LIGHT, SPACE, LIFE
แสง พื้นที่ และชีวิตในงานออกแบบของ
ณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ
Text: ภัคภร ไม้สนธิ์
Photo: ฉัตรชัย เจริญพุฒ
แสง พื้นที่ และชีวิต เกี่ยวสัมพันธ์กันเสมอใน 1 ช่วงชีวิตของคนหนึ่งเสมอ
แสง : แสงยามเช้า แสงยามสาย แสงยามบ่าย แสงยามเย็น แสงในทุกโมงยาม แสงธรรมชาติและแสงประดิษฐ์
พื้นที่ : พื้น ผนัง เพดาน ทั้งสามมิติ และห่อหุ้มพื้นที่ว่าง ให้ร่างกายและสายตา รวมถึงอารมณ์ ความรู้สึกได้ใช้งานผ่านรูปแบบ สีสัน ผิวสัมผัส ของวัสดุ และรวมศิลปะไว้ด้วย เอื้อประโยชน์ชีวิตในรูปแบบ Human Scale in Architecture
ชีวิต : ธรรมชาติของคนเราที่ดำเนินไปด้วยกิจกรรมต่างๆ นับวินาทีที่ลมหายใจปรากฏถึงวินาทีที่ไม่มีลมหายใจ
ความสัมพันธ์ระหว่าง แสง พื้นที่ และชีวิต นี้ เห็นได้ในทุกงานออกแบบของ คุณณัฏ – ณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง NPDA Stodio ซึ่งนิยามเป็นบริษัท ที่มีการทดลองใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์งานออกแบบ และนำความรู้ที่ได้ สะสมเป็นองค์ความรู้เพื่อนำไปพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง
ชายหนุ่มผ่านการฝึกคิดและลับฝีมือ ทำงานออกแบบกับสถาปนิกระดับโลกคือ Thome Mayne แห่ง Morphosis และ Rafael Vinoly ด้วยความที่เขาชื่นชอบแสงมาตั้งแต่เด็ก ชื่นชอบการสร้างสรรค์พื้นที่ว่าง เพื่อให้คนได้ใช้ชีวิตอย่างสนุก มีความสุข ทั้งที่ไม่เคยวาดแผนให้ตัวเองมาก่อน ว่าวันนี้จะทำงานด้านการออกแบบ แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องค้นหาความชอบและเลือกเส้นทาง คำว่า สถาปนิก ผุดขึ้นและเขาตัดสินใจว่าทำงานอาชีพนี้ไปจนตาย
ความเกี่ยวสัมพันธ์นี้จะว่าสำคัญกับชีวิตคนก็ใช่ จะว่าไม่สำคัญกับชีวิตคนก็ใช่อีก ให้มีก็ได้ ให้ไม่มีก็ได้ในชีวิตบางคน แต่การมีของแสงในพื้นที่สำหรับชีวิตของเรา จะอย่างไรก็เป็นเรื่องดีที่ไม่น่าพลาด!
daybeds ได้พูดคุยกับคุณณัฎฐวุฒิในเรื่องดังกล่าว ในฐานะสถาปนิกที่ออกแบบแสงได้สวยลงตัวกับพื้นที่เพื่อชีวิตของผู้ใช้ ชายหนุ่มขอให้เป็นการพูดคุยกันระหว่างความเป็นเพื่อน เพราะเขาชอบคุยกับเพื่อนเพื่อแบ่งปัน ชายหนุ่มออกตัวว่าเขาเป็นเพียงสถาปนิกธรรมดา ไม่ได้เป็นมือรางวัลใดๆ งานทุกอย่างที่ปรากฏก็เกิดจากความรักในการทำงาน ต้องการสร้างสรรค์งานออกแบบที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ใช้ให้มากที่สุด
ณัฏฐวุฒิ : ขอถามก่อนนะครับว่าทำไมถึงสนใจที่จะคุยกับผม เพราะผมไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเลย และไม่มีรางวัลที่จะบอกได้ว่า ผมเป็นใครมาจากไหน
