้ว่าค้นหาเอกลักษณ์ในงานออกแบบ ในเวลาต่อมาอีกด้วย ซึ่งภายหลังกลับมาเมืองไทยนั้นได้เข้าช่วยงานด้านธุรกิจนำเที่ยวของครอบครัว อยู่ราวครึ่งปี ก่อนตัดสินใจเริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักออกแบบอย่างจริงจังและเต็มตัวอีกครั้ง โดยการหันมารับงานออกแบบอิสระและมีโอกาสได้เข้าไปทำงานกับ Jarken ในช่วงสั้นๆ ก่อนตัดสินใจก่อตั้ง บริษัท เมกนิฟิค อินทีเรียร์ กรุ๊ป จำกัด ขึ้นในเวลาต่อมา
“เราอาจจะไม่ค่อยถนัดด้านทำทัวร์เท่าไหร่นัก จึงนำความรู้ที่เรียนมาช่วยประสานงานด้านออกแบบและ Branding เช่น ทำอย่างไรให้เราดูแตกต่าง ดูมีเอกลักษณ์และความหรูที่คนสามารถแตะต้องได้มากกว่า ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า GEN เรางานออกแบบมีความสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจที่มีคู่แข่งมากมาย”
อาทิตยาให้เหตุผลถึงการตัดสินใจเลือกเส้นทางของตัวเองว่า “เหมือนเรามีภาพเรา อยู่แล้วว่าวันหนึ่งอยากจะเปิดบริษัทออกแบบ แต่แค่เรายังไม่เห็นภาพที่มันชัดเจนว่าเราจะอยู่ใน Category แบบไหนของธุรกิจออกแบบและก่อสร้าง เราเริ่มจากการทำ Freelance นี่แหละ ใครให้ทำงานอะไรก็ทำหมด เพื่อน ญาติ คนรู้จักแนะนำมาต่างๆ ตั้งแต่งานเล็กๆ ก็สะสมประสบการณ์ไป ได้ทั้งด้านดีด้านเสียบ้างเพื่อให้รู้ว่าเราชอบอะไรด้วย ทุกอย่างถือเป็นประสบการณ์ที่สุดท้ายแล้วจับพลัดจับผลูมาทำงานที่สเกลใหญ่ ขึ้น จึงเป็นจุดที่ตัดสินใจทำบริษัทของตนเอง”
อาทิตยา ก่อตั้ง Magnifique Interiors Group ขึ้นเมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมานี้เอง โดยมุ่งความสนใจไปในด้าน Interior Luxury Design และ Styling การจัดพร็อพเพื่อความสวยงาม หรูหรา เชื่อมโยงไปกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าและผู้อยู่อาศัยตามโจทย์ที่ได้รับ พร้อม ทั้งคัดสรรเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย และงานก่อสร้าง อาทิ โรงแรม รีสอร์ท บ้าน และคอนโดมิเนียม ตั้งแต่ระดับกลางไปจรดระดับไฮเอ็นด์ ซึ่งถือว่าครบวงจรก็ว่าได้
“ในปีที่ผ่านมา ทำให้ปี 2017 เห็นรีวิวชัดขึ้นว่าทาง Magnifique Interiors Group นั้นเป็นบริษัทเน้นระดับกลางไปจนถึง Hi-End Luxury ซึ่งอนาคตธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นที่แน่นอนว่ากลุ่มผู้ซื้อนั้นต้องการ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความทันสมัยมากขึ้น รวมไปถึงต้องการเอกลักษณ์ด้านงานออกแบบมากขึ้น จึงทำให้กลุ่มลูกค้าระดับกลางไปจนถึงบนเริ่มที่จะขยายจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในส่วนของ Magnifique มองว่าขอบเขตของงานที่เราตั้งใจจะทำต่อๆ ไป คือเราจะรักษาระดับการบริการให้อยู่ในระดับนี้ไปตลอด และไม่ลดมาตรฐานของงานดีไซน์ลงจากนี้”
“luxury ในความหมายของเอ็ม คือการสร้างจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครโดยไม่ต้องใช้ของแพงเสมอไป”
