KEATON / PHTAA LIVING DESIGN
Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: Flashdiamond
Architect & Interior Designer: PHTAA Living Design
หากใครเคยได้ดู ‘Kingsman : The Secret Service’ ภาพยนตร์สายลับเรื่องดังที่ออกฉายในปี 2557 หนึ่งในฉากติดตาและกลายเป็นภาพจำสำหรับหนังเรื่องนี้มากที่สุดฉากหนึ่งคงหนีไม่พ้นภาพของร้านตัดสูท ‘Kingsman’ ที่ถูกใช้เป็นฉากบังหน้าของกองบัญชาการสายลับประจำเรื่อง ที่ที่สายลับ ‘Kingman’ จะได้รับ ‘เครื่องแบบ’ ในชุดสูทลุคเท่ที่ทำให้ใครหลายคนอดไม่ได้อยากที่จะแต่งตัวตามสายลับในเรื่องไปด้วย
ภาพยนตร์เรื่องนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเจ้าของร้านตัดสูทแห่งใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวมาได้ไม่นาน ‘Keaton’ เกิดขึ้นจากความต้องการของพาร์ทเนอร์ทั้ง 4 คนที่ต้องการที่จะสร้างร้านตัดสูทในลุควินเทจอย่างในภาพยนตร์ ภายใต้ชายคาของ ‘บ้านเอกมัย’ ในซอยแจ่มจันทร์ (เอกมัย 21) ห้องของร้านตัดสูทในเนื้อที่ราว 20 ตารางเมตร ที่ผ่านมือกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ ‘PHTAA living design’ จึงได้เผยโฉม แต่ในรูปแบบของความ ‘วินเทจ’ ที่ต่างออกไป เพราะการทำงานที่ดูแล้วคาดเดาได้ เห็นได้ทั่วไปจากเว็บไซต์หรือจาก ‘เรฟเฟอเรนท์’ นั้น ไม่ใช่รสนิยมในการทำงานของพวกเขาเสียด้วย
ร้านตัดสูท Keaton ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งใน ‘บ้านเอกมัย’ โดยอยู่ใต้บาร์ Sugar Ray ที่เปิดมาอยู่ก่อนแล้ว Façade สีดำของบาร์เป็นบริบทเดิมของสถานที่ที่ช่วยเสริมงานออกแบบให้ดูโดดเด่นขึ้น และเข้ากับเส้นสาย และวัสดุที่ถูกตกแต่งภายหลังไปโดยปริยาย
“บางสิ่งที่มันยังไม่เกิดขึ้นมา เราเห็นภาพของมันในหัวแล้ว เพียงแต่มันยังไม่เคยเกิดขึ้นเท่านั้น แต่สิ่งไหนที่คนเคยเห็นแล้ว มันจะเป็นสิ่งที่เขาสบายใจ ซึ่งตรงนี้แปลว่าไม่ดีแน่นอน เพราะถ้าคุณสร้างมันขึ้นมาเมื่อไร มันจะเก่าทันทีเลย” คุณพลวิทย์ รัตนธเนศวิไล หนึ่งในพาร์ทเนอร์สามคนของบริษัทออกแบบรุ่นใหม่ ให้เหตุผลว่าทำไม เราจึงควรที่จะหลุดออกจากกรอบของข้อมูลมหาศาลในโลกอินเตอร์เน็ตที่วิ่งผ่านหน้าจอสู่สายตาของพวกเราจนเป็นความเคยชิน
สถาปนิกเล่าให้ฟังว่า แบบแรกเริ่มที่ออกแบบตาม ‘ขนบ’ ของสไตล์วินเทจในความต้องการของลูกค้านั้น ด้วยวัสดุที่ค่อนข้างมีราคา และรายละเอียดของงานออกแบบที่มากเพื่อให้งานสื่อถึงอารมณ์สไตล์เก่าได้ใกล้เคียงที่สุด ทำให้งบประมาณในการก่อสร้างนั้นเกินจากงบที่ตั้งไว้ถึง 3 เท่า เมื่อเป็นดังนั้น สถาปนิกจึงอยากที่จะลองค้นหาและทดลองแนวทางใหม่ๆ กับงานออกแบบชิ้นใหม่ของพวกเขาแทนที่งานในแบบเดิม