Dbs : ความเป็นใครมาจากไหนเรากำลังจะได้รู้จากคุณนี่ล่ะ และแน่นอนว่า มีสถาปนิกในเมืองไทยมากมายที่เก่งมาก เป็นมือรางวัล มีประเด็นที่น่าสนใจให้เราอยากทำความรู้จัก แต่เราก็ไม่น่าจะพลาดสถาปนิกผู้ซึ่งจัดเวิร์คช็อปออกแบบของเล่นให้เด็กๆ อย่าง ‘LIGHT & PLAY : เล่นกับแสง ในงานสถาปนิก’58 ‘ASA NEXT | ตัวตน คนไทย’ ที่ชักชวนครอบครัวชาวบ้านธรรมดาให้พาลูกมาร่วมออกแบบของเล่นด้วยแสง สิ่งนี้ล่ะที่เราสนใจมากๆ กับสถาปนิกที่ให้ความสำคัญกับเด็ก ด้วยแนวคิดที่ว่า สำหรับเด็ก คำว่า ครีเอทีฟ ต้องไม่ใช่คำตอบสุดท้าย มันสามารถเป็นอะไรก็ได้ จะทำให้คำว่าครีเอทีฟมันกว้างกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วเรารู้จักคุณจากการศึกษาแนวคิดการทำงานของคุณ ใน http://archdaily.com/ และนิตยสารที่แสดงผลงานการออกแบบของคุณต่างๆ
ณัฏฐวุฒิ : คงต้องขอบคุณ อาจารย์ถวัลย์ วงษ์สวรรค์ เขาทำงานสังคมและร่วมทีมทำงานสถาปนิก’ 58 และมาคุยกับผมว่าในงานออกแบบของผมมีเรื่องแสงชัดเจน ผมกลับมาดูงานตัวเองก็…เออจริง อาจารย์ถวัลย์จึงชวนจัดเวิร์กช็อปเอาเรื่องแสงมาเล่นกับเด็ก ซึ่งอาจาย์กอล์ฟกับอาจารย์พี่ป่อง (ปฐมา หรุ่นรักวิทย์) เขาทำงานสังคมไง เขาก็จะจัดสเปซแล้วก็จะเล่นกับเด็กในหมู่บ้านที่จะมาทำอยู่แล้ว ส่วนของผมเป็นลักษณะคิดตรงกันกับอาจารย์ถวัลย์ว่า สมัยเราสองคนเด็กๆของเล่นน้อยแต่เราทำอะไรกันเองได้นี่ แล้วเราก็ความคิดสร้างสรรค์ดีอะไรดีนะ บังเอิญใจตรงกันเพราะมีลูกอายุเท่าๆ กันอีก ก็เลยมามองว่าแล้วทำไมเราไม่พาพ่อแม่มาทำอะไรเล่นกับเด็ก อาจจะเจือๆว่าต่อไปจะเป็นสถาปนิกได้นะ ด้วยความอบอุ่นในครอบครัวนี่ล่ะมาทำอะไรเล่นกับเด็กเองได้ ผมก็เลยมางอกเรื่องแสง ผมพาลูกชายอายุ 5 ขวบมาเล่นในเวิร์กช็อปด้วย เขาสนุกมาก และก็ได้เพื่อนใหม่กลับบ้านด้วย
Dbs : ช่วยเล่าหนทางการเป็นสถาปนิกให้รู้จักคุณมากขึ้นสักหน่อย อะไรมีอิทธิพลสำคัญที่ทำให้ทำงานด้านนี้
ณัฏฐวุฒิ : เอาจริงเลยนะครับ ตอนเด็กๆ ไม่รู้หรอกสถาปัตยกรรมอะไรเนี่ย ชอบวาดรูปตามประสาเด็ก เห็นพ่อเป็นวิศวกร เพี่อนพ่อข้างบ้านเป็นสถาปนิก แล้วชีวิตผมไม่ได้เกิดมาเป็นแบบ Great Ready แต่ละช่วงชีวิตเป็นลักษณะโผล่มาทีละอัน เติมวงกลมทีละนิด ผมเป็นคนขอนแก่น มีพี่ชายอีกคนไปเรียนเอแบค (มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ) แม่เลยอยากให้ผมเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐ เพราะเราไม่ค่อยมีเงิน ผมก็เลือกสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนี่ล่ะเป็นทางออกที่ดีและผมชอบมาก เหตุผลคือไม่ต้องสอบเคมี และชอบอยู่จังหวัดขอนแก่น เท่านี้ล่ะ พอสอบโคว์ต้าได้เรียน ผมรักมหาวิทยาลัยนี้มาก เพราะสอนแบบเข้มงวด เริ่มต้นจากเบสิกของวิชาเรียน ตอนแรกผมเบื่อมากกับสิ่งที่เรียน คิดแค่ว่าทำไมกูไม่ฟู่ฟ่าเลย งานที่เรียนก็บีบคั้น สมัยนั้นอาจารย์คอนเซอร์เวทีฟมาก ประสบการณ์เยอะ รู้สึกว่าเขาเชยมาก แต่เบสิกเขาแน่นมาก ทุกวันนี้ก็เบสิกจากขอนแก่นนี่ล่ะ ทำให้ตอนได้ทุนไปเรียนปริญญาโทที่เมืองนอกสามารถทำงานได้ดีมาก พวกฝรั่งที่เรียนด้วยกันนี่ฟู่ฟ่ามากแต่เบสิกตายหมด
ผมทำงานได้หมดทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะไปทำกับใคร และยิ่งทำให้รู้เลยว่าเบสิกการเรียนที่ผมโคตรตั้งใจเรียน สามารถให้ผมทำงานได้ดี มีประโยชน์ต่อการทำงานมาก เพราะมาตรฐานเบสิกของสถาปัตย์เหมือนกันทั่วโลก ฝรั่งยังสู้เราไม่ได้เลย แต่ผมต้องรู้ว่ากรอบของตัวเองเป็นอย่างไรก่อนนะ ถ้าไม่รู้กรอบเราจะไปรู้นอกกรอบได้อย่างไร เมื่อในกรอบเรายังไม่รู้เลย ดังนั้น เมื่อผมรู้ชัดเจนแล้วว่ากรอบของเราแค่นี้ก็วงไว้ แล้วถึงไปนอกกรอบ
พอเรียนจบสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็เข้ามาทำงานในกรุงเทพ ช่วงที่เศรษฐกิจมันตก เลยได้ทำอินทีเรียที่บริษัท เอสบีเฟอร์นิเจอร์ เป็นฝ่ายออกแบบโชว์รูม แล้วย้ายไปทำงานกับบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ซึ่งกำลังทำสนามบินหนองงูเห่า จึงได้ทำแบบ detail อยู่ 1 ปี จากนั้นไปทำกับบริษัท IT International ได้ร่วมทำงานแบบประกวดโรงเรียน Asian First Football Academy Stefan Effenberg แล้วสมัครไปเรียนต่อที่ Ball State University อเมริกา อยู่กลางทุ่งมาก รู้สึกว่าบ้านนอกมาก (หัวเราะ) เขาให้ทุนครึ่งหนึ่ง ได้เรียนเรื่องที่ผมสนใจคือ digital fabrication in architecture พอดีที่ U นี้อาจารย์คนหนึ่งเป็น president ของ ACADIA (Association for Computer Aided Design in Architecture) จึงช่วยเรื่องหัวข้อที่สนใจได้มาก
เมื่อถึงเวลาต้องฝึกงาน ผมส่ง portfolio ไปสำนักงานที่ใช้ระบบ Digital Fabrication ก็พอดี Morphosis ตอบรับ นับเป็นข้อดีที่ได้ไปทำงานในแอลเอ เพราะมีโอกาสไปสัมภาษณ์บริษัทอื่นๆ ที่ใช้งานระบบนี้ด้วย อย่าง Frank Gehry และ Greg Lynn ซึ่งโปรแกรมฝึกงานของ Morphosis เขาให้ฝึกได้แค่ 6 เดือน จากนั้นผมก็ได้ทำงานที่บริษัท Rafael Vinoly, New York ก่อนกลับมาเปิด NPDA Studio ของตัวเอง เพราะรู้สึกอิ่มตัวมากกับการใช้ชีวิต 6 ปีที่โน่น ผมไปอยู่อเมริกาตอนตอนอายุ 26 กลับตอน 31 ตอนนี้อายุ 38 แล้ว ตอนนั้นบังเอิญได้อ่านงานของสถาปนิกระดับโลกด้วย ทุกคนเริ่มเปิดออฟฟิศที่อายุ 30 หมดเลย ผมจึงคิดได้ว่าถึงทางที่มันถึงจุดสูงสุดของการทำงานให้คนอื่นแล้ว หากทำงานต่อไปมันก็ขึ้นอยู่ที่ว่าจะเอาเงินหรือเอาถ้วย หรือจะกลับบ้าน เพราะพ่อแม่ก็เรียกให้กลับเมืองไทยแล้ว ซึ่งตอนกลับเมืองไทยใหม่ๆ ผมเหวอเป็นปีนะ ไม่ได้กระแดะเลยเพราะไปอยู่ตั้ง 6 ปี
Dbs : นอกจากออกแบบสถาปัตยกรรมได้สวยงามแปลกตาแล้ว การออกแบบสถาปัตยกรรมภายในของคุณยังน่าสนใจ เพราะสร้างพื้นที่ใหม่ๆ สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่เดิม โดยเฉพาะเรื่องแสงด้วย
ณัฏฐวุฒิ : จากการศึกษาและดูงานของสถาปนิกที่ผมชอบเยอะมากๆ ผมชอบอ่าน ชอบดู ชนิดลึกซึ้งเลย การทำแบบนี้เยอะๆ ทำให้เราได้เปิดหูเปิดตา ได้รู้ความชอบของตัวเอง เช่น หลุยส์ อิซาดอร์ คาห์น ผมศึกษางานของเขาเยอะมาก อย่างอาคารรัฐสภาของสาธารณรัฐบังกลาเทศ ที่เป็นงานใหญ่ที่สุดแล้วของเขา คาห์นเก่งเรื่องการเอาแสงธรรมชาติมาไว้ในอาคาร และการเอารูปทรงเรขาคณิตมาใช้ในการออกแบบง เขาพบวิธีนี้จากการเดินทางไปทั่วโลกโดยเฉพาะที่ประเทศอียิปต์ เขาได้เห็นสิ่งก่อสร้างต่างๆ อย่างปิรามิดก็เห็นเป็นรูปสามเหลี่ยม และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เป็นรูปวงกลม แล้วเขาก็ศึกษาๆ พบว่ารูปทรงเรขาคณิตนี่ล่ะ สะท้อนเรื่องไร้กาลเวลา สวย และอยู่ได้ยาวนานมากๆ
