LITTLE FOREST
“การปลูกต้นไม้แบบ Mix Border ต้องคำนึงถึงชนิดของต้นไม้ ขนาด และรูปทรง
ต้องตัดแต่งและเข้าใจการเติบโตของแต่ละต้น เพราะต้นไม้แต่ละชนิดเติบโตต่างกัน”
ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง
ป่าน้อยล้อมบ้านอิฐ
Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม
Landscape Design: Little Tree Landscape
แสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าสาดส่องลงมาปะทะความเขียวขจีของหมู่มวลแมกไม้หลายสิบชนิดที่ปกคลุมไปทั่วบ้านอิฐหลังใหญ่ สะกดสายตาของเราได้ชะงัด ขณะสายลมโชยเอื่อยชวนใบไม้พลิ้วไสว เสียงธรรมชาติแว่วดังท่ามกลางความเงียบในหมู่บ้านแสนสงบ บรรยากาศชวนฝันพาเรามาชื่นชมความร่มรื่นของป่าผืนน้อยหน้าบ้าน คุณสุธาชล และคุณเนตรดาว วัฒนะสิมากร ด้วยความเพลิดเพลิน
แต่กว่าที่บ้านอิฐสีน้ำตาลเข้มแกมด้วยสีเขียวชะอุ่มของแนวไม้พุ่มและไม้เลื้อยที่ปลูกแซมตามแนวรั้วเหล็กสีดำและโอบล้อมรอบตัวบ้านแบบ Mix Border จะสอดผสานกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างที่เห็นในปัจจุบันต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสามปีทีเดียว นับตั้งแต่คุณสุธาชลและคุณเนตรดาว พร้อมด้วยครอบครัว เข้ามาอาศัยและปรับโฉมบ้านใหม่บนพื้นที่เดิมเมื่อหลายปีก่อน
“บ้านหลังนี้เป็นบ้านเก่าแล้วเราเอามาเซ็ตแปลนใหม่หมดเลย รื้อตัวบ้านเหลือไว้แต่เสา คงโครงสร้างเดิมไว้” คุณสุธาชล หรือคุณดี้ เจ้าของกิจการร้าน SOMTAMนัว สุดแซบ เล่าให้เราฟังตั้งแต่เริ่มต้น “ผมจะทำบ้านเป็นสไตล์อังกฤษ เป็นสไตล์โมเดิร์นวิคตอเรียนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการเดินทางไปเที่ยวที่ประเทศอังกฤษ”
สองสิ่งที่ทำให้บ้านหลังนี้สะดุดตากว่าบ้านหลังไหนๆ ในละแวกเดียวกันก็คือการรีโนเวตบ้านในแนวทางที่แตกต่างออกไปจากบริบทโดยสิ้นเชิง ผนวกกับการจัดสวนที่ปล่อยให้ต้นไม้เลื้อยไปตามธรรมชาติ ซึ่งสวนสวยที่เห็นอยู่นี้ก็ไม่ใช่ฝีมือของใครที่ไหน เป็นสวนสวยจากการรังสรรค์ของคุณวิทย์-ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง นักจัดสวนมือทองแห่ง Little Tree นั่นเอง
“บ้านเสร็จไปประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์แล้วถึงจะเริ่มทำสวน ติดต่อคุณวิทย์ซึ่งต้องจองคิวเป็นปี คุณมี่ภรรยาผมชอบงานของคุณวิทย์อยู่แล้ว ภาพที่คุณมี่คุยกับคุณวิทย์ไว้ ต้นไม้ใหญ่จะมีแค่ไม่กี่ต้น ส่วนตัวผมชอบไม้เลื้อย ต้นที่เป็นประธานข้างหน้าบ้านคือต้นมะนาวป่า แล้วก็มีสวนภายนอกที่ติดสนามบาส ซึ่งแต่ก่อนเป็นต้นพญาสัตบัน แต่ผมแพ้กลิ่นเลยเปลี่ยนเป็นซิลเวอร์โอ๊คหมดเลย ถ้าสวนไม่ใช่คุณวิทย์มาทำให้ก็คงไม่ใช่แบบนี้ พอสวนออกมาเสร็จสมบูรณ์แล้วก็ต้องชื่นชมภรรยา คุณมี่ กับคุณวิทย์ ที่ประสานงานกัน ตัวผมไม่ค่อยมีส่วนร่วมเท่าไหร่ ผมจะไม่ค่อยกำหนดอะไรมาก จะปล่อยให้ทำตามสบาย บางบ้านไม่ชอบไม้เลื้อยแต่สำหรับผมถ้าบ้านเป็นอิฐแล้วไม่มีไม้เลื้อยมันก็จบ มันต้องไปด้วยกันเป็นตามธรรมชาติ
