IT USED TO BE OLD

  

ปรับปรุงอาคารเก่าเป็นธุรกิจอย่างสร้างสรรค์
กับ วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์, ณัฐพัชร สุริยะกำพล และวาฬ จิรชัยสกุล

Text: นวภัทร ดัสดุลย์, พีรยา เชื้อสุนทรโสภณ, กรกฎ หลอดคำ
Photo: เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม 

แม้การปรับปรุงอาคารเก่าจะไม่ใช่สิ่งใหม่ในวงการสถาปัตยกรรมไทย แต่ทว่าสิ่งนี้กำลังเป็นที่พูดถึงไม่แพ้การสร้างงานสถาปัตยกรรมขึ้นมาใหม่ในกาลปัจจุบัน นอกจากการปรับปรุงบ้านเก่าหรือคอนโดมิเนียมเก่ามาเป็นที่อยู่อาศัยซึ่งได้รับความนิยมในวงกว้าง Daybeds ฉบับ It Used To Be Old ยังอยากจะพูดถึงโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง กับการเปลี่ยนบ้านหรืออาคารเก่ามาเป็นธุรกิจสร้างสรรค์ เช่น โฮสเทล คาเฟ่ และแกลเลอรี เป็นต้น

สองสถาปนิกกับอีกหนึ่งศิลปินที่เรามองเห็นว่าเป็นสามบุคคลที่เปลี่ยนบ้านเก่า-อาคารเก่ามาเป็นธุรกิจที่พวกเขาสนใจได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะ ประกอบด้วย คุณวรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ สถาปนิกและเจ้าของบูติกโฮเต็ล สามเสน ไฟว์ ลอดจ์ ผู้มีความฝันที่จะเปลี่ยนทั้งประเทศนี้ให้เป็นบูติคโฮเต็ล, คุณณัฐพัชร สุริยะกำพล สถาปนิกผู้ปลุกกระแสของกาแฟสถาน คาซ่า ลาแปง ให้ติดตลาดคาเฟ่สุดฮิปของเมืองไทยและมีการเติบโตขยายสาขาอย่างไม่หยุดยั้ง และคุณวาฬ จิรชัยสกุล ศิลปินผู้เปลี่ยนบ้านของตัวเองเป็นแกลเลอรีอย่างมีเสน่ห์

เฟี๊ยต
UNIQUE EXPERIENCE
ขายประสบการณ์จากอาคารเก่าคือมูลค่าของธุรกิจที่พัก  

“เราเป็นสถาปนิก เราอยู่ในย่านเก่า เราเห็นบ้านเก่าถูกรื้อทิ้งอย่างง่ายดายโดยเฉพาะบ้านไม้ เพราะเจ้าของเขาไม่รู้จักวิธีหาเงินจากมัน ถ้าเขารู้อีกสักหน่อยว่าของเก่ามันมีมูลค่าเพราะมันผ่านกาลเวลาที่เป็นสิ่งที่ซื้อไม่ได้ เวลาเราประเมินค่าอะไรสักอย่าง เราต้องถามว่าคุณค่าที่มันซื้อไม่ได้คืออะไร ในแง่ของการแข่งขันธุรกิจสิ่งที่ชาญฉลาดคือต้องลงทุนในสิ่งที่ไม่มีเงินซื้อได้”

วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์

ย้อนกลับไปเมื่อราวหกปีก่อน คุณวรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ ใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนห้าแสนบาททำการปรับปรุงโรงรถเก่าของบ้านเช่าแปรมาเป็นบูติกโฮเต็ลประหยัดพลังงานในชื่อ สามเสน ไฟว์ ลอดจ์ (Samsen 5 Lodge) โดยผนวกประสบการณ์จากการเป็นสถาปนิกผู้รักการเดินทาง แนวคิดในการออกแบบเพื่อความยั่งยืน และการใช้ต้นทุนที่ไม่ต้องเสียสตางค์ซึ่งเขาเรียกมันว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ เข้าด้วยกัน ซึ่งในปัจจุบันเป็นหนึ่งในตัวอย่างของโมเดลธุรกิจเปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติกโฮเต็ลที่ประสบความสำเร็จและสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเองในตลาดบูติกโฮเต็ลบ้านเรา สถาปนิกสีเขียวแห่ง Supergreen Studio เล่าประสบการณ์ของค่ำคืนหนึ่งที่เขายังจำได้ดีในการค้างแรมที่บูติกโฮเต็ลซึ่งแปรเปลี่ยนมาจากบ้านเจ้าหลังเก่าที่ถูกทิ้งร้างในเมืองจัยปูร์ หรือชัยปุระ นครสีชมพูแห่งอินเดีย ซึ่งความไม่สะดวกสบายของค่ำคืนนั้นได้กลายมาเป็นแนวคิดในการต่อยอดธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กกอปรกับคงไว้ซึ่งเสน่ห์ของอาคารเก่า โดยเขานิยามมันขึ้นมาว่า ‘บูติกโฮเต็ลต้องขายประสบการณ์’

Daybeds: ประสบการณ์จากการค้างแรมตามบูติกโฮเต็ลหรือโฮมสเตย์
Worapan Klampaiboon: ความที่บ้านผมทำโฮสเทลกับบ้านเช่า พฤติกรรมของผมกว่าจะนอนสักโรงแรมหนึ่งผมดูมากกว่า 20 โรงแรม สมัยนั้นไม่มีอินเตอร์เน็ตทำให้เราเดินดูเยอะเวลาไปเมืองๆ หนึ่ง ผมเคยนอนโรงแรมที่จัยปูร์ที่เปลี่ยนจากบ้านเก่าทรุดโทรมคล้ายถูกทิ้งร้าง ที่นอนฝุ่นเยอะ ไม่มีความสะดวกสบายเลยนะ ความสะอาดพื้นฐานก็ไม่มี แต่สิ่งที่ได้มันคือประสบการณ์ที่สุดยอดเลย ผมเองก็นอนโรงแรมเยอะ แต่ทุกครั้งที่ผมนึกถึงที่นอนในใจผมจะนึกถึงที่นอนแบบนี้ มันคือนิยามของการขายประสบการณ์ คนจะจำคืนที่มีประสบการณ์ ผมเลยมองว่าธุรกิจการทำที่พัก ถ้าเราเอาประสบการณ์นี้มาขายได้มันคือมูลค่า

