INVISIBLE DESIGN

ภูมิสถาปัตย์โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรม
ของ สุริยะ อัมพันศิริรัตน์

TEXT: ภคพร ไม้สนธิ์
PHOTO: ฉัตรชัย เจริญพุฒ

ความคิดที่แยบคาย : รวมทุกความละเมียดของรายละเอียดไว้ : ไม่ใช่เรื่องของสัญลักษณ์ แต่คือเนื้อหาที่สำคัญทางจิตใจ : ภูมิสถาปัตย์โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรม : ประณีตทางความคิด ประณีตทางจิตใจ : ความรื่นรมย์ที่มีสุนทรียภาพ : เพื่อสันติ เพื่อความสงบสุข : Big Idea, Small Idea : การออกแบบที่มองไม่เห็น : ความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ธรรมชาติ สู่ความเป็นอยู่สบายตัว สบายใจ : ความพอดีกับชีวิต ไม่ใช่เรื่องของเงิน : คือคำบอกเล่าของ คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ ศิษย์เก่าครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ที่เขาใส่ลงไปในทุกเนื้องานที่ทำ ตั้งแต่ภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรม ที่มีคนรู้จักไปถึงฝั่งตะวันตกของโลก (เล็กๆ ใบนี้) และได้รับรางวัลมากจนจำไม่ไหว กับการออกแบบกุฏิพระ หอไตร โรงฉัน ห้องเรียน และอื่นๆ ในวัดพุทธโคดม (หากเดย์เบดสเตอร์ยังไม่รู้จักเขา เชิญพิมพ์ ‘สุริยะ อัมพันศิริรัตน์’ ใน Google) : ตลอดทางเดินเล็กๆ บนเส้นเวลาแห่งการทำงานมา 18 ปี เขาทำมาแล้วหลายสิ่ง และ Daybeds นำความคิดเขามาแบ่งปันบน 8 หน้ากระดาษนี้ (และเว็บไซต์) จะครบถ้วนไหมกับสิ่งที่เขาเป็น ที่เขาบอกว่า เป็นคนทำสวน ทำงานช่างได้ นักออกแบบบ้าน แล้วเป็นเจ้าของบริษัทที่รวบรับออกแบบสวนและบ้านไว้ที่เดียวกัน สุดท้ายอยากทำงานศิลปะไปพร้อมๆ กันด้วย ไปทำความรู้จักเขากัน

interview4

DBs: คุณจบสถาปัตย์นะคะ ทำไมไม่ออกแบบบ้าน อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ
สุริยะ
: ใช่ แต่ชอบทางด้านศิลปะไง มีความตั้งใจไม่ออกแบบบ้านหรืออาคาร อยากออกแบบสวน มองย้อนกลับไป ผมทำงานสายศิลปะตลอด จริงๆ อยากเป็นจิตรกร ตอนจบกะว่าจัดสวนกับทำงานด้านศิลปะ ที่เข้าสถาปัตย์ก็รู้อยู่แล้วว่าต้องมีการสร้างอะไรสักอย่างเล็กๆ ตอนเด็กๆ อาจอยากปั้นดินปั้นอะไรต่างๆ ปั้นเป็นรูปบ้านหรือวาดเป็นรูปบ้านอะไรต่างๆ การชอบวาดรูปนี่เป็นพื้นฐานเลยนะ มีจินตนาการ ใกล้สุดคือเอาปากกามาคะยึกคะยัก ถ้ามีสีก็เอามาแต้มๆ นั่นคืออันดับแรก อย่างผมอยู่ต่างจังหวัด ชอบวาดภาพทุกวัน ชอบปรัชญา เพราะที่บ้านขายของ สิ้นเปลืองมากเลยสมุดนี่ไม่ต้องขายละ ผมเอามาเล่นหมดเลย อ่านหนังสือทุกวัน ชอบปลูกต้นไม้ทุกวัน แต่ชอบงานช่างทำทุกวันด้วย คือต่อแคร่ ต่อเก้าอี้ มีเล้าหมู คอกวัว มีโรงสีข้าว ซ่อมแล้วเราก็ได้อยู่กับเครื่องจักรกลด้วย

ผมออกแบบสวนมาเรื่อยๆ แล้วมีเหตุที่ต้องไปช่วยสร้างกุฏิให้หลานหนึ่งหลัง เป็นหลังแรกของการออกแบบด้านสถาปัตย์ ที่วัดเขาพุทธโคดม หลานบวชนาน 7 ปี แล้วช่วงปี 5 เขาอยากสร้างกุฏิเอง ผมก็ไปช่วยสร้างโดยรวมเงินญาติๆ กัน แล้วทำงานที่วัดพุทธโคดมจนกระทั่งมา 5-6 ปี ทำหลายอย่างมากเลย ทำกุฏิ ทำโรงฉัน ทำห้องเรียน พิพิธภัณฑ์ ทำทุกอย่างครับ เป็นช่วงที่หลวงพ่อท่านเก็บปัจจัยไว้เยอะเพื่อสร้าง พอถึงเวลาเราปุ๊บเหมือนว่าทุกอย่างอัดอั้นอยู่ตั้งนานมาแหละ ทำกุฏิไปสัก 10 หลัง ขับรถกลับบ้านบางทีนะตี 1 ไม่ไหวแล้วจอดรถตรงมอเตอร์เวย์นอนหลับเลย แล้วผมมักไปถึงก็เที่ยงคืน คือไม่มีเวลาไป ในปีแรกๆ ผมต้องเคลียร์งานที่บริษัทก่อน พอไปถึงจะมีหมารอรับเต็มไปหมดเลย เห่ามาแล้ว แต่สนุกนะ ไม่มีค่าจ้าง คือถ้าไม่เพราะหลวงพ่อผมก็ไม่ทำ ต้องมีบุคคลเป็นแรงจูงใจผมด้วย สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผม และเป็นเรื่องที่ทำให้ผมเกิดจากตรงนี้นะ ตอนสร้างกุฏิมีของเก่าอะไรต่างๆ มาผสมกัน ตอนนั้นผมอายุประมาณ 33-34 กำลังดีเลย เป็นการทำชุดแรก มีไฟเต็มเปี่ยม ทุกคนช่วยกัน เชื่อไหมว่าช่วงแรกพระเณรเป็นคนทำงานช่างทั้งหมดเลย แต่ว่าช่วงหลังพองานใหญ่ขึ้นก็เป็นอีกแบบหนึ่ง จากนั้นก็ทำที่วัดป่าวชิรบรรพต คืออาคารปฏิบัติธรรม ประเด็นสำคัญคือการร่วมมือกัน ของทุกชิ้นนี่คือแบบของยูซ (วัสดุที่ใช้แล้ว) ทั้งหมดเลย ของเก่า หน้าต่างเก่า คนมาถวายก็นำมาผสมกัน รางวัลจากอังกฤษ ก็งงมาก เราไม่เคยคิดเลย มีคนส่งไปให้ เราไม่รู้เรื่องอะไร ไม่รู้ว่ารางวัลมันมีอะไรบ้างในโลกนี้ หลังจากนั้นผมได้รางวัลจากวัดพุทธโคดมมาอย่างต่อเนื่อง

