K22 HOUSE / JUNSEKINO ARCHITECT AND DESIGN
Text: กรกฎ หลอดคำ
Photo: Spaceshift Studio
Architect: JUNSEKINO ARCHITECT AND DESIGN CO.,LTD
Interior Architect: กุลธวัช อนันต์รัตนสุข
Structural Engineer: นเรศ คำเปลว
ในเนื้อที่ขนาดงานเศษของพื้นที่ดินในตรอกซอกซอยแห่งย่านห้วยขวาง ครอบครัวอบอุ่นครอบครัวหนึ่งเพิ่งจะได้ย้ายเข้ามาสู่บ้านหลังใหม่ สมาชิกปัจจุบันที่ประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกๆ อีก 3 คน กำลังรอการขยับขยายของสมาชิกครอบครัวที่อาจเพิ่มขึ้นด้วยในอนาคต ด้วยความหวังที่ว่าบ้านหลังใหม่หลังนี้ของพวกเขาจะเป็นสถานที่ที่สุขสบายมากพอสำหรับสมาชิกทั้งหมด ที่ต่างพร้อมใจที่จะอยู่ในบ้านหลัง (ไม่) ใหญ่ (มาก) หลังนี้ร่วมกัน
สถาปนิกจูน เซคิโน แห่งออฟฟิศออกแบบสถาปัตยกรรม JUNSEKINO ARCHITECT AND DESIGN เป็นผู้วาดเส้นสายและขีดกรอบให้กับบ้านหลังใหม่ ในความท้าทายของโจทย์ที่ไหลบ่าเข้ามาพร้อมๆ กัน ทั้งความต้องการที่หลากหลายของเจ้าของบ้านต่างวัย ลักษณะพื้นที่ดินที่ถูกจำกัดทั้งขนาดและรูปทรง รวมไปถึงงบประมาณที่จำเป็นต้องควบคุมให้ได้อย่างรัดกุม ความซับซ้อนภายใต้ความเรียบง่าย จึงเป็นที่มาของบ้านหลังสีขาวขนาด 2 ชั้นที่แถมมาด้วยห้องดูเพล็กซ์เหนือชั้นสองอีกชั้นครึ่ง ในพื้นที่ใช้สอยรวมราว 500 ตารางเมตร

ทางเข้าสำหรับคนเดินจากฝั่งมุมเฉียงของบ้าน จะพบกับที่จอดรถก่อนพบกับส่วนต้อนรับที่จะแจกจ่ายไปยังส่วนใช้งานอื่นๆ ด้วยระเบียงทางเดินภายใน
ความตั้งใจเดียวกันของลูกทั้ง 3 คนแห่งครอบครัว ‘อนันต์รัตนสุข’ คือต้องการที่จะได้อยู่อาศัยร่วมกันกับพ่อแม่ในบ้านหลังเดียวกันเหมือนที่เคยอยู่ด้วยกันมาแต่เดิม ในย่านที่จะสามารถเชื่อมต่อไปยังสถานที่สำคัญในเมืองได้อย่างสะดวกมากพอภายใต้ข้อจำกัดเรื่องของราคาค่าที่อยู่อาศัยในเมืองหลวงที่ไม่เคยลดต่ำลง เมื่อตัดสินใจซื้อที่ดินในย่านห้วยขวางด้วยตัวเลือกทั้งในเรื่องความสะดวกในการเดินทางและความคุ้นเคยในละแวกเพราะอยู่ไม่ไกลจากที่ตั้งของบ้านหลังเก่า กระบวนการออกแบบร่วมกับสถาปนิกจึงใช้เวลาร่วม 1 ปีกับ 4 แบบร่าง ก่อนที่จะจบลงด้วยบ้านสีขาวหน้าตาทันสมัยที่บรรจุความต้องการที่หลากหลายของสมาชิกต่างวัยไว้อย่างครบถ้วน
“เริ่มมาจากครอบครัวเขาเคยอยู่ทาวน์โฮมที่เล็กมากๆ มาก่อน จอดรถได้คันเดียว อยู่กัน 5 คน แน่น มากๆ และเขาค่อนข้างมีงบจำกัด เขามีภาพว่าอยากได้บ้านที่มัน ‘Unfinished’ ไม่ใช่ภาพที่เสร็จแล้วเหมือนห้องตัวอย่างในคอนโดฯ คือสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทิ้งๆ ไว้ ถ้าไม่ใส่อะไรลงไปมันก็อยู่ได้ เช่นทำบ้านเสร็จยังไม่เงินซื้อเฟอร์นิเจอร์ เอาฟูกปู มันก็ยังอยู่ได้”

