INCHAN ATELIER
INchan atelier
TEXT : ณิชา เตชะนิรัติศัย
PHOTO : ฉัตรชัย เจริญพุฒ
สถาปนิกและเจ้าของบริษัท INchan atelier ก่อตั้งเมื่อปี 2002 ซึ่งรับงานออกแบบสถาปัตยกรรมทั้งภายนอกและภายใน โดยผลงานโดดเด่นล่าสุดคือ Huamark09 ที่เป็นทั้งสำนักงานและบ้านของคุณนนท์และครอบครัว ซึ่งเป็นผลงานที่หลายคนจดจำได้เพียงแค่เห็นครั้งแรก แต่เต็มไปด้วยเบื้องหลังที่คุณนนท์พยามตอบโจทย์ในแบบของตัวเองตั้งแต่วิธีการออกแบบ วิธีการทำงาน ตลอดจนวิธีเลือกใช้วัสดุ ด้วยตัวตนเป็นคนไม่ได้อยู่แต่ในกรอบแบบใดแบบหนึ่งเพียงอย่างเดียว ทำให้เป็นทั้งนักการศึกษา สถาปนิก นักสร้างสรรค์ที่รวมไปถึงงานศิลปะเลยที่เดียว
DAYBEDS : ประวัติ
อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ :ผมจบจากคณะสถาปัตย์ พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แต่ช่วงเวลาที่ผมเรียนจบเป็นช่วงที่ประเทศไทยฟองสู่แตกตอนปี พ.ศ.2540 ทำให้ผมตัดสินใจไปหางานทำที่เชียงใหม่ เพราะความผูกพันธ์ในวัยเด็ก และโชคดีที่ได้งานเป็นอาจารย์พิเศษ ที่โครงการจัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมสอนอยู่ประมาณปีครึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับความคิดของผม และได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ๆจากอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ.จุลทัศน์ กิติบุตร , อ.อาวุธ อังคาวุธ และ อ.ธวัชชัย เตริยาภิรมย์ ผู้ที่ได้เปิดโลกทัศน์ที่ลึกซึ้งและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผมมาก จากนั้นผมจึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่โรงเรียนเล็กๆ แต่เข้มข้นด้วยการเรียนแบบ self-directed program ที่ Cranbrook Academy of Arts รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ที่นี่ผมได้อยู่ในโลกของการค้นหาตัวเองด้วยบรรยากาศที่ศิลปะและการออกแบบไม่ได้แยกออกจากกัน เป็นโรงเรียนที่อนุญาตให้ผมไตร่ตรองและถกเถียงกับเพื่อนในระดับปรัชญาแต่ต้องลงมือทำงานออกมาด้วยวัสดุจริงแบบมาตราส่วนจริงตลอดเวลา ผลลัพธ์จากการไปใช้ชีวิตที่นั่นทำให้ระบบความคิดของผมชัดเจนและละเมียดขึ้น
DAYBEDS :กลับมาแล้วทำงานอะไร
อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ : หลังจากเรียนจบกลับมา ผมยังไม่ได้เริ่มงานเป็นสถาปนิกเต็มตัว ตอนนั้นผมยังครุ่นคิดถึงเรื่องทางวิชาการอยู่เยอะมาก เลยตัดสินใจจะสอนหนังสือก่อนโดยหาตำแหน่งอาจารย์ตามมหาวิทยาลัย 2-3 แห่ง โดยสุดท้ายผมได้รับโอกาสเป็นอาจารย์สอนที่คณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ผมสอนอยู่ที่นั่น 3 ปีในฐานะอาจารย์ประจำและต่อเนื่องมาอีก 3 ปีในฐานะอาจารย์พิเศษและวิทยากร ก่อนที่ผมจะเริ่มผันตัวเองมาทำงานธุรกิจพัฒนาที่ดินของที่บ้านอย่างเต็มตัว ซึ่งต้องวนเวียนกับการหารายได้ งานเอกสาร และการทำงานร่วมกับคนทุกรูปแบบ ความหลากหลายในประสบการณ์ตอนนั้นสอนผมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโลกความจริงกับโลกในอุดมการณ์ เรื่องการทำงานเป็นทีม และเรื่องการบริหารงานภายใต้ข้อจำกัด ซึ่งต่อมาผมได้ใช้ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ในการทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือTCDC (Thailand Creative and Design Center) ช่วงก่อตั้งแรกๆ ในฐานะนักวิชาการภาคการออกแบบเพื่อเชื่อมโยงวิชาการกับธุรกิจเข้าหากัน
DAYBEDS : เริ่มอาชีพสถาปนิกเต็มตัวอย่างไร
อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ : จริงๆแล้ว ระหว่างที่ผมทำอะไรหลายๆอย่าง ผมก็ทำงานออกแบบสถาปัตย์ไปด้วยในฐานะสถาปนิกอิสระตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งผมเรียกมันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ INchan atelier ทีมงานที่ทำกันอยู่ในเวลานี้ บางคนก็เป็นคนที่ทำงานด้วยกันตั้งแต่ตอนนั้น ผมเริ่มวางแนวทางการทำงานไว้ตั้งแต่ตอนนั้นเลยว่าเราอยากคิดและทำงานที่ผลักดันเรื่องบรรยกาศอาคารแบบร้อนชื้น และพยายามทำงานให้ใกล้ชิดกับช่างเพื่อหาวิธีใช้วัสดุท้องถิ่นให้มีเสน่ห์ และในช่วงเวลาต่อมาหลายปีผมก็มาตัดสินใจตั้งเป็นสำนักงานอย่างจริงจังประมาณปี 2012 เนื่องจากมีโอกาสได้ออกแบบอาคารเรียนรวมของสถาบันการศึกษาเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งต้องทำงานในระบบธุรกิจแบบนิติบุคคล สาเหตุอีกอย่างนึงที่มาตั้งสำนักงานคือเรื่องส่วนตัวล้วนๆ นั่นคือ ผมสัญญากับตัวเองว่าจะหันหน้าให้กับการปฏิบัติวิชาชีพจริงจังโดยหยุดงานสอนในฐานะอาจารย์ไปเลย เพื่อจะเอาประสบการณ์ไว้กลับไปสอนอีกครั้ง ผมอยากมั่นใจในคำพูดของตัวเองกว่าเดิมในการบอกต่อ อะไรทำนองนั้น
DAYBEDS : สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นสถาปนิก
อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ : สถาปนิกสำหรับผมนี่เหมือนกับผู้ทำลายและผู้สร้าง“ความจริง” ประเภทหนึ่งเลยนะ โดยเราถูกมอบหมายให้สร้างเพื่อรองรับความประสงค์ของคนเป็นหลัก แล้วอย่างอื่นเป็นรอง คือสถาปนิกเหมือนคนที่กำหนดบรรยากาศของระบบนิเวศน์ขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือจะใหญ่ กล่าวคือมันมีผลกระทบหมด เพราะก่อนจะสร้างสถาปนิกทุกคนรู้ดีว่าเราต้องทำลายบางอย่างเสมอ จะตระหนักถึงผลกระทบแค่ไหนเราก็เรียกกันว่าสำนึก แต่การทำลายอันนั้นมันควรจะสร้างสิ่งที่ดีขึ้นให้ได้มากที่ทำลายไปเพื่อคนและสิ่งแวดล้อมรอบๆ
ลูกค้าแต่ละรายก็จะมีความประสงค์ไม่เหมือนกัน มีความฝันซึ่งเขาบอกเราได้เป็นส่วนๆของความฝัน ไม่ครบทั้งภาพ แต่เขาบอกเราได้เรื่องข้อจำกัดของความเป็นจริงได้อย่างดี เพราะฉะนั้นเราเองต้องรู้จักวิธีการฝันและวิถีความจริงของตัวเองเพื่อใช้รับข้อความ สรุป-ย่อย- จับประเด็น จากลูกค้าและจากทีมงานของเราเอง แล้วนำเสนอความจริงใหม่ออกไป พูดถึงตรงนี้ คงพอเห็นแล้วว่าผมมองว่าสถาปนิกเองก็ต้องเป็นนักสื่อสารที่ดีคู่ขนานไปกับการเป็นนักปฏิบัติที่ดีด้วยเช่นกัน สิ่งนี้ไม่ได้มีสอนกันในโรงเรียน แต่ปรากฏอยู่ทุกเวลาของการทำงาน