b21b20

DBs: คุณทำงานโดยไม่สนใจรางวัลเหรอคะ
สุริยะ
: คือไม่ได้โฟกัสมากมาย จบมาก็คือมุ่งทำงานไปตามทางของเรา รางวัลที่ได้เป็นครั้งแรกคือ กุฏิ วัดเขาพุทธโคดม AR Award ได้จากการออกแบบชิ้นเล็กมากๆ ผมชอบรางวัลนี้ เพราะเจ๋งตรงที่เขาไม่ได้พูดถึงมูลค่า แต่พูดถึงคุณค่า คือบางงานอาจไม่มีมูลค่าเลยสำหรับงานก่อสร้าง แต่มีคุณค่าจึงได้รางวัล บางงานอยู่ติดกับสนามบินที่มีมูลค่ามาก แล้วได้รางวัล และงานต่อเติมเล็กๆ ข้างๆ อารมณ์แบบข้างบ้านอ่ะนะก็ได้รางวัล เพราะเมื่อดูครั้งแรกก็แปลกใจ ประหลาดใจ นั่นล่ะคือคำว่า AR สำหรับผมคือคุณเดินเข้าไปในป่า แล้วไปเจออะไรสักอย่าง เป็นดอกไม้สักดอกก็แล้วกัน คุณไม่เคยเห็นหรอกแต่มันแปลกประหลาดมากเลย มันเกิดขึ้นใหม่ๆ แล้วคุณก็รู้ว่าดอกไม้ดอกนี้อยู่ตรงนี้ได้แน่นอน โดยไม่ต้องไปอ่านหนังสืออะไร แต่ว่าคุณรู้สึกได้ทันทีว่ามันอยู่ตรงนี้ได้ นั่นคือการดูงานของ AR พอเห็นปั๊บเราจะรู้ได้เลยว่า เออ!…มันแปลก สวยมากเลย ประหลาดมากเลย ราคาไม่ได้แพงนะ บางอันก็ราคาแพง แต่ทุกอย่างอยู่ตรงนั้นได้ ไม่ปลอมแปลง ข้อดีคือแพงก็ไม่ปลอมแปลงถูกก็ไม่ปลอมแปลง คือเหมาะสมที่จะอยู่ตรงนั้นเหมือนดอกไม้สักดอกที่

DBs: คำว่าแปลกประหลาดคือว่ามันไม่แปลกกับตรงนั้น คือความพอดี คือพวกเดียวกัน
สุริยะ
: จริงๆ แล้วที่วัดพุทธโคดม คนแทบไม่รู้เลยว่างานไหนคืองานออกแบบ แต่รู้สึกว่ามันอยู่ในที่ของมันอย่างเหมาะสม คืออยู่แบบซอมซ่อเหมือนกันอย่างเหมาะสม ไม่ได้แสดงตนมาก และต้องค่อยๆ ดูงานสวนผมเริ่มตั้งแต่รับงาน Scale เล็กมาก่อนนะ เรียกว่าเรียนรู้ไป แล้วก็อาจมีคนที่เขาทำงานอยู่กับผมที่เรียนรู้มาก่อน เขาก็สอนเรา แล้วก็ขยาย Scale มาเรื่อยๆ Scale เล็กๆ ผมเริ่มที่แปลงข้างหน้าบ้าน ตั้งแต่อายุ 28-29 ทำกับเพื่อน 2 คน ทำเต็มที่เกินพื้นที่ (หัวเราะ) ไปเอาต้นไม้กันเองนะ เอารถกระบะไปขนต้นไม้เอง ขับเอง ยกลงเอง ตอนนั้นปี ’40 เศรษฐกิจตก ผมทำอะไรก็ได้ขอให้มีชีวิตอยู่ คุณอาจไม่ได้สัมผัสความรู้สึกอย่างผม มันเป็นช่วงเวลาที่สนุกมากตรงที่ว่าแต่ละคนขอให้มีงานทำ งานอะไรก็ทำ จากนั้นมาก็รับทำ Landscape เป็น Scale ใหญ่ และผมรับเฉพาะออกแบบบ้านเท่านั้น อยากทำงานที่อยากทำจริงๆ ทุกงานต้องคุยกับลูกค้าอย่างดี ถ้าเกิดรู้สึกเข้ากันได้ก็อยากทำ การคุยจะบอกเราเองว่าคนนี้เหมาะไม่เหมาะอะไรยังไง คนเราเป็นมนุษย์มันมีเซ้นส์ตรงนี้อยู่ เป็นเรื่องสำคัญนะ คือบางครั้งคุณต้องเลือกได้ ถ้ามีทางเลือก แล้วคุณก็จะได้เลือกไปตลอดชีวิต แต่หากคุณไม่เลือก เชื่อเถอะ คุณก็จะไม่เลือกไปตลอดชีวิต ฉะนั้นอย่างแรกคือเลือกที่เราชอบ จะอะไรแล้วแต่ และทำในสิ่งที่เราชอบ โอเค เราอาจเลือกผิดก็ได้ เราอาจเลือกบางอย่างไม่ได้ แต่ว่าถ้าเกิดคุณเลือกได้คุณก็ต้องเลือก

DBs: Scale ขยายใหญ่ขึ้นได้อย่างไร
สุริยะ
: พี่ขยาย (ขยาย นุ้ยจันทร์) ซึ่งตอนนี้เป็นหุ้นส่วนที่ทำงานออกแบบด้วยกัน แนะนำบ้านหลังหนึ่ง เขาไปบังคับลูกค้าว่าต้องให้ผมทำ และบังคับผมด้วยว่าผมต้องทำ แล้วเราก็ตั้งใจทำกันอย่างดีทำกันนานมาก ประมาณ 2 ปี พื้นที่ไม่ได้ใหญ่มาก แต่ว่าบ้านหลังนี้ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ เป็นบ้านที่เรารู้สึกว่าเป็นงานสวนที่ดีที่สุด ตั้งแต่ที่เคยทำมา คือเราทำอย่างตั้งใจ แล้วสนุก เจ้าของบ้านร่วมแสดงความคิดเห็น เราไปซื้อต้นไม้กันดึกๆ ดื่นๆ ยกต้นไม้กัน ที่ใช้เวลานาน เพราะเราต้องรอการสร้างบ้านด้วย คือทำงานสวนจะมีการลงต้นไม้ใหญ่ชุดหนึ่ง แล้วทิ้งช่วงเพื่อรองานก่อสร้าง พอเสร็จช่วงหนึ่งก็ลงไม้พุ่ม เรียกว่าเดี๋ยวเสร็จโครงการอีกประมาณสัก 20 วันเดี๋ยวลงหญ้า เพราะถ้าลงก่อนเดี๋ยวหญ้าตายหมด เมื่อลงต้นไม้ใหญ่แล้วก็ให้น้ำไป ต้องคิดเรื่องระบบน้ำก่อนต้องคิดว่าใช้ระบบน้ำอะไร มีระบบและขั้นตอนของมันไล่ลำดับ งานใหญ่ที่สุดคือ 18 ไร่ ตอนนั้นคือเพื่อนผมเป็นสถาปนิกออกแบบ ผมไม่ได้มีบทบาททางสถาปัตย์ ต้นไม้แต่ละต้นเจ้าของบ้านจะบอกเราเองว่าชอบอะไรบ้าง ไม่ชอบอะไรบ้าง ตรงนี้สำคัญ ผมมีหน้าที่ปรับแต่งให้สวย