Dbs: อะไรคือเสน่ห์ของอาคารเก่าในมุมมองของคุณ
WK: พอเราพูดถึงประสบการณ์ ประสบการณ์ตรงนี้จะเกิดขึ้นก็ตรงที่เราใช้อาคารเก่า นั่นคือจุดแข็งของอาคารเก่า ถ้าเราอินเวสอาคารเก่าที่ไม่มีคนใช้ ไม่เป็นที่ต้องการ อาคารพวกนี้จะถูกเช่าในราคาที่ถูก ไม่จำเป็นต้องอยู่กลางเมือง เพราะสิ่งที่มันขายคือประสบการณ์และความเงียบสงบ พอผมมาทำโรงแรมผมก็เอามุมมองตรงนี้มาทำ เราเป็นสถาปนิก เราอยู่ในย่านเก่า เราเห็นบ้านเก่าถูกรื้อทิ้งอย่างง่ายดายโดยเฉพาะบ้านไม้ เพราะเจ้าของเขาไม่รู้จักวิธีหาเงินจากมัน ถ้าเขารู้อีกสักหน่อยว่าของเก่ามันมีมูลค่าเพราะมันผ่านกาลเวลาที่เป็นสิ่งที่ซื้อไม่ได้ เวลาเราประเมินค่าอะไรสักอย่าง เราต้องถามว่าคุณค่าที่มันซื้อไม่ได้คืออะไร ในแง่ของการแข่งขันธุรกิจสิ่งที่ชาญฉลาดคือต้องลงทุนในสิ่งที่ไม่มีเงินซื้อได้

Dbs: ข้อจำกัดหรือปัจจัยเสี่ยงในการประกอบธุรกิจนี้
WK: ถ้าคนรู้การทำธุรกิจนี้เขาจะสามารถหารายได้จากสินทรัพย์ที่เขามีอยู่แล้ว ข้อแรก มันดีตรงไม่มีความเสี่ยงในการลงทุน ข้อสอง คือสิ่งที่สังคมได้ คือการอนุรักษ์ ไม่ได้พูดถึงโลกสวยงามนะ ผมพูดประเด็นเดียวคือเมื่อใดก็ตามที่คุณอนุรักษ์ มันเป็นผลประโยชน์กลับมาในระยะยาว มันดีตรงที่คุณไม่ต้องลงทุนเพิ่ม การรีโนเวท การอนุรักษ์ มันคือ Key Massage เรื่องการลงทุน วิธีคิดนี้ไม่ใช่แค่เรื่องตึกนะ เราสามารถเอาวิธีคิดนี้ไปใช้กับเรื่องคนก็ได้ คุณต้องไปค้นพบว่าคุณมีศักยภาพอยู่แล้วแต่ไม่ได้ใช้คืออะไร แล้วเอาออกมาใช้ เมื่อใดก็ตามที่คนหรือเมืองค้นพบสิ่งนี้ได้ มันก็จะพัฒนาไปเป็นเอกลักษณ์ ของอะไรที่มันมีเอกลักษณ์มันก็ขายได้ อาคารเก่าเหมือนรถเก่า คุณก็ต้องซ่อมให้เป็นรถเก่า แต่เมื่อใดคุณซ่อมให้มันเป็นรถใหม่ มันก็เป็นของแพง รถเก่ามันก็ต้องใช้ตามสภาพ แต่เวลาที่ขายคุณต้องสร้างมูลค่า ต้องสร้างคุณค่าจากการใช้ตามสภาพนั้น ผมเรียกว่า Original Experience ประสบการณ์แบบดั้งเดิม พยายามทำความเก่าให้เป็นจุดขาย ไม่ใช่ขายความใหม่ในความเก่า ไม่ใช่ขายความสะดวกสบายในความเก่าด้วยนะ สิ่งที่ลูกค้าจะต้องเข้าไปซื้อคือความเก่า และก็ความไม่สะดวกสบาย แต่สิ่งที่คุณต้องพูดเสริมไปก็คือประสบการณ์ ถ้าคุณไม่สามารถดึงประสบการณ์เป็นจุดขาย คุณจะนึกถึงภาพตึกเก่าที่ Look Cool แปลว่าตึกเก่าแต่แอร์เย็นฉ่ำ ผนังเก่าแต่มีบานกระจกใหญ่กริ๊บ มีอินเตอร์เน็ตทุกอย่างสะดวกสบาย ถามว่าผิดไหม ไม่ผิดนะครับ แต่ว่าไม่ใช่วิธีลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับการอินเวสในอาคารเก่า

Dbs: วิธีการบริหารจัดการกับธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กของคุณ
WK: สามเสน ไฟว์ ลอดจ์ ปัจจุบันเราก็มีวิธีแมนเนจที่ลงตัวนะ เช่น เรารับเฉพาะบุ๊คกิ้งเกส ซึ่งช่วยเราเซฟคอร์ส คีย์มีอยู่ประเด็นเดียวคือทำอย่างไรให้ได้กำไรสูงสุด เราก็ต้องมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ค่าใช้จ่ายที่เป็นฟิกซ์คอร์สถูกลดลงไปให้มากที่สุด เช่น ตั้งแต่เราเลือกคอนเซ็ปต์ประหยัดพลังงาน เราเป็นสถาปนิกแนวกรีน วิธีหนึ่งที่เราคิด คือการประหยัดพลังงานมันเซฟค่าไฟได้ 10-15% ข้อที่สอง คือ เรื่องพนักงานต่างๆ ที่นี่เราไม่มีฟิกซ์สต๊าฟฟ์แม้แต่หนึ่งคน เอาต์ซอสหมดทั้งแม่บ้าน ซักผ้า ทำความสะอาด ช่างไฟ รีเซปชั่นเราก็ไม่มี เพราะรับเฉพาะบุ๊คกิ้งเกส เราสามารถดีไซน์เวลาได้ว่าลูกค้าจะมาตอนไหน มันเป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้น การดีไซน์โรงแรมก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคุณทำโปรดักท์ที่มันไปไกลกว่าความต้องการของลูกค้า เรื่องคอร์ส การเลือกสไตล์เป็นเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่ง อย่าไปทำตามแฟชั่น ต้องมองว่าอะไรที่ขายได้ยาวๆ นานๆ อย่างสามเสน ไฟว์ ลอดจ์ เราเรียกว่าเป็นโคโลเนี่ยล เพราะประเทศไทยอยู่ตรงกลางระหว่างอินเดียกับจีน ตามตลาดในบ้านเราจะมีข้าวของตามบ้านคนในแบบนี้เยอะ เราก็เลือกแนวนี้เป็นหลัก แล้วข้อดีของแนวนี้ก็คือ มันไลฟ์รี่ เพราะคนแถวนี้มีชีวิตชีวา มันเข้ากับมู้ดของธุรกิจโรงแรม