เมื่อดูงานอ่านแนวคิดของสถาปนิกพวกนี้มากๆ มันคงซึมเข้ามาในตัวแบบไม่รู้ตัวนะ บวกกับผมชอบเรื่องแสงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มาบวกกับความเป็นคนมีของของตัวผม เรียกว่ามีฝีมือล่ะ ในเรื่อง Digital Fabrication ใช้ระบบดิจิตอลออกแบบงาน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากๆ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมเป็นคนแรกที่ทำตรงนี้ได้ เหมือนได้โอกาสด้วย ลูกค้าเป็นคนชอบอะไรใหม่ พอเอารวมเข้ากับเรื่องแสง พองานเสร็จออกมา แบบเฮ้ย! แสงสวยมาก อย่างนี้เรียกว่า ปรากฏการณ์แบบ Accident Theory แล้วรู้เลยว่านี่เป็นจุดแข็งของเรา
ซึ่งตอนไปเรียน Digital Fabrication นับเป็นเรื่องใหม่มาก เป็นช่วงที่เทคโนโลยีสามารถมารองรับจับการออกแบบที่หวือหวา หรือไม่น่าเป็นไปได้ จึงถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีของผม ให้ลองนึกการออกแบบของ ซาฮา ฮาดริด สถาปนิกที่คิดล้ำมากๆ ตั้งแต่สาวๆ งานออกแบบอาคารของเขาเทคโนโลยีการก่อสร้างตามไม่ทัน แต่เขารู้ว่าในอนาคตอาคารสามารถทำได้
Dbs : สิ่งที่ท้าท้ายที่สุดของการเป็นสถาปนิกไทย ที่ทำงานกับชาวต่างชาติในต่างประเทศ
ณัฏฐวุฒิ : ขอย้อนกลับไปเล่าตอนปริญญาโทก่อนครับ ผมต้องปรับความคิดตัวเองเกี่ยวกับค่านิยมที่ให้กับฝรั่งใหม่เลยนะ คือตอนไปเรียนใหม่ๆ เห็นฝรั่งเก่งทุกคน พออยู่ๆ ไปเริ่มแยกได้ว่าฝรั่งไม่ได้เก่งทุกคน มีพวกเกรียน พูดเยอะ แต่ทำงานไม่ได้ มีคนที่เก่งมากๆ และตั้งใจทำงาน
ตอนฝึกงานที่ Morphosis เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ที่นี่เป็นบริษัทเล็กๆ มีประมาณ 30 คน แต่เก่งทุกคน และเขาค่อนข้างจะทำงานประกวดแบบซะเยอะ Thom Mayne จะเป็นคนหลัก และมี Project Architect คอยประสานงานทุกอย่าง มี Designer ช่วย Thom Mayne ดีไซน์และทำโมเดล Designer จึงต้องมี sense ถึงกับ Thom Mayne ถ้าเขา sketch ออกมาอย่างนี้ต้องทำโมเดลอย่างไรให้สวย โดยมี Architect อีกคนคอยช่วยในงานฟังก์ชัน คือจัดแปลนให้เวิร์ก และมีเด็กฝึกงาน ซึ่งผมเป็นหนึ่งในเด็กฝึกงานที่ได้ช่วยทำหลายอย่าง เช่น เขียนแบบ ทำโมเดล study โดย Thom Mayne เน้นเรื่อง space มากๆ นับเป็นจุดเด่นของงาน Morphosis คือ Space จะต้องหวือหวา ตอนเตรียม Presentation นี้สำคัญมาก มีการเตรียมตัวและรวบรวมคนทั้งออฟฟิสมาดู รวมหัวกันให้งานดูดีที่สุด
พอได้ทำงานที่บริษัท Rafael Vinoly เป็นบริษัทใหญ่ครับ แบ่งแผนกชัดเจน มีแผนก Architect, Graphic design, Archive, ห้องสมุด ที่นี่ทุกอย่างเป็นฟอร์แมทมาตรฐานเป๊ะๆ ยกเว้นตอนทำดูกันเองภายในบริษัท ถ้าทำแบบ Present ต้องใช้รูปแบบของเขา บางทีก็อึดอัด เพราะต้องไปอธิบายให้แผนกอื่นฟังแนวคิดของเรา ถ้าเราทำเองมันก็เสร็จไปตั้งนานแล้ว Vinoly เป็นหลักมี Director คอยประสานงานกับลูกค้า มี Designer ช่วยออกแบบ มีการแบ่งทีมออก เป็นทีมที่ทำงานประกวดแบบ และทีมที่ทำงานทั่วไปที่ไม่ใช่ประกวดแบบ ซึ่งตอนนั้นผมก็ทำงานที่ไม่ได้เป็นงานประกวดแบบ