โถงห้องนั่งเล่นและรับประทานอาหาร เป็นโถงกว้างที่มีการใช้งานอิสระ มีเพียงเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่จัดเรียงอยู่หน้าแผงทีวีอย่างหลวมๆ เพื่อมอบพื้นที่ที่โล่งกว้างให้กับบ้านสำหรับให้สมาชิกทุกคนในบ้านสามารถแชร์พื้นที่รวมกันได้อย่างกว้างขวาง ในส่วนนี้จะยังเชื่อมไปกับโซฟานั่งเล่นบนพื้นยกระดับที่มองเห็นสวนภายนอก ให้พ่อและแม่ ที่จะอยู่อาศัยในบ้านตลอดทั้งวันมีพื้นที่ใช้สอยที่อยู่อย่างสะดวกสบายอีกด้วย
ห้องนอน 4 ห้องใหญ่, ห้องเวิร์คช็อปของคุณพ่อ, ห้องสตูดิโอของน้องชาย, ห้องครัวที่ต้องสามารถทำอาหารและเบเกอร์รีได้อย่างครบสูตรพร้อม Island ของพี่สาว, พื้นที่สีเขียวอยู่สบายที่ต้องกระจายอยู่ล้อมรอบบ้าน, พื้นที่นั่งเล่นที่กว้างขวางพอสำหรับพ่อและแม่ที่จะใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในบ้านเกือบตลอด 24 ชั่วโมง แถมมาด้วยที่จอดรถ 3 คันที่ต้องพอเหมาะลงตัวในข้อจำกัดของทางเข้าบ้านที่แคบเกินไปอย่างกำหนดไม่ได้ เป็นความต้องการที่อัดแน่นอยู่ภายในที่ดินรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน นอกเหนือจากการต้องจัดการสัดส่วนของความต้องการต่างๆ ให้เหมาะเจาะลงตัวภายในเนื้อที่และงบประมาณที่จำกัดแล้ว พื้นที่ที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะสามารถใช้เวลาร่วมกันได้เป็นประจำในแต่ละวันก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายข้อใหญ่ ที่สถาปนิกเลือกที่จะหยิบมาใช้เป็นจุดเด่นของการอยู่อาศัยภายในบ้านหลังนี้
“ข้างล่างเราให้มันเป็น ‘Common Area’ ที่ทุกคนสามารถมาแชร์ได้ ลิงค์กันได้ สิ่งที่เราอยากให้มันเกิดขึ้นคือ ไม่อยากให้มันเหมือนในคอนโดมิเนียม ในคอนโดฯ มันจะมีข้อเสียอย่างหนึ่งคือมัน ‘Door to Door’ มากๆ คือต่างคนต่างอยู่ ข้างล่างเราเลยต้องทำพื้นที่ให้ทุกคนได้ใช้เวลาร่วมกันสักชั่วโมงหนึ่ง ก่อนที่จะกระจายกันขึ้นไป”
นับแต่ก้าวบันไดขึ้นไปสู่ชั้น 2 พื้นที่ของห้องนอน 4 ห้องก็ถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งด้วยช่องทางเดินที่สร้างขอบเขตให้แก่กันและกัน ในพื้นที่ที่ถูกออกแบบเพื่อให้สามารถรองรับสมาชิกในอนาคตให้อยู่อาศัยร่วมกันได้ไม่น้อยกว่า 10 ชีวิต

บนใดที่เชื่อมระหว่างพื้นที่ชั้น 1 และชั้น 2 เมื่อขึ้นมาสู่ชั้น 2 ก็จะพบกับระเบียงทางเดินที่เชื่อมห้องนอนทั้งหมดเอาไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังทะลุไปยังพื้นที่ระเบียงดาดฟ้าภายนอกเล็กๆ ที่หน้าบ้าน รับแสงธรรมชาติให้โถงทางเดินสว่างได้ตลอดเวลากลางวัน
“เราดีไซน์ชั้น 2 ก่อน แล้วจึงเอามาตั้งอยู่บนฐานชั้น 1 ที่เป็น ‘Common Area’ ขึ้นไปชั้น 2 มันจะมีดูเพล็กซ์ที่เหมือนจะมีชั้นที่ 3 สองห้องของพี่สาวคนโตและพี่ชายคนกลางอยู่ในฝั่งหนึ่ง ส่วนอีกฝั่งหนึ่งจะเป็นของคุณพ่อคุณแม่กับน้องชายคนเล็ก ซึ่งราคาค่าก่อสร้างที่ถูกกำหนดให้ไม่ถึงหมื่นบาทต่อตารางเมตรเนี่ย เราต้องทำทั้งหมดให้ได้ ส่วนเฟอร์นิเจอร์และอินทีเรียก็ต้องยกเครดิตให้น้องชายของครอบครัว คือเขาก็มาช่วยดู”
“โปรเจ็กต์นี้จะเริ่มคิดจาก Section (รูปตัด) ก่อน ถ้าเขาเข้าไปอยู่มันต้องไม่เหมือนคอนโดฯ พอเขาได้มุดเข้าไปในปริมาตรที่มันสูง เออ มันเหมือนเป็นบ้านอีกหลังหนึ่ง ให้มันมีชั้นลอยนอนข้างบน ข้างล่างจะทำเป็นอะไรก็ได้” ด้วยเงื่อนไขของความสัมพันธ์ที่หลากหลาย การออกแบบที่ว่างด้วยมุมมองที่มากกว่าสองมิติ ได้นำมาซึ่งพื้นที่ที่จะสามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยได้มากกว่าการยึดติดอยู่กับแบบแปลนที่แบนราบ สถาปนิกเริ่มคิดงานจากมิติที่แตกต่าง เพื่อขยายกรอบของการสรรค์สร้างพื้นที่อยู่อาศัยออกไปให้กว้างขวางไม่จำกัด