Dbs: ข้อดีของการจ้างเอาต์ซอส
WK: นี่คือสุดยอดแห่งความดีเลยฮะ ธุรกิจอันใดอันหนึ่งจะมีค่าก็ต่อเมื่อมันมีคุณค่าให้คนอื่น ง่ายๆ เขาจ่ายเงินให้คุณเพราะคุณมอบคุณค่าบางอย่างให้เขา ทีนี้ประเด็นคือก็ต้องถามต่อว่า คุณมองคนที่ไม่ได้จ่ายเงินให้คุณเป็นลูกค้าด้วยหรือเปล่า เวลาธุรกิจจะยั่งยืนมันไม่ได้มีแค่ลูกค้าเท่านั้น มันยังมีพาร์ทเนอร์ สำหรับผมพาร์ทเนอร์ไม่ได้แปลว่าคนที่จ่ายเงินกับเราคนเดียว ยังหมายถึงคนที่ได้ผลประโยชน์ร่วมจากเรา ถ้าเราดึงคนเหล่านี้มาเป็นพันธมิตรได้เมื่อไหร่ ธุรกิจเราก็มีความเสี่ยงลดลง สำหรับผมธุรกิจมันมีสามขาหลักยันอยู่คือ ขาแรกคือลูกค้าที่จ่ายตังค์ ขาที่สองคือพาร์ทเนอร์จริง ขาที่สามคือพาร์ทเนอร์ที่มองไม่เห็นหรือว่าสังคม ถ้าเราแชร์ผลประโยชน์ให้คนเหล่านี้ได้ ธุรกิจเราจะมีตัวช่วยเยอะ ไม่ใช่เรื่องโลกสวยนะ นี่คือเรื่องโมเดลธุรกิจ

ที่นี่เราใช้เรื่องการกระจายรายได้มาเยอะ แล้วก็ใช้ตั้งแต่แรกและได้ผลมาก เพราะอะไรถึงกระจายรายได้ ไม่ใช่เราเป็นคนดีนะ ผมไม่ใช่เป็นธุรกิจเพื่อสังคม เราทำธุรกิจเป็น SME เราก็ต้องรู้จักใช้ทุนจากคนอื่น การกระจายรายได้เป็นโมเดลง่ายๆ จ้างซักผ้า จ้างทำอาหาร มันช่วยให้ธุรกิจจอยู่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจโรงแรมคือคุณเอาคนแปลกหน้าเข้ามาในพื้นที่ ในขณะที่คุณได้เงิน เพื่อนบ้านของคุณอาจจะถูกรบกวนอยู่ในเวลาตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตีสามทุกๆ วัน ในขณะที่เงินไหลเข้ามาอยู่ในบัญชีคุณแต่เพื่อนบ้านคุณโดนสิ่งนี้อยู่ ในขณะที่เงินเข้าบัญชีคุณ ขยะในซอยคุณเพิ่มขึ้น ในขณะที่เงินเข้าบัญชีคุณ มอ’ไซต์ แท็กซี่วิ่งกันเข้ามาขวักไขว่ในซอยที่สงบ ดังนั้นสเต็ปป์แรกในการทำธุรกิจนี้ คือการที่คุณจะต้องทำให้เกิดพันธมิตรรอบตัวคุณให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านข้างๆ กระจายรายได้ ทำไมต้องให้เขา? เพราะคุณเอาจากเขามาแล้ว ฉะนั้นการที่คุณให้เขาไม่ใช่บุญคุณด้วยซ้ำ อีกอย่างธุรกิจที่พักมันเป็นธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรเยอะนะ ตั้งแต่การก่อสร้าง ใช้คนเยอะ เป็นธุรกิจที่เราใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เราไม่ได้ซื้อก็เยอะ เช่น เราใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมของประเทศนี้ ใช้ประโยชน์จากการที่คนไทยเป็นคนไนซ์ ใช้ประโยชน์จากน้ำ จากอากาศในประเทศนี้ เป็นคีย์สำคัญที่คุณไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ ถ้าเราตัดทุกอย่างนี้ออกไป คุณจะทำธุรกิจนี้ไม่ได้เลยนะ ดังนั้นคุณต้องสำนึกว่าคุณเอาของเขามาใช้แล้วนะ คุณใช้ของเขาไปแล้วนะไม่ ไม่ใช่คุณเพิ่งมาใช้ นั้นคุณก็ต้องมีสำนึกในการให้ไปเยอะมากๆ

Dbs: คำถามที่ถูกถามบ่อยสุดในการจัดสัมมนา คุณตอบคำถามเหล่านั้นกลับไปอย่างไร
WK: ทำแบบนี้จะขายได้ไหม? สำหรับผมทุกทำเลมีจุดขาย มนุษย์ทุกคนมีจุดขาย แต่ว่าการที่คุณจะเข้าถึงจุดขายนี้ คุณต้องมีความตระหนักในคุณค่าของตัวเองอย่างสูง นั่นคือจุดแรกในการเปลี่ยนเกมธุรกิจ สำหรับผม พาสชั่นในการเผยแพร่อาชีพนี้ เพราะผมเชื่อว่าอาชีพนี้มันช่วยให้ประเทศเจริญขึ้นได้ ผมเห็นว่าถ้าคุณทำอาชีพนี้ได้ เมื่อคุณเรียนจบ คุณกลับไปอยู่บ้าน ทำบูติกโฮเต็ล เปลี่ยนมุมมองจากที่คนต้องเข้าเมือง กลับเป็นทุกคนต้องมาเที่ยวที่บ้านนอก มันคือการเพิ่มมูลค่า มันคือการดีเวลล็อปอย่างแท้จริง สำหรับผมสุดยอดของการดีเวลล็อปก็คือการเอาทรัพย์สินที่ถูกทิ้งร้างมาสร้างให้เกิดมูลค่า