DBs: อะไรที่สำคัญในบริบทของความเป็นบ้าน เมื่อคุณออกแบบภูมิสถาปัตย์และออกแบบบ้านไปพร้อมกันด้วย
สุริยะ
: มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปเจอลูกค้า ซึ่งเป็นรุ่นที่สามที่เป็นเจ้าของตั้งเซ่งจั๊ว และคุยกับเขาว่า แปลกใจมากว่าเวลาผมเหนื่อยแล้วกลับมาที่ออฟฟิศ แล้วหายเหนื่อยมีพลังทุกครั้งเวลาที่ผมเดินเข้ามา ไม่รู้ว่าเป็นเพราะว่าอะไร หลังจากคุยเสร็จตอนกลางคืนผมก็กลับมาเปิดประตูข้างหน้าเดินเข้ามาที่ออฟฟิศด้านหน้า แล้วเดินมาที่คอร์ตกลาง (มีบ่อน้ำ เลี้ยงปลาไว้ในบ่อ และมีสวนแบบแขวน พร้อมงานประติมากรรมหิน) ทีนี้ผมก็เข้าใจว่าเพราะอะไร นั่นคือเมืองไทยเป็นเมืองร้อน ฉะนั้นเวลาคุณอยู่ในรถ คุณเย็น เพราะเปิดแอร์ แต่ช่วงระหว่างที่ออกจากรถและเดินเข้าสู่ตัวอาคาร ช่วงนั้นมันจะร้อนอบอ้าวทำให้เหงื่อตก พอคุณเปิดประตูบ้าน ซึ่งบ้านร้อนอยู่แล้ว จากการที่คุณอาจไม่มีคนรับใช้คอยเปิดแอร์ทิ้งไว้ก่อนคุณมาถึง นี่ล่ะจะทำให้คุณอึดอัดเลย รู้สึกไม่ดีทุกครั้งที่เปิดประตูเข้าบ้าน ซึ่งที่ออฟฟิศของผมไม่เป็น แต่ไม่มีคนรับใช้นะ ผมอธิบายได้ครับ เพราะพอเปิดประตูรั้วจะเป็นที่โล่ง มีที่นั่ง มีที่ล้างมือล้างเท้าอะไรต่างๆ รอนิดหนึ่งล้างมือเย็นๆ นิดหนึ่ง ล้างหน้าก็ได้ เปิดประตูเข้ามาในออฟฟิศเดินผ่านเข้ามาถึงคอร์ตกลาง คือสามารถวางของบนหีบ บนก้อนหิน ดูปลานิดหนึ่ง เดินวนไปวนมาก่อนเข้าไปทำงาน มันมีระยะ เหมือนบ้านทรงไทยในอดีตมีเป็นชานบ้าน ฉะนั้นเวลาเราเปิดประตูมาปุ๊บก็เดินเข้าไป เราจะเจอชาน ซึ่งเป็นตัวจ่าย เป็นตัวรอเหมือนกับโถงรอ แต่โถงรอมันก็มีที่นั่ง เพราะบ้านจะยกพื้นขึ้นมา 30 เซนติเมตร และเราก็นั่งได้ ฉะนั้นคุณเอาของวางแล้วนั่งก่อนที่จะเข้าห้อง ทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัว

เพิ่ม interview

DBs: คอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนของคุณคือ การใช้ความรู้สึกในการออกแบบ และมันคือวิธีการทำงานของคุณ
สุริยะ
: ผมมีลูกค้าอยู่คนหนึ่ง เขาเป็นคนที่รอบรู้มากๆ เลย มีข้อมูลทุกอย่าง เป็นคนที่มีความคิดละเอียดมาก เขาทำโรงงานจึงสามารถอธิบายอะไรได้ละเอียดยิบ และแปลกมาก เพราะเขาเป็นนักธุรกิจที่เข้าใจศิลปะเป็นอย่างดี คุยเรื่องความงาม คุยเรื่องอะไรได้หมดทุกครั้งที่คุยกัน แต่คุยงานนี่ล่ะ แล้วมาจบที่ว่า ผมคุยกับเขาด้วยการพูดถึงเรื่องความรู้สึก หลังจากจับประเด็นได้ค่อยเอาเรื่องความรู้มาใส่ทีหลัง ถ้าเปรียบเทียบก็สมมุติว่าคุณเดินเข้าไปเจอลูกค้า คุณเอาความรู้ไว้หน้าประตูห้องทั้งหมด บอกเลย เดี๋ยวคุณความรู้ กรุณารอตรงนี้นะ เดี๋ยวผมขอคุยเรื่องต่างๆ ก่อน การคุยจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ แต่คือรับรู้ความรู้สึกร่วมกัน หลังจากที่ได้ไอเดีย ได้ความรู้สึกแล้ว ค่อยเอาความรู้มาใส่ ฟังแล้ว เอ…ยังไม่พอ ขอที่ปรึกษามาเพิ่ม แบบนี้ล่ะคุณจะทำงานอะไรก็ได้ เพราะคุณไม่สามารถทำงานคนเดียวได้นะ โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมนี่ถือว่าต้องใช้บุคลากร หรือที่ปรึกษาค่อนข้างเยอะ ทำงานแบบนี้เราจะเข้าใจทันทีเลย

ผมพูดต่ออีกนิดหนึ่งนะครับ เรื่องศาสนาละกัน ผมว่าคนที่ปฏิบัติมาบ้างจะเข้าใจเร็ว คือผมพูดในฉบับสั้นๆ นะ เวลาเราปฏิบัติเราจะต้องกำหนดที่ตัวเรา อาจเป็นที่ท้องหรือว่าจมูกก็แล้วแต่ วิธีการที่เรากำหนดคือเราสร้างตัวรู้มาตัวหนึ่ง แต่คุณภคพรทราบตรงนี้ใช่ไหมครับ คือการกำหนดว่าซ้ายหรือขวา พองหรือยุบ เข้าหรือออก พุทหรือโธก็แล้วแต่ นั่นคือเราได้สร้างตัวรู้มาตัวหนึ่งเพื่อที่จะไปจับสิ่งที่อยู่ในร่างกายได้ จริงๆ เป็นเพราะว่าเรามีร่างกายนะเราถึงกำหนดได้ เทวดากำหนดไม่ได้ ทราบดีใช่ไหมตรงนี้ ที่นี้พอเรารู้ตัวนี้และฝึกบ่อยๆ ตัวรู้ตัวนี้มันจะเข้มแข็งขึ้น ตัวรู้ตัวนี้ก็สามารถจะจับอะไรต่างๆ ได้เยอะอยู่ เช่น เราเดินเข้าไปเรารู้ว่าเราไม่ชอบอันนี้ ตัวรู้มันจะบอกเลย แล้วเราก็จะไปรู้กับตัวรู้อีกรอบหนึ่งว่าเราไม่ชอบ ที่นี้บทวิเคราะห์ตัวอื่นมันก็จะตามมาด้วยว่าทำไมเราไม่ชอบ

