BANGNA HOUSE / ARCHIMONTAGE DESIGN FIELDS SOPHISTICATED
Text: นวภัทร ดัสดุลย์
Photo: Beer Singnoi
Architect & Interior Designer: Archimontage Design Fields Sophisticated
เชิงชาย เรียวเรืองแสงกุล สถาปนิกจาก Archimontage Design Fields Sophisticated ให้คำจำกัดความกับบ้านสีขาวที่เขาเป็นผู้ออกแบบหลังนี้ไว้ว่า “บ้านทรงแท่งเนยแข็งโดนแทะ” ความคลับคล้ายคลับคากับคำจำกัดความที่ว่านั้น ค่อยๆ เด่นชัดขึ้นทีละน้อยเมื่อเราเพ่งเล็งไปที่รายละเอียดต่างๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในบ้านที่ดูมีความเป็นเอกเทศต่างไปจากบริบทของชุมชน
สถาปัตยกรรมที่ล้อไปกับที่ดินที่มีลักษณะแคบและลึกขนาด 10×40 เมตร โดยมีส่วนด้านกว้างแต่แคบอยู่ติดกับถนนทางเข้าด้านหน้าที่มีความแคบพอกัน ในขณะเดียวกันด้านยาวกลับมีความลึกเข้าไปด้านในจรดขอบรั้วโรงงานและคลังสินค้าที่ตั้งอยู่ด้านหลัง สถาปนิกบอกว่าในสัดส่วนที่ตั้งที่ไม่ได้สัดส่วนนี้บวกกับสภาพบริเวณโดยรอบกลายเป็นโจทย์ยากที่สร้างความง่ายดายกับการแก้ปัญหาเรื่องจัดการพื้นที่ใช้สอยราว 450 ตารางเมตร
ด้วยความที่ไม่มีทางเลือกในการจัดเรียง ห้องทุกห้องจึงโดนบังคับอยู่ในตำแหน่งหัวท้าย แบ่งเป็นโซนสองโซน โดยด้านหน้าประกอบไปด้วยห้องนอนคุณแม่ที่เริ่มมีอายุมากอยู่ชั้นล่างและพี่สาวอยู่ชั้นบน ส่วนถัดเข้าไปด้านหลัง ชั้นบนคือห้องนอนของเจ้าของบ้านและครอบครัว ทิ้งให้ด้านล่างที่เหลือในอาคารทำหน้าที่เป็นพื้นที่ส่วนกลาง ประกอบไปด้วย ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร และห้องน้ำ โดยกดห้องนั่งเล่นให้ต่ำลงไปอีกจากระดับปกติของชั้นล่างของทั้งสองฟาก เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวและความเป็นเจ้าของให้ชัดเจนขึ้น
ส่วนของห้องนั่งเล่นซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่สามัญของทุกๆ สมาชิก ยังมีคอร์ทอยู่ตรงกลางระหว่างโซนทั้งสอง เพื่อลดการประจันหน้าระหว่างสมาชิก (ดังคำกล่าวของสถาปนิก) กอปรไปกับการสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อหวังว่าจะเกิดความนุ่มนวลขึ้นบ้างกับบ้านทรงแท่งเนยแข็งโดนแทะแห่งนี้
“ที่กล่าวไว้เช่นนี้ก็เพราะส่วนที่โดนคว้านออกคือส่วนที่ต้องหายไป เนื่องจากข้อบังคับเรื่องแนวระยะร่นตามกฎหมายควบคุมอาคาร ดังนั้นเราจะเห็นผนังบางส่วนที่สามารถเจาะช่องแสงหรือช่องเปิดได้ก็จะโดนกระทำอย่างเอิกเกริก โดยไม่แยแสทรวดทรงสุดท้ายของมันเมื่อเสร็จแล้วว่าจะแปลกปลอมจากเพื่อนบ้านสักแค่ไหน” เชิงชายขยายความบ้านทรงแท่งเนยแข็งโดนแทะทิ้งทายในรายละเอียด
ภาพสะท้อนคำจำกัดความที่ว่า “บ้านทรงแท่งเนยแข็งโดนแทะ” ที่ชัดเจนที่สุด คือส่วนอาคารที่หายไปเสมือนแท่งเนยที่โดนคว้านออก กลายเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีทรวดทรงสุดท้ายมีความเป็นเอกเทศต่างไปจากบริบทชุมชน
สถาปนิกนำแผ่นไม้จากฝาบ้านเก่ามาปิดผิวอาคาร เปลี่ยนความตั้งใจแรกที่ว่าจะใช้เป็นไม้ใหม่โทนน้ำตาลทั่วๆ ไป โดยกล่าวว่า “ตอนนั้นเห็นกันว่าท่าจะน่ารักถ้ามีอะไรบางอย่างหลงเหลือจากความทรงจำเดิมไว้บ้าง เลยเป็นวัสดุตกแต่งชั่วคราวไปก่อน เบื่อตอนใหนค่อยเอาออก”
โถงบันไดและคอร์ทที่อยู่ตรงกลางระหว่างโซนทั้งสอง ทำหน้าที่เป็นจุดโยงของสมาชิกในบ้าน เชื่อมพื้นที่ส่วนกลางของบ้านที่ประกอบไปด้วย ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร และห้องนั่งเล่นเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ในบ้าน
จากบันไดทางขึ้นสู่ช่องทางเดินที่เชื่อมพื้นที่สองฟาก เน้นโทนสีขาวช่วยเพิ่มความรู้สึกโอ่โถง ในขณะเดียวกันเน้นการเปิดโล่งด้วยการติดตั้งบานหน้าต่างเฟรมกระจกอลูมิเนียมอบสีตลอดแนว โดยมีม่านที่สามารถรูดเปิดรับแสงหรือปิดรับแสงได้ตามความต้องการ
สถาปนิกติดตั้งกระจกเทมเปอร์ใสตลอดแนวอาคารบริเวณคอร์ท เพื่อทำหน้าที่เป็นหลังคากันสาดโดยที่ไม่ทำให้ลูกบ้านเกิดความรู้สึกเหมือนถูกปิดกั้นแต่อย่างใด
บริเวณกลางคอร์ดปลูกต้นน้ำเต้าเป็นไม้ต้นเอกของบ้าน เพื่อเติมความนุ่มนวลให้กับบ้านทรงแท่งเนยแข็งโดนแทะ
แสงไฟยามพลบค่ำเปลี่ยนบรรยากาศให้บ้านทรงแท่งเนยแข็งโดนแทะละมุนสายตายิ่งขึ้น