บุ๊ง
THE RETURN OF OLD BUILDINGS
พลิกฟื้นชีวิตสู่อาคารเก่า 

“บางทีงานรีโนเวทบางโปรเจ็กต์ เราทุบแค่ประมาณ 60% แล้วก็ปล่อยให้มันเป็นร้างอยู่แบบนั้น เพราะเสน่ห์ของมันคืออะไรที่มันผ่านการใช้งาน ผ่านกาลเวลาแล้วมีการผุพัง มีการเสื่อมโทรม มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาแล้ว อันนั้นมันเป็นความสวยงามที่ไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้” 

ณัฐพัชร สุริยะกำพล

ในยุคที่งานดีไซน์เปรียบได้กับแฟชั่น สไตล์ต่างๆ ย้อนกลับไปกลับมาอยู่เรื่อยๆ และยังคงมีเสน่ห์ในแบบเฉพาะตัว เช่นเดียวกับอาคารเก่ามากมายได้พลิกฟื้นขึ้นใหม่ ยังคงมีเรื่องราวและความสวยงาม ดังเช่นบ้านโพรงกระต่ายในซอยสุขุมวิท 49 หรือที่รู้จักในชื่อ Casa Lapin หนึ่งในท็อปลิสต์ร้านกาแฟสุดโปรดในใจใครหลายคน ที่ได้กลับคืนชีวิตใหม่ผ่านฝีมือของคุณลักษณ์-ณัฐพัชร สุริยะกำพล หนึ่งในหุ้นส่วนและสถาปนิกจากบริษัท Begray ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวการทำงานรีโนเวทใน Daybeds ฉบับนี้

Daybeds: เริ่มต้นทำงานรีโนเวทได้อย่างไร
Nattaphat Suriyakumpol: ด้วยผมเป็นสถาปนิก ผมรู้สึกว่าจากบางงานด้วยประสบการณ์และการหาข้อมูล งานเก่าๆ มันมีเสน่ห์มาก แล้วหลายงานที่เราพยายามจะทำของใหม่ให้ดูเก่า ซึ่งเรารู้สึกว่ายังไงมันก็ไม่ได้ แล้วการมาทำงานรีโนเวทมันก็เป็นการทำงานที่เราชอบและอยากทำจริงๆ ไม่ต้องสร้างขึ้นมามาก เป็นสิ่งที่เราผ่านตา ได้จากการเสพ การไปเดินย่านตึกเก่าแล้วเรารู้สึกว่าชอบ มันจะมีรายละเอียดที่ช่างสมัยใหม่ที่ไม่ใช่ว่าเขาทำไม่ได้ แต่เขาเลิกทำกันไปนานแล้ว ซึ่งผมรู้สึกว่างานสถาปัตยกรรมสมัยก่อนกว่าเขาจะสร้างตึกแต่ละตึกหรือสร้างบ้านแต่ละหลัง ต้องใช้ช่างงานฝีมือจำนวนมาก ดูพิถีพิถันมากกว่า ไม่ว่าจะไล่มาตั้งแต่การปลูกสร้างเรือนไทยหรืออะไรก็แล้วแต่ มันอยู่ในยุคที่เหมือนมีวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาบางส่วน แต่ก็มีความละเอียดอ่อนในการก่อสร้าง มีเทคนิคในการก่อสร้าง ซึ่งมันค่อนข้างพิเศษและน่าสนใจมาก

Dbs: ลักษณะงานรีโนเวทกับงานทั่วไปมีความต่างกันอย่างไรบ้าง
NS: งานรีโนเวทเป็นเหมือนงานที่เราต้องออกแบบหรือทำแบบสองครั้ง เพราะว่าตัวสภาพอาคารเก่าเกือบ 100% ที่จะไม่มีแบบ มันเหมือนเราต้องไปเซอร์เวย์และทำแบบเป็นออริจินัลก่อนที่จะออกแบบว่าอะไรอยู่ตรงไหน ทำทั้งแปลน ทั้งเซ็กชั่นขึ้นมา นอกจากนี้เราก็จะเห็นว่าตัวอาคารหรือโปรเจ็กต์ของเดิมจุดเด่นมันคืออะไร เพราะการรีโนเวทของเดิมเราต้องเก็บความเป็นออริจินัลของตึกเดิมๆ ไว้สักประมาณ 40-50% มันจะเป็นการผสมผสานระหว่างกึ่งอินทีเรียกับงานตกแต่ง เป็นเรื่องของสไตล์ริ่งแล้วก็เท็กซ์เจอร์มากกว่าครับ บางทีงานรีโนเวทบางโปรเจ็กต์ เราทุบแค่ประมาณ 60% แล้วก็ปล่อยให้มันเป็นร้างอยู่แบบนั้น เพราะเสน่ห์ของมันคืออะไรที่มันผ่านการใช้งาน ผ่านกาลเวลาแล้วมีการผุพัง มีการเสื่อมโทรม มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาแล้ว อันนั้นมันเป็นความสวยงามที่ไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้

Dbs: มีวิธีในการเลือกทำเลอย่างไรบ้างคะ
NS: ส่วนใหญ่จะเลือกตามความสะดวกในการเจรจา ในการทำงาน อย่างตึกนี้ก็เป็นของพาร์ทเนอร์ โลเกชั่นแม้จะอยู่กลางเมืองแต่ก็อยู่ในซอย ซึ่งมันก็อาจจะเสี่ยงบ้างในการทำธุรกิจ แต่เราก็เลือกธุรกิจที่ค่อนข้างจะสโลว์นิดหน่อย มันไม่ต้องฉูดฉาด ไม่ต้องหวือหวามาก เพราะหนึ่งเลยคือเราจะสร้างเป็นบ้าน เป็นที่อยู่อาศัย สองคือตัวอาคาร ตัวสเปซของโครงสร้างมันต้องทำออกมาแล้วจะสวย มันต้องค่อนข้างที่จะโล่ง โปร่ง ตึกที่มันมีการแบ่งห้อง ก็ทุบห้องออกหมด เก็บแค่บางอันที่มันมีบันไดหรือผนัง ซึ่งเราก็ต้องเก็บไว้