1_004_select1_005_select

DBs: ช่วงวัยใดที่ความรู้ทางศาสนาพุทธสอดแทรกไว้ในงาน ก่อนได้ออกแบบสิ่งต่างๆ ที่วัดพุทธโคดม ระหว่าง หรือภายหลัง
สุริยะ
: ถ้าไม่ได้ไปที่วัดก็คือจะไม่เข้าใจ แต่ว่าก็เคยมีคำถามออกมาแต่ผมไม่เข้าใจ มันมีคำถามในหัวตลอด อย่างน้อยคุณต้องมีพื้น คำว่าพื้นอาจเป็นความสงสัยก็ได้นะครับ อย่างพื้นของผมก็คือความสงสัย ผมไม่เคยเชื่อนานเลย เรื่องพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำไป ซึ่งไม่ดีเลย แต่ผมสนใจ ผมมักตั้งคำถามก่อนเลยว่าชีวิตเราเกิดมาเพื่ออะไร ทำไมต้องเกิด จนกระทั่งพอเราไปอยู่กับหลวงพ่อ ทำงานให้กับหลวงพ่อ ก็รับรู้ได้ คือความรู้บางอย่างไม่ได้มาจากการอ่านหรือการเขียน แต่จากการอยู่กับใครคนหนึ่ง ผมซึมซับจากคนคนนั้นได้ บางครั้งเป็นเรื่องของภาษาจิตด้วยซ้ำไป คือผมสามารถรับรู้ได้ ไม่ต้องผ่านการฟัง หรือว่าจากการอ่าน

เมื่อก่อนผมอ่านของท่านพุทธทาส ไม่เข้าใจเลย ตอนหลังกลับไปอ่านก็รู้สึกว่าเออ โอเค…ง่ายขึ้นนะ หรืออย่างตอนหลังผมมาอ่านหนังสือชื่อ หลวงปู่ฝากไว้ ของหลวงปู่ดุลย์ อยู่จังหวัดสุรินทร์ เป็นคล้ายๆ แบบปรัชญาเซนเล่มเล็กที่ไม่ได้เล็กธรรมดานะ แต่เล็กมากๆ มีคำสั้นๆ ที่หลวงพ่อพูดกับชาวบ้านพุทธศาสนิกชน แล้วมีคนเก็บไว้มารวบรวม อ่านสนุก อ่านปุ๊บ จะรู้ว่าคนที่อ่านต้องมีพื้นมาก่อน ถ้าไม่มีพื้นมันยากนะ เป็นคำสั้นๆ จริงๆ อาจเป็นคำชาวบ้านนะ แต่ถ้าเกิดการตีความ แล้วเรามีพื้นมาก่อนมันจะเข้าใจ ว่าทำไมคำนั้นมาได้ยังไง แล้วทำไมถึงมีคำนั้นออกมา ทำไมถึงสั้นขนาดนี้ เจ๋งมากๆ กับคำที่สั้นขนาดนี้ แต่รวบรัดมาก เวลาตีความ ลึก รัดกุมมาก

DBs: ความรู้ทางศาสนาพุทธกลายเป็นรากฐานที่ดีของวิธีคิด จนกลายเป็นความคิดที่ดีในการสร้างสรรค์งาน กระทั่งได้รับรางวัลรองรับความสามารถ หรือเพราะอานิสงส์ที่ช่วยงานพุทธศาสนาในแบบจิตอาสา ทำให้คุณเป็นคนหนึ่งในวงการสถาปนิกที่มีผู้อยากให้ออกแบบบ้านมากที่สุดกันแน่
สุริยะ
: ผมขอแจกแจงครับ คือผมทำไปโดยความชอบนะครับ ด้วยศรัทธา ตะวันออกกับตะวันตกมีส่วนต่างตรงด้านของปรัชญานะครับ ต่างกันแน่นอน แล้วในช่วงหลังเนี่ย เราต้องไปอ่านตะวันตกเหมือนกันว่าศาสนาและการสร้างชาติเขามาถึงตอนนี้ได้ยังไง บางทีอาจมีการทราบว่ามันจะมีเรื่องของศาสนามาเกี่ยวข้องกับการสร้างชาติ แต่ปรัชญาของเราอย่างพุทธไม่ได้มาจากแบบนี้นะ เราศึกษามาคือมาจากความสำรวมจริงๆ จากความต้องการที่จะหลุดพ้นจริงๆ ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะครับ พอปัจจุบันทางฝั่งยุโรปหันมาสนใจฝั่งพุทธมาก แล้วของเราที่เราทำสถาปัตยกรรม จริงๆ เนื้อหาของเราเป็นเรื่องของการเผยแพร่ทางด้านส่วนของความเชื่อเราด้วยนะ แต่ผ่านทางงานสถาปัตยกรรม จริงๆ แล้วผมไม่อยากพูดถึงว่าศาสนาอะไร เพราะว่าถ้าเกิดว่าเราพูดในวงโลกมันก็จะเป็นการเจาะเกินไป เราสามารถส่งความเชื่อผ่านงานสถาปัตยกรรม

ในความเชื่อที่ใหญ่ที่สุดคือความเชื่อเรื่องศาสนาอยู่แล้ว อันนี้คือส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุด คือเหตุผลว่าทำไมยุโรปถึงสนใจงานที่เกี่ยวข้องกับตรงนี้ ซึ่งเป็นอันดับแรก เพราะฉะนั้นถ้าเกิดถามผมว่าในเมืองไทยมีอะไรที่เป็นแก่นสารมากที่สุด คำตอบของผมคือปรัชญาชาวพุทธ ปรัชญาความพอเพียง จริงๆ แล้วปรัชญาพุทธกับความพอเพียงมันเกาะเกี่ยวกันด้วยนะ หรือถ้าคุณปฏิบัติตามพุทธก็จะอยู่ในความพอเพียงมาด้วยกัน ฉะนั้นเวลาต่างชาติเห็นงานมันมีส่วนของที่จะเป็นเนื้อหา แล้วเนื้อหานี้เป็นจริงอยู่แล้ว เนื่องจากว่าได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วตั้ง 2,500 กว่าปีใช่ไหมครับ

อย่างหอไตร ส่วนของอาคารเป็นปูนเปลือย โดดเด่นตรงหลังคาสีแดง แต่เรียบง่ายมาก ตัวอาคารให้ความรู้สึกว่าการออกแบบล้ำลึกมากค่ะ เหมือนลอยอยู่ในอากาศ เปลือกอาคารหอไตร ฉาบปูนธรรมดาเลยนะ ดูใกล้ๆ งานไม่เนี้ยบครับ แต่ให้ความรู้สึกสวยมากสำหรับผม จากฝีมือชาวบ้านที่อาสามาช่วย สร้างด้วยงบประมาณที่ถูก อยู่ที่ตัวสัดส่วนนี่สำคัญ หนึ่ง, ต้องคิดเหตุและผลก่อน สอง, คือใช้เพื่ออะไร ใช้ทำอะไรเก็บหนังสือก็เป็นกล่องได้ ช่องรับแสงที่เจาะด้านข้าง เป็นเรื่องของแสงตอนกลางวันที่เดินเข้าไป ด้านล่างเปิดได้ลมพัดผ่าน ข้างบนไม่ต้องเปิดมันสูงไป ด้านบนมีช่องลมเห็นเป็นปล่องปูดเข้ามา พอมีช่องลมก็มีช่องแสง ตัวมุ้งลวดจะเปลี่ยนแสงภายในได้ เป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อน เบสิกมากๆ แต่ในความเบสิกมันเป็นธรรมชาติ เพราะผ่านการสั่งสมประสบการณ์มาเยอะไง คือเสาไม่ได้อยู่ตรงผนังนะ เสาอยู่ด้านในผนังก็คือแยกกัน ฉะนั้นตอนทำงานก็ตั้งเสาจากด้านในขึ้นมาเลย แล้วผนังมาก่อทีหลัง ก่ออิฐบล็อกธรรมดาไม่ต้องกรีดช่อง คือตัวสัดส่วนผมออกแบบแล้ว ช่างก็มาทำต่อ ฝีมือไม่เนี้ยบ แต่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน มันก็คือประณีตทางความคิด ประณีตทางความร่วมมือกัน ใส่ใจที่จะทำ ตอนนี้มีปัญหาอะไรคือ หลังคาหอไตรมีนกไปเกาะ พอนกพิราบไปเกาะ ชาวบ้านเลยใช้แหหรืออวนมากั้น ทำให้ดูเสียโฉมไปเยอะเลย ซึ่งจะเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อไป