ในห้องนอนแบบดูเพล็กซ์ของพี่สาวคนโต ตกแต่งในสไตล์เดียวกับบ้าน การใช้สอยภายในถูกออกแบบตามความต้องการส่วนตัวทำให้พื้นที่ภายในห้องโถงสูงจากพื้นถึงฝ้าขนาด 6 เมตรนี้ สามารถใช้อยู่อาศัยได้เหมือนเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งที่มีความเป็นส่วนตัวสำหรับครอบครัวที่ขยายขึ้นในอนาคต
ในผังพื้นของห้องขนาดเดียวกัน หากยืดปริมาตรของห้องขึ้นในทางตั้ง ภายในนั้นก็อาจกลายเป็นบ้านหลังย่อมที่จะสามารถรองรับการใช้งานของครอบครัวเล็กๆ ได้อย่างไม่ขาดไม่เกิน ดังเช่นที่สถาปนิกได้พิสูจน์ไว้ “เราเหมือนได้ทำบ้านให้แต่ละคน ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน อย่าโดนหลอกด้วยมิติของแปลน เพราะจริงๆ ปริมาตรมันเยอะมาก ส่วนใหญ่เราซื้อที่ดินเราจะมองแต่มิติของแปลนแต่จริงๆ ในมิติของ Section (รูปตัด) เราสามารถใช้งานมันได้ทุกตารางเมตร”
“เหมือนเราทำบ้าน 3 หลังพร้อมกันในเวลาเดียวกัน แล้วจับมายำรวมกันให้อยู่ได้ภายในข้างในนี้ เหมือนทำบ้าน 2 ชั้น ให้แต่ละคน ที่วางอยู่บนฐานเดียวกัน ที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้” ตามคำกล่าว เมื่อมองอย่างเป็นภาพรวม ในที่นี้ พื้นที่ส่วนตัวของปัจเจก และพื้นส่วนรวมที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้ชีวิตร่วมกัน จึงเสมือนยังคาบเกี่ยวกันอยู่อย่างแยกไม่ขาด ก็อาจคล้ายกับวิถีชีวิตของเราคนไทย ที่แม้แต่ละคนจะมีวิถีที่ชีวิตที่แตกต่างเป็นของตัวเอง แต่ด้วยความเป็นครอบครัวรวม ความสัมพันธ์ขนาดใหญ่จึงยังคงเหนียวแน่น เป็นความสัมพันธ์ที่ฝังราก เป็นความคุ้นเคย และเป็นวิถีชีวิต
“ไม่รู้ว่ามันไทยหรือเปล่า แต่โปรเจ็คนี้ มันคือฟังก์ชันของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่ที่ดินมันแพงมหาศาล ทุกคนจึงอยากที่จะมาอยู่ด้วยกัน ในขณะที่แต่ละคนก็ต้องการความเป็นส่วนตัว แทนที่จะไปซื้อคอนโดฯ สามสี่ห้อง มูลค่ามันอาจจะทำบ้านหลังนี้ได้อีกสามสี่หลังเลยก็ได้
“มันคือการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัว ผมชอบที่ตรงนี้ ความสำเร็จของโปรเจ็กต์นี้สำหรับผมมันไม่ใช่สถาปัตยกรรม แต่มันคือเงื่อนไขต่างๆ มากมาย ที่ลงตัวกับการที่เขาได้อยู่ด้วยกันทั้ง 5 คน และอาจเพราะยิ่งเป็นครอบครัว ยิ่งคับที่ จึงยิ่งน่าอยู่”
– จูน เซคิโน –

ห้องนอน Master Bedroom ของพ่อแม่ ภายในตกแต่งเรียบง่ายตามต้องการพื้นฐานให้บ้านดูสบายตาในทุกส่วน ในขนาดพื้นที่ใช้สอยที่พอเหมาะพอดีสำหรับทั้งสองท่านที่นิยมที่จะใช้ชีวิตอยู่ภายในโถงนั่งเล่นของบ้านมากกว่าในห้องนอนในตลอดช่วงวัน

ห้องนอนดูเพล็กซ์ของพี่ชายคนกลาง แตกต่างจากห้องอื่นด้วยการตกแต่งในโทนสีเทาดำตามความชอบ ในพื้นที่ที่ส่วนตัวที่เแสดงตัวตนของเขาเอง