Dbs: สภาพแวดล้อมมีส่วนกับการเลือกทำเลที่จะรีโนเวทด้วยไหมคะ
NS: มีครับ มันทำให้เราเด่นยิ่งขึ้น ทำให้เราน่าสนใจมากขึ้น อย่างที่นี่สภาพแวดล้อมคืออยู่ในซอย ที่ไม่มีใครคิดว่าจะมีร้านมาเปิด ถ้าใครมาถึงร้านได้นี่คือเก่งมาก มันก็กลายเป็นจุดขาย เป็นจุดแข็งของร้าน ที่เป็นร้านที่ไม่เจอง่ายมันเลยกลายเป็นคอนเซ็ปต์พอดี

Dbs: วิธีการทำงานสำหรับพื้นที่ที่จะรีโนเวท
NS: เราต้องดูโครงสร้างเก่าก่อน เอาเรื่องฟังก์ชันเข้ามา ฟังก์ชันในการที่จะเลือกใช้ทำเป็นอะไร เราก็แปลนมันเข้าไปให้แมตซ์กับสเปซที่มีอยู่ มีช่องแสง มีอะไรอยู่ตรงไหน เรื่องการใช้งานที่ของเก่ามันอาจดูวุ่นวายมาก เสริมด้วยเรื่องฮวงจุ้ย แม้เราจะไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ แต่เราก็เชื่อมั่นที่มันสามารถอธิบายได้ในแง่วิทยาศาสตร์และงานดีไซน์ ซึ่งจริงๆ มันไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังทำให้พื้นที่และฟังก์ชันการใช้งานสะดวกขึ้นด้วย

Dbs: แรงบันดาลใจในการการออกแบบคืออะไรคะ
NS: แรงบันดาลใจมาจากเวลาเก่า การใช้ชีวิตของคนสมัยเก่า เพราะคนยุคก่อนเขาจะขยันและใส่ใจในดีเทลที่อำนวยความสะดวก เช่น เก้าอี้สำหรับช่างไม้ หรือช่างตัดผม ซึ่งบางอันเขาทำดีเทลเพื่อมาตอบโจทย์เขาได้หมดเลย เป็นดีเทลที่สมัยนี้คนเราไม่เสียเวลาไปทำอย่างนี้แล้ว และมันกลายเป็นอะไรที่มีเสน่ห์มาก ทั้งฟังก์ชันต่างๆ ที่เขาใส่ดีเทลเข้าไปมันไม่ใช่แค่ใช้งานได้อย่างเดียว มันต้องดูแล้วสวยด้วย มันก็เป็นแรงบันดาลใจของเราเหมือนแฟชั่นที่สามารถย้อนกลับมาในยุคปัจจุบันได้เรื่อยๆ เพียงแต่มันอาจย้อนกลับที่ทำได้แค่สไตล์ แต่ไม่สามารถทำพร็อพบางอย่างขึ้นมาได้ เพราะเราไม่มีเครื่องมือที่ทำแบบนี้ได้แล้ว และเราหลงใหลในงานยุคนั้น 

Dbs: คิดว่าอะไรเป็นจุดเด่นในงานของคุณ
NS: เป็นเรื่องดีเทลที่เรายอมใส่ไปเต็มในสเปซตรงนั้น แม้ดีเทลอาจไม่ละเอียดมาก แต่ว่ามันเหมือนทุกอย่างเราผ่านการคิดมาแล้ว และบางทีมันเป็นการดีไซน์ในเชิงขยาย ยิ่งอยู่ไปนานๆ เราก็เหมือนเอากลุ่มดีไซเนอร์เอาช่างเข้าไปอยู่ อาจปรับทำตรงนู้นตรงนี้ เราอยากให้มันเหมือนเป็นบ้านของช่างแล้วค่อยมาเพิ่มเติมต่อไปเรื่อยๆ คือใส่น้อยๆไปก่อน เพราะเราก็เหมือนคนทั่วไป เราไม่สามารถมองภาพออก เราไม่สามารถวาดภาพ 100% กับสิ่งที่จินตนาการได้ทั้งหมด อาจมีผิดบ้างถูกบ้างแต่ก็เป็นบ้านแห่งการเรียนรู้ ทุกอย่างมันมีทางแก้ได้หมด แต่เราคิดว่าไม่ว่าเราจะทำอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง มันมีปัญหาที่เราคิดไว้เยอะมาก แล้วเราไม่สามารจะแก้ปัญหานี้ได้ทุกข้อ เราอาจจะไม่สนใจปัญหาเลย หรือเลือกแค่ปัญหาที่มันใช้ได้นะ แล้วถ้ามันแก้ปัญหาแล้วตอบโจทย์ได้สักสามสี่ข้อเราก็ทำไปดีกว่า ถ้าทำแล้วต้องคิดว่ามันเป็นอย่างนี้บางทีมันก็ไม่ต้องทำเลยดีกว่า

Dbs: ปัญหาที่เจอมีอะไรบ้าง
NS: การรีโนเวทมันยากกว่าการที่เราทำขึ้นมาใหม่ เพราะว่ามันต้องเริ่มศึกษาของเก่าและวางระบบใหม่เข้าไปทั้งหมด ไม่ว่าจะงานระบบไฟหรือสุขาภิบาลต้องทำใหม่ทั้งหมด เพราะพวกนี้เป็นงานที่เรามองไม่เห็น เราต้องทำให้มันดี ที่วางใหม่เพราะเราต้องรู้ ต้องมีแปลน เวลามีปัญหาจะได้ไปแก้ไขได้ เพราะเราจะใช้ของเก่าไม่ได้เลย เกิดมีปัญหาที่รื้อขึ้นมาใหม่มันจะค่อนข้างยากมาก

