KONGKA FURNITURE
“เยี่ยมชมขั้นตอนการผลิตของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์มุกระดับตำนาน”
TEXT: Boonake A.
PHOTO: ฉัตรชัย เจริญพุฒ
ASSISTANT PHOTOGRAPHER: กมลรัตน์ ศรีสุข
กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์กลุ่มหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากคนมีฐานะระดับเศรษฐีของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน หนึ่งในนั้นก็คือสินค้าเฟอร์นิเจอร์มุก ซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่เสมือนเป็นชิ้นงานทางศิลปะที่บ่งบอกถึงฐานะผู้ครอบครอง ทั้งยังเป็นไอเทมหนึ่งที่สามารถสร้างกลิ่นอายความคลาสสิคแบบมีรสนิยมให้บรรยากาศองค์รวมของบ้านได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ภายใต้ความนิยมนั้น ทำให้ชื่อของ“คงคาเฟอร์นิเจอร์” ก็เป็นที่รู้จักกันดีเช่นกันในฐานะผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์มุกระดับตำนาน ที่สั่งสมภูมิปัญญาการผลิตที่มีมาตรฐานมาอย่างยาวนานมากว่า 30/40ปี สร้างออกมาเป็นชิ้นงานหลากหลายที่มีให้เลือกกว่า 200 แบบ ทั้งในสไตล์ราชวงศหมิง ราชวงศ์ชิง และสไตล์แบบ Modern Chinese
ซึ่งในคอลัมน์ Day Factory ฉบับนี้ทางคงคาเฟอร์นิเจอร์ ได้เปิดโอกาสให้เราเข้าเยี่ยมชมขั้นตอนการผลิตระดับคุณภาพภายในโรงงานหลักที่ใช้ในการผลิต เพื่อนำมาบอกเล่าต่อให้ผู้อ่านของเราได้ฟัง โดยมีคุณมาดี เลิศขจรสุข หนึ่งในทีมบริหารหลักของแบรนด์ มาเป็นผู้ให้ข้อมูล พร้อมทั้งเป็นผู้ให้รายละเอียดการก่อร่างสร้างแบรนด์ของคงคาเฟอร์นิเจอร์ จนมีชื่อเสียงดังเช่นทุกวันนี้
จุดเริ่มต้นของธุรกิจ คงคาเฟอร์นิเจอร์
ธุรกิจของคงเฟอร์นิเจอร์ เริ่มมาตั้งแต่รุ่นอากงที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยซึ่งตัวท่านมีโนว์ฮาวด้านการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ ทั้งการสร้างงาน ตัดแต่ง แกะสลัก หรือแม้กระทั่งการทำจอยท์ข้อต่อต่างๆของการทำไม้แบบในวังจีน มาจากเมืองซัวเถา ซึ่งความเชี่ยวชาญนี้ถือเป็นภูมิปัญญาสำคัญของเรา นั่นคือรุ่นแรกต่อมาก็เป็นรุ่นคุณพ่อที่นำภูมิปัญญาเหล่านี้มาต่อยอดสร้างเป็นธุรกิจ เป็นโรงงานในซอยเพชรเกษม 69 เมื่อปี 1978 แล้วก็ใช้ชื่อแบรนด์เป็น “คงคาเฟอร์นิเจอร์” นับแต่นั้นมา ส่วนที่บางใหญ่เป็นโรงงานใหม่ที่เราเพิ่งย้ายมาอยู่ได้ประมาณเกือบ 20 ปี นี่ก็เป็นที่มาที่ไปคร่าวๆ ของเรา
รูปแบบการสร้างงานเฟอร์นิเจอร์จีน
โรงงานตอนอยู่ที่เพชรเกษม 69 เป็นโรงงานเล็กๆมีการขั้นตอนการผลิตแบบ Pure Art ที่ใช้แฮนด์เมดทุกขั้นตอน เครื่องจักรจะเป็นเครื่องตัดธรรมดาเล็กๆ น้อย ๆ เท่านั้น เมื่อย้ายมาที่โรงงานก็มีขนาดใหญ่ขึ้น มีการนำเครื่องมือทางเทคโนโลยีมาช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น ทั้งการร่างแบบ การทำเดือย ทำลิ่ม การตัดไม้ รวมถึงการอบไม้โดยที่ยังมีการใช้ฝีมือคนเข้าไปร่วมผลิตด้วย เพื่องสร้างงานประณีตที่เครื่องจักรไม่สามารถทำได้
ภูมิปัญญาของช่างผู้เชี่ยวชาญ คือหัวใจสำคัญในขั้นตอนการผลิต