ในช่วงท้ายของบทสนทนาก่อนที่ เธอจะออกเดินทางไปงาน MAISON&OBJET PARIS ที่ฝรั่งเศส เราถามเธอกลับไปว่า ‘Luxury’ ในความหมายของเธอจำเป็นต้องใช้เฟอร์นิเจอร์แบรนด์ดัง วัสดุหรูหรา หรือของตกแต่งที่เลอค่าราคาแพงเสมอไปหรือไม่ ซึ่งคำตอบของเธอสะท้อนคุณสมบัติสำคัญที่นักออกแบบพึงมีได้เป็นอย่างดี
“ถ้าเป็นงานก่อสร้าง เอ็มไม่ได้มองว่าคุณต้องใช้ผู้รับเหมาคิดราคาแพงๆ เก็บเงินลูกค้าแพงๆ เพื่อบอกว่านี่แหละคือ Luxury แต่ประเด็นของการทำโครงสร้างเราจะมีเทคนิคการจบดีเทลอย่างไรให้ดูเนี้ยบที่ สุด เราจะเอาไม้ กระเบื้อง หนัง หรือหินอ่อนมาเจอกันอย่างไรที่ดูแล้วน่าสนใจ สิ่งนี้คือ Luxury ของจริง ตอนตรวจงานกับผู้รับเหมาช่วงแรกๆ เขาอาจจะหงุดหงิดกับเรามากหน่อย แต่พอเขาเริ่มทำกับเอ็มครั้งที่ 2-3 เขาจะเริ่มรู้
แล้วว่าแบบไหนที่เอ็ม ปล่อยผ่านไม่ได้ ส่วนของงานตกแต่งไม่จำเป็นต้องไปหยิบแบรนด์ไฮเอ็นด์มาใช้เสมอไป อย่างที่เอ็มทำ Hotel Once Bangkok และคอนโดฯระดับ Super Luxury อย่าง BEATNIQ by SC Asset เอ็มก็ไปเลือกของจากการเดินตลาดนัดจตุจักรบ้าง เช่นไปเดินดูหนังสือมือสอง แต่เราเลือกหนังสือจริงที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องนำมาใช้กับงานได้จริง แม้กระทั่งกรอบรูปและพร็อพต่างๆ ต้องใส่ใจในรายละเอียด นี่คือ Luxury ในความหมายของเอ็ม คือการสร้างจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครที่ไม่ต้องใช้ของแพงเสมอไป แต่คนไปแล้วถ่ายรูปแล้วเพลิดเพลินไปกับสถานที่นั้นไปกับเราได้”
จุดเริ่มต้นของอาทิตยาก็เหมือนกับนักออกแบบหลายคนที่เคยผ่านการลองผิดลองถูกมาก่อน เธอเองยอมรับกับเราว่า ก็เคยทำงานผิดพลาดมาบ้างแหละ เหมือนหลายๆ คนและเคยผิดหวังกับผลงานที่ผ่านมาก็มีมากมายอยู่เช่นกัน “อาจจะเป็นเพราะเรา มีความผิดพลาดมาก่อน ยังไม่มีประสบการณ์เท่าที่ควร” เธออธิบาย “บางคนทำงานผิดพลาดขึ้นมา โอเค เรา Give Up เรายอมแพ้และไม่เอาละ เปลี่ยนงานดีกว่า แต่เอ็มจะเป็นคนที่ไม่ค่อยท้อนะ ผิดแล้วมาดูตัวเองกันหน่อยแล้วค่อยเดินหน้าต่อ มันคือการพิสูจน์ตัวเอง ก็เหมือนเป็นแรงฮึดของเรา
“ส่วนด้านแนวคิดในการทำงาน (ด้วยประสบการณ์มากขึ้น) เปลี่ยนไปจากเดิมเยอะมาก จากตอนแรกที่ทำงานคนเดียว ตอนนี้มีลูกทีม มีฝ่ายก่อสร้างที่เราต้องทำงานกับเขาด้วย บางทีเราเป็น อยากได้ต้องได้ เอาแต่ใจนิดหนึ่ง ต้องมาเจอกับช่างคนละครึ่งทาง เราต้องปรับจูนมากกว่า แต่เรื่องคุณภาพต้องเป๊ะ”
หลากหลายผลงานของ Magnifique Interiors Group ตลอดปี 2016 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นบทพิสูจน์หนึ่งของการเริ่มต้นก้าวแรกที่สามารถกล่าวได้ว่า ‘ออกตัวได้ดี’ สำหรับการเป็นนักออกแบบหญิงเดี่ยวของ อาทิตยา ประภานาคพิทักษ์ แต่จากนี้ต่อไปต่างหากที่จะเป็นย่างก้าวสำคัญสำหรับเธอในการรักษาระดับ มาตรฐานที่ดีอยู่แล้วอย่างไรไม่ให้ตกหล่น จึงน่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อมีทั้งความสามารถและมีโอกาสเข้ามาพร้อมกัน เธอจะทำมันออกมาได้ดีขนาดไหน ไม่ต้องรอนาน ติดตามผลงานออกแบบพื้นที่อยู่อาศัยที่เธอให้คำนิยามว่า “Luxury ที่สรรสร้างจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร” ได้ใน Daybeds ฉบับต่อไปในเร็ววันนี้