Dbs: แล้วพวกโครงสร้างดั้งเดิมล่ะคะ มีวิธีการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร
NS: จริงๆ เราคิดว่าอาคารเดิมต้องมีอะไรที่ดีอยู่แล้ว ถ้าเป็นโปรเจ็กต์ที่เราสามารถเลือกได้เราจะดูสเปซก่อน ซึ่งหลายตึกมันมีความเก่าอย่างเดียวไม่มีความสวยเลย แม้มันจะมีอายุยี่สิบหรือสามสิบปีแต่มันเป็นงานขาย อย่างพวกบ้านจัดสรร ซึ่งคุณภาพมันก็ไม่ได้ ถ้าแบบนั้นเราก็รีโนเวตด้วยการทุบใหม่หมด เก็บโครงไว้ งานรีโนเวทบางประเภท มันจะมีกฎหมายที่ไม่สามารถรองรับในการทำพื้นที่ตรงนี้ได้แล้ว เช่นบ้านที่อยู่ติดทะเล หรือท่าเรือ ซึ่งเราก็รื้อทำใหม่แต่ตำแหน่งเสาแปลนยังอยู่เท่าเดิม เขาก็ยังเรียกว่างานรีโนเวท ส่วนอีกอันคือเหมือนเราอยากเก็บสภาพเก่าๆให้ได้มากที่สุด เราสามารถปรับพื้นที่การใช้งานได้เพียงพอที่เราจะต้องใช้ เพราะมันจะมีข้อจำกัดต่างๆ ทั้งเรื่องที่จอดรถ ห้องน้ำ หรือจำนวนคนที่สามารถจุได้ ข้อยากของรีโนเวทคือ สมมติว่ามีพื้นที่แค่ 200 เราก็มากสุดอาจได้เพิ่มแค่ 20-30% เท่านั้น

Dbs: ข้อดีและข้อเสียของงานรีโนเวท
NS: ข้อดีคือเราได้วัสดุ ได้บรรยากาศ ได้อะไรที่มันเป็นที่เราทำได้ที่เดียว เป็นของที่นี่เท่านั้นมันไม่สามารถไปซื้อที่อื่นๆ หรือเลือกตามแค็ตตาล็อกได้ มันก็เหมือนไม่ซ้ำใครเพราะมันมาจากความเก่า การใช้งาน มาจากฝีมือของช่างที่เขาอาจไม่อยู่แล้ว มาจากเสน่ห์ของมันอยู่แล้วที่เราเลือกเก็บไว้ให้เป็นไฮไลท์ในงาน ส่วนข้อเสียมันจะกลายเป็นว่ามันจะมีกรอบเล็กๆ ไม่ว่าเราจะคิดอะไรมันก็ต้องอยู่ในกรอบ สมมติในห้องแถวมีพื้นที่แค่นี้เราจะคิดอะไรที่เกินกรอบก็ไม่ได้ เราเลยเหมือนต้องไปคิดเรื่องอื่นในสโคปที่เราสามารถทำได้แทน

Dbs: มีวิธีในการรักษาอาคารรีโนเวตอย่างไรบ้าง
NS: เป็นเหมือนบ้านทั่วไป เป็นเรื่องการจัดเก็บด้วย บางทีมันไม่ต้องเก็บเนี้ยบแต่ว่าเราจะวางยังไง ให้มันรกยังไง เป็นสไตล์ของเราเอง เพราะบางทีมันขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้ชีวิตของคนที่จะมาอยู่ในที่นั้นๆว่าลักษณะนิสัยเขาเป็นอย่างไร จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนมาก และก็ต้องรู้จักดูแลทำความสะอาด รู้จักการตกแต่งอยู่ตลอดเวลา มันเป็นสิ่งที่ทำให้คนที่อยู่อาศัยสนุกในการสร้างสรรค์ ปลูกต้นไม้หรือหาของมาติดผนัง ไม่งั้นมันจะเหมือนห้องตัวอย่างที่แม้มันจะสวยแต่เราไม่ได้รู้สึกอินไปกับมัน เพราะบ้านมันก็เป็นเหมือนพื้นที่ส่วนตัวที่เราสามารถทำอะไรหลายอย่าง รวมถึงเป็นที่สร้างแรงบันดาลใจ ทำให้เรารู้สึกอยากใช้เวลาอยู่ในนั้นมากกว่าจะออกไปข้างนอก

Dbs: วัสดุที่เลือกใช้กับงานรีโนเวต
NS: วัสดุจะขึ้นอยู่กับคอนเซ็ปต์ งานเราถ้าเราเป็นเจ้าของ เราคุมเอง สไตล์ที่มันเข้ากับรีโนเวตที่สุดก็คืออินดัสเทรียลลอฟท์ เพราะว่ามันใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติของมัน ทั้งเหล็ก ไม้ ที่มันไม่ได้ประดิษฐ์หรือปรุงแต่งอะไรมันจึงเหมาะกับงานรีโนเวทมาก บางอันเรารื้อแล้วไปเจอโครงสร้างเก่าแล้วมันสวยเราก็เก็บไว้ ซึ่งความเก่าเป็นเหมือนงานศิลปะ เป็นเหมือนภาพวาดที่เราอยากจะโชว์ตรงนี้ไว้

Dbs: สำหรับคนที่อยากหันมาทำงานรีโนเวทต้องเรียนรู้อะไรบ้าง
NS: ต้องรู้จริงเรื่องอาคารเก่าว่ามันทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง บางที่ขนาดมันเล็กแต่อยากทำชั้นลอยซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องเปิดใจว่าของตัวเองเป็นเท่านี้ ไม่อย่างนั้นมันจะมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก งานออกแบบที่ใส่ไปมันแก้ปัญหาได้ แต่แบบมันช่วยไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็ต้องเลือกว่าจะเอาอันนี้ แต่มันตอบโจทย์อันนี้ไม่ได้

ก้อ
WHERE THE ARTIST WAS BORN
จักรวาลที่แตกต่างของภาพพิมพ์ 

“ก่อนหน้าที่ผมจะมาอยู่ มันเป็นบ้านทรงไทยเลยนะแถวนี้ แบบว่ามีเสามีคานเป็นไม้ทั้งหลังเลย ผมว่ามันคลาสสิกมาก แล้วในซอยนี้ แค่ผมอยู่แค่ 2-3 ปีก็โดนทุบหมดแล้ว เป็นคอนโดหมดเลย คือเปลี่ยนเร็วมาก ก็ไม่รู้ว่าอีกหน่อยอาจจะเหลือบ้านผมหลังเดียว ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ)”