“เราไปได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง ชื่อ ‘A Handbook of Weaves’ (A Handbook of Weaves by G.H. Oelsner.) มันคือหนังสือแสดงวิธีการทอผ้าแบบโบราณ” ภายในหนังสือเล่มหนาที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1875 เทคนิคของการทอผ้าในแบบย้อนยุค ถูกสื่อสารผ่านภาษาของรูปภาพและไดอะแกรมในรูปแบบของลายตารางในแบบกริด ที่ประกอบไปด้วยช่องสี่เหลี่ยมสีขาว สีเทา สีดำ เรียงตัวอยู่ในตารางสี่เหลี่ยมนับร้อยนับพันช่อง อันเป็นเครื่องมือที่หนังสือใช้บอกวิธีการทอ ขึ้น-ลง, เว้น-ข้าม และวิธีการอื่นๆ เพื่อให้ได้ภาพสุดท้ายของลายผ้า ที่ภายในหนังสือ ก็ได้บรรจุรูปแบบและลวดลายไว้มากมายจนนับไม่ถ้วน ซึ่งวิธีการเหล่านี้ ก็เหมือนได้ไปสะกิดต่อมความน่าสนใจของสถาปนิกเข้าอย่างจัง จนต้องขอหยิบยืมเอาวิธีการดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือในการออกแบบเพื่อแสดงภาษาในแบบที่อาจยังไม่เคยเกิดขึ้นสำหรับงานสถาปัตยกรรมชิ้นใหม่ชิ้นนี้ “สมมุติ ถ้าคุณอยากได้ผ้าลายนี้ ไดอะแกรมมันจะเป็นบอกเราแบบหนึ่ง แต่ในตอนสุดท้าย เมื่อลายผ้ามันออกมาแล้ว มันจะ Mirror กับไดอะแกรมนะ ซึ่งมันค่อนข้างน่าสนใจมาก ภาพของผ้าที่เราเห็นด้านหน้า กับด้านหลัง มันจะเป็น Invert กัน เราคิดว่ามันเป็นอะไรที่เจ๋งมาก มันเป็นไดอะแกรมที่ทำขึ้นมาให้คนแก่อ่านได้ แสดงว่าทุกคนมันต้องเข้าใจได้ไม่ยาก”
ผนังด้านสำคัญของร้าน ที่แสดงแนวคิดการเชื่อมต่อภายนอก-ภายในของงานสถาปัตยกรรมเข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้เครื่องมือของงานทอผ้าที่สถาปนิกค้นเจอในหนังสือ A Handbook of Weaves อันเป็นที่มาของแนวคิดในการออกแบบทั้งหมด ผนังด้านนี้เกิดจากการก่ออิฐ แล้วใช้เครื่องมือค่อยๆ เจาะในส่วนที่ต้องการทีละช่องๆ ก่อนจะใช้ท่อเหล็กสีน้ำเงินเสียบตามเข้าไป และฉาบปูนปิดรอยต่อในขั้นตอนสุดท้าย
ในขณะที่เครื่องมือยังต้องถูกครุ่นคิดพิจารณา ความว่างเปล่าภายในห้องเสื้อก็ยังต้องถูกเติมเต็ม ความเป็น ‘วินเทจ’ จึงถูกหยิบยกขึ้นมาแทรกในนาทีนี้เอง “เรายก ‘Polka Dot’ ขึ้นมา เพราะ ‘Polka Dot’ มันคือลายผ้าที่มีมานานมากแล้ว มันคือวินเทจในแบบหนึ่งเหมือนกัน ทีนี้ ลาย ‘Polka Dot’ ที่มันเกิดขึ้น มันคือภาพสุดท้ายที่เรารับรู้ด้วยการมองเห็น แต่สิ่งที่เรามองไม่เห็นล่ะ มันก็คือไดอะแกรมเหล่านี้เองนั่นล่ะ แต่ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นมาเป็นแพทเทิร์นบนผนัง เราก็คิดกันว่า วิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือ การเอาลาย ‘Polka Dot’ ออกไปไว้ข้างนอก เอาไดอะแกรมเข้าไปไว้ข้างใน มันก็สื่อสารอย่างเป็นจริง ว่าข้างนอกมันคือลายจุด ข้างในมันคือไดอะแกรม” แต่ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้รูปแบบภายนอกของสถาปัตยกรรมกับการรับรู้พื้นที่ภายในของมันที่ค่อนข้างตายตัว ก็ยังเป็นอีกสิ่งที่สถาปนิกต้องการที่จะตีโจทย์ และเพื่อให้เครื่องมือชิ้นนี้สามารถใช้ตอบคำถามได้ในทุกมิติของการออกแบบอย่างที่พวกเขาต้องการ การใช้งานเครื่องมืออย่างตรงไปตรงมา ‘เกินไป’ ก็อาจจะจบลงด้วยงานออกแบบที่คาดเดาได้ง่ายเช่นเดิม และนั่นคือสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างที่สุด “แต่พอลองมาคิดอีกที วิธีการทอผ้า มันเกิดขึ้นจากการ Invert กันนี่นา เวลาที่คนจะทำตามหนังสือเล่มนี้ ภาพของลายผ้าที่ได้มันจะเป็นภาพที่ Mirror กับไดอะแกรม เราก็เลยคิดว่า เราเอาไดอะแกรมกลับออกไปดีกว่า”