Walled monk's cell-01_select1_002_select

DBs: อย่างไรก็เป็นวิธีคิดที่แยบยลนะคะ
สุริยะ
: เป็นในคำพุทธที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ คือการพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน และในเรื่องการออกแบบก็ตัดหน้าระเบียงออก แนวระเบียงที่มองไม่เห็น ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องของสัญลักษณ์ ผมพูดถึงเนื้อหาที่มันสำคัญทางจิตใจ ระเบียงไม่เห็น เสาก็มองไม่เห็น เพราะมันลอยขึ้นมา ทีนี้ด้านบนพอมันบุ๋มลงไปใช่ไหมครับเราก็ทาสีเข้ม พอทาสีเข้มมันหายเข้าไปหลังคามันก็ลอยมาแยกส่วนกับตัวอาคารเอง

DBs: คุณกำหนดรูปแบบในการออกแบบบ้านให้ตัวเองไหม
สุริยะ
: ลักษณะงานของผมไม่ได้ฟิกซ์ ผมทำงานแบบสบายๆ ก็ได้นะจริงๆ แล้วทางผมนี่ไม่ได้ทำยากนะ ทำอะไรที่ง่ายๆ เพียงแต่ว่าบางครั้งสิ่งที่มันออกมาง่ายๆ มันก็ต้องผ่านการคิดนิดหนึ่ง จริงๆ แล้วถ้าเกิดผมสรุปง่ายๆ ก็คือคุณจะต้องมี Big Idea และ Small Idea เราศึกษาทางด้านพุทธมาเราศึกษาทางด้านศาสนามาด้วย รู้ว่างานที่ทำทั้งหมดก็คือเพื่อสันติ เพื่อความสงบสุข เราทำงานเพื่อให้มนุษย์ได้เกิดมาแล้ว มันมีความรื่นรมย์ มีสุนทรียภาพก็ที่อยู่อาศัยนี่แหละ เป็นการตอบสนองจากที่เคยนอนอยู่ถ้ำ นอนใต้ต้นไม้นานแล้ว ก็เปลี่ยนมาอยู่ให้เป็นสัดเป็นส่วน ถูกสุขลักษณะ แต่ต้องงดงามด้วย หลังจากนั้นก็มีส่วนที่มากกว่านั้น คือหากคุณสร้างบ้านหลังหนึ่ง แล้วทำให้ชุมชนคนรักกันมันก็ดี ยกตัวอย่างได้ คือ สะพานมอญ ที่อำเภอสังขละบุรี เป็นตัวอย่างที่ดีมากเลย ไม้ไผ่ที่ทำก็คือมีในพื้นที่ ที่มาทำคือความร่วมมือ เป็นความร่วมมือของชุมชนเกิดเป็นความสามัคคีขึ้น สะพานเป็นแค่สิ่งที่เห็นหรอก แต่สิ่งที่มองไม่เห็นมันคือมากกว่านั้น มันคือความสามัคคีในชุมชน วนอยู่รอบๆ สะพาน เป็นมวลอากาศอยู่ตรงนั้น เห็นนะครับว่าพอเรามองเป็นรูปออกมาแล้วเนี่ย สิ่งที่ดีเราจะเห็นเอง เพราะมันซ่อนอยู่เบื้องหลังทั้งหมดเลย หรือคุณออกแบบวัดวัดหนึ่ง วัดคืออะไรล่ะคุณลองตีประเด็นดูสิ สมมุติว่าวัดต้องการจุดมุ่งหมาย คือสติ คือความสงบ เราไม่รู้ว่ารูปแบบอะไร แต่เรารู้ว่ามันสงบเป็นที่พักกายพักใจ รู้สึกถึงการมีสันติ มีความร่มรื่นนะ แต่รูปแบบผมยังไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง แต่มันต้องรู้สึกแบบนี้ก่อน อย่างวัดพุทธโคดมไง วิธีคิดจากเรื่องตัวราวระเบียงที่มองไม่เห็นระเบียง ก็กลายเป็นมาร์เก็ตติ้งได้ดีเลยนะ จริงๆ ในศาสนาเขาไม่ได้เรียกว่ามาร์เก็ตติ้งเขาเรียกว่าเป็นกุศโลบาย คือเราต้องแยบคายครับ ตรงที่ว่าก็อยู่ในยโสนมสิการ ในการคิดอย่างรอบคอบถี่ถ้วน ต้องละเมียดมากนะต้องค่อยๆ ทั้งอาศัยความรู้และความรู้สึกทั้งตัวเอง ทั้งสิ่งรอบข้าง ทั้งที่ปรึกษา ผมต้องผสมผสานกัน

DBs: คุณทำงานศิลปะด้วย
สุริยะ
: ตอนนี้มีงานที่แสดงงานที่เกี่ยวกับศิลปะเยอะ อย่างล่าสุดผมแสดงงานที่หอศิลป์เรื่องสถานพักตากอากาศ ชื่อว่า รีสอร์ท ความเจ๋งของงานนี้คือโจทย์ที่ให้มาคือไม่ห้ามหรอกว่าเราจะทำอะไร แต่พอผมทำเสร็จแล้วไปเห็นคนอื่น ว่าเฮ้ย!…มันมีอีกตั้งหลายทางที่ทำได้ ผมคิดแทบตาย เยอะมาก มันไม่มีทางออกไง แต่พอเห็นของคนอื่นทำ ก็อ้อ!…มันมีตั้งหลายอย่างที่เป็นไปได้ นี่มันเจ๋งตรงนี้ เพราะฉะนั้น คุณรวมศิลปะเข้าไปด้วยกันกับงานออกแบบอื่นๆ อย่างเป็นยธรรมชาติ อาจารย์ซึ่งเป็นเพื่อนผม และสอนที่ออสเตรเลียมาสัมมนาที่คัฟเวอรี่ เขาใช้คำว่า Invisible Landscape คือเป็น Landscape ที่มองไม่เห็น และพูดถึงวัด ซึ่งผมชอบการตั้งประเด็นของเขามาก เพราะวัดที่ผมทำเป็นเรื่องของ Landscape แต่ว่าแสดงด้วยเรื่องของงานสถาปัตยกรรม