Vinoly เขาจะเป็นคนวางคอนเซปต์หลัก แล้วให้ designer ช่วยออกแบบ ทำโมเดล บางที Vinoly เขาก็ขึ้นโมเดลคร่าวๆเองเลย แล้วเอามาให้เราทำต่อ บางทีเขาก็มานั่งประกบเลย แล้วบอกผมจะเอวอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วก็เดินไปเล่นเปียโน กลับมาต้องให้เสร็จ เขาค่อนข้างดุ Vinoly เคยถามผมเกี่ยวกับแนวคิดงานออกแบบ พอผมตอบไม่ถูกใจ เขาตบหัวผมแล้วเดินไปเลย ตอนนั้นก็รู้สึกแปลกดี แต่ก็กดดันด้วยล่ะ
การทำงานของ Vinoly มีจุดเด่นตรงนี้เขา 3D modeling จากในคอมพ์ได้ค่อนข้างเยอะไม่ค่อยจำเป็นต้องใช้ Physical Model แต่ด้วยความที่เขามีประสบการณ์สูง จึงทำให้เขาสามารถเห็นได้ว่า แบบนี้จะต้องชนะประกวด และ หลายๆอันเขาก็ชนะจริงๆ ผมว่าประสบการณ์ที่สั่งสมมีส่วนสำคัญ หรือการโน้มน้าวลูกค้าค่อนข้างดุดัน บางทีเขาก็ไม่ได้ยอมลูกค้า ตรงนี้ผมชอบ เพราะถ้าแนวคิดเราดี ให้ประโยชน์ต่อลูกค้าจริงๆ เราก็ต้องพรีเซ็นต์ให้ได้
Dbs : ช่วยเล่าถึงขั้นตอนการสร้างสรรค์งานออกแบบ ตั้งแต่ที่ลูกค้าเข้ามาปรึกษา เริ่มคิดไอเดีย จนถึงผลลัพธ์ ว่าคุณใช้วิธีและเครื่องมือใดบ้าง
ณัฏฐวุฒิ : ยกตัวอย่างโปรเจ็กต์ Brain Fit นะครับ เป็นการผสมผสานการขึ้นฟอร์มใหม่ของฝรั่ง คอมพิวเตอร์ กับฝีมือช่างท้องถิ่น ผมต้องทำให้ช่างฝีมือเข้าใจแบบและสร้างได้ นี่คือความซับซ้อน ผมลงไปลุยกับช่างและเพราะความที่ผมเป็นคนขอนแก่น พูดภาษาอีสานกับช่างได้ก็สื่อกันเข้าใจ ช่างฝีมือก็ช่วยกันทำให้งานออกมา
เรามีการปรับจากความรู้ของฝรั่งเป็นพื้นเพขอนแก่น เพื่อจะสร้างได้ในราคาจำกัด ภูมิใจมาก เพราะเป็นโปรเจ็กต์แรก ได้ลง ArchDaily คนที่ 4 ในประเทศไทย คนก็งงว่าผมเป็นใคร แล้วก็มีคนรู้จักมากขึ้นๆ คือช่วงนั้นเชิงมีของ ผมอยากปล่อย ลูกค้าก็ปล่อยให้ผมทำเต็มที่ จุดนี้ทำให้ได้งานต่อเนื่อง ส่วนเรื่องแสงมันเป็นสิ่งที่ผมเพิ่งเจอในงานขึ้นมาเอง พูดง่ายๆ คือ Accident Theory ตอนที่ผมเรียนเราจะชื่นชมเรื่อง Accident Theory กัน เพราะเกิดจาการลองผิดลองถูกในการดีไซน์งานออกแบบ แล้วจู่ๆ ได้ค้นพบสิ่งใหม่
ลูกค้าน่ารักมาก เพราะผมเป็นสถาปนิกไม่มีรากที่หมายถึง ไม่มีโปรเจ็กต์ใดๆ มาก่อนเลย แค่บอกว่าทำงานนิวยอร์ก ทำโรงแรมของบียอนเซ่ บอกกับเขาว่าผมต้องการเริ่มต้น เขาก็จัดเต็ม แม้ Space ที่ได้ค่อนข้างเล็ก แต่ฟังก์ชันเยอะมาก จึงต้องจัดแต่ละห้องให้มี Feeling มันๆ ไม่เหมือนกันสักห้อง เช่นห้องประชุมต้องเป็น Mulltipurpose พอผู้ปกครองประชุมก็ปรับแสงสีขาว เรียบๆ ถ้าเด็กมาเล่นก็จัดแสงสีให้ไป
ผมไม่ได้เรียนไลท์ติ้งดีไซน์ มวยวัดทุกงาน เราจัดเอง ดูว่าสวยก็ทำ และเล่นกับแสง ผมออกแบบบ้านของตัวเอง จึงต้องดูแสงและพระอาทิตย์ตก เป็นธรรมดาของความรู้ของสถาปนิก แต่ผมให้ความสำคัญแสงกับช่วงเวลา ละเอียดกระทั่งเวลาบ่ายสามโมงแสงที่ส่งเข้ามาทางช่องหน้าต่างจะเป็นแบบใด ผมมองทางอารมณ์และศิลปะ ซึ่งเรื่องแสง ผมไม่ได้นั่งบอกว่าชอบ แต่มันเป็นความชอบส่วนตัวเองแบบไม่รู้ตัว