เพื่อเล่นกับความสัมพันธ์ระหว่างภายนอก-ภายในสถาปัตยกรรม สถาปนิกเลือกที่จะกลับด้าน (Mirror) ไดอะแกรมลงบนผืนผนังที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ให้ผนังด้านในเป็นเสมือนผืนผ้าที่ถูกถักทอเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ผนังด้านนอกให้เป็นตัวแทนของเส้นกริดและไดอะแกรม เหมือนการกลับภาพสุดท้ายของสถาปัตยกรรมที่เดิมมักจะแสดงออกสู่ภายนอกเข้าสู่พื้นที่ภายใน ให้ภาพภายในที่เสร็จแล้วสะท้อนวิธีการเกิดขึ้นของมันที่ภายนอก เหล็กสีน้ำเงินที่ถูกขีดพาดผ่านผืนผนัง จึงเสมือนเป็นเครื่องหมายบอกการรอคอยการถักทอของหมุดเข็มและเส้นด้ายบนแผ่นผ้าผ่านผนังของสถาปัตยกรรม ประกอบกับท่อเหล็กสีน้ำเงินที่วิ่งทะลุผ่านทั้งสองฟากฝั่งของผนัง ก็ได้สะท้อนลวดลายของภาพทอที่แล้วเสร็จให้ไปปรากฏอยู่ทั่วทั้งงานอินทีเรีย ไม่ว่าจะเป็นบนเคาน์เตอร์ หรือบนผืนผนังเอง
“พอเรามีผนังและไดอะแกรมนี้เป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมกันแล้ว ต่อไปเราจะคิดง่ายขึ้น แปลว่า มันจะกลายเป็นเครื่องมือของเรา เป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างฉลาด หมายความว่าพอเรามีวิธีการนี้แล้ว ข้างในเราก็ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ เรามีคอนเซ็ปต์ของลายจุดที่จะไปปรากฏข้างใน แปลว่าถ้าจะแค่มีลายจุดไปโผล่ในที่ใดสักที่หนึ่งในอินทีเรีย ก็เพียงพอแล้วเพื่อให้มันมีความเชื่อมต่อกัน ตอนนี้มันก็จะตอบโจทย์ทั้งหมด ว่าข้างนอก มันเข้ามาสู่ข้างใน ได้อย่างไร”
นอกเหนือจากเส้นสายและท่อเหล็กทาสีน้ำเงินตามเอกลักษณ์ของแบรนด์ร้านแล้ว ในผนังด้านเดียวกัน สถาปนิกยังออกแบบให้มีช่องกระจกที่เผยให้เห็นการใช้งานภายในเพียงเล็กน้อยที่ส่วนด้านล่างของผนังเรียกความน่าสนใจ ผู้คนจากภายนอกอาจเห็นว่าภายในมีผู้คนกำลังใช้งานพื้นที่ภายในอยู่โดยการลอบสังเกตขาของผู้อื่นที่เดินขวักไขว่ ในขณะเดียวกัน พื้นที่เบื้องหลังแผ่นกระจก เจ้าของร้านก็สามารถใช้พื้นที่เลือกวางรองเท้าซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าของตัวเองได้ด้วย
ภาพผนังภายใน แสดงแนวคิดของการนำ ‘Polka Dot’ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดแบบวินเทจมาใช้กับร้าน นอกจากนั้นยังเป็นภาพเสมือนของลายผืนผ้าที่ทอเสร็จแล้ว จากไดอะแกรมที่สะท้อนอยู่ด้านนอก ในช่องของ ‘Polka Dot’ ทั้งหมดที่ทะลุถึงกัน เจ้าของร้านยังสามารถใช้ประโยชน์ในการแขวนเสื้อโชว์ผลงานได้ในขณะเดียวกัน