Landscape เป็นสิ่งที่คนมองไม่เห็น แต่เป็นอันที่สำคัญมากนั่นคือของเดิม เราไปทำให้ของเดิมโดดเด่นก็คือต้นไม้เด่นด้วยงานสถาปัตยกรรม เหมือนเช่นว่าเราไปเอาฉากสีขาวไปวางไว้หลังต้นไม้ แล้วทำให้ต้นไม้เด่นขึ้นอะไรประมาณนี้ ตอนทำเนี่ยเราไม่ได้แจกแจงแต่ละด้านขนาดนี้ แต่เรารู้สึกได้ เมื่อเวลาผ่านไปเราสามารถจำแนกอะไรเป็นตรรกะแบบนี้ได้ชัดเจน ซึ่งขณะนั้นเรารับรู้ว่าสิ่งที่เราทำคือเรารู้สึกแต่เราไม่สามารถจำกัดความได้ ตอนที่คุณเป็นอะไรในวัยเด็ก แล้วคุณทำไปอย่างนั้นแหละ กระทั่งถึงตอนนี้คุณสามารถจะไปจำกัดความมันได้ แล้วคุณก็รู้ว่าสิ่งที่ทำมันถูกทางแล้ว บัดนี้คุณมองกลับไปคุณใช้นิยามนั้นแล้ว เพราะตอนนี้เรามองเห็นแล้ว

DBs: แล้วอย่างพอดี พอดี ที่นำมาแสดงใน งาน สิบแปด : แปดสิบ Architecture 2014 หรืองานสถาปนิก ’57 ล่ะค่ะ
สุริยะ
: บ้านพอดีๆ เริ่มต้นจากคุณวิภาวี คุณาวิชยานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Design for Disasters-D4D อยากจะทำงานที่ช่วยเหลือประชาชน ต่อเนื่องมาจากน้ำท่วม แล้วมาร่วมทำงานกับผม โดยมี คุณอนุชิต คงสุพานิช ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท วิบูลย์วัฒนอุตสาหกรรม จำกัด ‘วีว่า บอร์ด’ ผู้สนับสนุนเงินทุนและวัสดุในการก่อสร้าง คอนเซ็ปต์จะมีกรอบไว้คือ ความพอดี ทำอะไรขึ้นมาก็อยู่ในกรอบ แล้วเราเอามาตีความคือเรารู้แล้วความประหยัดมันต้องเกิดจากอะไร คือคำว่าประหยัด เป็นการทำบ้านให้ราคาถูกที่สุด ฉะนั้นมันต้องเกิดจากการเลือกวัสดุที่เหมาะสม แต่ต้องมีพิกัดที่ลงตัวแล้วเหลือเศษน้อยสุด หรือเศษนั้นสามารถไปทำอย่างอื่นได้ อันนั้นคือการคิดที่น้อยที่สุด ผมคิดจบตั้งแต่ตอนแรกแล้วครับ แต่จะยากตรงที่เราต้องคิดเรื่องขนาดวัสดุให้ลงตัว

DBs: ‘พอดีๆ เป็นบ้านสำหรับประชาชนทั่วไปที่ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในตลาด ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการคำนวณการออกแบบให้มีการเสียเศษน้อยที่สุด และมีพื้นที่การใช้งานที่พอดี เพื่อให้อยู่ในงบประมาณที่ทำให้ทุกคนมีบ้านเป็นของตัวเองได้โดยใช้เวลาก่อสร้างเพียงไม่กี่วัน และใช้เงินเพียงไม่กี่แสนการเสวนานี้เป็นการร่วมหาแนวทางในอนาคตถึงการออกแบบและผลิตวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างให้มีราคาย่อมเยา และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ประชาชนมีบ้านพอดี ในงบประมาณที่พอดี’ ในสูจิบัตรบอกไว้แบบนี้ ความยากของงานนื้อยู่ตรงไหน
สุริยะ
: เช่นว่ากว่าที่เราจะได้รูปทรงของบ้าน วัสดุที่จะนำมาใช้ เราต้องเลือกหลายอย่าง เราใช้แผ่นวีว่าแซมเหล็กที่เราเอามาใช้ทำโครงสร้างของบ้าน ผนังนี่เราเอา 2 ใน 4 เพราะ 2 ใน 4 เป็นความสูงของวีว่าจะได้ไม่ต้องตัด หรือว่าความสูงของเสาต้องได้ 2 เมตรก่อนที่จะต้องตัด ตรงนี้ล่ะที่เราคิดกันนาน มีคำถามในหัวเยอะ ว่าเลือกใช้ตัวไหนดี ฟังก์ชันน่าจะเลือกเอาขนาดนี้ดีไหม หรือใหญ่กว่านี้ หรือเล็กกว่านี้ เราจะเริ่มต้นจากตรงไหนดี ถ้ามากกว่านี้มันแพงไป ถ้าน้อยกว่านี้มันเล็กไป เอาอันไหนที่พอดีๆ ล่ะ ตรงชื่อโครงการ หรือว่าเราจะเอาห้องน้ำไว้ข้างนอกดีไหม ก็ไม่ได้อีก เพราะว่าอยากให้เป็นสเปคเกรดเดียว มันจะไม่ซ้ำซ้อน แต่ในความเป็นจริงถ้าเกิดคุณจะไปก่อสร้างเป็นห้องน้ำข้างนอกมันก็ไม่เป็นไร ก็ทำได้ง่ายขึ้น ทำเป็นบ้านอย่างเดียวมีห้องน้ำอยู่ข้างนอกได้ แต่ว่าห้องน้ำข้างนอกเนี่ยคุณต้องยกสูง เพราะถ้าเกิดน้ำท่วมคุณจะมีปัญหาอีก แต่คราวนี้ว่าของเรานี้มันอยู่ข้างบนก็แก้ปัญหาได้ใน ตอนแรกก็คืองานดีไซน์เลย และความพอดีมันมีโลกของเขา และไม่ขึ้นอยู่กับจนรวย พอดีในแง่มุมไหนเหรอก็หลายๆอย่างพอดีหมด ตอนนั้นพอดีก็มีอยู่ 4 อย่าง คือง่ายพอดี ราคาพอดี เบียดเบียนพอดี อบอุ่นพอดี ซึ่งไอเดีย 4 อย่างนี้จะมาอย่างเดียวแต่มันเป็น 4 อย่างได้ เวลาคุณคิดราคาพอดี มันก็ต้องทำง่ายด้วยเพราะของมันน้อย เพราะงั้นถ้าทำยากราคามันก็จะเพิ่มมา ทีนี้พอราคาถูกที่สุดสรุปต้องใช้น้อย ต้องเหลือเสียน้อยก็เบียดเบียนโลกแต่พอดี

DBs: เอาแนวคิด Big Idea, Small Idea มาใส่ทุกงาน
สุริยะ
: ครับ จะมีละเอียดหมด จริงๆ แล้วอันดับแรกของงานทั่วๆ ไปคือต้องตอบสนอง สมมุติว่าจะใช้งานอะไร ที่ตอบสนองคือต้องมีสุนทรียภาพต้องมีความงดงาม ถ้าเกิดมีผลต่อเนื่องกับอย่างอื่นได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้าสิ่งที่คุณทำมี อย่างที่ผมพูดถึงเรื่องสะพานมอญถ้าเกิดคุณทำแล้ว ทำให้ชุมชนสามัคคีกัน นั่นก็อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่ต้องการจริงๆ แล้วละ