“โดยส่วนตัวผมชอบทุกบริเวณของสวนนี้มาก เรายังเคยคิดว่าทำไม (คุณวิทย์) จัดสวนเก่งจังทั้งที่พื้นที่เล็กๆ แค่นั้น ทั้งร่มรื่น ลมเย็น ที่นี่ฤดูร้อนก็จะไม่ค่อยร้อนเท่าไหร่ จะร้อนก็คือ 4 โมงเย็นเวลาแดดลงเท่านั้น”
แม้กระบวนการตกแต่งบ้านและสวนจะกินเวลายาวนาน แต่เมื่อบ้านสวยแวดล้อมด้วยธรรมชาติตามที่ใจต้องการแล้วถือว่าคุ้มค่าแก่การรอคอยอย่างแท้จริง “ความรู้สึกของผมต่อบ้านที่มีธรรมชาติแวดล้อมแบบนี้ คือผมรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ ถ้าจะให้เปรียบ บ้าน มันก็คือวิมานของเรา ได้อยู่กับครอบครัว เป็นที่รโหฐานส่วนตัว” คุณดี้ทิ้งทายประโยคบอกเล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
บริเวณประตูเล็กหน้าบ้าน ปลูกไม้พุ่มอย่าง สนหอม
และคริสติน่าแคระขนาบสองทางเดินและเสาประตู
ต้นยี่เข่ง ไม้พุ่มทรงโปร่งที่กำลังโตวันโตคืน เมื่อผลิดอกสีม่วง
จึงดูโดดเด่นขึ้นทันตาท่ามกลาง พุ่มของแก้วแคระ, พวงคราม, เพอร์เพิลเลดี้ และกกออสเตรเลีย
คุณวิทย์เลือกปลูกวัชพืชแล้วปล่อยให้เลื้อยไปตามแนวของผนังอิฐตามธรรมชาติ
ซึ่งบริเวณนี้คือสวนด้านหน้าที่มีต้นมะนาวป่าเป็นประธาน โดยคุณวิทย์เลือกการปลูกต้นไม้
แบบ Mix Border จะเห็นว่าต้นไม้แต่ละชนิด อาทิ มหัศจรรย์, เดซี่ออสเตรเลีย,
ไฮเดรนเยีย, ส้มจี๊ดด่าง และตะวันสีทอง ดูมีที่มาแตกต่างกัน แต่อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่ขัดเขิน
ม้านั่งใต้ต้นมะนาวป่าซึ่งเป็นประธานของสวนอีกหนึ่งมุมน่านั่งของบ้านอิฐ
เมื่อเดินผ่านสระว่ายน้ำ ต้นช่อมาลี และแนวเฟิร์นบรูไนไปทางด้านหลังจะพบแนวรั้วหินเทียม
เลียนแบบธรรมชาติล้อมรอบบ้าน มีแนวทางเดินเท้าที่ปลูกกนกนารีคลุมหน้าดิน
พื้นที่ตรงนี้คือบริเวณห้องอาบน้ำที่ปิดผิวด้วยหินเทียมซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนถ้ำเป็นกลางป่า
เพราะอยู่ภายใต้ร่มเงาของต้นเสม็ดแดง และมีการปลูกต้นประทัดแตกคลุมหลังคาอีกหนึ่งชั้น
ตลอดแนวทางเดินระหว่างบ้านอิฐกับรั้วหินเทียมด้านหลังบ้าน
ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าบ้านอิฐหลังนี้ตั้งอยู่ประชิดแนวผาหิน
ที่มีต้นไม้แทรกตัวอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