การได้พื้นที่เล็กๆ และจัดสรรในรูปแบบ Working Space อันนี้อยู่ในเรื่องของ Human Scale ผมให้ความสำคัญกับเด็กเป็นหลักคัรบ เพราะ Brain Fit เป็นพื้นที่สำหรับเด็ก แล้วตอนทำไม่เปิด Architec Data ที่เราเรียนมา ผมรู้และจำได้คร่าวๆ อีกอย่างผมมีลูกด้วย ผมใช้ความรู้สึกและสัมผัสจริงๆกับตัวเด็ก แล้วเขียนแบบออกมาเลย จากนั้นให้เด็กนั่งเช็ก เพราะพอพื้นที่มันเล็กก็ต้องดูผู้ใช้เป๊ะๆ คือ เด็ก เลยดีกว่า
โปรเจ็กต์ Brain Fit ผมพูดได้ตรงๆเลยว่า ทำตามที่อยากทำ และไม่ได้คิดว่าออกมาแล้วสวยขนาดนี้ ซึ่งมันสวยมาก 5 ปีที่แล้วเราทำงานเต็มที่ เอามัน แต่ปรากฏว่าออกมาสวยมาก ลูกค้าชอบมาก กลายเป็น เออ เจ๋ง ชีวิตของผมเป็นสิ่งที่เติมๆ จิ๊กซอว์ ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะเป็นใคร พอโปรเจ็กต์แรกคือ Brain Fit ได้ความรู้ใหม่ โปรเจ็กต์สองเอาความรู้ใหม่เก็บไว้ก่อน แล้วลองความรู้ใหม่ในขณะที่ทำ ก็ทำไปเรื่อยๆ ซึ่งแล้วแต่โอกาสที่ลูกค้าให้
Dbs : หน้าที่ของสถาปนิกในความเป็นคุณคืออะไร ทำงานออกแบบเพื่อลูกค้า หรือเพื่อตัวคุณเอง
ณัฏฐวุฒิ : โดนใจผมนะชอบมากครับคำถาม อันนี้ไม่แรงเพราะว่ามันโดน คือผมอยากจะบอกอันนี้กับลูกค้าด้วยเลยนะครับ หรือกับเพื่อนฝูงทั้งหมดเลยนะ เพื่อนๆ ชอบบอกว่าผมชอบทำงานเล็งเป้า แต่จริงๆน่ะหมายความว่าผมทำงาน ไม่ได้ทำอวดว่าผมอวดเก่ง คือผมเรียนมาเยอะไง สถาปัตย์เรียนตั้ง 5 ปี แล้วทำงานมาตั้งเยอะ วิสัยทัศน์เราจะต้องดีกว่าลูกค้า แต่เมื่อทำงานไปแล้วลูกค้าจะมีบ่นๆบ้าง ต้องอดทน เพราะเราต้องมั่นใจในจุดยืนที่เราให้กับเขา มันจะมีจุดนิดหนึ่งอะไรอย่างนี้ แต่สุดท้ายลูกค้าขอบคุณผมทุกคน อย่างโรงเรียนอนุบาลก็ขอบคุณ Brain Fit ก็ขอบคุณ ขอบคุณหมด
ดังนั้น ผมจะบอกว่าผมทำงานออกแบบตามความต้องการของลูกค้า แต่ไม่ทิ้งสิ่งที่เราเชื่อ เวลาผมรับงานผมจะศึกษาลูกค้านะครับ ดูลูกค้า ดูแววตา พาเขาไปเดินดูงานเรา เขารับงานเราได้ คุยกันได้ เพื่อให้รู้ทิศทางว่าคุยกันรู้เรื่อง จริตตรงกัน เพราะการออกแบบงานสถาปัตยกรรมต้องอยู่ด้วยการนานมากกว่าจะเสร็จ ไม่เหมือนงานออกแบบตกแต่งภายใน ที่อยู่ด้วยกันระยะสั้นๆ แค่ 3 เดือน แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ด้วยกันระยะสั้นๆ แล้วผมจะไม่ศึกษาลูกค้า เพราะถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง ทำงานไปก็จะตีกัน ผมมั่นใจว่าเมื่อผมรับงานแล้ว และศึกษาความคิด ชีวิตความเป็นอยู่และเข้าใจความต้องการของลูกค้าแล้ว ผมสร้างสิ่งที่ดี่ที่สุดให้กับลูกค้าแน่นอน ดังนั้น ทัศนคติที่ดีต่อกันจึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการรับงาน ทำงาน
“ผมไม่ทำงานตามกระแสนะครับ
ทำงานตามพื้นที่ พื้นถิ่น ความเป็นไปได้”
Dbs : โปรเจ็คไหนที่คุณชอบมากที่สุด และเพราะอะไร
ณัฏฐวุฒิ : ผมชอบทุกงาน แต่อยากยกตัวอย่างโปรเจ็กต์งานออกแบบโรงเรียนอนุบาลประชาสงเคราะห์ จังหวัดกาญจนบุรีครับ โปรเจ็กต์นี้เริ่มต้นคือพื้นที่หน้ากว้างแคบมาก แล้วเป็นแนวยาวลึกเข้าไปในชุมชน เชื่อมต่อกับโรงเรียนประถม วิธีออกแบบคือ ผมคิดถึงเด็กตัวน้อยที่กำลังเรียนอนุบาล ซึ่งเป็นผู้ใช้งานก่อนเลย