DBs: งานที่ผ่านมา มีอะไรที่มันท้าทายทำให้เราอยากทำ
สุริยะ
: งานที่ท้าทายก็มีคิดเรื่องหลายๆ อย่าง เรื่องสเกล ขนาด เป็นเรื่องของความเล็กหรือรัดกุมก็ได้ อาจะคิดเป็นกายภาพหรือนามธรรมก็ได้ ถ้าเกิดได้ในสเกลใหญ่ลองดูว่าจะจัดการยังไง แต่ถ้าได้ในสิ่งเล็ก สมมุติว่าเราทำงานชิ้นหนึ่งสเกลเล็กๆ แต่มีเนื้อหาที่ลึกมากละเอียดมากก็น่าสนใจ อย่างงานในโลกมีหลายงานที่เป็นสเกลเล็กแต่น่าสนใจ ฉะนั้นขนาดไม่ใช่ตัววัดคุณภาพ

DBs: ตอนทำงานใหม่ๆ กับตอนนี้ มุมมอง ความสด ความตั้งใจ ความลึกซึ้งในการคิดงานเปลี่ยนไปไหม
สุริยะ
: ตอนเด็กๆ นี่เราจะมีพลังงานเยอะนะ เราทำเยอะแต่ว่าเราไม่ได้โฟกัส ตอนเราโตมาเราก็พยายามทำงานน้อยลง แต่เราจะรู้ว่าทำอะไรถึงจะใกล้เคียงความจริงมากที่สุด เราบีบมันมาพลังงานน้อยจริงๆ แต่ว่าเราใช้แรงเพียงนิดเดียวไปทำในส่วนที่เราต้องการทำ แต่ตอนเด็กที่เรากระจายคือเราทำทุกอย่างได้อันนี้สำคัญ เคยมีคนถามผมว่าบอยกับแมน นี่มันต่างกันอย่างไร บอยก็คือว่าคนที่มีพลังงานเยอะกว่าแล้วทำทุกอย่างได้ แต่อาจจะไม่ได้ดีสักอย่าง แต่แมนมีพลังงานน้อยมากเลย แก่แล้วแต่มีพลังงานอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วพยายามจะทำอะไรนิดหนึ่งแต่เป็นสิ่งที่โดน นั่นแหละครับคือพอเราโตขึ้นเราจะเป็นแบบนี้

DBs: ขอถามถึงความรู้สึกจากการที่ได้รับรางวัลบ้าง
สุริยะ
: จำได้ว่าก่อนที่จะคุยกัน คุณมีคำถามหนึ่งว่าการทำงานต้องการชื่อเสียงหรือเปล่า จะต้องส่งประกวดหรือเปล่า ผมบอกเลยว่ารางวัลคือเป็นสิ่งไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นจะไม่ใช่รางวัล ถ้าจำเป็นจะเรียกว่างานที่ต้องทำ แต่รางวัลนี่ไม่จำเป็นจะต้องได้ก็ได้ ฉะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณคิดว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นมันก็จะไม่ใช่รางวัล แต่ว่ากระบวนการในงานของผมที่ผมทำทุกตัวเนี่ยผมจะต้องส่งประกวดเหมือนกัน ก็ส่วนใหญ่เกือบทุกงานก็พยายามที่จะส่งเข้าประกวด

เพราะผมให้งานประกวดอยู่ในกระบวนการของการทำงานด้วย คือผมมองว่ากระบวนการทำงานเริ่มจากการคิดแบบ ทำแบบ ทำรูปด้าน รูปตัดอะไรต่างๆ นี้ของลูกค้า ดูแลงานจนกระทั่งส่งแบบจนจบการก่อสร้าง แล้วเสร็จสมบูรณ์ ดูแลงานให้ลูกค้า แล้วก็ส่งงานประกวด มันจะฝึกตัวเราให้มีการเตรียมงาน คือถ้าเกิดว่าคุณเตรียมข้อมูลทั้งหมดตอนที่ทำตั้งแต่ต้น คุณก็ส่งประกวดที่ไหนก็ได้ คอนเซ็ปต์คืออะไรเก็บภาพช็อตทุกขั้นตอนเก็บเป็น Book ไว้เวลาส่งงานประกวดมันจะง่ายมากเลย เพราะเรามีกระบวนการ มีรูปถ่าย เป็นการฝึกตัวเอง แล้วการประกวดจะดีตรงที่ว่า อย่างที่ผมบอกผมได้รับการเชิญไปแสดงงานที่หอศิลป์ เรายังไม่เคยคิดว่าเราจะยังไงโจทย์ตรงนั้นจะจัดแสดง ออกมายังไง แต่ว่าพอมาเห็นมีตั้งหลายอย่างที่จะเป็นไปได้ในโจทย์นั้นน่ะแต่เราคิดไปไม่ถึงไง เช่นเดียวกันเวลาเราส่งงานประกวด ทำไมปีนี้เราไม่ได้มันทำให้เราตั้งใจแล้วเราก็จะเออมันได้ แล้วเราก็จะวิเคราะห์ต่อได้ว่าเพราะอะไร มันฝึกตัวเรามันฝึกการวิเคราะห์ เป็นการเรียนอย่างมหัศจรรย์มากเลย ช่วงหลังทำมาตลอดแต่ผมหยุดไปสักสองสามปีเลยนะ ก็มีปีสุดท้ายที่ส่ง แต่สองปีมานี้ก็ได้รางวัลนะ

Pordee house copy copy

DBs: ต่อไปงานจะไปในทิศทางใด
สุริยะ
: คราวนี้ผมอยากเล่นเกี่ยวกับเรื่องแสงเงา ยกตัวอย่างบ้านที่กำลังทำให้ลูกค้าอยู่ตอนนี้นะ แดดอยู่ฝั่งในห้องอย่างนี้ แล้วก็ตรงนี้ก็ลมพัดผ่านได้ อันนี้บ้านริมชายหาดที่หัวหิน ช่วงที่ชายหาดสวยที่สุด มีส่วนที่มองทะเลได้กว้างที่สุด เราก็จะเปิด ส่วนตรงนี้ช่วงที่บีบก็จะเป็นฟังก์ชัน ส่วนด้านหลังนี่ก็เปิดนิดหนึ่งก็จะเป็น Landscape ด้านหลังคือติดถนน มุมข้างบ้านเป็นร้านอาหารของลูกค้าจริงๆ แล้วเป็นครัว คืออย่างนี้ครับเวลาลูกค้าเวลาไปอยู่มันเหงา เขาก็เลยคิดเบ็ดเสร็จเลยว่ามันจะต้องมีอะไรบ้าง ทีนี้วิธีการเป็นยังไงบ้าง สมมุติว่ามีครอบครัวส่วนตัวแล้ววันนี้เขาไม่อยู่ ก็ให้มีกิจกรรมหน่อย เพื่อให้มีอะไรที่ไม่นิ่ง ซึ่งจะเป็นส่วนที่เลี้ยงค่าน้ำค่าไฟตรงนี้ได้ ด้วยร้านอาหารแบบนี้

