KOLUMBA MUSEUM
พลังสร้างสรรค์จากรอยประวัติศาสตร์
Text & photo: Athi Aachawaradt
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โบสถ์ St. Columba รวมถึงเมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี แทบทั้งเมืองก็เหลือเพียงซากปรักหักพัง มีเพียงมหาวิหารโคโลญ (Cologne Cathedral) เท่านั้นที่เหลือรอดอย่างน่าอัศจรรย์
ในปี 1947-1950 สถาปนิก Gottfried Böhm ได้ปรับปรุงพื้นที่บริเวณ St. Columba ให้เป็นโบสถ์น้อย (Chapel) และเรียกชื่อว่า ‘Madonna of the Ruins’ เพื่อระลึกถึงโบสถ์หลังเก่าที่ถูกระเบิดเสียหายหมด กระทั่งปี 1973 มีการค้นพบซากโบราณสถานที่มีมาตั้งแต่ยุคกลางซ่อนอยู่ใต้โบสถ์เก่าอีกที พื้นที่แห่งนี้จึงกลายเป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่สำคัญยิ่ง นำมาซึ่งการพัฒนาจนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นเยี่ยม ‘Kolumba Musuem’ ด้วยฝีมือการออกแบบอันเหนือชั้นของสถาปนิกชื่อดังชาวสวิส Peter Zumthor

อาคารมีลักษณะคล้ายกับกล่องขนาดใหญ่ที่ครอบทับส่วนโครงของโบสถ์เก่า และก่อผนังอิฐเพื่อสร้างความเชื่อมประสานกับผนังโบสถ์ที่เป็นอิฐเช่นเดียวกัน

บันไดเหล็กด้านนอกเป็นทางขึ้นไปสู่ชั้นบนของอาคารที่เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการ (Photo by Kenta Mabuchi on Flickr)
ภายนอกของ Kolumba Museum นั้นดูปิดกั้นลึกลับ และแทบจะไม่เปิดเผยอะไรให้เรารู้มากนัก มีลักษณะคล้ายกับกล่องขนาดใหญ่ที่ครอบทับส่วนโครงของโบสถ์เก่า ตัวอาคารที่สร้างใหม่มีรูปทรงที่แสนจะเรียบง่ายร่วมสมัย แม้จะดูขัดแย้งไม่เข้ากันกับตัวซากผนังเก่าที่เป็นฐาน แต่ก็ทำให้รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมจากยุคโกธิคนั้นโดดเด่นขึ้นมา และยิ่งชวนให้ค้นหาว่าด้านในมีอะไรซ่อนอยู่ ผนังด้านนอกทำจากอิฐเพื่อสร้างความเชื่อมประสานกับผนังโบสถ์ที่เป็นอิฐเช่นเดียวกัน อิฐที่เลือกใช้นั้นมีความหนา 4 เซนติเมตร แต่มีความยาวเป็นพิเศษคือยาวถึง 53 เซนติเมตร
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับรางวัลด้านการออกแบบมากมายทั้งจากในและนอกประเทศ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะ Peter Zumthor สามารถสร้างสรรค์ให้ซากทางประวัติศาสตร์ที่ซ้อนทับกันมาหลายยุคสมัยนั้น ปรากฏเด่นชัดขึ้นมาได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยการออกแบบให้โถงพิพิธภัณฑ์ชั้นล่างสุดนั้นไม่มีพื้น แต่สร้างเป็นสะพานไม้ซิกแซกตัดเลาะผ่านซากเมืองโบราณตั้งแต่ยุคโรมัน ผ่านส่วนของอาคารแห่งคริสตจักรจากยุคราชวงศ์การอแล็งเฌียง (Carolingian), โรมาเนสก์ (Romanesque) และโกธิค (Gothic) ตัวอาคารที่ครอบพื้นที่ขุดพบนั้นใช้เสากลมผอมเรียวเพื่อรับโครงสร้าง ฝ้าเพดานสูงโล่งขึ้นไปถึงระดับสองชั้น ส่วนของผนังมีการเว้นช่องแสงขนาดเล็กจำนวนมากทำให้เกิดมิติของแสงที่ละเอียดอ่อนภายใน
“คนที่เชื่อในคุณค่าแห่งงานศิลปะ ย่อมสามารถสัมผัสได้ว่าอาคารหลังนี้เริ่มต้นมาจากภายใน ทั้งจากศิลปะ และสถานที่ที่มันตั้งอยู่”
Peter Zumthor
Peter Zumthor ปัจจุบันอายุ 72 ปี เป็นเจ้าของรางวัล Pritzker Prize เมื่อปี 2009 เคยพูดถึงผลงานออกแบบของเขาชิ้นนี้ไว้ว่า “คนที่เชื่อในคุณค่าแห่งงานศิลปะ ย่อมสามารถสัมผัสได้ว่าอาคารหลังนี้เริ่มต้นมาจากภายใน ทั้งจากศิลปะ และสถานที่ที่มันตั้งอยู่”
Kolumba Musuem เริ่มก่อสร้างในปี 2003 แล้วเสร็จเปิดให้บริการเมื่อปี 2008 ภายใต้การบริหารของ Archdiocese Ordinariate of Cologne ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 43 ล้านยูโร ชั้นบนของอาคาร เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการที่มีถึง 16 ห้อง มีพื้นที่ใช้สอยถึง 1,750 ตารางเมตร จัดแสดงงานศิลป์ตั้งแต่ยุคปลายของอาณาจักรโรมัน เรื่อยมาจนถึงงานในยุคปัจจุบัน

ตัวอาคารที่สร้างใหม่มีรูปทรงที่แสนจะเรียบง่ายร่วมสมัย แม้จะดูขัดแย้งไม่เข้ากันกับตัวซากผนังเก่าที่เป็นฐาน แต่ก็ทำให้รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมจากยุคโกธิคนั้นโดดเด่นขึ้นมา