อยากให้คิดในมุมมองนี้ไปกับผมครับ ในแง่หนึ่ง Digital Fabrication คือเทคนิคัลที่ออกแบบได้อาคารสวย ประโยชน์ใช้สอยได้ แต่ในทางด้านสังคม อาคารที่ออกแบบมา มันทำให้เมืองที่ซบเซาอย่างนี้ เช่นเหมือนเอาหอไอเฟลไปหย่อน คือคนต้องไปดูหอไอเฟลปีหนึ่งกี่ล้านคน อันนี้ก็ลักษณะเดียวกัน ผมเอาวิธีการแบบนี้มามองสโคบเล็กๆ คือโรงเรียนอนุบาล ตอนผมไปเนี่ยมันเป็นเมืองที่มีสีเทาๆ เก่าๆ โทรมๆ แต่ผมวิเคราะห์ถึงจิตใจเด็ก โดยยึดตัวเองเลยว่าตอนเด็กๆ ผมจำได้เลยนะว่าพื้นโรงเรียนที่ผมเรียนตอนเด็กสีแดง แรดมาก ความรู้สึกส่วนตัวเลยจริงๆ ที่อยากให้เด็กๆ ที่จะเรียนโรงเรียนอนุบาลประชาสงเคราะห์มีความจดจำที่ดีกับโรงเรียน ผมจึงบอกทีมงานว่าเราจะออกแบบอาคารอย่างครีเอทีฟเลย และบังเอิญไซส์เป็นซอก หมายความว่าเราต้องออกแบบอาคารที่เราอยากเข้าไป และเด็กเข้าไปแล้วมีความสุข
เด็กสามารถจินตนาการต่อได้ เพราะผมตั้งใจออกแบบอาคารให้มีหน้าตาอย่างนี้ หน้ากว้างของที่ดินแคบมาก เป็นซอกอยู่ในกลุ่มหมู่บ้านสีเทาๆ จึงเล่นเส้นโค้งช่วยให้พื้นที่กว้างทั้งที่ผนังและตู้เก็บรองเท้า หลอกความรู้สึกของคนให้ได้ ถ้าเอากล่องไปวางตึ้งๆ ก็เป็นอาคารที่อยู่ในความทรงจำว่า อาคารสี่เหลี่ยมสีขาว มันไม่สนุกนะ แต่ไม่ต้องถึงขนาดว่าโอ้โหเมืองทั้งเมืองเปลี่ยนเพราะตึกนี้ อย่างหอไอเฟลนะ แต่ขอแค่จิตใจของเด็กอายุ 2 ถึง 4 ขวบให้รู้สึกว่าไอ้นี่คือจินตนาการที่ซ่อนอยู่ ผมนึกถึงว่าตัวเองตอนเป็นเด็กอนุบาล เรายังรู้สึก เด็กที่เรียนโรงเรียนี้ก็น่าจะรู้สึกได้ว่า ตึกที่เขาเรียนตอนอนุบาลนะอย่างเท่ ถึงจะอยู่เมืองกาญจน์ อำเภอท่ามะกาก็ตาม นี่คือส่วนตัวเลย ไปดูโรงเรียนอนุบาลเราไหม เข้าใจมั้ยครับ อย่างความรู้สึกของผมที่จำได้ว่า โอ้โห!…โรงเรียนอนุบาลธรรมดาที่ผมเรียน พื้นสีแดงขัดมัน…แว่บ…ในความทรงจำเลย และยังจำได้ถึงเดี๋ยวนี้
ผมรู้สึกว่ามันดีมากนะ เป็นลักษณะเพอร์ฟอร์มาทีฟย่อยๆ ของความคิดเด็ก คือผมไม่ทำงานตามกระแสนะครับ ทำงานตามพื้นที่ พื้นถิ่น ความเป็นไปได้ ทำไมกระทั่งโรงเรียนอนุบาลต้องตามกระแส ใช้ไม้ไผ่เพื่อแสดงความรักษ์โลกรักธรรมชาติ ผมพูดคุยกับลูกค้าเยอะมาก พบว่าลูกค้าต้องการให้อาคารมีความคงทน การใช้อาคารปูนนี่ล่ะ คงทน รักษ์โลกได้ เพราะไม่เปลืองวัสดุในการก่อสร้าง คือมันคงคนกว่าไม้ไผ่แต่มันก็มีผุพังตามกาลเวลา ที่ผมบอกว่าไม่เปลืองวัสดุเพราะอายุการซ่อมแซมอาจช้าหน่อย นี่ล่ะก็ช่วยรักษ์โลกได้
อาคารโรงเรียนอนุบาลเป็น local คือหมายความว่าช่างทำได้ ปูนขัดแบบบ้านๆ ช่างทำได้ เพราะเราคุยกันเข้าใจ ช่างฝีมือก็ชำนาญงาน สิ่งที่ทำมานี้ผมไม่สามารถพูดเป็นทฤษฎีได้ เพราะมันมาจากประสบการณ์ที่เจอ จากการเรียน ฝึกงาน และทำงานด้านสถาปนิกมาตลอดไม่เคยออกนอกลู่เลย แล้วเป็นลักษณะครูพักลักจำ ซึ่งสามารถเอาไปทำต่อได้
“สถาปนิกที่ให้ความสำคัญกับเด็ก ด้วยแนวคิดที่ว่า สำหรับเด็ก คำว่า ครีเอทีฟ ต้องไม่ใช่คำตอบสุดท้าย มันสามารถเป็นอะไรก็ได้”
Dbs : คุณมีเป้าหมายส่งงานออกแบบที่ทำงานอยู่ทุกวันนี้ประกวดรางวัลบ้างไหม