วาฬ จิรชัยสกุล 

เพิ่งสำเร็จการศึกษาได้ไม่นาน สำหรับ คุณวาฬ จิรชัยสกุล ศิลปินหนุ่มจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ จากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นของศิลปินรุ่นใหญ่ คุณไกรศักดิ์ จิรชัยสกุล เช่นเดียวกับศิลปินท่านอื่น คุณวาฬสร้างสรรค์ผลงานและเรียนรู้แนวทางการทำงานศิลปะของตนเองอย่างต่อเนื่อง จากเคยชื่นชอบในงานเพ้นท์ สู่ความหลงใหลในงานภาพพิมพ์เมื่อได้ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย รางวัลที่ได้รับมากขึ้นเป็นลำดับจากประสบการณ์ ทำให้คุณวาฬเชื่อมั่นในหนทางที่กำลังก้าวเดิน จวบจนที่ก้าวมาถึงจุดที่ต้องเลือก ระหว่างการมุ่งหน้าในแนวทางของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานโดยรับทุนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ กับการก้าวเข้าสู่งานบริหารและธุรกิจ โดยการเปิดพื้นที่แสดงงานศิลปะเป็นของตัวเอง ตัวเลือกในข้อหลังเป็นสิ่งที่คุณวาฬเลือกทำมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความต้องการท้าทายตนเอง และความต้องการสร้างพื้นที่ศิลปะเพื่อสื่อสารถ้อยความสู่สังคม ในการที่จะสามารถพัฒนาวงการศิลปะ ตามแนวทางที่เขาเชื่อมั่น

Daybeds: จากบ้านเก่าของครอบครัวศิลปิน ก่อนที่จะกลายมาเป็นแกลเลอรีศิลปะ
Wal Chirachaisakul: เมื่อก่อน คุณพ่อเขาถนัดภาพพิมพ์ ทีนี้พ่อเขาเห็นงานที่ผมได้ลองทำ เขาก็แบบ เอ้ย สั่งแท่นพิมพ์มาเลย ทีนี้ บ้านเมื่อก่อนมันเป็นบ้านเตี้ยๆ แค่ 2 ชั้น พอเราเอาแท่นพิมพ์มาตั้ง เราก็เลยต้องรื้อเฟอร์นิเจอร์ออกเป็นวงกว้าง แล้วก็พิมพ์กันไป ทีนี้เหมือนทำไปทำมา งานเราก็เริ่มจะไม่มีที่เก็บ ก็เลยรีโนเวทซะเลย คือ ครอบครัวเราเป็นศิลปินกัน 3 คน ก็เลยรีโนเวทให้มันกว้างพอที่ทุกคนจะสามารถทำงานกันได้ ทีนี้ก็มีเนี่ยเป็นพื้นที่โล่งตรงกลาง จนถึงชั้นสองที่เรายังไม่รู้ว่าเอาไว้ทำอะไร ประกอบกับ ไหนๆ ก็จะใช้ตังค์ปรับปรุงแล้ว ก็เออ มันน่าจะเป็นที่ที่เป็น public ได้นะ แล้วมันก็จะออกมาเป็นรูปแบบของ gallery ที่ผสมกับสตูดิโอ ที่คนมาดูงานศิลปะ ก็จะเห็นตัวกระบวนการด้วย บางวันเราก็จะมีเวิคชอปมีอะไร แล้วคงด้วยความที่เราเป็นทั้งศิลปินและทำธุรกิจด้วย เราก็อยากให้คนที่มาเวิร์กช็อป เขาก็จะได้อินสไปร์จากงานศิลปะที่อยู่รอบๆ ตัว

Dbs: นิยามความเป็นแกลเลอรีศิลปะของคุณ
WC: คือตั้งใจให้ บ้านมันสามารถทำให้คนที่เขาไม่ค่อยรู้ มาเปิดรู้ ส่วนคนที่เขาอยู่ในวงการศิลปะอยู่แล้ว เขาจะได้รู้สึกว่ามันเป็นคอมมิวนิตี้ที่เขาไม่จำเป็นต้องเจอแต่คนซีเรียส ผมอยากจะเบลนด์คนที่แบบ ติสท์ กับคนที่แบบว่า เออเริ่มสนใจ ก็มาอยู่ด้วยกันได้ แล้วบางที นอกเหนือจากจะมาแสดงเฉยๆ หรือจะมานั่งรอว่าใครจะจับจ่ายซื้ออะไรไป เราก็ต้องให้ information กับคนที่เข้ามาดูด้วย ต้องบอกเขาว่า ศิลปินคนนี้ที่เขามีชื่อเสียงเพราะอะไร หรือว่างานชิ้นนี้ ศิลปินอาจจะไม่ดัง แต่ว่างานนี้มันยากเพราะอะไร ผมคิดว่ามันสำคัญด้วยที่เราบอกกับคนที่เข้ามาดู ไม่ว่าเขาจะซื้อหรือไม่ซื้อ ผมเชื่อว่าถ้าเกิดแกลเลอรีสามารถเป็นเหมือนคลาสเรียนชั่วโมงนึงหรือสองชั่วโมงได้ ก็คงจะดี

Dbs: ยากแค่ไหนที่จะเริ่มเปิดแกลเลอรีเป็นของตัวเอง
WC: มันยากอยู่แล้วครับ แต่ว่าส่วนที่ดีก็คือ พอเป็นบ้านตัวเองเราไม่ต้องเสียค่าเช่าให้ใคร ส่วนที่ยากก็คือ อย่างเดือนแรกๆ ผมก็ไม่มีทีมด้วย แต่ผมแค่อยากสนุกมากกว่า ว่า เออเอาบ้านตัวเองมาเปิด ให้เพื่อนๆ มากัน แต่พอทำไปเรื่อยๆ มันก็ต้องมีเลี้ยงพนักงานต้องอะไร คือตอนนี้มันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ ไม่ใช่แค่ลูกค้าซื้อเยอะขึ้น แต่ผมหมายถึงว่า คนอะ วัยรุ่นขึ้น ที่กล้าที่จะเริ่มจับจ่ายซื้องานศิลปะ แล้วก็คนไทยก็สนใจเยอะขึ้น ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเราอาจจะหวังได้แต่ขายฝรั่งอะไรแบบนี้ ผมก็รู้สึกว่าศิลปะมันก็เริ่มเข้าถึงคนขึ้นนะ