DAYBEDS : โครงการที่ทำมีหลากหลาย
อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ : ครับ สำนักงานผมทำงานหลากหลายเหมือนกัน งานที่คนส่วนใหญ่เห็นมักจะเป็นการอาคารพักอาศัย แต่จริงๆแล้วผมผ่านงานการพาณิชย์และงานประเภทสาธารณะมาพอสมควร ตั้งแต่โรงงานเบเกอรี่ พื้นที่ค้าขาย ตึกเรียนรวม งานวางผังบริเวณเพื่อการพัฒนาที่ดิน ตลอดจนถึงงานออกแบบภายในให้สำนักงานประเภทต่างๆ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ผมกับทีมงานได้มีโอกาสทำงานที่หลากหาย เพราะองค์ประกอบสถาปัตย์แบบเดียวกันในโครงการที่ต่างกันเราจะมีโอกาสในการคิดและปรับปรุงใหม่ทำในมุมที่เราไม่เคยทำมาก่อนได้ กล่าวคือมันเป็นตัวเร่งการเรียนรู้ของเราได้เป็นอย่างดีเลย
DAYBEDS : นอกจากงานสถาปัตย์ คุณนนท์ยังชอบงานศิลปะอีกด้วย
อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ : ครับ ผมชอบดูงานด้านอื่นๆด้วย งานศิลปะเป็นอย่างหนึ่งที่ผมเชื่อ เชื่อว่าศิลปะหลายๆแขนงสามารถเติมเต็มจิตใจแบบปรุงแต่งได้ดี มันเป็นสิ่งที่สถาปนิกเองก็ไม่สามารถเติมเต็มเองได้ แต่มันเป็นการทำจากสิ่งที่บางครั้งไม่มีอะไรชัดเจน ไม่แน่นอน จนกว่าข้างในของเราจะบอกว่า ใช่แล้ว! ถ้าวนกลับไปที่เราคุยกันเรื่องการทำงานสถาปัตย์และการสร้างระบบนิเวศน์ย่อมๆขึ้นมา งานศิลปะก็จะเป็นหนึ่งในผู้สร้างบรรยากาศขึ้นมาเลยทีเดียว
DAYBEDS : ใครที่เป็นแรงบันดาลใจ
อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ : ผมมีหลายคนเลย คำว่าแรงบันดาลใจ ผมขอนึกถึงคนที่หล่อหลอมบุคลิกทางความคิดผมดีกว่าครับ ตั้งแต่อาจารย์ผมที่ลาดกระบัง อาทิ อ.จิ๋ว-วิวัฒน์ เตมียพันธ์ , อ.เอกพงษ์ จุลเสนีย์ ตลอดจนอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งสามท่าน แต่คนหนึ่งที่ผมปฏิเสธไม่ได้เลยคือ คุณองอาจ สาตรพันธุ์ เพราะคุณองอาจสอนผมผ่านผลงานที่สร้างออกมา คุณองอาจเองจริงๆก็เป็นสถาปนิกที่ศึกษาเยอะมาก นานๆครั้งเมื่อผมมีโอกาส ผมก็จะได้ขอโอกาสไปนั่งฟังคุณองอาจเล่าเรื่องต่างๆให้ฟัง ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเหมือนยาวิเศษเลยทีเดียว ถ้าให้พูดถึงสถาปนิกในระดับนานาชาติ ผมชอบศึกษางานของ Luis I. Kahn ครับ เพราะความคิดและข้อเขียนของท่าน พาผมออกไปศึกษางานได้หลากหลายมาก ทั้งในสมัยประวัติศาสตร์จนถึงยุคสมัยปัจจุบันได้เลยทีเดียว พาผมไปถึงอินเดีย
DAYBEDS : คำคมประจำตัวที่ใช้ในการทำงาน
อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ : ผมอ่านเจอประโยคนี้ในหนังสือของ Edward Gorey ซึ่งเป็นนักเขียนชาวอเมริกันที่ผทชื่นชอบแถมเค้ายังเขียนภาพประกอบได้อย่างดี เค้าเขียนไว้ว่า “A hidden bird is often heard”. ผมอ่านแล้วรู้สึกและจินตนาการต่อได้ถึงผลงานที่มีรายละเอียด ที่ละเมียดละไม แม้ผู้ใช้จะไม่รู้ แต่ความละเอียดเหล่านั้นที่เป็นสิ่งที่ให้ชีวิตในผลงานของเราเองโดยที่เราไม่ต้องบอก