KA HOUSE
ฉาบทับชีวิตด้วยธรรมชาติ
Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: Ketsiree Wongwan
Architect: IDIN Architects
แรกที่ได้เห็นฉากหน้าของอาคารรูปทรงทันสมัย ผ่านฝีมือการเล่าเรื่องสถาปัตยกรรมที่ยอดเยี่ยมของ IDIN Architects ภายใต้อาณาบริเวณของธรรมชาติที่แวดล้อม ยิ่งกระตุ้นความสงสัยใคร่รู้ของเราให้ต้องค้นหาเรื่องราวของบ้านตากอากาศหลังใหม่ที่โอบล้อมไปด้วยผืนป่าแห่งนี้
คงไม่มีใครปฏิเสธการได้นอนหลับและตื่นมาท่ามกลางแมกไม้และธรรมชาติ เช่นเดียวกับเจ้าของบ้านพักตากอากาศทั้ง 2 ท่าน คุณวราภรณ์ และ คุณกฤษณรัตน์ บูรณะสัมฤทธิ์ ที่ชื่นชอบการใช้ชีวิตในท่ามกลางสวนโล่งกว้างและอากาศบริสุทธิ์ ด้วยความต้องการที่จะมีพื้นที่พักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติกับครอบครัว บ้านพักตากอากาศ 2 ชั้น บนเนื้อที่ 240 ตารางเมตร จึงถือกำเนิดขึ้น ณ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
ตลอดแนวรั้วคอนกรีตที่พาดผ่าน เราสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นที่โอบล้อมบ้านรูปทรงสี่เหลี่ยมที่แสดงตัวอยู่เบื้องหลัง บ้านกล่องไม้สมัยใหม่วางตัวยาวไล่ระดับไปกับแนวป่าที่ไม่ว่าใครก็คงต้องสะดุดตาหากได้เดินทางผ่านมาในละแวกนี้ ด้วยความที่พื้นที่ดินมีลักษณะเป็นเนินหลังเต่า กล่องของอาคารหลักจึงถูกยกลอยขึ้นเว้นที่ว่างโล่งใต้อาคารกดลงไปครึ่งชั้นเป็นส่วนของที่จอดรถ ขณะเดียวกัน ช่องว่างในระดับสายตาใต้อาคารก็ถูกออกแบบให้สามารถมองทะลุไปเห็นทัศนียภาพของแนวป่าที่อยู่ไกลลิบ ชวนให้จินตนาการถึงต้นไม้และทะเลสาบที่ทอดตัวพ้นไปจากเนินเขาเบื้องหลัง เชื้อเชิญเจ้าของบ้านและแขกเหรื่อให้ก้าวเท้าเข้าไปสัมผัสกับชีวิตในอ้อมกอดของธรรมชาติ
โครงสร้างที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบ้านและรั้วสอดรับไปกับทางเดินที่ค่อยๆ พาเราไต่ระดับขึ้นไปสู่ส่วนทางเข้าหลักของบ้าน สถาปนิกค่อยๆ เผยให้เห็นบรรยากาศและพื้นที่การใช้งานที่ถูกปิดล้อมอยู่ภายใน ส่วนสำคัญของบ้านถูกเชื่อมต่อด้วยลานบ้านและสระว่ายน้ำอันเป็นพื้นที่หลักที่สมาชิกของครอบครัวสามารถใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันได้ตลอดทั้งวัน จึงอาจกล่าวได้ว่า ด้านหน้าบ้านที่แท้จริงของบ้านหลังนี้รอคอยต้อนรับสมาชิกอยู่เบื้องหลัง ด้วยทัศนียภาพที่โอบล้อมของทะเลสาบและลานหญ้าโล่งกว้างที่ทอดตัวอย่างสงบท่ามกลางหุบเขาและป่าไม้ ในขณะที่ฟากฝั่งที่มองเข้ามาจากแนวรั้ว เป็นเสมือนด้านหลังบ้านที่ใช้กั้นพื้นที่เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับสมาชิกในครอบครัว เผยให้เห็นเฉพาะผิวอาคารและแนวรั้วที่ทอดยาวนำสายตาสู่ทางเข้าจากภายนอก
พื้นที่การใช้งานภายในบ้านถูกแยกออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ พื้นที่นั่งเล่น รับประทานอาหาร ที่เชื่อมต่อไปยังลานนอกบ้าน และส่วนที่เป็นพื้นที่ส่วนตัว คือ ห้องนอนต่างๆ ที่ถูกยกระดับขึ้นไปเป็นอีกชั้น พื้นที่ที่ไม่ได้ถูกแยกจากกันอย่างสิ้นเชิงนี้ เกาะเกี่ยวกันอยู่อย่างหลวมๆ ด้วยรูปแบบคล้ายชั้นลอย สร้างความรู้สึกเสมือนว่าบรรยากาศภายในบ้านกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมด สมาชิกในครอบครัวยังสามารถสื่อสารและมองเห็นกันได้ไม่ว่าจะอยู่ภายในบ้าน ชั้นลอย หรือลานกว้างนอกบ้าน