ในด้านการผลิต เทคโนโลยีเราก็เหมือนกับโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นในการผลิตของคงคาฯ ก็คือ เรื่องของฝีมือในการผลิต เพราะที่นี่ส่วนใหญ่จะเน้นงานฝีมือและความชำนาญของช่างจำนวนกว่า 180 คนเป็นหลักซึ่งเป็นช่างรุ่นเก่าที่อยู่กับเรามาตั้งแต่วันเริ่มต้นของธุรกิจ ซึ่งความชำนาญทั้งการแกะสลัก การฝังมุก ถูกสอนโดยช่างชาวจีนและช่างรุ่นนั้นก็ยังอยู่ และเป็นคนสอนงานให้กับคนรุ่นใหม่ในวันนี้ตรงนี้เหมือนกับเป็นภูมิปัญญาที่ส่งมารุ่นสู่รุ่น
วัตถุดิบชั้นเยี่ยม นำมาสู่การสร้างเฟอร์นิเจอร์จีนชั้นยอด
วัตถุดิบในการผลิตของเราส่วนใหญ่เป็นไม้โรสวู๊ด ที่ภาษาจีนเรียกว่า“หงมู่เจียจี้” ถือกลุ่มไม้ของชนชั้นสูงที่มีอยู่ 8 อย่างเพราะไม้ชนิดนี้จะเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งไม้พวกนี้จะถูกเอามาใช้ในวังจีนสมัยก่อน เพราะมีความทนนานสามารถอยู่ได้เป็นร้อยปีทั้งยังมีลายเนื้อไม้ที่สวยเหมาะแก่การนำไปแกะสลักในส่วนของมุกที่นำมาใช้ ก็เป็นมุกน้ำลึกในทะเล ไม่ใช่มุกน้ำจืดที่เลี้ยงตามฟาร์ม สีของมุกจึงมีความอิ่มตัว และมีความใส มองได้หลายเฉดสีสัน ใช้นานเท่าไหร่ก็ไม่เหลือง
รางวัลแห่งความภาคภูมิ การันตีมาตรฐานการผลิตที่ทั่วโลกยอมรับ
รางวัลที่เราได้รับซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของแบรนด์มี 3 รางวัลรางวัลแรกก็คือครั้งเมื่อสมเด็จพระเทพ ฯ ทรงริเริ่มเรื่องงานอนุรักษ์ยางรักของจีน ซึ่งเป็นยางรักที่เราใช้ในการทำสีเฟอร์นิเจอร์ ตรงนี้ทำให้คงคาฯ ได้รับเชิญขึ้นไปพูดในงานInternational Conferenceในฐานะการเป็นบริษัทเฟอร์นิเจอร์เดียวในไทยที่ถูกเชิญไปงานนี้เพื่อร่วมกับ 8 ประเทศจากทั้งโลก รางวัลที่ 2 คือทาง Discovery Channel เลือกให้เราเป็นบริษัทที่เขาบินมาถ่ายจากแคนาดา เพื่อทำสารคดีเกี่ยวกับการทำเฟอร์นิเจอร์จีนฝังมุก รางวัลที่ 3 คือเราได้รับการเสนอให้เป็นนอมินี เพื่อรับรางวัลของ London Award ในสาขาสินค้าด้านLuxury lifestyleในปี 2015 ทั้งสามรางวัลสามารถตอบเรื่องมาตรฐานของคงคาฯ ให้ขาวโลกรับรู้ได้อย่างชัดเจน
ก้าวสู่ขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลงาน
คราวนี้ก็มาถึงขั้นตอนในการเยี่ยมชมโรงงาน ซึ่งคุณมาดี ได้พาเราเข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตัวเอง เริ่มต้นขึ้นที่การนำแบบMaster Plan ที่ได้รับการวาดจากอาจารย์นักออกแบบ มาคิดคำนวณสัดส่วนทั้งความยาว ความสูง ความหนา สร้างออกมาเป็นแบบที่ชัดเจน ก่อนจะนำแบบที่ได้นี้ไปคิดคำนวณเพื่อใช้ในขั้นตอนการเตรียมไม้เพื่อผลิต โดยในส่วนงานนี้จะมีหัวหน้างานที่จะคอยดูแลโดยเฉพาะ ทั้งการเตรียมจำนวนไม้ให้เหมาะสมกับการผลิตส่วนของไม้ที่จะนำมาใช้ วิธีการตัดไม้ รวมถึงการระยะเวลาในการอบไล่ความชื้น
เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมด การผลิตในโรงงานจึงเริ่มขึ้น ด้วยการเลื่อยทั้งไม้ประดู่ และไม้ชิงชัน ออกมาเป็นชิ้นหรือแผ่นตามที่กำหนดไว้ ก่อนนำไปอบในห้องอบไม้ขนาดใหญ่ ให้ได้อุณหภูมิที่ถูกต้องตามขนาดของชิ้นไม้ เพื่อรักษาเนื้อไม้ไม่ให้แตก หรือบิดงอเมื่ออบเสร็จก็จะมานำมาตรวจวัดความชื้นอีกทีด้วยเครื่องตรวจความชื้นอีกครั้ง ในส่วนงานเริ่มต้นที่สถานีแรกนี้ เป็นโนว์ฮาวด้านเทคโนโลยีเฉพาะของคงคาเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับมาจากMr.XaverReiderหมอไม้ชาวเยอรมนี ทั้งการเลื่อยการอบ การคำนวณเวลาอบ รวมถึงการตรวจวัดความชื้นด้วยเครื่องมือวัดความชื้นทันสมัยทำให้ได้ออกมาเป็นไม้ทั้งในด้านคุณภาพและความทนทานมากที่สุด