Dbs: ในแง่ของธุรกิจ
WC: ธุรกิจทุกอย่างคือมันต้องใช้เวลาถึงจะมีความเชี่ยวชาญใช่ไหมครับ ส่วนหนึ่งคือผมมองว่าถ้าผมเริ่มตอนนี้ ถ้าเกิดโตขึ้นไปมันก็ต้องแข็งแรงได้ ถ้าเรารักที่จะดูแลมันให้ดี ส่วนที่สองก็คือ จริงๆแล้ววงการนี้มันแทบจะเหมือนไม่มีคู่แข่งด้วย เพราะว่าแต่ละแกลเลอรี ก็มีจุดเด่นคนละแบบกัน คนนี้ขายอย่างงี้ตลาดอย่างงี้ ลูกค้าที่สนใจที่นี่อาจจะไม่สนใจอีกที่นึงเลย ผมคิดว่าเริ่มทุกอย่างให้มันเล็กแล้วปึ้กไว้ก่อน เราไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้นด้วยในองค์กรที่ค่อนข้างจะบ้านๆ แต่ว่าเราก็เริ่มติดต่อ มีความเป็นอินเตอร์ขึ้น เพราะผมก็รู้จักศิลปินต่างประเทศพอสมควร แต่รู้จักในเชิงแบบ เอ้ย เราเป็นศิลปินเหมือนเหมือนกัน เราวาดรูป เราแบ่งกันดู เราเคยส่งงานแสดงด้วยกัน ผมแค่ลองว่า ถ้าเราชวนเขาส่งงานมาดีไหม แบบที่ชิ้นไม่ใหญ่ เขาก็ลองส่งมา ก็ขายได้ เขาก็แฮปปี้ เราก็แฮปปี้ ผมก็รู้สึกว่าบางทีมันไม่ต้องทำเป็นเรื่องใหญ่ มันก็เกิดขึ้นได้เอง

Dbs: สิ่งที่ทำให้แกลเลอรีของคุณแตกต่าง
WC: ก็แตกต่างตรงที่มันมีแท่นพิมพ์นี่แหละครับ เหมือนคนดูมายากล เขาจะดูบนเวทีใช่ไหม แต่เราเหมือนแบบมีเบื้องหลังให้ดูเลย เป็นความรู้สึกที่สามารถจอยไปกับสเปซที่แบบว่ากึ่งๆ สตูดิโอได้ด้วย แล้วก็อีกอย่างนึงคือ เราใช้ศิลปินเยอะ เยอะกว่าที่อื่น ผมรู้สึกว่างานที่ต้องใช้ศิลปินเยอะมันมักจะเป็นงานที่เป็นนิทรรศการที่องค์กรอะไรสักอย่างจัด ถ้าเป็นแกลเลอรีเอกชน เขาจะไม่ค่อยทำ แต่ก็เพราะเพื่อนๆชอบยุ ผมก็อยากจะลอง งั้นแจมกันเยอะๆ เลย การติดต่อกับศิลปินหลายๆคนมันยาก แต่พอมันยากเสร็จแล้วเราก็ลองมีบางนิทรรศการให้มันน้อยลง แต่เรารู้สึกมันไม่สนุก เราเลยต้องกลับมาทำแบบยากเหมือนเดิม ผมคิดว่ามันเหมือนอาหารไทยนะ แบบอาหารต่างประเทศเขาทำให้มันเคลียร์ ว่าเขาต้องการรสนุ่มนะ ขนมปัง นุ่มนะ เนื้อ นุ่มนะ มาอยู่ด้วยกันปุ๊ป จบ อาหารไทยมันต้องเปรี้ยว มันต้องเค็ม มันต้องเผ็ด มันต้องหวาน ยังขมอีก เอาทุกอย่าง ผมอาจจะติดนิสัยมาก็ได้ ผมว่าความเป็นไทยบางอย่าง มันเกี่ยวกับการพยายามเอาของที่มันไม่เข้ากัน แต่ว่ามาลองหาดูว่ามันมีความเป็นไปได้หรือเปล่า ที่มันอาจจะมาอยู่ด้วยกันยังไง

Dbs: ความเปลี่ยนแปลงหลังรีโนเวท
WC: ส่วนหนึ่งผมรู้สึกว่า อาจจะลดความเป็นส่วนตัวลงกว่าเมื่อก่อน รู้สึกว่าทุกวันมีคนเข้าบ้านเรามา แต่ข้อดีก็คือ มีเรื่องมีธุรกิจที่เราต้องทำ โดยที่เราไม่ต้องวิ่งออกไปไหน แล้วในซอยก็เริ่มจะมีคอนโดใหม่ๆ เยอะขึ้น อีกหน่อยคนก็คงจะเดินเข้ามาอีก แต่ว่า ก่อนหน้าที่ผมจะมาอยู่ มันเป็นบ้านทรงไทยเลยนะแถวนี้ แบบว่ามีเสามีคานเป็นไม้ทั้งหลังเลย ผมว่ามันคลาสสิกมาก แล้วในซอยนี้ แค่ผมอยู่แค่ 2-3 ปีก็โดนทุบหมดแล้ว เป็นคอนโดหมดเลย คือเปลี่ยนเร็วมาก ก็ไม่รู้ว่าอีกหน่อยอาจจะเหลือบ้านผมหลังเดียว ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ)

Dbs: กังวลไหมต่อความเปลี่ยนแปลง
WC: ไม่กังวลครับ เพราะจริงๆ ก็เป็นคนไม่ชอบเหมือนชาวบ้านอยู่แล้ว ก็รู้สึกว่าเออดี งั้นก็เป็นอย่างนั้นกันให้หมดเลยนะ(หัวเราะ) รู้สึกว่า ยิ่งเราไม่เหมือนคนอื่น เรายิ่งไม่ต้องมีข้อเปรียบเทียบ ผมรู้สึกว่าทำให้ตัวเรามันเป็นตัวเราแล้วก็จะไม่มีคู่แข่งเอง แล้วก็แข่งกับตัวเองอะไรอย่างนี้

 

Leave A Comment