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับบ้าน KA House นั่นก็คือ กรอบระแนงไม้สามเหลี่ยม ที่ถูกออกแบบให้กรุรอบเป็นผิวหน้าให้กับอาคาร สถาปนิกใช้ประโยชน์จากระแนงไม้เป็นที่กรองแสง ลดความร้อนก่อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้าน ซ่อนเครื่องปรับอากาศ รวมถึงบังสายตาจากคนภายนอก แสงและเงาที่ลอดผ่านระแนงไม้สามเหลี่ยม สร้างประสบการณ์ใหม่ด้านการรับรู้ช่วงเวลาให้กับผู้อยู่อาศัย ระแนงไม้อนุญาตให้แสงที่ผ่านเข้ามาได้เพียงบางส่วน ฉาบทับบรรยากาศของบริบทภายนอกในช่วงเวลาที่ต่างกันลงบนฉากต่างๆของการอยู่อาศัย กระซิบห้วงเวลาผ่านความเข้มของแสงและเงาที่ตกกระทบตามผนังและพื้น ตั้งแต่ช่วงเช้า บ้านจะเปิดต้อนรับแสงแรกของวันผ่านส่วนต่างๆ ของห้องนอน ปลุกเจ้าของห้องแต่ละห้องให้ตื่นขึ้นรับเช้าวันใหม่ที่กำลังมาถึง จนกระทั่งถึงช่วงบ่ายที่แสงและเงาจะพาดผ่านไปยังห้องโถงและส่วนพักผ่อนต่างๆ เชื่อมต่อพื้นที่ในบ้านด้วยบรรยากาศพิเศษ แสงและเงาที่ห้องต่างๆ ในบ้านแชร์ประสบการณ์ร่วมกันนี้ ได้หลอมรวมให้มุมแต่ละมุมในบ้านรู้สึกไม่แยกขาดจากกัน ในขณะที่ยังคงสามารถรักษาความเป็นส่วนตัวในห้องสำคัญอย่างห้องนอน ห้องครัว หรือห้องน้ำ ไว้ได้โดยไม่รู้สึกถูกรบกวน ต่อเมื่อได้ก้าวเท้าออกมาจากพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง ก็จะถูกต้อนรับด้วยแสงแดดอ่อนๆ และบรรยากาศของความอบอุ่น ที่อบอวลอยู่ในสถาปัตยกรรม
เมื่อมองเข้าไปจากรั้วจะเห็นอาคารระแนงไม้ลอยอยู่เหนือรั้วคอนกรีตเป็นฉากต้อนรับ โดยมีเส้นของโครงเหล็กวิ่งนำสายตาลอยอยู่เหนืออากาศตามแนวยาวของบ้าน สร้างความน่าสนใจให้กับภาพรวมของอาคาร นอกจากนั้น เหล็กเส้นเดียวกันนี้ยังวิ่งไปรับโครงสร้างหลังคาที่ยื่นยาวออกไปเหนือลานกิจกรรมที่ครอบคลุมพื้นที่บริเวณหลังบ้านอีกด้วย
ระแนงไม้ที่สามารถเปิดออกได้ ช่วยสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นภายในบ้าน และยังช่วยบังแดด บังสายตา และสิ่งรบกวนบน
ผิวหน้าของสถาปัตยกรรม
สระว่ายน้ำและลานบ้านที่เป็นส่วนเชื่อมระหว่างพื้นที่นั่งเล่นในตัวบ้าน และลานหญ้ากว้างขวางที่ทอดยาวไปสู่ทะเลสาบเบื้องหลัง พื้นที่ที่แทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมด ทำให้สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ วางตัวอยู่บนพื้นที่ได้อย่างแยบยล
บันไดเล็กๆ ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับโครงสร้างระหว่างตัวบ้านและรั้ว ทำให้พื้นที่ดูกลมกลืน สร้างลำดับของการเข้าถึงพื้นที่ในบ้านได้อย่างมีมิติ
เมื่อมองออกไปจากภายในบ้านก็จะพบกับทัศนียภาพของสวนเขียวและสระว่ายน้ำทอดตัวอยู่อย่างสงบ ภายใต้บรรยากาศที่เป็นส่วนตัวของพื้นที่
บรรยากาศทั้งหมดในตัวบ้านถูกหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พื้นที่นั่งเล่น รับประทานอาหาร ต่อเนื่องไปกับพื้นที่ลานบ้านภายนอก การจัดฟังก์ชันแบบ Free Plan ทำให้พื้นที่ไม่รู้สึกอึดอัด เปิดโอกาสให้เจ้าของบ้านเลือกใช้สอยพื้นที่ได้อย่างอิสระ
ชั้นลอย เป็นเครื่องมือหลักของบ้านที่เป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างส่วนห้องนั่งเล่นที่ชั้น 1 และ ส่วนห้องนอนที่ชั้น 2 ระดับพื้นที่ยกขึ้นมาไม่สูงมากนักทำให้พื้นที่ไม่รู้สึกว่าถูกตัดขาดออกจากกัน
บรรยากาศของแสงแดดเมื่อฉาบลงบนห้องนอน นอกจากจะมอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับผู้อยู่อาศัยแล้ว มุมของแสงและเงาที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละห้อง ยังสะท้อนเอกลักษณ์ของผู้อยู่อาศัยออกมาได้อย่างน่าสนใจ
ผนังปูนเรียบโล่งของบ้านเป็นเสมือนผ้าใบขาวสะอ้าน แสงและเงาที่พาดผ่านจึงทำหน้าที่เป็นเสมือนศิลปินที่บรรเลงงานศิลปะจากบริบท ด้วยมิติด้านเวลา ผ้าใบของบ้านผืนนี้จึงถูกแต่งแต้มด้วยงานศิลปะที่ไม่ซ้ำกันเลยแม้แต่วินาทีเดียว