บางวันเราอาจมีประตูปิดเปิดที่สามารถจะมานั่งตรงนี้ได้ แต่ว่าเราต้องมีระดับที่ต่ำลงไปนิดหนึ่ง เพื่อเป็นที่นั่งได้และเป็นส่วนตัว แต่งานชิ้นนี้เราเล่นกับเรื่องของแสงเงาด้วย คือชื่องานชื่อว่า ลูน่ามาเร่ เป็นภาษาสเปนที่แปลว่า ทะเลพระจันทร์ ซึ่งเรื่องของแสงเงาคิดว่ามุมมองในแต่ละมุมเนี่ยออกมายังไงก็ยิ่งลึกซึ้งเข้าไปอีก การที่เราเอาแบบมาให้ลูกค้าเนี่ยเราจะต้องคิดต่อยอดไปให้ไกลกว่าที่ลูกค้าคิด คือลูกค้าเขาคิดดีแล้วแต่เราต้องคิดไปไกลกว่าที่เขาคิดมา งานชิ้นนี้ตอนนี้คิดว่ามันเป็นประติมากรรมชิ้นหนึ่งก็ว่าได้ แต่ว่าจะต้องตอบสนองด้วย ต้องเป็นอะไรที่เงินก็ซื้อไม่ได้แล้วเราถึงต้องสร้างตรงนี้มา ตีประเด็นว่าเราจะสร้างเราจะทำอะไรกัน คือในความเป็นจริงเราก็อยากจะรู้สึกว่าเหมือนเดินเข้าไปในหอศิลป์น่ะแต่เป็นหอศิลป์ที่อยู่ได้เหมือนกับเรานอนอยู่ในที่หนึ่งที่มันสง่างาม และต้องสวยครับ เพราะเรามีอยู่สองอย่างแล้วนะคือทะเลกับพระจันทร์ที่จะเป็นเสมือนงานศิลปะ ฉะนั้นเราจะต้องออกแบบทุกอย่างให้ลงตัวกับงานศิลปะซึ่งเป็นมาสเตอร์พีซอยู่แล้ว ดังนั้นเราจะหาจุดยืนหาช่องมองให้เจ๋งๆ ก็เท่านั้นเอง งานสถาปัตยกรรมก็คือจุดมองหรือช่องมองที่เห็นพระจันทร์ได้อย่างสง่างาม แล้วเอาเรื่องของแสงอื่นๆ มาเสริม จุดสำคัญในมิวเซียมก็คือแสงต้องทำให้งานในมิวเซียมนั้นสวยด้วย

DBs: แล้วคำว่าฮวงจุ้ย กับคำว่าอยู่สบาย คุณให้ความสำคัญอันไหนมากกว่ากัน
สุริยะ
: ฮวงจุ้ยก็คือสถาปัตยกรรมของจีนสมัยโบราณ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ผมจะพูดถึงฮวงจุ้ยที่ผมเชื่อก่อน ว่าคืออะไรแต่ผมนิยามคำว่าฮวงจุ้ย สมมุติว่าตอนนี้ผมได้ทางสามแพร่ง ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่อยากอยู่ ผมจะอธิบายว่าทำไมคนถึงไม่อยากอยู่ ทำไมถึงอยู่แล้วจะไม่มีความสุขเรื่องราวมันง่ายนิดเดียว ต้องเข้าใจในส่วนนี้ก่อนว่า ทุกครั้งเวลารถวิ่งเข้ามาไฟมันจะส่อง เราจะตกใจทุกครั้ง เราอาจไม่รู้สึกตัว มันจะแวบๆ ว่ารถชนเรารึเปล่ามันย้ำอย่างนั้นทุกวัน วันละประมาณสิบถึงสามสิบรอบ เอ๊ะ…รถวิ่งมาชนเรารึเปล่า เราอาจจะไม่รู้ตัวแต่เราคิดอย่างนั้น ไอ้ความคิดมันซ้ำซ้อนทุกวันๆ ทุกขณะๆ นั้นคือหนึ่ง สอง, เพื่อนบ้านก็ยังมาพูดคล้ายๆ มาไซโคเราอีกว่า ที่ตรงนี้เป็นทางสามแพร่งมันไม่ดี คุณก็ไปเชื่อตรงนั้นอีกก็ไม่สบายใจ โอเค…ละ ทีนี้มันต้องสิ่งแก้

อย่างที่คุณบอกเมื่อกี้สิ่งแก้แปดเหลี่ยม มันคือกระจก เรื่องราวของกระจกง่ายนิดเดียว ก็คือการสะท้อนกลับ การสะท้อนกลับก็คือว่าแสงจะสะท้อนกลับที่คนขับรถ เป็นการแจ้งเตือนเขาว่าอย่าขับไวนะ ตรงนี้มีบ้านอยู่ นั่นแหละ หรืออยากวางพระไว้ก็ไม่ได้มีอะไร เป็นความเชื่อของเราเองมีพระอยู่แล้วเราอุ่นใจ เป็นส่วนหนึ่งของตัวเราเอง

โอเค…ผมพูดถึงทางแก้ของทางสามแพร่ง โดยวิธีการของผม อันดับแรกผมต้องเชื่อมั่นก่อนว่าคือผมแก้ได้ เมื่อบ้านมีสองชั้น ดังนั้นชั้นล่างผมจะทำเป็นที่จอดรถทั้งหมดเลย อันดับที่สองผมจะไปอยู่ข้างบน แต่อาจทำเป็นเวิร์กช็อปด้านหน้าก่อน อะไรที่ต้องปะทะจะอยู่ด้านหน้า เราไปอยู่ด้านหลังมีแบ็กอัพเรียบร้อย สมมุติแล้วกันผมจะให้อีกหนึ่งโจทย์ว่า จะมีก้อนหินก้อนใหญ่ๆ สูงสักสามเมตรวางอยู่นะครับ ผมเอาก้อนหินวางอยู่ก้อนหนึ่ง คนเวลาขับรถมามันต้องระวังละ เดี๋ยวถ้าเกิดเราชนปุ๊บรถพังแน่เลย เราอยู่ในบ้านเรารู้สึกไม่กลัว ชนมาเหอะแน่นอนจะรู้สึกไวมากเลย แต่เราจะอยู่สบายมากชนมาเหอะ ไม่เป็นไร แค่คิดแบบนี้แต่ไวมากแทบจะไม่รู้ตัวว่าเราคิด โอเคมันทำให้เรารู้สึกสบาย แต่บางทีพอเราวางหินอาจจะดูก้าวร้าวเกินไป ถ้าเรามีดอกไม้เล็กๆ ไปวาง คนก็จะรู้สึก เออ…เราไม่ขับรถเร็วเพราะมีดอกไม้อยู่ อันดับที่สามมีน้ำเคลื่อนไหวนิดหนึ่ง พอมีน้ำเคลื่อนไหวก็จะเกิดความนุ่มนวลขึ้น เป็นการป้องกันตัวเองเต็มที่แต่แฝงด้วยความสละสลวย ที่เราก็รู้สึกดีคนที่ขับรถมาก็ยิ้มแย้ม เมื่อเห็นดอกไม้ เห็นน้ำ เราเห็นหน้าเขาเราก็รู้สึกเบิกบาน ทุกอย่างแก้ได้หมดแต่ก็ต้องสวยงามด้วย เพราะฉะนั้นเราก็จะอยู่อย่างมีความสุข คนที่ขับรถมาก็จะชะลอทุกครั้งเพราะมีหินนิ แต่หินเราไม่ได้ก้าวร้าวนะ

 

Leave A Comment