การตกแต่งภายในใช้โทนสีเพียงไม่กี่สีควบคุมงานออกแบบ ประกอบกับลาย ‘Polka Dot’ ที่ปรากฏอยู่บนพื้นที่ต่างๆ เพื่อปล่อยให้แนวคิดจากเครื่องมือของไดอะแกรมได้แสดงภาษาของตัวมันเองได้เด่นชัด อย่างไรก็ตาม อิฐ และ ไม้ ที่ถูกใช้ในการตกแต่ง สถาปนิกก็เลือกใช้วัสดุทั่วไปที่มีอยู่ในท้องตลาด เช่นการเลือกหาอิฐมอญในขนาดทั่วไป เพียงแต่นำมาตัด ให้ได้ขนาดตามต้องการก่อนที่จะก่อเป็นผนัง และวัสดุไม้ที่ก็เลือกใช้สีของไม้สักทอง ที่มักถูกมองข้ามเพราะความติดภาพว่าเป็นวัสดุที่เชย และ ‘ไทย’ เกินกว่าที่จะนำมาใช้ตกแต่งร้านที่ดูหรูแบบสากล สถาปนิกหยิบเอาจุด ‘แปลกๆ’ เหล่านี้เองมาสร้างความน่าสนใจให้กับงานออกแบบของพวกเขา
ภาพประกอบ Isometric แสดงการก่อรูปขององค์ประกอบต่างๆ ในงานออกแบบ
ภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างภายนอกและภายในของผนัง ที่มีแนวคิดหลักเรื่องไดอะแกรมของ ‘Polka Dot’ เป็นเครื่องมือเชื่อมโยง
ไดอะแกรมของ Façade ที่สถาปนิกหยิบยืมภาษาและวิธีการมาจากไดอะแกรมของงานทอผ้าโบราณ
เมื่อได้ทั้งคอนเซ็ปต์และวิธีการแล้ว ภาพสุดท้ายของงานออกแบบที่คงไม่มีใครคาดเดาไว้ตั้งแต่ต้นจึงสำเร็จออกมาได้อย่างน่าสนใจยิ่ง และนัยของมันก็ยิ่งเหนือความคาดหมาย เพราะเมื่อสถาปัตยกรรมเริ่มต้นทำงานกับบริบท ภาพของร้านตัดสูทที่ทั้งเนี้ยบ ทั้งกวน ก็สะกิดความสนใจให้ทุกสายตามุ่งเข้าไปค้นหาคำตอบในตัวมันมากยิ่งกว่าเดิม
“ในความเป็นร้านขายของ ในทีแรกเจ้าของก็บอกว่าอยากได้เป็นกระจกหมดเลย แต่ถ้าสมมุติ เราทำให้มันเป็นอะไรที่ดูเซ็กซี่นิดหนึ่งล่ะ คือสูทมันดูเซ็กซี่นะ คนที่ใส่มันต้องเป็นผู้ชายที่มีความเซ็กซี่ เราคิดว่าให้มันเห็นวับๆ แวมๆ ดีกว่า คือให้มันทึบไปเลย ไม่ต้องมองเห็นข้างใน ถ้าจะมองก็มองแค่นี้พอแล้ว ถ้าอยากจะเห็นก็เดินมาดูก็ได้ เราว่ามันน่าสนใจกว่าการเปิดให้เห็นตั้งแต่แรก
คือมันจะดูคอนทราสนิดหนึ่ง แต่มันจะรู้สึก ตื่นเต้น เวลาที่เราเห็นมันตอนที่มันเสร็จแล้ว เพราะบริบทมันดีมาก ดีอยู่แล้ว บรรยากาศรอบๆ มันเมืองไทยมาก ไอ้พวกรั้วกันขโมยปีน หรือว่าอิฐบล็อก ช่องลม เนี่ย คือมันคนไทยมาก พอมันคอนทราสกันแต่มันอยู่ด้วยกันได้ มันจะรู้สึกแปลก แปลกดี”
ก็อาจคล้ายกับบุคลิกของสายลับในภาพยนตร์เรื่องต้นแบบนี่เองนั่นล่ะ ทั้งเท่ กวน และหลุดจากขนบ เหมือนงานออกแบบที่ดูคล้ายจะสวยเนี้ยบ แต่ก็มีบางอย่างที่ดูหลุดออกมาจากมัน มันคือความสวยงามแบบ ‘ขมๆ’ สถาปนิกนิยามงานออกแบบของพวกเขาไว้เช่นนั้น
“เรายก ‘Polka Dot’ ขึ้นมา เพราะ ‘Polka Dot’ มันคือลายผ้าที่มีมานานมากแล้ว มันคือวินเทจในแบบหนึ่งเหมือนกัน ทีนี้ ลาย ‘Polka Dot’ ที่มันเกิดขึ้น มันคือภาพสุดท้ายที่เรารับรู้ด้วยการมองเห็น แต่สิ่งที่เรามองไม่เห็นล่ะ มันก็คือไดอะแกรมเหล่านี้เองนั่นล่ะ แต่ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นมาเป็นแพทเทิร์นบนผนัง เราก็คิดกันว่า วิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือ การเอาลาย ‘Polka Dot’ ออกไปไว้ข้างนอก เอาไดอะแกรมเข้าไปไว้ข้างใน มันก็สื่อสารอย่างเป็นจริง ว่าข้างนอกมันคือลายจุด ข้างในมันคือไดอะแกรม”