ณัฏฐวุฒิ : ผมยังได้แค่ระดับ experiental ซึ่งส่งตอนยังเด็กอยู่ ก็คิดแบบเด็กๆแบบอ่านเกม ง่ายๆ เลยตอนผมประกวดแบบผมได้มา 3 ถ้วย มีทีมประกวด 4 ทีม คือไทย สเปน รัฐเซีย เสปน และแบบผมได้มา 3 รางวัล จากการประกวด 4 ครั้ง คือที่ไทน สเปน รัสเซีย เพราะผมมีวิธีคิดว่าคนอื่นเขาจะส่งอะไรผมจะส่งที่คนอื่นไม่ส่ง ตอนนั้นผมไม่ได้ชื่นชมงานที่ออกแบบ ผมทำออกมาเป็นสไตล์ที่ถนัด ส่งประกวดเพื่อต้องการได้ทุนไปเรียนฟรี ผมจะอ่านโจทย์เลยล่ะที่พวก experiental ต่างๆ ของพวกในระดับไม่ใช่เป็นของออฟฟิศ แล้วมั่นใจว่าไม่มีใครทำแบบแน่แค่นั้นเอง ผมจึงได้หมดเลย เหมือนกับเด็กที่อยากเอาชนะ สำหรับตอนนี้ ผมออกแบบพื้นที่เพื่อให้คนเข้าไปใช้ชีวิตแล้วมีความสุข ซึ่งแสงมีส่วนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสำนักงาน โรงแรม หรืออะไรก็แล่วแต่ แล้วก็เอางานออกแบบเหล่านี้ส่งประกวดรางวัลด้วย คือมันเป็นสิ่งที่ควรจะทำ เป็นอีกก้าวของสถาปนิกที่จะเติบโตในสายงานอาชีพ ผมคิดของผมเองอย่างนี้ ซึ่งก็พยายามส่งอยู่เรื่อยๆ
ผมเป็นสถาปนิกที่ออกแบบทุกอย่าง นับเป็นเรื่องที่ดีและผมได้การทำงานแบบนี้ จากการไปทำงานต่างประเทศ สถาปนิกต่างชาติส่วนใหญ่ก็เริ่มต้นแบบนี้ ที่ต่างประเทศสถาปนิกใหม่ไม่สามารถจะได้งานอาคารใหญ่ๆ เลย บ้านเราสถาปนิกจบใหม่ได้ทำอาคารหลังใหญ่เลย โชคดีมากครับ ที่อเมริกาจะไม่ได้ทำแบบนี้เลยในช่วงเริ่มต้น ผมเริ่มกับงานออกแบบภายใน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมชอบอยู่แล้ว งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ก็ชอบ และชอบทำงานตกแต่งภายในด้วย เพื่อเป็นการทดลองแนวคิดงานใหม่ๆ ได้
Dbs : ระบบความคิดการทำงาน อะไรที่มีอิทธิทำให้คุณหยิบมาใช้ในงานออกแบบบ่อยๆ เช่น สังคม ผู้คน เทรนด์
ณัฏฐวุฒิ : ทุกอย่างครับ สำคัญเท่าๆ กัน แต่ผมมีจุดยืนและเอาจุดแข็งเกี่ยวกับความรู้ที่มี คิดทำงานออกแบบ และสนุกกับทุกงานที่ทำ เช่นการได้พื้นที่เล็กๆ ก็เป็นความท้าทายในการพัฒนาไปสู่การออกแบบ เพื่อให้คนได้ใช้พื้นที่นั้นอย่างเต็มประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเจอลบ ลบ อย่างไรก็เป็นบวกอยู่แล้ว มุมมองการทำงานผมคิดบวกเสมอครับ ยิ่งยุคสมัยนี้สถาปนิกต้องแก้ปัญหาให้ได้ เรื่องสไตล์มันคือสันดาน มีอยู่แล้วออกมากับลายมือของเรา ที่ผมทำมาทั้งหมดนี่ก็เป็นสไตล์ของผม ตีโจทย์ให้ขาด คือแบบกับจิตใจ สักวันลูกค้าจะรู้เองว่า เราพยายามคิดให้เขา
Dbs : ความเป็น NDPA วันนี้กับ 5 ปีข้างหน้า
ณัฏฐวุฒิ : ตลอดเวลาที่ทำงานมา 5 ปี ผมทำงานทุกงานด้วยความมั่นใจ ว่ามันออกมาดี ซึ่งมันก็ดีมาก ก้าวต่อไปผมอยากได้งานที่ระดับใหญ่ขึ้น แต่เป็นการใหญ่ขึ้นทีละนิดอย่างต่อเนื่อง และอยากได้รางวัลเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม เรื่องเงินถ้าได้ดี ผมก็มีกำลังใจนะครับ ซึ่งก็ช่วยเรื่องของจิตใจให้เราทำงานให้ได้ดี
“ผมให้ความสำคัญแสงกับช่วงเวลา ละเอียดกระทั่งเวลาบ่ายสามโมงแสงที่ส่งเข้ามาทางช่องหน้าต่างจะเป็นแบบใด ผมมองทางอารมณ์และศิลปะ ซึ่งเรื่องแสง ผมไม่ได้นั่งบอกว่าชอบ แต่มันเป็นความชอบส่วนตัวเองแบบไม่รู้ตัว” ณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