เมื่อได้ออกมาเป็นชิ้นไม้ที่ต้องการ จากนั้นก็นำไม้ที่ผ่านการอบ ไปตัดตามแบบชิ้นส่วนที่ใช้ในการประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ตามที่ได้มีการกำหนดไว้ จากขั้นตอนนี้ก็นำทั้งหมดไปสู่ขั้นตอนการตีเดือย เจาะเดือย ทำลิ่ม เจาะรูปลิ่มบนเนื้อไม้ หรือทำทำจอยท์เชื่อมต่างๆจากนั้นนำไปเข้าสู่ขั้นตอน “Warm” ซึ่งก็คือขั้นตอนในการลองประกอบคร่าวๆ เพื่อป้องกันความผิดพลาดก่อนที่จะนำไปแกะสลักลายหรือฝังมุก
ถัดมาก็จะนำชิ้นไม้ที่ลองประกอบมาแล้ว มาแกะสลักบนเนื้อไม้ตามแบบที่เขียนขึ้น จากทีมช่างฝีมือที่มีความชำนาญในการแกะสลักคุณมาดีเล่าให้ฟังว่าทางคงคาฯ จะทำออกมาเป็นเรื่องราวในตามแบบClassic Chineseอย่างเรื่องแปดเซียนข้ามทะเล ,เรื่อง 24 กตัญญูหรืองานลวดลายวิจิตรอย่าง หงส์ มังกร และลายดอกไม้มงคลของจีน นอกจากนี้ทางคงคาเฟอร์นิเจอร์ยังได้มีการสร้างลวดลายขึ้นมาใหม่ในแบบModern Chineseที่ยังคงความเป็นจีนตามแบบราชวงศ์หมิงแต่มีการการตัดลวดลายบางอย่างให้ดูเรียบง่ายในวิถีแบบเซน สร้างออกมาเป็นชิ้นงานที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น
เมื่อแกะสลักเสร็จจะนำไปสู่ขั้นตอนการฝังมุก ซึ่งเป็นสูตรลับของทางคงคาเฟอร์นิเจอร์ ดังนั้นเราจึงของข้ามการบอกรายละเอียดในส่วนนี้ ไปสู่ขั้นตอนการวาดลวดลายลงบนเนื้อมุกที่เรียกในภาษาจีนว่า“การเตียว”นั่นคือการใช้เหล็กขูดเพื่อลงรายละเอียดในตัวลวดลาย ให้ชัดเจน เมื่อได้ลายที่ชัดเจน จึงนำทุกส่วนมาประกอบ ตกแต่งด้วยการขัดเนื้อไม้ให้เรียบเนี๊ยบเพื่อนำไปประกอบขึ้นรูปออกมาเป็นชิ้นงานต่างๆ
ประกอบแล้วก็มาถึงขั้นตอนการทำสี ด้วยการลงรักแบบจีนที่มีสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งแตกต่างจากรักแบบไทยที่มีสีดำหนา ทางทีมงานก็จะนำรักที่เป็นสูตรเฉพาะมาทาให้ทั่วเนื้องานไม่เว้นแม้แต่ในส่วนของการฝังมุก ทาเสร็จนำไปอบให้แห้ง ทำแบบนี้วนไปประมาณ 6-7 ครั้ง เพื่อให้ตัวรักซึมสนิทเข้าไปในเนื้อไม้ และตัวลวดลายของมุกให้มากที่สุดจนเส้นสายที่ผ่านการเตียวมีสีดำชัด ก่อนที่จะส่งไปทำความสะอาดเพื่อขัดหน้ามุกให้ขาวสะอาดอีกครั้ง เป็นอันครบถ้วนทุกขั้นตอน
การเข้าเยี่ยมชมโรงงานครั้งนี้ ทำให้ผมได้เห็นการทำงานอันประณีตและวิจิตรด้วยกรรมวิธีแบบ Hand Made เกือบทุกขึ้นตอน ก็ยิ่งทำให้ได้รับรู้ถึงคุณภาพและความสวยงามของสินค้าทุกชิ้นภายใต้แบรนด์คงคาเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างชัดเจน จนไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสินค้าของคงคาฯ จึงเป็นที่ยอมรับในมาตรฐาน ทั้งยังมีความสูงค่าไม่ต่างจากชิ้นงานศิลปะที่ถูกสร้างสรรค์จากฝีมือของศิลปินเอกที่นานวัน ยิ่งมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นทั้งหมดเป็นมาตรฐานในการผลิตเฟอร์นิเจอร์จีนที่ยากจะหาใครมาทำได้เหมือนที่คงคาเฟอร์นิเจอร์ทำ